แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามสถาบันหลักแห่งความมั่นคงของไทย
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ในวันนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 69 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท สหราชอาณาจักร หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ทรงษาต่อสาขาวิชานิติศาสตร์รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2515 ขณะนั้นทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.2467
ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ทรงเจริญรอยตามเบื้อง พระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ อาณาประชาราษฎร์ ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ นานัปการ เพื่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย โดยมิได้ย่อท้อ
วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 เวลา 19.16 น. ปวงชนชาวไทยทั้งผอง ต่างปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออก ณ ห้อง (ห้อง วปร.) พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญพระรัชทายาทเสด็จ ขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 10
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า “ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติ แห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาและ กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้า ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็น ไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถ บพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎ มนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทย ทั้งปวง”
การทุ่มเทพระวรกายปฎิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ โดยมิทรงว่างเว้นของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สะท้อนถึงพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการขจัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร สมดั่งพระราช ปณิธานที่ทรงมีพระราชประสงค์ สืบสาน รักษาต่อยอด สมเด็จพระบรมชนกนาถ ในหลวงรัชกาลที่ 9
พระพุทธศาสนา แปลว่า คำสั่งสอนของผู้รู้ ได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสันติและเมตตาธรรม พระพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยในทุก ๆ ด้าน และพระพุทธศาสนาถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะคนส่วนใหญ่ ร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนา และอยู่เคียงคู่กับชาติไทยมาโดยตลอด บัณฑิตผู้มีปัญญาจะเป็นชาวไทย หรือชาวต่างประเทศก็ตาม ผู้ได้ศึกษาปฏิบัติธรรม และเห็นแจ้งตามพระสัทธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ก็จะไม่ละพระพุทธศาสนาไปอื่นเลย มีแต่จะยิ่งศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยไม่มีคลอนแคลนไปได้
พระมหากษัตริย์ทุกยุคทุกสมัย ทรงทำหน้าที่ 2 ประการ ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจหลักคือ ด้านหนึ่ง ทรงทำหน้าที่ปกครองประเทศ โดยนำเอาหลักธรรมของพุทธศาสนาที่เอื้อต่อการปกครองเพื่อความสงบสุขของประชาชน เช่น ทศพิธราชธรรม เป็นต้น อีกด้านหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติ
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย พระองค์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาปกครองบ้านเมือง สถาปนาพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่สืบทอดมาจากศรีลังกา เป็นศาสนาประจำประเทศไทย จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช “คนไทยในสมัยสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว....”(กรมศิลปากร ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 ด้าน 2. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2519 : 14-19)
พญาลิไทกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ทรงพระราชนิพนธ์ “หนังสือไตรภูมิพระร่วง” ทรงนำพระพุทธศาสนามาปรับใช้เป็นหลักธรรมปกครองปลูกฝังให้พสกนิกร "อายชั่ว กลัวบาป" ภาพของผู้ทำผิดต่างๆ เช่น ด่าทอทุบตีพ่อแม่ เบียดเบียนพระสงฆ์องค์เจ้า พ่อค้าโกงตาชั่ง ข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง ตายแล้วจะตกนรกที่มีการลงโทษทัณฑ์สอดคล้องกับความผิดนั้นๆ เป็นการเตือนให้ประชาชนกลัวบาป และเร่งทำความดี เพื่อความสุขในปัจจุบัน และในชาติภพหน้า นี้คือ "กฎหมายทางใจ" ในขณะที่ยังมิได้ตรากฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
สมเด็จพระนเรศวร ชนช้างกู้ชาติไทยกลับคืนมาประกาศบำรุงพระพุทธศาสนาคู่ชาติไทย พระบรมสัตยาธิษฐานของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบาทสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าจึงตรัสประกาศแก่เทพยดาทั้งปวง ให้บังเกิดในประยูรมหาเศวตฉัตร จะให้บำรุงพระบวรพุทธศาสนา ไฉนจึงมิช่วยให้สว่างแลเห็นข้าศึกเล่า พอตกพระโอษฐ์ลง พระพายก็พัดควันอันเป็นหมอกมืดนั้นสว่างไป ทอดพระเนตรเห็นข้างเศวตฉัตร 16 ข้าง มีข้างดั้งข้างกันยืนอยู่เป็นอันมาก...ฯลฯ...” (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม 1 ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด).2533: 207)
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชดำรัสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรัสแก่ ฟอลคอน ราชทูตพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่รับสั่งมากับราชทูต ชักชวนให้พระองค์เข้ารีต ว่า
“พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะให้เราเข้ารีตดังนั้นหรือ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในราชวงศ์ของเราก็ได้นับถือพระพุทธศาสนามาช้านานแล้ว จะให้เราเปลี่ยนศาสนาอย่างนี้เป็นการยากอยู่ และถ้าพระเจ้าผู้สร้างฟ้าสร้างดินจะต้องการให้คนทั่วโลกได้นับถือศาสนาอันเดียวกันแล้ว พระเจ้ามิจัดการให้เป็นเช่นนั้นเสียแล้วหรือ ?”
“จริงอยู่เมื่อฟอลคอน ในเวลาหมอบอยู่ข้างพระบาทพระเจ้ากรุงสยาม ได้แปลคำชักชวนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้รับสั่งมากับราชทูตนั้น ฟอลคอนก็กลัวจนตัวสั่น และสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระกรุณาโปรดให้อภัยแก่ฟอลคอน แต่ก็ได้รับสั่งว่า ได้ทรงนับถือศาสนาอันได้นับถือต่อๆ กันมาถึง 2,229 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นที่จะให้พระองค์เปลี่ยนศาสนาเสียนั้น เป็นการที่พระองค์จะทำไม่ได้” (ประชุมพงศาวดาร เล่ม 16. 2507: 23-24)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสวยราช เมื่อ พ.ศ. 2275 การบวชเรียนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงยุคหลัง ถึงกับกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นขุนนาง มียศถาบรรดาศักดิ์ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น จึงจะทรงแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ให้ ในสมัยนี้ได้ส่งพระภิกษุเถระชาวไทยไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศลังกาตามคำทูลขอของกษัตริย์ลังกา เมื่อ พ.ศ. 2296 จนทำให้พุทธศาสนากลับเจริญรุ่งเรืองในลังกาอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน และเกิดนิกายของคณะสงฆ์ไทยขึ้นในลังกา ชื่อว่านิกายสยามวงศ์ นิกายนี้ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน
พระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ทรงกู้ชาติเพื่อน้อมถวายแผ่นดินไทยเป็นพุทธบูชาโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ได้ทรงกอบกู้พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทยให้กลับฟื้นคืนดีจนมีความมั่นคงสถาพร แม้พระเจ้าตากสินมหาราช จะทรงกรำศึกสงครามเกือบตลอดรัชสมัย แต่พระองค์ก็ทรงเอาพระทัยใส่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยพระราชศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง พระราชปรารภและน้ำพระทัยของพระเจ้าตากสินมหาราชที่จารึกในศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีข้อความดังนี้ อันตัวพ่อ นี้ชื่อ พระยาตาก...
พระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการก่อนขึ้นครองราชย์ว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี” (พระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดง) โดยบรรทัดแรกนั้น พระองค์ตรัสถึงการอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา อันเป็นหน้าที่หลักของพระมหากษัตริย์อย่างหนึ่ง บรรทัดสองตรัสถึงหน้าที่หลักอีกประการหนึ่ง คือการปกครองประเทศชาติและประชาชน “ทุกวันนี้ตั้งพระทัยแต่ที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ไพร่ฟ้าประชากรให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ตั้งอยู่ในคติธรรมทั้ง 4 ดำรงจิตจตุรัสบำเพ็ญศีลทาน จะได้สุคติภูมิ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติเป็นประโยชน์แก่ตน”(กฎหมายตราสามดวง. 2512: 796)
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ภายหลังจากทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์สำเร็จลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชศรัทธาจะประดิษฐานการพระศาสนาให้ถาวรสืบไป จึงทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ ฐานานุกรม พระเปรียญ ๑๐๐ รูป มารับพระราชทานฉันแล้ว มีพระราชปุจฉาถึงสถานะความถูกต้องแห่งพระไตรปิฎก เมื่อสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพระพรว่า ยังมีผิดพลาดคลาดเคลื่อนด้วยคัดลอกกันสืบเป็นเวลานาน กับทั้งบางครั้งบางคราวบ้านเมืองเกิดกลียุคเป็นเหตุให้คัมภีร์สูญหายเป็นอันตรายไปบ้าง จึงได้ทรงอาราธนาให้คณะสงฆ์ดำเนินการสังคายนาชำระพระไตรปิฎก คณะสงฆ์มีองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน คัดเลือกได้พระสงฆ์ผู้คงแก่เรียนได้ จำนวน ๒๑๘ รูป และราชบัณฑิตอุบาสกได้ ๓๒ คน ให้สังคายนาชำระพระไตรปิฎก ซึ่งได้แบ่งออกเป็น ๔ กอง สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎก พระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระคัมภีร์สัททาวิเสสประชุมกันทำ ณ วัดนิพพานราม ซึ่งเปลี่ยนนามใหม่เป็น วัดศรีสรรเพชญ์ คือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ปัจจุบัน เพราะวัดนี้เป็นมหาวิหารระหว่างพระบรมราชวังและพระราชวังบวร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระอนุชาธิราช เสด็จทรงอังคาสพระสงฆ์ ณ พระอารามนี้วันละ ๒ เวลาทุกเช้าค่ำ คณะสงฆ์และราชบัณฑิตชำระพระไตรปิฎกอยู่เป็นเวลา ๕ เดือนจึงสำเร็จ แล้วมีพระราชศรัทธาทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นอันมากจ้างช่างจารึกลงในใบลาน โปรดให้ปิดทองทึบปกหน้า ปกหลัง และกรอบทั้งสิ้นเรียกว่า ฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นอักษรบอกชื่อคัมภีร์ทุกคัมภีร์ ในตู้มุกเก็บรักษาไว้ที่หอพระมนเทียรธรรมบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2352 เป็นทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ
ในปี พ.ศ. 2357 ทรงจัดส่งสมณทูต 8 รูป ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา ได้จัดให้มีการจัดงานวันวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2360 ซึ่งแต่เดิมก็เคยปฏิบัติถือกันมาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัย แต่ได้ขาดตอนไปตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า จึงได้มีการฟื้นฟูวันวิสาขบูชาใหม่ ได้โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการสอบไล่ปริยัติธรรมขึ้นใหม่ ได้ขยายหลักสูตร 3 ชั้น คือ เปรียญตรี -โท - เอก เป็น 9 ชั้น คือ ชั้นประโยค 1 - 9
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจำนวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับครบถ้วนกว่ารัชกาลก่อน ๆ โปรดให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง และสร้างวัดใหม่ คือ วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาราม และวัดเฉลิมพระเกียรติ ได้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสอนหนังสือไทยแก่เด็กในสมัยนี้ได้เกิดนิกายธรรมยุติขึ้น โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามกุฎสมมติวงศ์ พระวชิรญาณมหาเถร ขณะที่ผนวชอยู่ได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2372 ได้ตั้งคณะธรรมยุติขึ้นในปี พ.ศ. 2376 แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎได้ผนวช 27 พรรษาแล้วได้ลาสิกขาขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 48 พรรษา ใน พ.ศ. 2394 ด้านการพระศาสนา ทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่น วัดปทุมวนาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นต้น ตลอดจนบูรณะวัดต่าง ๆ อีกมาก โปรดให้มีพระราชพิธี "มาฆบูชา" ขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2394 ณ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2411 ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น คือ วัดราชบพิธ วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางนิมิตร วัดจุฑาทิศธรรมสภารามวรวิหาร และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุ และวัดอื่นๆ อีก ทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาจำนวนมาก โปรดให้มีการเริ่มต้นการศึกษาแบบสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้พระสงฆ์รับภาระช่วยการศึกษาของชาติ
"...ข้าพเจ้าจะไม่มีจิตยินดีน้อมไปในศาสดาอื่นนอกจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมอันพระองค์ได้ตรัสรู้ชอบดีแล้ว กับทั้งพระสงฆ์หมู่ใหญ่ อันได้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยเป็นอันขาด จนตราบกว่าสิ้นชีวิต..."
(เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๑๖)
"พระราชบิดาของฉันได้ทรงสละเวลาเป็นส่วนใหญ่ในการศึกษาและคุ้มครองศาสนาของชาติ ส่วนฉันได้ขึ้นครองราชย์ในขณะอายุยังน้อย จึงไม่มีเวลาที่จะเป็นนักศึกษาอย่างพ่อ ฉันเองมีความสนใจในการศึกษาหนังสือหลักธรรมต่าง ๆ สนใจที่จะคุ้มครองศาสนาของเราและต้องการที่จะให้มหาชนทั่วไปมีความเข้าใจถูกต้อง"
(พระราชหัตถเลขาถึง เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์)
"ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะต้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งคู่กับพระราชอาณาจักรให้ดำเนินไปในทางวัฒนาถาวรพร้อมกันทั้งสองฝ่าย" (พระราชดำรัสต่อคณะคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๔๐)
พ.ศ. 2427 ได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก ณ วัดมหรรณพาราม
พ.ศ. 2414 โปรดให้จัดการศึกษาแก่ประชาชนในหัวเมือง โดยจัดตั้งโรงเรียนในหัวเมืองขึ้น
พ.ศ. 2435 มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกรมธรรมการเป็นกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) โปรดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย จบละ 39 เล่ม จำนวน 1,000 จบ
พ.ศ. 2432 โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาเป็นบาลีวิทยาลัย ชื่อมหาธาตุวิทยาลัย ที่วัดมหาธาตุ
พ.ศ. 2439 ได้ประกาศเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร
พ.ศ. 2436 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุตินิกาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเปิดในปีเดียวกัน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระองค์ตรัสไว้ความตอนหนึ่งว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนา สำหรับชาติเรา เ ราจึงจำเป็นต้องถือด้วยความกตัญญูต่อบิดามารดาและโคตรวงศ์ของเรา"
"พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา เราจำเป็นต้องถือด้วยความกตัญญูต่อบิดามารดาและต้นโคตรวงศ์ของเรา จำเป็นต้องถือไม่มีปัญหาอะไร... เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกได้แน่นอน จึงได้กล้าลุกขึ้นยืนแสดงเทศนาทางพระพุทธศาสนาแก่ท่านทั้งหลาย..
“เมื่อรู้สึกแน่นอนแล้วว่า ศาสนาในสมัยนี้เป็นของที่แยกจากชาติไม่ได้...ถ้าข้าพเจ้าจะขอแก่ท่านทั้งหลายว่า พุทธศาสนาเป็นของไทย เรามาชวนกันนับถือพระพุทธศาสนาเถิด...ผู้ที่แปลงศาสนา คนเขาดูถูกยิ่งเสียกว่าผู้ที่แปลงชาติ...เพราะเหตุฉะนั้นเป็นความจำเป็นที่เราทั้งหลาย ผู้เป็นไทยจะต้องมั่นอยู่ในศาสนาพระพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา......ถ้ามีอันตรายอย่างใดมาถึงพระพุทธศาสนา เราทั้งหลายจะเป็นผู้ที่ได้รับความอับอายด้วยกันเป็นอันมาก...เหตุฉะนี้ เป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องตั้งใจ ที่จะรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อย่าให้มีอันตรายมาถึงได้...” (พระบาทสมเด็จพระพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, เทศนาเสือป่า)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว "ศาสนาจะเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงน้ำใจ ให้ทนความลำบากได้ ให้มีแรงที่จะทำการงานของตนให้เป็นผลสำเร็จได้ และยังเป็นยาที่จะสมานหัวใจ ให้หายเจ็บปวดในยามทุกข์ได้ด้วย…พวกเราทุก ๆ คน ควรพยายามให้เด็ก ๆ ลูกหลานของเรามี "ยา" สำคัญ คือ คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าติดตัวไว้เป็นกำลัง เพราะ "ยา" อย่างนี้เป็นทั้ง "ยาบำรุงกำลัง" และ "ยาสมานหรือระงับความเจ็บปวด”
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในการเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยอย่างแน่วแน่ว่า จะทรงผนวชในพระพุทธศาสนาสักวาระหนึ่ง โดยได้มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงขอสังฆราชานุเคราะห์ ในการศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนา เพื่อใช้ในการเตรียมพระองค์ ในการที่จะอุปสมบท พระองค์ได้พระราชทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สเตรทเอคโค ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า "...ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่จะได้เดินทางกลับสู่ประเทศอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า และในอันที่จะได้เห็นประชาราษฎร์ของข้าพเจ้า..."
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 9 สืบต่อมา มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงเป็นศาสนูปถัมภก ทรงให้การอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนา ทรงสร้างวัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี และทรงปกครองบ้านเมืองโดยสงบร่มเย็น ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ได้มีการส่งเสริมพุทธศาสนาด้านต่าง ๆ มากมาย
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ว่า "เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยือนสำนักวาติกัน เมื่อปีคริสต์ศักราช 1870 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสถามถึงคนไทยนับถือศาสนามากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้าทูลตอบว่า คนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติ" (พระราชดำรัสตรัสต้อนรับโป๊ป จอห์นปอลที่ 2 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันที่ 10 พฤษภาคม 2527)
"โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเราทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเองก็เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล จึงเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวย ข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณีซึ่งจัดเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมด้วย และนับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ล่วงมากว่าสิบปีแล้ว เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ควรจะทำความตั้งใจไว้นั้นแล้วประการหนึ่ง...จึงได้ตกลงใจที่จะบรรพชาอุปสมบทในวันที่ ๒๒ เดือนนี้"
สมัยรัชกาลที่ 10 (พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน) สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2 ฉบับ ได้แแก่ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ 3 และ ฉบับที่ 4 โดยตามกฎหมายใหม่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช และ กรรมการมหาเถรสมาคมได้ทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องเลือกพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์เท่านั้น
ทรงศึกษาภาษาบาลีเพื่อเป็นกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก ทรงพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีพร้อมทั้งคำแปล พระราชทานเป็นคติธรรมนำปฏิบัติแก่ข้าราชบริพาร และคติธรรมกำกับเจลแอลกอฮอล์พระราชทาน ถวายการสอนโดย ดร.พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.9) วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร
ทรงศึกษาอักษรอริยกะ (ภาษาโบราณที่เคยรุ่งเรืองในสมัย รัชกาลที่ 4) พระสุตตันตปิฎก และจิตตนคร ถวายการสอนโดย พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) วัดบวรนิเวศวิหาร
อีกทั้งทรงศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมจากพระอาจารย์รูปสำคัญหลายๆ รูป
ทรงติดตามข่าวสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือให้ทันท่วงที โดยเฉพาะวิกฤต COVID-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญชะตากรรมร่วมกันในขณะนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์ 2.8 พันล้านบาท เพื่อสมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด "โควิด-19"
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยแพร่ข้อความระบุว่า
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยประชาชนและบุคลากรการแพทย์ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง โดยพระราชทานทรัพย์เพื่อสมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและสถานที่ต่างๆ เพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ได้แก่
1. พระราชทานทรัพย์ จำนวน 100,000,000 บาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช
2. พระราชทานทรัพย์ จำนวน 2,407,144,487.59 บาท แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล 27 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์
3. พระราชทานทรัพย์ จำนวน 345,000,000 บาท แก่เรือนจำ ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564.
ผู้ที่แก้ปัญหาตามหลักได้ดี ด้วยทศพิศราชธรรม เว้นจากอคติทั้ง ๔ มาจากประมุขของแต่ละประเทศ เพราะโลกนี้ต้องปกครองด้วยทศพิศราชธรรม เป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรม และยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติ
ทศพิธราชธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ราชธรรม 10" นี้ ปรากฏอยู่ในมหาหังสชาดก พระสูตร ขุททกนิกาย ชาดก ปรากฏพระคาถา ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ.
ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม 10 คือจริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็น หลักธรรม ประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้
1. ทาน หมายถึง พระราชทานพัสดุสิ่งของ หรือปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต แก่ผู้สมควรได้รับ ได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ และราษฎรผู้ยากไร้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ แก่พระราชวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามสมควรแก่ฐานะ.
2. ศีล หมายถึง การทรงศีล หรือการที่ทรงตั้งสังวรรักษาพระอาการ กาย วาจา ให้สะอาดปราศจากโทษอันควรครหา พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้เสด็จออกทรงผนวช เพื่อทรงศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัย อุทิศพระราชกุศลพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย.
3. บริจาค หมายถึง การพระองค์พระราชบริจาคไทยธรรม หรือสิ่งของที่พระราชทานให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่พระราช วงศานุวงศ์ และทูลข้าละอองธุลีพระบาท ตามฐานะที่ราชการฉลองพระเดชพระคุณ รวมทั้งพระราชทานแก่ประชาชนผู้ยากไร้ได้อาศัยเลี้ยงชีวิต.
4. อาชวะ หมายถึง ความซื่อตรง ทรงมีพระราชอัธยาศัย อันประกอบด้วยความซื่อตรง ดำรงในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อพระราชสัมพันธมิตรและพระราชวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง ไม่ทรงคิดลวง ประทุษร้ายโดยอุบายผิดยุติธรรม.
5. มัททวะ หมายถึง ความอ่อนโยน ทรงมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยน ไม่ดื้อดึงถือพระองค์แม้มีผู้ตักเตือนในบางอย่าง ด้วยความมีเหตุผลก็จะทรงพิจารณาโดยถี่ถ้วน ถ้าถูกต้องดีชอบก็ทรงอนุโมทนา และปฏิบัติตาม ทรงสัมมาคารวะอ่อนน้อมแก่ท่านผู้เจริญโดยวัยและโดยคุณ ไม่ทรงดูหมิ่น.
6. ตบะ หมายถึง ความเพียร ทรงสมาทานกุศลวัตร ด้วยการเอาพระราชหฤทัยใส่ ในการปกครองพระราชอาณาเขต และประชาชนให้มีความสุขปราศจากภยันตราย ตลอดถึงการที่ทรงมีพระอุตสาหะอันแรงกล้าในกุศลสมาทาน ระวังบาปที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพื่อจะกำจัดบาปกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมสูญ ไม่ตั้งอยู่ในพระสันดาน.
7. อักโกธะ หมายถึง ความไม่โกรธ ทรงมีพระกริยาที่ไม่โกรธโดยวิสัย มิใช่เหตุที่ควรโกรธ แม้มีเหตุที่ให้ทรงพระพิโรธ แต่ทรงข่มเสียให้อันตรธานสงบระงับไป ด้วยทรงมีพระเมตตาอยู่เสมอ ไม่ทรงปรารถนาจะก่อภัย ก่อเวรแก่ผู้ใด.
8. อวิหิงสา หมายถึง ความไม่เบียดเบียน ด้วยทรงมีพระราชอัธยาศัย กอปรด้วยพระมหากรุณา ไม่ทรงปรารถนาจะก่อทุกข์แก่ผู้ใดแม้กระทั้งสัตว์ ไม่ทรงเบียดเบียนพระราชวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และอาณาประชาราษฎร์ ให้ลำบากด้วยเหตุอันไม่ควรกระทำ.
9. ขันติ หมายถึง ความอดทน ทรงมีพระราชหฤทัยดำรงมั่นในขันติ มีความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทน เช่น อดทนต่อทุกข์ อดทนต่อเวทนาอันเกิดขึ้นในพระกาย และทรงมีพระขันติเมตตากรุณาธิคุณ งดโทษผู้มีความประมาท กระทำผิดล่วงพระอาญา และควรจะลงราชทัณฑ์ แต่ก็ทรงระงับด้วยความอดทนไว้ได้.
10. อวิโรธนะ หมายถึง ความเที่ยงธรรม ทรงรักษาความยุติธรรมไม่ให้แปรผันจากสิ่งที่ตรง และดำรงพระอาการไม่ยินดี ยินร้าย ต่ออำนาจอคติทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่ง คือความไม่ประพฤติผิดในขัตติยราชประเพณี ทรงดำรงอยู่ในพระราชจริยาวัตรของพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง.
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee