แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๓๐ ภัยจากคลื่น จากจระข้ จากน้ำวนและฉลามร้าย ผู้ก้าวข้ามได้ย่อมเจริญในการประพฤติพรหมจรรย์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ประชากรของโลกร่วม 8,000 ล้าน มีความเห็นผิดเข้าใจผิด ที่เอาร่างกายเอารูปเวทนาสังขารวิญญาณนี้เป็นเรา จะดำรงชีพอย่างไร จะปฏิบัติธรรมอย่างไร มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะอันนี้เป็นกระบวนการที่เกิดผัสสะเกิดอารมณ์ ที่มันเป็นสังขารที่มีใจครอง พระพุทธเจ้าเป็นลูกหลานของพราหมณ์ พ่อแม่บรรพบุรุษพาดำเนินชีวิตมาที่ยังไม่เข้าใจ ยังถือว่าเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง ชีวิตที่เดินไปได้ก็เป็นเพียงแค่ความสงบ ที่อยู่ในระดับความสงบ อยู่ในระดับพรหมโลก พวกฌานสมาบัติต่างๆ เวลาออกจากสมาธิมา ยังมีโลภโกรธหลงอยู่
คนเราถ้ายังเอาธาตุเอาขันธ์อยู่ เอาอายตนะมันก็ย่อมเป็นฉันนั้น เพราะว่ามันเป็นความเข้าใจผิด การปฏิบัติผิด ทุกอย่างมันทำเพื่อตัวเพื่อตน แม้จะบอกว่า ปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน เพราะว่าเรายังไม่เข้าใจทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านบอกว่า รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ให้มองเห็นชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา มันถึงจะเข้าสู่ขบวนการแห่งมรรคผลนิพพานได้ เข้าถึงคุณธรรมแห่งพระโสดาบันได้ ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค อบรมบ่มอินทรีย์เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี จนถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล จะได้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ไม่ได้ตัดไม่ได้เพิ่ม
ประชากรของโลกต้องมีความเห็นอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ทั้งนักบวชทั้งคฤหัสถ์ทั้งประชาชน มันไม่ต้องแบ่งแยกสัญชาติศาสนา อันนั้นมันเป็นชื่อเฉยๆ ตัวสาระแห่งชีวิตคือความเห็นที่ถูกต้องความเข้าใจที่ถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการที่ทำถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง การปฏิบัติคืออริยมรรคมีองค์ ๘ มันถึงไม่ได้ละ มันถึงไม่ได้เพิ่ม จะเป็นความสงบ จะเป็นปัญญาไปพร้อมๆ กัน เราอย่าไปแยกธรรมะออกจากการดำเนินชีวิตอย่าไปแยกการดำเนินชีวิตออกจากธรรมะ เราทุกคนถึงจะแก้ปัญหาได้ การทำปาณาติบาตฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกามมันถึงจะไม่มี จะได้เข้าหาสติสัมปชัญญะ ทุกคนจะได้ปิดทองทั้งหน้าพระและหลังพระ ทุกวันนี้มันทำเพื่อตัวตน ติดทองแต่หน้าพระ หลังพระไม่ได้ติด คือมันทำเพื่อตัวตนคือโลกธรรม ความยากจนมันก็ไม่มีหรอก เพราะว่าเรารู้วิธีมีความสุขในการเรียนหนังสือตั้งแต่เด็ก มีความสุขในการทำงาน เพราะว่าธาตุขันธ์ของเรา เราก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่เกิน 120 ปี ถึงจะมีเทคโนโลยีมีแพทย์มีพยาบาล มีการดำรงชีพที่ดี ที่เป็นโภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค คือเอาสาระแห่งการมีชีวิตให้มีความสุข ไม่ได้เอาความเอร็ดอร่อยเป็นหลัก ไม่หวานเกินเค็มเกิน มีความสุขมันก็จะพัฒนาไปอย่างนี้
เราทุกคนที่เกิดมา เพราะความที่ยังไม่รู้จักศาสนายังไม่รู้จักธรรมะ เราเลยทำตามความหลงทำตามอวิชชา เราต้องพากันรู้จัก เราเป็นคนที่มีปัญญาแต่ไม่มีศาสนาไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ เราเป็นเพียงแต่คนที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบายมีความสุขในรูปเสียงกินรสลาภยศสรรเสริญเรียกว่ามันเป็นเพียงวัตถุนะ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้พัฒนาเทคโนโลยีพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน มีวัตถุมีข้าวของเงินทอง ลาภยศสรรเสริญ เราจะได้ไม่หลง เราจะได้เสียสละในปัจจุบัน
ทุกๆ คนต้องรู้จักเพื่อที่จะได้หยุดอบายมุขหยุดอบายภูมิ ทุกคนต้องมีความสุขในการทำงานในการเรียนหนังสือในการเสียสละหยุดอบายมุขหยุดอบายภูมิให้กับตัวเอง ต้องพากันเสียสละฝึกการมีความสุข หายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย มีความสุขกับการงานคือการเสียสละนะ เราอย่าไปทำงานเพื่อเงินอย่าไปทำงานเพื่อจะเอาเพื่อจะมีจะเป็น อย่างนั้นมันเครียด ต้องทำงานเพื่อเสียสละ ละเสียซึ่งตัวซึ่งตน เราจะได้เงินได้สตางค์เราจะได้ลาภยศสรรเสริญอย่างมีปัญญาอย่างนี้ จะได้พัฒนาใจว่า เราเกิดมาเราไม่ได้เอาอะไรมานะ เพราะว่าทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป พระอริยเจ้าพระอรหันต์ท่านถึงได้พากันเสียสละอย่างนี้ ถึงจะได้พัฒนาโลกนี้ไปสู่ความเป็นมนุษย์ หยุดคำว่าเป็นคนที่เป็นตัวเป็นตน
ส่วนใหญ่ทุกคนน่ะพลาดโอกาสไม่เข้าใจปล่อยให้ชีวิต นึกว่าไม่ได้บวชมันก็จะไม่ได้มรรคผลเพราะนิพพาน นึกว่าเป็นพระวัดบ้าน ไม่ได้เป็นพระวัดป่า อยู่ในท่ามกลางชุมชน มันไม่ใช่ ถ้าเรามีสติมีสัมปชัญญะกลับมาหาตัวกลับมาหาร่างกายจิตใจ กลับมาหาธรรมะ คนจะเป็นแสนเป็นล้านมันก็จะมีแต่ความสงบความวิเวก
เรารู้หลักการว่าอันนี้มันเป็นของแท้ของจริงของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะอย่างนี้มันเอาตัวตนไปที่ตั้งเป็นมนุษย์บอดเป็นมนุษย์เดือนมืด ยิ่งเรียนมาก ยิ่งรวยก็ยิ่งมืด เพราะเอาตัวตนไปที่ตั้ง พัฒนามาเพื่อทำลายโลก เพื่อความเห็นแก่ตัว มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ที่พากันแก่ตายไป มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร
โครงสร้างมันก็จะเป็นอย่างนี้แหละ ให้ประชาชนประชากรของโลกนั้นพากันเข้าใจ ให้พากันประพฤติปฏิบัติ การเรียนการศึกษามันก็ดีมันก็ถูกต้อง แต่ว่าการเรียนการศึกษาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสังขารร่างกายนี้อายุไม่เกิน 120 ปีก็ต้องจากโลกนี้ไป เราต้องทำงานให้มีความสุข เราอย่าไปขี้เกียจขี้คร้าน อย่าได้เป็นแต่ซื้อหวยซื้อเบอร์พูดแต่ขอรัฐบาลช่วย ขอพ่อแม่ช่วย เพราะเราน่ะความสุขมันอยู่ที่ทำงาน ทำงานคือความสุข เราดำรงชีวิตอย่างนี้แหละ มีความสุขตั้งแต่ตื่นจนนอนหลับ บางคนกว่าจะนอนหลับก็โกงเวลานอนคอรัปชั่นเวลานอนอีกแหละ มันมีเครื่องบันเทิงเครื่องอะไรเราก็ต้องรู้ เครื่องมือสื่อสารพวกนี้เขาเอามาเพื่อความสะดวกความสบายในการทำงาน แห่งการพัฒนาชีวิตมวลมนุษย์ที่ได้ทำต่อยอดกันมา
อย่างพระคุณเจ้าทั้งหลายพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้ยุ่ง ไม่ให้เกี่ยวเพราะชีวิตของเรามันก็ต้องสงบเย็นเพราะว่าเราเป็นปูชนียบุคคล เราต้องบวชทั้งกายทั้งใจ พระคุณเจ้าก็อย่าพากันหลงประเด็นไปเรื่อย บวชมาเพื่อรับจ๊อบมารับประเคนอย่างเดียว มีชีวิตอยู่ไม่ต่างจากพวกที่รับงานคอนเสิร์ต ไปรับกิจนิมนต์ทำบุญบ้าน งานแต่ง งานบวช งานสวดอภิธรรมงานอะไรต่างๆ ถ้าเรามาหลงในพวกนี้ มันก็อยู่ในสถานะก็คือระดับเดียวกับพวกรับงานคอนเสิร์ต พวกรับงานก็แล้วแต่ว่าใครตำแหน่งสูง ใครตำแหน่งสูงก็ได้รับงานเยอะ มันก็ต่างเฉพาะลีลา ถ้าพวกคอนเสิร์ตก็เด้งหน้าเด้งหลังสะดีดสะดิ้ง แต่ถ้าเป็นพวกนักบวชก็สงบเสงี่ยมนิ่ง ครองผ้าเรียบร้อยอยู่ในเนื้อหาสาระ แต่ถ้าเราไปยินดี มันก็คือความหลง มันก็มีคุณภาพเหมือนสิ่งที่ดีที่สุด ถึงจะในใส่ภาชนะทองคำหรือที่ใส่กะลามะพร้าวมันก็คือคุณภาพอันเดียวกัน มันก็คือความหลงงมงายอันเดียวกัน มันก็คือไสยศาสตร์ มันถือเงินเป็นพระเจ้า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้ เมื่อบุคคลกำลังลงน้ำ พึงหวังได้ ภัย ๔ อย่างเป็นไฉน คือภัยเพราะคลื่น ภัยเพราะจระเข้ ภัยเพราะน้ำวน ภัยเพราะปลาร้าย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้แล เมื่อบุคคลกำลังลงน้ำ พึงหวังได้ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้ก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้ พึงหวังได้ ภัย ๔ อย่างเป็นไฉน คือ ภัยเพราะคลื่น ภัยเพราะจระเข้ ภัยเพราะน้ำวน ภัยเพราะปลาร้าย.
“กุลบุตรผู้บวชในพระธรรมวินัยนี้ มีเหตุให้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ต้องลาสิกขาบทออกไป มี ๔ ประการคือ
๑. อูมิภัย ภัยอันเกิดจากคลื่น หมายถึง ผู้ที่เข้ามาบวชแล้วอดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เกิดความคับแค้นใจ เบื่อหน่ายต่อคำพร่ำสอน
ภิกษุสามเณร ผู้บวชใหม่ ต้องเป็นผู้มีความอดทน ไม่เบื่อหน่ายต่อคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่เกียจคร้านในการปฏิบัติกิจของสงฆ์ ปฏิบัติตามคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่เกียจคร้านในการปฏิบัติกิจของสงฆ์ เช่น บิณฑบาตตอนเช้า ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ทำความสะอาดบริเวณวัด ซึ่งเป็นกิจของภิกษุ สามเณร ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน และยังต้องปฏิบัติตามคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ เช่น ระวังกาย วาจา ใจ ไม่ประพฤติผิดศีลผิดธรรม เพื่อให้กายวาจา ใจ ของพระภิกษุสามเณร ผู้บวชใหม่มีความสะอาดบริสุทธิ์ และยังต้องศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคุณธรรมอันล้ำเลิศ ที่พระภิกษุ สามเณรผู้บวชใหม่จะต้องปฏิบัติให้คุณธรรมเกิดขึ้นกับตนเอง พยายามหมั่นสำรวจกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่ามีมากน้อยเพียงใด แล้วนำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ละบทที่สมควรแก่ตน มาชำระกิเลสให้ลดลงและหมดสิ้นไป ถึงแม้จะมีอุปสรรคใดๆ ก็ตาม ก็จะต้องอดทนต่อสู้กับความเบื่อหน่าย ความเกียจคร้าน ต่อคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์
ถ้าพระภิกษุ สามเณรใด ไม่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ เช่นไม่ออกบิณฑบาต ไม่ทำวัตรเช้า ไม่ทำวัตรเย็น ไม่ทำความสะอาดบริเวณวัด ไม่ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่หาทางชำระกิเลสปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตใจ เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม ภิกษุ สามเณรใดปฏิบัติดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จะหาความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ตนเองไม่ได้เลย
๒. กุมภีลภัย ภัยอันเกิดจากจระเข้ หมายถึงผู้ที่เข้าบวชแล้ว แต่ยังเห็นแก่ปากแก่ท้อง เมื่อถูกจำกัดเกี่ยวกับการบริโภคจึงทนไม่ได้
ภิกษุ สามเณร ที่เห็นแก่ปากแก่ท้อง (เห็นแก่กิน) ทนความอดอยากไม่ได้ เช่นไปบิณฑบาตได้อาหารที่ถูกปากบ้าง ไม่ถูกปากบ้าง ได้มากบ้าง น้อยบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้าง เค็มบ้าง จืดบ้าง ก็ต้องมีความอดทน มีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่า การฉันอาหารนั้น ฉันเพื่อเลี้ยงธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)ให้มีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ฉันเพราะความหลงในรสชาติของอาหาร ฉันเพื่อความสนุกสนาน ฉันเพื่อความสวยงาม ฉันเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ดังคำกล่าวที่ว่า “กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน” ไม่ได้ฉันเพื่อเห็นแก่ปากแก่ท้อง ภิกษุ สามเณรใดปฏิบัติได้ดังนี้ ก็จะมีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
ภิกษุ สามเณรใดเป็นผู้เห็นแก่ปาก แก่ท้อง (เห็นแก่กิน) อาหารที่บิณฑบาตมาได้ ถ้าไม่ถูกปาก ถูกใจก็ไม่ฉัน ต้องเดือดร้อนญาติโยมไปจัดทำอาหาร หรือซื้อมาให้ใหม่ โดยไม่คำนึงถึงญาติโยมที่มีใจอันบริสุทธิ์ นำอาหารมาใส่บาตร เพื่อหวังจะได้บุญกุศล อานิสงส์กับตนเอง และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในเมื่อพระภิกษุสามเณรรับบิณฑบาตแล้ว ไม่ฉันเพราะไม่ชอบอาหารนั้น แล้วผู้ที่ใส่บาตรมาจะได้อะไรจากพระภิกษุสามเณรเหล่านั้น ภิกษุสามเณรเหล่านั้นขาดสติขาดปัญญาพิจารณาว่า การฉันอาหารนั้นฉันเพื่อเลี้ยงธาตุ ๔ ให้มีชีวิตอยู่ เพื่อประกอบกรรมดีต่างๆ จะฉันมากฉันน้อย อาหารจะดีหรือไม่ดี ก็เกิดความแก่ ความเจ็บ ความตายในที่สุด ฉะนั้นภิกษุ สามเณรที่เห็นแก่ปาก แก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้ การปฏิบัติธรรมก็จะไม่ความเจริญก้าวหน้า
๓. อาวฏภัย ภัยคือวังวน หมายถึงผู้ที่เข้ามาบวชแล้วแต่ยังพะวง หลงอยู่ในกามสุข ตัดใจจากกามคุณไม่ได้
ภิกษุสามเณร ถ้ายังเพลิดเพลินระเริงหลงอยู่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นเหตุให้เกิดความทะยานอยาก ไม่รู้จักจบสิ้น เห็นแล้วอยากเห็นอีก ได้ยินแล้วอยากได้ยินอีก ได้กลิ่นหอมแล้วก็อยากได้กลิ่นหอมนั้นอีก ได้กินอาหารที่มีรสอร่อยแล้วก็อยากได้กินอีก สัมผัสใดที่พอใจแล้วก็อยากสัมผัสอีก เกิดความทุกข์ กระวนกระวายใจ กระสับกระส่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และยังมีความหลงในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิในการเล่าเรียนหรือปฏิบัติธรรมเพื่อชำระกิเลส กลับปล่อยให้กิเลสเจริญงอกงาม
พระภิกษุสามเณรบางรูปก็ติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ชิงดีชิงเด่น แย่งกันเป็นใหญ่ จึงไม่ประสบความสำเร็จในการบวช แม้แต่พระภิกษุ สามเณรที่บวชมานานหลายพรรษาแล้วก็ตาม ก็ยังมีอันตรายเหมือนพระบวชใหม่ ที่ลุ่มหลงมัวเมา ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ดังที่เราได้อยู่มากมายในปัจจุบันนี้
ภิกษุสามเณรใด ที่ไม่เพลิดเพลินอยู่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และไม่ลุ่มหลงมัวเมาใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่าสิ่งต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ แม้กระทั่งตัวเรา เมื่อมีสติปัญญาเห็นดังนี้แล้ว ก็ตั้งใจมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อชำระกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ภิกษุสามเณรใดประพฤติปฏิบัติดังได้กล่าวมาแล้วนี้ ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองในการปฏิบัติธรรม เป็นเหตุให้ กาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความชั่ว ภิกษุสามเณรเหล่านั้น ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเจริญแก่ตน และประสบความสำเร็จในการบวช
๔. สุสุกาภัย ภัยคือฉลามร้าย หมายถึงผู้ที่เข้ามาบวชแล้ว แต่จิตใจยังผูกพันในสตรีเพศ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หลงรักผู้หญิง”
ภิกษุสามเณรใด ยังมีความรักความใคร่กับผู้หญิงมาเกี่ยวข้องแล้ว จิตใจจะเศร้าหมองขุ่นมัว กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ต้องการที่จะอยู่ใกล้กับคนที่ตนรัก อยากพูดอยากสัมผัส ลุ่มหลงอยู่ในลาภ อยากได้ทรัพย์สมบัติมากๆ มาให้หญิงที่ตนรัก อยากมียศถาบรรดาศักดิ์สูงๆ เพื่อให้หญิงคนรักภูมิใจในตนเอง เป็นเหตุให้ไม่สนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม ตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นภิกษุ สามเณรที่ขาดศีล ขาดธรรม บางรูปนำหญิงมาเสพกามในวัดก็มี เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนเสื่อมศรัทธา เพราะเหตุที่ภิกษุ สามเณรมีความรักใคร่ในผู้หญิง ศึกษาหรือปฏิบัติธรรมก็ไม่มีความเจริญรุ่งเรือง เพราะจิตใจมีแต่ตัณหาราคะ นำความเดือดร้อนมาให้ตนเอง ผู้อื่น และพุทธศาสนา แม้แต่พระภิกษุสามเณร ที่บวชนานหลายพรรษาแล้ว ก็ยังมีพฤติกรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ซึ่งเราพบเห็นมากมายที่เกิดขึ้นกับสังคมพระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน
ภิกษุสามเณรใด ที่หวังความเจริญก้าวหน้าในการบวช มีสติปัญญาพิจารณาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อหนึ่งที่ว่า “อิตฺถี มลํ พฺรหฺมจริยสฺส สตรีเป็นมลทินของพรหมจรรย์” จึงต้องมีคุณธรรม คือมีหิริ โอตตัปปะ มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้าคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว นำศีลและธรรมมารักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ ไม่ลุ่มหลงมัวเมารักใคร่ในหญิงใด เพราะรู้ว่าเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ แม้บางครั้งจะมีความพอใจในหญิงใดอยู่บ้าง ด้วยการที่ได้ศึกษาและได้ปฏิบัติธรรมมาแล้ว จึงมีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่า ในกายหญิงนั้นมีเพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน และยังเห็นต่อไปอีกว่า หญิงที่เราเห็นว่าสวยงามนั้น แท้ที่จริงแล้วในร่างกายหญิงมีแต่สิ่งที่น่ารังเกียจ อีกไม่นานก็จะแก่ เหี่ยวย่น และตายเน่าเหม็นเป็นซากศพในที่สุด ภิกษุสามเณรใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว ก็จะเกิดความเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จในการบวช
ทั้ง ๔ ประการนี้คือพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับอันตรายของภิกษุและสามเณรผู้เข้ามาบวชใหม่รวมทั้งผู้ที่บวชเก่า และทนต่อสู้กับภัย ๔ ประการนี้ไม่ได้ต้องลาสิกขาออกไป
ทุกท่านทุกคนต้องตัดสินใจนะปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพราะความใจอ่อน ความใจอ่อนทำให้เราเสียอุดมการณ์ ทำให้เราเดินเป๋ หรือว่าหยุดเดิน ทุกท่านทุกคนต้องมาทดแทนคุณแผ่นดิน ทดแทนคุณพระศาสนา ทดแทนคุณพระมหากษัตริย์ที่ท่านเอาพระพุทธศาสนาเป็นการปกครองประเทศชาติบ้านเมือง คำว่า ประเทศไทยหรือว่าคนไทยน่ะ คือไม่ตกในอำนาจอวิชชา ไม่ตกในอำนาจความหลง สิ่งที่ถูกต้องอย่างนี้ได้ยินได้ฟังก็อย่าตกอกตกใจ ว่าเอาความชั่วมาตีแผ่เผยแผ่ เราอย่าไปคิดอย่างนั้น
พวกคฤหัสถ์พวกโยมนี้ก็ให้พากันรู้ว่ามรรคผลนิพพานนั้นมันไม่หมดสมัย มันได้ทั้งนักบวชได้ทั้งฆราวาส เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละ ทุกคนจึงจะมีสติสัมปชัญญะ จะมีความสุขความสงบร่มเย็นกัน เราจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราปลูกต้นไม้นี่แหละ เราปลูกต้นเล็กๆ แล้วก็ให้น้ำให้ปุ๋ยไป ต้นไม้มันก็จะค่อยๆ โตไปเรื่อยๆ การอบรมบ่มอินทรีย์ การสร้างอริยมรรค ก็เป็นอย่างนั้น เราต้องทำติดต่อกันไปทุกๆ วัน อย่าไปขี้เกียจ อย่าไปขี้คร้าน อย่าไปเผลอ อย่าไปประมาท
เราทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนไม่มีใครมาประพฤติปฏิบัติให้เราได้ เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติเอง ทุกเมื่อทุกเวลาทุกสถานที่ เพราะว่าทุกอย่างมันไม่ได้ไปแก้ที่คนอื่น มันแก้ที่เราทุกคน ทุกท่านทุกคนต้องพากันลบอดีตให้มันเป็นเลขศูนย์ให้ได้ เพราะว่าอดีตนั้นเราทำให้เหมือนพระอรหันต์ท่านไม่มีอดีตท่าน อยู่กับปัจจุบันนะทำเราต้องลบอดีตให้เป็นเลขศูนย์ให้ได้ เหมือนที่เราเกิดมามีพ่อมีแม่ พ่อแม่เราตาย เราไม่ต้องไปคิดถึง ถ้าคิดมันก็เป็นทุกข์ เราก็ต้องรู้จักความคิด เรารู้จักความคิดเราก็ต้องไม่คิด เราปล่อยเวลาให้มันผ่านไปหลายปีอย่างนี้ เราไม่คิด มันก็จะค่อยลืมไป ใจของเราอยู่ในปัจจุบันให้มันสมบูรณ์ อย่าให้อดีตมาปรุงได้ เพราะว่าทุกอย่างนั้นเหมือนเราเกี่ยวข้องกับของเหม็นของหอม มันก็ยอมติด เมื่อมันติดมันก็ต้องมีปัญญาต้องเสียสละ เราต้องบอกตัวเองว่า อนิจจังมันไม่แน่มันไม่เที่ยง มันต้องผ่านไป อนัตตามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถ้าเราไปติดมันก็เป็นทุกข์ สิ่งที่มันเป็นอดีตไปแล้ว เราต้องลบให้มันเป็นเลขศูนย์ เราอย่าไปคิดเราอย่าไปปรุงแต่ง ที่มันผ่านแล้วแล้วไปเรา ต้องมีสติสัมปชัญญะ อย่าให้อดีตมาปรุงแต่งเรา ให้มาเน้นที่ปัจจุบัน เรียกว่าลงรายละเอียดของอริยมรรคมีองค์ ๘ ปัจจุบันมันต้องดี ต้องละเอียด มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ต้องลบอดีตให้ได้อนาคตก็เป็นปัจจุบันธรรม เหมือนที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี ถ้าสิ่งนี้เราไม่ให้มี เราก็จะหยุดคิดหยุดปรุงแต่งเสียสละไปเรียกว่า มรรค อินทรีย์บารมีของเราทุกคนก็จะแก่กล้าไป อย่าไปอาลัยอาวรณ์อย่าไปยินดีมัน เพราะว่าเราเกิดมาเพื่อจากไป เกิดมาเพื่อเสียสละ ต้องเอาทั้งศีลถึงสมาธิปัญญารวมเป็นหนึ่งเรียกว่าปัจจุบันธรรม
เราต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ อย่าไปออมไม้ออมมือ อย่าไปขยักไว้ ต้องเสียสละ ต้องพัฒนาใจของเราให้มีความดับทุกข์ ทำอย่างนี้มันก็จะสมดุล เขาเรียกว่าการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน มันก็จะสมดุลเพราะว่ารายจ่ายเราไม่มี มีแต่รายรับ เรารับแต่สิ่งดีๆ รับก็คือรับแต่สิ่งที่ดีๆ เรียกว่า พุทธะผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ อย่าไปเอามันไว้ของไม่ดีอย่าไปเอามันไว้ เราต้องลาก่อนวัฏฏะสงสาร หยุดก่อนวัฏฏะสงสาร ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่ามีพระพุทธเจ้ามีพระธรรมมีพระสงฆ์ในปัจจุบัน เราปฏิบัติง่ายเพราะว่าเราไปแก้ไขที่ตัวเอง มันไม่ได้แก้ไขที่คนอื่น เราจะได้ใช้ร่างกายที่เป็นมนุษย์ ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ไม่เสียเวลา
เรามีความสุข เราก็อย่าไปหลง มีสติสัมปชัญญะให้ดี เรามีความทุกข์ เราก็อย่าไปหลง มีสติสัมปชัญญะให้ดี ให้เรากลับมาหาตัวผู้รู้ คือใจของเรา สติสัมปชัญญะของเรามันต้องทำงานไปเรื่อยๆ
'สติสัมปชัญญะ' นั่นแหละคือ 'ศีล สมาธิ ปัญญา' มันจะมารวมกันเป็นหนึ่ง คือใจของเรานี้มีสติสัมปชัญญะ เราพยายาม 'เจริญสติสัมปชัญญะ' เอาการงานมาสร้าง อินทรีย์บารมี เราทำงานเพื่องาน เราทำงานเพื่อเสียสละ เราทำงานเพื่อไม่มีตัวไม่มีตน เพราะตัวเรามันก็ไม่มี คนอื่นที่อยู่ร่วมกับเรานั้น ถือว่าไม่มีเหมือนกัน ทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้น ทุกอย่างล้วนแต่ตั้งอยู่ ทุกอย่างล้วนแต่ดับไป ไม่มีอะไรมีไม่มีอะไรเป็น มันมีแต่ธรรมะเท่านั้น
ถ้าเราไม่เอาใจของเราเข้าไปยึดเข้าไปถือ สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นธรรมะ ล้วนแต่เป็นพระนิพพาน เป็นอินทรีย์บารมีให้เราเจริญแก่กล้าไปเรื่อยๆ ...การประพฤติการปฏิบัติน่ะ มันต้องอาศัยกาล อาศัยเวลา มันถึงจะเป็นอริยมรรค เป็นอริยผล ให้เราถือโอกาสถือเวลาว่าเราเป็นผู้ประเสริฐ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สามารถกระทำได้แต่สิ่งที่ดีๆ คือมาสร้างมรรคผลนิพพานให้กับตัวเอง การประพฤติการปฏิบัตินั่นน่ะ ไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลาและสถานที่ เราปฏิบัติได้อยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนเราทุกคนต้องมาแก็ที่จิตที่ใจของเรา พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ไม่ให้เราทุกคนประมาทน่ะ"
ในโอกาสนี้ ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกท่านทุกคน จะได้ฝึกจะได้ปฏิบัติขัดเกลากิเลสอาสวะของตัวเอง ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัด หรือจะอยู่ในบ้านอยู่ที่ไหน ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตัวเองทั้งหมด เราอยู่ที่ไหนเราก็แก่ เราก็เจ็บ เราก็ตายเหมือนกันหมด 'สัจธรรม' คือความจริงเค้าไม่ได้ยกเว้นใคร
ความสุขทุกคนมันเป็นสิ่งเสพติด ทุกคนมันชอบมันติดเราทุกคนจำเป็นต้องทำใจเฉยๆ น่ะ เดินหน้าประพฤติปฏิบัติธรรม คำว่า 'ติด' ทุกคนก็รู้แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันถึงติด จิตใจเราจำเป็นจะต้องเดินหน้าไป ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง อย่าไปเสียดงเสียดายอาลัยอาวรณ์มัน แข็งใจสู้มัน มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ถือว่าเราได้เดินตามรอยบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐยิ่งกว่า จงดีใจจงภูมิใจในตัวเอง ในการประพฤติปฏิบัติของตัวเองว่าเราได้เดินทางมาดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ชื่อว่า "สุคโต ปฏิบัติธรรมด้วยความสุข..."
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee