แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๔๕ บุคคลที่หาได้ยาก ก็คือบุคคลที่เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ ซื้อหัวใจไม่ได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกท่านทุกคนต้องตั้งใจฝึกตัวเอง ให้เอาความถูกต้องเป็นหลัก ทุกคนต้องฝึกคิดให้เป็น วางแผนให้เป็น เพื่อจะเป็นผู้นำตัวเองทั้งความรู้ทั้งภาคปฏิบัติ ไม่ต้องอาศัยคนอื่น เหมือนพระพุทธเจ้าคิดเป็นวางแผนเป็น พัฒนาเทคโนโลยีพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ส่วนใหญ่เราทุกคนมันคิดไม่เป็น จะสร้างบ้านอย่างนี้ก็อาศัยสถาปนิก วิศวกร การคิดเป็นวางแผนเป็นการรู้รายรับรายจ่าย ส่วนที่มันเป็นจิตใจ รายรับรายจ่ายส่วนที่เป็นการดำรงชีพ เราคิดไม่เป็น ย่อมมีหนี้มีสิน ต้องเก่งทั้งวิทยาศาสตร์เก่งทั้งเลขทั้งการคำนวณ มันต้องเก่งทั้งภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
อิณาทานํ ทุกขํ โลเก แปลว่า ความเป็นหนี้เป็นทุกข์แห่งโลก
พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้เหมาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ของหนี้ครัวเรือนประเทศไทยเราที่สูงมากมายก่ายกองอยู่ในขณะนี้
คนเป็นหนี้ไม่ว่าจะ หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรเงินสด หนี้ธุรกิจ หนี้ธนาคาร จนถึงแม้แต่หนี้นอกระบบ หนี้ญาติพี่น้อง คนรู้จัก ก็ล้วนแต่สร้างความทุกข์ไม่ต่างกัน ตามแต่จำนวนหนี้มากหรือน้อย ซึ่งเรื่องการเป็นหนี้นี้ พระพุทธองค์ทรงเคยเทศนาให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟัง "ว่าด้วยความสุขของคฤหัสถ์ ประกอบด้วยธรรมะ ๔ ประการ คือ อัตถิสุข หรือ ความสุขเกิดจากการมี ทรัพย์ โภคสุข หรือ ความสุขเกิดจากการได้จ่ายทรัพย์ อนนสุข หรือความสุขจากการไม่มีหนี้ และอนวัชชสุข หรือ ความสุขจากการทำงานไม่มีโทษ" ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
๑. อัตถิสุข (สุขเกิดจากการมีทรัพย์) หมายถึง ความสุขจากการมีทรัพย์ที่ได้มาด้วยความชอบธรรม ไม่ได้มาจากการประกอบอาชีพที่ต้องห้าม หรือจากการทำความเดือดร้อนให้คนอื่น
๒. โภคสุข (สุขเกิดจากการได้จ่ายทรัพย์) หมายถึง ความสุขจากการได้ใช้ทรัพย์ เป็นการใช้จ่าย ทรัพย์อย่างเหมาะสมกับทรัพย์ที่มีอยู่ นั่นคือไม่ฟุ่มเฟือย หรือใช้ไปในสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง เช่น สุรา ยาเสพติด เป็นต้น แต่ใช้อย่างมีประโยชน์ เช่น ประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ย่อมหมายถึงการเอื้อเฟื้อแบ่งปันช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วย
๓. อนนสุข (สุขเกิดจากการไม่มีหนี้) หมายถึง ความสุขที่บุคคลเป็นผู้ไม่มีหนี้ เพราะการเป็นหนี้เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามการไม่มีหนี้ถือเป็นโชคดีของบุคคลทั้งหลาย
ทุกคนมีทรัพย์มากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าใช้ทรัพย์เกินตัวก็ทำให้เป็นหนี้ ถ้าไม่เกินตัวก็ไม่มีหนี้ ก็มีความสุข จะรู้ว่าสุขจากการไม่มีหนี้เป็นอย่างไร ลองไปถามคนมีหนี้ดู แค่เป็นหนี้บัตรเครดิต เขาก็มาทวงเช้าทวงเย็นไม่มีความสุขเลย ใครเป็นหนี้บัตรเครดิตแสดงว่าใช้จ่ายเกินตัว ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีคิดทันที
๔. อนวัชชสุข (สุขเกิดจากการทำงานไม่มีโทษ) หมายถึง การดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรม เช่น ยึดมั่นในศีล 5 เป็นต้น ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนหรือเป็นพิษภัยต่อบุคคลอื่น
สรุปสั้นๆ คือ "มีเงิน ได้ใช้เงิน ไม่เป็นหนี้ และมีงานทำ"
เพราะฉะนั้น การไม่เป็นหนี้เป็นหนึ่งในความสุขแบบที่คนธรรมดาพึงต้องการในปัจจุบัน เราเป็นทาสแห่งการมอมเมาให้เราบริโภคผ่านสื่อทุกประเภท ตั้งแต่เราตื่น จนถึงกำลังจะนอน เราเหมือนถูกสะกดจิตทางอ้อมว่า คุณต้องมีสิ่งนี้นะ คุณต้องใช้แบบนี้นะ คุณถึงจะดูดี มีความสุข เราจึงติดกับดักหนี้สินกันมากมาย บางคนตายไปแล้ว ลูกหลานยังต้องผ่อนต่อ ก็มีให้เห็นถมเถไป
พระพุทธองค์สอนให้ขยันในการแสวงหา ตามหลักของทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ คือ
๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีพก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำธุระหน้าที่ของตนเอง
๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมการเก็บรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่นขยัน รู้จักเก็บออมทรัพย์ ไม่ให้เป็นอันตราย รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไป
๓) กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว มีกัลยาณมิตร และ
๔) สมชีวิตา เลี้ยงชีพตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้ฝืดเคือง ไม่ให้ฟุ่มเฟือยฟูมฟาย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่านี้เป็นระบบเศรษฐกิจพื้นฐานในระดับครอบครัว มีเป้าหมายของการพัฒนาอยู่ที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ ให้เกิดความสุขในการดำรงชีวิต
วิธีใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ๕ อย่าง คือ ๑. เลี้ยงตัว บิดา มารดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข ๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข ๓. บำบัดอันตรายอันจะเกิดแต่เหตุต่างๆ ๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ (๑) ญาติพลี = สงเคราะห์ญาติ (๒) อติถิพลี = ต้อนรับแขก (๓) ปุพพเปตพลี = ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย (๔) ราชพลี = ถวายเป็นหลวง มีเสียค่าภาษีอากรเป็นต้น (๕) เทวตาพลี = ทำบุญอุทิศให้เทวดา (บัณฑิตชาติ สำเร็จการอยู่ในประเทศสถานที่ใด พึงเชิญเหล่าท่านผู้มีศีล สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ เลี้ยงดูกันในที่นั้น เทพดาเหล่าใด มีในที่นั้น ควรอุทิศทักขิณาทานเพื่อเทพดาเหล่านั้นด้วย เทพดาที่บูชาท่านแล้ว ท่านย่อมบูชาบ้าง ที่นับถือท่านแล้วท่านย่อมนับถือบ้าง ย่อมอนุเคราะห์เขา ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตร ผู้เกิดจากอก บุรุษได้อาศัยเทพดาอนุเคราะห์แล้วย่อม พบแต่สิ่งที่อันเจริญตลอดไป) และ ๕. บริจาคทานในสมณพาหมณ์ผู้ประพฤติชอบ
ในโลกนี้เราไม่ต้องคิดจะพึ่งใคร เราต้องพึ่งตัวเอง ความขี้เกียจขี้คร้านมันมีกับเราทุกๆ คน ทุกๆ คนอย่าไปสนใจความขี้เกียจขี้คร้านต้องปรับตัวเองเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะ ต้องทำติดต่อต่อเนื่องเอาเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ไปเรื่อยๆ หลายวัน หลายเดือน หลายปี เป็นปัจจุบันธรรมไปเรื่อยๆ ทรัพยากรของมนุษย์ รู้เหตุรู้ผลข้อปฏิบัติก็ยังไม่เพียงพอ เราต้องเข้าถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ในโลกนี้เราไม่ต้องกลัวอะไรหรอก ทุกๆท่านทุกคนต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ว่างจากสิ่งที่ยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน ว่าของเรา ปัจจุบันเราต้องมีสัมมาทิฏฐิรู้เรื่องเหตุเรื่องผล และมีการประพฤติปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ถ้าเราลงรายละเอียดในการประพฤติในการปฏิบัติ ไม่ปล่อยโอกาสปล่อยเวลา จัดการตัวเองให้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป
ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ขอไม่ได้ทุกท่านทุกคนต้องทำด้วยตัวเอง ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง ดูตัวอย่างแบบอย่างที่ ปู่ย่าตายายของเรายากจน หรือดูคนอื่นยากจนเพราะว่าไม่รู้เหตุ ไม่รู้ปัจจัย ทำอะไรไปเพราะมาจากความไม่รู้ เราเลยสร้างเหตุเกิดทุกข์ สร้างให้ตัวเองเป็นทุกข์ มีความเห็นผิดเข้าใจผิดหลายปีผ่านมาเมื่อมีปัญหาเราถึงพากันรู้ ส่วนใหญ่พากันไปโทษแต่คนอื่นสิ่งที่พึ่งไว้ที่แท้จริงคือความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง แล้วเราต้องลงมือประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราขึ้นความเห็นถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ของเรา เราต้องนำพ่อแม่ญาติวงศ์ตระกูล
ทุกคนที่เกิดมา ต้องมาเข้าใจเรื่องทุกข์เรื่องเหตุเกิดทุกข์ เพื่อจะได้แก้ปัญหาทางกายทางใจ เพราะอันนี้คือ กรรมการกระทำของเรา กรรมทางกาย กรรมทางใจ กรรมทางกิริยามารยาทในความประพฤติ ให้ทุกท่านทุกคนปฏิบัติให้ถูกต้อง ตั้งแต่เด็กๆ เด็กๆ ยังไม่รู้ต้องอาศัยพ่อแม่ พ่อแม่ก็พากันปฏิบัติให้ได้ 100% เราถึงจะบอกลูกบอกหลานเราได้ พ่อแม่ถึงเป็นพระประจำบ้าน พระท่านก็ได้แก่พระธรรม พระศาสนา ไม่ใช่นิติบุคคลตัวตนเราเขา พ่อแม่ทุกคนต้องมีศีล 5 ให้สมบูรณ์ทั้งกายทั้งวาจาทั้งใจ มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง และมีการปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่ออกมาจากใจ ที่ออกมาจากศาสนา เราทำอย่างนี้ลูกหลานเขาถึงจะเคารพนับถือ พ่อแม่ต้องเป็นฮีโร่ให้กับลูกกับหลานให้เป็นแบบอย่าง เมื่อเราพากันเกิดขึ้นมาแล้วเราก็พากันแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราต้องมาเรียนหนังสือ เพื่อจะได้ไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงชีพ ดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ ญาติๆ ลูกน้องพร้อมบริวาร ช่วยเหลือประเทศชาติบ้านเมืองเพื่อบำรุงพระพุทธศาสนา ความรู้ที่เราได้จากการเรียนการศึกษาก็เป็นหลักการ เพื่อทุกท่านทุกคนจะได้เอามาเป็นหลักการปฏิบัติเป็นกิจกรรม เพราะความคิดการกระทำอย่างนี้มันเป็นกรรม
ทุกคนนั้นส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ส่วนใหญ่รู้ก็สายเกินไปที่จะแก้ ทุกท่านทุกคนต้องมีอุดมคติอุดมธรรมมีจิตสำนึก เพราะว่าชีวิตของเรา จะมั่นคงถาวรไปถึงลูกถึงหลานมันเริ่มมาจากความเห็นความเข้าใจของเรา ที่มีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง มองเห็นภาพรวม พวกเราทุกท่านทุกคนนั้นเรายังไม่รู้จักความเห็น ความเข้าใจ ของข้อปฏิบัติของความดับทุกข์ เราถึงพากันยากจน เราถึงพากันไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เพราะการกระทำของเราทุกคน พระพุทธเจ้าถึงให้พากันปฏิบัติให้เป็นพระอริยเจ้าให้เป็นบัณฑิต เป็นคนดี ให้เกิดขึ้นในตัวของเรา พระพุทธเจ้าให้เราหยุดเป็นบุคคลสีดำสีเทา ให้มีจุดมุ่งหมายที่เราเกิดขึ้นมาทำไม สาเหตุที่เราเกิดขึ้นมาหลายๆ ภพ หลายๆ ชาติ ทุกท่านทุกคนต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้อง กรรมที่ปล่อยให้เราคิดไม่ดีทำไม่ดี ก่อนที่เราจะรู้จักมันก็สายแล้วหลายปีแล้ว
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้วเปรียบเสมือนอาหารที่ถูกเอามาตั้งไว้บนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะให้เราทุกคนรับประทานแล้ว กรรมคือความประพฤติของเราในปัจจุบันนี้ เราทุกคนจะเอาความหลงเอาอวิชชานั้นไม่ได้ ให้เราเน้นความเห็นความเข้าใจในปัจจุบัน ให้เรามีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง มีข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าสมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 มีอยู่กับเราทุกๆ คนในปัจจุบัน ต้องเอาศีลเอาธรรมมาใช้มาปฏิบัติ มีศีลมีสมาธิมีปัญญา เอามาใช้เอามาประพฤติเอามาปฏิบัติ ทำไมใจของเราไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เพราะเรายังไม่มีการประพฤติปฏิบัติ การที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจของเรา มันต้องมีการประพฤติมีการปฏิบัติที่ติดต่อต่อเนื่องกัน ความเป็นพระมันก็จะเกิดขึ้นกับเราทุกๆ คน
คนเรามันมีความหลง เมื่อมีความหลงแล้วมันก็มีความอยากความต้องการแล้วก็พยายามสร้างเหตุสร้างปัจจัย เพื่อจะได้สิ่งที่ตัวเองเข้าถึงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คน รู้จักตัวเอง ให้พากันมีสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ พระอรหันต์น่ะท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ 'กิเลส' คือความอยาก ไม่สามารถที่จะไปแทรกแซงจิตใจของท่านได้
การเจริญสติสัมปชัญญะของเราทุกๆ คนนี้ เป็นสิ่งที่ดีแล้วก็เป็นสิ่งที่จำเป็น พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คน ให้มีสติสัมปชัญญะ ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ส่วนใหญ่น่ะเราไม่ค่อยมีสติสัมปชัญญะ ใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกกิเลสมันครอบงำ ถูกกิเลสมันกดดันให้กระทำการต่างๆ โดยไม่เหมาะไม่ควรน่ะ "ไม่มีเรื่องก็พากันไปทำเรื่อง ไม่มีปัญหาก็พากันไปทำปัญหา"
แรงเหวี่ยงของ กิเลส' หรือ 'ความอยาก' ของเรานี้ มันกดดันให้สัตว์โลกทั้งหลายพากันทำบาปทำกรรมโดยไม่รู้สึกตัวเอง เลยคิดว่าการกระทำอย่างนี้เป็นเรื่องถูกต้อง เป็นเรื่องธรรมดา เพราะประชาชนคนส่วนใหญ่ยอมรับ ยอมรับในการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ยอมรับในอาชีพที่เอาความสุขจากความทุกข์ของคนอื่น... ยอมรับในการบริโภควัตถุ ข้าวของ เงินทอง สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย
เพราะว่าทุกคนน่ะ มันทำเหมือนกัน คล้ายๆ กันพระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกเราว่า... "เราทำไม่ถูกต้องนะ...!
ให้พากันมามีสติสัมปชัญญะให้ดีๆ ให้สมบูรณ์ เพราะความสุข ความสงบ ความดับทุกข์ มันอยู่ที่ใจของเราไม่ถูกกิเลส คือความอยากมาครอบงำแล้วให้ทำตาม คนเราน่ะถ้ากายมันอยู่นี่ แต่ 'ใจ' มันไปคิดเรื่องอื่นนั้นน่ะ มันไม่มีความสุข มันไม่มีความสงบนะ
ทุกท่านทุกคนน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราพัฒนาจิตใจของตัวเอง พยายามแก้ปัญหาที่จิตที่ใจของตัวเองให้ได้
เราทุกๆ คน มาเอาหน้าที่เอาการงาน เอาข้อวัตรปฏิบัตินี้เพื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเจริญสติสัมปชัญญะ ให้สติสัมปชัญญะเราสมบูรณ์ "ใจส่งออกน่ะ คือ ใจที่เป็นทุกข์นะ..."
เมื่อเราส่งออกมากๆ น่ะ ออกชิเจนในสมองเรามันก็ไม่สมบูรณ์ เราก็ไม่สามารถที่ควบคุมตัวเองได้น่ะ การนั่งสมาธิก็ดี การเดินจงกรมก็ดี การทำกิจวัตรต่างๆ ก็ดีน่ะ ก็เพื่อให้ทุกคนกลับมาหาตัวเอง เพื่อทำสติสัมปชัญญะของตนเองให้สมบูรณ์ เพราะเราทุกๆ คนน่ะ ไม่ค่อยได้ปฏิบัติตัวเองฝึกตัวเองเลย มีแต่ทำตามความอยากความต้องการ แล้วก็บริโภควัตถุที่ได้ตามต้องการก็พากันหลงเหยื่อ หลงวัฎฎสงสาร
ทุกท่านทุกคนมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกตัวเอง เพราะว่าปัญหาต่างๆ น่ะ ทุกคนต้องแก้ได้ด้วยการฝึกใจของตัวเอง เค้าพากันขยัน พากันอดทนทำมาหากิน ศึกษาหาความรู้ จุดประสงค์ก็เพื่อที่เค้าจะได้บริโภคความสุข มีความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีหน้ามีตาในสังคม เค้าพากันมุ่งประเด็นไปอย่างนี้นะ ตัวเองสบายยังไม่พอ ลูกหลานญาติพี่น้องก็ให้สบาย สิ่งเหล่านั้นพระพุทธเจ้าท่านถือว่ายังไม่ใช่เรื่องที่ดับทุกข์นะ 'เรื่องที่ดับทุกข์' น่ะทุกคนต้องพากันมาประพฤติปฏิบัติธรรม อบรมบ่มอินทรีย์เพื่อให้สติสัมปชัญญะนี้มันสมบูรณ์มีกำลัง ไม่ให้ความหลงมันมาบงการ มาจัดการเรา
พลังอะไรทุกอย่าง...ก็สู้พลังของ 'สมาธิ' ไม่ได้ ถ้าเราทุกคนมีสมาธิแล้ว เราทุกคนจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอะไร ที่จะมาครอบงำเราได้
สิ่งต่างๆ น่ะที่เรารู้เราเห็นในสังคม... ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประเพณี หรือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็มาครอบงำเราไม่ได้ เพราะเรามีสมาธิมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นตัวของตัวเอง
เราทุกคนทำดี มันก็จะรู้แจ้งว่าได้ดีน่ะ ปัญหาต่างๆ เราทุกคนแก้ได้ แต่ต้องมาแก้ที่จิตที่ใจ ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะกิเลสของเรานี้มันจะพาเราสร้างบาปสร้างกรรม ทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่แต่เราหยุดมันไม่ได้ เราหยุดมันไม่ได้หรอก... เพราะเราไม่มีกำลังพอ ไม่มีสมาธิพอ สติสัมปชัญญะเรามันน้อย มันไม่สมบูรณ์ ต้องอดต้องทนน่ะ มันอยากคิดเราก็ไม่คิดน่ะ ต้องทำอย่างนี้ เรื่องที่เราอยาก... เราไม่ต้องคิดน่ะ หลายๆ วัน ใจของเรามันก็เย็นได้ ถ้ามันไม่เย็น เราไม่คิดเรื่องนี้ เราอย่าเปิดรูรั่วให้มันไหลมันซึม ธรรมะภาคปฏิบัติพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราทำอย่างนี้แหละ คือ การไม่ทำบาปทางใจทั้งปวง
กายของเรา วาจาของเราน่ะ การเดินเหินของเรานี่แหละ มันเป็นอากัปกิริยาของใจนะ มันเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง เพื่ออำนวยให้ใจของเราสะดวกในการทำงานของใจ ใจของเรานี้มีปัญหามากๆ นะ ถ้าทุกคนไม่ตั้งใจฝึก ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจฝึกหัดปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดตัวเองได้นะ เราต้องอด... ต้องทน... ต้องฝืน... ต้องปฏิบัติน่ะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราทุกคนเอาความขี้เกียจขี้คร้าน เป็นการปล่อยวาง เราทุกคนมันอินทรีย์อ่อนน่ะ เลยพากันเอาความขี้เกียจขี้คร้านเป็นการวางปล่อย เป็นความไม่ยึดไม่ถือนั้นไม่ใช่ ไม่ถูกไม่ต้องน่ะ การปล่อยวางอย่างนั้นน่ะเป็น อาการที่จิตใจไม่มีกำลัง "เมื่อไม่มีกำลังแล้วมันก็หมดแรง เร่งไม่ออก เร่งไม่ขึ้น" เพราะเรายังมีความเห็นผิด เราคิดว่าเราไม่เอาอะไรแล้วเราปล่อยวาง เราเลยไม่ทำความเพียร เราไม่ฝืน ไม่อด ไม่ทน
วินัยที่พระพุทธเจ้าบังคับเราน่ะ เราต้องปรับใจหาพระวินัย ข้อวัตรปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นน่ะให้เราปรับใจเข้าหาปฏิปทาในการประพฤติปฏิบัตินี้ต้องให้ต่อเนื่องกันน่ะ พยายามเอาปัจจุบันให้มันได้ อย่าไปมองไกล เดี๋ยวนี้ก็ปัจจุบันน่ะ แม้มันจะผ่านไปข้างหน้าอีกหลายปี มันก็เป็นปัจจุบันน่ะ เพราะพระอาทิตย์ หรือดวงจันทร์เท่านั้นน่ะที่มาบอกเวลา แต่ที่จริงแล้วใจของเราถ้าไม่อยู่กับสิ่งแวดล้อม เราอยู่กับภาคปฏิบัติมันก็เป็นปัจจุบันไปตลอด...
"การประพฤติปฏิบัติของเรามันถึงไม่มีอดีต...ไม่มีอนาคต...ไม่มีกลางวัน กลางคืนน่ะ เป็นการทำหน้าที่ที่ดีที่สุด อย่างนี้แหละ คือการอบรมบ่มอินทรีย์"
เราอย่าไปมองข้ามในความคิดจิตใจของเราในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราคิดว่าไม่เป็นไรน่ะ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ นั่นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... มันห้ามมรรคผลพระนิพพานเราหมด "ฝุ่นนี้มันไม่ใหญ่หรอก แต่ถ้ามันเข้าตาเรา เราก็มีปัญหาเหมือนกัน"
พยายามหยุด พยายามนิ่ง พยายามอยู่กับเนื้อกับตัว ให้สติของเรามันดีมันสมบูณ์ เราถึงจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไปในทางที่ดีได้ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นคนท้ออกท้อใจ ว่าเป็นคนมีบุญน้อยมีวาสนาน้อย ชาตินี้ไม่มีบุญ ไม่สามารถที่จะได้บรรลุธรรมเหมือนกับเค้า
"ทุกคนมันก็เหมือนกันหมดน่ะ มันอยู่ที่ความคิด อยู่ที่การปฏิบัติน่ะ" การปฏิบัติมันก็ไม่ใช่ยากแต่เราต้องเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ
การอบรมบ่มอินทรีย์มันก็เหมือนกับเราเพาะเลี้ยงต้นไม้แล้วก็ปลูกต้นเล็กๆ น่ะ เราพยายามให้น้ำ ให้ปุ๋ยแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ ไม่มากเกินไม่น้อยเกิน เดี๋ยวต้นไม้ก็โตเอง มันโตเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันโตกลางวันหรือกลางคืนก็ไม่รู้ แต่รู้ว่ามันโต
การประพฤติการปฏิบัติน่ะเราอย่าไปสนใจใคร คนอื่นเค้าจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ช่างเค้า เพราะคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่นไม่เกี่ยวข้องกับเรา เรื่องคนอื่นก็ให้เป็นเรื่องของคนอื่น เค้าทำดีเค้าทำชั่วมันก็เป็นเรื่องของเค้า เค้าไม่รู้ไม่เห็นเราว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ไม่เป็นไร เราไม่ต้องคอยให้ใครมาชมเรา เพราะใจของเราไม่มีใครรู้หรอก มีแต่ตัวเรารู้เท่านั้น เพราะเราปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งมรรคผลนิพพาน ไม่ได้มุ่งโลกธรรม คอยมาให้ใครสรรเสริญ
ให้เราทุกคนเน้นมาหาตัวเอง ถึงจะเกี่ยวข้องกับคนอื่น ในชีวิตประจำวัน ข้อวัตรปฏิบัติ เค้าจะทำหรือไม่ทำ เค้าจะมาหรือไม่มา เราอย่าไปสนใจเค้า "เดี๋ยวเราจะเอาดีเอาชั่วของเค้ามาเผาเราอีก"
รู้จักปล่อยรู้จักวางว่าจะให้คนอื่นเค้าเหมือนเรามันคงไม่เหมือนน่ะ ถ้าเหมือนกันหมดคนก็ได้บรรลุธรรมทั้งโลกเหมือนกันหมด มันไม่เหมือนนี่แหละมันถึงเป็นอย่างทุกวันนี้
เรื่องความสุขในการกิน...การอยู่...การนอนน่ะ พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เราบริโภคเพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อเราจะได้ปฏิบัติธรรมอบรมบ่มอินทรีย์ เราไม่ต้องมาติดมาหลง ความอร่อยมันก็ต้องผ่านไปแค่ลิ้นน่ะ ความสุขความสบายในการพักผ่อนก็บรรเทาทุกข์ไปไม่กี่ชั่วโมงน่ะ
"สิ่งเก่ามันผ่านไป สิ่งใหม่มันก็ผ่านมา มันไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดดีๆ อย่าได้พากันหลง"
คนเราน่ะถ้าไม่ได้บริโภครูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็คือว่า ชีวิตนี้ไม่มีรส รู้มั้ยว่าถ้ามี 'รส' มันก็มี 'ชาติ' มันต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด เราก็อยากพากันมี 'รสชาติ' รสชาติมันจะพาให้เรามีความเกิดทางจิตทางใจนะ
'หัวใจ' เราทุกคนน่ะต้องมี 'พระนิพพาน' เป็นที่ตั้ง... จุดมุ่งหมาย คือ พระนิพพาน คือ การไม่เวียนว่ายตายเกิด อย่าให้เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ มันซื้อหัวใจเราได้ ทำไมถึงให้ซื้อไม่ได้ล่ะ...?
เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ คือการเวียนว่ายตายเกิด ต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บุคคลที่หาได้ยาก ก็คือบุคคลที่เงินซื้อหัวใจไม่ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญซื้อหัวใจไม่ได้ ความร่ำความรวยซื้อหัวใจไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านเป็นตัวอย่างนะ ที่ท่านมีความสุข มีความดับทุกข์ที่สุดในโลก ไม่มีอะไรที่จะซื้อหัวใจของท่านได้ "ซื้อ ก็หมายถึงว่าให้รางวัลนะ"
ลาภ ยศ สรรเสริญ ข้าวของเงินทองน่ะ เค้าเรียกว่ามันให้รางวัลเรา มันให้ค่าจ้างเรา เพื่อให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฎสงสารนะ มันเป็นความเพลิน มันเป็นความหลง มันเป็นการผูกใจสัตว์โลกให้หลงอยู่ในวัฏฏสงสาร
จะมีประโยชน์อะไรล่ะ... เราหาอยู่หากินตั้งแต่เด็กๆ สุดท้ายเราก็แก่...เราก็เจ็บ...เราก็ตาย ไม่ได้อะไรเลย... ทุกอย่างลำบากเพราะเราหลงเหยื่อ เราคิดดูแล้วก็สมเพชเวทนาตัวเองนะ
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก เป็นใหญ่ เป็นที่พึ่ง เรียกว่าเป็น ธรรมาธิปไตย เราต้องไม่ประพฤติย่อหย่อน ไม่ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน ชีวิตของเราจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า ให้สมกับได้เป็นมนุษย์ผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee