แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่องเข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๔ มีสติสัมปชัญญะเจริญวิปัสสนาภาวนา อันเป็นมรรคาสู่ความดับทุกข์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เมื่อเรามีความเห็นถูกข้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องกลับมาหาสติกลับมาหาสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในปัจจุบัน ทุกท่านก็จะพากันสงบ โดยเพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี เมื่อมันสงบแล้ว ทุกท่านทุกคนถึงรู้จักความสงบเกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย เกิดจากความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติถูกต้อง แล้วเราก็กลับมาหาสติสัมปชัญญะ เราทุกคนก็จะสงบ เพราะชีวิตของเราน่ะอยู่ในปัจจุบัน มันก็จะเป็นขณิกสมาธิไปในตัวโดยอัตโนมัติ ถ้าเราเข้าไปอีกเราก็จะได้วิตกวิจารว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นที่เหตุจะดับก็ต้องดับที่เหตุ เรามีความเห็นถูกข้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ใจของเราจะประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา เรียกว่าธรรมะวิจาร เป็นธรรมะพื้นฐานที่เราต้องใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกๆ อิริยาบถ
พระพุทธเจ้าไม่ให้เราติดในความสุขความสงบ เพราะอันนี้ถือว่ามันเป็นความสงบอยู่ ยังไม่ใช่เป็นพระอริยเจ้า พระพุทธเจ้าถึงให้พิจารณากายสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาเวทนาสู่พระไตรลักษณ์ เราจะมาหลงมาติดไม่ได้ สงบแล้วมันก็จะติด หลายๆวัน หลายๆเดือน เราก็จะเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่ภาวนาให้เกิดพระไตรลักษณ์ เมื่อท่านไหนไม่พิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ ท่านเจอรูป เจอเสียง เจอโลกธรรมต่างๆ เหมือนถูกฟ้าผ่าน่ะ ผู้ที่มองดูประชาชนได้เต็มตา มองอะไรได้เต็มตาก็คือพระอรหันต์น่ะ หรือพระพุทธเจ้าท่านมองอะไรไปอย่างนี้ท่านจะไม่ถูกฟ้าผ่า เพราะท่านได้เจริญปัญญาวิปัสสนา ถ้าเรายังติดสุขติดสบาย ความลึกๆ ในใจของเราถือว่าเรายังมีโมหะอยู่ จิตใจของเราก็ถือว่ายังอยู่ในอาบัติ ทำไมอาบัติ เพราะท่านยังไม่ได้เข้าถึงขั้นภาวนาวิปัสสนา ใจของท่านก็ยังมีความยินดีมีความหลงอยู่ เพราะว่าท่านยังเป็นเสขบุคคลอยู่ ยังต้องภาวนาเข้าสู่วิปัสสนา ท่านถึงไม่ควรจะสงบอยู่หลงอยู่แค่มีความสุขมีสติมีสัมปชัญญะ ท่านต้องฝึกต้องยกใจของท่านออกจากความสุขออกจากความขี้เกียจขี้คร้าน จิตใจของเราที่เรามีสัมปชัญญะ เราก็มาหาตัวเราจะมีความสงบมีความวิเวกอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่เมื่อท่านมาติดอยู่ในความสุขอย่างนี้ ไม่ได้พิจารณาเข้าสู่พระไตรลักษณ์ ท่านจะไม่สามารถมองดูทุกสิ่งทุกอย่างได้ ท่านทำภาวนาวิปัสสนาก็ต้องภาวนาติดต่อต่อเนื่องกัน มันถึงจะให้ผล ถ้างั้นใจของท่านจะมีตัวมีตน มีผู้หญิงผู้ชาย มีช้ามีเร็ว มันยังไม่เข้าถึงพระอริยเจ้า เหมือนกับ ฤาษี ชีไพร ที่เขาหลงอยู่ในความสงบแต่ไม่ได้ภาวนาวิปัสสนา ไม่ได้เข้าถึงพระอริยะเจ้า ถ้าพระท่านทำอย่างนี้ๆ ปฏิบัติอย่างนี้ๆ จิตใจมันถึงจะก้าวหน้าได้ เพราะสมาธิที่เรากลับมาสติสัมปชัญญะ เราก็ถือว่าเป็นต้นทาง เป็นเพียงสมถะ การภาวนาวิปัสสนาถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราต้องมีความสงบเป็นพื้นฐาน ถ้าอย่างนี้มันถึงจะเกิดญาณ ตั้งแต่ 1 จนถึง 16 ผู้ปฏิบัติถึงมีจะปัญญา พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ที่พาเราเข้ามาหาสติสัมปชัญญะ มันจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เราได้มาบวช เป็นการปฏิบัติบูชา เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติในปัจจุบัน ปัจจุบันนี้เรายังเป็นเสขบุคคล บุคคลที่ยังต้องประพฤติต้องปฏิบัติ เพื่อให้ถึงวิมุตติหลุดพ้น พระอรหันต์ท่านเรียกว่าอเสขบุคคล งานของท่านก็มีแต่งานช่วยเหลือบุคคลอื่น เพราะท่านช่วยเหลือตัวเองให้รอดปลอดภัยจากการเวียนว่ายตายเกิดได้แล้ว ท่านไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึกของตัวเอง ไม่ทำตามสิ่งแวดล้อมแล้ว สลัดเสียซึ่งตัวซึ่งตนแล้ว ท่านเป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว ท่านไม่หลงไม่เพลิดเพลินอย่างนี้แหละ ทุกคนต้องเข้าใจอย่างนี้ รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ เราตามอารมณ์ตามความรู้สึกของตัวเอง ตามสิ่งแวดล้อม เขาเรียกว่าทุกข์ เราหยุด เราไม่ตาม เราไม่ปรุง เราไม่แต่ง นี่คือการรู้จักความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ เน้นที่ปัจจุบัน เริ่มต้นหายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย
ข้อวัตรกิจวัตรต่างๆ นั้น คือความสุขความดับทุกข์ ทุกคนอย่าไปขี้เกียจขี้คร้าน ความขี้เกียจขี้คร้านคือความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนั้นน่ะ มันทำให้เรามีปัญหา เราทุกคนต้องมาเสียสละ เข้ามาสู่พรหมจรรย์ คือการเข้ามาสู่การบวช การอบรมบ่มอินทรีย์ พระพุทธเจ้าก็ทรงทำให้เราดูเป็นตัวอย่าง พระอรหันต์ก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เราต้องเดินตามพระพุทธเจ้า เดินตามพระอรหันต์ เพราะทุกคนต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ถึงแม้เราจะบวชเพียงวันเดียวหรือไม่กี่วัน ก็ไม่เป็นไร ถ้าเราอบรมบ่มอินทรีย์สร้างบารมีอย่างนี้ติดต่อกันไป อย่างนี้ก็ดีมาก เราจะได้เจริญสติปัฏฐานธรรม อยู่ในอิริยาบถทั้ง 4 ยืนเดินนั่งนอน เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เป็นสติปัฏฐานภาวนา
ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา ถึงสุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก เมื่อเดินไปก็รู้โดยแท้ว่า เรากำลังเดิน แต่การรู้นั่น พระองค์มิได้ตรัสหมายเอาการรู้แบบนี้ เพราะว่าการรู้แบบนี้ ละสัตตูปลัทธิ (การยึดถือว่าเป็นสัตว์) ไม่ได้ ถอนอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นอัตตา) ไม่ออก ไม่เป็นกรรมฐาน หรือสติปัฏฐานภาวนา แต่การรู้ของภิกษุนี้ ละสัตตูลัทธิได้ ถอนอัตตสัญญาได้ เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสติปัฏฐานภาวนา
“เอกายโน อะยัง ภิกขะเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา โสกะปะริเทวานัง สะมะติกกะมายะ ทุกขะโทมนัสสานัง อัตถังคะมายะ ญายัสสะ อธิคะมายะ นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ ยะทิทัง จัตตาโร สะติปัฏฐานา ฯ
"ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและความร่ำไรรำพัน เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม (อริยมรรค) เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน ทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ"
มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นหัวใจของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน พระบรมศาสดาทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ขณะประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธัมมะ แคว้นกุรุ โดยทรงปรารภพุทธบริษัทชาวกัมมาสธัมมนิคมว่า มีความสนใจในการเจริญสติปัฏฐานกันอย่างมาก แม้พวกทาส กรรมกร และบริวารชนก็พูดกันแต่เรื่องสติปัฏฐาน
เล่ากันว่า ชาวแคว้นกุรุ ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี และอุบาสก อุบาสิกา มีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์อยู่เป็นนิจ ด้วยเสพปัจจัย คือฤดูเป็นที่สบาย เพราะแคว้นนั้น สมบูรณ์ด้วยสัปปายะ มีอุตุสัปปายะเป็นต้น ชาวกุรุนั้น มีกำลัง ปัญญาอันร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์อุดหนุนแล้ว จึงสามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งนี้ได้ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงเห็นความเป็นผู้สามารถรับเทศนาที่ลึกซึ้งอันนี้ได้ จึงตรัสมหาสติปัฏฐานสูตรที่มีอรรถอันลึกซึ้งนี้ แก่ชาวกุรุเหล่านั้น เปรียบเสมือน บุรุษได้ผอบทองแล้ว พึงบรรจงใส่ดอกไม้นานาชนิดลงในผอบทองนั้น หรือว่า บุรุษได้หีบทองแล้ว พึงใส่รตนะ ๗ ลงฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ทรงได้บริษัทชาวกุรุแล้ว จึงทรงวางเทศนาที่ลึกซึ้ง
ด้วยเหตุนั้นแล ในข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพระสูตรอื่นๆ อีก มีอรรถอันลึกซึ้งในคัมภีร์ทีฆนิกายนี้ ก็คือมหาสติปัฏฐานสูตร ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ก็คือ สติปัฏฐานสูตร สาโรปมสูตร รุกโขปมสูตร รัฏฐปาลสูตร มาคัณฑิยสูตร อาเนญชสัปปายสูตร อนึ่ง บริษัท ๔ ในแคว้นกุรุนั้น ต่างประกอบเนืองๆ ในการเจริญสติปัฏฐานอยู่โดยปกติ โดยที่สุด คนรับใช้ และคนงานทั้งหลาย ก็พูดกันแต่เรื่องที่เกี่ยวด้วยสติปัฏฐานกันทั้งนั้น แม้แต่ในที่ท่าน้ำ ที่กรอด้ายเป็นต้น ก็ไม่มีการพูดกันถึงเรื่องที่ไร้ประโยชน์เลย
ถ้าสตรีบางท่านถูกถามว่า "คุณแม่จ๊ะ คุณแม่ใสใจสติปัฎฐานข้อไหน" ถ้าหากนางไม่ตอบว่าอะไร ชาวกุรุจะติเตียนเขาว่า "น่าตำหนิชีวิตของเจ้าจริงๆ เจ้าถึงเป็นอยู่ ก็เหมือนตายแล้ว" ต่อนั้นก็จะสอนเขาว่า "อย่าทำอย่างนี้อีกต่อไปนะ" แล้วให้เขาเรียนสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง แต่สตรี ผู้ใดพูดว่า "ดิฉันใส่ใจสติปัฏฐานข้อโน้นค่ะ" ชาวกุรุก็จะกล่าวรับรองว่า "สาธุ สาธุ" แก่นาง และสรรเสริญด้วยถ้อยคำต่างๆ เป็นต้นว่า "ชีวิตของเจ้าเป็นชีวิตดี สมกับที่เจ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติมาเพื่อประโยชน์แก่เจ้าแท้ๆ..."
ในข้อนี้ มิใช่ชาวกุรุที่เกิดมาเป็นมนุษย์ประกอบด้วยการใส่ใจสติปัฏฐานแต่พวกเดียวเท่านั้น แม้แต่สัตว์ดิรัจฉาน ที่อาศัยชาวกุรุอยู่ก็ใส่ใจ เจริญสติปัฏฐานด้วยเหมือนกัน
สุมังคลวิลาสินีอธิบาย เพิ่มเติมถึงเหตุผลที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงมหาสติปัฏฐานสูตรแก่พุทธบริษัทชาวกุรุว่าเป็นเพราะพุทธบริษัทเหล่านั้นสามารถฟังพระธรรมเทศนาที่ลึกซึ้งได้ เนื่องจากแคว้นกุรุเป็นแคว้นที่อุดมสมบูรณ์มีภูมิอากาศที่ดีไม่หนาวเกินไปไม่ร้อนเกินไป ชาวแคว้นกุรุจึงสามารถตั้งสติพิจารณาเรื่องที่ลึกซึ้งได้ดี โดยเฉพาะการบำเพ็ญสติปัฏฐาน
การเจริญสติตามแนวสติปัฏฐานสี่ นับเป็นอุบายวิธีดับทุกข์ด้วยการระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบันอันมีเพียงกายและใจ ซึ่งเป็นสิ่งไม่พึงยึดมั่น เมื่อบุคคลรับรู้ว่ากายและใจนี้ดำรงอยู่ชั่วขณะตามเหตุปัจจัย โดยไม่มีรูปร่างถาวรที่ยึดถือได้ว่าเป็นเรา ของเรา บุรุษ หรือสตรี ก็จะหยั่งเห็นธรรมชาติของกายใจที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน จิตของเขาย่อมเป็นอิสระจากทุกข์และกิเลสได้อย่างแท้จริง
หลักชัยของพระพุทธศาสนาคือการดับทุกข์ และมีนโยบายหลักคือ การเจริญสติ ธรรมชาติในตัวมนุษย์มีขุมทรัพย์คือ อริยสัจ 4 ที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ และมีใจครอง การดำเนินตามคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยมหาสติปัฏฐาน ด้วยวิธีการเจริญสติเป็นหลัก ทำให้ได้ค้นพบประจักษ์แจ้งอริยสัจด้วยประสบการณ์ของตน ภายใต้ศักยภาพของมนุษย์เพื่อดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ โดยไม่ขึ้นอยู่กับดวงดาวหรืออำนาจเหนือมนุษย์ใดๆ
การเจริญสติเป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นการอบรมจิตให้เกิดวิปัสสนาญาณ ที่หยั่งเห็นไตรลักษณ์โดยประจักษ์ สติที่ซึมซับรับรู้สภาวธรรมอยู่เสมอ สามารถทลายกำแพงแห่งสมมติบัญญัติ แล้วส่งผลให้หยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง
แนวทางการเจริญสติปัฏฐานนี้ มีมาในมหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกายและมัชฌิมนิกาย ทั้งสองแห่งนี้มีข้อความตรงกัน โดยระบุวิธีการเจริญสติไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวนมากพระองค์ ตั้งต้นแต่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระตัณหังกรพุทธเจ้า, พระเมธังกรพุทธเจ้า, พระสรณังกรพุทธเจ้า, พระทีปังกรพุทธเจ้า ที่ได้เสด็จอุบัติแล้วในกัปป์ กัปป์เดียวกันนั้นแหละ ก่อนแต่กัปป์นี้ไป ๔ อสงไขยเศษแสนกัป จนถึงพระศากยมุนีพุทธเจ้าเป็นที่สุดก็ดี พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าหลายร้อยพระองค์ก็ดี พระอริยสาวกเหลือที่จะคณานับก็ดี ได้ทรงลอยและลอยมลทินของจิตทั้งมวลแล้ว ทรงบรรลุและบรรลุความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยม ก็ด้วยทางสายนี้แล...
ห้วงพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ สติปัฏฐาน นั้น รุ่งเรืองดุจดังพระจันทร์วันเพ็ญ ที่ส่องสว่างกระจ่างไปทั่ว ขณะสาดแสงส่งลงมา ผู้ตื่นอยู่ทำการภาวนา ก็สามารถดับทุกข์ร้อนทั้งปวงได้ ส่วนผู้ที่หลับใหลอยู่ในกามคุณอันมืดมัว ยุ่งเหยิงด้วยเรื่องต่างๆ วุ่นวายสับสนอยู่กับเรื่องของบุคคลอื่น ไม่มีโอกาสได้พบแสงจันทร์ แต่กำลังถูกแผดเผาอยู่ ด้วยความร้อนจากไฟกามคุณอารมณ์
หลักการฝึกสติ ในการฝึกสติหรือทำสติให้เกิดขึ้นนั้นเราควรทำให้เกิดมีขึ้นทั้งในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน และในขณะที่เรานั่งสมาธิ เมื่อเกิดขึ้นนั้น จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. กำหนด คือ การเจริญสติอยู่กับปัจจุบันไม่คิดถึงอดีตหรือใฝ่ฝันถึงอนาคต เปรียบเสมือนบุรุษผู้ถือหม้อน้ำมันเดินมามีบุรุษคนหนึ่งถือดาบเดินตามไปข้างหลังโดยบอกว่าถ้าทำน้ำมันจะตัดศีรษะให้ขาด บุรุษนั้นก็ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้น้ำมันไหลมีสติจดจ่อไม่วอกแวก ฉะนั้น
2. จดจ่อ คือ การจับจ้องอารมณ์อย่างแนบแน่นไม่กำหนดรู้อย่างผิวเผินเหมือนการเล็งธนูแล้วยิ่งให้พุ่งเข้าไปสู่เป้าด้วยกำลังแรงจนธนูปักตรึงอยู่กับที่
3. ต่อเนื่อง คือ การมีสติไม่ขาดช่วงในทุกขณะเหมือนการหมุนอย่างต่อเนื่องของพัดลมที่ค่อยๆ มีกำลังแรงขึ้น
4. เท่าทัน คือ การกำหนดอารมณ์ทุกอย่างได้ทันท่วงทีในขณะปัจจุบัน ไม่ปล่อยให้เผลอสติลืมกำหนดรู้และไม่ปล่อยให้จิตเผลอไผลเลื่อนลอยไป
ประโยชน์ของสติ ๑. ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่เราต้องการ โดยการตรวจตราความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการไว้ กันสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป ตรึงกระแสความคิดให้เข้าที่ ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย เช่น จะดูหนังสือก็สนใจคิดติดตามไปตลอด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่น จะทำสมาธิใจก็จรดนิ่ง สงบตั้งมั่น ละเอียดอ่อนไปตามลำดับ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก เพราะฉะนั้น “ที่ใดมีสติ ที่นั่นมีสมาธิ ที่ใดมีสมาธิ ที่นั่นมีสติ”
๒. ทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธเคือง ความลุ่มหลงมัวเมา จึงมีความโปร่งเบา ผ่อนคลาย เป็นสุข โดยสภาพของมันเอง พร้อมที่จะเผชิญความเป็นไปต่างๆ และจัดการกับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม
๓. ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุด เพราะไม่ถูกบีบคั้นด้วยกิเลสต่างๆ จึงทำให้ความคิดเป็นอิสระมีพลัง แต่มีสติควบคุม เสมือนเรือที่มีหางเสือควบคุมอย่างดี ย่อมสามารถแล่นตรงไปใน ทิศทางที่ต้องการได้โดยไม่วกวน
๔. ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่ เพราะมีความคิดที่เป็นระเบียบ และมีใจซึ่งมีพลังเข้มแข็ง จึงเป็นการเสริมสร้างปัญญาให้บริบูรณ์
๕. ชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพราะมีสติจึงไม่เผลอไปเกลือกกลั้วบาปอกุศลกรรม ทำให้พฤติกรรมต่างๆ เป็นไปด้วยปัญญาหรือเหตุผลที่บริสุทธิ์
การฝึกสติให้เป็นคนไม่ประมาท
๑. มีสติระลึกถึงการละเว้นทุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะไปทำชั่วทำบาปอะไรเข้า ก็มีสติระลึกได้ทันทีว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นบาปหรือไม่ ถ้าเป็นบาปก็ไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด
๒. มีสติระลึกถึงการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะทำอะไรก็มีสติระลึกได้เสมอว่า สิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นบุญเป็นกุศลหรือไม่ ถ้าเป็นกุศลจึงทำ
๓. มีสติระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้เสมอว่า การเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน นั้นมีทุกข์มากเพียงไร เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้วก็ไม่ยอมทำชั่วเลย เพราะเกรงว่าจะต้องไปเกิดในอบายภูมิเช่นนั้น
๔. มีสติระลึกถึงความทุกข์ อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในวัฏสงสารอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้ว่าถ้าเรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ ก็ต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป จึงหาโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ เพื่อให้เข้านิพพานให้ได้เร็วที่สุดจะได้หมดทุกข์ เมื่อระลึกเช่นนี้บ่อยๆ ย่อมไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็น ที่ตั้งแห่งความขัดเคืองได้ในที่สุด
๕. มีสติระลึกถึงกรรมฐานภาวนาที่จะละราคะ โทสะ โมหะ ให้ขาดจากสันดานอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้ว่า การที่เราจะทำดีหรือทำชั่วนั้น ขึ้นอยู่กับใจของเราเป็นสำคัญ ว่าใจของเราจะเข้มแข็งทรงพลัง เอาชนะความทะยานอยากต่างๆ ได้หรือไม่ และวิธีที่จะฝึกใจได้ดีที่สุดคือ การฝึกทำสมาธิ จึงต้องหาเวลาทำสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
“สติ” คือ ระลึกรู้กาย โดยมีเวทนา (ทางใจ) เกิดขึ้น “เวทนา” คือ ความรู้สึกต่างๆ จิตจะเปลี่ยนไปตามสภาวะ สุข ทุกข์ และ เฉยๆ
สติ อุปมาเปรียบเสมือนเรดาร์ หรือตัวชี้วัด วัดกิเลสเข้ามาทางไหน (อายตนะภายในทั้งหก ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ที่จะบอกว่า “กิเลสมาแล้ว กิเลสมาแล้ว” พูดง่ายว่า “สติ” จะเป็นตัวเตือน นั่นเอง เมื่อ “ สติ” ไม่มีกำลัง จึงต้องทำเหตุปัจจัยให้มีสติบ่อยๆ ดังนั้น เราจึงควรต้องฝึก “สติ” ให้ได้ก่อน ตั้งหลักให้ได้ มีอะไรเกิดขึ้น หายใจลึกๆ หายใจยาวๆ ตั้งสติก่อนคิด ไม่ใช่คิดก่อนทำ ตั้งสติก่อนคิดแล้วค่อยทำ ทำไมต้องมาดูลม เพราะเวลาที่อยู่ฐานลม เราก็จะเห็นความคิด ถ้าอยู่ที่ชานชลา ก็จะเห็นรถไฟแห่งความคิด แต่ถ้าไปอยู่บนรถไฟแห่งความคิด เราก็จะไม่เห็นรถไฟ แต่จะเห็นข้างทาง นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องฝึกสติที่ฐานกายก่อน การฝึกสติมีเทคนิคมากมายแล้วแต่ครูบาอาจารย์ท่านใดจะสอนโดยวิธีไหน เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอ พองหนอ ดูลมหายใจ (อานาปานสติ) ฯลฯ เป็นต้น
มารู้จักเพื่อนคนที่ 2 มีชื่อว่า “ปัญญา” “ปัญญา” แปลว่า รู้ทั่ว รู้รอบ
“ปัญญา” คือ ความรู้อันถูกต้องแท้จริงขอบธรรมมะ หรือของธรรมชาติ (คือรู้ในเรื่องอริยสัจ และไตรลักษณ์ นั่นเอง) “ปัญญา” เปรียบเสมือนกับ “ความคม”
พอเรามีสติแล้ว ตัวที่ 2 สิ่งที่จะต้องฝึกไปพร้อมๆ กัน คือ “ปัญญา” ซึ่งปัญญาเป็นเพื่อนที่ดี มีปัญญาต้องคบบัณฑิต อ่านหนังสือธรรมะ เข้าวัด ฟังธรรม ฯลฯ “ปัญญา” เปรียบเสมือน “อาวุธ” นั่นเอง
ปัญญาเมื่อเก็บไว้ในคลัง เราเรียกว่า “ปัญญา” แต่ปัญญาที่เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ เราจะเรียกว่า “สัมปชัญญะ” คนที่รู้มากเป็นพหูสูต รู้มากเกินไป พอตั้งสติได้ “อาวุธ” พร้อม แต่เราต้องมีตัวที่ 3 คือ “สัมปชัญญะ”
“สัมปชัญญะ” แปลว่า การรู้ทั่วพร้อม (อยู่ในส่วนของปัญญา)
“สัมปชัญญะ” คือ รู้ตัว ทั่วพร้อม ดึงปัญญาที่ใช่มาใช้ในยามจำเป็น ท่านพุทธทาส อุปมา “สัมปชัญญะ” เหมือนการเลือกว่าจะใช้อาวุธชนิดใดให้เหมาะกับสถานการณ์ ถ้าเรามีสติ มีปัญญา คือมีเรดาร์จับข้าศึก มีอาวุธครบครัน แต่ดันเลือกอาวุธไม่เป็น เรียกว่า “ไม่มีสัมปชัญญะ”
บางคนอ่านหนังสือมาก แต่ไม่เคยฝึก ไม่เคยออกสนาม ไม่เคยไปสร้างประสบการณ์ จะไปสำเร็จได้อย่างไรกัน เพราะเลือกไม่เป็น มีความรู้ท่วมหัว แต่ดันเอาตัวไม่รอด
แต่ถ้าเครื่องบินมีตัววัด วัดกิเลสเข้าทางไหน เรดาร์คือ สติ มีปัญญาคือติดอาวุธ มีสัมปชัญญะ ก็คือมีกัปตันที่เก่ง เลือกยิงอาวุธที่เหมาะสม แต่ต้องมีน้ำมัน เครื่องบินถึงจะบินได้ ก็ต้องมีพลังงาน พลังงานที่ว่าคือ “สมาธิ”
มารู้จักเพื่อนคนสุดท้าย (คนที่ 4) คือ “สมาธิ” “สมาธิ” แปลว่า ทรงไว้ด้วยดี ทรงไว้อย่างสม่ำเสมอ “ สมาธิ” คือ ภาวะที่จิตตั้งมั่น สงบ และจิตนิ่ง หรือ การจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้มั่นคง
“สมาธิ” เปรียบเสมือนกับน้ำหนัก หรือกำลัง สมาธิตัวนี้ที่เข้าไปเสริม “สติ” สมาธิที่เข้าไปเสริม “ปัญญา” สมาธิที่เข้าไปเสริม “สัมปชัญญะ”
ดังนั้น “สมาธิ” จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก นี่ปัญญามาแล้ว เป็นสัมปชัญญะเผชิญหน้าอารมณ์อยู่แล้ว แต่น้ำหนักยังไม่พอ ต้องเพิ่มสมาธิเข้าไป “สมาธิ” เอามาจากไหน ? มันก็เอามาจากที่เราฝึกไว้ดี ฝึกไว้คล่องแคล่ว
สติกับการดำเนินชีวิต การฝึกสติเป็นสิ่งที่เราควรฝึกให้มีในทุกการกระทำและในทุกอิริยาบถ เพราะนอกจากจะทำให้เราสามารถทำกิจต่างๆ ได้อย่างสำเร็จด้วยดีแล้ว ยังเป็นการฝึกให้สติอยู่กับเนื้อกับตัวของเราด้วย พระพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า “เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่า เราเดิน หรือเมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า เรายืน หรือเมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง หรือเมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า เรานอน อนึ่งเมื่อเธอนั้น เป็นผู้ตั้งกายไว้แล้วอย่างใดๆ ก็ย่อมรู้ชัดอาการกายนั้น อย่างนั้นๆ
เป็นผู้ทำสัมปชัญญะ (ความเป็นผู้รู้พร้อม) ในการก้าวไปข้างหน้า และถอยกลับมาข้างหลัง ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการแลไปข้างหน้า แลเหลียวไปข้างซ้ายข้างขวา ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการคู้อวัยวะเข้า เหยียดอวัยวะออก ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และความเป็นผู้นิ่งอยู่”
สติที่เราฝึกในชีวิตประจำวันจะทำให้เราอยู่กับความคิดที่เป็นปัจจุบัน ไม่ตกอยู่ในภาพของอดีตหรืออนาคตตลอดเวลา เพราะว่าโดยปกติเมื่อมนุษย์รับอารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจแล้ว ก็มักจะใส่ใจต่อทุกสิ่งที่มากระทบ และตอบสนองด้วยอำนาจของกิเลสที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ และส่งผล ให้เกิดเป็นความทุกข์ มีความทะยานอยาก เร่าร้อน วิตกกังวลเป็นต้น
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีสติรู้เท่าทันกาย ย่อมจะไม่พูดชั่ว และไม่กระทำชั่ว สามารถรักษาตนอยู่ใน ‘ศีล’ ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อมีสติรู้เท่าทันจิต ก็จะมี ‘สมาธิ’ ตั้งมั่น ไม่ซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวาย และเมื่อมีสติรู้เท่าทันถึงเหตุผลอย่างชัดเจน ‘ปัญญา’ ก็จะเกิดขึ้น เป็นเครื่องดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง สติจึงเป็น ‘ธรรมมีอุปการะมาก’ คือทำให้ตื่นจากความไม่รู้ เพียงนำมาใช้กับทางโลกก็ยังเกื้อกูลประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคล การจัดระบบความคิด อีกทั้งยังทำให้ไม่มักโกรธ ไม่มัวเมา ไม่ซึมเศร้า ไม่รู้สึกกดดัน
และถ้าสั่งสมอบรมให้เจริญมากขึ้นจนเป็น ‘มหาสติ’ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรม เกื้อกูลต่อการเห็นประจักษ์ความจริงของกายและจิต สามารถตื่นจากกิเลสนิทราได้อยู่ทุกเมื่อ สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘สติ โลกสฺมิ ชาคโร’ ที่แปลว่า ‘สติเป็นเครื่องตื่นในโลก’ ทุกประการ
ผู้ปฏิบัติธรรมหมั่นประกอบความเพียร ย่อมทำให้เกิดผลคือ การมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ก็เป็นปัจจุบันกาล หรือการประกอบการงานทั้งทางโลกและทางธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เกิดผลดี เพราะทำให้อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เข้าใจผู้อื่นที่ยังมีกิเลสอยู่ และทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนาอินทรีย์ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้สมบูรณ์แบบ จนถึงขั้นทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป พบแต่บรมสุขคือ พระนิพพาน อันเป็นเป็นหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee