แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๓๐ สิงหาคมพุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๒๗ ใช้ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ มาเทียบเคียง เพื่อปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราคือสภาวะธรรมที่เราได้ร่างกายที่ประเสริฐได้เกิดมาเป็นมนุษย์ทุกๆ คนต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เพราะร่างกายของเรานี้มีใจครองที่มันยังเป็นอวิชชาคือว่ามันเป็นความหลง ที่มันเป็นตัวเป็นตน ที่มันหนาวมันร้อนมันเป็นธรรมชาติที่มันยังเวียนว่ายตายเกิดกัน ทีนี้ก็ให้เข้าถึงความมีสติ สติคือความสงบ สัมปชัญญะคือตัวปัญญา คือเรามารู้สภาวะธรรมที่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถ้าเราเอาตัวเอาตน ชีวิตของเรามันจะมืดมัว เหมือนคนตาฝ้าตาฟาง คนเราทำไมมันถึงดีใจเดี๋ยวเสียใจ เราเอาความรู้สึกนึกคิดที่แบกธาตุแบกขันธ์ พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่าเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด เพราะพรหมจรรย์นี้ไม่ใช่ทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน คือสภาวะธรรม เพราะเราคิดถูกต้องเราทำถูกต้องเป็นการบ่มอินทรีย์ไป
ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจพระศาสนาอย่างนี้ เพราะพระศาสนาน่ะคือธรรมะ ธรรมะคือศาสนาธรรมะใช้ได้กับทุกศาสนา แต่คำว่าพุทธะนี้ หมายถึงตัวปัญญา แปลว่าสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่สูงสุด ที่เอาธรรมเอาความเป็นธรรม พระวรกายกายของพระพุทธเจ้าจะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่ธรรมะคือหลักเกณฑ์ก็ยังคงอยู่ เป็นศาสดาองค์แทน
เราคือสภาวะธรรมที่เราได้เวียนว่ายตายเกิดเป็นสังขารเป็นความปรุงแต่ง เป็นสังขารที่มีใจครอง แต่ใจครองนั้นยังเป็นอวิชชามันยังเป็นความหลง ให้ทุกท่านพากันรู้จัก รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มันเป็นสภาวะธรรมที่เวียนว่ายตายเกิด เรามาเปลี่ยนจากอวิชชาเปลี่ยนจากความหลง มาเอาพระพุทธเจ้าเป็นดำเนินชีวิต ที่เรียกว่าพรหมจรรย์ เพราะพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่สูงสุด ได้นามว่าพุทธะ เป็นสุดยอดของพระศาสนา ซึ่งเป็นธรรมะ ไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน แม้พระพุทธเจ้านั้นจะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่ความเป็นุทธะของพระเจ้านั้นก็คือธรรมะ เพราะมีความเป็นอยู่อย่างนั้นเอง เพราะสิ่งนั้นมีสิ่งต่อไปถึงมี
ให้ผู้ดำเนินชีวิตทั้งหลายให้มองรูปเวทนาสังขารวิญญาณนี้ เหมือนมองสิ่งหนึ่งๆ ที่มีความรู้สึกนึกคิด ที่มันยังมีเหตุมีปัจจัย ที่มันมีผัสสะมันเลยมีอารมณ์ ถ้าเราเอารูปเวทนาสังขารวิญญาณเป็นเรา เราทุกคนก็ย่อมรักชอบโกรธหลงดีใจเสียใจ เพราะอยู่ในสภาพเป็นสังขารเป็นความปรุงแต่ง ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าถึงได้วางหลักการกระบวนการเรียกว่าธรรมะวินัย ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ ก็เพื่อให้ทุกคนได้ประพฤติปฏิบัติ ทำไมมันถึงมากมาย มันสำหรับผู้ที่มีอินทรีย์บารมีอย่างอ่อน ถึงจะมีมากมายก่ายกอง มันก็ย่อลงเท่ากับใบไม้ในกำมือเดียว จะรวมลงมาในศีลสมาธิปัญญาในปัจจุบัน เพราะว่าการฝึกปฏิบัติต้องอาศัยยานในการเดินทาง สัมมาทิฏฐิถึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพระของทุกๆ คน ที่มีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เพื่อที่จะหยุดความเป็นตัวเป็นตน เราต้องเสียสละ มันถึงจะไม่มีความลังเลสงสัย ถึงจะไม่ตั้งอยู่ในความประมาทไม่ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน เดี๋ยวไปสงสัยว่าแบบนี้มันจะมีความสุขได้ยังไง แบบนี้มันยิ่งกว่าความสุข เพราะอันนี้เป็นการทำที่สุดแห่งความทุกข์ การปฏิบัติจะว่าง่ายก็ไม่ใช่ จะว่ายากก็ไม่ใช่ ถ้าเราว่ายากมันก็ยังเป็นความคิดอยู่ ถ้าเราว่าง่ายก็ยังเป็นความคิดอยู่ เราไปว่าง่ายว่ายาก เราว่าเอาเองว่ามันช้ามันเร็วมันดีมันชั่ว เพราะเดี๋ยวนี้จิตใจของเราถือว่าเรายังเป็นมิจฉาทิฏฐิที่เอาตัวตนเป็นหลัก
ใจของเรานั้นสามารถที่จะเข้าสมาธิ ใจของเราเมื่อมีพลังสามารถออกจากร่างกายไปที่ไหนได้พอมองกลับมา สามารถที่จะมองเห็นร่างกายนั่งสมาธิอยู่ ในร่างกายของเรามันมีคลื่นสมองอยู่ คนที่อื่นอยู่ที่ไหนก็สามารถรู้เรื่องของเขาได้ เหมือนกับคลื่นโทรทัศน์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ใจของเรามันจะข้ามความง่วงเหงาหาวนอน มันไม่มีความง่วงนะ การที่เราเอาใจออกจากที่เราแบกโลกที่หลงโลก ยังไม่รู้วิธีที่จะเอามันออก ดังนั้นเราต้องเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่
“ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการนี้ มีมาใน “โคตมีสูตร” อังคุตตรนิกาย เป็นถ้อยคำที่ตรัสแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งออกบวชเป็นภิกษุณี ถือกันว่าเป็นหลักสำคัญ มีข้อความที่น่าสนใจเป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งคือ เป็นหลักธรรมที่ทรงเลือกสรรมา ในลักษณะเป็นเครื่องตอบแทนคุณแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นมารดาอีกส่วนหนึ่งด้วย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นว่า การปฏิบัติอย่างใดจะเป็นไปถูกต้องตามหลักแห่งการดับทุกข์หรือไม่ ก็ควรใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ เป็นเครื่องตัดสินได้โดยเด็ดขาด ฉะนั้น จึงเป็นหลักที่แสดงถึง ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาอยู่ในตัว หลักเหล่านั้น คือ...ถ้าธรรม (การปฏิบัติ) เหล่าใด... ๑. สราคาย เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ
๒. สังโยคาย เป็นไปเพื่อประกอบความทุกข์ (คือทำให้ลำบาก)
๓. อาจยาย เป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส ๔. มหิจฉตาย เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่
๕. อสันตุฏฐิยา เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
๖. สังคณิกาย เป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ
๗. โกสัชชาย เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ๘. ทุพภรตาย เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก
พึงรู้ว่า ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ (สัตถุศาสน์ คือ คำสอนของพระศาสดา)
แต่ถ้าเป็นไปตรงกันข้ามจึงจะ เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ คือ
๑. วิราคาย เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ๒. วิสังโยคาย เป็นไปเพื่อความปราศจากทุกข์ ๓. อปจยาย เป็นไปเพื่อความไม่สะสมกิเลส ๔. อัปปิจฉตาย เป็นไปเพื่อความอยากน้อย๕. สันตุฏฐิยา เป็นไปเพื่อความสันโดษ ๖. ปวิเวกาย เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ ๗. วิริยารัมภาย เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ๘. สุภรตาย เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย
ธรรมเหล่านั้น จงรู้เถิดว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์ คือคำสอนของพระศาสดา
คำว่า “ความกำหนัดย้อมใจ” ได้แก่ ความติดใจรักยิ่งขึ้นๆ ในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องหรือแวดล้อม ถ้าการปฏิบัติหรือการกระทำ หรือแม้แต่การพูด การคิดอย่างใด ทำให้บุคคลผู้นั้นมีความติดใจรักในสิ่งใดๆแล้ว ถือว่าเป็นการปฏิบัติผิด ตัวอย่างเช่น การดูหนังดูละคร เป็นต้น มันทำให้เกิดความย้อมใจอย่างที่กล่าวนี้ ด้วยอำนาจของ ราคะ เป็นต้น ซึ่งจะเทียบดูได้กับจิตใจของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความสงบ หรือแม้แต่อยู่ในที่สงัด จะเห็นได้ว่าเป็นการแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม พึงอาศัยตัวอย่างนี้เป็นเครื่องเทียบเคียง จับความหมายของคำๆนี้ให้ได้ ทั้งในทารูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่สุด ตัวอย่างแห่งธรรมารมณ์ เช่น การชอบคิดฝัน ถึงสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ ก็ย่อมทำจิตให้ถูกย้อมด้วยราคะมากขึ้นๆ เป็นต้น
คำว่า “เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์” หมายถึงการทำตนเองให้ลำบากด้วยความไม่รู้เท่าถึงการณ์ ด้วยความเข้าใจผิด ในกรณีที่ไม่ควรจะมีความลำบากหรือลำบากแต่น้อยก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าพิศวงว่า คนเราไม่ชอบความลำบากด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้วทำไมจึงไปทำสิ่งที่ตนจะลำบาก ทั้งนี้ ก็เพราะอำนาจของ “โมหะ” คือ ความหลงเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความเข้าใจผิดกลับตรงข้าม แม้ในกรณีที่เป็นเรื่องของการอยากดี อยากเด่น อยากมีชื่อเสียง เป็นต้น ก็มีมูลมาจากโมหะอยู่นั่นเอง กรณีที่เป็นการประชดผู้อื่น หรือ ถึงกับประชดตัวเองก็ตาม ย่อมสงเคราะห์เข้าในข้อนี้ ซึ่งมีมูลอันแท้จริงมาจากความหลงสำคัญผิดอย่างเดียวกันนั่นเอง โดยส่วนใหญ่ได้แก่ การปฏิบัติที่เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” คือ การทรมานตนอย่างงมงาย
คำว่า “สะสมกองกิเลส” หมายถึง การเพิ่มพูน โลภะ โทสะ โมหะ โดยรอบด้าน ผิดจากความกำหนัดย้อมใจตรงที่ ข้อนี้หมายถึงเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องสนับสนุนการเกิดของกิเลสทั่วไป และให้ทวียิ่งขึ้นด้วย การสะสมสิ่งซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกิเลสอยู่เป็นประจำ ในกรณีของคนธรรมดาสามัญ บางอย่างอาจจะไม่จัดเป็นการสะสมกองกิเลส แต่จัดเป็นการสะสมกิเลสอย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์โดยตรง เช่น พวกบรรพชิต หรือในบางกรณีก็จัดว่า เป็นการสะสมกองกิเลส ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เช่น การมีเครื่องประดับ หรือเครื่องใช้ชนิดที่ไม่มีความจำเป็นแก่การเป็นอยู่ แต่เป็นไปเพื่อความลุ่มหลง หรือความเห่อเหิมทะเยอทะยานประกวดประขันกันโดยส่วนเดียว เป็นต้น เป็นการขยายทางมาของกิเลส ให้กว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด
คำว่า “ความอยากใหญ่” หมายถึง การอยากเกินมาตรฐานแห่งภาวะ หรือสถานะ หรือกำลังสติปัญญาของตน เป็นต้น ส่วนความไม่สันโดษ ไม่ได้หมายถึงความอยากใหญ่ เช่นนั้น แต่หมายถึงความไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ได้มาแล้ว หรือมีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้มีความรู้สึกเป็น คนยากจนอยู่เนืองนิจ เป็นทางให้เกิดความอยากใหญ่หรือกิเลสอย่างอื่นต่อไปได้ หรือในทางตรงกันข้าม ทำให้เกิดการทำลายตัวเอง จนถึงกับฆ่าตัวตายก็ได้ โดยภาษาบาลี ความอยากใหญ่ เรียกว่า “มหิจฺฉตา” ความไม่สันโดษเรียก “อสันตุฎฐิ” โดยพยัญชนะหรือโดยนิตินัย เราอาจจะแยกได้ว่าเป็นคนละชั้น คนละตอน หรือคนละอย่าง แต่โดยพฤตินัยย่อมเป็นไปด้วยกัน จนถึงกับหลงไปได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน
คำว่า “ความคลุกคลี” หมายถึง การระคนกันเป็นหมู่ เพื่อความเพลิดเพลินอย่างใดอย่างหนึ่งจากการกระทำอันนั้น ความเพลิดเพลิน จากการคลุกคลีนี้มีรสดึงดูดในทางธรรมารมณ์เป็นส่วนใหญ่ และก็มีความยั่วยวน ไม่แพ้อารมณ์ที่ได้รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะเหตุฉะนั้นเอง คนเราจึงติดใจรสของการที่ได้ระคนกันเป็นหมู่นี้ ทำให้จิตใจลุ่มหลง มีลักษณะเหมือนกับจมไม่ลง ทำให้ความคิดความอ่าน ดำเนินไปอย่างผิวเผิน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการคิดอย่างแยบคายหรือลึกซึ้ง แต่พึงทราบไว้ว่าการประชุมกันเพื่อศึกษาเล่าเรียน ปรึกษาหารือ กิจการงานอันเป็นหน้าที่ เป็นต้นนั้น ท่านไม่เรียกว่าการคลุกคลีกันเป็นหมู่ในที่นี้ แต่อีกทางหนึ่งท่านยังหมายกว้างไปถึงว่า การถูกกิเลสทั่วไปกลุ้มรุม ด้วยสัญญาอดีต ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เคยผ่านมาแล้วแต่หนหลัง แม้นั่งคิดฝันอยู่คนเดียว ก็กลับสงเคราะห์ไว้ในคำว่า การคลุกคลีในหมู่อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะมีมูลมาจากความอาลัยในการระคนด้วยหมู่
คำว่า “ความเกียจคร้าน” และคำว่า “เลี้ยงยาก” มีความหมายชัดเจนแล้ว การปฏิบัติทำความดับทุกข์เป็นเรื่องใหญ่และยึดยาว จึงต้องอาศัยความเพียร ความเลี้ยงง่าย จึงจะเป็นเหตุให้ไม่ต้องมีภาระเรื่องอาหารมากกว่าที่จำเป็น ซึ่งทำให้เสียเวลา และเสียวัตถุมากไปเปล่าๆ โดยที่อาจจะนำไปใช้เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้
ลักษณะทั้ง ๘ นี้ แต่ละอย่างๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ โดยตรงก็มี เป็นเพียงอุปสรรคก็มี และเป็นการปฏิบัติผิดโดยตรงก็มี จึงถือว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ ต่อเมื่อปฏิบัติตรงกันข้ามจาก ๘ อย่างข้างต้น จึงจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ หรือเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ นี้นับว่าเป็นหมวดธรรมที่เป็นอุปกรณ์แห่งการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์อย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นหลักสำหรับยึดถือ หรือให้ดำเนินไปถูกทาง”
การปฏิบัติอย่างนี้นะ ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อที่จะเอาเพื่อที่จะเป็นมันก็จะไม่มีความเครียดอย่างนี้แหละ ความขี้เกียจขี้คร้านมันก็ไม่มี เพราะใจของเรานี้ไม่มีความมืดความสว่าง มันก็จะไม่มีอะไรมาครอบงำได้ เพราะว่าสมมุติมันครอบงำไม่ได้ แต่เพียงเอาสมมุติมาใช้งาน เราจะรู้ มันจะออกมาอย่างนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็เป็นได้แต่เพียงสมาธิ เป็นได้แต่ความสงบ มันก็จะไม่สามารถออกจากวัฏสงสารออกจากสังสารวัฏได้
ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าเราไม่เข้าสู่ภาคปฏิบัติมันจะไม่ได้นะ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปถึงจะมี ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งต่อไปก็จะไม่มี มันเป็นเหตุเป็นปัจจัย มันเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เราดูตัวอย่างแบบอย่างแบบพระที่มีความรู้มีความเข้าใจ มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นหมื่นๆ ที่เป็นพระอรหันต์ แต่ตัวเองเป็นปุถุชน ในสมัยหนึ่ง มีพระมหาเถระชื่อ พระมหาสิวะ เป็นพระที่มีชื่อเสียงทางด้านปริยัติธรรมมาก ท่านมีปัญญาแตกฉานในพระไตรปิฎก จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ สั่งสอน ธรรมะให้กับพระภิกษุสามเณรถึง ๑๘ คณะใหญ่ เป็นจำนวนถึง ๓๐,๐๐๐ รูปด้วยกัน เมื่อพระภิกษุสามเณรศึกษาปริยัติธรรมจากท่านแล้ว ก็กราบลาไปปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมถวิปัสสนา จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์กันมากมาย
มีศิษย์ของท่านองค์หนึ่ง เมื่อได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ก็ระลึกถึงคุณของพระอาจารย์ จึงตรวจดูว่าอาจารย์ได้บรรลุธรรมขั้นไหนแล้ว ก็ทราบว่าท่านยังเป็นปุถุชนอยู่ จะหาคุณวิเศษสักอย่างหนึ่งก็ไม่มี เพราะมัวแต่สอนปริยัติธรรม แต่ไม่ยอมลงมือปฏิบัติ แม้จะมีความรู้มากมายก่ายกอง เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก แต่ยังไม่ได้รับรสแห่งพระธรรมที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร พระอรหันต์ผู้เป็นศิษย์ จึงคิดจะช่วยสงเคราะห์พระอาจารย์
เย็นวันหนึ่ง ท่านได้เหาะไปยังกุฏิของพระมหาเถระ ทำเป็นว่าจะไปขอเรียนอนุโมทนาคาถา พระมหาเถระจำศิษย์ไม่ได้เนื่องจากท่านมีลูกศิษย์มาก จึงปฏิเสธว่าตนไม่มีเวลาว่าง เพราะต้องไปสอนพระไตรปิฎกทุกวัน พระอรหันต์จึงเตือนสติพระอาจารย์ว่า... "ท่านอาจารย์ผู้ว่างเปล่า อย่าทำตนเป็นผู้ไม่ว่างอยู่เลย ท่านไม่รู้ตัวหรือว่าขณะนี้ท่านเป็นผู้ที่ประมาทแล้ว ตัวของท่านเป็นเสมือนแผ่นกระดานสำหรับให้คนทั้งหลายเดินข้ามไป ท่านเป็นที่พึ่งให้แก่คนอื่นก็จริงอยู่ แต่ท่านไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับตนเองได้ แล้วจะมีประโยชน์อะไร ท่านได้แต่สอนคนอื่น ไม่ได้สอนตนเองเลย แม้ท่านจะแตกฉานในพระไตรปิฎก แต่ถ้าไม่นำความรู้ที่ศึกษามาปฏิบัติแล้ว ท่านก็จะไม่พ้นจากอบายภูมิแน่นอน"
เมื่อพระอรหันต์เตือนสติให้อาจารย์ได้สำนึกแล้ว ก็เหาะขึ้นสู่อากาศ ต่อหน้าพระอาจารย์ พระมหาเถระคิดว่าตนเองเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก สอนให้ผู้อื่นได้บรรลุธรรมมากมาย ถ้าตั้งใจลงมือปฏิบัติคงไม่เกิน ๓วันก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อย่างง่ายดาย
ก่อนเข้าพรรษา ๓วัน ท่านได้เดินทางเข้าไปในป่าใหญ่ เพื่อแสวงหาสถานที่ที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรม ได้ปัดกวาดสถานที่ให้น่าอยู่ แล้วเริ่มบำเพ็ญภาวนาตามหลักปริยัติที่เคยศึกษามา หนึ่งวันผ่านไป ใจก็ยังไม่รวม สองวันผ่านไปก็แล้ว สามวันล่วงเลยไปอย่างรวดเร็ว แม้จะใช้ความเพียรอย่างยิ่งยวด แต่ก็ไม่สามารถทำจิตให้หยุดนิ่งได้
ท่านเกิดมานะขึ้นในใจว่า "ลูกศิษย์ของเราต่างบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันมากมาย ตัวเราเป็นถึงพระอาจารย์ใหญ่ ทำไมจะทำไม่ได้" จึงอธิษฐานพรรษาอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ทำสมาธิ เจริญภาวนา ตลอดทั้งวันทั้งคืน แม้เวลาจะผ่านไป ๑เดือน ๒เดือน จนครบไตรมาส ออกพรรษาแล้ว ก็ยังไม่บรรลุ ท่านจึงเพิ่มความวิริยะ อุตสาหะ ด้วยการบำเพ็ญตบะอย่างแรงกล้า อธิษฐานจิตไม่นอนจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์
กาลเวลาได้ผ่านไป จาก ๓เดือนเป็น ๓ปี จนกระทั่งล่วงเลยมาถึง ๓๐ปี นักบวชวัยชราผู้ปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมอะไรเลย ในคืนหนึ่ง ท่านได้รำพึงรำพันน้อยใจในโชคชะตาของตนเอง รู้สึกเสียใจจนมิอาจจะกลั้นน้ำตาไว้ได้ จึงร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร และในที่ใกล้นั้นได้มีหญิงสาวคนหนึ่งมายืนร้องไห้อยู่ ท่านจึงเข้าไปถามด้วยความห่วงใย
หญิงสาวได้บอกกับพระมหาเถระว่า ตนเป็นเทพธิดาอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้มานาน ได้เห็นพระมหาเถระปรารภความเพียร จึงเกิดความเลื่อมใส ปรารถนาจะบรรลุคุณวิเศษบ้าง เห็นท่านร้องไห้จึงร้องไห้ตาม เผื่อว่าจะได้บรรลุธรรมตามท่านไปด้วย
พระมหาเถระเป็นผู้มีปัญญา ทราบว่าเทพธิดามาเตือนสติ ท่านจึงกลับมาพิจารณาตนเอง ทบทวนวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง และในคืนนั้น ท่านได้นั่งทำภาวนาด้วยใจที่สงบเยือกเย็น จิตใจผ่องแผ้ว อารมณ์ดี อารมณ์สบายกว่าทุกๆวัน ในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง
เราจะเห็นว่า การจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะนั้น จะต้องลงมือปฏิบัติอย่างเดียวเท่านั้น จะมัวร้องไห้ หรืออ้อนวอนอย่างไร ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ หรือแม้จะมีความรู้ในทางทฤษฎี หรือปริยัติธรรมมากมายเพียงใด แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ ดังนั้น การปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามพุทธวิธี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
พระภิกษุสามเณร หรือว่าประชาชนในเมืองไทย เห็นการรักษาศีลรักษาพระวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ นึกว่าไม่สำคัญ นึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ มันเป็นเรื่องที่จะจัดการกับตัวเอง เป็นเรื่องหยุดกรรมหยุดเวรหยุดภัยของตัวเอง ใจเราทุกคนมันเป็นใจนักปรัชญา มันเลยมองเห็นอย่างนั้น เพราะใจของเรามันหยาบมันสกปรก มนุษย์เราต้องพากันพัฒนาพระศาสนา พัฒนาเรื่องจิตเรื่องใจ ให้มากกว่านี้ ไม่น่าจะมาหลงงมงาย ในเรื่องไสยศาสตร์ มันหลงใหลในเรื่องกินเรื่องกาม เรื่องเหล้าเรื่องเบียร์ เรื่องท่องเที่ยว เรื่องคอนเสิร์ต เรื่องหรูหราฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือย มนุษย์เรานี้ทำถูกต้องแล้วที่พัฒนาวิทยาศาสตร์ มันไม่สมควรที่จะเอามาเป็นกับดัก ที่จะทำร้ายตัวเอง เพราะว่ามันเป็นคุก เป็นตาราง ที่ใหญ่ที่ขังผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดอย่างข้ามภพข้ามชาติ คุกตารางมีขังแค่ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ความเห็นผิด มันขังเรา ข้ามภพข้ามชาติ มันเป็นพลังงาน ทุกท่านทุกคนต้องพากันรู้จัก มันต้องมีความสุข ในการปฏิบัติธรรมปฏิบัติพระวินัย เน้นที่เรื่องจิตเรื่องใจเรื่องเจตนา เรื่องสมาทานเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ
การปฏิบัติอย่างนี้ มันไม่เครียด เพราะเราหยุด กระบวนการแห่งการปรุงแต่ง ใจของเรานั้นต้องอยู่กับปัจจุบันอยู่กับอริยมรรคมีองค์ ๘ ในปัจจุบันอยู่แล้ว ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ทุกท่านก็จะได้สัมผัสกับธรรมะเอง ผู้ที่มาบวชถึงจะได้มีธรรมะที่จะออกจากจิตจากใจ สอนประชาชน เหมือนหลวงพ่อชา เอาพระธรรมวินัย กล้าตัดสินใจ น่านับถือ ที่ดึงเอาพระธรรมวินัยเอาออกมา อย่างเจ้าคุณพุทธทาส เอาก้อนหินมาวางตรงนั้นๆ ก็สมมุติเป็นสีมา เอาความถูกต้อง เจ้าคุณพุทธทาสท่านมีความคิดที่เหนือมนุษย์ พูดธรรมมะมาให้เพื่อทุกศาสนารักกัน เหมือนกับอาจารย์ชา ได้ดึงพระวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ออกมาใช้เป็นหลัก เพื่อไม่ให้ศาสนาเป็นปรัชญา เป็นนักจิตวิทยา เพื่อเอามาเป็นพระธรรมวินัย เอามรรคผลพระนิพพาน เดี๋ยวนี้มันก็จะกลับไปเป็นนักจิตวิทยา เพราะว่ามันทิ้งไป มันหลงในกาม
หลวงพ่อกัณหา เป็นคนบ้านนอก บ้านนา พ่อแม่พาฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เมื่อบวชมาได้มาศึกษาเกี่ยวกับเหว่ยลาง ว่าเขาทานอย่างนี้ เมื่อเราทานอย่างนี้มันก็ไม่บาป เราก็ไม่ได้ไปสู้กับใคร การรักษาธรรมวินัยเพื่อจะแก้ไขตัวเองไม่ได้แก้ไขคนอื่น ไม่เกี่ยวกับคนอื่น เราสมาทานที่จะแก้ไขตัวเอง มันก็ได้ผล ถ้าทำเพื่อจะให้เขานับถือเหมือนพระเทวทัต เราก็คิดไปว่าเราไม่ตั้งใจ ไม่สมาทาน ถ้าไม่เข้าใจ นึกว่ามันขลัง ศักดิ์สิทธิ์ รักษาศีลธรรมก็เพื่อขลังศักดิ์สิทธิ์ ไม่อย่างนั้นวัว ควาย มันก็ได้บรรลุหมด จิ้งจก ตุ๊กแตที่เกาะอยู่ที่ต้นศรีมหาโพธิ์ที่อินเดียก็ได้บรรลุหมด ผู้ที่ไม่ได้ไป ก็ยังได้บรรลุมากกว่าคนที่ไปไหว้ตั้งหลายรอบ มันต้องเข้าใจอย่างนี้ มันจะได้เข้าถึงศาสนา เพราะว่าเขาไม่เข้าใจเรื่องบรรลุธรรม จะเอาตัวเองเป็นโรคประสาท มันก็ไม่ได้บรรลุหรอก เพราะเราจะเอา จะมี จะเป็น
ทุกวันนี้ เราทุกคนไม่ได้พากันประพฤติปฏิบัติธรรม เราจึงพากันหลงในอารมณ์ของสวรรค์ ถึงต้องเวียนว่ายตายเกิด เท่ากับว่าเราเป็นคนรับจ้างมาเกิด อะไรเป็นค่าจ้างรางวัลของเรา...? ค่าจ้างได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ลาภ ยศ สรรเสริญ มันเป็นรางวัลจ้างให้เราต้องมาเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติสัมปชัญญะ เห็นโทษในการเวียนตายเกิด "ความสุขความดับทุกข์ของมนุษย์ นั้นคือจิตใจที่เข้าถึงพระนิพพาน จิตใจสงบ จิตใจที่มีพุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เปิกบาน ไม่ตามอารมณ์ ไม่วิ่งตามอารมณ์"
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราทุกคนนั้น รู้จัก 'อารมณ์' เมื่อเรารู้จักแล้ว เราจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ จะได้สร้างบารมี มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ตามอะไรไป ชีวิตของเราที่เหลืออยู่นี้แหละ ถือว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่อบรมบ่มอินทรีย์ เป็นชีวิตที่ปฏิบัติตนเพื่อมรรคผลนิพพาน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee