แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๙ มีสติสัมปชัญญะ ละอายชั่วกลับบาป เพื่อไม่ให้เนิ่นช้าในการปฏิบัติ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มีผู้ที่ถามพระพุทธเจ้าว่า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดงงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด เพราะสาเหตุอะไร อย่างพระโสดาบันต้องบากบั่นกว่าจะได้เป็นพระอรหันต์ในชาติปัจจุบันต้องบากบั่นเป็นชาติที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 อย่างนี้ พระโสดาบันไม่ตกไปในอบายภูมิก็จริงพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงตรัสว่า อำนาจแห่งความหลงความเพลิดเพลินและความเอร็ดอร่อยที่ได้พูดไปเมื่อวันสองวันก่อน มันคือค่าจ้างสำหรับผู้ที่เกิดมา เดี๋ยวผู้ที่ยังเป็นสามัญชน เขาก็ไม่มีสิ่งที่แน่นอน มันเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเพลินความหลงของเราทุกท่านทุกคนนะ มันทำให้เราเสียเวลาพระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่า ให้เราทุกคนมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวก็พร้อมเพราะว่าความสุขนั้นไม่ได้อยู่ในความหลงความเพลิดเพลินความสะดวกสบาย แต่ว่ามันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้อง มีการปฏิบัติที่ถูกต้องในปัจจุบันนี้ อยู่ที่ไหนมันก็ดับทุกข์ได้เหมือนผู้ที่อ่านออกเขียนได้มันก็อ่านออกเขียนได้ในทุกที่
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภอุบาสก ๕ คน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ" เป็นต้น.
ได้ยินว่า อุบาสกเหล่านั้นใคร่จะฟังธรรม ไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดา แล้วนั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง.
ก็ความดำริว่า "ผู้นี้เป็นกษัตริย์ ผู้นี้เป็นพราหมณ์, ผู้นี้เป็นคนมั่งมี, ผู้นี้เป็นคนยากจน เราจักแสดงธรรมให้ยวดยิ่งแก่ผู้นี้ จักไม่แสดง (ธรรมให้ยวดยิ่ง) แก่ผู้นี้" ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงธรรมปรารภบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ย่อมทรงทำความเคารพธรรมไว้เป็นเบื้องหน้าแล้วจึงแสดง ประหนึ่งเทพเจ้าผู้มีฤทธิ์บันดาลให้น้ำในอากาศหลั่งไหลลงอยู่ฉะนั้น.
ก็บรรดาอุบาสกเหล่านั้น ผู้นั่งแล้วในสำนักของพระตถาคตผู้ทรงแสดง (ธรรม) อยู่อย่างนั้น อุบาสกคนหนึ่งนั่งหลับแล้วเทียว, คนหนึ่งนั่งเขียนแผ่นดินด้วยนิ้วมือ, คนหนึ่งนั่งเขย่าต้นไม้, คนหนึ่งนั่งแหงน (หน้า) มองดูอากาศ, แต่คนหนึ่งได้ฟังธรรมโดยเคารพ.
พระอานนทเถระถวายงานพัดพระศาสดาอยู่ แลดูอาการของอุบาสกเหล่านั้น กราบทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงบันลือลั่นดุจมหาเมฆคำรน ทรงแสดงธรรมแก่อุบาสกเหล่านี้, แต่อุบาสกเหล่านั้น เมื่อพระองค์ตรัสธรรมอยู่ นั่งทำกรรมนี้และนี้."
พระศาสดา. อานนท์ เธอไม่รู้จักอุบาสกเหล่านั้นหรือ?
อานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้จัก พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ก็บรรดาอุบาสกเหล่านั้น อุบาสกผู้นั่งหลับแล้วนั่นเกิดในกำเนิดแห่งงูสิ้น ๕๐๐ ชาติ พาดศีรษะไว้บนขนดทั้งหลายหลับแล้ว. แม้ในบัดนี้ ความอิ่มในการหลับของเขาย่อมไม่มี เสียงของเราย่อมไม่เข้าไปสู่หูของเขา.
อานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสโดยลำดับหรือตรัสเป็นตอนๆ?
พระศาสดา. อานนท์ แท้จริง แม้พระสัพพัญญุตญาณ ก็ไม่อาจทรงกำหนด ซึ่งความอุบัติของอุบาสกนั่น ผู้อุบัติอยู่ในระหว่างๆ อย่างนี้คือ "ความเป็นมนุษย์ตามกาล, ความเป็นเทพตามกาล, ความเป็นนาคตามกาล" แต่อุบาสกนั่นเกิดแล้วในกำเนิดแห่งนาคสิ้น ๕๐๐ ชาติโดยลำดับ แม้หลับอยู่ (ก็) ไม่อิ่มในการหลับเสียเลย.
ฝ่ายบุรุษผู้นั่งเขียนแผ่นดินด้วยนิ้วมือ เกิดในกำเนิดไส้เดือนสิ้น ๕๐๐ ชาติโดยลำดับ ขุดแผ่นดินแล้ว, ถึงบัดนี้ก็เขียนแผ่นดินอยู่ ด้วยอำนาจความประพฤติที่ตนได้เคยประพฤติแล้วในกาลก่อน ย่อมไม่ฟังเสียงของเรา.
ฝ่ายบุรุษผู้นั่งเขย่าต้นไม้อยู่นั่น เกิดแล้วในกำเนิดลิงสิ้น ๕๐๐ ชาติโดยลำดับ, ถึงบัดนี้ก็เขย่าต้นไม้อยู่ ด้วยสามารถแห่งความประพฤติที่ตนได้เคยประพฤติมาแล้วในกาลก่อนนั่นเทียว. เสียงของเราย่อมไม่เข้าหูของเขา.
แม้พราหมณ์ผู้นั่งแหงน (หน้า) มองอากาศอยู่นั่น ก็เกิดเป็น (หมอ) ผู้บอกฤกษ์สิ้น ๕๐๐ ชาติโดยลำดับ, ถึงบัดนี้ แม้ในวันนี้ก็ยังแหงน (หน้า) ดูอากาศอยู่ ด้วยสามารถแห่งความประพฤติที่ตนได้เคยประพฤติมาแล้ว ในกาลก่อนนั่นเทียว. เสียงของเราย่อมไม่เข้าหูของเขา.
ส่วนพราหมณ์ผู้ฟังธรรมโดยความเคารพนั่น เกิดเป็นพราหมณ์ผู้ท่องมนต์ ถึงฝั่งแห่งเวท ๓ สิ้น ๕๐๐ ชาติโดยลำดับ, ถึงบัดนี้ ก็ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ เป็นดังเทียบเคียงมนต์อยู่.
อานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์ย่อมแทรกอวัยวะทั้งหลาย มีผิวเป็นต้น (เข้า) ไปจดเยื่อกระดูกตั้งอยู่ เพราะเหตุไร อุบาสกเหล่านี้แม้เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ จึงไม่ฟังโดยเคารพ?
พระศาสดา. อานนท์ เธอเห็นจะทำความสำคัญว่า "ธรรมของเราอันบุคคลพึงฟังได้โดยง่ายกระมัง?"
อานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ธรรม (ของพระองค์) อันบุคคลพึงฟังได้โดยยากหรือ? พระศาสดา. ถูกแล้ว อานนท์. อานนท์. เพราะเหตุไร? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. อานนท์ บทว่า "พุทฺโธ" ก็ดี "ธมฺโม" ก็ดี "สงฺโฆ" ก็ดี อันสัตว์เหล่านี้ไม่เคยสดับแล้ว ในแสนกัลป์ แม้เป็นอเนก เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านี้จึงไม่สามารถฟังธรรมนี้ได้.
แต่ในสงสารมีที่สุดอันใครๆ ตามรู้ไม่ได้ สัตว์เหล่านี้ฟังดิรัจฉานกถามีอย่างต่างๆ นั่นแล มาแล้ว เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านี้จึงเที่ยวขับร้องฟ้อนรำอยู่ในที่ทั้งหลาย มีโรงดื่มสุราและสนามเป็นที่เล่นเป็นต้น จึงไม่สามารถจะฟังธรรมได้.
อานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกทั้งหลายนั่นอาศัยอะไรจึงไม่สามารถ?
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสแก่พระอานนท์ว่า "อานนท์ อุบาสกเหล่านั้นอาศัยราคะ อาศัยโทสะ อาศัยโมหะ อาศัยตัณหา จึงไม่สามารถ. ชื่อว่าไฟ เช่นกับด้วยไฟคือราคะไม่มี, ไฟใดไม่แสดงแม้ซึ่งเถ้า ย่อมไหม้สัตว์ทั้งหลาย.
แท้จริง แม้ไฟซึ่งยังกัลป์ให้พินาศ ที่อาศัยความปรากฏแห่งอาทิตย์ ๗ ดวงบังเกิดขึ้น ย่อมไหม้โลก ไม่ให้วัตถุไรๆ เหลืออยู่เลย ก็จริง. ถึงกระนั้น ไฟนั้นย่อมไหม้ในบางคราวเท่านั้น ชื่อว่ากาลที่ไฟคือราคะ จะไม่ไหม้ ย่อมไม่มี. เพราะฉะนั้น ชื่อว่าไฟเสมอด้วยราคะก็ดี ชื่อว่าผู้จับเสมอด้วยโทสะก็ดี ชื่อว่าข่ายเสมอด้วยโมหะก็ดี ชื่อว่าแม่น้ำเสมอด้วยตัณหาก็ดี ไม่มี" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ นตฺถิ โทสสโม คโห นตฺถิ โมหสมํ ชาลํ นตฺถิ ตณฺหาสมา นที.
ไฟเสมอด้วยราคะ ไม่มี, ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี, ข่ายเสมอด้วยโมหะ ไม่มี, แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา ไม่มี.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราคสโม ความว่า ชื่อว่าไฟเสมอด้วยราคะ ย่อมไม่มี ด้วยสามารถแห่งอันไม่แสดงอะไรๆ เช่นควันเป็นต้น ตั้งขึ้นเผาภายในนั่นเอง.
บทว่า โทสสโม ความว่า ผู้จับทั้งหลาย มีผู้จับคือยักษ์ ผู้จับคืองูเหลือม และผู้จับคือจระเข้เป็นต้น ย่อมสามารถจับได้ในอัตภาพเดียวเท่านั้น แต่ผู้จับคือโทสะ ย่อมจับโดยส่วนเดียวทีเดียว เพราะฉะนั้น ชื่อว่าผู้จับเสมอด้วยโทสะย่อมไม่มี.
บทว่า ตณฺหาสมา ความว่า เวลาเต็มก็ดี เวลาพร่องก็ดี เวลาแห้งก็ดี ของแม่น้ำทั้งหลายมีแม่น้ำคงคาเป็นต้น ย่อมปรากฏ แต่เวลาเต็มหรือเวลาแห้งแห่งตัณหา ย่อมไม่มี. ความพร่องอย่างเดียวย่อมปรากฏเป็นนิตย์ เพราะฉะนั้น ชื่อว่าแม่น้ำเสมอด้วยตัณหา ย่อมไม่มี เพราะอรรถว่า ให้เต็มได้โดยยาก.
ในกาลจบเทศนา อุบาสกผู้ฟังธรรมอยู่โดยเคารพนั้น ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว.
ให้เห็นภายในวัฏสงสารสำหรับพระอริยเจ้าในขั้นต่างๆ พูดให้เสขะบุคคลคือบุคคลที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ยังไม่ได้เข้าสู่เส้นทางแห่งพระนิพพาน ความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาปนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะอาหารทางกายเราก็รู้ เวลาอาหารเปรี้ยวไปเค็มไป เราก็รู้อย่างนี้เขาเรียกว่าอาหาร เพราะอาหารคือยารักษาโรคทางกาย พระพุทธเจ้าท่านถึงให้พิจารณาไม่ให้หลงไม่ให้เพลิดเพลิน เพราะเราปรุงแต่งด้วยเครื่องปรุงต่างๆ ก็เพื่อให้มันทานได้ เหมือนคุณภาพของยามันขมมันเลยทานไม่ได้ มันเลยก็ต้องเคลือบน้ำตาลมันถึงจะทานได้ ก็ต้องเข้าใจนะ อาหารทางใจคือสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะในการปฏิบัติ มีความเกรงกลัวต่อบาป และต้องเห็นภายในวัฏสงสาร อันไหนไม่ดีไม่คิด อันไหนไม่ดีไม่พูด อันไหนไม่ดีไม่ทำ เพราะความไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาปนี้ ที่มันสะสมทีละนิดทีละหน่อย ถ้าเราไม่ตั้งใจปฏิบัติอย่างน้อยเราก็ต้องอาบัติทุกกฎอาบัติ นี้มันเนื่องมาจากจิตใจเนื่องด้วยเจตนาที่ไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติที่ศีล 21,000 ที่ไหนพระวินัยปิฎก ที่เอามาสวดก็มี 227 ภายใน 1 ชั่วโมงเพราะว่ามันมากเกินไปในพระวินัยปิฎกนะอย่างนี้
พระพุทธเจ้าท่านวางหลักให้ความละอายบาปเกรงกลัวต่อบาปเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี อยู่ในใจเราถึงจะหยุดวัฏสงสารหยุดการเวียนว่ายตายเกิด การปฏิบัติก็เหมือนเราเป็นกัปตันขับเครื่องบิน อันนี้คือการเปรียบเทียบภายนอกเฉยๆ เครื่องบินที่แท้จริงน่ะคือพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เราต้องเข้าสู่ธรรมะวินัย เราต้องขับออกไปด้วยตัวของเราเอง ความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาปเป็นสิ่งที่เราต้องมี เป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกท่านทุกคนผู้ที่บวชมาแล้วอยู่ในโลกนี้มันก็เยอะนะเป็นประชาธิปไตยที่เอาพระพุทธศาสนาทำมาหากินหรือว่ามาทำไสยศาสตร์กัน ที่ได้ไปกล่าวเมื่อวานนี้ มันไม่ได้มันไม่ถูก ความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาปนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องมีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป 100% เราลองดูสิพระในเมืองไทยนี้นะ ที่ไม่เอามรรคผลนิพพาน มันต้องอาบัติกันเยอะ แต่เขาก็ไม่ได้ไปติดป้ายว่า ใครต้องอาบัติอะไร เป็นสังฆาทิเสสมืดกันไปหมด มืดก็หมายถึงคนอื่นเขาไม่รู้ เป็นปาราชิกมืดก็เป็นกันเยอะ ถ้าไปติดป้าย พวกนี้อาจจะมากกว่าที่ไม่เป็น
เราต้องรู้จักพระส่วนใหญ่บวชมาใหม่ๆ มีความละอายต่อบาปมีความเกรงกลัวต่อบาป มันกลัวความคิดแบบนี้ มันหลงประเด็นมันมายินดีในของอร่อยในความสะดวกสบาย มันถือเงินเป็นพระเจ้า ถือสิ่งเหล่านี้เป็นพระศาสนาไป แบบนี้มันถึงหลงทางหลงประเด็นกัน มันเป็นความเสียหาย เพราะโครงสร้างมันดี แบบนี้มันดี แต่มันเอาโครงสร้างไปเป็นมิจฉาทิฏฐิมิจฉาอาชีวะไป
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจนะ การคิดผิดปฏิบัติผิดถึงจะทำจนชักดิ้นชักงอ มันก็ไม่ถูก ก็เพราะว่ามันไม่ถูกก็คือไม่ถูก ทำไมเราก็ดูด้วยตาฟังด้วยหู สติปัญญามันก็เห็นอยู่แล้วว่า มันไม่ถูก แต่ว่าโครงสร้างมันดีอย่างพระกรรมฐานมันก็เป๋พระวัดบ้านมันก็เป๋ หินยานมันก็เป๋ มหายานมันก็เป๋อย่างนี้ต้องรู้ว่าทุกคนมีสิทธิ์เป็นพระพอๆ กันทุกชาติทุกศาสนา มันก็เป็นพระพอๆ กันพระก็คือพระธรรมพระวินัย พระก็คือไม่มีตัวมีตน มีแต่การประพฤติพรหมจรรย์ มีแต่การดับทุกข์ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงจะมี เพราะความเกรงกลัวต่อบาปความละอายต่อบาปนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ
มีพระวัดหลวงพ่อบวช 20 ปี 30 ปีจะ 40 ปีอยู่แล้วมันก็ยังไม่เข้าใจนึกว่าศาลาใหญ่ๆ มีรถมีลาภยศสรรเสริญมันก็ไปกันใหญ่ เพราะว่ามันไม่ใช่ศาสนา มันเป็นศาสนาแห่งความหลง มันชักจะไปกันเรื่อยแล้ว เมื่อหลายปีก่อนหลวงพ่อก็คิดที่จะเผยแผ่สร้างวัดไปทั่วประเทศไทย แต่หลวงพ่อมาคิดดูแล้ว อันนี้มันไม่ใช่ ท่าพระพวกนี้มันไม่เกรงกลัวต่อบาปไม่ละอายต่อบาป ไม่ได้เอามรรคผลนิพพาน เอาแต่ศาลาใหญ่ เอาแต่โบสถ์ เอาแต่รถ เอาแต่ประจบประแจงคนรวย มันไม่ใช่แล้ว อันนี้มันเป็นหนทางแห่งความมืด มันหลงประเด็น มันไม่ได้มีความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาป กิเลสมันก็สะสมขึ้นสะสมขึ้น โอ...มองเห็นคนร่ำคนรวยเห็นเป็นนางฟ้านางสวรรค์เป็นเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ไปแล้วนะ มองเห็นคนจนและมันให้พรไม่ออก พวกราคะพวกตัณหามันก็ขึ้นน่ะ คุมตัวเองไม่อยู่ แล้วว่างๆ โยมไม่มาน่ะ มีโอกาสนะภิกษุณีอยู่องค์เดียวน่ะ ก็ไปปล้ำภิกษุณี ภิกษุณีเขาก็ไม่ยอมนะ เพราะเขาจะมาเอาพระนิพพาน เขาไม่ได้จะมาเป็นเมียพระคุณเจ้า ทำอย่างนี้ตั้งหลายครั้งหลายคราวแล้ว หลวงพ่อก็รู้ แต่ว่าพระองค์นั้นคิดว่าหลวงพ่อไม่รู้ หลวงพ่อเลยให้ภิกษุณีหนีออกไป
สิ่งที่เราไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป เอาตัวตนเป็นหลัก เล่นโทรศัพท์เล่นคอมพิวเตอร์อะไรอย่างนี้แหละ โอ้...ใจของเรามันจะสงบได้ยังไง เพราะเราไม่ได้เอาพระพุทธเจ้า เราเอาอวิชชาเอาความหลงเป็นที่ตั้ง พวกนี้ไม่รู้เรื่องพระศาสนาเลย มันทิ้งพระศาสนาไป มันจะเอาแต่เจ้าฟ้าเจ้าคุณ ความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาปถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ พูดธรรมะอะไรก็พูดไม่ได้พูดแต่ธรรมะในหนังสือ เพราะว่ามันไม่มีการปฏิบัติเหมือนที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราสอนตัวเอง 100% 4-5% ถึงค่อยเอาไปบอกหมู่เพื่อนหมู่คณะ บอกโยม การเดินตามรอยพระพุทธเจ้าด้วยมีความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาปนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ พระหลวงพ่อนะหลวงพ่อสังเกตดู 30 ปี 40 ปี 50 ปีแล้ว สังเกตดูถ้าใครทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ตัวเอง มันก็เสียหายน่ะ แต่กรรมมันยังไม่ปรากฏ อย่างต้นไม้กว่ามันจะเห็นผล มันก็ใช้เวลา 10 ปี 20 ปีเป็นต้นใหญ่ต้นสูง 10 เมตร 20 เมตร 30 เมตร การที่เราไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป มันก็สั่งสมไป มันยิ่งเป็นโรคจิตโรคประสาทขึ้นไป ไม่มีสติสัมปชัญญะน่ะ มันหลับไม่ลง มันตั้งอยู่ในความเพลิดเพลินตั้งอยู่ในความประมาท
เห็นไหมล่ะ...พระหลวงพ่อนะ เมื่อหลวงพ่อไปอยู่ที่เชียงใหม่ เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองที่เจริญของประเทศไทย เค้าถวายที่หลวงพ่ออยู่เกือบๆ กลางเมืองของเชียงใหม่ เนื้อที่ 29 ไร่ 3 งาน สมัยนั้นร่วม 20 ปีก่อนนู้นแล้ว พระองค์หนึ่งตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาปนะ คิดไปอะไรไป คิดอย่างนี้ทำอย่างนี้ มันก็นอนไม่หลับน่ะ กลางคืนก็เพ่นพ่านไปเพ่นพ่านมา กลางวันก็หลบไปหานอนอยู่ใต้ถุนกุฏิที่หลวงพ่อพัก ก็มีห้องที่เอาไว้เก็บของเก็บถุงพลาสติก มันไปแอบนอนอยู่อย่างนี้นะ เพราะว่าความไม่ละอายต่อบาปความไม่เกรงกลัวต่อบาปมันคุกคามขึ้น หลวงพ่อถึงบอกให้ทุกคนพยายามมีสติสัมปชัญญะ พยายาม Control ตัวเอง พวกเราพวกนักบวชเราน่ะ 3 ทุ่มก็ให้พากันนอน เพื่อให้ระบบสมองของเราจะได้ควบคุม Control ตัวเองได้ ไม่ต้องเลทไปถึง 4 ทุ่มหรอกหลวงปู่มั่นน่ะท่านพาพระกรรมฐานนอน 4 ทุ่ม ตื่นตี 2 เพื่อที่จะได้เจริญสติสัมปชัญญะ จะได้เจริญอานาปานสติหรือว่าจะเป็นสติปัฏฐาน 4 อย่างนี้แหละ เป็นต้น หรือว่าอริยมรรคมีองค์ 8 พระองค์นั้นก็ไปนอนอยู่อืดอยู่อย่างนั้นแหละ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น จนในประเทศไทยจนจะไม่มีที่อยู่แล้วตอนนี้ มันก็มีแต่ความฟุ้งซ่านไปหมดนะ ความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาปทุกคนทุกท่านต้องมี ถ้าใครไม่มี ก็ต้องพยายามให้มี ถ้าทำไม่ได้พวกที่มาบวชก็ให้พากันสึกไป ไปหาเป็นโยมอุปถัมภ์ที่ดีๆ
ทุกท่านทุกคนน่ะความเป็นพระ มันอยู่ที่ใจมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาป หยุดระบบความคิดระบบคำพูดการกระทำ ทำอะไรก็ให้มีสติสัมปชัญญะวันนี้จะเน้นเรื่องสติสัมปชัญญะและความไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป ที่พูดออกมาเนี่ย ก็เพื่อที่จะให้เห็นภาพ เราน่ะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ไปประพฤติปฏิบัติอย่างอื่นมันไม่ถูก เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราไปเอาสวรรค์วิมานอะไรข้างหน้านู้น ให้เน้นที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเรามีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะให้ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป มีความสุขมีสติสัมปชัญญะ มีความสุขมีความดับทุกข์ พวกที่มาบวชกับหลวงพ่อนะให้พากันฝึกอย่างนี้เต็มที่ อย่างเวลาไก่มันฟักไข่มันใช้เวลา 3 อาทิตย์ หมู่มวลมนุษย์ก็ต้องใช้เวลาปฏิบัติมากกว่าไก่ เพราะกิเลสมันมากกว่าไก่มากกว่าสัตว์เดรัจฉานอีก หมู่มวลมนุษย์น่ะสามารถพัฒนาประพฤติปฏิบัติได้ เราจะได้เข้าถึงความเป็นพระ สึกไปแล้วก็จะได้เข้าถึงความเป็นพระที่บ้านตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามี เป็นต้นน่ะ เพราะเราอ่านออกเขียนได้ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 มันไม่ต้องไปหาพระที่ไหนหรอก พระนี่คือความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องการปฏิบัติให้ถูกต้อง มีความสุขในการเสียสละ พัฒนาตัวเองอย่างนี้ ต้องมีความสุขมีความเยือกเย็น มีสติสัมปชัญญะต้องเพิ่มความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาป ทุกคนน่ะอย่าพากันไปสอนคนอื่น เหมือนที่หลวงพ่อมองเห็นอยู่อย่างนี้นะ จะไปจัดการคนอื่นจะไปสอนคนอื่น มันจะไปจัดการอะไร ตัวเองก็ยังจัดการไม่ได้ ถ้าจะไปจัดการคนอื่นสอนคนอื่นเรื่องทำมาหากินน่ะ มันก็เป็นแค่อาชีพเฉยๆ นะ คนเราทุกคนให้รู้ไว้ ถ้ามีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการเรียนหนังสือในการทำงาน มีความสุขในการขุดดินมีความสุขในการตัดหญ้าปลูกข้าวปลูกผักปลูกผลไม้ บ้านไหนบ้านป่าน่ะมันก็จะมีความสุขในการกินแกงเห็ดแกงอะไร มันก็จะไม่พากันไปหากินของป่า ไปหากินหมูสเต็ก หมูกะทะ ที่มันไม่ใช่ความดับทุกข์ มันไม่ใช่การดับความหลง ความสุขอย่างนั้นน่ะ มันทำให้เราต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตโกงกินคอร์รัปชั่น เราก็ไม่ได้พากันเป็นพระ เราก็ไม่ได้พากันไปเป็นทหารตำรวจพ่อค้า มันเป็นแบรนด์เนมเฉยๆ มันไม่ใช่ความดับทุกข์
ให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะแล้วก็พากันปฏิบัติอย่างนี้ มีความละอายต่อบาปความเกรงกลัวต่อบาป นี้เป็นสิ่งที่สำคัญนะ ให้รู้เลยว่าความเนิ่นช้าน่ะ มันมาจากอย่างนี้แหละ
ปปัญจธรรม คือ ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ทำให้เนิ่นช้า คืออกุศลที่ทำให้เนิ่นช้า คำว่าเนิ่นช้าหมายความว่าไปได้ช้า ทำให้เดินวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไปนิพพานได้ช้า กำจัดกิเลสได้ช้า ๓ อย่างที่เป็นตัวใหญ่ก็คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ๓ ตัวนี้เมื่อรวมกันแล้วถือว่าเป็นปปัญจธรรม สิ่งที่ทำให้การเดินทางไปนิพพานเนิ่นช้า
ตัณหา ตามพระพุทธภาษิต ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ ตัณหาทำให้คนเกิด และไม่ทำให้เกิดอย่างเดียว ทำให้ทุกข์ด้วย ที่ว่า ตณฺหามาตุกํ ทุกฺขํ ความทุกข์มีตัณหาเป็นมารดา, ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ ทีฆมทฺธานสํสรํ ตัณหาทำให้คนเกิด ทำให้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ตลอดกาลยาวนาน ให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ให้เป็นอย่างนี้บ้าง ไม่อาจจะล่วงพ้นสังสารวัฏไปได้
บัณฑิตรู้ว่าตัณหามีโทษอย่างนี้ เอตมาทีนวํ ญฺตวา รู้ว่าตัณหามีโทษอย่างนี้ หรือรู้ว่าตัณหานี้เป็นสิ่งมีโทษ เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์แล้ว ก็พยายามที่จะเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น มีสติ เว้นสิ่งที่ควรเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเว้นชั่ว
วีตตณฺโห ปราศจากตัณหา อนาทาโน ไม่ยึดมั่นถือมั่น มีสติ..
พูดถึงตรงนี้ ก็นึกถึงที่อาจารย์พุทธทาส ท่านเคยพูดถึงว่า ให้ตายเสียก่อนตาย เข้าใจความหมายที่ท่านพูด ก็หมายความว่าให้ฆ่ากิเลสเสียก่อนที่จะตาย..
ดังนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุจึงกล่าวว่าบางครั้งการจะได้สัมผัสกับภาวะแห่งนิพพานที่แท้ที่สมบูรณ์ต้องเริ่มต้นจากการฝึกหัดลดตัวกู-ของกูเสียก่อนท่านใช้คำว่า "หัดตาย เสียก่อนตาย" อย่างน้อยหัดเป็นคนที่ไม่มีอะไรสิ้นเนื้อประดาตัว คือให้หมดตัวตัว-ของกูเสียก่อนแต่ที่จะตาย ตกไปอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติที่สงบวิเวกก็พยายามเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้จนเกิดความรู้สึกภายในจิตใจขึ้นมาว่า การที่ไม่มีอะไรนั่นแหละเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด
พุทธภาษิตใน ปุราเภทสูตร ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ มีคำหนึ่งว่า วีตตณฺโห ปุราเภทา แปลว่า เป็นผู้ปราศจากตัณหา ก่อนที่ร่างกายจะแตกทำลายไป อันนี้ท่านก็ถือเอาใจความแล้ว มาพูดอย่างง่ายๆ ว่า ตายเสียก่อนตาย.. ปุราเภทา แปลว่า ก่อนที่ร่างกายจะแตก วีตตณฺโห ให้เป็นผู้ปราศจากตัณหา ก็คือ กิเลสตาย ตายเสียก่อนตาย..
พุทธสุภาษิตในคัมภีร์ธรรมบท กล่าวว่า ตัณหาทำให้คนเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ เหมือนลิงในป่า เร่ร่อนไปหาผลไม้กิน ถ้าไม่มีความอยาก ก็ไม่ต้องเร่ร่อนไป เหมือนคนที่อยากจะไปไหน อยากไปเที่ยวไปดูไปฟัง อะไรที่มันจะสนองความอยากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตัณหามันนำไป ทำให้เร่ร่อนไป ถ้าเผื่อตัณหามันไม่นำไป ก็ไม่ต้องไปก็ได้ อยู่ที่ไหนสบายแล้วก็ไม่ต้องไปก็ได้ ปัญหามันอยู่ที่ว่าอยากดู อยากเห็น อยากฟัง อยากเพลิดเพลินอยู่ ตัณหามันก็พาไป เหมือนลิงในป่าที่เร่ร่อนไปหาผลไม้..
ถ้าเผื่อไม่ได้ตามที่อยากที่ต้องการ ความโศกก็เกิดขึ้น ความเสียใจ ความขุ่นใจ การทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้น อย่างที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ให้เราเห็นอยู่..
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า เมื่อตัณหาครอบงำผู้ใด ผู้นั้นย่อมจะมากมูลไปด้วยความโศก ผู้ใดย่ำยีตัณหาเสียได้ ความโศกก็ไม่มีแก่ผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำตกบนใบบัว ใบบัวมันมีคุณสมบัติพิเศษ มันไม่ติดน้ำ น้ำไม่ติดใบบัว คนทั่วไปใจเหมือนสำลี น้ำหยดลงไปก็จับทันที หรือเอาน้ำมันหยอดลงไป ติดทันที ออกยากด้วย ไม่มีคุณสมบัติเป็นใบบัว ผู้ปฏิบัติธรรมก็พยายามทำใจให้เป็นใบบัว ตัณหาครอบงำไม่ได้ ย่ำยีไม่ได้ ความโศกก็ตกไป เหมือนหยาดน้ำตกบนใบบัว
มานะ ในสังโยชน์หมายถึงความถือตัว ถือตน ทะนงตน ความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ หรือการถือตัวว่า ดีกว่าเขา เหนือกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขา จึงย่อมก่อให้เกิดการปรุงแต่งกิเลสต่างๆนาๆ จึงไม่ใช่ มานะ ในภาษาไทยที่มีความหมายถึงว่า ความพยายาม ความตั้งใจแต่อย่างใด "มานะ ๓ เป็นไฉน คือ ความถือตัวว่าเสมอเขา, ความถือตัวว่าเลวกว่าเขา, ความถือตัวว่าดีกว่าเขา, มานะ ๓ นี้ควรละ" มานะ คือ ความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ มีอยู่ 9 ประการดังนี้
1. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 2. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 3. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา
4. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 5. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 6. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา
7. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 8. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 9. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา
เพราะความคิดว่า "ดีกว่าเขา" "ด้อยกว่าเขา" "แม้แต่เสมอเขา" ต่างล้วนเป็นความคิดปรุงแต่งที่ยังให้เกิดทุกข์รำคาญใจทั้งสิ้น ลองโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย จะเข้าใจได้ว่า มีเหตุจึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งว่า ดีกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขา ขึ้นมาด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดก็ดี จึงเป็นทุกข์ ดังเช่น ดีกว่าเขาก็เกิดอาการกร่าง เสมอเขาก็เกิดอาการเบ่งจนตัวพองเป็นทุกข์ ด้อยกว่าเขาก็เป็นทุกข์
มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิดนั้น เป็นภัยร้ายแรงในสังสารวัฏ ถ้าไม่ยอมสละ ละทิ้งออกไปจากใจ ย่อมจะเกิดโทษมากมาย ยิ่งถ้าเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิแล้ว เท่ากับเป็นตอในวัฏฏะ ชีวิตจะไม่มีวันเจริญงอกงามได้ เพราะฉะนั้น เราต้องหมั่นไปหาผู้รู้ที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ที่แท้จริง ที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ทางด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิปัญญา เราจึงจะสามารถเข้าใจ และสละทิฏฐิอันไม่ถูกต้องนั้นได้
ทุกท่านทุกคนไม่มีใครปฏิบัติให้เราเอานิพพานให้เราได้ เราต้องประพฤติปฏิบัติเอง รู้ถึงความประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งสูงสุดก็คือมรรคผลพระนิพพานในปัจจุบัน เราจะไปทำตามอวิชชาทำตามความหลงได้ยังไง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee