แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๓๑ ความสุขความดับทุกข์ย่อมเกิดขึ้นกับผู้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบันสม่ำเสมอ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้า ให้เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติถูกต้อง เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ชีวิตของเราต้องก้าวไปด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง จะได้มีทั้งความสงบ จะได้มีทั้งปัญญาไปพร้อมๆ กัน เรามีสุขภาพร่างกายที่มีธาตุขันธ์อายตนะ พระพุทธเจ้าบอกว่า เป็นสังขารที่มีใจครอง แต่ว่าใจครองนั้น ยังไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ ยังเป็นตัวเป็นตน ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีมาต่อยอดของพราหมณ์ ท่านเป็นลูกหลานของพราหมณ์ พราหมณ์ก็ไปได้แค่ความสงบ ไปได้เพียงพรหมโลก ด้วยเหตุนี้เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เราจะได้พากันปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าเราเข้าใจปฏิบัติผิด ถึงจะทำอย่างไรมันก็ไปไม่ได้ เพราะเราทำอะไรเพื่อเอา เพื่อตัวตนของเรา
พระพุทธเจ้าบอกว่ามรรคผลไม่มีพ้นสมัยไม่ล้าสมัย เพราะธรรมะ เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม ทุกอย่างมันมีแต่คุณไม่มีโทษ ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง สิ่งที่ทุกคนไปไม่ได้ ก็เพราะว่าเราเข้าใจผิดปฏิบัติผิด เมื่อเราเอาสังขารชีวิตจิตใจนี้เป็นเรา มันก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิด พระพุทธเจ้าสอนเราทุกๆ คน ต้องดำรงตนปฏิบัติตนอยู่ทุกหนทุกแห่ง เหมือนเราไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน อ่านออกเขียนได้ เราไปอยู่ที่ไหนก็อ่านออกเขียนได้ นี้เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะเดี๋ยวนี้เรารู้จักแต่ความดับทุกข์ที่เป็นวัตถุ ความดับทุกข์ที่มันเป็นตัวเป็นตน ความดับทุกข์เหล่านี้มันก็เป็นได้แต่เพียงบรรเทาทุกข์ เหมือนเราเห็นความทุกข์ที่ทุกคนเกิดมา มีความจำเป็นที่จะเรียนหนังสือ ที่จะทำงาน เราเห็นความจำเป็น อันนั้นเป็นความดับทุกข์ระดับหนึ่ง มันเป็นความดับทุกข์ทางกาย มันก็เป็นไปได้เพียงแต่บรรเทาทุกข์ ความทุกข์ที่แท้จริงนั้น อยู่ที่เรามีความเห็นผิด เข้าใจผิด ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นเรา
พระพุทธเจ้าถึงให้เราแก้ไขปัญหาส่วนร่างกาย และก็แก้ปัญหาทางจิตใจ ด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง ในชีวิตประจำวัน มันจะก้าวไปด้วยสัมมาทิฏฐิ ก้าวไปด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา "อริยมรรค ๘" คือ ทางอันประเสริฐ ทางของพระอริยะ ทางไปสู่ความเป็นอริยชน คือข้อปฏิบัติทั้ง 8 นี้ ผู้ใดได้อย่างสมบูรณ์ จิตใจของผู้นั้นจะหมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เปลี่ยนภาพจากปุถุชน (คนกิเลสหนา) เป็นอริยชน (คนประเสริฐ) เช่นดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย
องค์มรรคข้อที่ ๑ สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ความเห็นที่ว่านี้หมายถึงความเห็นของใจ คือคนเราทุกคนที่มีอวัยวะสมบูรณ์ อาจเห็นอะไร ๆ ได้ 2 ทาง คือเห็นทางตา เรียกว่าพบเห็น กับ เห็นทางใจ เรียกว่าคิดเห็น ความเห็นที่เรียกว่า ทิฏฐิ ได้แก่ความเห็นทางใจเท่านั้น คือใจคิดไปเห็นไป เห็นด้วยอำนาจความคิด ก็เรียกว่า คิดเห็น ทางศาสนาเรียกว่า ทิฏฐิ คำว่า "ทิฏฐิ" เป็นคำกลาง ๆ อาจหมายถึงทิฏฐิที่ดีก็ได้ หมายถึงทิฏฐิที่ไม่ดีก็ได้ถ้าเป็นความเห็นที่ดี คือเห็นถูกต้องก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นความเห็นที่เสียคือเห็นผิดก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ
ลักษณะของสัมมาทิฏฐิ ก. ความหมายเบื้องสูง หมายถึง มีญาณ รู้อริยสัจ 4 ความรู้อริยสัจ 4 ด้วยญาณนี่แหละเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างสมบูรณ์
ข. ความหมายเบื้องต่ำ หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม เช่น ทำดีต้องได้รับผลดี ทำชั่วต้องได้รับผลชั่ว บุญบาปมีจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริงสัตว์ตายแล้วไปเกิดเป็นโอปปาติกะ (พวกกายละเอียดต่างๆ) พ่อแม่มีพระคุณจริง ผู้หมดกิเลสมีจริงผู้หมดกิเลสแล้วสอนให้ผู้อื่นหมดกิเลสตามมีจริง เป็นต้น
สรุปว่า ความเข้าใจถูกในเรื่องที่ทำให้กิเลสให้หมดไปได้ จึงเรียกว่าสัมมาทิฎฐิ การปฏิบัติเกี่ยวกับทิฏฐิของตนนั้น เมื่อ สรุปตามหลักคำสอนของพระบรมศาสดา มีความโดยย่อดังนี้ ถ้าตนเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว ก็พึงประคับประคองสัมมาทิฎฐินั้นไว้ และเพิ่มพูนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
องค์มรรคข้อที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ สังกัปปะ แปลว่า ความดำริ ในวงงานทั่วไป สมัยนี้เรียกว่า ความคิดริเริ่ม ได้แก่ความคิดที่จะทำโน่นทำนี่ ให้มีความก้าวหน้าเรื่อยไป แทนที่จะปล่อยตัวให้จมอยู่อย่างคนที่สำนวนทางศาสนาเรียกว่า "เป็นคนมีความดำริอันจมเสียแล้ว" คนประเภทนี้มักปล่อยตัวตามยถากรรมทำงานไม่เจริญก้าวหน้า ที่เรียกว่าคนสิ้นคิด
คนที่มีความคิดริเริ่มนั้น ในวงการบริหารเรียกว่า คนมีภาวะสร้างสรรค์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Creative Person ซึ่งเป็นที่ต้องการกันมาก
สังกัปปะ คือ ความคิดริเริ่มของคนเรามีทั้งดีและเสีย ความคิดริเริ่มในทางดีเรียกว่าสัมมาสังกัปปะ ความคิดริเริ่มในทางเสีย เรียกว่ามิจฉาสังกัปปะ
ดังเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า คนเราถ้าปักใจคิดจะทำสิ่งใดแล้ว ก็จะต้องทำสิ่งนั้น เมื่อทำไปแล้วก็จะต้องรับผลแห่งการกระทำของตน เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงสอนให้ปรับปรุงสังกัปปะของตนให้ดี ให้เป็นคนมีสัมมาสังกัปปะลักษณะของสัมมาสังกัปปะ มีดังนี้
ก. ความหมายเบื้องสูงสัมมาสังกัปปะมีลักษณะ 3 อย่าง คือ 1. เป็นความคิดที่จะพรากตนออกจากกาม (ตัดความมัวเมาในกามารมณ์) 2. เป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยความอาฆาตพยาบาทผู้อื่น และ 3. เป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยการเบียดเบียนสัตว์
ข. ความหมายเบื้องต่ำ มีนัยเหมือนความหมายเบื้องสูง คือหมายความว่า จะคิดทำการสิ่งใด ก็อย่าให้เป็นเรื่องหมกมุ่นอยู่ในกาม เช่น หมกมุ่นในการดื่มสุรายาเมา หมกมุ่นในเพศตรงกันข้าม หมกมุ่นในอบายมุข ตลอดจนความเมาลาภ เมายศ เมาสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า นอกจากนี้ต้องเป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยความอาฆาตเคียดแค้นผู้อื่น ไม่แฝงด้วยเล่ห์กลมายาหาทางเบียดเบียนความสุขของใครๆ
องค์มรรคข้อที่ ๓ สัมมาวาจา วาจา หมายถึง การเจรจา คือการแสดงเจตนาของตนให้คนอื่นเข้าใจ โดยตรงได้แก่การพูด อย่างที่คนเราพูดกันด้วยปากอยู่ทั่วไปนี่แหละ โดยอ้อมได้แก่การแสดงออกแทนคำพูดทุกวิธี เช่น การใช้ใบ้ส่ายหน้าเมื่อปฏิเสธ พยักหน้าเมื่อรับ การบอกกล่าวด้วยอักษร เช่น การเขียนหนังสือ การทำเครื่องหมายด้วยภาพหรือด้วยแสงด้วยสี การแสดงโดยปฏิญญา เช่น การครองผ้ากาสาวะอย่างนักบวช การแต่งเครื่องแบบอย่างทหาร การแต่งเครื่องแบบอย่างตำรวจการแสดงตัวเป็นข้าราชการ กิริยาเหล่านี้ ถ้าทำเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าตนเป็นเช่นนั้น ก็อนุโลมเป็นวาจา
การใช้วาจา เป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งจุดหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์จะรู้ความประสงค์ของกันและกันได้โดยทางเดียว คือทางวาจา วาจาจึงเป็นสื่อระหว่างตัวเรากับคนอื่น รวมความว่า กิจการทุกอย่างมีวาจาเป็นหลักทั้งนั้น คนที่ไม่ตระหนักในการใช้วาจาย่อมมีทางเสื่อมเสียได้รอบด้าน อาจทำให้ตนเองเสื่อมจากผลประโยชน์ก็ได้ อาจทำให้ครอบครัวสังคม ตลอดจนประเทศชาติล่มจมก็ได้ ลงได้วาจาเหลวแหลกเสียอย่างเดียว ชีวิตทั้งชีวิตก็จะล้มเหลวตามไปด้วย เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ปรับปรุงวาจาของตน หลักการปรับปรุงตนในข้อนี้ คือทำตนให้เป็นคนมีสัมมาวาจา อย่าเป็นคนมีมิจฉาวาจา
ลักษณะของสัมมาวาจา ลักษณะของสัมมาวาจา ทั้งเบื้องสูงและเบื้องต่ำ มีความหมายอย่างเดียวกัน คือการเจรจานั้นจักต้องปราศจากวาจาชั่ว ที่เรียกว่า วจีทุจริต คือ 1. มุสาวาท พูดเท็จ คือเจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความจริง ซึ่งกินความไปถึงการทำเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อ เจตนารมณ์ของทางศาสนา ต้องการให้ทุกคนมีความสัตย์จริง กล้าเผชิญกับความจริงเยี่ยงสุภาพชน
2. ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด คือเก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยเจตนาจะให้เขาแตกกัน หรือให้เขารักตนเจตนารมณ์ของทางศาสนา คือไม่ให้หาความชอบด้วยการประจบสอพลอ
3. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ทำให้คนฟังเกิดความระคายใจ และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ เจตนารมณ์ของทางศาสนา ให้ศาสนิกชนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตน ไม่ก่อความระคายใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด
4. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ คือพูดเหลวไหล พูดพล่อยๆ สักแต่ว่ามีปาก อยากพูดก็พูดไป หาสาระมิได้ เจตนารมณ์ของทางศาสนา ต้องการให้ศาสนิกชนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตน
รวมความว่าสัมมาวาจานั้นท่านมิได้บังคับว่าต้องพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คำนั้นคำนี้ หรือภาษานั้นภาษานี้ กำหนดแต่ให้เป็นวาจาบริสุทธิ์ขั้นพื้นฐาน คือไม่ใช้วจีทุจริตทั้งสี่อย่างดังกล่าวแล้ว เมื่อเว้นจากวจีทุจริตแล้ว ก็ใช้วจีสุจริต วจีสุจริต ได้แก่ วาจาสุภาษิต ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ 1. พูดเรื่องจริง 2. พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ 3. พูดถูกกาลเทศะ 4. พูดด้วยคำสุภาพ 5. พูดด้วยจิตเมตตา
องค์มรรคข้อที่ ๔ สัมมากัมมันตะ กัมมะ หรือ กรรม แปลว่า การงาน การทำงาน งานที่ทำ กัมมันตะ หมายถึง เป็นผู้มีงานทำ ขอให้กำหนดความลงในตอนต้นนี้เสียก่อนว่า ชาวพุทธจะต้องเป็นคนทำงาน มีงานทำทุกคน ไม่ใช่ปล่อยตัวให้เป็นคนว่างงาน หรือเป็นคนเกียจคร้าน งานการไม่ทำ ด้วยเหตุนี้แหละพระบรมศาสดาของเราจึงทรงแสดงจุดสำคัญในการปฏิบัติไว้ คือ การทำงานการปฏิบัติในเรื่องนี้ก็คือให้เป็นคนมีงานดี หรือมีสัมมากัมมันตะ อย่าเป็นคนมีมิจฉากัมมันตะ รวมความว่าสัมมากัมมันตะ หรือการงานชอบนั้น ท่านมิได้ระบุว่าต้องเป็นงานอย่างนั้นอย่างนี้ แต่กำหนดพื้นฐานเบื้องต้นไว้ ว่าต้องเป็นงานที่ไม่แฝงด้วยทุจริต 3 อย่างเท่านั้น งานที่เป็นทุจริต 3 อย่าง ได้แก่
1. ปาณาติปาต หมายถึงการฆ่าสัตว์นับตั้งแต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าผู้มีพระคุณ ฆ่าคนทั่วไปลงไปถึงฆ่าสัตว์ที่มีคุณ และฆ่าสัตว์อื่นๆ บาปที่เกิดจากการฆ่านั้นก็หนักเบาลดหลั่นลงไป เช่นฆ่าพ่อฆ่าแม่ก็เป็นบาปถึงขั้นอนันตริยกรรม ห้ามสวรรค์ห้ามนิพพาน เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ศาสนิกชนแก้ปัญหาชีวิตโดยสันติวิธี ไม่ใช่โดยวิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมอง และอาจต้องรับผลบาปกรรมเวรต่อไปอีก
2. อทินนาทาน หมายถึงการแสวงหารายได้โดยทางทุจริต อันเข้าลักษณะ "โจรกรรม" คือ ลัก (ขโมยเอาลับหลัง) ฉก (ชิงเอาซึ่งหน้า) กันโชก (ขู่เอา) ปล้น (รวมหัวกันยื้อแย่งเอา) ตู่ (เถียงเอา) ฉ้อ (โกงเอา) หลอก (ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วให้ทรัพย์) ลวง (เบี่ยงบ่ายลวงตาเช่นใช้เครื่องชั่งโกง) ปลอม (ทำของปลอม) ตระบัด (ปฏิเสธ) เบียดบัง (ซุกซ่อนเอาบางส่วน) สับเปลี่ยน (แอบสับเปลี่ยนของ) ลักลอบ (หนีภาษี) ยักยอก (เบียดบังเอาของที่อยู่ในหน้าที่ของตน)
เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เพราะทรัพย์ที่ได้มาโดยสุจริตนั้นไม่ก่อให้เกิดบาปกรรมแก่ผู้บริโภค และทำให้มั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นได้ดีกว่าทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริต
3. กาเมสุมิจฉาจาร หมายถึง การกระทำผิดในทางเพศ ลุอำนาจแก่ความกำหนัดที่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมากก็คือการทำชู้ รองลงมาก็ได้แก่การข่มขืน การฉุดคร่า อนาจาร เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ คือ ให้มนุษย์มีจิตใจสูง เคารพในสิทธิ์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันจะเป็นทางรักษาประเวณี (เชื้อสาย) ของคนในสังคมให้เรียบร้อย และป้องกันเหตุอาชญากรรมทางเพศด้วย
องค์มรรคข้อที่ ๕ สัมมาอาชีวะ อาชีวะ แปลว่า อาชีพ หมายถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพ คนเราทุกคนมีสิ่งที่รักและหวงแหนอย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่งคือ ชีวิต ชีวิตหมายถึงความเป็นอยู่ ตรงกันข้ามกับความตาย ความเป็นอยู่หรือที่เรียกว่าชีวิตนี่แหละ เป็นเครื่องรองรับมนุษย์สมบัติของเรา คือไม่ว่าใครจะเป็นอะไร เช่น เป็นครู เป็นนักเรียน เป็นภิกษุ เป็นสามเณร เป็นสมภารเจ้าวัด เป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นหัวหน้าแผนกหัวหน้ากอง เป็นอธิบดี เป็นรัฐมนตรี จนกระทั่งเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ฯลฯ ก็เพราะผู้นั้นมีสิ่งหนึ่งเป็นพื้นรองรับไว้สิ่งนั้นคือชีวิต ถ้าใครหมดชีวิตเสียแล้วก็เป็นอะไรไม่ได้ แม้แต่จะเป็นคนก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงรักชีวิต หวงแหนชีวิต แต่ชีวิตเป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยจึงจะมีได้ ถ้าขาดปัจจัยเสียชีวิตก็ดับ ฉะนั้นทุกคนจึงมีภาระติดตัวอยู่โดยกำเนิดอย่างหนึ่ง คือต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิต งานหาเลี้ยงชีวิตนี้ท่านเรียกว่า อาชีพสุภาพชนคนดีต้องมีอาชีพทุกคน แต่เพราะความเขลา คนบางคนเกิดหาเลี้ยงชีวิตด้วยการทำบาปกรรม อันเรียกว่า มิจฉาชีพ เพราะกรรมชั่วนั้นเขาจึงเป็นคนมีชีวิตมัวหมอง แม้จะยังไม่ตายคือยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นชีวิตที่สกปรกต่ำช้าเลวทราม จนตกแต่งให้ดีไม่ได้ ทำให้ชีวิตของตนมีแนวโน้มต่ำลงๆ เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ทุกคนปรับปรุงงานเลี้ยงชีวิต หรืออาชีพของตน ให้เป็นคนมีสัมมาอาชีวะ อย่าเป็นคนมีมิจฉาอาชีวะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อาชีพที่ควรเว้น ซึ่งเรียกว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ1 มีอยู่ 5 อย่าง ได้แก่ 1. ค้าขายมนุษย์ 2. ค้าขายสัตว์ไว้สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร 3. ค้าขายอาวุธเพื่อเป็นเครื่องประหาร 4. ค้าขายยาพิษ 5. ค้าขายน้ำเมา (สุราและของมึนเมาทุกชนิด กับยาเสพติดทุกชนิด)
แม้แต่บรรพชิตคือคนที่บวชเป็นพระสงฆ์ ตัดอาชีพทางคฤหัสถ์แล้ว แต่พอเข้าสู่พิธีอุปสมบท พระอุปัชฌาย์ก็แนะอาชีพใหม่ให้ คือบิณฑบาตเลี้ยงชีพ
มิจฉาชีพสำหรับบรรพชิต ก็ได้แก่การแสวงหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพโดยวิธีที่เรียกว่าอเนสนาทุกอย่าง คือแสวงหาในทางไม่สมควร เช่นรับจ้างทำงานเป็นต้นส่วนมิจฉาชีพสำหรับคฤหัสถ์ ก็ได้แก่การแสวงหารายได้โดยวิธีผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ตลอดจนผิดจารีตประเพณี เป็นอาชีพที่วิญญูชนตำหนิติเตียน
องค์มรรคข้อที่ ๖ สัมมาวายามะ วายามะ แปลว่า ความพยายาม หมายถึงความพากเพียร ในอันที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ คุณธรรมดังกล่าวนี้ เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของจิต จิตของใครมีคุณลักษณะอย่างนี้ จะมีความรู้สึกพึงพอใจ (ฉันทะ) ในกิจการของตน บากบั่นไม่ท้อถอย อดทน หนักแน่น และทำงานนั้นก้าวหน้าต่อไป
ความเพียรพยายามจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาชีวิตจิตใจ พระพุทธศาสนาจึงเน้นคำสอนไว้ว่า "วายเมเถว ปุริโส " แปลว่า "เกิดเป็นคนควรพยายามร่ำไป" แต่ความพยายามของคนเราก็อาจมีได้ทั้งสองอย่าง คือมิจฉาวายามะพยายามในทางที่ผิด กับสัมมาวายามะพยายามในทางที่ถูกต้อง คนเราไม่ใช่สักแต่ว่ามีความพยายามแต่จะต้องพยายามอย่างถูกต้องด้วย
ลักษณะของสัมมาวายามะ ก. ความหมายเบื้องสูง หมายถึงความเพียรใน 4 สถาน ที่เรียกว่า ปธาน 4 ได้แก่ 1. เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด อย่าให้เกิดขึ้น 2. เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป 3. เพียรบำเพ็ญกุศลธรรมที่ยังไม่มีให้มีขึ้น 4. เพียรรักษาเพิ่มพูนกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น
องค์มรรคข้อที่ ๗ สัมมาสติ สติ คือ ความระลึกได้ คือนึกขึ้นได้ ฉุดคิดขึ้นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสติคือเผอเรอคนเราถึงจะมีวิชาความรู้ดี มีความสามารถสูง มีความคิดเฉียบแหลม และมีความขยันหมั่นเพียรอย่างไรก็ตาม ก็ยังจำเป็นจะต้องใช้คุณธรรมอีกอย่างหนึ่งกำกับตัว คือสติ เพราะถ้าขาดสติเสียอย่างเดียวแล้ว การงานทั้งปวงย่อมเสียหาย อาจถึงแก่พินาศล่มจมไปก็ได้ เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ทุกคนบริหารจิตของตนให้มีสติเพียบพร้อม
วิธีพิจารณาตามหลักสติปัฏฐาน 4 ว่าโดยย่อ มีดังนี้
หลักการพิจารณากาย คือ พิจารณาให้เห็นกายในกาย ได้แก่พิจารณาส่วนประกอบของร่างกายอย่างละเอียด แล้วกำจัดความยินดียินร้ายในกายเสีย
หลักการพิจารณาเวทนา คือ พิจารณาให้เห็นเวทนาในเวทนา ได้แก่พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งความสุข (สุขเวทนา) ความทุกข์ (ทุกขเวทนา) ความเฉยๆ (อุเบกขาเวทนา) แล้วกำจัดความยินดียินร้ายในเวทนา
หลักการพิจารณาจิต คือ พิจารณาให้ เห็นจิตในจิต ได้แก่พิจารณาเท่าทันความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิต จิตรัก จิตชัง จิตหลง ก็รู้ แล้วกำจัดความยินดียินร้ายในจิตเสีย
หลักการพิจารณาธรรม คือ พิจารณาให้ เห็นธรรมในธรรม ได้แก่พิจารณาให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิต (เช่นจิตเกิดมีนิวรณ์ขึ้นแล้วก็ให้รู้ นิวรณ์ยังมีอยู่ก็ให้รู้ นิวรณ์ดับไปแล้วก็ให้รู้) ลักษณะคล้ายๆ กับการเห็นจิตในจิต แต่ต่างกันตรงที่ว่า เห็นจิตในจิตได้แก่เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตส่วนเห็นธรรมในธรรมได้แก่เห็นสิ่งที่มีอยู่ในจิต
รวมความว่า การตั้งสติพิจารณาให้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เป็นสัมมาสติเบื้องสูง ข. ความหมายเบื้องต่ำ คือ การทำงานโดยมีสติระมัดระวัง ไม่ประมาท ไม่เผลอเลอ
องค์มรรคข้อที่ ๘ สัมมาสมาธิ สมาธิ คือ การตั้งใจมั่น ตัวคนเรานี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ กายกับใจ โดยที่ใจเหมือนนาย กายเหมือนบ่าว มรรคข้อที่ 8 นี้เป็นหลักปฏิบัติกับจิตหรือใจโดยเฉพาะ การปฏิบัติใจนั้นมีงานที่ต้องทำหลายอย่าง เช่น หาความรู้ใส่ใจ หาความดีใส่ใจ หาความผ่องใสใส่ใจ รวมความว่า ทุกคนมีงานหลายอย่างที่จะต้องพัฒนาจิตใจของตนให้เจริญขึ้น แต่ในบรรดางานปฏิบัติจิตใจนั้น มีงานอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากที่สุด คือ การตั้งใจ
ทุกคนคงไม่แปลกใจกระมัง ที่ว่าทำไมเราจะต้องมาตั้งใจของตน เพราะของทุกอย่างที่เราจะใช้การใช้งานเราก็ต้องตั้งมันเสียก่อน จะใช้แก้วเราก็ต้องตั้งแก้ว จะใช้โต๊ะเราก็ต้องตั้งโต๊ะการตั้งเป็นงานอย่างหนึ่ง คนจะรำจะร้อง จะชกต่อย เขาก็ต้องตั้งท่าเสียก่อน เช่นเดียวกัน เรามีใจ เราจะใช้ใจของเรา เราก็ต้องตั้งใจ
ลักษณะของสัมมาสมาธิ ก. ความหมายเบื้องสูง หมายถึงการเข้าฌาน วิธีปฏิบัติคือ ปลีกตัวจากกามารมณ์หาที่สงัด แล้วนำจิตเข้าสมาธิ ถึงขั้นสงบนิ่งที่เรียกว่า ฌาน (เรียกชื่อตามลำดับว่า ฌานที่ 1 ฌานที่ 2 ฌานที่ 3 ฌานที่ 4 และอาจเข้าอรูปฌานต่อไปอีก 4 ชั้น) ประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าฌานคือ ทำให้จิตบริสุทธิ์จากกิเลสยิ่งขึ้นตามลำดับ จนถึงนิพพาน ข. ความหมายเบื้องต่ำ ได้แก่ การตั้งใจทำความดี ตามควรแก่วัยของตน อย่าปล่อยให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย จนถึงฝึกหัดทำสมาธิเบื้องต้น คือการสำรวมใจให้แน่วแน่ในกิจกรรมของตน และรวมลงสู่จุดเดียว อย่างนี้เป็นต้น
ความดับทุกข์ของมนุษย์มันจะดับทุกข์ได้พอๆ กันทุกคน ฆราวาสกับนักบวชก็ต่างกันที่ หน้าที่การงาน ฆราวาสนั้นมีภาระเยอะ มีการงานเยอะ ที่จะเลี้ยงดูสุขภาพของตัวเอง เลี้ยงดูสุขภาพของญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล และก็ดูแลประเทศชาติ ดูแลพระศาสนาโดยการอุปถัมภ์อุปัฏฐาก แต่สำหรับนักบวช ไม่มีภาระอะไร บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ ประชาชนเอาของมาไหว้ก็เอาแต่ของดีๆ และก็ยังมากราบมาไหว้อีก พระนี้มีงานน้อยเพราะได้เสียสละ ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพัฒนาสติ พัฒนาสัมปชัญญะ สติก็คือความสงบไม่ฟุ้งซ่าน สัมปชัญญะก็คือพัฒนาตัวปัญญา ไม่มีตัวไม่มีตน มีการเสียสละ มีแต่การละตัว ละตน
เราดูตัวอย่างแบบอย่าง อย่างพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไร ไม่เอาอะไร วันหนึ่งก็ฉันอาหารเพียงหนเดียว ไม่รับอะไร มีสติมีสัมปชัญญะ วันหนึ่งพระพุทธเจ้าพักผ่อนนอนหลับก็ 4 ชม. ที่ไม่ได้ทรงบรรทมก็คือเสียสละเป็นเวลา 20 ชม. การทำงานถึงเป็นความสุข เพราะความสุขนั้นต้องอยู่ที่ทำงาน ประชาชนก็พากันเข้าใจว่า งานคือความสุข ความสุขก็คือการทำงาน อย่าไปคิดว่าเรียนหนังสือเพราะจำเป็น อย่าไปคิดว่าทำงานเพราะจำเป็น
ทุกท่านทุกคนต้องพากันรู้จักว่า ความสุข ความดับทุกข์นั้นอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง อยู่ในปัจจุบัน เราทุกวันเรามีศาสนาก็จริง แต่ศาสนานั้นมันเพี้ยน มันไม่ถูกต้อง เพราะว่าการนับถือพระศาสนานั้น มีความเห็นผิดเข้าใจผิด คิดว่ามรรคผลนิพพานหมดสมัยแล้ว ล้าสมัยแล้ว มรรคผลนิพพานไม่หมดสมัย ไม่ล้าสมัย และน่าจะยิ่งดีขึ้นเพราะวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ก็ต้องพัฒนาใจให้ก้าวหน้า เพราะทุกอย่างก็จะมีแต่คุณ มีแต่ประโยชน์ ไม่ควรที่จะมีปัญหา สร้างปัญหาอย่างทุกวันนี้
การดำรงชีพของเราทุกคนต้องพากันรู้จัก ความเห็นแก่ตัวเรียกว่าเป็นอบายมุข อบายภูมิ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ถ้าเราเอาตัวตนเป็นใหญ่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราก็ไม่ได้เข้าสู่พระศาสนา เราต้องเอาความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง โครงสร้างของเราเราต้องมีชาติ ชาติก็คือความที่เราเกิดเป็นมนุษย์ ศาสนาคือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา มหากษัตริย์ก็ได้แก่ผู้นำของประเทศ หรือจะเป็นประธานาธิบดี ทุกคนก็ต้องเอาความถูกต้องเป็นหลัก เราถึงมีบ้าน มีวัด มีโรงเรียน ทุกท่านทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้มันสมบูรณ์ ด้วยความเห็น ความเข้าใจถูกต้อง ทุกคนอย่าไปทำตามใจ ตามอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พร้อมทั้งปฏิบัติ ต้องไปพร้อมๆ กัน พระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนานี้ ที่พระพุทธเจ้าค้นคว้ามา 84,000 พระธรรมขันธ์ อันนี้เป็นธรรม เป็นสภาวะธรรมที่เป็นหลักการ ไม่ใช่กฏหมายบ้านเมือง เป็นหลักการ หรือว่าเป็นกรรม เป็นกฏแห่งกรรม
เราทุกคนที่เวียนว่ายตายเกิด ก็เพราะกรรม เพราะกฏแห่งกรรม คนเราไม่รู้ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ถึงปล่อยให้ตัวเองที่มีปัญหา กว่าจะรู้ก็หลายปี หลาย 10 ปี เราถึงมีหนี้มีสิน ชีวิตของเรามันมีแต่สติคือความสงบ มีแต่สัมปชัญญะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เราอย่าเอาธาตุ เอาขันธ์ อย่าเอาอายตนะที่เป็นตัวเราของเรา อันนี้มันเป็นข้อสอบที่ให้เราทุกคนได้ตอบ ได้สอบ ในชีวิตประจำวัน เหมือนเค้าเรียนหนังสือมี 2-3 เทอม ถ้าทางสายบาลีนักธรรม ก็สอบปีละ 1 ครั้ง แต่พระพุทธเจ้าให้เราอยู่ที่ปัจจุบัน (ปจฺจุปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ = สิ่งใดเป็นปัจจุบันต่อหน้า ให้มองดูให้รู้ชัดเจน หรือให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นชัดในสิ่งนั้นๆ) เรามีการสอบ การปฏิบัติทั้งวัน มีความสุขในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ เราไม่ต้องไปหาความสุขความดับทุกข์ที่ไหน เพราะความสุขความดับทุกข์อยู่ที่ใจของเรา เราก็จะสงบอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราก็จะมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาอยู่ทุกหนทุกแห่ง เพราะธรรมะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เราทำอย่างนี้ก็จะก้าวไปเรื่อยๆ เพราะเราเดินไปในที่ถูกต้อง เค้าเรียกว่า มีแผนที่ มีความเข้าใจในการประพฤติการปฏิบัติ เราเกิดมาเราอาศัยพ่ออาศัยแม่ หรืออาศัยสิ่งแวดล้อม มันก็ถือว่า มันก็เป็นได้แต่เพียงคน
ทุกท่านท่านที่พากันมาวัดหรือว่ามากราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ บางคนก็มาหลายร้อยกิโลเมตร การมาอย่างนี้มันถึงมีประโยชน์ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เราต้องเข้าใจหลักและก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่เราปฏิบัติอยู่ทุกหนทุกแห่ง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee