แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๒๙ ทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ทำให้มืดมนมองความจริงไม่แจ่มแจ้ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สำหรับแง่คิดแง่มองในปัจจุบัน ทั้งทางฝ่ายเถรวาทและทั้งฝ่ายมหายาน ยังไม่ได้เข้าถึงสติความสงบ ยังไม่ได้เข้าถึงสัมปชัญญะคือตัวปัญญา เพราะว่ายังเอาธาตุเอาขันธ์เอาอายตนะ นี่เป็นเรานี่เป็นของเรา คิดว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นต้องสร้างบารมีไปเรื่อยๆ ระบบความคิดความเห็นอย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด เพราะความคิดเห็นอย่างนี้ยังไม่ใช่อริยมรรคมีองค์ ๘ พากันทิ้งความเห็นที่ถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันต้องมองเห็นว่าร่างกาย หรือว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ มันเป็นเพียงสภาวะธรรม ที่มีเหตุมีใจครอง เราจะได้เอาพระธรรมพระวินัยเต็มที่ ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา เราถึงจะได้เข้าใจพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน การรักษาพระธรรมพระวินัยมันถึงจะได้ผล ถ้าอย่างนั้นน่ะ เพราะธาตุขันธ์อายตนะมันก็อาศัยผัสสะ มันก็เกิดอารมณ์เกิดอะไรต่างๆ ถ้าเราไม่ได้มองร่างกายไม่ได้มองขันธ์ ๕ ไม่ได้มองอายตนะ ไม่ได้เอาความรู้ความเข้าใจเป็นที่ตั้ง มันก็ย่อมแก้ปัญหาไม่ได้ อย่างมากมันก็เป็นได้เพียงแค่ความสงบ หรือว่าเป็นได้แค่สมาธิ มันไม่ได้เป็นปัญญา
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสที่ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปถึงมี ถึงจะเข้าถึงเจตนาทางจิตใจ ถึงจะเห็นความสำคัญในพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ที่มี 21,000 พระธรรมขันธ์ ที่เราเอามาสวดเพียงชั่วโมงเดียวเพียง 227 ข้อ ธรรมะที่เป็นที่โน้มเอียงไปสู่มรรคผลพระนิพพาน ถึงเป็นการเทคแคร์สิ่งที่ถูกต้อง คือเราเอาใจใส่พิเศษ ที่เราประพฤติพรหมจรรย์ของเราให้สมบูรณ์ เราถึงจะไม่มีสักกายทิฏฐิ ไม่มีตัวไม่มีตน นี่เราเอาตัวตน แม้แต่ฟังธรรมก็คิดว่าใครแสดงธรรม ต้องคิดว่าคนนั้นเป็นพระพุทธเจ้าไหม คนนั้นเป็นพระอริยเจ้าไหม เราเลยพากันทิ้งสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นคุณธรรม ดูแล้วน่ะ เราจะเน้นแต่ภาชนะ เราไม่เน้นที่คุณภาพ พระไตรปิฎกที่เราพิมพ์ขึ้นมามันก็เลยไม่มีคนอ่าน ในแต่ละวัดเขาไม่อ่านกัน เอาไว้โชว์เฉยๆ ไม่ค่อยมีใครอ่าน ไม่ค่อยมีใครสนใจเลย เพราะว่าอย่างนี้แหละ ต้องเข้าใจ อย่าไปสนใจแต่เพียงรูปแบบ ต้องสนใจรูปแบบด้วย ต้องสนใจคุณภาพด้วย ใครจะเป็นใครก็ช่างเขา จะเป็นคนดีคนชั่ว คนเรียนมากเรียนน้อย ถ้าเขาพูดในสิ่งที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เรียกว่า ความถูกต้องไม่ได้เป็นพี่น้องกับใคร มันเป็นธรรมเป็นวินัย
เดี๋ยวนี้สิ่งที่มีคุณค่าในไตรปิฎก มองเห็นกลายเป็นเศษขยะไป ถ้าอย่างนั้นเราจะมีแต่ทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน คิดว่าเราเป็นพระผู้ใหญ่เป็นผู้นำ เราจะไม่ฟังใคร หรือว่าเราเป็น ป.ธ.9 เราจะไม่ฟังใคร เป็นคนใหญ่คนโตเราก็จะไม่ฟังใคร เราเป็นพ่อเป็นแม่จะฟังลูกมันทำไม เราเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราไม่ฟังใคร เรามีอำนาจคนที่มีอำนาจที่สุดของโลก เราไม่ฟังใคร เพราะเราต้องเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกคนต้องกลับมาหาสติความสงบ กับมาหาสัมปชัญญะคือตัวปัญญา เราต้องพัฒนาอย่างนี้ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าสอน เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ต้องกลับมาหาสติสัมปชัญญะ อย่าไปเอาตัวเอาตน เพราะเราต้องคิดต้องมองในแง่อย่างนี้ เราก็ทำอย่างนี้
ธรรมะวินัยมันต้องเกิดจากภาคประพฤติปฏิบัติของเราทุกๆ คน ที่เรา ต้องแก้ไขตัวเอง ไม่ต้องไปแก้ไขคนอื่นหรอก คนอื่นไม่รู้ไม่เห็นก็ช่างเขา มันไม่ใช่เรื่องดับทุกข์อะไรทุกคนก็ทำอย่างนี้ ถ้าทำเหมือนกัน มันก็กลายเป็นรูปแบบ การสอบนักธรรมมันก็เรียนทั้งวันสอบทั้งวัน ตาเห็นรูปก็เข้าสู่พระไตรลักษณ์ หูฟังเสียงต้องเข้าสู่พระไตรลักษณ์ ทุกอย่างเข้าสู่พระไตรลักษณ์ เราต้องเอามรรคผลเอาพระนิพพาน เราอย่าไปคิดว่า โอ้...ทำอย่างนี้มันก็เหนื่อยดิ เบื้องต้นมันก็เหนื่อยหล่ะเว้ย เพราะเราจะเริ่มเรียน ก ไก่ ข ไข่ ใหม่ มันก็ต้องเหนื่อยก็ต้องท่อง เหมือนเราไปตั้งบ้านช่องใหม่ เราก็ต้องไปปรับพื้นที่ มันก็เหนื่อยเป็นธรรมดา เพราะความคิดนี้มันเป็นอวิชชาเป็นความหลง เพราะความคิดอย่างนี้มันเป็นอาการของขันธ์ทั้ง 5 มันเป็นตัวเป็นตน มันไม่ใช่สติความสงบ มันไม่ใช่สัมปชัญญะคือตัวปัญญา เราต้องขอบใจสิ่งที่เรียกว่าเหนื่อยและไม่เหนื่อยต่างหาก เพราะว่าเราเอาธาตุเอาขันธ์เอาอายตนะ มันก็ต้องเหนื่อย เพราะว่ามันยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ เพราะว่าการที่ไม่ตามใจตัวเองไม่ตามอารมณ์ตัวเองเท่านั้น มันจะเป็นศีลเป็นสมาธิปัญญา ทุกท่านทุกคนต้องกลับมาประพฤติมาปฏิบัติ ผู้ที่มาบวชในพรรษาก็ตั้งใจให้เต็มที่ ทำเต็มที่เลย อย่าไปกลัวตัวเองบรรลุธรรม ผู้ที่บวชตลอดไปก็ต้องเอาเต็มที่ เวลาครูบาอาจารย์ละธาตุละขันธ์ไป ให้เป็นแบบรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง มันจะได้ไม่ขาดตอน เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ครูบาอาจารย์ละธาตุละขันธ์ วัดนั้นก็ร้างจากมรรคผลพระนิพพาน เต็มไปด้วยงานก่อสร้างอย่างอลังการ
เราต้องมีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าบอก ทุกคนจะเอาตัวตนไม่ได้ มันต้องไม่มีตัวไม่มีตนพระพุทธเจ้าให้เรามองรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ที่เรียกว่าอายตนะทั้ง ๖ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตัว การปฏิบัติถึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง เราต้องแยกสิ่งเหล่านี้ออก เราต้องแยกสิ่งนี้ให้เข้าใจ เราจะได้เอาพระธรรมพระวินัยพระสิกขาบททั้งเล็กทั้งน้อยทั้งใหญ่ทั้งปานกลาง มาเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติ ถ้าเราเอารูปเวทนาสังขารวิญญาณ ผลลัพธ์มันก็ได้แค่ความสงบเหมือนกับที่เราเอาหินทับหญ้าไว้ มันไม่ได้เข้าสู่ภาวนาวิปัสสนาไม่ได้เข้าสู่ความสงบมันไม่ได้เข้าสู่ปัญญา ธรรมะมันจะเข้าสู่กระบวนการไม่ได้ หมายถึงต้องไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน ความรู้สึกนั้นก็เป็นสภาวะธรรม ที่เป็นพลังงานที่ให้ทุกคนเวียนว่ายตายเกิด เราทุกคนก็ต้องลงประเด็น ถ้าเรามีความคิดความเห็นอย่างนี้ เราจะได้เข้าใจง่ายขึ้น จะได้มีเจตนาชัดเจน พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่เราถึงจะรู้ว่าเป็นยานที่จะนำเราสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้ว เราก็จะไม่ติดในความสุขที่เราเอาตัวเอาตัวนะ เรามีความสงบแต่มันก็ยังติดอยู่
ครั้งหนึ่งพระยามิลินท์ถามพระนาคเสนว่า “พระคุณเจ้ามีนามว่ากระไร”
“เพื่อนพรหมจรรย์ (คือเพื่อนพระด้วยกัน) เรียกอาตมาภาพว่า “นาคเสน บิดา มารดา เรียกอาตมาภาพว่า สีหเสนบ้าง วีรเสนบ้าง สุรเสนบ้าง” ภิกษุหนุ่มตอบ
“ที่ว่านาคเสน อะไรคือนาคเสน ผมหรือคือนาคเสน” พระราชารุก
“หามิได้ มหาบพิตร” ภิกษุหนุ่มตอบ
“ขนหรือคือนาคเสน” “หามิได้ มหาบพิตร
“เล็บ ขน หนัง ตา หู จมูก ลิ้น ตับ ไต ไส้ พุง ฯลฯ หรือ” “หามิได้ มหาบพิตร”
“ร่างกายทั้งหมดอันประชุมด้วยธาตุสี่ขันธ์ห้านี้หรือ” “หามิได้ มหาบพิตร”
“ถ้าอย่างนั้น นาคเสนก็มีนอกเหนือจากร่างกายอันประกอบด้วยธาตุสี่ ขันธ์ห้านี้หรือ” “หามิได้ มหาบพิตร”
เมื่อมาถึงตรงนี้ พระยามิลินท์ก็หันไปพูดกับประชาชนที่มาประชุมว่า “ท่านผู้ฟังทั้งหลาย ท่านได้ยินไหม เมื่อกี้ภิกษุหนุ่มรูปนี้บอกว่าตนเองชื่อนาคเสน ครั้นถามว่า ผม ขน เป็นต้น คือนาคเสนหรือ ก็ตอบว่า มิใช่ ครั้นถามว่า นาคเสนมีนอกเหนือจากร่างกายอันประชุมด้วยธาตุสี่ขันธ์ห้านี้หรือ ก็บอกว่าไม่ใช่อีก ท่านทั้งหลายเห็นหรือยังว่า พระหนุ่มรูปนี้โกหกต่อที่ประชุมนี้ ทีแรกบอกว่ามีนาคเสน ต่อมาบอกว่าไม่มี”
พระหนุ่มจึงถามพระราชาว่า “มหาบพิตรเสด็จมาสู่ที่ประชุมนี้อย่างไร”
“นั่งรถมา ขอรับ” พระราชาตอบงงๆ ว่า พระถามทำไม ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังสนทนา
“ที่ว่ารถนั้น อะไรคือรถ ล้อมันหรือ ดุมมันหรือ แอกมันหรือ โครงรถหรือ หลังคาหรือ ฯลฯ” “หามิได้ พระคุณเจ้า”
“รถมีอยู่นอกเหนือจากส่วนประกอบเหล่านี้หรือ” พระหนุ่มซัก
“หามิได้ พระคุณเจ้า” พระราชาตอบ “ถ้าเช่นนั้นรถอยู่ที่ไหน” พระหนุ่มซักต่อ พระยามิลินท์อธิบายว่า เพราะอาศัยส่วนประกอบต่างๆ อาทิ ล้อดุม กงกำ ตัวรถ หลังคารถ ฯลฯ ประกอบกันเข้า คำว่า “รถ” จึงมี ถ้าไม่มีส่วนประกอบเหล่านั้นประชุมกัน ก็ไม่มี “รถ” ขอรับ
พระนาคเสนจึงอธิบายว่า ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อวัยวะต่างๆ มีตาหู เป็นต้น มิใช่นาคเสน แต่นาคเสนก็มิได้มีนอกเหนือจากอวัยวะ มีตาหูเป็นต้น เพราะอวัยวะเหล่านั้นประกอบกันเข้า บัญญัติว่า “นาคเสน” จึงมี
ท่านจึงกล่าวเป็นโศลกว่า “ยะถา หิ อังคะสัมภารา โหติ สัทโท ระโถ อิติ เอวัง ขันเธสุ สัตเตสุ โหติ สัตโตติ สัมมะติ = เพราะมีองค์ประกอบทั้งหลาย เสียงเรียกว่า “รถ” จึงมี เพราะมีขันธ์ทั้งหลายรวมกันอยู่ จึงมีบัญญัติเรียกว่า “สัตว์”
เพราะฉะนั้น “นาคเสน” จึงเป็นสมมติ ไม่ใช่ของมีอยู่จริง ดุจ “รถ” ไม่มีจริงฉันนั้น
คาถานี้ไม่ต้อง “แปลไทยเป็นไทย” อีก ก็คงพอจะเข้าใจ ที่เราเรียกว่า “รถ” นั้น รถมันไม่มีดอก เพราะมีล้อ มีพวงมาลัย มีคลัตช์ มีเบรก มีโครงรถ มีเครื่องยนต์ เป็นต้น เราจึงเรียกมันว่ารถ ลองแยกชิ้นส่วนเหล่านั้นออก คำว่ารถก็ยังพอมีอยู่บ้าง เช่น ล้อรถ พวงมาลัยรถ เครื่องยนต์รถ แต่ถ้าแยกชิ้นส่วนเหล่านั้นให้ละเอียด คำว่ารถก็จะหายไป คงเหลือแต่เหล็ก ยาง อะไรอย่างนี้เป็นต้น
ในกรณีของคนก็เช่นเดียวกัน เพราะร่างกายมีอวัยวะต่างๆ รวมกันอยู่จึงเรียกว่าคน คนนี้ชื่อนั้นชื่อนี้ แต่ถ้าลองหั่น (สมมติ) โดยมีดคือปัญญา ออกเป็นชิ้นๆ คำว่าชื่อนั้น... ก็หายไปแล้ว พอเหลือแต่ “คน” เช่น ขาคน หัวคน แขนคน แต่ถ้าสับให้ละเอียด คำว่า “คน” ก็คงหายไป เหลือแต่กระดูก (กระดูกหมา หรือกระดูกคน) “เนื้อ” (เนื้อหมู หรือเนื้ออะไร) อย่างนี้เป็นต้น
ให้ทุกคนมีสติมีสัมปชัญญะ เราอย่าไปท้อใจ ความท้อใจคืออาการตัวตน ตัวตนมันเยอะ คนเรามานะทิฏฐิมันเยอะ คนมีตัวตนเยอะ มีข้อเเม้มันอย่างนี้ มันว่าร้อน ว่าหนาว ว่าเช้า ว่าเย็น ว่าบ่าย มันทิฏฐิมานะเยอะ
การปฏิบัติมันต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆๆ ให้ทุกท่านมีความสุขอย่างนี้ ไม่ต้องสนใจเรื่องอนาคตจะอยู่ยังไงจะกินยังไงหรอก อันนั้นมันระบบครอบครัว พระพุทธเจ้าเห็นไหมท่านเสียสละหมด ท่านถึงมีความสุข เสียสละไม่ใช่ขี้เกียจขี้คร้านนะ ขยันมากกว่าเก่า เพราะว่าคนขี้เกียจขี้คร้านนั่น เค้าเรียกว่าคนมีมิจฉาทิฏฐิ คนไม่ขยัน ไม่รับผิดชอบ เค้าเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ที่เซ่อๆ เบลอๆ พวกที่มาบวช พวกนี้เรียนหนังสือไม่เก่ง พวกติดเหล้าติดยาหากินไม่ได้ มาเอาศาสนา ไม่เป็นไร ให้ตั้งอกตั้งใจเสียสละ เพราะเราจะได้ไล่มิจฉาทิฏฐิ มามีความสุขในการรักษาศีลทำข้อวัตรข้อปฏิบัติ ต้องใจเเข็งทำติดต่อกันหลายวันหลายเดือนหลายปีอย่างนี้
ผูัที่มีเวลาบวชน้อย ด้วยการดำรงชีวิต ด้วยธุรกิจหน้าที่การงาน ให้เอาธรรมะ เอาความถูกต้อง เอาการประพฤติการปฏิบัติ ไปปฏิบัติที่บ้าน ที่ครอบครัว ที่สังคม เราอย่ามาบวชแล้ว โดนที่ไม่ได้ทำกิจต่อเนื่องมันไม่มีความมั่นคง ทุกท่านทุกคนมาบวชแล้วต้องมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะการเดินทางนี้ไม่ได้มาจบเพียงแค่นี้ ตราบใดที่เราไม่ได้เป็นพระอรหันต์ถือว่างานเรายังเป็นเสขะบุคคลอยู่ เราต้องเข้าใจการประพฤติปฏิบัติ เราโชคดีที่ได้มาบวชที่วัดที่มีครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เราเกิดที่ประเทศไทย เราโชคดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านให้โอกาส ให้เราลาบวชได้ ผู้ที่เรียนจบปริญญาพ่อแม้ก็ให้มาบวชเพื่อเอาหลักธรรมไปใช้ไปปฏิบัติ ในการดำรงชีวิตเพื่อให้ตระกูลได้มาตรฐาน ให้มีความมั่นคง
เรื่อง 'การประพฤติปฏิบัติธรรม' ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของทุกๆ คน ไม่มีบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ให้ทุกท่านทุกคนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญนะ...ในชีวิตประจำวันของพวกเรา ความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบาก ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะให้เราได้ฝืน ได้อดได้ทน ได้ทำความเพียร แต่ละคนแต่ละท่านน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้สำรวจตรวจตราตัวเองว่า เรามีอะไรขาดตกบกพร่องอะไรบ้างนะ ข้อวัตรส่วนไหนของเราบกพร่อง ศีลของเราข้อไหนบ้างบกพร่องด่างพร้อย
การเจริญสติ การฝึกสมาธิ การเจริญปัญญาของเราน่ะ มันดีพอมันต่อเนื่อง...ที่จะทำให้ธรรมะของเราเจริญรุ่งเรืองงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปหรือไม่ ใจของเราสงบหรือว่าใจของเราน่ะ ส่งออกไปตั้งแต่ข้างนอกจนกลายเป็น พระฟุ้งซ่าน เณรฟุ้งซ่าน แม่ชีฟุ้งซ่าน อุบาสกอุบาสิกาฟุ้งซ่าน เป็นคนหัวใจแตกสลาย เป็นคนจิตใจแตกสลายไม่อยู่ในความสงบ
วิธีแก้น่ะ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเราให้กลับมาหาตัวเอง ให้กลับมาหาข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นหรือหมู่คณะ ให้พยายามอยู่กับตัวเอง ฝึกสมาธิให้มาก สมาธิ ก็คือ ความสงบน่ะ
สาเหตุที่ 'ใจ' ของเราจะสงบมันก็ต้องมีการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ด้วยคณะ อย่าไปมองคนอื่น อย่าไปดูคนอื่นนะ ให้ดูกายวาจาใจตัวเอง
คนเรียนหนังสือน่ะตั้งแต่อนุบาล ป.๑ เค้าไม่รู้เรื่องอะไรหรอก เมื่อเรียนไม่หยุด ศึกษาไม่หยุด ชีวิตของบุคคลนั้น ก็ย่อมรู้จักรู้แจ้งจนได้จบดอกเตอร์นะ การประพฤติการปฏิบัติของเราผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ก็ต้องทำความเข้าใจแล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราปฏิบัติไม่หยุด ภาวนาไม่หยุด ค้นคว้าทั้งเหตุทั้งผลและประพฤติปฏิบัติ เดินตามรอยของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงน่ะ ทุกท่านทุกคนก็ย่อมเข้าถึง 'พระนิพพาน' ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น...ไม่มีใครยกเว้น
นักประพฤติปฏิบัติน่ะ ต้องพยายามมาแก้ที่จิตที่ใจ แก้ที่การกระทำความประพฤติของเราเอง พยายามถอนความรู้สึกนึกคิดอัตตาตัวเองที่มันเป็นเราเป็นของเรา คนเรามันมี 'ตัวตน' มาก... ถ้าเราไม่ได้ภาวนา ไม่ได้พิจารณา บวชมาหลายพรรษา 'กิเลส' มันก็ขึ้นหลายพรรษาเหมือนกันนะ เป็นนักเทศน์เก่งสอนเก่ง กิเลสมันก็เป็นนักเทศน์เก่ง นักสอนเก่งเหมือนกัน...เป็นผู้ทำอะไรได้ กิเลสมันก็ติดตามเราเหมือนเงาตามตัว
คนเรามันทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน มันชอบติดทองแต่หน้าพระ หลังพระมันไม่ติด อย่างใครมีบทบาทอะไรทำงานส่วนรวมอะไร กิเลสมันก็ฟู ก็คะนอง ถ้าใครไม่ได้ทำก็หงอย อันนี้มันเป็นอาการของจิตใจของกิเลสทั้งนั้น
สตฺติยา วิย โอมฏฺโฐ ฑยฺหมาโนว มตฺถเก สกฺกายทิฏฺฐิปฺปหานาย สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเชติ ฯ ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฯ
ทุกท่านทุกคนก็ต้องพยายามแก้ไขตัวเองนะ จิตใจหรือปฏิปทาหรือสิ่งที่ดีๆ ของเราก็เจริญน่ะ มันเหนื่อยมากลำบากมาก เราก็ต้องอดต้องทนเพื่อทำความเพียร ละบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ละบาปที่อยู่ในใจอยู่ในกมลสันดานนี้ให้มันหายไป ทำอะไรอยู่ ปฏิบัติอะไรอยู่พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราปรารภธรรม อย่าได้พากันปรารภอัตตาตัวตนซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม...ไม่เหมาะไม่ควร
เราทำอะไรอยู่ก็ตั้งใจทำให้มันดีๆ นะ เพื่อเราจะได้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เพื่อเราจะทำความดีให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
พระที่ชอบส่งใจออกไปข้างนอก โยมที่ชอบส่งใจออกไปข้างนอกต้องกลับเนื้อกลับตัว ทั้งกายทั้งใจ ถือว่าผิดแล้วก็แล้วไป อย่าได้ทำอีก ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกตัวน่ะ เราจะตกเป็นผู้หลอกลวง กิเลสมันหลอกลวงเรา เราก็ไปหลอกลวงคนอื่นต่อ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรายุ่งกับสิ่งภายนอกน่ะ เป็นธุระในเรื่องภายนอก ท่านเมตตาเราสงสารเรา ให้เน้นเข้าหาข้อวัตรปฏิบัติ เพราะการประพฤติการปฏิบัตินี้ คือความสำคัญ คือความเจริญในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การมีหน้ามีตา มีลาภ ยศ สรรเสริญเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะได้เป็นพระมาตรฐาน เป็นเณรมาตรฐาน...เป็นโยมวัดมาตรฐาน...
ส่วนใหญ่ก็เราทุกๆ คนนี้แหละ ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อไม่ได้มาตรฐานอย่างนี้ ตัวอย่างที่ดี แบบอย่างที่ดีมันก็ไม่มี 'มีแต่ของปลอมทั้งนั้น' "ความย่อหย่อนอ่อนแอนี้เป็นอันตรายต่อตัวเราเองและคนอื่น"
สมัยก่อน... เมื่อห้าสิบกว่าปีน่ะ เขาพิมพ์หนังสือตำราดูพระภิกษุออกมา เพื่อให้ญาติโยมประชาชนรู้จักพระที่แท้จริง...พระผู้ใหญ่ที่ย่อหย่อนอ่อนแอ เค้าพิมพ์มาเท่าไหร่ก็เหมาซื้อแล้วเอาไปเผาทิ้งให้หมด กลัวประชาชนเค้าจะรู้ถึงความชั่ว... รู้ถึงพฤติกรรมน่ะ พระผู้ใหญ่หรือว่าพระรุ่นพี่ก็มีลักษณะอย่างนี้แหละ เพราะว่าปฏิปทามันไม่ได้มาตรฐาน เราไปบอกเค้าผิดๆ สอนเค้าผิดๆ ว่าไม่เป็นไร ปลงอาบัติก็ได้ สอนใหม่ว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นมาก อันนี้เป็น 'มิจฉาทิฏฐิ' ที่เป็น 'มหาภัย' ต่อวงการประพฤติวงการปฏิบัติ
เมื่อเรายังหนุ่มยังน้อยนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราปฏิบัติให้มันหนักให้มันเข้มข้นเพื่อจะได้เป็นนิสัยเป็นปัจจัย เป็น 'สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า' เมื่อไม่ได้มาตรฐาน ไม่เข้า 'ถึงจิตถึงใจ' น่ะ เราถึงเห็นพระผู้ใหญ่มีปัญหาเรื่องนารีสีกา เรื่องหลอกลวงประชาชน ทำให้วงการพระพุทธศาสนากระทบกระเทือน เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราไม่ต่อเนื่อง มีลาภ มียศ มีชื่อเสียงนิดหน่อยก็ลืมตัว "กิเลสมันลามปามไปเรื่อยนะ"
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราทุกๆ คนน่ะ ทั้งพระใหม่พระเก่า ตลอดถึงญาติโยมประชาชน อย่าได้พากันลืมตัวนะ การประพฤติปฏิบัติต้องให้มันเข้มขันต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ การไม่ทำตามใจของตัวเอง ไม่ตามกิเลสของตัวเอง ท่านว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ประเสริฐ เราเป็นคนฉลาดเป็นคนเก่ง ไปเอาความสุขความดับทุกข์จากคนอื่น...คงไม่ได้...คงไม่ดีนะ ต้องเอาความสุข ความดับทุกข์จากตัวเอง ด้วยการไม่ตามกิเลสนี้แหละ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee