แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๑๔ สันโดษเป็นคุณธรรมเพื่อความเจริญสุขทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมประเทศชาติ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ประชาชนคนที่ยังไม่ได้บวช ที่เป็นผู้ครองเรือน ทุกๆ คนก็มีภาระ ของตัวเอง มีภาระที่จะต้องดูแลพ่อดูแลแม่ญาติวงศ์ตระกูล แล้วก็รับผิดชอบในประเทศชาติ รับผิดชอบในพระศาสนา ให้ทุกคนพากันรู้จักว่า เราต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ เราต้องมีหลักการมีจุดยืน อย่างเราเกิดมาเนี่ยอายุขัยของเราก็ไม่เกิน ๑๒๐ ปี เราก็ต้องมีภาระ เรียนหนังสือต้องทำงาน การทำงานของเรามันต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ ที่ไม่ทำบาปทั้งปวง เพราะการดำเนินชีวิตของเรามันเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘
อย่างทุกวันนี้ปัจจุบันนี้โลกได้ดำเนินชีวิตผิดทาง เอาโครงสร้างเรื่องชาติ เรื่องศาสนา หรือเรื่องมหากษัตริย์ เอามาใช้ในทางความเป็นตัวเป็นตน ที่ต้องพากันเข้าใจ เราจะได้มีความสุขมีความดับทุกข์อยู่ทุกหนทุกแห่ง เราจะได้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงจะมี เราต้องพากันรู้มันถึงจะไม่ได้เป็นไสยศาสตร์ ไม่ได้เป็นความหลง เราต้องมีสัมมาทิฏฐิ เราจะได้รู้ว่าพระศาสนานั้นคืออะไร พระศาสนาคือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา อย่าไปงมงายเหมือนคนปัจจุบันนี้แหละ เอาโบสถ์เอามัสยิดหรือเอาสุเหร่า หรือเอาศาสนวัตถุเป็นพระศาสนา พระศาสนาคือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้หนทางดับทุกข์ ที่จะหยุดอบายมุขอบายภูมิของตัวเอง พระศาสนาก็ต้องไม่มีไสยศาสตร์ เราจะได้พากันประพฤติปฏิบัติถูกต้องเริ่มต้นจากพ่อจากแม่จากคุณครูที่โรงเรียน ไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาตัวเอาตน มันต้องเอาความถูกต้องความยุติธรรม
เรางามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งรูปแบบพร้อมทั้งภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เหมือนวิถีภาพรวมของโลก เหมือนกับภาคกิจกรรมภาคจิตใจที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ พวกรูปแบบนี้แหละ เช่นว่า ปลงผมห่มผ้าเหลือง คือรูปแบบ คือพระวินัย พุทธบริษัทต้องทำอย่างนี้อย่างนั้น อะไรอย่างนี้ ต้องไม่กินเหล้ากินเบียร์ ทำอะไรก็ให้ได้มาตรฐาน เมื่อมันมีแบรนด์เนม เพราะมันยังเด็กน้อยอยู่ เช่น พระกรรมฐานท่านไปอยู่ไหน หัวใจท่านก็มีแต่สติสัมปชัญญะ พวกพระอริยเจ้านี้นะท่านไม่มีพระพุทธรูปท่านก็กราบได้ เพราะมันอยู่ที่ใจ เหมือนกับประชาชนคนที่เขายังไม่เข้าใจก็เอาน้ำมาเทเวลาพระกรวดน้ำ แต่มันเป็นเรื่องจิตเรื่องใจที่มีสัมมาทิฏฐิ เรื่องมีทั้งสมถะมีทั้งปัญญาหรือว่าวิปัสสนาทั้งภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่ากิจกรรมคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เราเป็นผู้สอนตัวเอง 100 %
ทุกคนต้องเข้าถึงความเป็นพระ เพราะความเป็นพระคือพระศาสนา ความเป็นพระของเราทุกๆ คน มันอยู่ที่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทั้งนักบวชทั้งคฤหัสถ์ก็เป็นพระได้เหมือนกัน ต่างกันแค่คฤหัสถ์มีภาระมาก ต้องเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูพ่อแม่วงศ์ตระกูล รับผิดชอบเพื่อประเทศชาติ รับผิดชอบเรื่องพระศาสนา เพื่อเป็นโครงสร้างของโลก
ความเป็นพระก็เหมือนอยู่ที่เราอ่านออกเขียนได้ มันก็ไปอ่านที่ไหนก็ได้ มันก็เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ มันก็มีอยู่ในรูปแบบทางด้านจิตใจ ที่เราเห็นด้านนอก มันเป็นรูปแบบทางกาย มันเป็นภาษาสมมุติ หรือว่าภาษาคน แต่ว่าภาษาธรรมนี้มันต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติที่มันเป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะทุกอย่างมันไม่ได้เพิ่ม ไม่ได้ลด มันเป็นพอดี มันเป็นการดับทุกข์ มันเป็นที่สุดแห่งความดับทุกข์ ทุกศาสนาต้องเอาอริยมรรคมีองค์ ๘ ถึงจะมีความไม่รู้ไม่เข้าใจ ไขว้เขวก็แล้วๆ ไป ต้องเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องศาสนา สอดคล้องไปด้วยกัน เราอยู่คนละหนละแห่ง คนละประเทศก็ไม่สำคัญ อยู่ที่ไหน เราก็มีความเห็นถูกต้อง เราก็เอาความถูกต้องนี้แหละ เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นการดำเนินชีวิต ทุกคนจะไม่มีคำว่าความทุกข์ทางด้านจิตใจ จะได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ถ้าทำผิดก็ต้องยากจน มันก็สมควรแล้วที่มันจะยากจน มันสมควรแล้วที่จะตกนรกทั้งเป็น คนเรามันไม่รู้ตัวเอง มันไม่มีอริยสัจ ๔ กว่าจะรู้นะเป็นหนี้เขาไปหลายแสนแล้ว ผู้ที่จะเอาเราขึ้นสู่นรกได้คือ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูฏต้อง ต้องมีสติสัมปชัญญะ ให้มาก ให้มากที่สุด
ทุกๆ คนก็พากันแก้ที่ตัวเองทุกคน อย่าให้คนอื่นมาบังคับ มาบอกเรา เราก็ถือว่าเป็นภาระเป็นหน้าที่ของตัวเราเอง เราอย่าพึ่งไปโทษคนนู้น คนนี้ ไม่ต้องไปโทษรัฐบาลหรอก รู้จักพากันประหยัด เพราะเราใช้เงิน ใช้สตางค์ เท่าที่จำเป็น ใช้ของเท่าที่จำเป็น อย่าไปใช้ของฟุ่มเฟือย เราจะปล่อยให้ตัวเองเป็นโรคประสาท โรคเครียดไม่ได้ เราต้องมีความสุขในการคิดดีๆ พุดดีๆ มีความสุขในสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามีอยู่ พระพุทธเจ้าไม่ให้เราปรับสิ่งของเงินทองเข้าหาใจ ต้องปรับใจเข้าหาสิ่งของ เรียกว่า “มักน้อยสันโดษ” ใจของเราอย่าให้มันเป็นเปรต ชีวิตของเราจะได้เสียสละ
คนจำนวนมากเข้าใจสันโดษผิด คิดว่าสันโดษคือการไม่ทำอะไร หรือการพอใจอยู่คนเดียว แต่ความจริงการไม่ทำอะไรนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า โกสัชชะ คือเกียจคร้าน ไม่เรียกว่า สันโดษ
การพอใจอยู่คนเดียวนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า ปวิวิตตะ ไม่เรียกว่า สันโดษ
คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องสันโดษนั้น ไม่ได้สอนให้คนเกียจคร้าน ท้อถอย ไม่ทำการงาน หรือทำงานเรื่อยๆ เฉื่อยแฉะ เป็นภัยต่อความเจริญความก้าวหน้าอย่างที่เข้าใจกัน ตรงกันข้าม มงคลข้อนี้ชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ถ้าแต่ละคนรู้จักสถานภาพของตนเอง สำนึกในฐานะ ความสามารถ และความมีคุณธรรมของตนอยู่เสมอแล้ว ความมีสันโดษจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ จะทำให้ทุกคนพอใจกับของของตน พอใจกับของที่ตนได้มา และพอใจกับของที่สมควรแก่ตน จะไม่มีการเบียดเบียน แก่งแย่งชิงดี อิจฉาริษยา ให้ร้ายป้ายสี ฉ้อโกงกัน ฯลฯ
การแก่งแย่งชิงดีกันจนถึงทำลายกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน การ ทุจริตและมิจฉาชีพต่างๆ ที่ระบาดในสังคมทุกวันนี้ก็เพราะใจของคนเหล่านั้นไม่มีสันโดษ มุ่งจะเอาแต่ได้ ไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี ความเห็นแก่ตัวของผู้มีอำนาจการกอบโกยฉวยโอกาสของพ่อค้านักธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนส่วนมาก ความเร่าร้อนใจเพราะโลภจัด ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ จนกลายเป็นมัวเมาในวัตถุ ทะเยอทะยานจนเกินกำลังความสามารถของตน ได้มาโดยสุจริตไม่ทันใจ ก็ลงมือประกอบการทุจริตต่างๆ เพื่อสนองความอยากอันเผาลนจิตใจอยู่ ดำเนินชีวิตไปอย่างไร้เหตุผล ก็เพราะขาดสันโดษนั่นเอง
การพัฒนาสังคมจำเป็นต้องมีทั้งสันโดษและความเพียร เพราะความเพียรพยายามที่ไม่มีสันโดษควบคุมย่อมเกินพอดี และนำไปสู่ทางที่ผิดได้ง่าย ล่อแหลมต่ออันตรายเหมือนรถไม่มีเบรคหรือเบรคแตก ย่อมวิ่งเลยขีดที่ต้องการไป ตกหลุมตกบ่อลงเหวข้างทางได้ง่าย บังคับให้หยุดไม่ได้ตามความปรารถนา
ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า “สันโดษเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นไปเพื่อความเจริญสุขทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมประเทศชาติ หัวใจของผู้มีความสันโดษเท่านั้น จึงจะเหมาะแก่การปลูกฝังคุณธรรมอื่นๆ และคนมีสันโดษเท่านั้นจึงจะทำความดีได้ยั่งยืนไม่จืดจาง และทำดีด้วยความสุจริตใจ ที่สังคมพัฒนาไปได้ช้าเพราะคนขาดสันโดษต่างหาก หาใช่เพราะคนมีสันโดษไม่”
คนทั่วไปไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งต่อไปนี้
๑. อำนาจวาสนา เช่น เป็นผู้อำนวยการกองก็ไม่พอ อยากเป็นอธิบดี หรือเป็นผู้แทนราษฎรก็ไม่พอ อยากเป็นรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ความสามารถไม่ถึง
๒. ทรัพย์สมบัติ เช่น มีบ้านหลังเล็กก็ไม่พอ อยากจะได้บ้านหลังใหญ่ มีเงินล้านก็ไม่พอ อยากจะได้เงินสิบล้าน
๓. อาหาร เช่น มีอาหารธรรมดารับประทานก็ไม่พอ ยังอยากจะไปรับประทานอาหารแพงๆ ตามภัตตาคารหรูๆ เกินฐานะ เกินความจำเป็น
๔. กามคุณ เช่น มีสามีหรือภรรยาแล้วก็ไม่พอ อยากจะมีใหม่อีก
วิธีสร้างความสุข สร้างความเจริญก้าวหน้า ต้องเริ่มด้วยการรู้จักพอใจกับสิ่งที่ตัวมีอยู่ และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ไม่ไขว่คว้าทะเยอทะยานจนเกินเหตุ เช่น เป็นหัวหน้าแผนก ถ้าอยากให้มีความสุขความก้าวหน้า ก็ให้พอใจในตำแหน่งของตนแล้วตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ความสุขก็เกิด ความเจริญก้าวหน้าก็จะมีมาเอง เป็นสามีหรือภรรยาอยากมีความสุขก็ให้พอใจในคู่ครองของตน แล้วทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ความสงบสุขในครอบครัวก็จะมีมาเอง ไม่ใช่เที่ยววิ่งวุ่นมีบ้านเล็กบ้านน้อย ยิ่งมีก็ยิ่งทุกข์ หาความสุขไม่ได้สักที
โบราณท่านผูกเรื่องสอนใจไว้ว่า มีสุนัขอดโซตัวหนึ่งเดินพลัดหลงทางเข้ามาในบ้าน เจ้าของบ้านสงสารหาน้ำข้าวให้กิน พอกินน้ำข้าวได้ ๗ วัน วันที่ ๘ จะกินข้าว พอเจ้าของบ้านหาข้าวให้กิน กินข้าวได้ ๗ วัน วันที่ ๘ จะกินกับ พอเจ้าของบ้านหากับให้กิน กินกับได้ ๗ วัน วันที่ ๘ จะขึ้นโต๊ะกินร่วมกับเจ้าของบ้าน จึงถูกไล่เผ่นออกจากบ้านเพราะมันเป็นโรคไม่รู้จักพอ โรคชนิดนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในคนและสัตว์ ทั้งในหญิงและชาย ทั้งในคนจนและคนรวย ทั้งในคนมีความรู้และคนไม่มีความรู้
สันโดษเป็นต้นทางแห่งความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร ? ความสุขในโลกนี้อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สามิสสุข เป็นความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุหรือสิ่งภายนอก มาตอบสนองความต้องการทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และความคิดอยากต่างๆ จัดเป็นความสุขขั้นหยาบ เพราะมีทุกข์เจือปนมากตลอดเวลา มีอาการคือ ต้องแส่หาดิ้นรนกระวนกระวาย เป็นอาการนำหน้า เนื่องจากของทั้งหลายหาได้ยาก มีจำกัด เมื่อได้มาก็ต้องระวัง รักษา ยึดติด คับแคบ อึดอัด หวงแหนผูกพัน กลัวสูญหาย ถ้าไม่ได้มา ถูกขัดขวางก็ขัดใจ คิดทำลาย คิดอาฆาต พยาบาท จองเวร
๒. นิรามิสสุข เป็นความสุขภายในที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาสนองความอยาก เป็นความสุขขณะที่ใจมีลักษณะ สะอาด ไม่มีกิเลสปน สงบ ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย เสรี เป็นอิสระ โปร่งเบา ไม่คับแคบ สว่างไสว ประกอบด้วยปัญญา เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง สมบูรณ์ ไม่มีความรู้สึกขาดแคลน ไม่รู้สึกบกพร่อง ไม่ว้าเหว่ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานอิ่มเอิบอยู่ภายใน
นิรามิสสุขจึงเป็นความสุขที่แท้จริง เป็นภาวะสุขที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ตามมา ซ้ำยังช่วยขจัดปัญหาต่างๆ ด้วย ผู้ที่จะมีนิรามิสสุขได้จะต้องมีสภาพใจที่สงบไม่ดิ้นรน คือมีความสันโดษเสียก่อน ยิ่งสันโดษต่อสามิสสุขมากเท่าไร ก็ยิ่งได้นิรามิสสุขมากขึ้นเท่านั้น
การหาเลี้ยงชีพอย่างมีสันโดษ ในการดำรงชีพ พระพุทธศาสนามุ่งให้ทุกคนหาปัจจัย ๔ หล่อเลี้ยงร่างกาย พอเพียงเพื่อให้สังขารนี้สามารถดำรงอยู่ได้ตามอัตภาพ จากนั้นก็ใช้ร่างกายนี้สร้างความดีต่างๆ ให้เต็มที่ทุกรูปแบบทุกโอกาส มิได้มุ่งหมายให้คนเราดิ้นรนไขว่คว้าทะเยอทะยานจนเกินเหตุ เพื่อให้มีวัตถุต่างๆ พรั่งพร้อมบริบูรณ์ไว้บำรุงบำเรอตน เพราะฉะนั้นความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มิใช่วัดด้วยการมีทรัพย์สินเต็มท้องพระคลังหรือเต็มล้นอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แต่อยู่ที่ไม่มีคนอดอยากยากไร้ และอยู่ที่คุณภาพชีวิตของประชาชนต่างหาก
หลักปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์สิน
๑. การแสวงหา ต้องหามาโดยชอบธรรม ไม่ข่มเหงรังแกใคร ไม่ทำผิดกฎหมาย ผิดประเพณี ผิดศีล ผิดธรรม
๒. การใช้ ไม่เป็นคนตระหนี่และก็ไม่ฟุ่มเฟือย ให้รู้จักใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและคนเกี่ยวข้องให้เป็นสุข รู้จักทำทาน เผื่อแผ่ แบ่งปัน ใช้ทรัพย์ทำสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
๓. ทัศนคติเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ถือว่าทรัพย์สินเงินทองเป็นพระเจ้า แต่ให้ถือว่าเป็นเพียงอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตเท่านั้น
ที่ยากจนเพราะไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันมีมากอยู่แต่ไม่รู้จักพอ ทำอะไรก็เพื่อตัวตน ไม่ได้ทำเพื่อธรรมะ เพื่อความเสียสละ มันเป็นอัตตาตัวตน ประเภทของคนจน คนจนในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่
๑. จนเพราะไม่มี คือคนที่ขัดสนทรัพย์ มีทรัพย์น้อย จัดว่าเป็นคน “จนชั่วคราว” ถ้าหากทำมาหากินถูกช่องทาง ย่อมมีโอกาสรวยได้
๒. จนเพราะไม่พอ คือคนที่มีทรัพย์มากแต่ไม่รู้จักพอ จัดว่าเป็นคน “จนถาวร” เป็นเศรษฐีอนาถา ต้องจนจนตาย
สันโดษ คือการรู้จักพอ จึงเป็นคุณธรรมที่มหัศจรรย์ สามารถทำให้คนเลิกเบียดเบียนกัน เลิกฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เลิกสะเพร่า เลิกสงคราม ทำให้คนอิ่มใจได้แม้มีทรัพย์ มียศ มีตำแหน่งน้อย และทำให้คนรวยเป็นเศรษฐีได้ โดยสมบูรณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “สนฺตุฏฺฐีปรมํ ธนํ ความสันโดษเป็นยอดทรัพย์”
ความจริง สันโดษกับความมักน้อย มันคนละเรื่องกันความมักน้อยนั้นเป็นคำแปลของคำบาลีว่า “อปปิจฺฉตา” พระพุทธองค์ทรงสอนพระให้ปฏิบัติเกี่ยวกับปัจจัยสี่คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ว่าสิ่งเหล่านี้ให้พระต้องการแต่น้อยพออาศัยยังชีพเพราะชีวิตพระมิใช่ชาวบ้าน จะได้สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้มากมาย ส่วน สันโดษ หรือ สนฺตฎฐี นั้น หมายถึง ความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความสามารถ ด้วยความพากเพียรพยายามของตนในทางที่สุจริตชอบธรรม
ฟังดูดีๆ จะเห็นว่า คนสันโดษคือ คนที่ขยันหา ขยันสร้างสรรค์ (ยถาลาภ) ทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญาเต็มที่ (ยถาพล) ในสิ่งที่สุจริตถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม (ยถาสารุปฺป) เมื่อได้ผลสำเร็จขึ้นมาแล้วก็ภาคภูมิใจในผลสำเร็จนั้น
ยถาลาภะ ควรแก่ฐานะนั้น ได้แก่ฐานะของเรา คือเราต้องนึกถึงฐานะของเราว่า เราอยู่ในฐานะอย่างไร เป็นบรรพชิต เป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้น้อย แต่ละฐานะก็ยังมีจำแนกชั้นออกไปอีก ตัวอย่างเช่น ในฝ่ายคฤหัสถ์ก็แยกออกไปอีกทางยศ มีนายพล นายพัน นายร้อย นายสิบ พลทหาร ทางพลเรือนก็มี หัวหน้ากอง หัวหน้าแผนกประจำแผนก ลดหลั่นกันลงไป รวมความแล้วเราแต่ละคนมีฐานะไม่เหมือนกัน คนมีสันโดษประเภทนี้ เป็นคนรู้ประมาณตัว วางตัวได้เหมาะสมกับฐานะของตน เข้าหลักของคนดี ข้อที่ว่า อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน และข้อว่า มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ถ้าเป็นผู้น้อยก็เป็นผู้น้อยที่น่ารัก ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ คนที่ขาดสันโดษประเภทนี้ ไม่มีทางดีมีแต่ทางเสีย เสียถึงสองทาง คือ ๑. เสียในทางใฝ่สูงเกินฐานะ คิดแต่จะเอาดีเอาเด่น หนักเข้าก็กลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจ ๒. เสียในทางเห่อเหิมในสิ่งที่เกินวาสนาของตน
ยถาพละ ควรแก่กำลัง หรือสมรรถภาพ กำลังของคนหรือสมรรถภาพของคนนั้นมีไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นกำลังกาย กำลังใจบางคนกำลังกายเข้มแข็ง แต่กำลังใจอ่อนแอมาก กระทบอะไรนิดอะไรหน่อยไม่ได้ พลอยตายเอาง่ายๆ บางคนกำลังกายอ่อนปวกเปียก แต่กำลังใจเข้มแข็งเด็ดขาด สามารถเอาชนะคนที่มีกำลังกายแข็งแรงได้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมความแล้วว่าคนเรานี้ไม่เหมือนกันแน่ อย่าไปหลงเข้าใจผิดว่าเป็นคนแล้วเหมือนกันหมด
ยถาสารุปปะ ยินดีตามศักดิ์ศรี หมายความว่า ให้ยินดีตามในสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่ภูมิศีลธรรมของตน หรือจะพูดว่ายินดีตามความดีของตนก็ได้ ถ้าจะพูดให้เข้าใจซัดตามคำสามัญก็จะได้ว่า "ศักดิ์ศรี" ของใครก็ตาม แม้ว่าเราจะพอใจตามได้และตามกำลังที่เรามีอยู่ แต่ถ้าไปเกิดยินดีกับสิ่งนั้นเข้าแล้วมันเสียศักดิ์ศรีของเรา คือ เสียศีลเสียธรรม เสียชื่อเสียของ สิ่งนั้นเราก็ไม่ควรยินดี
ธรรมะที่ตรงข้ามกับสันโดษคือ ความโลภและความเกียจคร้าน
คนโลภและขี้เกียจ คือคนที่ไม่สันโดษ
“สันโดษ” นั้นที่จริงหมายถึง ความขยันขันแข็งกระทำการงานที่สุจริตอย่างเต็มความสามารถ เมื่อได้ผลอย่างใดจากการกระทำของเรา เราก็ภาคภูมิใจ เพราะฉะนั้น ธรรมะที่สนับสนุนสันโดษ จึงมีอยู่ ๒ อย่างคือ ความไม่โลภกับความเพียร คนสันโดษจึงมีคุณสมบัติสองประการนั้นคือ เป็นคนไม่โลภ และเป็นคนพากเพียรพยายามสูง คนไม่สันโดษก็คือคนเกียจคร้านและคนโลภนั้นเอง
เพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มชัด ขอสรุปลักษณะของคนที่มีความสันโดษดังต่อไปนี้
1. คนสันโดษ จะต้องเป็นคนทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยสติปัญญาเท่าที่มี และโดยวิธีการอันชอบธรรม
2. คนสันโดษ จะไม่อยากได้ของคนอื่น หรือของที่ไม่ชอบธรรม จะไม่ทุจริตเพราะปากท้องหรือผลประโยชน์ส่วนตัว
3. คนสันโดษ เมื่อหามาได้ก็ใช้สอยเท่าที่จำเป็น และใช้ด้วยสติปัญญา ไม่เป็นทาสของวัตถุ
4. เมื่อไม่ได้ เมื่อสุดวิสัยที่จะได้ ก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไป ไม่ยอมให้ความผิดหวังครอบงำใจ
5. หาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นของตน หรือเป็นสิทธิของตนสามารถดำรงชีวิตที่มีความสุขตามฐานะ
6. มีความภาคภูมิใจในผลสำเร็จอันเกิดจากกำลังของงาน มีความอดทน สามารถรอคอยผลสำเร็จอันพึงจะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน
7. มีความรักและภักดีในหน้าที่การงานของตน มุ่งปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าของการงาน เรียก “ทำงานเพื่องาน” อย่างแท้จริง
8. ไม่ถือเอาสิ่งของที่ตนหามาได้ สมบัติของตน หรือความสำเร็จของตนมาเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น
ความสันโดษ เป็นปัญญา สัมมาทิฏฐิ ให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในปัจจุบัน เพราะความสุขของเรามันมีความสุขทางกาย และมีความสุขทางใจ คนเราที่มีความทุกข์ก็คือใจ เพราะร่างกายก็เปรียบเหมือนรถยนต์ที่พาเราไปใช้งานในที่ต่างๆ เป็นอุปกรณ์พาไปใช้ในที่ต่างๆ ความสุขความดับทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่ใจ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา สอนให้เราพัฒนาตัวเองเป็นผู้สันโดษ สันโดษก็หมายถึงจิตใจที่มีปัญญา มีปัญญายังไง คนเราอยากได้มาก ก็ไม่ได้หรอก เราจะไปอยากได้ทำไม อยากได้น้อยมันก็ไม่ได้หรอก มันก็เท่าเก่า มันเป็นเรื่องความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ต้องมีความสุขในการเสียสละ อย่างเราพอใจในการทำงาน เพราะงานก็คือความสุขของเราที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความสันโดษนี้เราเอามาใช้ในเรื่องจิตใจของเรา ถ้าอย่างนั้นเราก็เป็นคนฟุ้งซ่าน เราก็เป็นได้แต่เพียงคน เราไม่ได้เป็นมนุษย์
คนเราน่ะ มันยังไม่ตายก็ตกนรกทั้งเป็นแล้ว เพราะความโลภความโกรธความหลงอย่างนี้ เราต้องรู้จัก เพราะเราเกิดมาเพื่อมาประพฤติมาปฏิบัติตนเอง ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช เป็นประชาชน ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นหนี้ทั้งทางใจ เป็นหนี้ทั้งทางกาย มันไม่ได้เดินทางสายกลาง ไม่ใช่ว่าสันโดษ ไม่ทำอะไรนะ สันโดษนั่นแหละ คือต้องมีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการเจริญสมาธิ ความหนักแน่น เข้มแข็งไม่หวั่นไหวไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน เอาธรรมเป็นหลัก มันจะเป็นธรรมเป็นปัจจุบัน มันเป็นความพอใจในสิ่งที่เราจะแก้ปัญหา เราดับทุกข์ได้ด้วยอย่างนี้ พระอริยเจ้าที่เป็นโสดาบันจึงมีความสุขกว่ามหาเศรษฐีที่เป็นปุถุชนสามัญชน เพราะพัฒนาทั้งกายทั้งใจ
ถ้าเรามีความเข้าใจธรรมะ เราก็มีความสุขมีความอบอุ่น มีปัญญาในปัจจุบัน ไม่ต้องไปวุ่นวายในสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน บางคนนี้ไปติดในสมาธิ ไม่เสียสละ ไม่ภาวนาวิปัสสนาอะไร อย่างนี้มันเลยไม่เข้าใจ กลายเป็นคนงมงาย เป็นคนหมดคุณภาพ อย่าเราขี้เกียจขี้คร้าน แสดงว่าเราเป็นคนไม่สันโดษ ยังตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ไม่สันโดษ ไม่สันโดษตัวเองที่จะต้องเป็นผู้เสียสละ ที่จะมีศีลมีธรรม คนเราถ้าไม่มีความพอใจ ไม่มีฉันทะก็ทำอะไรไม่ได้ ขี้เกียจแม้กระทั่งการหายใจ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่มีปัญญา ไม่เสียสละ นับว่ายังไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ไม่ว่านักบวช หรือ ประชาชน ต้องปกครองตัวเองให้มักเป็นผู้มักน้อยสันโดษก่อน เพราะคนเราเห็นเงินเห็นตังค์ ทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องทะเลาะกัน มันไม่มีความสุขในธรรม เหมือนกับคนที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาใหม่ อย่างนักเรียนนักการศึกษาเรียนด้วยกันตั้งแต่เล็กๆ ผลสุดท้ายจบมาต่างคนก็ต่างมาเอาผลประโยชน์กันเอง มันก็เสียเพื่อนเสียธรรมะ มันก็ไม่ได้ ความฉลาดมันยังไม่พอ ความมักน้อยสันโดษมันยังไม่พอ ปลูกต้นไม้ยังไม่ใหญ่เลย ก็ไปกินยอดกินใบหมด ต้นไม้มันก็โตไม่ได้ คุณธรรมของเราก็โตไม่ได้ จึงต้องพัฒนากายใจให้เป็นผู้สันโดษ สันโดษรู้จักความพอดี หากเรารู้จักทำตนให้ดำรงอยู่อย่างพอเหมาะพอดี รู้จักประมาณในทุกสิ่ง ก็จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข โปร่งเบาใจ และจะห่างไกลจากความกังวลได้อย่างดีเยี่ยม ชีวิตของผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่า เป็นชีวิตที่ไม่พร่อง เพราะเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง มักน้อยสันโดษ ผู้ที่รู้จักตนเองเช่นนี้ เป็นผู้ที่ไม่เหลวไหลในการใช้ชีวิต จะรู้คุณค่าของลมหายใจ และใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee