แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๒๒ เข้าใจให้ชัดในเรื่องกรรมและผลของกรรม เพื่อจะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกอย่างเกิดมาจากเหตุเกิดมาจากปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ปัจจุบันถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราต้องมีความเห็นถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีทั้งสติมีทั้งสัมปชัญญะ เอาความถูกต้องเอาความเป็นธรรมความยุติธรรมเป็นหลัก พัฒนาสิ่งภายนอกให้เป็นวิทยาศาสตร์พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ที่มันไม่มีตัวมีตน ทุกท่านทุกคนปฏิบัติได้ ทุกสถานที่ ทุกเวลา ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา เราจะเอาตัวตนเป็นที่ตั้งเอาตัวตนเป็นการดำเนินชีวิตนั้นไม่ได้
กรรมคือสิ่งที่มันเป็นความคิด เป็นการกระทำของเราทุกคน กว่าเราทุกคนจะรู้ เราก็ต้องใช้เวลาหลายปี เราทุกคนต้องจัดการกับตัวเอง และปฏิบัติตัวเอง เพื่อที่จะควบคุมคอนโทรลในเรื่องกรรมในเรื่องกฎแห่งกรรม โดยมีสติคือความสงบ ด้วยสัมปชัญญะคือตัวปัญญา เราอย่าให้ความเคยชิน มาทำงานติดต่อต่อเนื่อง เราทุกคนต้องเห็นความสำคัญในกรรม ในกฎแห่งกรรม ที่เราทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน
กรรม ๑๒ ประเภท ในหนังสือวิสุทธิมรรค ซึ่งแต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชาวอินเดีย ได้แบ่งกรรมไว้ ๑๒ ประเภท ตามกาลเวลา ตามหน้าที่ และตามความหนักเบา
กรรมให้ผลตามเวลา
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้ สิ่งใดที่เราได้ทำไว้เช่น เรียนหนังสือ ทำงาน การกิน เสพ การคิด พูด ทำดี ทำชั่ว ถูกสถานที่ ถูกคน ถูกกาลเวลา ทำพอดีแล้วได้รับผลในชาตินี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า
๓. อปราปรเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป
๔. อโหสิกรรม กรรมที่เลิกให้ผล คือให้ผลเสร็จไปแล้ว หรือหมดโอกาสจะให้ผลต่อไป
กรรมให้ผลตามหน้าที่
๕. ชนกกรรม กรรมที่แต่งมาดีหรือชั่ว กำหนดให้มาเกิด สถานที่ไหน เวลาใด รวยหรือจน เป็นลูกของคนดีหรือเลวอวัยวะครหรือไม่
๖. อุปถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุน คือ ถ้ากรรมเดิมหรือชนกกรรมแต่งดี ส่งให้ดียิ่งขึ้น กรรมเดิมแต่งให้ชั่ว ก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น คอยสนับสนุน ถ้าเกิดมาดีก็จะเสริมให้มีความสุขยิ่งขึ้น ถ้าเกิดมาทุกข์ยาก ก็ซ้ำเติมความลำบากให้มากยิ่งขึ้น
๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นหรือขัดขวางกรรมเดิม คอยเบียนชนกกรรม เช่น เดิมแต่งมาดี เบียนให้ชั่ว เดิมแต่งมาชั่ว เบียนให้ดี
๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน เป็นกรรมพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเดิมชนกกรรมแต่งไว้ดีเลิศ กลับทีเดียวลงเป็นขอทานหรือตายไปเลย หรือเดิมชนกกรรมแต่งไว้เลวมาก กลับทีเดียวเป็นพระราชาหรือมหาเศรษฐีไปเลย
กรรมให้ผลตามความหนักเบา
๙. ครุกรรม กรรมหนัก กรรมฝ่ายดี เช่น ทำสมาธิจนได้ฌาน ตรงกันข้ามถ้ากรรมฝ่ายชั่ว ก็ทำด้วยจิตสกปรกที่สุด เช่น ฆ่าพ่อแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า ทำให้สงฆ์แตกกัน เป็นกรรมที่หนักต้องให้ผลก่อน เป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมที่จะให้ผลโดยไม่มีกรรมอื่นมาขวางหรือกั้นได้
๑๐. พหุลกรรม กรรมที่ทำจนชิน เป็นกรรมที่ทำบ่อยๆ กรรมเบาๆ แต่ทำไว้มากเหมือนดินพอกหางหมู ถ้าไม่ได้ทำกรรมหนักไว้กรรมนี้จะให้ผล
๑๑. อาสันนกรรม กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย หรือที่เอาจิตใจจดจ่อในเวลาใกล้ตาย อาสันนกรรม ย่อมส่งผลให้ไปสู่ที่ดีหรือชั่วได้ เปรียบเหมือนโคแก่ที่อยู่ปากคอก แม้แรงจะน้อย แต่เมื่อเปิดคอกก็ออกได้ก่อน
๑๒. กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์ อาจจะทำด้วยความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็อาจส่งผลดีร้ายให้ได้เหมือนกัน ในเมื่อไม่มีกรรมอื่นจะให้ผลแล้ว
เหตุที่คนคิดว่าทำดีไม่ได้ดี มีคนบางคนที่ทำกรรมชั่ว แต่กลับปรากฏว่าเป็นคนร่ำรวย มีอำนาจวาสนา มีคนเคารพยกย่อง ส่วนคนบางคนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันขันแข็ง กลับยากจน มีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก หรือคนบางคนไม่ค่อยทำงานอะไร คอยประจบสอพลอและรับใช้เจ้านาย กลับได้ดี ได้เลื่อนเงินเดือนและตำแหน่ง ส่วนคนบางคนตั้งใจทำงานแต่ไม่ประจบเจ้านาย ไม่ค่อยรับใช้คุณหญิงคุณนายของเจ้านาย กลับไม่ได้ดี จึงทำให้คนคิดไปว่ากฎแห่งกรรมจะไม่จริง คำสั่งสอนที่ว่า
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
คงจะไม่เป็นความจริงเสียแล้ว การที่บางคนเห็นว่าทำดีไม่ได้ดี หรือทำชั่วไม่ได้ชั่ว เนื่องจากไม่เข้าใจ ๒ ประการ
ประการแรก ไม่เข้าใจในเรื่องการให้ผลของกรรม
ประการสอง ไม่เข้าใจในความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่ว
การให้ผลของกรรม การให้ผลของกรรมมีสองชั้น คือ การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดาอย่างหนึ่ง และการให้ผลของกรรมในชั้นศีลธรรมอีกอย่างหนึ่ง การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นการให้ผลโดยไม่คำนึงถึงว่าถูกหลังความชอบธรรมหรือไม่ เช่นนาย ก. โกงเงินหลวง หรือขโมยทรัพย์มา นาย ก. ก็จะได้เงินนั้นมา และถ้านาย ก. ใช้เงินซื้อบ้าน นาย ก. ก็จะได้อยู่บ้านนั้น นี่เป็นการให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา แต่การให้ผลของกรรมหาได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้นไม่ กรรมที่ทำลงไปยังจะให้ผลในชั้นศีลธรรมอีก คือ ถ้าทำดีจะต้องได้รับผลดีอย่างแน่นอน และถ้าทำชั่วก็จะต้องได้รับผลชั่วอย่างหลีกไม่พ้น
กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาตินี้ เรียกว่า ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติหน้า ที่เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรมกรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป ที่เรียกว่า อปราปรเวทนียกรรม
การปลูกพืชหรือต้นไม้ ไม่ใช่พอวางเมล็ดลงไปในดิน พืชหรือต้นไม้จะขึ้นและให้ผลทันที พืชบางอย่างก็ให้ผลเร็ว พืชบางอย่างก็ให้ผลช้าเป็นปี ๆ เช่นข้าว เพียง ๔-๕ เดือนก็ให้ผล แต่ต้นมะพร้าวหรือทุเรียน กว่าจะให้ผลก็ใช้เวลาถึง ๕ ปี
การที่คนทำความชั่วยังได้ดีมีสุขอยู่ จึงเป็นเพราะกรรมชั่วยังไม่ให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำยังเป็น อุปัตถัมภกกรรม คอยสนับสนุนอยู่ เมื่อใดที่กรรมดีอ่อนกำลังลง กรรมชั่วก็จะมาเป็น อุปฆาตกรรม ทำให้ผู้นั้นต้องเปลี่ยนสภาพไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเศรษฐีอาจจะต้องเป็นยาจก เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจวาสนา อาจจะถูกฟ้องร้องต้องโทษจำคุก หรือต้องเที่ยวหลบหนีเร่ร่อนไม่มีแผ่นดินจะอยู่
คนที่ไม่เชื่อเรื่องของกรรม มักจะมองเห็นผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นผู้มีสายตามืดมัว มองไม่เห็นการให้ผลของกรรมชั้นศีลธรรม บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นคนไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วเกิด คิดว่าคนเราเกิดมาเพียงชาตินี้ชาติเดียว ก็สิ้นสุดลง คนพวกนี้เมื่อทำความชั่วและความชั่วยังไม่ให้ผลก็คิดว่าตนเป็นคนฉลาด ดูถูกพวกที่เชื่อเรื่องกรรมว่าเป็นคนโง่ งมงาย คนพวกนี้เหมือนคนที่กินขนมเจือยาพิษ ตราบใดที่ยาพิษยังไม่ให้ผลก็คิดว่าขนมนั้นเอร็ดอร่อย สมตามพุทธภาษิตที่ว่า “มธุวา มญฺญตี พาโล ยาว ปาปํ น ปจฺจติ ยทา จ ปจฺจติ ปาปํ อถ (พาโล) ทุกฺขํ นิคจฺฉติ. คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล, ก็เมื่อใด บาปให้ผล, เมื่อนั้น คนพาล ย่อมประสพทุกข์”
การให้ผลของกรรม อาจแบ่งเป็นการให้ผลทางจิตใจ และการให้ผลทางวัตถุ
การให้ผลทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ทำโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เมื่อทำไปแล้วก็ได้รับผลทันที คือเมื่อทำกรรมดี ก็จะได้รับความสุขความปีติ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง เป็นทุกข์ ส่วนการให้ผลทางวัตถุเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น จะทำให้ได้ดียากมาก
คนทำดี จะให้ได้ดีทางวัตถุ ต้องประกอบด้วยหลัก ๔ ประการคือ
๑. คติสมบัติ ทำดีให้ถูกสถานที่ ๒. อุปธิสมบัติ ทำดีให้ถูกตัวบุคคล
๓. กาลสมบัติ ทำดีให้ถูกเวลา ๔. ปโยคสมบัติ ต้องทำดีให้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ
การที่คนทำกรรมดีและหวังผลดีในทางด้านวัตถุ เช่น หวังลาภ ยศ และสรรเสริญ แต่ไม่ได้รับผลดีตามต้องการ อาจจะเพราะไม่เข้าตามหลัก ๔ ประการข้างต้น คือ ไปทำความดีกับบุคคลที่ไม่มีความดี เช่น เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่เจ้านายของเราเป็นคนคอรัปชั่น การทำความดีของเราย่อมไม่เป็นที่ชื่นชมของเจ้านายของเรา การทำดีกับบุคคลเหล่านี้ก็ไม่ผิดอะไรกับเอาเมล็ดพืชทิ้งลงไปบนหิน หรือพื้นดินแห้งแล้ง ฉะนั้นการทำความดีเราควรจะหวังผลในทางจิตใจมากกว่าวัตถุ บางคนอาจจะ ทำความดีจริงแต่อาจจะทำไม่ถึงดี คือ ทำดีเพียงเล็กน้อยแล้วก็หวังผลแห่งความดีนั้น เมื่อไม่ได้รับผลตอบแทนก็หมดกำลังใจ แล้วก็บอกว่าทำดีไม่เห็นได้ดี คนพวกนี้เหมือนคนปลูกพืชรดน้ำพรวนดินนิดหน่อย ก็หวังที่จะให้พืชได้ผล
ความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่ว ในทางโลกและทางธรรม มีความหมายแตกต่างกัน
ในทางโลก มักจะมองเห็น การได้ดีและได้ชั่วเป็นเรื่องทางวัตถุ เมื่อกล่าวว่าคนนั้นได้ดีก็มักจะหมายความว่า ผู้นั้นได้ลาภและยศ เช่นได้ทรัพย์สมบัติ ได้อำนาจวาสนา หรือได้ตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านี้ก็เข้าใจว่าไม่ได้ดี
ในทางธรรม การได้ดีหรือได้ชั่วเป็นเรื่องของจิตใจ การได้ดีหมายถึง การทำให้จิตใจดีขึ้น ทำให้ธาตุแห่งความดีในตัวเองเรามีมากขึ้น ทำให้จิตใจของเราสะอาด สว่าง สงบยิ่งขึ้น ส่วนการได้ชั่ว หมายถึงการทำให้จิตใจต่ำลง เลวลง ทำให้จิตใจมืดมัวยิ่งขึ้น คำว่าได้ดีจึงความถึงความดี และคำว่าได้ชั่ว จึงหมายถึงความชั่ว หากเราจะพูดว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ก็จะทำให้เข้าใจในเรื่องได้ดีและได้ชั่วดีขึ้น
บุคคลที่กระทำกรรมอะไรลงไป ย่อมจะได้รับผลในทางจิตใจทันที เมื่อทำกรรมดี เช่น ทำบุญตักบาตร ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ก็จะทำให้จิตใจดีขึ้น มีความปีติ และความสุขในกรรมดีที่ตนทำ ในเมื่อกรรมที่ทำเป็นกุศลกรรมจริงๆ คือทำด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ด้วยความโลภหรือด้วยอกุศลเจตนา หรือหวังผลตอบแทน
ทุกๆ ท่านทุกๆ คนก็ต้องพากันปฏิบัติตัวเอง โลกเราในปัจจุบันหรือว่าในอดีต ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ จึงได้ทำกันติดต่อต่อเนื่องกันมา เหมือนที่เราก่อไฟนี้แหละ ก่อไฟแล้วมาเผาติดต่อต่อเนื่องกัน พากันทำอย่างนี้ทุกๆ คนเลย แล้วทุกคนจึงได้เป็นแค่เพียงคน คำว่าคนก็แปลว่าความหลง ไปไหนไม่ได้มันก็วนเวียน เปลี่ยนแปลง ไม่มีที่ไปที่มา ด้วยเหตุด้วยปัจจัยนี้ เราถึงจะต้องมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา เราต้องรู้เป้าหมายของชีวิตเราจะเกิดมาทำอะไร เกิดมาแล้วเราจะไปไหนจะทำอะไร ความดับทุกข์ของเรามันจะมีไม่ได้ มันจะมีแต่ร้องครวญครางไปเรื่อยๆ เพราะว่าเราทุกคนมีความเห็นผิดมีความเข้าใจผิด ทุกท่านทุกคนต้องสนใจในเรื่องกรรมในเรื่องกฎแห่งกรรม ที่มันจะเกิดแก่เรา โดยที่ไม่มีข้อใดยกเว้นในความคิดในการกระทำของเราทุกๆ คน
เพราะว่าความสมัครสมานสามัคคีเป็นสิ่งที่สำคัญ เราทุกคนต้องมีความเห็นเหมือนกัน มีการปฏิบัติที่เหมือนกัน ที่มันเป็นสังฆะ เราจะต่างคนต่างทำมันไม่ได้ ทุกๆ คนต้องเสียสละ เสียสละทางวัตถุอย่างเดียวมันก็ยังไม่เพียงพอ ต้องเสียสละทางจิตทางใจ ความสงบอย่างเดียวมันก็ยังไม่พอ มันก็ต้องมีปัญญา เพื่อที่อริยมรรคมีองค์ 8 ของเรามันจะได้ก้าวไปได้ เพราะความสงบเป็นได้แค่สมาธิ มันไม่ได้เข้าถึงพระพุทธศาสนา ยังมีความหลงความพอใจอยู่ สติสัมปชัญญะถือเป็นตัวสำคัญ ที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ที่ไม่ขาดตกบกพร่อง เราอย่าไปคิดว่าเราปฏิบัติธรรมคนเดียว คนอื่นเขาไม่ได้ปฏิบัติ มันจะแก้ปัญหาโลกนี้ไม่ได้ เราอย่าไปคิดอย่างนั้น เราต้องแก้ตัวเอง 100% มันจะได้เข้าหาธรรมเข้าหาคุณธรรมไปเรื่อยๆ
พวกที่ไม่เข้าสู่พระประพฤติภาคปฏิบัติ ก็ย่อมไม่มีการแก้ไข ปล่อยให้เวลามันผ่านไป เหมือนเช่นกับทิดเอี่ยมเมื่อตอนบวชครั้งก่อน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มาบวชลอยๆ อยู่เฉยๆ ไม่ได้แก้ไขอะไร เสียเวลาในการมาบวช เสียเวลาไปตั้ง 3 ปีเต็มๆ สึกไปแล้วชีวิตก็ล้มเหลวไม่มีใครแก้ไขได้ พ่อแม่ก็แก้ไขไม่ได้ ทุกคนแก้ไขไม่ได้ พอมันอยู่ในวัดก็ซิกแซกหลบหลวงพ่อไปวันๆ พอสึกออกไปแล้วชีวิตก็ล้มเหลว โยมวราภรณ์ที่เป็นญาติผู้ใหญ่ ก็เลยคิดว่าไม่ได้แล้ว ให้คนอื่นจัดการไม่ได้ เขาก็เลยมาให้หลวงพ่อจัดการ ให้มาทำงานรับใช้หลวงพ่อ เดี๋ยวนี้มาทำงานรับใช้หลวงพ่อเป็นเวลา 5 ปีแล้ว เดี๋ยวนี้ทิดเอี่ยมก็มีสติมีปัญญา เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เอาความถูกต้อง เอาความเป็นธรรมเอาความยุติธรรม แต่ก่อนนั้นน่ะ มีปฏิปทาที่เป็นเลิศก็คือ หลบหลีก ปฏิปทาที่เปผ้นเลิผสก็คือการนอน ทิดเอี่ยมนี้เป็นคนดีอย่างหนึ่งคือเป็นคนนอนหลับง่ายไม่กี่นาทีก็หลับแล้ว ทำให้ซ่อมแซมสมองดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ที่เอาความจริงมาพูดเพื่อเป็น case study เป็นอุทาหรณ์สะท้อนให้เห็นว่า มันฝึกตัวเองได้
พวกที่มาบวชทั้งหลายนะ ที่เป็นลูกเถ้าแก่ก็ดี ที่เป็นลูกคนมีอยู่มีกินก็ดี ทุกท่านทุกคนต้องพากันมาฝึกตัวเองพากันมาฝึกตัวเองเต็มที่ จะพากันไปบวชลอยๆ ต้องมีสติสัมปชัญญะกัน ควบคุมตัวเองคอนโทรลตัวเอง ต้องควบคุมตัวเองในการประพฤติปฏิบัติ หลวงพ่อก็เห็นอยู่หลายคนนะ ที่ไม่กล้ามาใกล้หลวงพ่อ สิ่งที่เราควรใกล้ที่สุดก็คือ ใกล้พระพุทธเจ้าใกล้พระอรหันต์ อย่าพากันไปซิกแซกกัน มันไม่ใช่คนเก่งคนฉลาดอะไรหรอก มันเป็นคนโง่นะ เมื่อเรามีหนี้มีสิน ต้องใช้หนี้ใช้สินด้วยการประพฤติปฏิบัติ ด้วยความสงบ อย่าไปเอาตามความฟุ้งซ่าน ด้วยสัมปชัญญะคือตัวปัญญา ทุกคนต้องหยุดการหยุดเวร ต้องมีสัมปชัญญะในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ เราทำไปปฏิบัติไป เพราะธรรมะก็เป็นความสัปปายะแล้ว ประชาชนในประเทศไทยเขาก็เคารพ บ้านก็ไม่ได้เช่าข้าวก็ไม่ได้ซื้อ เอาของมาให้แล้วก็ยังมากราบมาไหว้อีก
ทุกคนนั้นต้องช่วยเหลือกัน คนที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็ให้ช่วยเหลือกัน ถ้าเราเอาแต่ตัวแต่ตนนั้น มันก็ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ มันเป็นแค่สมาธิเฉยๆ มันไม่ได้เป็นปัญญาอะไร เราเป็นโยมเป็นประชาชนทุกคนก็พากันแก้ไขตัวเองเพราะคนเรา พอจะรู้ตัวเองมันก็หลายปี กายวาจาใจมันต้องรู้ตัวเอง เวลาเจ็บเวลาป่วยก็ไม่มีใครขับรถพาไปหาหมอให้ เพราะว่าศีลเราไม่ดี ไปทำตามตัวเองไปทำตามอัธยาศัย คนเราต้องเสียสละ เสียสละตัวเสียสละตน ถ้าเราเสียสละตัวสละตน มันก็จะเป็นสิ่งที่น่ารักน่านับถือ ทุกคนนะจะมาเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ของครอบครัว จะมาเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ของวัดไม่ได้ เราต้องเป็นผู้ที่น่ารักคือเป็นผู้ที่เสียสละไม่มีตัวมีตน มีแต่สติสัมปชัญญะ หลายคนมันโง่ไปแล้วก็ให้เราเอาใหม่ พระพุทธเจ้าท่านให้เราแก้ไขใหม่ ทุกคนจะได้เคารพนับถือ เวลาไปหาหมอเวลาไปโรงพยาบาล ทุกๆ คนก็จะแย่งขับให้จะทำให้ เราต้องแก้ไขที่ตัวเอง เห็นไหมวิบากกรรมกว่าจะรู้ตัวมันก็หลายปี มัวแต่เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่กันอยู่ บาปกรรมมันปรากฏหลายปีกว่าจะรู้ผล เพราะว่าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ จับจ่ายใช้สอยด้วยความฟุ้งซ่าน ลูบหน้าปะจมูกอะไรสารพัด เพราะว่าเราไม่มีศีล ไม่มีสติสัมปชัญญะ เราต้องเอาความสุขจากสติสัมปชัญญะบ้าง อย่าเอาแต่ความสุขจากความหลงความโง่ความงมงาย
เราทุกคนน่ะต้องอาศัยพระศาสนาในการดำเนินชีวิตนะ อย่าพากันไปอาศัยตัวตน ความโง่ความหลงความงมงายในการดำเนินชีวิต ทุกคนมันเจ็บมันปวดนะ บาดแผลมันลึกถึงกระดูก บางทีมันลึกถึงเยื่อในกระดูกถึงข้างใน เพราะว่าเราไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ ให้เราพากันมาจัดการตัวเอง ชั่งหัวมัน ให้เราพากันแก้ไขใหม่ ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ในใจ คิดแรงๆ ไปเลย ช่างหัวมันช่างพ่อช่างแม่มันเหอะ โง่มาแล้ว มันเคยโง่มาแล้ว ก็ต้องจัดการตัวเองเอาธรรม เอาปัจจุบันธรรมนี้ ที่พูดที่กล่าวนี้มันมาจากความเป็นจริง ไม่ได้ยกไม่ได้สมมุติอะไรมาพูด มันเป็นธรรมะที่ทันโลกทันสมัยในปัจจุบัน มันจะได้ไม่เซ่อๆ เบลอๆ งงๆ มันต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้
เราจะไปพากันเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวมันเป็นนิสัยหยาบ อย่าไปทำอะไรแอบแฝงเพื่อผลประโยชน์ การทำอะไรแอบแฝงเพื่อผลประโยชน์มันเป็นธุรกิจ มันไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เราอย่าปฏิบัติต่อประเทศชาติเพื่อหวังอะไรตอบแทน อย่าไปทำกับศาสนาเพื่อหวังอะไรตอบแทน มันเป็นบาปเป็นกรรม ทุกคนต้องจัดการกับตัวเอง ถ้าทำอะไรหวังผลตอบแทน เขาเรียกว่านายทุน ลงทุนเหมือนพระคุณเจ้าที่มาบวชในพระพุทธศาสนาที่หวังอะไรตอบแทน ที่โกนหัวห่มผ้าเหลืองก็เพื่อหวังผลประโยชน์ ก็เพื่อบ้านไม่ได้เช่าข้าวไม่ได้ซื้อ เขาเอาอะไรมาให้ก็ยังมากราบมาไหว้อีก แบบนี้เขาเรียกว่าพวกลงทุนให้พากันเข้าใจนะ ให้ทุกท่านทุกคนพากันตั้งใจ ให้มีสติสัมปชัญญะ เพราะนิสัยมันหยาบ มันก็เลยเป็นอย่างเก่า ไปอยู่ที่ไหนบนโลกอยู่แป๊บเดียวมันก็ร้อนไปแล้ว เพราะว่านิสัยเก่า ความร่มรื่นร่มเย็นความสงบเย็นเป็นพระนิพพาน มันไม่มีอยู่กับพวกทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก มันเกิดมาเพื่อที่จะมาเผาตัวเอง มาเผาคนอื่น อย่างนี้เสียหายนะ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ หลวงพ่อนะ มีความเมตตามีความกรุณาทุกคนนะ ถือว่าไอ้พวกที่มันสลบไสลอยู่นะ หลวงพ่อก็ไปปั๊มหัวใจให้มันลุกขึ้นมาเดินต่อ ต้องรู้กรรมรู้เวรที่ตัวเองทำ
มหาโจรองคุลีมาลฆ่ามนุษย์เสียมากต่อมาก จนจำไม่ได้ว่าจำนวนเท่าใด ต้องตัดเอานิ้วร้อย เป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่ออย่างนั้น วันหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จไปโปรด พอองคุลีมาลเห็นนึกแปลกใจ ที่พระสมณโคดมเสด็จมาแต่ลำพัง และนึกดีใจที่จะได้นิ้วมนุษย์มาร้อยเป็นพวงมาลัยเพิ่มขึ้นอีก จึงเดินรี่เข้าไปหา แม้จะพยายามก้าวเท่าไรก็ไม่ทัน ถึงกับวิ่งก็ยังไม่ทันอยู่อีก จึงได้ร้องตะโกนไปว่า “สมณะหยุดก่อน”
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “เราหยุดแล้ว ท่านต่างหากยังไม่หยุด” องคุลิมาลไม่เข้าใจ จึงทูลถามไปว่า “ท่านกำลังเดินอยู่แต่กล่าวว่าหยุดแล้ว ส่วนข้าพเจ้า ผู้หยุดแล้วแต่กลับกลายว่าไม่หยุด ท่านหมายความว่าอย่างไร”
พระองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนองคุลีมาล เราเลิกเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายแล้ว เราวางศาสตราวุธแล้ว ส่วนท่านสิไม่สำรวมในสัตว์ เที่ยวเบียดเบียนล้างผลาญชีวิตสัตว์ เราจึงชื่อว่าหยุดแล้ว ท่านชื่อว่ายังไม่หยุด”
ด้วยพุทโธวาทเพียงเท่านี้องคุลีมาลรู้สึกซาบซึ้งในความหมาย จึงวางศาสตราวุธ และยอมตนเป็นศิษย์ขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านพยายามปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอยู่ ต่อมาไม่ช้านานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์คือ วิมุตติ หลุดพ้นจากกิเลสความเศร้าหมองทั้งปวง ได้รับความสงบสุข ไม่มีความสุขใดจะยิ่งกว่า ถึงกับเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานใจเสมอว่า “ผู้ใดประมาทแล้วในตอนต้น ภายหลังเขาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้ว จากหมอกฉะนั้น. บาปกรรมที่ทำไว้แล้วอันผู้ใดปิดกั้นไว้ ด้วยกุศลผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอกฉะนั้น. ภิกษุใดแล แม้จะยังหนุ่มประกอบความขวนขวายในพระพุทธศาสนาภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ฉะนั้น.
บุคคลใดจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ในกาลก่อนแต่การคบหากับกัลยาณมิตร ประมาทแล้วโดยการเกี่ยวข้องกับมิตรชั่ว หรือโดยภาวะที่ตนไม่มีการพิจารณา คือถึงความประมาทในสัมมาปฏิบัติ ภายหลังความแยบคายผุดขึ้น เพราะการเกี่ยวข้องกับกัลยาณมิตร ชื่อว่าย่อมไม่ประมาท คือปฏิบัติชอบอยู่ หมั่นประกอบเนืองๆ ซึ่งสมถะและวิปัสสนา ย่อมบรรลุวิชชา ๓ อภิญญา ๖ บุคคลนั้นย่อมทำโลกมีขันธโลกเป็นต้นนี้ ให้สว่างไสวด้วยวิชชาและอภิญญาที่ตนบรรลุ เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอกเป็นต้น ทำโอกาสโลกให้สว่างอยู่ ฉะนั้น.
ลำดับนั้น พระเถระจึงเข้าไปตั้งเมตตาจิตในสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เจาะจง แล้วได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ว่า “ก็ผู้เป็นข้าศึกต่อเรา จงฟังธรรมกถาที่เราได้ฟังแล้ว ในสำนักของพระศาสดา ขอจงประกอบความขวนขวายในพระพุทธศาสนา ขอจงคบหากับมนุษย์ผู้เป็นสัตบุรุษผู้ถือ มั่นแต่ธรรมอย่างเดียว. ก็ผู้เป็นข้าศึกต่อเรา ขอเชิญฟังธรรมของท่านผู้กล่าว สรรเสริญความอดทน ผู้มีปกติสรรเสริญความไม่โกรธ ตามเวลาอันควร และขอจงปฏิบัติตามธรรมอันสมควรแก่ธรรมนั้นเถิด ขออย่าเบียดเบียนเราและประชาชนหรือว่าสัตว์อื่นใดเลย พึงบรรลุความสงบอย่างเยี่ยมและพึงรักษาสัตว์ทั้งปวงให้เป็นเหมือนบุตรที่รักเถิด. ก็ชาวนาที่ต้องการน้ำย่อมไขน้ำไป ช่างศรย่อมดัด ลูกศร ช่างไม้ย่อมถากไม้ บัณฑิตย่อมฝึกตน. คนบางพวกย่อมฝึกช้างและม้าเป็นต้น ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยขอบ้าง ด้วยแส้บ้าง ส่วนเราเป็นผู้อันพระศาสดา ผู้คงที่ทรงฝึกแล้ว โดยไม่ได้ทรงใช้อาชญาและศาสตรา.
เมื่อก่อนเรามีชื่อว่าอหิงสกะ ผู้ไม่เบียดเบียน แต่เรายังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ วันนี้เราเป็นผู้มีชื่อจริง ไม่เบียดเบียนใคร แต่ก่อนเราเป็นโจรลือชาทั่วไปว่าองคุลิมาล แต่บัดนี้ องคุลิมาลได้มาพบพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งเข้าแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพน้อยใหญ่ขึ้นได้แล้ว เราได้ทำกรรม เช่นนั้นอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเป็นอันมาก จึงต้องมารับผลกรรมที่ทำไว้ แต่บัดนี้ เราบริโภคโภชนะโดยไม่เป็นหนี้ คนพาลผู้มีปัญญาทราม ย่อมประกอบตามความประมาท ส่วนนักปราชญ์ ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อันประเสริฐสุด ฉะนั้น.
ท่านทั้งหลายอย่าทำอะไรตามความประมาท อย่าประกอบความสนิทสนมด้วยความยินดีในกาม เพราะว่า ผู้ไม่ประมาทเพ่งพินิจอยู่ ย่อมถึงความสุขอันไพบูลย์. การที่เรามาสู่สำนักของพระศาสดา เป็นการมาดีแล้ว มิใช่ว่าเป็นการมาไม่ดี การที่เราคิดจะมาบวชในสำนักของพระศาสดานี้ ก็ไม่ใช่เป็นความคิดที่เลวเลย เพราะเป็นการเข้าถึงธรรมอันประเสริฐ ในธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาทรง จำแนกดีแล้ว. เราได้บรรลุวิชชา ๓ ตามลำดับ ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว. แต่ก่อนเราอยู่ในป่า โคนไม้ ภูเขาหรือในถ้ำทุกแห่ง มีใจหวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์ เราผู้อันพระศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้ว ไม่ไปในบ่วงมาร จะยืน เดิน นั่ง นอนก็เป็นสุข.
เมื่อก่อนเรามีเชื้อชาติเป็นพราหมณ์ มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย บัดนี้เราเป็นโอรสของพระสุคตผู้ศาสดา ผู้เป็นพระธรรมราชา เราเป็นผู้ปราศจากตัณหา แล้วไม่ถือมั่น คุ้มครองทวาร สำรวมดีแล้ว เราตัดรากเหง้าของทุกข์ได้แล้ว บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว เรามีความคุ้นเคยกับพระศาสดา ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพเสียแล้ว.
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee