แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันจันทร์ที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๑๙ โลกพัฒนาวัตถุเทคโนโลยีมาไกล ต้องพัฒนาใจให้มีสติเท่าทัน เพื่อไม่หลงไม่ประมาท
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำเทศนา วันจันทร์ที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ปัจจุบันนี้ประชากรโลกร่วม 8,000 ล้านคน ประเทศไทยมีประชากรร่วม 70 ล้านคน มีกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง มีจังหวัดอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครนายก ปทุมธานี เป็นปริมณฑลใกล้เคียง แบ่งเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก ใต้ อีสาน มีพื้นที่ติดกับทะเล จังหวัดตราด จันทบุรี ระนอง ชลบุรี ทางใต้เป็นแนวคอด เกาะที่มีทะเลล้อมรอบประเทศไทย ถือว่าเป็นประเทศสัปปายะดี อากาศไม่หนาว ไม่ร้อนเกิน มีการขนส่งทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ ศูนย์ราชการ การเรียน การศึกษา โรงพยาบาล ทหาร ตำรวจ นักการเมือง ศูนย์รวมของพระศาสนาทุกศาสนาที่รวมกัน มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ประเทศไทย การปกครองเอาธรรมะเป็นหลัก ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาหลัก คือ ธรรมะ คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม
การอยู่ในประเทศอันสมควรนั้นย่อมให้ความเจริญแก่จิตใจและความก้าวหน้าของเราอย่างนี้
มีพระบาลีใน มงคลทีปนี ว่า "บริษัท ๔ ย่อมเที่ยวไป บุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้น ย่อมเป็นไป คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ ย่อมรุ่งเรืองในประเทศใด ประเทศนั้น ชื่อว่า ประเทศอันสมควร การอาศัยอยู่ในประเทศอันสมควรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งการทำบุญของสัตว์ทั้งหลาย"
ลักษณะของถิ่นที่เหมาะสมก็คือ มีพุทธบริษัทอาศัยอยู่ มีพระภิกษุสามเณรผู้เป็นเนื้อนาบุญ เพื่อเราจะได้สั่งสมบุญเป็นหนทางไปสู่สวรรค์สู่มรรคผลนิพพาน นอกจากนี้ยังเป็นที่ที่คำสอนของพระบรมศาสดามีองค์ ๙ เจริญรุ่งเรืองอีกด้วย ซึ่งหมายถึง คำสอนที่เป็นไปเพื่อให้เกิดมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ รวมทั้งอริยมรรคมีองค์ ๘ หรืออริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ประเทศไหนที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ประเทศนั้นถือว่าเป็นปฏิรูปเทส
ลักษณะของถิ่นที่เหมาะสม
๑. อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ดี เช่น ถ้าเป็นบ้าน ก็ต้องให้มีต้นไม้ร่มรื่น น้ำไฟสะดวก ถ้าเป็นโรงเรียน ก็ต้องมีสุข-ลักษณะดี มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงอึกทึก มีบริเวณกว้างขวาง มีสนาม กีฬา ถ้าเป็นที่ตั้งร้านค้า ก็ต้องเป็นบริเวณที่อยู่ในย่านชุมชน การคมนาคมสะดวก ถ้าเป็นจังหวัดหรือภาค ก็ต้องเป็นบริเวณที่สภาพภูมิศาสตร์ดี เช่น ไม่ลุ่มไม่ดอนเกินไป ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เป็นต้น
๒. อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นบริเวณที่สามารถจัดหาอาหารได้สะดวก เช่น อยู่ใกล้ตลาด หรือบริเวณที่มีการเกษตรกรรมสามารถผลิตอาหารได้เองอย่างพอเพียง และเป็นที่ที่สามารถประกอบธุรกิจการงานหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ดี
๓. บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง บริเวณที่อยู่นั้นต้องไม่มีนักเลงอันธพาล โจรผู้ร้ายไม่ชุกชุม คนส่วนใหญ่ในละแวกนั้นเป็นคนดี มีศีลธรรม มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า
๔. ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง ความดีงาม ความเหมาะสม ใน 2 ลักษณะ คือ
- ในทางโลก หมายถึง ในถิ่นนั้นมีโรงเรียน สถานศึกษาสำหรับให้ความรู้ได้อย่างดี ตลอดจนมีหลักการปกครอง การบริหารราชการบ้านเมืองที่ดีอีกด้วย
- ในทางธรรม หมายถึง ในถิ่นนั้นมีพระภิกษุ หรือฆราวาสผู้รู้ธรรม เป็นบัณฑิต สามารถให้การอบรมสั่งสอนศีลธรรมได้อย่างดี หรือถิ่นที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง สามารถให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ ทำสมาธิภาวนาได้เป็นนิจ
องค์ประกอบของถิ่นที่เหมาะสมดังได้กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ ประการ จัดเรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้
ธรรมะเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๑ บุคคลเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๒
อาหารเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๓ อาวาสเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๔
เพราะถึงแม้อาวาสจะไม่เป็นที่สบาย แต่ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ก็ยังพออยู่ได้ หรือถ้าอาวาสและอาหารไม่เป็นที่สบาย แต่บุคคลเป็นที่สบายแล้ว ก็จะสามารถปรับปรุงอาหารและอาวาสให้เป็นที่สบายได้ แต่บุคคลจะเป็นที่สบายได้ก็ต้องมีธรรมะเป็นที่สบายอยู่ในจิตใจเสียก่อน
ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น พื้นที่เป็นเกาะ มีภัยธรรมชาติจากลมพายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อยๆ พื้นที่ก็น้อย (อาวาสไม่เป็นที่สบาย) อาหารการกินก็ไม่เพียงพอ เลี้ยงตัวเอง (อาหารไม่เป็นที่สบาย) แต่เนื่องจากประชากรเขามีประสิทธิภาพ ขยันขันแข็ง มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า (บุคคลเป็นที่สบาย) และมีหลักในการปกครองประเทศที่ดี มีความรักชาติ (ธรรมะในทางโลกเป็นที่ สบาย) จึงเป็นผลให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเจริญรุ่งเรือง จนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้
ส่วนประเทศไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง (อาวาสเป็นที่สบาย) อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ (อาหารเป็นที่สบาย) แต่ที่ยังขาดอยู่คือ คนของเรายังขาดวินัย ยังมีความมานะพากเพียรไม่เพียงพอ (บุคคลไม่เป็นที่สบาย) แม้เราชาวไทยจะมีพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ทว่าเรายังเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัวอยู่มาก นำพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติเพียงบางส่วน เช่น มีน้ำใจ มีเมตตา แต่ขาดความพากเพียรและวินัย (ธรรมะเป็นที่สบายแต่บุคคลไม่สบาย) ทำให้แม้ประเทศไทยจะน่าอยู่กว่าหลายๆ ประเทศ ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน แต่ความเจริญของเรายังล้าหลังประเทศอื่นอยู่
ดังนั้น ถ้าพวกเราร่วมใจกันพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี มีระเบียบวินัย มีความขยันขันแข็ง ใฝ่หาความก้าวหน้าอยู่เสมอโดยนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นที่หวังได้ว่า ชาติไทยของเราจะมีความรุ่งเรืองก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทั้งหลายได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ในหลายๆ ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุมาก ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภค หางานทำได้ง่าย เก็บเงินทองได้มาก ดูเผินๆ แล้วน่าไปอยู่อาศัยมาก แต่เมื่อพิจารณาอีกที อาจจะคิดได้ว่า อย่าอยู่เลย เพราะธรรมะไม่เป็นที่สบาย โอกาสที่ผู้อยู่อาศัยจะสร้างความก้าวหน้าทางใจ โอกาสที่จะสร้างบุญบารมีมีน้อย ลองคิดดูซิ... คนอยู่ในประเทศเหล่านั้น ตื่นเช้าขึ้นมาก็นึกถึงแต่งาน ไม่เคยได้เวลาหรือมีโอกาสนึกถึงการทำบุญให้ทาน การรักษาศีล หรือการทำสมาธิภาวนาเลย หรือบางครั้งนึกถึงแต่ก็ไม่มีใครแนะนำให้ ดังนั้นถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือตายไปแล้วจากคุณงามความดี
ในประเทศไทยเรา แม้ความเจริญทางด้านวัตถุอาจจะยังล้าหลัง แต่ด้านธรรมะยังเจริญอยู่มาก เรายังมีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาได้เต็มที่ มีโอกาสสร้างบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปได้
สถานที่ที่เหมาะสมนั้น ท่านเรียกว่า ปฏิรูปเทส ปฏิรูปเทสสำหรับผู้มุ่งหวังความเจริญในทางธรรม คือ สถานที่ที่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงอยู่ มีพุทธบริษัทและสาธุชนทั้งหลายสมัครสมานสามัคคี มีใจใฝ่ในการสร้างบุญกุศล ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาอยู่เป็นนิตย์
การได้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสมเช่นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมงคลอันสูงสุด เพราะเป็นเหตุให้เราได้อนุตตริยะ คือ ได้สิ่งที่ยอดเยี่ยมถึง ๖ ประการ คือ
๑. ทัสสนานุตตริยะ การเห็นอันยอดเยี่ยม คือ ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระสาวกผู้ปฏิบัติดี ทรงศีล ทรงธรรม น่าเข้าใกล้ เพื่อจะได้ฟังธรรม
๒. สวนานุตตริยะ การฟังอันยอดเยี่ยม คือ ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ได้จริง
๓. ลาภานุตตริยะ การได้อันยอดเยี่ยม คือ ได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย และอยากศึกษาพระธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
๔. สิกขานุตตริยะ การศึกษาอันยอดเยี่ยม คือ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๕. ปาริจริยานุตตริยะ การบำรุงอันยอดเยี่ยม คือ ได้ อุปัฏฐากบำรุงพระบรมศาสดา หรือพระสาวกผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ
๖. อนุสสตานุตตริยะ การระลึกอันยอดเยี่ยม คือ ได้ระลึกถึงพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด เป็นแหล่งแห่งความสะอาดบริสุทธิ์ นี่คือความโชคดีของผู้ที่ได้เกิดในดินแดนที่พระพุทธศาสนากำลังรุ่งเรือง
พวกเราก็เช่นเดียวกัน เป็นผู้มีบุญที่ได้สั่งสมไว้ดีแล้ว ถึงได้เกิดในปฏิรูปเทส คือผืนแผ่นดินไทย อันมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์คํ้าชูพระพุทธศาสนาตลอดมา ทั้งยังมีพุทธบริษัทที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม มีกัลยาณมิตรเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อกัน ดังนั้นถ้าเราตั้งอยู่ในโอวาทของพระบรมศาสดา มีความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นประจำอยู่เนืองนิตย์ ย่อมมีสุคติและพระนิพพานเป็นที่ไปอย่างแน่นอน
โดยหลักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมต่างๆ มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของบุคคล ต่อความเสื่อม ความเจริญของบุคคล ถ้าบุคคลอาศัยอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะก่อให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้มาก
ให้ทุกคนพากันเข้าใจในชีวิต ในโครงสร้างของทุกคน เราต้องเอาธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ทุกคนต้องปรับเข้าหาพระธรรมหมด ไม่มีใครยกเว้น เราทุกคนที่พากันเกิดมาอายุขัยไม่เกิน 100 ปีต้องจากโลกนี้ไป คนใหม่ก็เกิดมา คนเก่าก็จากไป คนใหม่ก็มาสืบต่อคนเก่า ด้วยเอาธรรมะเป็นหลักในการใช้ชีวิต ไม่เอาตัวตนเป็นใหญ่ ทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม มีปัญญา ไม่หลง ผู้ที่เกิดมาใหม่ก็อาศัยผู้เกิดก่อนเป็นหลัก พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เป็นพระประจำบ้าน ปฏิบัติตัวเองให้ 100% และบอกสอนลูกหลาน ให้พากันปฏิบัติ เป็นกิจกรรมศีล สมาธิ ปัญญา เป็นกฎหมายบ้านเมือง เป็นการเมืองที่เอาธรรมเป็นหลัก ทุกคนต้องมีความสุขในการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อริยมรรค 8 เหมือนเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ ไปที่ไหนก็อ่านออก เขียนได้ทุกกาลเวลา การปฏิบัติธรรม คือ การทำงานด้วยธรรมะ ต้องพากันปฏิบัติอย่างนี้
ความรู้ความเข้าใจต้องไปพร้อมกัน ภาคปฏิบัติ สอนตนเอง ปฏิบัติตัวเอง 100% คอยบอกผู้อื่นเพียงเล็กน้อย ชีวิตของเราจึงไม่มีอบายมุข อบายภูมิ มีแต่ปัญญาสัมมาทิฐิ ชีวิตนี้มีแต่ความสุข ความดับทุกข์ อยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะการพัฒนามนุษย์ก็พัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์ ความรู้ สมอง และความดี คือ จิตใจ เพื่อจะได้ผลมาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ญาติทั้งหลาย มนุษย์ต้องพากันเข้าใจ จะมัวเลี้ยงดูทางการอย่างเดียวไม่ได้ มีแต่อาหารกายไม่ได้ ต้องมีอาหารใจด้วย ได้แก่ สัมมาทิฐิ มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการรู้แจ้งเห็นจริง เพื่อให้จิตใจสงบ เกิดปัญญาในประจำวัน เพราะความดับทุกข์ของมนุษย์มันอยู่ทุกหนแห่ง เดิน ยืน นั่ง นอน มันอยู่กับเราตลอด ด้วยเหตุ ด้วยปัจจัย เพราะจะมีสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
วันหนึ่งคืนหนึ่ง มนุษย์เรานอนพักผ่อน หลับสนิท อย่างน้อยก็ 6 ชั่วโมงไม่เกิน 8 ชั่วโมง พระพุทธเจ้าไม่ให้เราคอรับชั่นเวลานอน ถ้านอนไม่พอ สมองเราเป็นศูนย์สั่งงานก็จะรวน ไม่มีพลังส่งสั่งการทุกส่วนร่างกายได้ ด้วยเหตุนี้ ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมมะ เพื่อจะได้หยุดอดีตเป็นศูนย์ พากันทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เพราะสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ทำให้เราหลง พระพุทธเจ้าถึงบอกทุกคนให้ใจเข้มแข็ง อย่าใจอ่อน ต้องเสียสละ มีสติสัมปชัญญะ มาทำสมบูรณ์ในปัจจุบัน อย่าให้ครึ่งหลับครึ่งตื่น จิตมนุษย์ส่วนใหญ่จิตใจไม่สมบูรณ์ ฟุ้งซ่าน 60%-70% เหลือมีสติเพียง 20%-30% เท่านั้นเอง ถึงเราจะเป็นนักการเมือง พ่อค้า ประชาชน คนงาน เกษตรกร กรรมกร ทุกท่านก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ มีความสุข ทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่เต็มพลัง จิตใจของเราจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน เอาการงานเป็นการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่านี้คือ อริยมรรคมีองค์ 8 การดำรงชีวิตควรดับทุกข์เหมือนกันหมด ความสุขของมนุษย์อยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทำตั้งแต่ตื่นจนนอนหลับ ความยากจนก็จะไม่มี
แต่ก่อนนี้เรายากจน เพราะเราไม่รู้ เมื่อรู้แล้วก็เข้าสู่ภาคปฏิบัติ มีสติสัมปชัญญะ โครงสร้างของชีวิต ต้องมีสติสัมปชัญญะ มีบ้าน โรงเรียน วัด เพื่อทุกคนจะได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ การพัฒนาเทคโนโลยีก็ดี แต่ก็ต้องคำนึงถึง การรักษาธรรมชาติให้สมดุล ด้วยการสร้างสรรค์ พัฒนา เมื่อหลายปีก่อนโน้นก็ยังไม่มีรถ เครื่องบิน ไม่มีเครื่องจักร ยังไม่มีการพัฒนาเอาแร่ธาตุต่าง ๆ เอาน้ำมัน เอาก๊าซใต้ดินออกมาใช้ เอามาพัฒนาบ้านเมือง ทรัพยากรในโลกเสียสมดุล เดี๋ยวนี้มีการพัฒนาเพื่อสมดุล เช่น เอาพลังงานลม แสงแดด มาใช้งาน เราพัฒนาวิทยาศาสตร์เอามาใช้ในชีวิต เช่น ร้อนก็สร้างพัดลม แอร์คอนดิชั่น ไฟแต่ก่อนก็ใช้ฟืน เดี๋ยวนี้มีหลอดไฟเลย ทุกอย่างก็พัฒนาไปอย่างแหละ
ในศตวรรษที่ 15 มีการเดินเรือสืบค้นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ซึ่งทำให้มีการค้นพบแผ่นดินและทวีปใหม่ๆ ต่อจากศตวรรษที่ 16 พัฒนาการทางด้านการเขียน การพิมพ์ การเขียนตำราเป็นไปอย่างกว้างขวางรวดเร็ว เมื่อค้นพบและสามารถประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ได้ การประสานร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่อยุ่ในซีกโลกด้านตะวันออก กับซีกโลกตะวันตก ทำให้มีการส่งสาร ทำให้ความรู้และการสื่อสารแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างยุคกลาง (Middle Age) กับยุคปฏิรูป (Renaiseauce) ตัวอย่างของบุคคลในยุคนี้ เช่น เลโอนาโด ดาวินซี นิโคลัส เป็นต้น
วิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน เพิ่งเริ่มต้นเมื่อต้นสตวรรษที่ 17 โดยมีนักวิทยาศาสตร์ เช่น กาลิเลโอ (Galileo Galilei) เคปเลอร์ ( Kepler) นิวตัน (Newton) ลินเนียส (Linnueus) และในระหว่างศตวรรษที่ 17-18 เป็นการค้นพบที่เป็นรากฐานทางวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ความก้าวหน้าและพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์เป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทุกวิชา การค้นคว้าทดลอง การค้นพบประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ศตวรรษที่ 20 อาจเป็นยุคปฏิวัติทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกือบทุกสาขา และมีการค้นพบ เอกซ-เรย์ (X-ray) การค้นพบกัมตภาพรังสี การค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นรากฐานที่ทำให้มนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ และกำลังแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ในกาแลกซี
มนุษย์เราพัฒนาวัตถุกับใจไปพร้อมกันถึงเป็นทางสายกลาง เราทุกคนที่เป็นประชากรของโลกต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องไปทางเดียวกัน มีความประพฤติไปทางเดียวกัน มันเป็นศีล เป็นศิลปะแห่งการดับทุกข์ได้ ตั้งมั่นในธรรมเหมือนกัน ไม่ได้เอาตัวตนเป็นใหญ่ เอาธรรมมะเป็นใหญ่
พระศาสนา คือ ธรรมมะ ธรรมมะคือศาสนา ไม่ใช่นิติบุคคล เป็นธรรมมะ เปรียบเหมือน อาหาร ผลไม้ ขนมปัง นั่นก็คือ อาหารหล่อเลี้ยงร่างกาย พระศาสนาก็เป็นธรรมมะ ไม่มีตัวตน เราจะไปเอาศาสนามาทะเลาะกันไม่ได้ ทะเลาะกันไม่ใช่พระศาสนา มรรคผลจะไม่ทะเลาะกัน ความสมัครสมานสามัคคีจึงเป็นเรื่องใหญ่ การเข้าถึงความสามัคคีก็ต้องเอาธรรมมะเป็นหลัก ไม่มีใครยกเว้น คนไม่ถือศาสนาไม่ได้ ที่เราเห็นกันทุกศาสนาส่วนใหญ่ ไม่ใช่ศาสนา แต่เป็นไสยศาสตร์ แทบทุกศาสนาทะเลาะกัน ก็เพราะถือตัวถือตน “สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา ความพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ”
เพราะการอยู่ร่วมกันหลายๆ คน เป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำกิจต่าง ๆ ไม่เช่นนั้น งานของกลุ่มคนนั้นๆ ก็จะไม่สามารถสำเร็จได้
เพราะถ้าต่างคนต่างแยกกัน ไม่มีใครช่วยเหลือกัน ต่างคนต่างอยู่ เมื่อมีกิจที่จำเป็นต้องใช้คนมากก็ไม่มีใครช่วยกัน เช่นนี้ งานนั้นก็สำเร็จไม่ได้
แต่ถ้าทุกคนในสังคมเดียวกันหรือในกลุ่มเดียวกันต่างร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเหลือกัน เช่นนี้ งานใหญ่ก็กลายเป็นงานเล็ก งานยากก็กลายเป็นงานง่าย เพราะทุกคนช่วยเหลือกัน แล้วความสุขความเจริญก็จะตามมาอย่างแน่นอน
อย่างอยู่ในครอบครัว เราเอาธรรมมะทุกคน ไม่ต้องมีกฎหมายบ้านเมืองก็ได้ กฎหมายบ้านเมือง มีไว้สำหรับประชาธิปไตย ก็ได้แก่ มีความเห็นเหมือนกัน ก็ออกกฎหมายบ้านเมือง เช่น กินเหล้า กินเบียร์ ล่าสัตว์ การพนัน เปิดบ่อน ก็ออกกฎหมายเพื่อตอบสนองความต้องการ สนองคำว่า ประชาธิปไตย หาใช่ความเป็นธรรมไม่ จะเป็นเสียงส่วนใหญ่ อย่างสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ที่คนรากหญ้าปฏิวัตินายทุน ก็ได้แก่ เห็นแก่ตัวพอๆ กัน ยังไม่ใช่ธรรมาธิปไตย ประชาธิปไตยและสังคมนิยมที่ถูกต้อง คือต้องมีธรรมมะ เป็นธรรมาธิปไตย หลักการทุกคนไม่ต้องแก้ไขคนอื่นหรอก ต้องแก้ตัวเอง ต่างคนต่างแก้ตัวเอง ไม่กี่เดือนกี่ปีก็ดีขึ้น เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นถึงมี
เป็นเวลาหลายปีแล้ว มนุษย์ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เห็นแบบอย่างที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง และไม่มีหลัก ไม่มีจุดยืน ในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ เพราะศาสนาทุกศาสนาใหม่ๆ ก็ดี เมื่อองค์ศาสดาและครูบาอาจารย์ละขันธ์ไป ผู้ที่สืบทอดไม่มี ค่อยทำให้ศาสนาเพี้ยนไป อย่างพระในศาสนาพุทธ จะไม่ฉันอาหารในภาชนะอื่น นอกจากบาตร พระพุทธเจ้าฉันอาหาร ตั้งแต่ออกบวชจนปรินิพพานวันสุดท้ายก็ฉันในบาตร ไม่มีฉันในถ้วย ในจาน หรือภาชนะอื่น แต่ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนไป เห็นพระฉันในบาตร หาว่า พระฉันในบาตรโง่ โบราณ เขาไปถึงไหนกันแล้ว กลับว่าคนทำตามพระพุทธเจ้า ว่าเพี้ยน ว่าโง่ จึงได้พากันเพี้ยนทั้งประเทศ ทั้งโลกก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อทำบ่อยๆ ทำตามๆกัน ก็เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้ตั้งใจ ไม่เจตนา ยิ่งพระผู้ใหญ่ผู้ปกครอง มองพระถือเคร่งว่าเป็นคนบ้า ทำไมเพี้ยนถึงขนาดนี้
เรื่องที่สอง เรื่องพระไม่เอามรรคผลนิพพาน พากันรับเงินรับทอง สะสมอาหาร สะพายย่ามไปซื้อของร้านค้าในห้าง ใหม่ๆ ก็ตกใจ นานไปก็ชิน ยอมรับ เป็นประชาธิปไตย กลับมองพระไม่เอาเงินเป็นพระเพี้ยน พากันเอาสตางค์ โยมไม่ถวาย ก็พากันบ่นทุกงาน นี้ไม่ได้ว่าให้ใคร พูดให้พุทธบริษัทรู้ความจริง ว่าศาสนาเพี้ยนไปทีละนิด นานไปก็จะมากขึ้นจนตรงข้ามเลย ที่พุทธบริษัทไม่เห็นสำคัญ เอาแต่พรรคพวก สิ่งเหล่านี้ก็เป็นประชาธิปไตย เรารู้ เราเห็น พวกที่บวชก็มีค่าตัว เหมือนดารานักร้อง มีค่าตัวในการไปงานต่างๆ ไม่แตกต่างกับคอนเสิร์ต เหมือนเราไปซื้อพระก็พูดว่าไปบูชาพระ ก็เป็นการขายพระ ขายบุญ ยกตัวอย่าง พระในพระพุทธศาสนา จะไม่มีฉันเพล นอกจากพระป่วย เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ก็พากันฉันเพลกันหมด สาเหตุมาจากพระที่อุปัฏฐากพระป่วย พระป่วยฉันไม่ได้ พระเฝ้าก็เลยฉันแทน นานไปก็ชิน ทำตามกันหมด เป็นพระป่วยทั้งประเทศ ไม่มีเพล ก็เป็นเรื่อง เพี้ยนตั้งแต่เมื่อไหร่ อันนี้ก็เป็นประชาธิปไตยสีเทา สีดำ เหมือนกับพระฝรั่งที่เป็นลูกศิษย์กรรมฐาน หลายอาจารย์ดังๆ เวลากลับไปเผยแผ่ ในประเทศของตนเอง ใหม่ๆ ก็ดี ตอนเช้าทำวัตรเช้า เสร็จก็ดื่มโกโก้ กาแฟ ชา นานวันไปก็แถมขนมปัง แซนวิช ไป หลายปีก็ฉัน 2 เวลา โดยไม่รู้ตัว ก็ทำกันหลายประเทศ เป็นประชาธิปไตยไป ความเพี้ยนเกิดจากการทำกันเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้สิกขาบท น้อยใหญ่ พระธรรมวินัยที่เป็นยานพาออกจากวัฎฎะสงสารหมดไป กว่าจะรู้ว่าเพี้ยนใช้เวลา 30-40 ปี สิ่งนั้นๆ ตกผลึกเป็นรากฝังลึกนี้ ถือเป็นความผิดพลาด
พระวินัยที่เกี่ยวกับสตรีก็เหมือนกัน ตามที่พระอานนท์ทูลถาม "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ในพรหมจรรย์นี้มีสุภาพสตรีเป็นอันมากเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในฐานะต่างๆ เป็นมารดาบ้าง เป็นพี่หญิงน้องหญิงบ้าง เป็นเครือญาติบ้าง และเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยบ้าง ภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร?"
"อานนท์! การที่ภิกษุจะไม่ดูไม่แลสตรีเพศเสียเลยนั้นเป็นการดี" "ถ้าจำเป็นต้องดูแล้วเห็นเล่า พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูลซัก
"ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย อย่าสนทนาด้วย นั้นเป็นการดี" พระศาสดาตรัสตอบ
"ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยเล่า พระเจ้าข้า จะปฏิบัติอย่างไร"
"ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วย ก็จงมีสติไว้ ควบคุมสติให้ดี สำรวมอินทรีย์ และกายวาจาให้เรียบร้อย อย่าให้ความกำหนัดยินดี หรือความหลงใหลครอบงำจิตใจได้ อานนท์! เรากล่าวว่าสตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปเกาะเกี่ยวนั้น เป็นมลทินของพรหมจรรย์"
"แล้วสตรีที่บุรุษมิได้เอาใจเข้าไปเกี่ยวเกาะเล่า พระเจ้าข้า จะเป็นมลทินของพรหมจรรย์หรือไม่?"
"ไม่เป็นซิ อานนท์? เธอระลึกได้อยู่หรือเราเคยพูดไว้ว่า อารมณ์อันวิจิตร สิ่งสวยงามในโลกนี้มิใช่กาม แต่ความกำหนัดยินดีที่เกิดขึ้นเพราะความดำริต่างหากเล่าเป็นกามของคน เมื่อกระชากความพอใจออกเสียได้แล้ว สิ่งวิจิตรและรูปที่สวยงามก็คงอยู่อย่างเก้อๆ ทำพิษอะไรมิได้อีกต่อไป"
ทุกท่านทุกคนจะแก้ที่ใจ ต้องตั้งใจ ตั้งเจตนา สมาทานเพราะเราจะใจอ่อนทำผิดไปเรื่อย ไม่ได้หรอก เรานั่งรถ ก็ต้องยังมีรัดเข็มขัดนิรภัย เค้าขึ้นเครื่องบินก็รัด safety belt เราก็ต้องมีธรรมะวินัยที่รัดกุมเรา เราจะไปยานพาหนะเราก็ต้องสร้างเหตุ สร้างปัจจัย ทุกคนทำได้ ทุกคนปฏิบัติได้ เราทุกคนปฏิบัติให้มันขลัง มันศัก มันสิทธิ เราถึงเวลานี้ต้องปรับหาเวลา ปรับหาเวลายังไม่พอ ต้องปรับหาธรรมวินัย ชีวิตของเราจะได้ไม่เน่าเหม็น ไม่เน่าเฟะ จะได้ไม่เป็นขยะ ถ้าเราไม่ตั้งใจดีๆ กิเลสของเรามันจะแก่กล้า อินทรีย์ของกิเลสมันจะแก่กล้าขึ้นนะ
เราต้องมีสติมีปัญญา มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง รู้ว่าอันไหนควร อันไหนไม่ควร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเราทำไปนั้น เอากลับคืนมาไม่ได้ เราจะไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง ต้องมีสัมมาสมาธิมีความเข้มแข็งมีความตั้งมั่น มีปัญญาด้วยการเสียสละ ว่าอันนี้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐ ที่จะนำพาเราสงบเย็นเป็นพระนิพพาน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee