แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๔๔ จิตที่อบรมภาวนาดีแล้ว ย่อมไม่มีอะไรมาเสียดแทงใจได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วัดคือ ข้อวัตรข้อปฏิบัติของเราทุกๆ คน ที่เราอยู่ทุกหนทุกแห่ง ที่เราต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ประชาชนก็มีภาระมากที่ต้องเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูพ่อแม่ ญาติวงศ์ตระกูล เลี้ยงดูประเทศชาติ เลี้ยงดูพระศาสนา แต่ทุกๆ คนก็พากันเข้าใจ ให้เราพากันรู้จักวัตรที่แท้จริง ข้อวัตรข้อปฏิบัติ เป็นกรรมเป็นกฎแห่งกรรม เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงจะมี วัดที่มีอยู่ในเมืองไทย 3-4 หมื่นวัด รวมสำนักสงฆ์นี้ เป็นที่อยู่ของนักบวช วัดของพระเจ้าพระสงฆ์คือพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ที่เป็นยานพาเราออกจากวัฏฏะสงสาร เพราะเป็นพระเจ้าพระสงฆ์เป็นสามเณรยังไม่เป็น เป็นได้แต่เพียงแบรนด์เนม โลกนี้หรือว่าประเทศนี้จะเป็นแต่เพียงแบรนด์เนมไม่ได้ ต้องเข้าสู่ข้อวัตรข้อปฏิบัติ
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ เพราะเราทุกคนนี้ประเสริฐมากพิเศษมาก ที่ได้ร่างกายที่เป็นมนุษย์ที่มีอายุขัยส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 100 ปี ให้ทุกท่านทุกคนมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง รู้จักกรรมกฎแห่งกรรม ให้มันกระชับเข้ามาในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเราต้องละเอียดถี่ถ้วน รู้จักจิตรู้จักสภาวะของจิต กิจกรรมที่จิตมันทำงานอยู่นี้ อาหารกายก็คืออาหารที่ทุกคนบริโภคในชีวิตประจำวัน อาหารใจก็คืออาหารทางระบบความคิด ระบบความคิดนี้จะส่งเข้าหาใจ ที่พูดเมื่อวาน คำว่าใจนี้เป็นกลางๆ ถ้าใจเราเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ มันก็เป็นธรรมวินัยเป็นบุญเป็นกุศล ถ้าเราเอามิจฉาทิฏฐิเป็นใหญ่มันก็เป็นตัวเป็นตน ทุกๆ ท่านทุกคนน่ะความดับทุกข์ของทุกคนมันไม่ได้อยู่ไกลหรอก มันอยู่ในใจของพวกท่านทุกๆ คน เราให้ทำอย่างนี้แหละ เราอย่าไปทิ้งความถูกต้อง อย่าทิ้งความเป็นธรรมความยุติธรรม เอาตัวตนเป็นใหญ่ไม่ได้ เพราะมันเป็นอวิชชาเป็นความหลง
สำหรับผู้ที่มาบวชเป็นพระเป็นสมณะ ในอารามนี้ก็ให้เข้าใจว่า เรามาบวชถูกต้องตามแบรนด์เนม บ้านก็ไม่ได้เช้า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ เขาเอาของมาให้เพื่อบำรุงพระศาสนา หรือมาเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้พ่อให้แม่ หรือว่าเขาบำเพ็ญบารมี เราต้องรู้จัก เราต้องทำหน้าที่ของความเป็นพระ เป็นพระธรรมเป็นพระวินัย อย่าเป็นแต่แบรนด์เนม เราจะเป็นคนตกงาน คนไม่มีความสามารถ อาศัยพระศาสนาหาเลี้ยงชีพไม่ได้ ศาสนานี้ไม่ใช่เพื่อคนตกงาน คนสีดำ สีเทา มาทำมาหากิน เราต้องรู้จัก บ้านเราเมืองเรา เราต้องรู้จักว่าต้องเข้าสู่ธรรมะ ทุกคนจะมาเป็นสีดำสีเทาไม่ได้ ต้องเข้าสู่ความงาม ความงามก็คือ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง งามให้มันเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา หมู่มวลมนุษย์ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ หัวใจของเราจะได้เย็นเป็นแอร์คอนดิชั่น หัวใจของเราจะอบอุ่นไม่ฟุ้งซ่าน เพราะเราต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ ถ้าเราไม่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะถ้าไม่ปฏิบัติก็เป็นนักปรัชญา ผู้ที่ไปแก้ไขคนอื่น ไม่ได้แก้ไขตนเอง เราต้องพากันเข้าใจ ที่เราสร้างวัดสร้างอารามนี้ เราจะไม่ได้เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ที่เอาพวกสีดำสีเทาสีสกปรกทั้งหลายมารวมกันอยู่ เราจะได้มีแบรนด์เนมแล้วเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
ศาสนาทุกศาสนามันก็คืออันเดียวกัน คือใครจะทานข้าว ทานขนมปัง หรือผักผลไม้ ความดับทุกข์ก็คือ หยุดทุกขเวทนามีชีวิตอยู่ได้ อย่างนี้ก็มันก็เป็นความดับทุกข์ของศาสนา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้แหละ เราทุกคนอย่าไปทะเลาะกันเลย อย่าไปแตกสมานสามัคคีกันเลย เพราะเราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราเกิดมาเราต้องรักธรรมะ รักความถูกต้อง รักความเป็นธรรมความยุติธรรม ทุกคนต้องมีคติต้องมีอุดมการณ์ มาตั้งแต่เล็ก พวกลูกพวกหลานเราต้องบอกต้องสอนตั้งแต่เล็ก ไม่อย่างนั้นมันจะขี้เกียจขี้คร้าน มันจะไปตามสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมันมีอิทธิพลมาก พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าเราต้องคบกับบัณฑิต คบกับคนที่เก่งที่ฉลาดที่มีความประพฤติดีเขาเรียกว่าบัณฑิต บัณฑิตของพระพุทธเจ้านี้ไม่ได้เอาที่จบ ป.ตรี ป.โท ป.เอก หรือจบ ป.ธ.9 อันนี้ไม่ใช่ อันนั้นคือบัณฑิตในหนังสือบัณฑิตในตำรา บัณฑิตในที่นี้คือผู้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการเอาศีลเอาธรรมเป็นหลัก ไม่ได้เอาตัวตนเป็นหลักอย่างนี้เขาเรียกว่าบัณฑิต เข้าสู่กิจกรรมคือศีล สมาธิ ปัญญา ในปัจจุบัน
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงย้ำเตือนให้คบกัลยาณมิตร ดังพุทธภาษิตว่า "น ภเช ปาปเก มิตฺเต น ภเช ปุริสาธเม ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ ภเชถ ปุริสุตฺตเม = บุคคลไม่ควรคบมิตรเลว ไม่ควรคบคนต่ำช้าเลวทราม ควรคบกัลยาณมิตร ควรคบบุรุษผู้สูงสุด"
บัณฑิต คือคนที่มีใจผ่องใสอยู่เป็นปกติ ทำให้มีความเห็นถูก ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา
ลักษณะความรู้ที่จะทำให้คนเป็นบัณฑิตนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่า “ผู้ที่ฉลาดรู้ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้าและประโยชน์อย่างสูงสุด เรียกว่าบัณฑิต” ถ้าเราจะสรุปเอาสาระใจความก็จะได้ดังนี้ คือ • รู้จักผิดชอบ • รู้จักบาปบุญ • รู้จักประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ ลักษณะความรู้ดังกล่าวนี้ ในทางศาสนาเรียกว่า ปัญญา - เป็นผู้รู้ดี คือรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว - เป็นผู้รู้ถูก คือรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด - เป็นผู้รู้ชอบ คือรู้ว่าอะไรบุญอะไรบาป ฉะนั้น คนที่เป็นบัณฑิต จะต้องเป็นคนมีปัญญา มีความรู้จักผิดชอบชั่วดี ถึงจะมีความรู้อย่างอื่นมากสักเพียงใด แต่ถ้าขาดความรู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว ก็เป็นบัณฑิตไม่ได้
บัณฑิต อาจเป็นใครก็ได้ เช่น อาจเป็นผู้อ่านหนังสือไม่ออก อาจเป็นชาวไร่ชาวนา อาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง อาจเป็นญาติของเรา ฯลฯ แต่ไม่ว่า จะเป็นอะไรก็ตาม จะต้องเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส และดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือเป็นคนดีนั่นเอง
คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ผู้ที่เรียนหนังสือจนได้รับปริญญานั้น คือบัณฑิต ความจริงแล้วนั่นเป็นเพียงบัณฑิตทางโลกเท่านั้น ยังไม่ใช่บัณฑิตที่แท้จริง เพราะผู้ที่ได้รับปริญญาแล้วถ้าความประพฤติไม่ดีอาจไปทำผิดติดคุกติดตะรางได้ แต่บัณฑิตที่แท้จริงย่อมเป็นผู้ตั้งใจละชั่ว ประพฤติชอบ ประกอบแต่ความดี ความถูกต้อง ความสุจริต สามารถป้องกันตนให้พ้นจากคุกจากตะราง แม้กระทั่งจากนรกได้
“บัณฑิตมิใช่ผู้มีเพียงปริญญา แต่คือผู้อุดมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา”
ลักษณะของบัณฑิต เนื่องจากบัณฑิตเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีความเห็นถูก ดำเนินชีวิตอยู่ด้วย ปัญญา ฉลาดในการสอดส่องหาเหตุผล จึงมีลักษณะพิเศษสูงกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการ คือ
๑. ชอบคิดดีเป็นปกติ คือ คิดให้ทาน คิดให้อภัยอยู่เสมอ ไม่ผูกพยาบาท คิดเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบุญบาปมีจริง พ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง เป็นต้น
๒. ชอบพูดดีเป็นปกติ ได้แก่ พูดคำจริง พูดคำสมานไมตรี พูดคำมีประโยชน์ พูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา และพูดถูกต้องตามกาลเทศะ
๓. ชอบทำดีเป็นปกติ ได้แก่ มีเมตตากรุณา ประกอบสัมมาอาชีวะ ทำบุญให้ทานเป็นปกติ รักษาศีล ทำสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
องค์คุณของบัณฑิต ๑. กตัญญู รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน ๒. อัตตสุทธิ ทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป ๓. ปริสุทธิ ทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์จากบาป ๔. สังคหะ สงเคราะห์แก่ชุมชนทั้งหลาย
วิธีสังเกตบัณฑิต บัณฑิตมักกระทำในสิ่งต่อไปนี้คือ
๑. บัณฑิตชอบชักนำในทางที่ถูก เช่น ชักนำให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา เลิกเล่นการพนัน เลิกเสพยาเสพย์ติด ชักนำให้สวดมนต์ก่อนนอน ให้รักษาศีล ให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ให้ทำมาหากินในทางสุจริต เป็นต้น
๒. บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่เป็นธุระ ไม่เกะกะเกเรใครๆ เร่งรีบทำการงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่ปล่อยงานให้คั่งค้าง และไม่ก้าวก่ายงานในหน้าที่ของคนอื่น เว้นแต่เมื่อได้รับการขอร้องหรือเพื่ออนุเคราะห์
๓. บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควร เช่น ชอบพูดและทำตรงไปตรงมา ชอบสนทนาธรรม รังเกียจการนินทาว่าร้าย ชอบบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ฯลฯ
๔. บัณฑิตเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนโดยดีย่อมไม่โกรธ มีนิสัยถือเอาความถูกความดี และความมีประโยชน์เป็นที่ตั้ง ไม่ถือตัวอวดดีดื้อรั้น แต่เห็นว่าผู้ที่ตักเตือนตนคือผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นตามคำแนะนำนั้น โดยไม่นึกรังเกียจว่าผู้ที่ตักเตือนจะมีอายุ ยศศักดิ์ ฐานะสูงหรือต่ำกว่า และหากมีผู้เข้าใจผิดพูดก้าวร้าวไม่สมควร ก็อดทนไว้ไม่โกรธตอบ แล้วพยายามหาโอกาสชี้แจงให้เขาเข้าใจภายหลัง จึงทำความอบอุ่นและเย็นใจให้แก่ทุกคน
๕. บัณฑิตย่อมรับรู้ระเบียบวินัย รักที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยของหมู่คณะอย่างเคร่งครัด เพราะตระหนักดีว่า วินัยเป็นเครื่องยกหมู่คณะให้เจริญขึ้นได้จริง ทำให้หมู่คณะสงบเรียบร้อยไม่วุ่นวายจริง ทำให้เกิดความผาสุกจริง ฯลฯ จึงรังเกียจความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความไม่สะอาด รกรุงรัง
บัณฑิตมี ๒ ประเภท ได้แก่ ๑. บัณฑิตภายนอก คือบุคคลทั่วไปไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
๒. บัณฑิตภายใน คือตัวเราขณะที่คิดดี พูดดี และทำดีนั่นเอง ดังนั้น การคบบัณฑิตภายในก็คือ การพยายามฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีสติรำลึกถึงแต่ความคิดที่ดีๆ เพื่อการสร้างสรรค์ คำพูดที่ดีๆ เพื่อยกใจผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น และการกระทำที่ดีๆ เพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งทำได้โดยการหมั่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
เราทุกคนต้องไม่ไปเห่อเหิมตามอวิชชาตามความหลง เราต้องพัฒนาประเทศเราด้วยวิทยาศาสตร์มีบ้านมีรถ มีเครื่องอำนวยความสะดวกความสบาย ให้มันสะดวกสบาย แต่เราต้องพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน มันจะได้ไม่หลง ถ้างั้นไม่ได้ บ้านเราเมืองเรา พระก็สีดำสีเทา ข้าราชการ นักการเมืองก็สีดำสีเทาไม่ได้ ดูแล้วมันเป็นไปไม่ได้ ประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม อย่างนี้มันก็ต้องปรับเข้าหาความเป็นธรรมความยุติธรรม เอาธรรมเป็นหลัก จะเป็นระบบกษัตริย์ หรือระบบประธานาธิบดี มันก็ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกท่านทุกคนก็ต้องให้พากันเข้าใจ การที่เราติดสุขติดสบาย มันทำให้ชีวิตเราต้องเถลไถล เหมือนเราเดินไปอย่างนี้แหละไปเจอเพื่อนก็ตามเพื่อนไป มันเป๋ เพราะเราอยากเทคแคร์กับการเป็นเพื่อน ความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก มันไม่ใช่อย่างนั้น ความถูกต้องมันไม่ได้เป็นพี่เป็นน้องกับใคร เราต้องมีปัญญาสัมมาทิฏฐิ ต้องกลับมาหาสติสัมปชัญญะนะ พระพุทธเจ้าถึงให้เรา พวกนักบวชทั้งหลาย ไม่ให้มีเดรัจฉานกถา เดรัจฉานวิชา เพราะพวกนี้มันไปทางโลภ ไปทานหลง เขาเรียกว่าไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์นี้หมายถึงอวิชชาหมายถึงความหลง ไม่ใช่ตั้งแต่หมอดูหมอเดาเท่านั้นหรอก หลงในตัวในตนตามติดตามใจตามอารมณ์อย่างนี้แหละ ระบบครอบครัวเป็นสังฆเภทที่ทะเลาะกันอย่างนี้ก็ถือว่ายังเป็นไสยศาสตร์ มีทั้งหยาบมีทั้งกลางมีทั้งละเอียด เราต้องพยายามจับหลักจับประเด็นให้ได้
พวกความอร่อยนี้มันติด อย่างบุหรี่เป็นของไม่ดี 2-3 อาทิตย์มันก็ติดพวกเหล้าพวกนี้ ถ้าไปดื่มติดต่อกัน มันก็ติด บางคนมีปัญหาทำไมต้องดื่มเหล้าดื่มเบียร์ เพราะมันนอนไม่หลับ มันเป็นโรคทางนอนไม่หลับ มันไม่สงบมันฟุ้งซ่านต้องกินเหล้ากินเบียร์เพราะมันเป็นเครื่องหมายของอวิชชาของความหลง เป็นเครื่องหมายของคนพาล ใครทำเข้าก็เหมือนกัน เราต้องรู้จักความคิดรู้จักอารมณ์ เพราะความคิดอารมณ์มันต้องเป็นสัมมาทิฏฐิเราถึงจะได้สงบเย็น ตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองก็แค่พรหมโลกอย่างต่ำ ตามใจตัวเองก็เป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์รวยอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีปัญญา พัฒนาว่างจากสิ่งที่ไม่มีอยู่ ตามใจตัวเองเรียกว่าว่างจากสิ่งที่ไม่มี พระพุทธเจ้านี้สอนเราให้ว่างจากสิ่งที่มีอยู่ คือสิ่งที่เป็นตัวเป็นตัวสิ่งที่ยึดมั่น ชีวิตของเราจะได้มีแต่สมาธิสงบเย็น เราต้องพัฒนาไปสู่พระนิพพาน คือรู้จักอนิจจัง ทุกขัง รู้จักอนัตตา สติสัมปชัญญะต้องให้ดีนะ
พวกที่มาบวชเรามาบวชต้องตั้งใจฝึกปรับตัวเองทั้งระบบความคิด ใหม่ๆ มันก็จะอกแตกตาย มันจะระเบิดเพราะว่ามันอยู่ได้แต่โทรศัพท์แต่การบันเทิง แต่เรารู้ว่า โอ้...เราบำบัดตัวเองกับปฏิบัติตัวเองเหมือนอันเดียวกัน มันต้องอาศัยเวลาอย่างนี้แหละ ที่วัดก็มีข้อวัตรข้อปฏิบัติทำตามเป๊ะๆ เข้าหาเวลาแล้วก็เข้าหาธรรม เราอย่าไปโอ้...ขอนอนต่ออีกสักหน่อยขอตามอัธยาศัยสักหน่อย อันนั้นมันไม่ใช่ อันนั้นมันไม่ใช่ อันนั้นมันความเสื่อม ตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองมันก็ไม่ใช่ศาสนา มันเป็นความเสื่อมหรือว่ามันตกต่ำ
การปฏิบัติ การตรัสรู้นั้นขอไม่ได้หรอก มันต้องเข้าสู่ความประพฤติภาคปฏิบัติ ธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่มันเป็นกิจกรรม มันเป็นเพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงจะมีอย่างนี้นะ พวกที่มาอยู่วัดทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ หรือเป็นพวกอะไรที่ไม่มีศักยภาพทำมาหากิน ก็อย่าไปคิดอย่างนั้น เรามีวัดมีศาสนา หลวงพ่อก็ใจดี เราก็เอามาผลพระนิพพาน แล้วทำถูกต้องเราทำดี คิดดีพูดดีก็ไม่มีใครว่าเราหรอก ที่เราระแวงกันเพราะเราเลี้ยงโจรไว้ข้างในความขี้เกียจขี้คร้าน ตามใจตามอารมณ์ตัวเอง เลยระแวงคนอื่นว่าเขาจะว่าให้เราหรือเปล่าอย่าง เพราะทุกๆ คนเห็นไหม การใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ก็เพื่อปกปิดสิ่งที่ไม่สมควร เราปกปิดในสิ่งที่เราคิดไม่ดี แต่การปกปิดที่เราคิดไม่ดีอันนี้เราปิดไม่ได้ มันต้องปกปิดด้วยศีล สมาธิ ปัญญา สิกขาบทน้อยใหญ่ ทุกท่านถึงจะมีความสุขมีความสงบเย็น ถ้ามาบวช 1 พรรษาหรือว่า 120 วันชีวิตของท่านก็จะสงบเย็น สึกไปแล้วก็จะมีความมั่นคง ความมั่นคงในธุรกิจหน้าที่การงาน เมื่อท่านแพ้ภัยตัวเองข้อวัตรไม่ผ่าน ถืออวิชชาถือความหลงผิดที่ตั้งเป็นสรณะไม่ได้ ไม่ได้โง่ธรรมดา แต่เป็นมหาโง่ ต้องปรับเอง ต้องมีความสุขอย่างนี้แหละ มันต้องปฏิบัติขาขึ้น ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ
ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ วุฏฐิ สมติวิชฺฌติ เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ ราโค สมติวิชฺฌติ
ยถา อคารํ สุจฺฉนฺนํ วุฏฺฐิ น สมติวิชฺฌติ เอวํ สุภาวิตํ จิตฺตํ ราโค น สมติวิชฺฌติ
เหมือนอย่างว่า เรือนที่มุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ฉันใด
จิตที่ยังมิได้อบรมให้ดี ก็ฉันนั้น ราคะย่อมเสียดแทงได้
ส่วนเรือนที่มุงดี ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ฉันใด
จิตที่อบรมดีแล้วก็ฉันนั้น ราคะย่อมเสียดแทงไม่ได้
ราคะ ตามตัวอักษร แปลว่า “ย้อม” มาจากรากศัพท์ว่า “รช” หมายความว่า ย้อมจิตให้แปรรูปไป เสียปกติภาพของจิต ทำให้เห็นวิปริตวิปลาสว่างาม แม้ในสิ่งอันไม่งาม เหมือนสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของสวมแว่นเขียวให้ ทำให้มองเห็นหญ้าแห้ง ฟางแห้งเป็นเขียวสดไปหมด สิ่งที่ไม่งาม คือกายนี้ เพราะเต็มไปด้วยของไม่สะอาด
ในภาษาไทย นิยมแปลราคะว่า “ความกำหนัด” กล่าวคือ ความใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ราคะ หรือความกำหนัดในกาม มีอิทธิพลต่อชีวิตคนมาก นักจิตวิทยาบางท่าน เช่น ซิกซ์มันด์ ฟรอยด์ ได้มีความเห็นถึงกับว่า พฤติกรรมทั้งปวงของมนุษย์ มีความกำหนัดในกามเป็นแรงกระตุ้น
คนทั่วไปก็มองเห็นว่า ราคะมีแรงผลักดันรุนแรงเพียงใด เป็นสิ่งเสียดแทงจิตใจให้รุ่มร้อน และกลัดกลุ้มเพียงใด คนส่วนมากไม่สามารถเอาชนะได้ จึงต้องระหกระเหินและบอบช้ำด้วยความทุกข์นานาประการ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า สังกัปปราคะ คือความกำหนัด เพราะ การดำริถึง เป็นกามของบุคคล (สงฺกปฺปราโค ปุริสสฺส กาโม) กามเกิดจากความดำริตริตรึก (สงฺกปฺปา กาม ชายสิ ดูก่อนเจ้ากาม เจ้าเกิดจากความดำรินี่เอง)
ราคะ หรือกาม หรือกามราคะนั้น มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนเป็นอันมาก และขนบธรรมเนียมของโลกแต่บางคนควบคุมไม่ได้ในบางกาละ เทศะ ได้ประกอบกรรมอันน่าบัดสี เพราะกามราคะนั้น ต้องติดคุกบ้าง เสียทรัพย์สินบ้าง เสียชื่อเสียงบ้าง มันได้ทำให้คนเสียคนมามากแล้ว ตกนรกก็มากแล้ว อย่างไรก็ตาม ราคะ จะทำพิษ ทำภัย หรือมีอำนาจครอบงำ ก็เฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้อบรมจิตด้วยดี ส่วนผู้ที่อบรมจิตดีแล้ว ราคะย่อมไม่สามารถเสียดแทงได้ เหมือนคนอยู่ในเรือนที่มุงบังดี ฝนตกเท่าไรก็ไม่เปียก ส่วนคนที่อบรมจิตไม่ดีหรือไม่ได้รับอบรมมา เมื่อประจวบกับอารมณ์อันน่าใคร่ครั้งใด ราคะก็เสียดแทงใจครั้งนั้น เหมือนเรือนที่มุงบังไม่ดี ฝนตกทีไร คนอาศัยก็เปียกทีนั้น การอบรมจิตจึงเป็นทางลดราคะให้น้อยลง จนสิ้นไปในที่สุด
ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาตพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๗๗ ท่านกล่าวว่า เจริญสมถะเพื่ออะไร? ตอบว่า เพื่ออบรมจิต ถามว่า อบรมจิตเพื่ออะไร? ตอบว่า เพื่อให้ละราคะได้
จึงได้ความว่า วิธีอบรมจิตก็คืออบรมด้วยสมถะ ได้แก่ การทำจิตให้สงบเป็นขั้นๆ ท่านเรียกว่าฌาน ตั้งแต่ฌานที่หนึ่ง (ปฐมฌาน) จนถึงฌานที่ ๘ เป็นภาวะที่จิตสงบประณีตขึ้นไปตามลำดับ เมื่อได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป กามฉันทะคือความพอใจในกาม ก็สงบราบคาบลงชั่วคราว ท่านเปรียบเหมือนศิลาทับหญ้า แต่กามราคะจะถูกถอนรากถอนเชื้อก็โดยอนาคามิมรรค อันเป็นมรรคชั้นที่ ๓
ทุกท่านทุกคนน่ะต้องผ่านอุปสรรคได้ ผ่านปัญหาได้ ด้วยการเอาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐออกมาทำงาน ออกมาใช้งาน ต้องกล้าสู้ กล้าเผชิญในการผ่านอุปสรรคต่างๆ นานาเพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มีอะไรมากไปกว่า ทุกอย่างเกิดขึ้น ทุกอย่างตั้งอยู่ ทุกอย่างก็ต้องดับไป เราต้องระดมเอาบารมีสิบทัศออกมาใช้งาน ออกมาทำงาน เราต้องระดมเอาอริยมรรคมีองค์แปดประการออกมาใช้ ออกมาทำงาน ถ้าไม่มีอุปสรรคต่างๆ นานา มาปรากฏเราก็ไม่ได้ประพฤติเราก็ไม่ได้ปฏิบัติน่ะ ไม่มีข้อสอบเราก็ไม่ได้ตอบปัญหา แก้ปัญหา เราทุกคนก็ถือว่าเราเป็นโชคดีที่พระพุทธเจ้าสอนให้เราให้เข้าใจที่ถูกต้อง มีความเห็นถูกต้อง เราจะได้ปฏิบัติถูกต้อง เพื่อเราจะได้ผ่านภพผ่านภูมิที่มันกำลังปรากฏการณ์แก่เรา ในชีวิตประจำวัน
เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละทุกๆ วัน จนกว่าเราจะหมดกิเลส สิ้นอาสวะ ถ้าเราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราก็ไม่สมควรที่จะทานอาหาร เพราะเราทุกคนถือว่าเป็นเสขะบุคคล บุคคลที่จะต้องพึงประพฤติพึงปฏิบัติน่ะ เรายังไม่ใช่อเสขบุคคล คือ บุคคลที่หมดกิเลส สิ้นอาสวะแล้ว เรายังเป็นคนที่มีหนี้มีสินต่อผู้มีพระคุณคือพ่อ คือแม่ และประชาชน ผู้ที่ทำบุญตักบาตร ถวายปัจจัยทั้งสี่ เราทุกคนต้องทำความเพียร ประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อเราจะไม่มีหนี้มีสิน เราจะได้ให้บุญให้กุศลกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พร้อมทั้งประชาชนที่ทำบุญตักบาตร อุปถัมภ์ อุปัฏฐาก เราบวชมาแล้วน่ะ พ่อแม่บังเกิดเกล้าก็กราบเรา ไหว้เรา ผู้แก่ผู้เฒ่าวัยชราก็กราบเราไหว้เรา ทุกท่านทุกรูป พระพุทธเจ้าให้เรามีจิตสำนึกเรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว เราต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เต็มความสามารถด้วยความตั้งอกตั้งใจ
ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะใจของเรามันจะสงบ ใจของเรามันจะเย็น ความสุขของเราคือการปฏิบัติธรรม การทำงานของเรา คือการประพฤติปฏิบัติธรรมวินัย งานคือข้อวัตร กิจวัตร ข้อประพฤติข้อปฏิบัติของความเป็นพระธรรมพระวินัยของเรา นี้คือความโชคดี ความประเสริฐที่เราทุกคนได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ถึงเราจะบวชนาน ไม่นานนี้ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราได้ประพฤติปฏิบัติอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง เต็มความสามารถ ให้ได้มาตรฐานตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ให้เราได้ภูมิใจในตัวเอง ให้พ่อแม่ ญาติพี่น้องภูมิใจ ให้ประชาชน ได้ภูมิใจในการบวช แล้วตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีเป็นที่รักเคารพบูชาของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงจะได้ชื่อว่าสงฆ์สาวกแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee