แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๖ ความละอายชั่วกลัวต่อบาป เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณธรรมในจิตใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การที่เรามีสติสัมปชัญญะกลับมาหาเนื้อหาตัว นี่คือการปฏิบัติบูชา เราจะปล่อยให้ตัวเราฟุ้งซ่านไปไม่ได้ ทุกท่านทุกคนต้องเห็นภายในวัฏสงสาร ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เราจะได้หยุดบาปหยุดกรรมหยุดเวรหยุดภัย ด้วยการมีสติสัมปชัญญะเป็นผู้ที่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เราปฏิบัติอย่างนี้ติดต่อต่อเนื่องกัน จึงเป็นการปฏิบัติบูชา ทุกท่านทุกคนที่มาบวชมาปฏิบัติมาอยู่วัด ต้องไม่เอาพระพุทธศาสนามาหาอยู่หาฉัน ทุกคนต้องจัดการโจรมหาโจรในใจ ที่พระพุทธเจ้าให้พวกเราพากันประพฤติปฏิบัติ อย่าพากันไปเอาประชาธิปไตยของโลกเป็นหลัก สิ่งที่ไม่ถูกต้องที่คนหมู่มากพากันทำพากันปฏิบัติ
อยู่ในวัดเราต้องไม่มีสังฆประชาธิปไตยที่พากันเอาตัวตนเป็นหลักเป็นใหญ่ ถ้าทำไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ท่านก็ควรจะลาสิกขาไป เพราะมันเสียหายต่อตัวท่านเอง เสียหายต่อส่วนรวม สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้องทำเหมือนๆ กันก็เป็นประชาธิปไตย ทุกท่านทุกคนพากันมาประพฤติปฏิบัติ ท่านต้องเอาธรรมวินัยเป็นหลัก ปฏิบัติให้มันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เริ่มจากใจจากเจตนา ต้องควบคุมตนเอง คอนโทรลตัวเอง ต้องเป็นกัปตันขับเคลื่อนตัวเองด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อย่างวัดเราพระภิกษุสามเณรไม่มีโทรศัพท์ ไม่ใช้โทรศัพท์ หลวงพ่อก็เทศน์ก็สอนมาหลายๆ ปี บอกว่าไม่ให้มี แต่ก็มีพระที่เป็นโจรเอาพระศาสนาหาอยู่หาฉัน ก็ยังไม่เข้าใจในคำสอน จะไปเอาประชาธิปไตยของพระทั้งประเทศไม่ได้ ต้องเอาพระธรรมพระวินัยของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
เราทุกคนใช้ทรัพยากรของพระพุทธศาสนา แต่เราไม่เอาพระธรรมพระวินัย ไม่มุ่งมรรคผลนิพพาน มันเป็นประชาธิปไตยที่มันเป็นแก๊ง ที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา มันเป็นโจรประจำวัด ประจำศาสนา เราจะเอาประชาธิปไตยที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนานี้ไม่ได้ มันเสียหายทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ให้พวกท่านพากันเข้าใจ ผู้ที่หลวงพ่อให้ใช้โทรศัพท์ถึงจะมีสิทธิ์ที่จะใช้ได้ ต้องพากันเจริญสติสัมปชัญญะ ปรับตัวเองเข้าหาธรรมวินัย เข้าหาเวลา เพราะเมื่อมันเห็นคนหนึ่งทำ อีกคนมันก็อยากทำ มันเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง หลวงพ่อจึงให้ทุกคนใช้เผด็จการทางธรรมะ เพื่อให้ทุกคนเดินไปเหมือนๆ กัน มีศีลเสมอกันเพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพาน มีสมาธิเสมอกันเพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพาน มีปัญญาเสมอกันเพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพาน ถ้าท่านปฏิบัติไม่ได้นิมนต์ให้ท่านลาสิกขาไป เพราะวัดนี้จะได้สูงขึ้น จะได้ไม่หนักวัดวาศาสนา ทุกท่านต้องจัดการโจรมหาโจรที่อยู่กับเราทุกคน อย่าให้จิตใจของเราเป็นแหล่งซ่องสุมโจร ทุกๆ คนจะได้วางใจกัน ท่านจะได้ไม่ต้องมาเอาแบรนด์เนมของศาสนามาหากินหาฉัน ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้
ให้ทุกคนมีสติสัมปชัญญะ ให้รู้ตัวเอง แล้วก็เข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ ให้ตรวจตราดูตัวเองว่าอันไหนมันคิดไม่ถูก ปฏิบัติไม่ถูก เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราจะปล่อยตัวเองให้ดำเนินไปด้วยความไม่ถูกต้องอย่างนี้ไม่ได้ เราเกิดมาเราต้องมาแก้ไขตัวเอง เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากเหตุ ถ้าจะดับก็ต้องดับที่เหตุ จึงต้องควบคุมตัวเองด้วยการมีสติสัมปชัญญะ หลักการคือเราต้องปรับตัวเองเข้าหาเวลาเข้าหาธรรมะ เพราะมันเป็นกิจกรรม กิจกรรมของพวกเราคือต้องหยุดอวิชชาหยุดความหลง ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติ มันไม่ได้นะ เราไม่ต้องมีโลกส่วนตัวโลกอวิชชาโลกความหลง เราต้องพากันเสียสละ เมื่อเราไม่เดินต่อ มันก็คือการหยุด คือการไม่สร้างหนี้สิน
พวกพระ พวกเณร พวกแม่ชี ผู้ถือศีลปฏิบัติธรรม พวกเราถือว่าได้เอาทรัพยากรของพระพุทธเจ้าแล้ว เราทุกคนต้องเข้าสู่มาตรฐานหรือเหนือกว่ามาตรฐานของวัตถุ ให้เราพยายามมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม อย่าไปใจอ่อนตามธาตุตามขันธ์ ต้องกลับมาเดินตามอริยมรรคมีองค์ 8 การปฏิบัติมันก็ง่ายถ้าตามพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเอาตามตัวเองมันก็ต้องยาก เพราะตัวเองมันก็ยังอยากได้อยากมีอยากเป็น เราต้องเข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม
วันนี้หลวงพ่อไปตรวจงาน เจอพระคุณเจ้าขับซาเล้ง มันไม่สมควรแก่สมณะ เราต้องทำอะไรให้ถูกต้อง ไม่เอาแต่แบรนด์เนมของพระ ทำไมถึงไปปล่อยวางจากธรรมจากวินัย ถ้าบวชมาแล้วรักษาพระธรรมวินัยไม่ได้ ก็สู้สึกออกไปซะ เดี๋ยวทำไปๆ เดี๋ยวก็เป็นสังฆประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง
ฐานที่ตั้งของพวกเราคือพระธรรมพระวินัย ใครๆ ก็ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับพวกที่มาหากินกับพระธรรมพระวินัย เช่น พระขับรถ พระพกสตางค์ใส่ย่ามไปซื้อของ เป็นต้น พระผู้ใหญ่ผู้ปกครองทั้งหลายท่านต้องสอนตัวเองให้ได้ 100% ให้สมกับได้รับนิตยภัต อย่าพากันโง่งมงายพากันขับรถ ต้องพากันหยุดกินโต๊ะกัน กินโต๊ะคือรับไทยทานจากประชาชนแล้วไม่ทำตนให้เป็นประโยชน์ เวลาไปตรวจงานคณะสงฆ์ก็พากันรุมกินโต๊ะกัน พากันไม่ฉันในบาตร อย่าไปคิดว่าจะไปหาเงินที่ไหนจะได้เยอะ อย่างนี้เป็นต้น
ผู้ที่เสียสละคือพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าคือพระธรรมพระวินัย คือผู้ที่เสียสละ ถ้าเป็นนักปกครองก็ต้องประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างแบบอย่าง ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่สมควรที่จะเป็น พูดแบบนี้ก็ไม่ได้แรงเกินไป ทุกท่านทุกคนต้องมีจิตสำนึกนะ อย่าให้ประเทศเรามีแต่พระเอาไว้สวดผีอย่างเดียว พวกคุณเจ้าทั้งหลายจะพากันเป็นสีเทาสีดำ จะมาขับรถมาลงอุโบสถอย่างนี้ มันจะเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง ที่พระพุทธเจ้าให้พระภิกษุลงอุโบสถฟังพระปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนนี้ ก็เพื่อจะได้เป็นหลักการไว้เพื่อจะได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ จะเอาแต่เรื่องจิตเรื่องใจนี้มันไม่ได้ เอย่างสีจีวรก็ต้องให้ได้มาตรฐาน มีแก่นขนุนอย่างนี้เป็นต้น เดี๋ยวนี้ประเทศไทยก็หลายสีแล้ว ต้องเอาตามพระธรรมพระวินัย ถ้าพวกเราทำไม่ถูกต้องก็ไม่สมควรที่จะบริโภคปัจจัยสี่ของศรัทธาประชาชน อย่าพากันไปดูถูกประชาชนว่าไม่รู้พระวินัยของพระ เราอย่าพากันไปคิดอย่างนั้น เพราะเดี๋ยวนี้สื่อโซเชียลมันทั่วถึงกันหมด
ความไม่ละอายชั่วกลัวบาป มันปรุงแต่งขึ้นที่ใจของเรา ที่เราทุกคน มีความยึดมั่นถือมั่น เป็นระบบครอบครัว ระบบครอบครัวก็คือห่วงโซ่แห่งการเวียนว่ายตายเกิดทางจิตใจ ทุกคนอยากเป็นคนละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป แต่แล้วทุกคนก็พากันทำไม่ได้ ก็เพราะมาจากสาเหตุที่มีความยึดมั่นถือมั่นในกาม อะไรคือกาม? ความรู้สึกที่เป็นเราเป็นของเรา เป็นพ่อแม่ญาติพี่น้อง ชาติตระกูลวงศ์ตระกูลของเรา ทุกอย่างก็เลยเป็นขบวนไปหมด เพราะเมื่อมีเรามีเขา มีของเราของเขา เมื่อสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่เรียกว่าผัสสะ เมื่อมีผัสสะต่างๆ เราอาศัยกรรมเก่า การกระทำเก่าๆ ที่เราเคยชิน เราก็เลยวิ่งตามผัสสะไปหมด คนที่วิ่งตามผัสสะไปหมดแสดงถึงว่า เป็นผู้ไม่มีสติสัมปชัญญะ สิ่งที่จะหยุดกรรมตัวนี้ได้ สติสัมปชัญญะคือตัวปัญญาของเราจึงสำคัญมาก จะหยุดกระแสกรรมได้ ต้องเป็นคนละอายชั่วกลัวต่อบาป ความละอายชั่วกลัวต่อบาป จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เป็นเทวธรรม การบรรลุธรรมเอาใจบรรลุ ไม่ได้เอากายบรรลุ เมื่อเราไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาปจะมีใครได้บรรลุ มิเช่นนั้นผู้เรียนจบ การศึกษาสูงๆ จบพระไตรปิฎกจบเปรียญ 9 คงบรรลุธรรมกันหมดแล้ว
พระพุทธเจ้าถึงให้เราสมาทานเลย ศีลนี้คือการรู้ เข้าใจแล้ว สมาทานเลย ปักธงชัยไว้เลย ว่าอันไหนไม่ดี ก็ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ เป็นคนละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ศีลในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่กฎหมายบ้านเมือง แต่เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องพระนิพพาน เป็นเรื่องของความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ทำไมล่ะ ผู้ที่ต้องอาบัติปาราชิกถึงห้ามมรรคผลนิพพาน ทำไมผู้ที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถึงห้ามมรรคผลนิพพาน ถ้าไม่เข้าปริวาสกรรม ออกอัพภานตามธรรมวินัยที่ถูกต้อง สาเหตุเพราะจิตใจมันยาว มันสกปรก ไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป เป็นจิตที่เหมือนเมล็ดพันธุ์ ที่ถูกทำลายไม่สามารถจะนำไปปลูกให้งอกเงยขึ้นมาได้ สาเหตุก็เพราะไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป อาบัติสังฆาทิเสสก็เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ถูกทำลาย แต่ก็พอที่จะเยียวยาได้ ด้วยการดูแลด้วยวิธีที่ถูกต้อง ให้น้ำให้ปุ๋ยให้แสงแดดให้อากาศ เพื่อปรับสภาพใหม่ ผู้เป็นอาบัติสังฆาทิเสสต้องละความยินดีและความพอใจได้อย่างเด็ดขาด เป็นคนละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป อย่าได้มองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดานะ แต่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องเสียหาย จึงต้องเป็นผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ไม่หลงเหยื่อ ไม่หลงนิมิต ไม่กล้าคิดอย่างนั้นอีก เป็นคนละอายชั่วกลัวบาป อย่างนี้ถึงจะออกจากกรรม ถึงจะตัดกรรมได้
ทุกคนต้องรู้ว่าพระธรรมวินัยเป็นสิ่งสำคัญ เป็นโครงสร้างเป็นทางเดินที่หยุดวัฏสงสาร ทุกท่านทุกคนพากันพิจารณาตัวเอง นั่งพิจารณาตัวเองว่า ทำไมตัวเองย่ออ่อนแอ ทุกคนอย่ามาหากินหาอยู่แบบลอยๆ ที่บวชไม่สึกมาอยู่ลอยๆ ไปวันๆ ทุกท่านทุกคนให้พากันมีธรรมวินัยเต็มที่ อย่ามีโลกส่วนตัว ที่จะจัดการได้คือตัวเราเองนี่แหละ ต้องหยุดตัวเอง การหยุดตัวเองคือการอบรมบ่มอินทรีย์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นพอดีอยู่แล้ว จะตัดก็ไม่ได้ จะเพิ่มก็ไม่ได้ ให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เป็นการเดินทางสายกลาง เป็นการปฏิบัติบูชา
เรามาบวชเป็นพระภิกษุก็เพื่อที่จะวิเวก คือออกจากกาม ออกจากพยาบาท การบวชกายน่ะ มันเป็นของง่าย แต่บวชใจนี้เป็นของยาก ต้องมีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ที่เราพากันบวชอยู่นี้เราบวชแต่ทางกายแต่ใจเรายังไม่ได้บวชนะ พระพุทธเจ้าทรงอุปมา เหมือนไม้สด ที่แช่อยู่ในน้ำ ไม่สามารถที่จะก่อไฟ ให้ติดไฟได้ เพราะไม้สดและยังแช่อยู่ในน้ำอีกจะติดไฟได้อย่างไร ข้อนี้ฉันใด อย่างผู้ที่มีภรรยา มีสามีก็ไม่สามารถเป็นพระอนาคามีเป็นพระอรหันต์ได้ฉันนั้น
เป้าหมายของการบวชตามพระพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้า ท่านให้เราทุกคนมุ่งมรรคผลพระนิพพาน เน้นทางจิตทางใจ วิเวกกายวาจาและเน้นที่จิตใจ ความทุกข์ของผู้ปฏิบัติไม่มีนะ ถ้าเรามีฉันทะในใจ เพราะเราได้คิดถูกต้องแล้ว ทำถูกต้องแล้ว ปฏิบัติถูกต้องแล้ว เราทุกคนย่อมจะมีแต่ความสุขทางจิตใจ ที่ไม่มีความสุขเพราะ มีความเห็นผิดเข้าใจผิด เพราะยังยินดีในกาม ในอัตตาตัวตนทุกอย่าง ทุกอย่างที่เราหลงที่พอใจเป็นกาม เช่น พอใจในรูปสวยๆ จะเป็นรูปอะไรก็แล้วแต่ถือว่าเป็นกาม ยินดีในเสียงเพราะๆ ตลอดจนถึงกลิ่นหอมต่างๆ พอใจในการทานอาหารรสอร่อย ยินดีในโผฏฐัพพะ ที่สัมผัสเย็นร้อน
อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้ยินดีพอใจปลื้มใจถือว่าเป็นกามทั้งหมด ถามว่า เราทุกคนมีตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกคนก็ต้องบริโภคตามกันทุกคน ทุกคนเกิดมาก็ต้องบริโภคตามกันทั้งหมด ตามระดับภาวะ ตามระดับศีลของตนเอง พระพุทธเจ้าให้บริโภคด้วยปัญญา เมื่อบริโภคแล้วเราต้องเสียสละ อย่างตาเราเห็นรูปก็ต้องเสียสละ ไม่ต้องไปยินดียินร้าย หากได้ยินเสียงเราก็ต้องเสียสละอย่าไปยินดียินร้าย ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระพาหิยะว่า “พาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์ที่ได้รับรู้ ก็สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง พาหิยะ เธอพึงรักษาอย่างนี้แล เมื่อใด เธอเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์ที่ได้รับรู้ก็สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง เมื่อนั้น เธอก็จะไม่มี เมื่อใด เธอไม่มี เมื่อนั้น เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น เมื่อใด เธอไม่ยึดติดในสิ่งนั้น เมื่อนั้น เธอจักไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์”
เพราะผัสสะทั้งหลายทั้งปวงทำให้เราได้เกิดปัญญาได้ปฏิบัติธรรม ถ้าเราไม่เสียสละจะมีปัญหาทันที อุเบกขาที่สัมมาสมาธิ ใจต้องเข้มแข็งต้องเสียสละเพื่อใจจะได้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ใจทุกคนต้องเข้มแข็งนะ ถ้าใจไม่เข้มแข็งใจของเราจะไม่มีความวิเวกเลย ทั้งพระภิกษุประชาชนคนทั้งโลก มักไม่ค่อยพากันประพฤติปฏิบัติธรรมเลยนะ แต่กลับพากันยินดีในกามหลงในกาม ไม่เสียสละ เราต้องมาเสียสละ เพื่อให้เป็นทางสายกลาง ตรงสู่พระนิพพาน
ใจของเรามันหลง เพราะของมันอร่อย ทุกคนพากันหลงหมด อร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันหลงไปหมด ทำไมมันถึงลงอย่างนี้ เพราะว่ามันไม่มีปัญญา เมื่อคนเรามันหลงแล้ว ไม่มีปัญญาหรอก เราต้องเข้าสู่การประพฤติปฏิบัติด้วยความเสียสละ ปรารภความเพียร เผากิเลสให้เร่าร้อน ตัดรากถอนโคนด้วยวิปัสสนาปัญญา
เราจะมาเอาอะไรกับของไม่เที่ยงแท้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การเวียนว่ายตายเกิดมันเป็นสิ่งที่ยากมันมีภาระนักหนา เราต้องรู้จักใจรู้จักอารมณ์ของเรา รู้จักว่าเราต้องปฏิบัติ ต้องเสียสละ ด้วยไม่คิดไม่พูด ไม่กระทำ เป็นบุคคลที่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป บาปก็คือเห็นผิดเข้าใจผิด หลงยึดหลงติด ติดยังไงล่ะ? ก็เหมือนติดยาเสพติด ติดเหล้าติดเบียร์ ติดภรรยาสามีลูกหลาน ก็ติดอันเดียวกัน ติดหนี้ติดสิน ก็ติดอันเดียวกัน ถ้าเราไม่มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ชีวิตของเราชื่อว่าเป็นตาลยอดด้วนนะ ถ้าใครไม่ละอายต่อบาปยังกล้าคิด ยังยินดีในกามคุณ ยังยินดีในความร่ำรวย ในลาภยศสรรเสริญ อย่างนี้เรียกว่าไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป
ต้องมาเพิ่มความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอย่าไปคิดว่า จะไปเอาอะไรกันนักหนา จะไปจริงจังอะไรนักหนา จะไปเคร่งครัดอะไรนักหนา คิดแบบนี้คือคนไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป ความไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ย่อหย่อนอ่อนแอ ตามใจตามอารมณ์ก็คือกามสุขัลลิกานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ติดสุขติดสบาย มุ่งเน้นไปแต่ในทางกามคุณกามสุข
ถ้าเราตั้งใจแล้ว เราต้องสู้ให้ชนะทุกไฟท์ไปนะ ปัจจุบันที่เกิดขึ้นให้เราได้ไฟท์ ให้เราได้สู้ ต่อสู้กับกิเลส ได้ประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เราบวชมาเพื่อเอาพระศาสนาทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ให้บวชมาเพื่อมาเอาพระศาสนาไปสู่มรรคผลพระนิพพาน ทุกท่านต้องปรับใจตนเอง เข้าสู่การประพฤติพรหมจรรย์ คือใจที่ประเสริฐละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ยินดีในการประพฤติปฏิบัติธรรม พระภิกษุเราต้องเข้มแข็งถ้าไม่เข้มแข็ง นี่เสียหาย เพราะจิตใจแช่อยู่ในกาม หมกอยู่ในกาม เราต้องมาเบรกตนเองด้วย ความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เห็นภัยในวัฏสงสาร
ตัวอย่าง เรื่องอัคคิขันโธปมสูตร สมัยหนึ่ง พระศาสดาเสด็จจาริกไปในแคว้นชนบท ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้มีโพลงต้นใหญ่ระหว่างทาง ถูกเพลิงไหม้ลุกโพลงโชติช่วงอยู่ มีพระประสงค์จะแสดงธรรมเปรียบเทียบกองเพลิง จึงแวะลงประทับ ณ โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง เหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาออกชี้ไปทางต้นไม้ที่ไฟกำลังไหม้โชติช่วงอยู่ แล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า "ภิกษุทั้งหลายเธอเห็นต้นไม้ที่ไฟกำลังไหม้ลุกโพลงนั้นอยู่หรือไม่"
เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า "เห็นพระเจ้าข้า" แล้วพระศาสดาจึงตรัสให้ภิกษุสังเวชใจเป็นทำนองว่า การที่ภิกษุทุศีล มีธรรมทราม มิใช่สมณะปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ จึงพึงเข้าไปนั่งกอด นอนกอดกองเพลิงย่อมประเสริฐกว่าการรับบิณฑบาต จีวร เสนาสนะ และยารักษาโรคที่ชาวบ้านเขาให้ด้วยศรัทธา การเป็นผู้ทุศีล มีธรรมทรามเช่นนั้น แล้วอาศัยปัจจัย ๔ ของทายกอยู่ไม่เป็นการประเสริฐเลย ดังนี้ เป็นต้น
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังแล้ว พวกที่มีศีลบริสุทธิ์พิจารณาเห็นตนหมดมลทินในเรื่องศีลเกิดปีติปราโมชได้บรรลุเป็นอรหันตผล พวกภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกเกิดความร้อนใจร้อนกายจนมีโลหิตไหลออกจากปาก พวกภิกษุที่ประพฤติตนย่ำยีสิกขาบทเล็กน้อยก็พากันร้อนใจ เห็นว่าการประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงในธรรมวินัยนี้เป็นของยากยิ่ง จึงชวนกันสึก
เทศนากัณฑ์นี้ของพระศาสดามีผลแก่ภิกษุทั้ง ๓ พวก มีคำถามว่า เทศนานี้มีประโยชน์แก่ภิกษุผู้บรรลุอรหัตตผลนั้น เข้าใจได้ง่าย แต่สำเร็จประโยชน์แก่ภิกษุอีก ๒ จำพวกอย่างไร
กลุ่มที่สอง ท่านพิจารณาแล้วว่า ที่กระอักเลือดก็เพราะ พระกลุ่มนี้ ต้องอาบัติปาราชิก (ถึงแม้ว่ากระอักเลือดก็ไม่ใช่ว่าจะตาย) และกลุ่มนี้หลังจากกระอักเลือดแล้วก็จะลาสิกขา (ปาราชิกคือพ้นจากความเป็นพระตั้งแต่ทำแล้ว แต่ยังใส่ผ้าเหลืองอยู่) และหลังจากลาสิกขาแล้ว พวกที่เคยปาราชิกบางคนสำนึกผิด แม้ว่าไม่สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้อีกก็จริง แต่สามารถบวชเป็นสามเณรถือศีล 10 และปฏิบัติธรรมก็มีสิทธิ์ไปสวรรค์หรือบรรลุธรรมถึงขั้นโสดาบัน, สกทาคามี, หรืออนาคามีได้ แต่ถ้าพระกลุ่มนี้ไม่ได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าเทศน์ ก็จะยังห่มผ้าเหลืองทั้งๆ ที่ต้องอาบัติปาราชิก ก็จะทำให้เป็นบาปกรรม และตกนรก ถ้าพอฟังแล้วก็จะละฐานะความเป็นภิกษุไม่ให้ศาสนามัวหมอง และหลังจากนั้นก็ปฏิบัติธรรมยังพอไปดีได้บ้าง
ส่วนกลุ่มที่สาม ที่สึกออกไปเพราะว่า ล่วงละเมิดสิกขาบทเล็กน้อยต่างๆ เวลาฟังธรรมก็เกิดความเร่าร้อนในกายในใจ (ที่เรียกกันว่าผ้าเหลืองร้อน) เลยเห็นว่าบวชพระเป็นของยาก เรื่องระเบียบวินัยจุกจิกเยอะไม่สามารถรักษาได้ ก็สึกไปเป็นฆราวาสรักษาศีล 5 และปฏิบัติธรรม ก็มีสิทธิ์ไปสวรรค์ หรือบรรลุธรรมถึงขั้นโสดาบัน,สกทาคามี, หรืออนาคามีได้เช่นกัน แต่ถ้าพระกลุ่มนี้ไม่ได้ฟังธรรม ก็จะมีความประมาท และในอนาคตก็ไม่พ้นต้องอาบัติใหญ่ๆ เช่น สังฆาทิเสส หรือ ปาราชิกต่อไป สู้สึกไปเป็นฆราวาสแล้วปฏิบัติธรรมยังพอเอาดีได้บ้าง
นี่ขนาดฟังพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าแท้ๆ นะ แต่ก็เพราะใจยังบริโภคกาม ยินดีพอใจในกาม จึงถึงกับกระอักเลือด สู้ไม่ได้ไปไม่ไหว อย่างที่ว่าสึกไป ก็เหมือนกับคนที่บวชมาแต่ทางกาย แต่ใจไม่ได้บวช ก็เหมือนกับสึก นั่นแหละ ถึงกายจะครองผ้ากาสาวพัสตร์ก็ตาม แต่ใจนั้นนุ่งห่มชุดฆราวาส ใจเลยสึกใจลาสิกขาไปเรียบร้อยแล้ว ผู้ไม่เอามรรคผลนิพพานชื่อว่าใจลาสิกขานะ เราต้องน้อมมาพิจารณาใจตนเองว่ากำลังบวชอยู่ หรือว่าใจได้ลาสิกขาไปเรียบร้อยแล้ว ผู้มาบวชคือมารักษาสิกขาบทน้อยใหญ่ ไม่ตามใจตนเอง ตามอารมณ์ตนเอง ตามความรู้สึกของตนเอง เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรม คือผู้ที่บวชทั้งกายบวชทั้งใจ พระเก่าพระใหม่ต้องพากันเพิ่มความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เพราะความไม่ละอายชั่วกลัวบาปห้ามมรรคผลพระนิพพาน เป็นเรื่องของจิตใจทั้งหมด ดังนั้นใจของเราต้องได้บวช อย่าให้ใจล่องลอยเป็นสัมภเวสี
ทุกท่านต้องพากันสำรวจดูตนเองนะ ผู้ที่บวชมาเป็นพระภิกษุ ว่าเราเป็นคนละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปแล้วหรือยัง? เมื่อเรายังยินดีในกามพอใจในกาม เราจะเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสารได้อย่างไร ทุกอย่างที่ผ่านๆมา หากมันเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เมื่อท่านได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้มาบอกมากล่าว มาให้สติ มาให้แสงสว่าง ต้องตั้งใจให้ดี ตั้งใจให้มั่นคง ไม่ใช่ยิ่งหน้าด้าน หน้ามึนหน้างงไปเรื่อยๆ อย่างนี้มันไม่ใช่มหาโจรธรรมดาแล้วนะ
ผิดต้องเป็นครู ผิดต้องเป็นอาจารย์ ที่จะต้องมาแก้ไข ไม่มีใครเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์มาก่อนเป็นมาแต่เกิด ท่านผู้ประเสริฐเหล่านั้นก็มาจากปุถุชน พัฒนาตนเป็นกัลยาณปุถุชน ผู้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป
แต่นี่บางคนไม่มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ยังไปเลียนแบบพระพุทธเจ้า เลียนแบบพระอรหันต์ เลียนแบบสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของพระพุทธเจ้า เลียนแบบยังไง? คือปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แต่ใจไม่ได้เป็นพระ ไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ประกาศแต่เดรัจฉานวิชา ที่พระพุทธเจ้ามิได้สั่งสอน แต่ไปดื้อรั้นทำกันทั้งบ้านทั้งเมือง อย่างนี้คือเลียนแบบเพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวตนเองและพวกพ้องอย่างน่าเกลียด แบบนี้มันช่างน่าสลด สังเวชใจ น่ารังเกียจเดียดฉันท์อย่างที่สุด มันน่าเปิดจีวรเตะก้น เตะความละอายชั่วกลัวบาปออกไปให้หมด เตะเอาสันดานกาออกไปให้หมด
สันดานกา ที่เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ คือ อย่างไร? สมัยเมื่อเรียนไวยากรณ์บาลี เมื่อถึงเรื่องสมาส ก็จะเริ่มรู้จักคำว่า กากสูโร เพราะมีอยู่ในแบบเรียน... กากัสส สูโร อิวะ สูโร ยัสสะ โส กากสูโร (ชโน) = อันว่าความกล้า ของคนใด เพียงดังความกล้า แห่งกา อันว่าคนนั้น ชื่อว่า กากสูโร (มีความกล้าเพียงดังความกล้าแห่งกา) ตามคำว่า กากสูโร นี้ จะเห็นได้ว่า นอกจากจะใช้กับกาจริงๆ แล้ว บางครั้งก็นำพฤติกรรมของกาบางอย่างมาเปรียบเทียบกับคน... และพระพุทธเจ้าทรงนำมาเปรียบเทียบกับภิกษุอลัชชีบางรูปที่มีพฤติกรรมอย่างนั้น... และเมื่อคำนี้ตกมาสู่วัฒนธรรมภาษาไทยก็ได้รับการเรียกชื่อใหม่ว่า (ภิกษุ) สันดานกา ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายกว่า....
“ภิกษุทั้งหลาย กาเป็นสัตว์ประกอบด้วยความเลวสิบประการ” สิบประการเป็นไฉน? สิบประการคือ ๑. กาเป็นสัตว์ทำลายความดี ๒. กาเป็นสัตว์คะนอง ๓. กาเป็นสัตว์ทะเยอทะยาน ๔. กาเป็นสัตว์กินจุ ๕. กาเป็นสัตว์หยาบคาย ๖. กาเป็นสัตว์ไม่กรุณาปรานี ๗. กาเป็นสัตว์ทุรพล ๘. กาเป็นสัตว์เสียงอึง ๙. กาเป็นสัตว์ปล่อยสติ ๑๐. กาเป็นสัตว์สะสมของกิน
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุลามกก็เป็นเช่นเดียวกับกานั่นแหละ เป็นคนประกอบด้วยอสัทธรรมสิบประการ สิบประการเป็นไฉน? สิบประการคือ ๑. ภิกษุลามกเป็นคนทำลายความดี ๒. ภิกษุลามกเป็นคนคะนอง ๓. ภิกษุลามกเป็นคนทะเยอทะยาน ๔. ภิกษุลามกเป็นคนกินจุ ๕. ภิกษุลามกเป็นคนหยาบคาย ๖. ภิกษุลามกเป็นคนไม่กรุณาปรานี ๗. ภิกษุลามกเป็นคนทุรพล ๘. ภิกษุลามกเป็นคนร้องเสียงอึง ๙. ภิกษุลามกเป็นคนปล่อยสติ ๑๐. ภิกษุลามกเป็นคนสะสมของกิน
โดยนัยแห่งพฤติกรรมของนกกา สิบประการดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าล้วนแล้วแต่เป็นความเลวที่ไม่เหมาะไม่ควรที่คนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนมีศีล เช่น ภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่ควรประพฤติ ไม่ควรปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริง ความเป็นปุถุชนคนมีกิเลส ถึงแม้ว่าจะมาบวชถือศีล ๒๒๗ ข้อแล้วก็ยังมีภิกษุบางรูปในครั้งพุทธกาลมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่พระภิกษุที่เข้ามาบวชเพื่อการทำความดี โดยมุ่งความหลุดพ้น ควรงดเว้นอสัทธรรม ๑๐ ประการ อันเป็นพฤติกรรมของกาดังกล่าว
คนไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปเรียกว่าคนไม่มีศักดิ์ศรีนะ อยู่ก็อยู่แบบไม่มีศักดิ์ศรีนะ ถ้าไม่มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป น่าจะสึกออกไป อย่าพากันมาบวชให้เสียเวลา จะได้ประโยชน์กว่า จะได้ทำให้พระศาสนาสูงขึ้น ไม่หนักพระศาสนาอีกต่อไป เพราะบวชไปก็ไม่ได้มรรคผลนิพพานอะไร ผู้ไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปจึงเป็นผู้ทำลายพระศาสนาให้เสื่อมสิ้นไปของจริง เราไปมองแต่ภัยคุกคามภายนอกของต่างศาสนา ทั้งที่จริงภัยภายในคือนักบวชผู้ไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปที่เป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงยิ่งกว่าภัยไหนๆ ที่จะทำให้พระศาสนาเสื่อมสิ้นไปชาวพุทธทุกท่านต้องรู้จักภัยภายในข้อนี้ให้มากๆ นี่แหละคืออันตรายของพระศาสนาที่แท้จริง ให้ทุกท่านทุกคนพากันรู้จักตามนี้
เราต้องกลับมาหาตนเอง มาหยุดตนเอง หยุดการทำบาปทั้งปวง อย่าเป็นแค่นักปรัชญา รู้แล้วไม่ปฏิบัติ คือไม่ละอายชั่วกลัวบาป นี่แหละคือ อลัชชี คือ ยังมีโจรในใจ ยังเป็นโจรที่แท้จริง ปฏิปทาเราต้องประพฤติปฏิบัติให้สม่ำเสมอด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ เราต้องยืนหยัดหนักแน่นตั้งมั่นในปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจอย่างนี้ ให้คิดอย่างนี้ว่าเราคือผู้ที่ประเสริฐ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งที่สุดยอดคือ มรรค ผล พระนิพพาน เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติ เพื่อมาทำสิ่งที่สุดยอด คือพระนิพพานให้เกิดขึ้นในใจให้ได้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee