แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๕๑ หาความเป็นพระในตัวเรา ด้วยการเข้าสู่ภาคปฏิบัติตามศีลสมาธิปัญญา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
อีกไม่กี่วันก็ถึงวันเข้าพรรษา ส่วนราชการก็ปิดหลายวัน ผู้ที่มาบวช มาปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานี้เป็นของประเสริฐ เป็นของที่สมบูรณ์ พร้อมด้วยทั้งอัตถะและพยัญชนะ พุทธบริษัทต้องรู้เรื่องพระศาสนา ทุกท่านทุกคน จะได้พากันปฏิบัติถูก จะได้เอาพระพุทธศาสนาแท้ๆ 100 เปอร์เซ็นต์ พระพุทธศาสนา เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (คือรู้แจ้งความจริงตามสภาพความเป็นจริงอย่างถูกต้องด้วยพระองค์เองอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรยิ่งกว่า) เป็นคำสอนที่เกิดจากพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า การตรัสรู้ของพระองค์ได้เป็นแสงสว่างให้แก่ชาวโลก ได้นำพาจิตวิญญาณของมนุษย์สู่สันติ พระองค์ได้แสดงให้เห็นว่า “สรรพสิ่งในสกลจักรวาลดาเนินไปตามธรรมชาติด้วยการอิงอาศัยกันเป็นลูกโซ่... เมื่อสิ่งนี้มี...สิ่งนี้จึงมี... เมื่อสิ่งนี้ดับ...สิ่งนี้จึงดับ... ความเป็นไปของสรรพสิ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของเทพเจ้าหรือผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ”
เมื่อพระองค์นำสิ่งที่ได้ตรัสรู้ที่เรียกว่า “พระธรรม” มาสั่งสอนชาวโลก ได้มีผู้ศรัทธาเข้าใจ เชื่อฟัง ประพฤติปฏิบัติตาม คนเหล่านั้นพอใจอยู่กับพระองค์และติดตามพระองค์ ก็ได้รู้แจ้งในธรรมตามกาลังสติปัญญาของตนๆ เรียกผู้เชื่อฟังเหล่านั้นว่า “สาวก” ในกาลต่อมาพระองค์ทรงอนุญาตให้สาวกเหล่านั้นเปลี่ยนสถานภาพของตนจากผู้ครองเรือนมาเป็นผู้ออกจากเรือน เรียกว่า “ภิกษุ” ซึ่งคำๆ นี้แปลว่า ผู้ขอ หรือ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร (การเวียนตายเวียนเกิด) เพราะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใสอย่างสุดหัวใจ จะเกิดความคิดขึ้นมาในจิตตนว่า “ชีวิตฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งทุลีคือกิเลส การที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์อย่างสิ้นเชิง ให้ขาวสะอาด เหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้วนั้นทำได้ยาก ไฉนหนอเราพึงบวช” จึงตัดสินใจ เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อออกบวช มุ่งมรรคผลพระนิพพานอย่างแท้จริง จากนั้นพระพุทธองค์ก็จะทรงประทานการบวช ด้วยพระดำรัสของพระองค์เองว่า “เอหิ ภิกขุ สฺวากฺขาโต ธมฺโม จร พฺรหฺมจริยํ สมฺมาทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” ถ้าหากผู้นั้นหมดสิ้นกิเลสอาสวะเป็นพระอรหันต์แล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าก็จะตรัสถึงเพียงแค่ว่า จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด เพียงเท่านี้ก็เป็นอันว่าบุคคลผู้นั้นได้เป็นภิกษุถูกต้องบริบูรณ์แล้ว การบวชในพระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา รูปแบบการบวชได้เปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ โดยมีเป้าหมายของการบวชคือ “นิพพาน” ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
อย่างเช่น ท่านพระจักขุบาลเถระ เดิมทีท่านชื่อมหาบาล ได้ฟังธรรมอนุปุพพิกถาจากพระพุทธเจ้า เกิดความแจ่มแจ้งในธรรม เห็นว่าบุตรธิดา และทรัพย์สมบัติเป็นของไม่ยั่งยืน คลุกเคล้าไปด้วยทุกข์และโทษ แม้สรีระของตนเองก็ติดตามไปไม่ได้ ต้องถอดทิ้งไว้ให้เป็นภาระแก่ผู้อื่น ไม่มีประโยชน์ในการอยู่ครองเรือน ควรบวชอย่างพระศาสดา
เขาเข้าไปถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช พระศาสดาตรัสถามว่ามีใครที่เขาจะต้องบอกลาบ้าง เขาทูลว่ามีน้องชายอยู่คนหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัส ให้ไปบอกลาน้องชายเสียก่อน จุลบาลน้องชายไม่เห็นด้วยในการบวชของพี่ชาย มีความเห็นว่า “ยังอยู่ในวัยอันควรบริโภคกาม อันเป็นรสอร่อยอย่างหนึ่งของโลก ถ้าจะบวช ก็ค่อยบวชเมื่อแก่” แต่มหาบาลผู้พี่ กลับมีความเห็นว่า "บวชเมื่อแก่ แล้วจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ดี ได้อย่างไร มือเท้าและอินทรีย์ต่างๆ ไม่อำนวย กำลังวังชาถดถอย สมณกิจเป็นภาระหนักเหมาะแก่คนมีกำลังวังชาดี จะทำให้บริบูรณ์ได้ ดูพระบรมศาสดานั่นเถิด ทรงสละราชสมบัติออกผนวชตั้งแต่พระชมอายุเพียง ๒๙ พรรษา ยังหนุ่มแน่นเหมือนกัน" น้องชายจะห้ามเท่าไร มหาบาลก็หาฟังไม่ เมื่อบวชแล้วได้อยู่กับอาจารย์จนครบ ๕ พรรษา ได้นิสัยมุตตกะ คือพอปกครองตนเองได้แล้ว ปรารถนาจะออกไปอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ทำกิจของบรรพชิตให้สิ้น จึงเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามถึง ความหมายของ ธุระในศาสนา ๒ ประการ คือ คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ
คันถธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยตามสมควรแก่ปัญญาของตน แล้วบอกกล่าวกันต่อๆไป ส่วน วิปัสสนาธุระ นั้นคือ การพิจารณาสังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา จนสามารถบรรลุอรหัตตผล เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด พระศาสดาตรัสบอกกรรมฐาน ให้ตั้งแต่ต้นจนเพียงพอ ที่จะบรรลุอรหัตตผลได้ เสมือนมารดาให้เสบียงแก่บุตรเพียงพอแก่การข้ามทางกันดาร
พรหมจรรย์คืออะไร พรหมจรรย์คือ การประพฤติธรรมเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นผู้ประเสริฐ ผู้หลุดพ้น และพระพุทธเจ้าตรัสถึงพรหมจรรย์นี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคนให้นับถือ มิใช่ประพฤติเพื่อเรียกคนมาเป็นบริวาร มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นลาภสักการะ และเสียงสรรเสริญ มิใช่เพื่ออานิสงส์จะได้เป็นเจ้าลัทธิ หรือเพื่อคัดค้านลัทธิอื่นได้ให้ล้มลงไป และมิใช่เพื่อให้มหาชนเข้าใจว่า เราได้เป็นผู้วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หามิได้ ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อสำรวม เพื่อละ เพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์”
ทุกท่านทุกคน จะได้พากันปฏิบัติถูก จะได้เอาพระพุทธศาสนาแท้ๆ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะศาสนาในปัจจุบันถือว่าเป็นเนื้องอก มากกว่าของจริง ด้วยกิจกรรม หรือว่าด้วยความประพฤติ ที่เรามองเห็นอย่างนี้ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนนี้จะมีความสุข มีความดับทุกข์ เพราะความสุขความดับทุกข์ มันอยู่ที่พระศาสนา ที่ใจของเราไม่มีอวิชชา ไม่มีความหลง ไม่มีไสยศาสตร์ ไม่เอาตัวตนเป็นหลัก ไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มีสติมีสัมปชัญญะ หยุดอบายมุข ทางตกต่ำไปสู่อบายภูมิ เข้าสู่ระบบของความเป็นพุทธะ เพื่อส่งไม้ผลัดต่อๆ กัน เราจะได้พากันรู้ชัดเจน
เราทุกคนจะได้ปฏิบัติได้อยู่ทุกหนทุกแห่ง พวกเรามีศาสนวัตถุ มีโบสถ์ มีวิหาร มีเจดีย์ อันนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนประกอบของศาสนา ศาสนาที่แท้จริง คือเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และพากันปฏิบัติถูกต้อง มันจะหยุดสีดำ สีเทา สีสกปรก สีน่าเกลียดทั้งหลายทั้งปวง ที่หมู่มวลมนุษย์มันไม่ได้เป็นมนุษย์เป็นได้แต่เพียงคน เราทุกคนมันต้องมาแก้ไขที่ตัวของเรา อย่างเราเป็นพ่อเป็นแม่อย่างนี้ เราก็สอนตัวเองปฏิบัติตัวเองสัก 95% แล้วก็บอกลูกบอกหลาน เราเป็นสุปฏิปันโน เราเป็นตัวอย่างแบบอย่างที่ดี มันก็ดีกว่าที่เราไปใช้วาจาอย่างเดียว พระพุทธเจ้าต้องอยู่ในใจของ พระธรรมต้องอยู่ในใจของเรา พระอริยสงฆ์อยู่ในใจของเรา เราไม่ต้องไปหาพระที่อื่น หาพระศาสนาในตัวของเรา เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฎิบัติอย่างนี้
เพราะการประพฤติการปฏิบัติมันแต่งตั้งให้ไม่ได้ เค้าแต่งตั้งให้เราบวชพระ บวชเณร บวชชี อย่างนี้มันแต่งตั้งได้ แต่ว่ามันไม่เป็น มันจะเป็นได้ก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เหมือนกับเค้าให้เป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการ อะไรต่างๆ มันก็ไม่ได้เป็น เป็นได้แต่แบรนด์เนม ไม่เข้าสู่ภาคปฏิบัติ มันก็เป็นสีดำ สีเทา สีสกปรก สีน่าเกลียด มันเสียหายมาก ขอให้เรามีสัมมาทิฏฐิ อย่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เราอย่าไปปฏิเสธความถูกต้อง อย่าไปปฏิเสธความจริง เราชอบแต่ของปลอมๆ ไม่ได้ เพราะเราควรมีจักษุเกิดขึ้นแก่เรา ควรมีแสงสว่างเกิดขึ้นแก่เรา เราไม่เอาพระแต่งตั้งมีชื่อพระเฉยๆ แต่ว่าจิตใจเราไม่ได้เป็นพระ ถ้าเราไม่ได้เอาพระธรรมคำสั่งสอน มันเป็นโจรอยู่ดีๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นพระอรหันต์แต่งตั้ง กลายเป็นพุทธแต่งตั้ง เราเป็นพุทธจริงๆ มันไม่ได้ สมบูรณ์ด้วยทั้งอักษร พร้อมด้วยพยัญชนะ การปกครองมันถึงจะสมบูรณ์แบบ เพราะว่าประเทศเรามันจะได้มีความสุขขึ้นอีก เห็นไหมเราวิ่งตามแต่วัตถุ ไม่ได้พัฒนาเศษฐกิจพอเพียงเลย ไม่ได้พัฒนาใจ ไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน มันสุดโต่งทั้งสองอย่างแหละ ที่สุดสองทางมันจะไปไม่ได้ กายกับใจมันไปด้วยกัน ธรรมกับโลกก็ไปด้วยกัน จนกว่าเราจะหมดลมหายใจ
ต้องให้ทุกคนพากันรู้จักชาติ ศาสน์ กษัตริย์หรือว่ารู้จักพระศาสนา ศาสนาทุกศาสนา ก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ คือความดับทุกข์ทั้งกายทั้งใจ ไม่ว่าจะทานผักผลไม้ หรือข้าวเหนียวข้าวเจ้า หรือมันต่างๆ ผลไม้ต่างๆ ก็คือความดับทุกข์ทางร่างกาย ทางร่างกายก็ทำให้จิตใจสงบด้วย อันนี้มันเป็นปัญหาเบื้องต้นที่เราจะต้องแก้ไข เพราะกรรมนี้มันเป็นสิ่งที่ผู้ไม่ใช่พระอริยเจ้ามันจะมองไม่ออก เราปลูกต้นไม้เราก็ต้องอาศัยเวลาหลายปี ถึงรู้ เราเรียนหนังสืออย่างนี้ กว่าเราจะรู้ว่าเรายากจน เมื่อ 10 20 ปีข้างหน้ามันถึงรู้ มันแก้ไขไม่ได้
พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ที่เรากินเหล้า กินเบียร์ เล่นการพนัน มันยังไม่รู้กรรมรู้เวรหรอก อีกหลายปีถึงจะรู้ คนเรากว่าจะรู้ มันเป็นพ่อเป็นแม่เป็นอากงเป็นอาม่า เอากลับคืนมาเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวไม่ได้แล้ว
พวกที่พากันมาบวชอย่างนี้แหละ บางทีก็ไม่ได้บวชอะไรมีแต่แบรนด์เนม ไม่ได้เข้าสู่กิจกรรม ภาคประพฤติ ภาคปฎิบัติเลย ไม่ได้รู้จักภาษาธรรม รู้จักแต่ภาษาคน ภาษาวัตถุ และก็ไม่รู้จักภาษาด้านจิตใจ เราต้องพากันเข้าใจ ทุกๆ คนไม่มีสิทธิ์ที่จะทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ ทำตามความรู้สึกได้ เพราะมันมีหลักการหลักวิชาการ มันเป็นฟันเฟืองที่จะก้าวไปด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ทางวัดทางศาสนาก็ไม่ใช่ทางออกของคนจน ไม่มีความสามารถทำมาหากินก็พากันมาบวชอย่างนี้แหละ ตำแหน่งของนักบวชคือตำแหน่งปูชนียบุคคล เราต้องเข้าใจ ถึงแม้แต่ก่อนเราจะคิดว่า ร่างกายไม่ดี สติปัญญาไม่ดี ทำมาหากินไม่ได้ แต่เมื่อเข้าสู่พระศาสนามันก็ต้องเอามรรคผลพระนิพพาน
ในพรรษานี้นะพระใหม่ก็พากันตั้งใจเอาเต็มที่ เพราะเวลาเราสำคัญ ปัจจุบันนี้มันเป็นกรรม ต้องแยกกายแยกใจ เอาเวลาแล้วก็เอาธรรมะเป็นหลัก เราจะได้เข้าถึงพระศาสนาที่แท้จริง เราจะไม่ได้สะเปะสะปะ เป๋ไปเป๋มา เหมือนปรากฏการณ์อย่างนี้ เพราะสิ่งต่างๆ มันดึงดูด เพราะทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโทรศัพท์ พวกนี้ทุกอย่างมันเป็นคุณ ถ้าเราไม่เข้าสู่การพัฒนาทั้งวัตถุพัฒนาทั้งจิตใจไปพร้อมๆ กัน มันจะเป๋ เราจะมีสัมมาทิฏฐิ เราต้องใจเข้มแข็ง ใจรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันต้องก้าวไปอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราทุกคนต้องปฏิบัติได้ ถ้าไม่ได้ มันไม่มีหรอก แม้แต่ยาเสพติด มันก็ต้องเอาไปบำบัด ควบคุมไว้
ถ้าเราจะเอาประชาธิปไตยนี่ไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยมันเอาเสียงส่วนใหญ่ที่มีกิเลส ที่พร้อมเพรียงกัน ถ้าเอาสังคมนิยม ระบบคอมมิวนิสต์ อย่างนี้มันก็แบบยึดอำนาจ ออกกฎหมายปลายปืนอย่างนี้เป็นต้น มันก็ไปแก้ไม่ถูก มันต้องกลับมาหาธรรมาธิปไตยหรือว่าศาสนา โครงสร้างของโลกมันถึงมี ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คือมันต้องเป็นผู้นำทั้งทางเทคโนโลยี หรือทางวัตถุ หรือว่าทางพ่อทางแม่อย่างนี้ ก็เพราะพ่อผู้เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพระราชา มหากษัตริย์ เป็นรัฐมนตรีต่างๆ ก็ต้องพากันเข้าใจ เรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เข้าไปหลงงมงายในทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ไม่มีใครใหญ่เหนือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากไปได้
เรามีกุลบุตรได้บรรพชาอุปสมบทตามพระพุทธเจ้า เป็นภิกษุ แต่ผู้ที่บวชมาเขาไม่เรียกว่าพระนะ เพราะการดำเนินชีวิตของเราคือพระธรรมคือพระวินัย ไม่ได้ทำตามใจตัวเอง ไม่ได้ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ได้ทำตามความรู้สึก เอาพระธรรมเอาพระวินัยเป็นวิธีการเรียกติดปากว่าพระ ผู้ที่เอาพระธรรมเอาพระวินัยเป็นหลักได้แก่พระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์ ถือว่าเป็นพระ พระที่แท้จริงจะมีความคิดเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง เป็นได้ทั้งฆารวาสที่ไม่ได้บวช เป็นได้ทั้งผู้ที่บรรพชาอุปสมบท
คนอย่างไรเรียกว่าสมณะ เราอย่าเพิ่งไปตีความหมายเอาว่าการเห็นภิกษุสามเณรซึ่งโกนผมนุ่งห่มผ้าเหลืองซึ่งอันนี้เป็นต้นเดิมของความเข้าใจผิด และทำให้เกิดความเสียหายมามากแล้วซึ่งก็ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ อันที่จริงคนที่ครองเพศเป็นนักบวชนั้นเรียกว่าบรรพชิต และบรรพชิตนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นนักบวชทุกรูปก็หาไม่ พิจารณาพระบาลีโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่นเบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ หาใช่สมณะไม่ ฯ
ตามพระพุทธพจน์นี้ก็คงทราบแล้วใช่ไหมว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า บรรพชิตกับสมณะนั้นเป็นคนละพวก คือ บรรพชิตและสมณะ ทั้งสองนี้มีภูมิธรรมต่างกัน คนละชั้นคนละราคา อย่าได้เหมาเอาว่าเป็นพวกเดียวกัน
บรรพชิต เราแปลว่า นักบวช คือท่านผู้ทรงศีล อยู่ด้วยศีลเอาศีลกำกับตัว เมื่อไม่ละเมิดศีล (ตามชั้นของบรรพชิต) ก็คงมีศักดิ์เป็นบรรพชิตทุกองค์ แต่ในบรรดาผู้ที่เป็นบรรพชิตนั้น ก็มีอยู่หลายชั้นรักษาศีลวินัยได้มั่นคงก็มี รักษาได้ขาดๆ วิ่นๆ ก็มี ปพฺพชิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีบรรพชาเกิดขึ้นแล้ว” : ป + ว + วชฺ > ปววชฺ> ปพฺพช + อิ + ต = ปพฺพชิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปสู่ความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด”
“ภิกขุ - ภิกษุ” คือชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา “ภิกขุ” แปลตามรากศัพท์ มีหลายความหมาย คือ -
1. “ผู้ขอ” (ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺข + รู, ลบ ร รัสสะ อู เป็น อุ)
2. “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” (สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขู = ภย + อิกฺข + รู)
3. “ผู้ทำลายบาปอกุศล” (ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ + รู)
4. “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” (ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ)
5. “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” (ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺข + รู)
ส่วน “สมณะ” เขียนแบบบาลีเป็น “สมณ” : สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” แปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ”
สมณะ แปลว่า ผู้สงบ หมายถึงผู้สงบจากการทำบาป นอกจากเว้นการทำบาปทางวินัยหรือทางศีลแล้ว ยังเว้นจากบาปทางธรรมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ทางศีลห้ามลักทรัพย์ ศีลจะขาดต่อเมื่อลักจริงๆ เพียงแต่คิดจะลักศีลยังไม่ขาด แต่ทางธรรมถือละเอียดไปกว่า แม้แต่คิดจะลัก จิตก็เป็นอกุศล ก็เสียธรรมะ สมณะกับบรรพชิตต่างกันตรงที่ว่า บรรพชิตถือเอาศีลเป็นขอบเขต ส่วนสมณะนั้นถือทั้งศีลและธรรมเป็นขอบเขต เพื่อความแน่ใจ ขอได้โปรดดูบาลีพุทธวจนะที่มาในธรรมบท ขุททก-นิกายว่า "น มุณฺฑเกน สมโณ อพฺพโต วลิกํ ภณํ อิจฉาโลภสมาปนฺโน สมโณ กึ ภวิสฺสติ" “คนเราไม่ใช่จะเป็นสมณะเพราะหัวโล้น คนที่ไม่มีวัตร มีแต่พูดพล่อยๆ มีความริษยากัน เป็นคนละโมบ จัดเป็นสมณะได้อย่างไร” และอีกบทหนึ่งว่า "โย จ สเมติ ปาปานิ อณุง ถูลานิ สพฺพโส สมิตตฺตา หิ ปาปานํ สมโณติ ปวุจฺจติ" “คนที่เราตถาคตเรียกว่าสมณะ จะต้องเป็นผู้ระงับการทำบาปน้อยใหญ่เสีย”
รวมความแล้วว่า เฉพาะคนที่สงบเท่านั้น ที่เรียกว่าสมณะและที่ว่าสงบนั้นหมายถึง สงบกาย สงบวาจา และสงบใจตนเอง
๑. สมณะต้องสงบกาย คือมีความสำรวม ไม่คะนอง ไม่มีกิริยาร้าย เช่น ทุบตี ชกต่อย ฆ่าฟัน สะพายดาบ พกมีดพกปืน เดินขบวน ยกพวกเข้าชิงดีชิงเด่น แย่งที่อยู่ที่ทำกินกัน อันเป็นกิริยาของคนไม่สงบ คนที่เป็นสมณะไม่ว่าจะเข้าที่ไหนจะอยู่ที่ไหน ย่อมจะไม่ทำความชอกช้ำแก่ใคร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชมพระโมคคัลลานะในเรื่องนี้ว่า ท่านแม้จะมีฤทธิ์เดชมาก แต่ไม่ว่าจะไปที่ใดก็ไม่เคยทำความช้ำชอกแก่ตระกูลนั้นเลย จะบิณฑบาตรับของถวายอะไรก็ตาม ก็คอยดูว่าเขาจะเดือดร้อนไหม รับแต่พอประมาณ เปรียบเหมือนแมลงภู่บินเข้าสวน ดูดเกสรดอกไม้จนอิ่มหนำสำราญ แต่ไม่เคยทำความช้ำชอกให้แก่ดอกไม้เลย นอกจากนี้แล้วสมณะยังต้องคำนึงถึง สมณสารูป คือจะทำอะไรต้องให้ควรแก่สมณวิสัย
๒. สมณะต้องสงบวาจา คือ สงบปากสงบคำ ไม่เป็นคนปากร้าย ไม่นินทาว่าร้ายใคร ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีกัน จะเป็นระหว่างพระกับพระ หรือพระกับฆราวาสก็ตาม จะทำไปโดยอ้างคณะ อ้างนิกาย อ้างวัด อ้างพวกไม่ได้ทั้งนั้น มีแต่วาจาที่เป็นอรรถเป็นธรรม ไม่ใช่วาจาเหมือนคมหอกคมดาบ แม้การพูดให้คนอื่นกระดากขวยเขิน เช่น พูดจาเกาะแกะผู้หญิงเล่นสนุกๆ ก็ผิดสมณสารูป
๓. สมณะต้องสงบใจ คือทำใจให้หยุดนิ่งเป็นสุขอยู่ภายใน สงบจากบาปกรรม ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นสงบแต่เปลือกนอกเหมือนเสือเฒ่าจำศีล จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด
การที่มีความสงบกาย วาจา ใจ ทั้ง ๓ ประการนี้ ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว มีคำอยู่ ๒ คำที่ใช้ชมความงามของคน คือถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไปเราใช้คำว่า สวยงาม แต่ถ้าจะชมสมณะเราใช้คำว่า สง่างาม เป็นความงามที่สง่า และยังมีความสงบเสงี่ยมอยู่ในตัว ทั้งสง่างามและสงบเสงี่ยม แต่ไม่จ๋อง ไม่กระจอกงอกง่อย เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่ตนเองปฏิบัติอยู่ มีความอิ่มเอิบอยู่ในธรรม เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประพฤติดีปฏิบัติชอบ “เด็กต้องการตัวอย่างที่ดีจากพ่อแม่ครูอาจารย์ฉันใด ชาวโลกทั้งหลายก็ต้องการตัวอย่างที่ดี จากสมณะฉันนั้น สมณะจึงเป็นมาตรฐานความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย”
ลักษณะของสมณะในเชิงปฏิบัติ
๑. สมณะต้องไม่ทำอันตรายใคร ไม่ว่าทางกายหรือทางวาจาก็ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร แม้ในความคิดก็ไม่คิดให้ร้ายใคร
๒. สมณะต้องไม่เห็นแก่ลาภ ดำรงชีพอยู่เพียงเพื่อทำความเพียร มีความสันโดษ ไม่เป็นคนเห็นแก่กิน เห็นแก่ปากแก่ท้อง
๓. สมณะต้องบำเพ็ญสมณธรรม พยายามฝึกฝนตนเอง ไม่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ แต่บำเพ็ญกิจวัตรของสมณะ เช่น การสวดมนต์ทำวัตร การศึกษาพระธรรมวินัย กิริยามารยาทต่างๆ ตั้งใจฝึกฝนอย่างเต็มที่
๔. สมณะต้องบำเพ็ญตบะ คือทำความเพียรเพื่อกำจัดกิเลส เป็นทหารในกองทัพธรรมอย่างเต็มที่ ตั้งใจรบเอาชนะกิเลสให้ได้ ไม่ว่าจะโดยการเดินจงกรม ทำสมาธิ อยู่ธุดงค์ ก็ตาม
พระพุทธเจ้าท่านถึงงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ด้วยหลักการ หลักกระบวนที่เข้าสู่ความสุขความดับทุกข์ที่อริยมรรคมีองค์ 8 เพราะสิ่งนี่มีสิ่งนี่มันถึงมี ทุกอย่างไม่ใช่หมดสมัย ไม่ใช่ล้าสมัย มันทันสมัยตลอด ต้องแก้ไขสิ่งไม่ถูกต้องให้ถูกต้อง สิ่งที่เสียทรุดโทรมให้มันดี เราจะเข้าถึงกฏแห่งกรรม กรรมที่ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศล เข้าถึงพร้อมความไม่ประมาท เพราะเราจะได้กินเวลา ไม่ใช่เวลากินเรา โดยที่เราเป็นมิจฉาทิฏฐิ เราจะได้คิดดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ เราจะได้การประพฤติการปฏิบัติมันถึงสูงสุด
เราปฏิบัติได้ทุกหนทุกแห่ง ทั้งที่บ้าน ทั้งที่วัด ทั้งโรงเรียน ทั้งที่โรงงาน เราก็ปฏิบัติได้ เพราะว่ามันอยู่ที่ใจของเราในปัจจุบัน อยู่ที่วาจาของเราในปัจจุบัน อยู่ที่เราทุกหนทุกแห่ง เราอย่าไปแยกธรรมะจากการดำเนินชีวิต เพราะกายกับใจมันต้องอันหนึ่งอันเดียวกัน ศีล กับสมาธิ กับปัญญา ก็คืออันเดียวกัน เราจะเป็นหนึ่งคือ เอกายนมรรค คือความประพฤติเป็นหนึ่งทางกาย วาจา ใจ
เราเดินตามโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงบำเพ็ญจนได้ตรัสรู้ อย่าได้คิดอย่างอื่น ทำอย่างอื่น และใจของเราไปตามสิ่งแวดล้อมมันยิ่งหยาบ ยิ่งสกปรก สิ่งที่ปฏิกูลหนอนมันก็ชอบกัน แต่คนมีปัญญาไม่ชอบนะ มนุษย์ที่มีปัญญาไม่ชอบนะ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอา 'ธรรมวินัย' ไว้... พวกเราทุกคนพ่อแม่ก็รัก ครูบาอาจารย์ก็รัก ทุกคนก็รัก หวังให้ท่านเป็น 'พระสุปฏิปันโน' เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้ทุกคน ทุกท่านระลึกไว้ให้ดีๆ พยายามให้ 'ศีล' แก่ตนเองพยายามให้ 'สมาธิ' แก่ตนเอง พยายามให้ 'ปัญญา' แก่ตนเอง
ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี นอกจากพระพุทธเจ้า นอกจากพระธรรมวินัย นอกจากพระอริยสงฆ์ พยายามให้กำลังใจตัวเองว่า พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ไม่ได้กดดันเรา ท่านกำลังเมตตาเรา ให้ขุมทรัพย์เรา ให้อริยทรัพย์แก่เรา "พระภายนอก พระทองเหลือง พระทองคำ มันสร้างง่ายกว่า "พระในจิตในใจ' ที่เราปฏิบัติกันอยู่"
เราอย่าไปเชื่อตัวเองนะ ในสิ่งที่มันไม่ดี ไม่ถูก อย่าไปเชื่อคนอื่น "ถึงคราวแล้ว ถึงโอกาสแล้ว" พระพุทธเจ้าท่านให้เราพึ่งธรรมวินัย ถ้ามันตาย...ก็ให้มันตาย เพราะเราได้ปฏิบัติเพื่อรักษาศีล รักษาพระธรรมวินัย เป็นผู้จรรโลงพระพุทธศาสนาที่แท้จริง "การทำจิตใจอย่างนี้เขาเรียกว่า พระธุดงค์ เณรธุดงค์ ญาติโยมธุดงค์" "เราอย่าเป็น 'พระทะลุดง' ทะลุดงโน้น ทะลุดงนี้ มันออกไปแต่ข้างนอก ไม่ได้ปฏิบัติเรื่องจิตเรื่องใจ"
สิ่งนี้มี สิ่งโน้นมันจึงมี หมายถึง เรามีตัวมีตนก็เลยมีวัฎฎสงสาร มีมานะทิฏฐิ เป็นอาการของจิตที่มีตัวตน ที่เป็นภพเป็นชาติ มันแสดงความหยาบคาย มันหน้าด้าน ไม่มียางอาย ครูบาอาจารย์ห้ามก็ไม่อยู่ พระพุทธเจ้าห้ามก็ไม่อยู่ เราจะไปปฏิบัติอย่างนั้นไม่ได้...
เราทุกคนมีโอกาสพิเศษที่สังคมเขาสมมุติให้เราเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ ทุกอย่างอำนวยความสะดวก สบายหมด พวกเราและท่านจะมาทำผิดธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไม่ได้ "เราต้องเน้นมาหาใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เจตนาที่ไม่มีความผิด ทั้งทางใจ ทางคำพูด ทางการกระทำ"
"เราทำไม่หยุด ปฏิบัติไม่หยุด มรรคผลนิพพานก็เกิดขึ้นกับเราได้โดยไม่ต้องสงสัย" ที่ทำไปสงสัยไป แสดงว่าใจเราไม่แน่วแน่ ถ้าจิตใจเราไม่แน่วแน่ในพระธรรมวินัย 'ยังเป็นผู้ไม่สุจริต' ก็จะต้องประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้กราบไหว้ตัวเองได้ ไม่ใช่ให้คนอื่นมากราบไหว้ 'พวกนั้นมันบาป' เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้แข่งเรื่องมีลาภมาก มีบารมีมาก ท่านให้เน้นที่จิตที่ใจเพื่อดับกิเลส ดับตัวตน...
ธมฺมํ จเร สุจริตํ น นํ ทุจฺจริตํ จเร ธมฺมจารี สุขํ เสติ อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ.
บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต, ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้ทุจริต, ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า.
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee