แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๑๐ การไม่ศึกษาไม่รักษาไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย คือรากเหง้าแห่งความเสื่อม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การทำที่ทำให้เราเนิ่นช้า ก็คือความหลงความความเพลิดเพลิน ให้ทุกท่านทุกคนมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ให้ทุกท่านทุกคนมาเอาพระธรรมพระวินัยมาเป็นหลักในการใช้ชีวิต ในปัจจุบันที่ดีๆ เพราะความหลงความเพลินเป็นสิ่งที่ทำให้เราเอาสิ่งที่เป็นโทษมาเป็นคุณ เราดูตัวอย่างแบบอย่าง ทำไมพวกเราถึงเป็นประชาธิปไตยแบบสีดำสีเทา พระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่ไม่มีฉันเพลหรือฉันเพียงครั้งเดียว สาเหตุเขาก็มาจากพระภิกษุป่วยนะ ฉันอาหารไม่ได้มันก็ต้องให้อาหารเรื่อยๆ หลายเวลา จนกว่าจะไปถึงเที่ยง ที่นี่พระอุปัฏฐากนะก็เสียดายอาหารที่เหลือ ก็พากันไปฉัน ทีนี้ก็พากันติดอกติดใจ ที่นี้ก็จะไม่เข้มงวดกับตัวเอง ไม่เห็นความสำคัญในการละเว้น ในการให้ความสำคัญกับตัวเอง มันก็เลยเป็นแบบนี้ ถึงแม้มีอานิสงส์ในการที่อยู่จำพรรษา 3 เดือน อานิสงส์กฐินอย่างนี้ ผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติไม่ควรที่จะ ฉันปะรัมปะระ เพื่อสติสัมปชัญญะ เพื่อไม่ให้หลงไม่ให้เพลิน เราดูตัวอย่างพระกรรมฐานรุ่นเก่านะ ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว ไม่ฉันนมตอนเช้า โอวัลตินตอนเช้า เมื่อความเหน็ดเหนื่อยได้เกิดขึ้นกับพวกทำความเพียรถือเนสัชชิก อย่างนี้ก็พวกโยมอุปัฏฐากก็ชงกาแฟโอวัลตินให้ พอไปบิณฑบาตพระวัดป่าก็บิณฑบาตไกล กิโล 2 กิโล พอมาได้ฉัน 2-3 คราว มันก็ติดใจ เวลานมข้นโอวัลตินไม่มี ก็เอาข้าวมาต้มมาให้พระฉัน เพื่อไม่ให้พระเหนื่อยมาก
พวกความหลงความเพลิดเพลินความใจอ่อนที่ไม่มีสัมมาสมาธิอย่างนี้ก็เพื่อทำให้ความเป็นมาตรฐานของพระธรรมวินัยมันตกลงไป มันก็จะเป็นภาระให้แก่ญาติโยมต้องถวายอาหารตอนเช้า และอีก 2 ชั่วโมงกว่าๆ ก็ต้องมาถวายอาหารเพล เพราะมันคือประชาธิปไตย ที่เกิดมาด้วยทุกคนทำเหมือนๆ กัน แต่อย่าลืมกันว่าประชาธิปไตยไม่ใช่พระธรรมพระวินัย เพราะว่าพระภิกษุสามเณรไม่ได้ป่วย แต่อันนี้มันเป็นประชาธิปไตยที่เราพร้อมเพียงกันเฉยๆ มันก็เหมือนกับพระต้องบิณฑบาต แล้วก็ต้องฉันในบาตร ไม่มีฉันในถ้วยในชาม เพราะบาตรสมัยเก่าก็ต้องอาศัยคนจีนทำให้ไม่มีวิธีการบ่มบาตรเหมือนกับพระสายกรรมฐานสายลูกศิษย์หลวงปู่มั่น พอเขาทาน้ำมันตั้งอิ๊ว มันก็ขึ้นสนิม พอฉันในบาตรมันก็ไม่สะดวก เพราะมันขึ้นสนิม บางทีบาตรมันก็ทะลุ ถึงไปพากันฉันในถ้วยในชาม มันก็จะพากันค่อยๆ เพี้ยนไปอย่างนี้แหละ พอเราเห็นพระเดินบิณฑบาตทุกวัน ฉันในบาตร ก็ว่าพวกนี้มันโง่ ไม่ทันสมัย มันก็คิดกันไปอย่างนั้น คิดอย่างนี้มันก็เท่ากับดูถูกดูแคลนพระพุทธเจ้า หาว่าพระพุทธเจ้าพาเพี้ยน จะทำตามพระวินัยเยอะแยะมากมายทำไม ทำให้ยุ่งยากลำบาก
ทุกๆ คนต้องรู้จักนะประชาธิปไตยหรือว่าสังคมนิยมนี่มันก็ยังเอาตัวตนเป็นหลัก เราดูตัวอย่างแบบพระทางภาคเหนือ เขาก็ฉันอาหารตอนเย็น โดยที่ไม่ได้แอบฉันลักฉัน เหมือนกับพระภาคกลางภาคอีสานภาคใต้นะ ถ้าไม่ฉันข้าวตอนเย็น เขาก็จะหาว่าเพี้ยนนะ ความเป็นประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นได้ เพราะคนส่วนมากพร้อมเพียงกัน อย่างในการบวชนาคมันต้องมีการกินเหล้า มีการแห่ในแห่นาค ทั้งที่รูปแบบมันดี การแห่นะ เขาก็ให้เดินเป็นแถวเดินด้วยความสงบเดินให้กำลังใจกัน มันไปกินเหล้ากินเบียร์เด้งหน้าเด้งหลัง มันเกิดมาอย่างนี้แหละ เหมือนทุกวัดบางครั้งก็น่าเกลียดเกิน พระก็ห้ามไม่อยู่ห้ามไม่ฟัง เพราะประชาชนถือโอกาสเล่นการพนันเล่นไพ่เล่นไฮโล แล้วก็ความหลงนะอย่างนี้แหละ เราต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ศาสนา มันเป็นประชาธิปไตยจริง แต่มันเป็นประชาธิปไตยที่สีดำสีเทา
พุทธบริษัททั้ง 4 ก็ให้พากันเข้าใจว่า มรรคผลพระนิพพานมันไม่หมดไปจากสมัย มันไม่ล้าสมัย ที่มันหมดสมัยที่มันล้าสมัย ก็เพราะว่าเราพากันทิ้งพระธรรมพระวินัยเหมือนปัจจุบันนี้ พระเณรเราก็พากันรับเงินรับสตางค์ ไปซื้อของที่ร้านค้าไปซื้อของที่แม็คโครไปซื้อของที่โลตัส บิ๊กซี แล้วก็พากันขับรถขับเรือ จนเป็นประชาธิปไตยไป สิ่งเหล่านี้ทุกท่านทุกคนต้องพากันคิดพากันพิจารณา เพราะความไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาปมันสะสม จากอาบัติทุกกฎก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นอาบัติถุลลัจจัย เป็นอาบัติสังฆาทิเสส เป็นอาบัติปาราชิก เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ติดป้ายเฉยๆ เราจะเอาสีดำสีสกปรกแบบนี้ มันไม่ได้ ทุกคนต้องมีสติมีสัมปชัญญะ เราอย่าไปคิดว่าการปฏิบัติเคร่งครัด ใครเขาจะมาอยู่ ไม่จริงหรอก ถ้าที่ไหนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เห็นไหมสำนักเรียนไหนดีๆ เขาก็จะพากันไปเรียน สำนักไหนเรียนไม่ดี เขาก็ไม่ค่อยพากันไปเรียน วัดไหนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบพระเณรก็เต็มไปหมดอย่างนี้แหละ มันอยู่ที่เราประพฤติปฏิบัติ นี่แหละที่เขาไม่อยากบวช เพราะเวลาบวชก็ไม่ได้เป็นธรรมเป็นวินัย ศาสนามันเลยกลายเป็นแก๊งโจรเป็นโจรไปเฉยๆ น่ะ
ทุกท่านทุกคนต้องรู้ว่าอันไหนมันถูกต้องอันไหนไม่ถูกต้อง อันไหนยุติธรรม อันไหนไม่ยุติธรรม ความมั่นคงของชาติศาสน์กษัตริย์ พระพุทธเจ้าท่านสอน พ่อแม่ให้สอนตัวเองให้ได้ 100% สอนลูกสอนหลานสัก 4-5% ก็เพียงพอแล้วอย่างนี้นะ ให้พระเจ้าพระสงฆ์สอนตัวเองปฏิบัติตัวเอง บอกประชาชนนิดๆ หน่อยๆ ประชาชนเขาก็พอใจแล้ว พวกประชาชนเขาไม่สามารถจะกราบไหว้พวกโกนหัวห่มผ้าเหลืองได้อย่างสนิทใจ บางทีเขาว่าพระนี่มีศีลมากสู้ฆราวาสไม่ได้ เพราะว่าเราจะไปปกปิดความผิดเหมือนกับพระมหายานบางกลุ่มนี่ก็ไม่ได้ พระเขาแนะนำไม่ให้ญาติโยมอ่านพระวินัยของพระ มันจะบาป
เราทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะ ต้องมีความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาป ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ เพราะความไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป มันจะทวีคูณขึ้น ไปพูดอย่างนี้ มันจะไม่ขายหน้าพระเณรทั้งประเทศเหรอ นี่ไม่ใช่ขายหน้า พูดให้พุทธบริษัทรู้ว่า ในอนาคตน่ะประชาธิปไตยสีดำสีเทา มันจะเกิดแน่นอนถ้าเราไม่เอาธรรมเป็นหลักธรรมเป็นใหญ่ธรรมเป็นที่ตั้ง ทุกอย่างมันแก้ได้ปฏิบัติให้ได้ ทุกคนก็ว่าไม่อยากประพฤติปฏิบัติที่ทวนโลกทวนกระแสนะ แต่เราทุกคนต้องพากันเสียสละ
พระที่มาบวชในพรรษาปีนี้ก็ให้ตั้งใจกันให้เต็มที่ พระเก่าก็ให้ตั้งใจกันเต็มที่ ให้พากันปฏิบัติ เพราะว่ามันจะได้อยู่ในเครือข่ายที่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เพราะว่าเราเอาความจริงมาพูด พระสายต่างประเทศที่เป็นลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ไม่เห็นความสำคัญในพระวินัยในสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ หรือสิกขาบทกลางๆ มันก็พากันไปไม่ได้ แบบนี้มันก็จะทำให้สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ สิกบทกลางๆ สิกขาบทใหญ่ๆ มันก็จะเลอะเลือนหายไป เพราะมันเป็นประชาธิปไตยที่เลอะเลือน เป็นสีดำสีเทาสีสกปรกไป
ทุกคนต้องถือเรื่องกตัญญูกตเวทีเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่ตั้งใจจริงก็ไม่น่าจะมาบวช มาบวชมาเอาพุทธศาสนามาทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นวัดบ้านวัดป่า การประพฤติการปฏิบัติมันก็พอๆ กันนั้นแหละ ต้องพากันปฏิบัติให้ได้ตามพระธรรมคำสั่งสอน มันถึงเป็นพระธรรมเป็นพระวินัย ไม่มีใครยกเว้นหรอก ไม่ว่าจะอยู่วัดบ้านวัดป่า การตามใจตามตัวเองมันก็เหมือนมหายาน มีความประมาทพลาดพลั้ง มีประวัติศาสตร์ให้เราเห็น เรื่องจับเงินเรื่องจับสตางค์อย่างนี้ไม่ได้ ของที่มีค่าอย่างนี้นะ เก็บให้เรียบร้อย ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ก็ การที่เราบวชมา เป้าหมายเราเลยอยู่ที่เรามารับจ้างสวด รับจ้างเทศน์ รับกิจนิมนต์ มันจะไปต่างอะไร กับพวกที่เป็นนักร้อง นักดนตรี พวกที่ทำคอนเสิร์ต อันนั้นเขาก็ไปร้องไปเต้นไปรำ เขาก็ได้รางวัลค่าจ้างค่าตัว เรามาคิดดูดีๆ ถ้าเราบวชไม่เอาพระนิพพานก็คือ เราก็เป็นพระคอนเสิร์ต เป็นพระที่บวชมาเพื่อทำธุรกิจ อย่างนี้ไม่ใช่สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ถ้าจะให้พูดตามความเป็นจริง สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจะไม่ทำอย่างนี้ ทุกคนให้พากันเข้าใจ เพราะศาสนาเราไม่ได้มุ่งสวรรค์ แต่มุ่งพระนิพพาน
"อานนท์! ต่อไปเบื้องหน้าจักมีแต่โคตรภูสงฆ์ คือสงฆ์ผู้ทุศีล มีธรรมทราม สักแต่ว่ามีกาสาวพัสตร์พันคอ...”
โคตรภูสงฆ์ พระสงฆ์ที่ไม่เคร่งครัดปฏิบัติเหินห่างธรรมวินัย แต่ยังมีเครื่องหมายเพศเช่น ผ้าเหลืองเป็นต้น และถือตนว่ายังเป็นภิกษุสงฆ์อยู่, สงฆ์ในระยะหัวต่อจะสิ้นศาสนา
มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในจตุตถปาราชิกสิกขาบท อันมีปรากฏในพระวินัยปิฎกมาเสนอไว้เป็นอนุสติดังนี้ –
อญฺญถา สนฺตมตฺตานํ อญฺญถา โย ปเวทเย นิกจฺจ กิตวสฺเสว ภุตฺตํ เถยฺเยน ตสฺส ตํ.
ภิกษุใด ตนเป็นคนอย่างหนึ่ง แต่แสดงตนเป็นอีกอย่างหนึ่ง (หน้าไหว้หลังหลอก)ภิกษุนั้นฉันภัตตาหาร (ของชาวบ้าน) ด้วยอาการแห่งคนขโมย ดุจพรานนกลวงจับนก ฉะนั้น
กาสาวกณฺฐา พหโว ปาปธมฺมา อสญฺญตา ปาปา ปาเปหิ กมฺเมหิ นิรยนฺเต อุปปชฺชเร.
ภิกษุเป็นอันมากมีผ้ากาสาวะพันคอ มีสภาพเป็นคนเลว ไม่สำรวมตน ผู้เลวทรามย่อมเข้าถึงนรก เพราะกรรมทั้งหลายที่เลวทราม
เสยฺโย อโยคุโฬ ภุตฺโต ตตฺโต อคฺคิสิขูปโม ยญฺเจ ภุญฺเชยฺย ทุสฺสีโล รฏฺฐปิณฺฑํ อสญฺญโตติ.
ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวมตน บริโภคก้อนเหล็กแดงดังเปลวไฟประเสริฐกว่า การฉันก้อนข้าวของชาวรัฐจะประเสริฐอะไร
ที่มา: จตุตถปาราชิกสิกขาบท พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๒๓๐
ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ในวันที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ความตอนหนึ่งว่า – สิยา โข ปนานนฺท ตุมฺหากํ เอวมสฺส อตีตสตฺถุกํ ปาวจนํ นตฺถิ โน สตฺถาติ, น โข ปเนตํ อานนฺท เอวํ ทฏฺฐพฺพํ. ดูก่อนอานนท์ บางที่พวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น
โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต, โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใด อันเราแสดงแล้วบัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา
คำว่า “ปาพจน์” หมายถึง พระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นตัวพระศาสนา คำว่า “ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว” หมายความว่า พระศาสดาผู้เป็นเจ้าของคำสอน (คือพระธรรมวินัย) บัดนี้ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว เหลือแต่คำสอน
คำว่า “พระศาสดาของพวกเราไม่มี” ขยายความว่า แม้จะยังเหลือคำสอนอยู่ แต่เมื่อตัวผู้สอนไม่มีแล้ว คำสอนนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร เหมือนกับว่าไม่มีพระศาสนาเหลืออยู่อีกแล้ว หมายความว่า ต่อไปนี้ใครจะทำผิดทำถูกอย่างไร ก็ไม่มีใครที่จะมาคอยกวดขันชี้ผิดชี้ถูกอีกแล้ว สิ่งที่ห้ามทำ ไปทำเข้า ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาว่าอะไร สิ่งที่บอกให้ทำ แม้ไม่ทำ ใครจะมาว่าอะไรกันได้ แปลว่าใครจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ตามสบาย
พระศาสดาได้ตรัสเตือนไว้ว่า - อย่าได้คิดอย่างนั้น
ทรงยืนยันว่า พระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้บัญญัติไว้ยังอยู่เป็น “สตฺถา” คือเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ นั่นคือพระศาสดาจะยังคงอยู่กับพระศาสนาตลอดไป ตราบเท่าที่พระธรรมวินัยยังอยู่
พระธรรมวินัยจะยังคงอยู่ได้ก็ด้วยการที่พุทธบริษัทขวนขวายศึกษาและปฏิบัติตามมิให้ขาดตกบกพร่อง การไม่เอาใจใส่ศึกษาพระธรรมวินัย การไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย คือการปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงนอกจากจะเป็นการทำร้ายองค์พระศาสดาแล้ว ยังเป็นการทำลายพระศาสนาไปด้วยพร้อมๆ กัน อย่าเอาความถูกใจอยู่เหนือความถูกต้อง ถ้าเห็นการยอมรับของสังคมสำคัญกว่าพระธรรมวินัย...พระพุทธศาสนาก็วินาศ
พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย เผยแพร่บทความเรื่อง "ถ้าเห็นการยอมรับของสังคมสำคัญกว่าพระธรรมวินัย...พระพุทธศาสนาก็วินาศ" มีเนื้อหาดังนี้
วิถีชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาย่อมต่างไปจากวิถีชีวิตของผู้ครองเรือน วิถีชีวิตของพระสงฆ์มี ๒ เรื่องใหญ่ๆ คือ ๑ สิ่งที่ห้ามทำ ๒ สิ่งที่ต้องทำ การศึกษาของผู้อยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” ตามหลักคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เมื่อจัดกลุ่มแล้วก็รวมอยู่ใน ๒ เรื่อง คือ ๑ ศึกษาว่าอะไรบ้างที่ห้ามทำ แล้วละเว้น สำรวมระวัง ไม่ทำสิ่งนั้น แม้ในเรื่องที่มีโทษเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่กล้าล่วงละเมิด ๒ ศึกษาว่าอะไรบ้างที่ต้องทำ แล้วก็พยายามขวนขวายทำสิ่งนั้นไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ ผู้อยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ ๑ ไปทำสิ่งที่ห้ามทำเข้า ทั้งทำเพราะไม่รู้ ทั้งรู้แล้วขืนทำ อ้างว่าจำเป็น และไม่ใช่เรื่องสำคัญ-คือทำแล้วก็ไม่เห็นเสียหายอะไร ๒ พร้อมกันนั้นก็ปล่อยปละละเลยสิ่งที่ต้องทำ อ้างว่าไม่จำเป็น และไม่ใช่เรื่องสำคัญ-คือไม่ทำก็ไม่เห็นเสียหายอะไร
ตัวอย่างเช่น พระสงฆ์ต้องประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ทุกครึ่งเดือน กำหนดในวันพระกลางเดือนและสิ้นเดือน หรือ “วันพระใหญ่” เรียกเป็นคำสามัญว่า “ลงปาติโมกข์” หรือ “ลงโบสถ์” ถ้าในวัดมีพระไม่ครบองค์สงฆ์ ก็ให้ไปรวมฟังกับวัดใกล้เคียง ถ้าในวัดไม่มีพระที่สวดพระปาติโมกข์ได้ ก็ให้ไปอาราธนาพระที่สวดได้มาจากต่างวัด
ปัจจุบันนี้ พระหลายๆ วัดไม่ได้ลงปาติโมกข์ จะอ้างเหตุอะไรไม่ทราบได้ ในวัดตัวเองก็ไม่ทำ ไปร่วมฟังกับวัดอื่นก็ไม่ไป (บางทีทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นก็ไม่ทำด้วย) วันปาติโมกข์ก็อยู่กันเฉยๆ เจ้าคณะผู้ปกครองก็ไม่กวดขัน ไม่ว่าอะไร นี่คือ-ไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ ส่วนเรื่อง-ทำสิ่งที่ห้ามทำ เวลานี้ก็มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่มีข้อห้ามไว้ชัดเจน ทั้งเรื่องที่ยังถกเถียงกันว่าห้ามหรือไม่ห้าม หลายเรื่องทำกันจนเป็นเรื่องปกติ
ดังที่เวลานี้ พระยืนบิณฑบาต-จนกลายเป็นพระนั่งบิณฑบาต-เป็นเรื่องปกติไปแล้ว คือทำกันทั่วไป พระยืนให้พรกันข้างถนนก็กลายเป็นเรื่องปกติ คือทำกันทั่วไป ผู้คนเอาสตางค์ใส่บาตร ก็เป็นเรื่องปกติ คือทำกันทั่วไป เรื่องที่พระสมัยก่อนไม่ทำ แต่พระสมัยนี้ทำ และมีแนวโน้มว่าจะทำกันมากขึ้น คือพระขับรถยนต์ไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง เวลานี้เห็นหนาตาขึ้นแล้ว แรกเริ่มก็ขับอยู่ในวัด ขนของจากหน้าวัดไปไว้หลังวัด อย่างนี้เป็นต้น ต่อมาก็เริ่มขับออกนอกรั้ววัด ไปใกล้ๆ ก่อน ตอนนี้เริ่มจะขับไปธุระที่นั่นที่นี่ เหมือนชาวบ้าน
เมื่อทำกันทั่วไปเช่นนี้ และไม่มีใคร-โดยเฉพาะผู้ปกครอง-ออกมาวินิจฉัยถูกผิด ตลอดจนผู้คนทั่วไปก็ไม่ว่าอะไร ในที่สุดก็จะกลายเป็นข้ออ้างของพระเณร คืออ้างว่าไม่เห็นมีใครว่าอะไร คือสังคมยอมรับ
ขอทำนายไว้ว่า อีกไม่เกิน ๒๐ ปีนับจากนี้ พระสงฆ์ในเมืองไทยจะขับรถไปไหนมาไหนกันเองเหมือนชาวบ้าน-โดยที่สังคมยอมรับ
และตรงจุดนี้เอง-คือจุดที่อ้างกันว่า “สังคมยอมรับ” นี่แหละ-จะเป็นต้นทางนำไปสู่ยุค “กาสาวกัณฐะ” ดังที่แสดงไว้ในพระคัมภีร์ ถ้ายุค “กาสาวกัณฐะ” จะถึงในก้าวที่ ๕,๐๐๐ การที่พระสงฆ์ในสมัยนี้ช่วยกันสนับสนุนกันเองว่าอย่างนั้นทำได้ อย่างนี้ทำได้ ไม่ผิด ก็ดี การที่สังคมเราในสมัยนี้พากันยอมรับว่าพระสงฆ์ทำอย่างนั้นได้ ไม่ผิด ก็ดี ก็เทียบได้กับเป็นก้าวที่ ๑๐ หรือก้าวที่ ๑๐๐ ก้าวที่ ๕,๐๐๐ ในอนาคตซึ่งจะเป็นยุค “กาสาวกัณฐะ” แค่มีผ้าเหลืองคล้องคอก็เป็นพระ ก็ไปจากก้าวที่ ๑๐ หรือก้าวที่ ๑๐๐ ที่พวกเรากำลังกระซิกกระซี้ชี้ชวนกันก้าวอยู่ในเวลานี้นั่นเอง
พระสงฆ์สมัย “กาสาวกัณฐะ” มีบ้านเรือนอยู่เหมือนชาวบ้าน มีครอบครัว มีลูกมีเมีย เหมือนชาวบ้าน ประกอบอาชีพต่างๆ เหมือนชาวบ้าน ทุกอย่าง-เหมือนชาวบ้าน แต่เวลาที่เอาผ้าเหลืองมาคล้องคอ สังคมยุคโน้นเขาก็ยอมรับกันว่า “นี่คือพระ” แค่มีผ้าเหลืองคล้องคอ สังคมยุคโน้นก็ยอมรับแล้วว่าเป็นพระ นี่คือความหมายของ “กาสาวกัณฐะ” ลองคิดเทียบดูเถิด
สมัยก่อน ถ้าพระมีบ้านเรือนเหมือนชาวบ้าน สังคมสมัยนั้นจะรังเกียจมาก ไม่นับถือว่าเป็นพระ มาถึงสมัยนี้ กุฏิพระบางแห่งหรูหรายิ่งกว่าบ้านของชาวบ้าน เราบางคนในสมัยนี้ยังรู้สึกรังเกียจอยู่บ้าง แต่โดยส่วนรวมแล้วเราก็ยังนับถือว่าท่านเป็นพระอยู่
สมัยนี้ ถ้าพระมีเมียเหมือนชาวบ้าน สังคมเราจะไม่ยอมรับเป็นอันขาดว่า นั่นเป็นพระ หากใครจะแย้งว่า ที่นั่นไง ที่โน่นไง เขารู้กันทั้งนั้นแหละว่ามีเมีย มีลูกด้วย ก็เห็นยังเป็นพระอยู่มิใช่เรอะ
กรณีนั้นโปรดแยกประเด็นให้ถูกว่า ถ้าเป็นเรื่องจริง ที่ “เห็นยังเป็นพระอยู่” นั่นก็เพราะยังไม่มีใครเปิดเผย คือเพราะสังคมยังไม่รู้ความจริง สมัยนี้ ถ้ามีคนแต่งตัวเป็นพระ พาผู้หญิงไปแนะนำกับใครๆ ว่า “นี่ภรรยาของอาตมา” จะไม่มีใครยอมรับเป็นอันขาดว่า-นั่นเป็นพระ
เพราะอะไร ก็เพราะเราในสมัยนี้ยังมีความรู้ประจักษ์ใจกันว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีเมียไม่ได้ ไม่ต้องถึงขนาดประกาศว่าเป็นเมีย แค่รวมเพศ เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าขาดจากความเป็นพระไปแล้วทันที
ไม่ต้องถึงขนาดเรื่องมีเมียอันเป็นอันติมวัตถุ-พ้นจากความเป็นพระเด็ดขาด แค่สงสัยเรื่องเงินทอนวัด เรายังจับบังคับสึก ยัดเข้าคุก ไม่มีอนาคตอยู่จนวันนี้
ก็แล้วทำไมเล่า สังคมในยุค “กาสาวกัณฐะ” ก้าวที่ ๕,๐๐๐ ในอนาคต พระมีลูกมีเมียโทนโท่โชว์สังคม สังคมจึงยอมรับกันว่า-นั่นเป็นพระ มันก็เหมือนพระขับรถ พระอยู่กุฏิหรูยิ่งกว่าบ้านคน คนโบราณเขารังเกียจว่า - ไม่ใช่พระ แต่เราสมัยนี้ก็ยังพากันยอมรับว่า-นั่นเป็นพระ ลองคิดเทียบดูเถิด - ใช่หรือไม่?
ถ้าพระมีเมีย เราสมัยนี้จะไล่ตะเพิดทันทีว่า -ไม่ใช่พระ แต่สังคมยุค “กาสาวกัณฐะ” ผู้คนพากันยอมรับว่า -นั่นเป็นพระ ฉันใดก็ฉันนั้น ในที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่า การไม่ศึกษาพระธรรมวินัยนั่นเองคือรากเหง้าแห่งความเสื่อม
จากไม่ศึกษา ขยายไปสู่ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นว่าการทำเช่นนั้นเป็นโทษเป็นผิด พระอุ้มแม่ อาบน้ำให้แม่ ป้อนข้าวแม่ กอดแม่ คนสมัยนี้ส่วนหนึ่ง ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น พากันสรรเสริญชื่นชมยินดีว่าท่านเป็นลูกที่ประเสริฐแท้ ก็เพราะเขาไม่รู้ว่านั่นเป็นการทำผิดพระวินัย และที่ไม่รู้ก็เพราะไม่ได้เรียน
เอาละ บางส่วนก็รู้ แต่ไม่เห็นว่าการทำเช่นนั้นจะเสียหายอะไร ซ้ำบางทียกเหตุผลมาอ้างหักล้างเสียด้วย นั่นก็คือ ไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ยิ่งเวลานี้พระเณรขาดความอุตสาหะในการศึกษาพระธรรมวินัย พูดกันตรงๆ ว่าไม่เรียนพระธรรมวินัย ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ชาวบ้านน่ะไม่ค่อยจะรู้อยู่แล้ว พระเณรมาซ้ำไม่รู้เสียเองเข้าไปอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่
แต่ไม่ว่าอะไรจะเป็นอย่างไร หลักสำคัญที่ชาวพุทธจะต้องยึดไว้ให้มั่นคงก็คือ คารวธรรม – อย่าขาดคารวธรรมเป็นอันขาด คือ พุทธคารวตา ธัมมคารวตา สังฆคารวตา สิกขาคารวตา สมาธิคารวตา ปฏิสันถารคารวตา
คารวธรรมยังมั่นคงอยู่ในใจตราบใด สังคมพุทธก็จะมั่นคงอยู่ในแผ่นดินไทยและในโลกตราบนั้น
"ภิกษุทั้งหลาย! ผู้เคารพหนักแน่นในพระศาสดา ในพระธรรม มีความยำเกรงในสงฆ์ มีความเคารพหนักแน่นในสมาธิ มีความเพียรเครื่องเผาบาป และเคารพในไตรสิกขา และเคารพในปฏิสันถารการต้อนรับอาคันตุกะ ผู้เช่นนั้นย่อมไม่เสื่อม ดำรงตนอยู่ใกล้พระนิพพาน"
เมื่อเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า คนในโลกนี้มีหลายพันล้านคน สิ่งของ เหตุการณ์ การงานในโลกนี้มีหลายแสนหลายล้านอย่าง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนให้เราสนใจอย่างจริงจัง 6 อย่าง ดังนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การศึกษา ความไม่ประมาท และการต้อนรับ ทั้ง 6 ประการนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวัน ใกล้พระนครกิมมิลา ครั้งนั้น ท่านพระกิมมิละได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกิมมิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ในสิกขา (การศึกษา) ในความไม่ประมาท ในปฏิสันถาร ดูก่อนกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว
พระกิมมิละกราบทูลถามต่อว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไร เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้ พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ดูก่อนกิมมิละ พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม่ประมาท ในการปฏิสันถาร ดูก่อนกิมมิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว
จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาหรือพระสัทธรรมจะสามารถดำรงอยู่ได้นานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพุทธสาวกว่า มีความเคารพใน 6 ประการข้างต้นหรือไม่เพียงใด จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาแล้วนำไปปฏิบัติกันให้ดี
สิ่งที่ควรเคารพทั้ง 6 ประการนี้ เป็นแกนหลักของความเคารพทุกอย่าง เมื่อเราสามารถตรองจนตระหนักถึงคุณของสิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่ง ทั้ง 6 ประการนี้แล้ว ต่อไปเราก็จะสามารถตรองถึงความดีของสิ่งอื่นๆ ได้ชัดเจนและละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น กลายเป็นผู้รู้จริงและทำได้จริงผู้หนึ่ง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee