แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๔๖ ต้องเลือกทางชีวิตของเราว่า จะเป็นก้อนทองคำที่มีค่า หรือจะเป็นดินทรายที่ถูกร่อนทิ้ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนที่เกิดมามีร่างกายเป็นมนุษย์นี้ ถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐมากประเสริฐพิเศษ ประเสริฐจริงๆ ต้องพากันมาทำความรู้จักว่า ความประเสริฐนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา การเดินทางของเราคือการทำที่สุดแห่งทุกข์ ตามพระพุทธเจ้า เรียกว่าตามพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้าไม่ใช่นิติบุคคลตัวตนเราเขา คือธรรมะ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี
การประพฤติการปฏิบัติของเราเน้นที่ปัจจุบัน ต้องเป็นผู้ที่เที่ยงแท้แน่นอนในปัจจุบัน เอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่เรียกว่า ธรรมวินัย หรือเรียกว่าศีล ทุกท่านทุกคนเป็นผู้ที่ประเสริฐมากเป็นผู้พิเศษมากต้องรู้จักคุณค่าของความประเสริฐ คนเราชีวิตของเราต้องเที่ยงแท้แน่นอน ผู้ที่มีความเห็นชัดเจน มีความรู้ถูกต้องชัดเจน ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติชัดเจน คือพระโสดาบัน คือผู้ที่รับรองว่าไม่เวียนว่ายตายเกิดสู่อบายภูมิอีก
พระโสดาบัน โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ บุคคลที่บรรลุโสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผลเรียกว่า พระโสดาบัน บทสวดมนต์ที่เกี่ยวกับสังฆคุณนั้นมีคำว่า “จัตตาริ ปุริสยุคานิ อัฏฐ ปุริสะปุคคลา” แปลว่า “อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล” บุคคล ๘ จำพวก คือ
(๑) พระโสดาบัน (๒) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
(๓) พระสกทาคามี (๔) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล
(๕) พระอนาคามี (๖) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล
(๗) พระอรหันต์ (๘) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
ในบรรดา ๔ คู่ ๘ จำพวก คู่บุรุษคู่ที่ ๑ คือ โสดาปัตติมรรค และโสดาปัตติผล โสดาปัตติมรรค เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมจักษุ หมายถึง ดวงตาเห็นธรรม คือ โสดาปัตติมัคคญาณ หรือ ธรรมจักษุ หมายถึงดวงตาเห็นธรรม คือการบรรลุโสดาปัตติมรรคที่กำหนดรู้อริยสัจ ๔ คำว่าดวงตาเห็นธรรมเป็นประตูด่านแรกที่พระอริยบุคคลจะต้องผ่านด้วยกันทั้งหมด เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” คำว่าได้รู้แล้วหนอคือได้บรรลุโสดาบัน หรือได้ธรรมจักษุ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะและพระอัสสชิเมื่อท่านบรรลุเป็นพระโสดาบัน ในคัมภีร์บันทึกไว้ว่า ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
ในอังคุตตรนิกายทุกนิบาต พระพุทธเจ้าทรงอุปมาธรรมจักษุกับท้องฟ้าสารทกาล (ฤดูใบไม้ร่วง) ว่า “ธรรมจักษุที่ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินเกิดแก่อริยสาวก พร้อมกับการเกิดขึ้นแห่งทัสสนะ อริยสาวกย่อมละสังโยชน์ ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) และสีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต) เปรียบเหมือนท้องฟ้าแจ่มใสปราศจากเมฆหมอกในสารทกาล ดวงอาทิตย์ส่องแสงไปทั่วท้องฟ้า ขจัดความมืดมัวที่อยู่ในอากาศทั้งหมด ส่องแสง แผดแสงและส่องสว่างอยู่”
ในคัมภีร์ธรรมบทกล่าวถึงคุณธรรมพระโสดาบันว่า “โสดาปัตติผลเป็นคุณชาติประเสริฐกว่าการเป็นเจ้าจักรพรรดิ กว่าการเป็นเทวดา กว่าการเป็นพรหม” จะเห็นได้ว่าพระโสดาบันมีภาวะที่ประเสริฐกว่าทุกสิ่งที่เป็นสมบัติที่มนุษย์ไขว่คว้าแย่งชิงกัน การที่มนุษย์ได้เป็นพระราชาถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญวาสนาบารมีอย่างมาก แต่ถ้าบุคคลนั้นได้เป็นพระโสดาบันถือว่าคุณธรรมเหนือกว่าพระราชาสาเหตุที่เหนือกว่าพระราชาเพราะพระราชายังไม่พ้นจากอบายภูมิ แต่พระโสดาบันพ้นจากอบายภูมิ อรรถกถาธรรมบทอธิบายเกี่ยวกับพระโสดาบันเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นว่า “ถึงแม้จะมีฐานะเป็นพระราชาในเมืองนั้นก็ไม่พ้นจากอบายภูมิมีนรกเป็นเป็นต้น ส่วนการที่บุคคลได้เป็นพระโสดาบันเป็นการปิดประตูอบายภูมิ อย่างน้อยก็ไม่บังเกิดในภพที่ ๘”
ธรรมที่ทำให้บุคคลบรรลุพระโสดาบันนั้นคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้าปราศจากอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย สุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้ว ตามแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะผู้เป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก ไม่มีในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิอื่นว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังตรัสถึงแว่นธรรมว่าสามารถที่จะพยากรณ์ตัวเองได้ว่าจะไม่ไปเกิดในนรก ข้อความว่า แว่นธรรมเป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรกหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดนเปรตหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า พระโสดาบันไม่มีวิจิกิจฉาสังโยชน์ ดังข้อความที่พระอานนท์กล่าวว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่าแม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอกล่าวเพราะความเลื่อมใส แต่ตถาคตมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ดีว่า ในภิกษุสงฆ์นั้น แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทาในจำนวนภิกษุ ๕๐๐ รูป ภิกษุผู้มีคุณธรรมขั้นต่ำสุด เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
โสดาปัตติมรรคมีการประหานกิเลส ๓ ชนิดคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เมื่อศึกษาบุคคลในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล มีบรรพชิตและคฤหัสถ์สำเร็จเป็นพระโสดาบันหลายท่าน เช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา สำเร็จเป็นพระโสดาบันเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ ภรรยาของนายพราณกุกกุฏฏมิตร พระเจ้าพิมพิสาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ล้วนมีการครองเรือนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในขณะที่ครองเรือนนั้น ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาไม่มี รู้ความเป็นไปของโลกตามความเป็นจริง ไม่มีความสงสัยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในกรรม ผลของกรรม ไม่มีการปฏิบัติผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงตนอยู่ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญา บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่น บริจาคทานเป็นประจำ สังโยชน์ ๓ ชนิด ถูกทำให้หมดสิ้นไปด้วยปัญญาที่สูงสุดคือปัญญาในโสดาปัตติมรรคจิต
ลักษณะของผู้เป็นพระโสดาบัน การที่จะทราบลักษณะของพระโสดาบันได้นั้นบุคคลผู้นั้นจะต้องมีลักษณะที่แตกต่างจากปุถุชนคนธรรมดา บุคคลนั้นจะมีลักษณะที่โดดเด่น ที่เรียกว่า องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ประการได้แก่
(๑) เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
(๒) เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’
(๓) เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทางปฏิบัติสมควรได้แก่ พระอริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’
(๔) เป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
การที่จะสังเกตว่าใครเป็นพระโสดาบันนั้น ต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้คือ พระโสดาบันต้องมีความเลื่อมในอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีศีลบริสุทธิ์ไม่ด่าง ไม่ขาด ไม่ทะลุ พระโสดาบันที่ครองเรือนมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ถ้าจะมีคำถามแย้งว่า ภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตตที่สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ถูกสามีใช้ให้นำ ธนู หอก หลาว มาให้สามี เพื่อที่จะนาไปฆ่าสัตว์และขายเนื้อสัตว์มาเลี้ยงครอบครัว ทำไม พระโสดาบันยังทำปาณาติบาตหรือ ในอรรถกถาธรรมบทภาค ๕ ได้อธิบายว่า จิตของนางไม่ยินดีในเนื้อสัตว์และไม่ได้สั่งให้สามีไปฆ่าสัตว์เพื่อนำเนื้อมาขาย แต่นางทำตามหน้าที่ของภรรยาเท่านั้น
สอดคล้องกับลักษณะของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ทำบุญเป็นประจำไม่เคยขาดถึงแม้ว่าจะไม่มีทรัพย์ในการทำบุญเพราะทรัพย์สมบัติของเศรษฐี ถูกพ่อค้ายืมไปแล้วไม่นำมาคืน ทรัพย์จึงเหลือน้อย จึงทำบุญด้วยข้าวปลายเกวียน และน้ำส้มผัก จึงเป็นเหตุให้เทวดาที่สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่พอใจจึงมาเตือนเศรษฐีไม่ให้ทำบุญอันเป็นเหตุพาตนให้เดือดร้อนจนไม่มีข้าวสารจะกรอกหม้อ เศรษฐีอนาถบิณฑิกจึงไล่เทวดาออกจากซุ้มประตูไม่ให้อาศัยอยู่ต่อไป เพราะเทวดาแนะนำในทางที่สวนกระแสความคิดของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ลักษณะของพระโสดาบันนั้นจะไม่หวั่นไหวในคำยุยงให้เลิกทำบุญกับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ในขณะเดียวกันนั้นพระโสดาบันมีจิตเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย
อุปติสสะ (พระสารีบุตร) เมื่อครั้งฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระและได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันจึงนำหลักธรรมย่อๆ ที่ตนฟังแล้วไปเล่าให้โกลิตะ (พระโมคคัลลานะ) ฟัง ทำให้โกลิตะบรรลุโสดาบัน ทั้งสองมีความมุ่งมั่นที่จะไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เพราะในขณะนั้นเชื่อและเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ (อัสสชิ) แล้ว จึงไปชวนอาจารย์สัญชัยปริพพาชกไปฟังธรรม ฝ่ายอาจารย์ก็คัดค้านไม่ไป ธรรมดาแล้วศิษย์จะเชื่อฟังอาจารย์เมื่ออาจารย์ไม่ไป ตัวศิษย์ก็จะไม่ไป แต่เพราะลักษณะของพระโสดาบันมีความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวหมดความสงสัย (วิจิกิจฉา) ในพระรัตนตรัยแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาก็ไม่มี การประพฤติปฏิบัติที่ผิดๆก็หมดไป เกิดความสว่างเหมือนบุคคลเข้าใจโจทก์คณิตศาสตร์แล้วสามารถอธิบายวิธีทำโจทก์นี้และได้ผลลัพธ์อย่างถูกต้อง อุปติสสะและโกลิตะจึงไปฟังธรรมเพื่อค้นหาสิ่งที่สูงยิ่งขึ้นไป
เราทุกคนต้องเดินทางด้วยตนเอง ด้วยภาพประพฤติภาคปฏิบัติ ที่พระพุทธเจ้าทรงเมตตากรุณาบำเพ็ญพระบารมีที่ได้มาบอกมาสอน วางหลักการ 45 ปี 45 พรรษา ทุกๆ คนอย่าไปทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก มีผู้ถามว่าพระพุทธเจ้าตายแล้วได้เกิด หรือไม่ได้เกิด พระพุทธเจ้าบอกว่ามันไกลเกินให้เอาที่ปัจจุบัน เพราะคนเรานี้ต้องรู้ว่าเราเกิดมามาทำไม
ให้เราเข้าใจทุกท่านทุกคนไม่ว่าชาติไหนศาสนาไหน ต้องเข้าสู่ธรรมะเข้าสู่ความเป็นธรรมความยุติธรรม เพราะทุกคนนั้น เสียแต่ว่ามันหลงมันไปไม่ได้ มันวนอยู่ ดีใจเสียใจสุขทุกข์เป็นได้แต่คน เราทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะกัน เราต้องตั้งมั่นด้วยความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติถูกต้องเอาปัจจุบันให้ดี เราให้อาหารกายและเราต้องให้อาหารใจ ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราต้องก้าวไปอย่างนี้ ทุกคนน่ะแต่ก่อนยังไม่เป็นผู้เที่ยงแท้แน่นอนในธรรม เป็นผู้ที่ลังเลสงสัย เป็นผู้ที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้งไม่เสียสละ ต้องละตัวละโตนออกไปเราจะได้ไม่ต้องสงสัย ว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร เกิดมาเพื่อหยุดวัฏสงสารหรือมาทำที่สุดแห่งความดับทุกข์ เพราะว่าข้าวปลาอาหารหรือว่าที่อยู่ที่อาศัยยารักษาโรค ที่หมู่มวลมนุษย์ สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือเราเกิดมาแล้วเราต้องเลี้ยงดูร่างกายเลี้ยงพ่อแม่เลี้ยงดูญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล ดูแลประเทศ ดูแลพระศาสนา เพื่อความมั่นคงของทางร่างกาย แล้วก็เข้าสู่ทางจิตใจเรื่องจิตเรื่องใจนี้แหละ
เราต้องรู้จักจัดการตัวเองในปัจจุบัน ถ้าใครไม่จัดการตัวเองในปัจจุบัน เราจะเป็นคนไม่ทันสมัย ไม่ทันการไม่ทันเวลา เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มีล้าสมัย ต้องก้าวไปในปัจจุบัน นี้เป็นเรื่องจิตใจเรื่องสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องการปฏิบัติถูกต้อง ไม่เหมือนการเรียนการศึกษาในหนังสือไม่เหมือนการเรียนการศึกษาในหนังสือ ตั้งหลายสิบปีความรู้ก็ระดับหนึ่ง ปัจจุบันก็ระดับหนึ่ง มันไม่เข้าถึงปัจจุบันธรรม คนเรามันต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ก้าวไปอย่างนี้ หมู่มวลมนุษย์ของเรามันถึงจะได้มีความสว่างด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความสว่างด้วยความประพฤติความปฏิบัติ ต้องเห็นคุณค่า ทุกคนทุกท่านต้องพากันประพฤติปฏิบัติเต็มที่ อย่าทำตามที่ตัวเองเวียนวายตายเกิด มันเอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันเอาความหลงเป็นที่ตั้ง มันไม่ใช่แล้ว เราต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เรามีฉันทะมีความพอใจ เราต้อง fighting กับตัวเองจัดการกับตัวเอง ต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เราทุกคนผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่ถึงเป็นตัวอย่างให้ลูกหลาน รักษาศีล 5 ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม่ชีก็ศีล 8 100% สามเณรก็รักษาศีล 10 100% พระก็ 227 ภิกษุณีก็ 311 ที่มาในปาฏิโมกข์น่ะ แต่ที่มาในพระวินัยปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ มันเน้นไปทางเรื่องจิตเรื่องใจ มนุษย์ต้องพัฒนา ๒ อย่าง พัฒนาเทคโนโลยีพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เน้นที่ปัจจุบัน
เราทุกคนต้องเอาอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราไม่ต้องไปลังเลสงสัยเราไม่ต้องสงสัย ถ้าเรามีการประพฤติการปฏิบัติมันจะก้าวไปเอง เหมือนปัจจุบันที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใบไม้ในป่าไม้กับใบไม้ในกำมืออันไหนมากกว่ากัน เขาบอกว่าใบไม้ในป่า แต่ทุกอย่างก็คือใบไม้ ปัจจุบันคือสิ่งที่ดับทุกข์ของตัวเอง จะทำตามใจตัวเองทำอารมณ์ตัวเองทำตามความรู้สึก เรียกว่าไสยศาสตร์ เราอย่าไปหลงเราอย่าไปเซ่อเราอย่าไปเบลอ ส่วนใหญ่น่ะมันเซ่อมันเบลอมันงง เพราะมันไม่เน้นเข้าหาธรรม ไม่เข้าหาปัจจุบันธรรม ไม่เน้นเสียสละ ทำอะไรมันก็เก้อมันเขิน ทำอะไรก็ไม่ทันการไม่ทันเวลาอย่างนี้แหละ เราต้องรู้จักว่า เรามีชาติมีศาสนา มีพระมหากษัตริย์ คือธรรมราชาเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่
เราจะได้เข้าใจ เราทุกท่านทุกคนเคลียร์ตัวเองปฏิบัติตัวเอง เรานี้แหละคือการทำที่สุดแห่งทุกข์ไม่ใช่แค่ปลายเหตุ เราพากันร่ำพากันรวย พากันมีบ้านมีรถ มีเครื่องบิน คิดได้เก่ง วางแผนได้เก่ง อันนี้มันก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาปลายเหตุ เขาเรียกว่ามีความสุข ความสะดวก ความสบาย ในเมื่อเรามีลมหายใจเท่านั้นแหละ นี่คือการตายทางร่างกาย แต่จิตใจเรายังไม่ตายนะ หรือว่าการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องอวิชชาเรื่องความหลง เราต้องรู้จักภาษากายภาษาธรรม มันต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้
ทุกท่านทุกคนต้องมีความดับทุกข์อย่างนี้ อย่าไปเซ่ออย่าไปเบลอตามสิ่งแวดล้อม แต่ก่อนน่ะเพราะเรายังไม่ชัดเจน ปัจจุบันเราไม่ชัดเจน เราลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ ไม่รู้ว่าเราเกิดมาทำไมมีการเรียนการศึกษาทำไม ยังมีความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริง ที่เรามีการเรียนการศึกษามีการประพฤติการปฏิบัติ มีการพัฒนาเทคโนโลยีมีการพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน คือที่สุดแห่งการดับทุกข์ ต้องเสียสละให้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรมเลื่อนไป ทุกท่านทั้งหลายมองกรรมไม่รู้จัก พระพุทธเจ้ามองรู้จัก พระพุทธเจ้าน่ะรู้เรื่องอดีตหลายล้านหลายหมื่นหลายแสนหลายล้านชาติ ในอนาคตรู้หมดว่าจะเป็นยังไง เพราะว่าพวกเรามองไม่เห็นน่ะ
ธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ถึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก เป็นสิ่งที่นำทุกคนออกจากตัวตัดสงสาร ให้ทุกคนพากันเข้าใจ อย่าคิดว่าการบัญญัติพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เพื่อจะให้ร้อยกรองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มันไม่ใช่อย่างนั้น มันฉลาดกว่านั้นนั้น เพื่อนำใจให้หยุดกรรมหยุดเวรหยุดภัย ต้องอาศัยมรรค มรรคคือข้อวัตรข้อปฏิบัติ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงจะมี เราก็ดูว่าเราเมืองเราประเทศเราทุกประเทศ มันนำความเสียหายเสียทรัพยากรของมนุษย์ เสียทรัพยากรที่เราพากันค้นคว้าตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เราไปทิ้งความถูกต้องความเป็นธรรมความยุติธรรม เราเอาแต่ตัวแต่ตนน่ะ อย่างนี้มันเสียหาย เราน่ะเจ็บปวดเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้เป็นได้แต่เพียงคน เป็นตำรวจทหาร ข้าราชการ เป็นคุณครู เป็นพ่อเป็นแม่ มันไม่ได้เป็นอะไรอ่ะมันเป็นแบรนด์เนมเฉยๆ เราต้องรู้ว่าเราต้องเข้าสู่การประพฤติการปฏิบัติทางกายก็ยังไม่พอ คำพูดกริยามารยาทต้องเข้าถึงจิตถึงใจ ต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติอย่างนี้ อย่าถือว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก มันไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก อันนี้คนมันเห็นแก่ตัวมันจะว่างจากสิ่งที่ไม่มีอยู่ คืออันไหนตามใจเขาเรียกว่าว่างจากสิ่งที่ไม่มี อย่างว่าพวกนี้ก็ได้แค่สมาธิ ไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ไม่ใช่ที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ใช่ปัญญาที่เราต้องมารู้จักเขาสู่ความประพฤติภาคปฏิบัติ…
เราเป็นอะไร? ...อยู่ตรงไหนแล้ว? ต่อไปนี้เป็นการประมาณเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ปัจจุบันโลกนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่ประมาณเกือบ 8 พันล้านคน แต่เป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธทั้งมหายานและเถรวาทราวๆ 7.1% คือ 568 ล้าน (คริสต์ 31.5% อิสลาม 23% ศาสนาฮินดู 15% ไม่มีศาสนา 16% ศาสนาและลัทธิอื่นประมาณ 10% )
ใน 568 ล้านคนนี่ เป็นพุทธแต่ในทะเบียนบ้าน คือไม่มีศรัทธา ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ไม่เชื่อเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สมมุติว่าครึ่งหนึ่ง เหลือ284 ล้านคน
ในจำนวน 284 ล้านคนที่มีศรัทธานี่ ให้ทาน ทำบุญ ทอดกฐิน แต่ยังทำบาปอยู่ ไม่รักษาศีล สมมุติว่าครึ่งหนึ่งของคนเหล่านี้มีศีล 5 เหลือ 142 ล้านคน
ในจำนวนคนที่ถือศีลนี้ ไม่เคยสนใจจะฟังธรรม หรือศึกษาคำสอนที่ลึกซึ้งของพระพุทธเจ้า สมมุติว่าในจำนวนนี้มีผู้สนใจฟังธรรมครึ่งหนึ่งเหลือ 70 ล้านคน
ในจำนวนผู้ฟังธรรมเหล่านี้ ก็ฟังอย่างเดียว ทุกครั้งที่ฟังธรรมก็จะชื่นชมว่า หลวงปู่ หลวงพ่อเทศน์ดี พระอาจารย์เทศน์ดี แต่ไม่เคยคิดจะปฏิบัติธรรมหรือทำตามที่ครูบาอาจารย์เทศน์เลย สมมุติว่าในจำนวนนี้มีผู้สนใจปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสติครึ่งหนึ่ง เหลือ 35 ล้านคน
ในจำนวน 35 ล้านนี้ ปฏิบัติตามคำสอน ทำได้เพียงขณิกสมาธิ คือสมาธิเล็กน้อย ครึ่งหนึ่ง เหลือ 17.5 ล้าน ได้อุปจารสมาธิ สมาธิปานกลางครึ่งหนึ่ง เหลือ 8 ล้าน ได้อัปปนาสมาธิ คือได้ฌาน ครึ่งหนึ่งเหลือ 4 ล้าน
ในจำนวนผู้ได้ฌานนี้สมมุติว่าได้ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ลดลงไปครึ่งหนึ่งตลอดเหลือ 2 ล้าน 1 ล้าน 5 แสน 3 แสน 2 แสน คน
ในจำนวนผู้ได้ฌานนี้มีผู้เจริญวิปัสสนาได้ครึ่งหนึ่ง เหลือ ๑ แสนคน ได้เข้าถึงธรรม แต่ยังไม่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลครึ่งหนึ่งเหลือ 5 หมื่นคน
ใน ๕ หมื่นคนมีผู้บรรลุมรรคผล เป็นพระอริยบุคคล ๘ ขั้น คือโสดาปฏิมรรค โสดาปฏิผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล ลดลงครึ่งหนึ่ง... จะเหลือผู้สามารถบรรลุมรรคผลพ้นทุกข์ไปได้ เพียงไม่กี่ร้อยคน... จากจำนวนคนในโลกปัจจุบันนี้ ๘ พันล้านคน...
“เวลาคนเขาร่อนทอง ทองนั้นอยู่รวมกับดินทราย คนร่อนทองจะค่อยๆ เอาน้ำละลายเศษดินทรายออกจากที่ร่อน จนดินทรายนั้นออกไปหมด เหลือแต่ก้อนทองคำชิ้นเล็กๆ นิดเดียว การปฏิบัติธรรมก็ไม่ต่างกัน เราก็ต้องเลือกทางชีวิตของเรา ว่าจะเป็นก้อนทองที่มีค่า หรือจะเป็นดินทรายที่ถูกร่อนทิ้ง และวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ไปชั่วกัปชั่วกัลป์...
หรือถ้าสิ่งนี้คือการแข่งขันกีฬา การชิงชัยในแต่ละรอบคือการผ่านเข้ารอบมาตามลำดับ เราลองถามตัวเองดูซิว่า เราผ่านเข้ารอบมาถึงตรงไหนแล้ว..หรือว่าตกรอบมาตั้งแต่รอบแรกแล้ว...”
ดังนั้น ควรให้ตอบปัญหาของตัวเองว่า ชาตินี้เราเกิดมาเพื่อที่จะหยุดปัญหาหยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เราต้องปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยความตั้งใจด้วยการสมาทานด้วยการปฏิบัติ พุทธัง ยาวะนิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ ชีวิตนี้เราต้องปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข มีความสุขในการที่จะต้องเสียสละ
ถ้าสำหรับบรรพชิตนี้จุดหมายปลายทางของเราคือพระนิพพาน หรือว่า พระอรหันต์ขีณาสพ สำหรับฆราวาสนี้ก็จุดหมายปลายทางของเราคือพระนิพพาน เราไม่ถึงพระขีณาสพเราก็ย่อมถึงพระอนาคามีได้ ขึ้นอยู่ที่เราตั้งใจอยู่ที่เราสมาทาน อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงนั้นย่อมมีแก่เราแน่นอนในการประพฤติในการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัตินี้คือ ไฟท์ติ้ง ที่เราทุกคนจะต้องสอบผ่านในปัจจุบัน เราเอาฉันทะเราเอาความพอใจ สัมมาสมาธิเรา ทุกท่านทุกคนต้องพากันตั้งมั่น เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee