แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๔๓ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะไม่มีสิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นแล้วจะไม่ก่อให้เกิดทุกข์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักพระศาสนาให้ชัดเจน คำว่าศาสนา คือธรรมะธรรมะคือศาสนา ศาสนาไม่ใช่ตัวใช่ตน เราทุกคนต้องเข้าสู่ความเป็นพระพระนั้นคือพระธรรมพระวินัย ให้ทุกคนไม่ต้องทำตามใจ ไม่ต้องทำตามอารมณ์ ไม่ต้องทำตามความรู้สึก ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาธรรมเขาหาเวลา ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 นั้นอยู่ในธรรมวินัยนี้ ความเป็นพระ นับเอาตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ เราก็เป็นพระได้เหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือฆราวาส แต่ว่าฆราวาสมีภาระเยอะมีธุรกิจเยอะ มันต้องช่วยเหลือตัวเอง พ่อแม่ ญาติวงศ์ตระกูล ช่วยเหลือพระศาสนา บำรุงอุปถัมภ์อุปัฏฐาก เรามีภาระมากกว่าสมณะนักบวช ถ้าประพฤติปฏิบัติพากันเป็นพระอริยเจ้าได้ตั้งแต่โสดาบันจนถึงอนาคามี ผู้ที่มาบวชเป็นพระได้ตั้งแต่โสดาบันจนถึงพระอรหันต์ เพราะไม่มีภาระอะไร บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ เขาก็มากราบมาไหว้
ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจในความเป็นพระและศาสนา ชีวิตของเราจะได้เดินทางสายกลาง พัฒนาตัวเองโดยมีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ก็เพื่อเป็นมรรค มรรคนี้แปลว่าทางเดินของทางกาย ทางเดินของทางจิตใจ พัฒนาทั้งกายทั้งใจไปพร้อมๆ กัน ทุกท่านทุกคนพากันประพฤติอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นมนุษย์แค่แบรนด์เนม เป็นมนุษย์แต่ทางกาย ไม่ได้เป็นมนุษย์ทางจิตใจ หน้าที่การงานกับการปฏิบัติธรรมก็คืออันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะกายกับใจนี้มันอยู่ด้วยกัน กายไปไหนใจไปด้วย เราถึงปฏิบัติที่กายกับใจ เป็นพระธรรมพระวินัย เป็นกิจกรรมเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เรียกว่าพระกรรมฐาน มันต้องมีฐานเป็นที่ตั้งด้วยการประพฤติการปฏิบัติ เราเห็นพระกรรมฐาน เรายังเข้าใจผิดอยู่นะ นึกว่าพวกที่ห่มผ้าดำๆ น่ะ พระกรรมฐาน หมายถึงสิกขาบทน้อยใหญ่
บรรพบุรุษเราสร้างบ้านสร้างประเทศ ก็เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ อย่าไปแยกการปกครองประเทศว่าอันนี้เป็นส่วนทางโลก ส่วนทางธรรมนั้นเป็นบรรพชิตนักบวช ไม่ใช่อย่างนั้น ประเทศไทยเราถึงมีอายุ 20 ปีให้บวชกันก่อน สมัยโบราณลูก 7-8 ขวบก็บวชสามเณร เพราะการศึกษาต้องศึกษาจากพระ เพราะพระมีความรู้มีความประพฤติดีปฏิบัติเพื่อมุ่งมรรคผลนิพพาน คนเราถ้ามีความรู้เก่งฉลาด ถ้าไม่เป็นคนดี ทุกคนยอมรับไม่ได้ เราต้องเข้าใจเรื่องพระศาสนา มันต้องมีในเราในครอบครัวเรา เราจะทิ้งธรรมะไปไม่ได้
เพราะเรายังไม่เข้าใจเรื่องพระศาสนา เรายังไม่เข้าใจคำว่าพระ ให้เราทุกคนพากันประพฤติปฏิบัติ แม้แต่วัดก็ยังไม่พากันรู้จักเลย คิดว่ากุฎิ วิหาร เจดีย์ โบสถ์อะไรต่างๆ อันนี้เป็นอารามสำหรับนักบวชที่มาอยู่วัด วัดก็หมายถึงข้อวัตรข้อปฏิบัติ เราเป็นประชาชนอยู่ทางบ้านที่ดูแลครอบครัว ดูแลธุระกิจการงาน เราก็ต้องมีวัดมีข้อวัตร เราจะทิ้งธรรมะไม่ได้ เพราะธรรมะกับการดำรงชีวิตมันอันเดียวกัน พวกที่มาอยู่วัดที่มารวบรวมกันที่เป็นอารามที่เหมือนวัดป่าทรัพย์ทวี เพื่อมาร่วมรวมกันเอามรรคผลพระนิพพาน เราจะได้ไม่เป็นพระแต่เพียงแบรนด์เนม เพราะปัจจุบันเป็นสิ่งที่ดีรีบด่วน ปรับตัวเองเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะ
เพราะทุกคนน่ะ มันไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ กว่ากรรมจะได้ผล ดูแล้วใช้เวลาหลายปี เพราะเราไม่เข้าใจชัดเจน เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แล้วก็ปล่อยตัวเอง ข้ามปัจจุบันไป ไม่ปรับตัวเองเข้าหาเวลา ไม่ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เหมือนพระรุ่นพี่ที่มาบวชก่อนเรามาอยู่ก่อนเรา คิดแล้วไม่รู้ ก็ปล่อยให้ความคิดเราเหมือนฆราวาส มันไม่ได้ เราอย่าเอาความหลงเป็นเครื่องอยู่ เพราะว่าเราต้องกระชับเข้าหาเวลา ปรับตัวเข้าหาเวลา
ทุกคนน่ะมาบวชมาอยู่วัด ก็ต้องพากันเอาให้เต็มที่ เพราะอันนี้คือการปฏิบัติบูชา เห็นไหมพวกที่ไปเรียนหนังสือมันก็เรียนแต่หนังสือ ไม่เอาภาคประพฤติไม่เอาภาคปฏิบัติ มันก็ทำให้เสียเวลาไป โดยคนนู้นคนนั้นเป็นโมฆะบุรุษไป โดยที่ไม่ได้เข้าสู่พระศาสนา พวกนี้เราไม่เข้าใจปล่อยให้ตัวเองคิดอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ ปล่อยให้ตัวเองไม่ควบคุมเรื่องกายใช้จ่าย เรื่องเงินทอง หลายปีหลายเดือนเราก็มีหนี้มีสิน เรื่องการประพฤติเรื่องการปฏิบัติเป็นสิ่งที่เร่งด่วน สิ่งที่เราต้องแก้ไข ทุกคนต้องเป็นขาขึ้นอย่าเป็นขาลง ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง ตามอัธยาศัยเขาเรียกว่าขาลง เราอย่าพากันเซ่อๆ เบลอๆ งงๆ
พวกนักบวชทั้งหลายก็เรามาบวชนี้ก็ไม่ใช่เอาวัดมาเป็นที่ทำมาหากิน ไม่ได้เอาแบรนด์เนมเป็นที่ทำมาหากิน ไม่เอามรรคผลนิพพาน ผู้ที่ไม่ได้บวชก็ไม่เป็นไร เราเข้าใจ มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง การปฏิบัติมีความสุขในการทำงาน เราก็ได้ทั้งงานได้ทั้งเงิน ได้ทั้งคุณธรรมพร้อมๆ กัน ผู้ที่มาบวชก็ต้องทำอย่างนี้ๆ
พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนระมหาโมคคัลลานะช่วงอุปสมบทได้ไม่นานว่า “ดูก่อนโมคคัลลานะ อีกอย่างหนึ่ง เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ชูงวง คือถือตัวทะนงตน เข้าไปสู่ตระกูล’
เพราะถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล เธอจะร้อนใจเป็นอันมาก บางครั้งบางคราวคฤหัสถ์ทั้งหลาย เป็นผู้มีกิจมากมีธุระมาก อาจไม่ได้นึกถึงภิกษุผู้เข้าสู่ตระกูล ภิกษุผู้ชูงวง อาจคิดมากว่า บัดนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกจากตระกูลนี้ มนุษย์พวกนี้จึงมีอาการห่างเหินเรา มีอาการอิดหนาระอาใจต่อเรา เมื่อไม่ได้อะไรๆ จากตระกูลนั้น เธอก็เก้อเขิน ครั้นเก้อเขินก็เกิดความฟุ้งซ่าน ไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวมจิตก็จะห่างจากสมาธิ
โมคคัลลานะ อีกอย่างหนึ่ง เธอควรสำเหนียกว่า ‘เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุให้ต้องเถียงกัน ถือผิดต่อกัน’ เพราะเมื่อมีถ้อยคำทำนองนี้ก็จะต้องพูดมาก เมื่อพูดมากก็เกิดความฟุ้งซ่าน ครั้นฟุ้งซ่านก็จะเกิดการไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตก็จะเหินห่างจากสมาธิ
โมคคัลลานะ อีกอย่างหนึ่ง เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่เราสรรเสริญการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย...”
พระบรมพุทโธวาทของพระศาสดาในเรื่องการยกงวงชูงาก็ดี เรื่องการเว้นถ้อยคำอันเป็นเหตุให้เถียงกันก็ดี และเรื่องการอยู่ในเสนาสนะสงัดก็ดี ควรเป็นเรื่องเตือนใจอันสำคัญของพุทธศาสนิกชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต
การ ‘ชูงวง’ คือ ความทะนงตนนั้น เป็นกิเลสร้ายอย่างหนึ่ง ซึ่งครอบงำจิตของมนุษย์อยู่ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต พระศาสดาทรงเรียกมันว่า ‘มานานุสัย’ อนุสัย คือ มานะ กิเลสที่นอนสยบอยู่ในขันธสันดาน เมื่อถูกกวนก็จะฟูขึ้นทันที มานะมีลักษณะให้ทะนงตนว่า ‘แกเลวกว่าข้า’ บุคคลผู้มีมานะจัดย่อมมีลักษณะเชิดชูตนจัด อวดตนจัด ยกตนข่มผู้อื่นเนืองๆ มองไม่เห็นใครดีหรือสำคัญเท่าตน ซึ่งเป็นการมองที่ผิด
ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลย่อมมีความสำคัญตามฐานะของตน แม้บุคคลอีกผู้หนึ่งจะเป็นเสมือนไม้กวาดและผ้าขี้ริ้ว ส่วนบุคคลอีกผู้หนึ่งเป็นเสมือนดอกไม้ในแจกันก็ตาม ไม้กวาดและผ้าขี้ริ้วย่อมมีความหมาย และมีความสำคัญอย่างไม้กวาดและผ้าขี้ริ้ว
ส่วนดอกไม้ในแจกันก็มีความหมาย และมีความสำคัญอย่างดอกไม้ ปราศจากไม้กวาดและผ้าขี้ริ้วเสียแล้ว บ้านเรือนจะสะอาดได้อย่างไร
แต่บ้านเรือนอาศัยเครื่องประดับเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา ข้อนี้ฉันใดชุมชนก็ฉันนั้น ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ควรดูหมิ่นกัน และไม่ควรริษยากัน อันเป็นเหตุให้เดือดร้อนทั้งสองฝ่าย
อันไม้พันธุ์ดีนั้น ถ้ายืนอยู่เดี่ยวโดดไม่มีพันธุ์อื่นต้านลมหรืออันตรายต่างๆ มันก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน คนดีหรือคนสูงก็เหมือนกัน ไม่ควรอวดดีหมิ่นคนต่ำ เพราะคนต่ำนั่นเองได้เป็นป้อมปราการ ป้องกันอันตรายให้ และเป็นฐาน รองรับให้สูงเด่นอยู่ได้ ควรมีเมตตากรุณาช่วยส่งเสริมเขา อย่างน้อยเขาต้องมีคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือด้านใดด้านหนึ่งเหมือนไม้ แม้พันธุ์ไม่ดีก็ช่วยต้านลมให้ได้ เมื่อล้มตายลงก็ช่วยเป็นปุ๋ยให้ได้
จริงอยู่ เราปลูกหญ้าให้เทียมตาลไม่ได้ แต่หญ้าก็มีประโยชน์อย่างหญ้า ช่วยให้ดินเย็น เมื่อตัดให้เรียบร้อยก็ดูสวยงามและนั่งเล่นได้ เป็นต้นเจดีย์ที่สวยงามต้องมีทั้งยอดและฐานฉันใด ชุมนุมชนก็ฉันนั้น ต้องมีทั้งคนสูงและคนต่ำ คนที่เป็นยอดและเป็นฐานต่างทำหน้าที่ของตนไปให้ชุมนุมชนดำเนินไปได้โดยสงบเรียบร้อย
ในรายที่มีความทะนงตนมิได้เปิดเผยโจ่งแจ้ง ก็อย่าได้นอนใจว่าไม่มีมันอาจแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ลึกๆ คอยโอกาสอยู่ ใจเผลอขาดสติสัมปชัญญะเมื่อใด มันจะแสดงตนทันที บางทีก็เป็นไปอย่างหยาบคาย บางทีเป็นไปอย่างละเอียดอ่อน
อหังการ หรืออัสมิมานะ คือ ความทะนงตนนั้น ให้ความลำบากยากเข็ญแก่มนุษย์มานักหนา แต่มนุษย์ก็ยังพอใจถนอมมันไว้ เหมือนดอกไม้ประดับเศียรซึ่งจะก้มลงมิได้กลัวดอกไม้หล่น มันเหมือนแผงค้ำคอ ทำให้คอแข็งหน้าเชิด แล้วเอาศีรษะกระทบกัน ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าตามๆ กันไป ลองตรองดูเถิด ความโกรธ ความเกลียดชังกัน ความแก่งแย่งแข่งดี การคิดทำลายกัน ล้วนแตกกิ่งก้านมาจากลำต้น คือ อหังการ หรือ ทะนงตน ทั้งสิ้น ถ้าลำต้น คือ ความทะนงตน การถือตัวจัดถูกทำลายแล้ว ตัดให้ขาดแล้ว การกระทบกระทั่งย่อมไม่มี จิตสงบราบเรียบและมั่นคง เป็นความสงบสุข สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า ‘การถอนอัสมิมานะเสียได้เป็นบรมสุข’
พระศาสดาทรงประทานพระพุทโธวาท มิให้ยินดีในถ้อยคำอันเป็นเหตุเถียงกัน เพราะถ้าถียงกันก็มีเรื่องต้องพูดมาก เมื่อพูดมากก็เกิดความฟุ้งซ่าน จิตจะห่างเหินจากสมาธิ
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเชิดชูตนด้วยการปะทะคารมกับผู้อื่น ต้องการอวดฝีปากให้คนทั้งหลายชื่นชมว่าเป็นปราชญ์ มีปัญญามาก หาผู้เสมอเหมือนมิได้ เจตนาเช่นนั้นนำไปสู่การทะเลาะวิวาท การทะเลาะวิวาทนำไปสู่การแตกสามัคคี การแตกสามัคคีนำไปสู่ความเสื่อมนานาประการ บางประเทศต้องเสียบ้านเมืองให้แก่ข้าศึก เพราะคนในบ้านเมืองแตกสามัคคีกัน ข้อนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย
วิธีหลีกเลี่ยงถ้อยคำอันเป็นเหตุให้เถียงกัน ก็คือ อย่าพูดจาเมื่อเวลาโกรธ และอย่ายึดมั่นทิฐิของตนมากเกินไปจนกลายเป็นคนหลงตัวเอง การกระทำด้วยความหลงตัวเอง มีแต่ความผิดพลาดเป็นเบื้องหน้า
ประการต่อมา ทรงโอวาทพระมหาโมคคัลลานะว่า ทรงสรรเสริญการอยู่ในเสนาสนะที่สงัด ไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ บรรพชิตผู้บวชแล้วมีเจตนาในการแสวงหาวิเวก เบื้องแรกต้องได้กายวิเวกก่อน จิตวิเวก คือ ความสงบทางจิตจึงจะเกิดขึ้น เมื่อความสงบจิตเกิดขึ้น อุปธิวิเวก คือ ความสงบกิเลสจึงจะตามมา
มีอาสวะมากมายเกิดขึ้นเพราะการคลุกคลี ไม่ว่าฝ่ายบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ทั้งนี้ท่านมิได้ห้ามไม่ให้ชุมนุมกันเมื่อมีกิจจำเป็น แต่เมื่อสิ้นธุระแล้วก็ควรจะอยู่อย่างสงบ เพื่อได้รู้จักตัวเองให้ดีขึ้น คนส่วนมากพยายามจะรู้จักคนอื่น วันหนึ่งๆ ให้เวลาล่วงไปด้วยการอยู่กับคนอื่น โอกาสที่จะอยู่กับตัวเองมีน้อยจึงรู้จักตัวเองน้อย ตราบใดที่บุคคลยังไม่รู้จักตัวเอง ยังไม่เข้าใจตัวเอง ตราบนั้นเขาจะพบความสงบสุขภายในไม่ได้ และจะเข้าใจผู้อื่นไม่ได้ด้วย
การอยู่อย่างสงบจึงเป็นพื้นฐานแห่งการไม่เบียดเบียน เพราะผู้มีใจสงบย่อมไม่คิดเบียดเบียน (จากข้อความในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช)
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้จบลงแล้ว พระมหาโมคคัลลานะทูลถามว่า ด้วยข้อปฏิบัติอย่างไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จอย่างยิ่ง เกษมจากโยคธรรมอย่างยิ่ง เป็นพรหมจารีบุคคลอย่างยิ่ง ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พระศาสดาตรัสตอบว่า “โมคคัลลานะ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่าธรรมทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ครั้นได้สดับดังนี้แล้ว เธอทราบธรรมทั้งปวงชัดด้วยปัญญายิ่ง ครั้นทราบธรรมทั้งปวงชัดอย่างนี้แล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงดังนี้แล้ว เธอได้ประสบเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง เมื่อเป็นดังนี้เธอย่อมมีปัญญาในทางเบื่อหน่ายในทางดับ ในทางสละคืนซึ่งเวทนา (ความรู้สึกในอารมณ์) ทั้งปวง
เมื่อเป็นดังนี้ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่นย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่นย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตน และทราบชัดว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว
ว่าโดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จอย่างยิ่ง เกษมจากโยคธรรมอย่างยิ่ง เป็นพรหมจารีบุคคลอย่างยิ่ง ถึงที่สุดอย่างยิ่ง ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
(สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย หมายความว่า สิ่งทั้งปวง ทั้งรูปธรรม นามธรรม ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม อันบุคคลไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ใครเข้าไปยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นของเที่ยง เป็นสุขและเป็นอัตตา ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้)
พระพุทธโอวาทที่ว่า ธรรมทั้งปวง คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้น เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นยอดแห่งธรรม อันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ โดยไม่มีเชื้อเหลือ คือดับทุกข์โดยสิ้นเชิง (อนุปาทาปรินิพพาน)
สิ่งใดที่บุคคลเข้าไปยึดมั่นแล้วจะไม่ก่อให้เกิดทุกข์นั้นหามีไม่ แต่ในโลกนี้มีเหยื่อล่อเพื่อให้ผู้ไม่รู้เท่าทันติดอยู่ สยบอยู่ หมกมุ่นพัวพันอยู่ แล้วโลกก็นำทุกข์เจือลงไป แทรกซึมลงไว้ในสิ่งที่บุคคลติดอยู่ หมกมุ่นพัวพันอยู่นั่นเอง
โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิตย์ ใครขวนขวายให้เต็มปรารถนาในอารมณ์ของโลก ก็เหมือนตักน้ำไปรดทะเลทรายหรือเหมือนขนน้ำไปเทลงในมหาสมุทร เหนื่อยแรงเปล่า ชาวโลกจึงมีความเร่าร้อนดิ้นรน เพื่อให้เต็มความปรารถนา แต่ก็หาสำเร็จไม่ ยิ่งดื่มอารมณ์โลก สุขเวทนาอย่างโลกๆ ก็ดูเหมือนจะเพิ่มความอยากให้มากขึ้น ยิ่งดื่มน้ำเค็ม ยิ่งดื่มยิ่งกระหาย หรือเหมือนคนเกาแผลคัน ยิ่งเกายิ่งคัน ยิ่งคันยิ่งเกา วนเวียนอยู่อย่างนั้น สู้คนที่พยายามรักษาแผลให้หายแล้วไม่ต้องเกาไม่ได้ เป็นการดับที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
พระมหาโมคคัลลานะฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทได้สำเร็จพระอรหัตตผลในวันนั้น
มีพระพุทธพจน์รับรองเรื่องความเพียรว่า “บุคคลผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันทั้งกลางคืนจะข้ามโอฆะได้ ไม่จมในห้วงน้ำลึก” ในเผณปิณฑูปมสูตรแสดงถึงความเพียรในการพิจารณาขันธ์โดยความไม่มีสาระ สามารถละสังโยชน์ได้ว่า “ผู้ปรารภความเพียรมีสติสัมปชัญญะ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงละสังโยชน์ทั้งปวง”
คำว่า โอฆะ แปลว่า ห้วงน้ำ ท่านนำมาใช้เป็นชื่อของกิเลส ๔ ประเภท ว่าเป็นเหมือนห้วงน้ำใหญ่ เพราะว่าห้วงน้ำใหญ่นั้น ไม่ว่าอะไรจะตกลงไปก็ตาม ย่อมซัดพัดพาสิ่งเหล่านั้นไปด้วยกระแสของตน สิ่งที่ตกลงในกระแสน้ำย่อมขาดความเป็นตัวของตัวเอง จนถึงกับต้องเป็นอันตรายเพราะห้วงน้ำฉันใด ใจของคนที่ถูกวังวน คือกิเลสพัดพาไปก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกัน ฉันนั้น โอฆะ ๔ ประการเหล่านั้นคือ
๑. กาโมฆะ - โอฆะคือกาม ได้แก่ ความใคร่ ความพอใจ ความยินดี ความปรารถนา ความต้องการและความอยากได้ในสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันตนผูกใจว่าสิ่งเหล่านั้น น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ และภายในจิตของตนได้มี "กามธาตุ" คือ ธาตุความใคร่ในสิ่งนั้นอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเขาก็จะดำริถึงรูปเป็นต้นเหล่านั้นด้วยแรงปรารถนา จากการดำริถึงด้วยความใคร่นี้เอง ทำให้ความเร่าร้อนเพราะแรงปรารถนา เกิดขึ้น จึงมีการแสวงหา เพื่อสนองตอบความต้องการของตน ด้วยทางถูกบ้างผิดบ้าง จนได้สิ่งเหล่านั้นมาไว้ในครอบครอง แต่ก็ต้องเป็นทุกข์ด้วยการรักษา การเสื่อมสลายหรือแตกดับไปของสิ่งเหล่านั้น ทุกช่วงของความคิดที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ใจของบุคคลเหมือนถูกท่วมทับด้วยกระแสน้ำ ยิ่งคิดมาก แสวงหามาก ได้มามาก จิตก็จะถูกท่วมทับด้วยแรงความใคร่ได้ใคร่มีในวัตถุกามเหล่านั้น จนหาที่สิ้นสุดไม่ได้ เพราะใจของคนที่ถูกท่วมทับด้วยกาโมฆะ เป็นจิตที่พร่องอยู่เป็นนิตย์ไม่อาจให้เต็มให้อิ่มได้ ด้วยการพยายามตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น ความทุกข์ที่เกิดจากกาโมฆะท่วมทับ จนต้องเหนื่อยยากลำบาก ในการแสวงหาเป็นต้นจะเกิดขึ้นหาที่สิ้นสุดไม่ได้
๒ . ภโวฆะ – โอฆะคือภพ ได้แก่ ความใคร่ในความมีความเป็น เพราะความฝังใจว่า ยศ ตำแหน่ง และฐานะนั้นๆ เป็นภาวะที่นำความสุขความยิ่งใหญ่มาให้แก่ตน ทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคต ทั้งชาติปัจจุบันและชาติหน้า ความใคร่ พอใจในฐานะต่างๆนั้น จะแสดงอาการออกมา ทำนองเดียวกับกาโมฆะ คือ จิตจะดำริถึงสิ่งที่ตนพอใจมากๆ จนเกิดการกำหนดหมายที่จะได้ฐานะนั้นๆ เกิดความเร่าร้อน เพราะแรงปรารถนาจนต้องแสวงหาต่อสู้แย่งชิงกัน จนบางครั้งมีการล้มตาย มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ที่ความปรารถนาของตนยังไม่เต็ม แต่ต้องตายไปก่อน ยิ่งเป็นความต้องการให้ภาวะที่ตนต้องการบังเกิดขึ้น ในอนาคตด้วยแล้ว จิตจะมีแต่ความวิตกกังวล ขาดความเป็นอิสระ จิตของเขาเป็นเหมือนถูกท่วมทับด้วยกระแสน้ำ เมื่อเป็นเช่นนี้ เป็นการยากที่จะทำตนให้สวัสดีได้
๓. ทิฎโฐฆะ – โอฆะคือทิฏฐิ คำว่า ทิฏฐิ แปลว่าความเห็น โดยปกติแล้วเป็นคำกลางๆ คือไม่มีความหมายว่าดีหรือชั่ว แต่เมื่อมาเพียงคำเดียว ไม่มีคำอื่นต่อหน้าหรือหลัง ท่านหมายเอาความเห็นที่ไม่ดี ในที่นี้มีความหมายไปในทางไม่ดีโดยตรง เพราะเป็นชื่อของกิเลส ความเห็นที่เป็นโอฆะคือทิฏฐิ เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว มารดาบิดาไม่มีคุณ กรรมที่ได้ชื่อว่าบุญบาปไม่มี การกระทำที่ว่าเป็นดีเป็นชั่วจึงไม่มีผลที่เกิดขึ้นในชีวิตของคน ไม่มีเหตุชาติก่อน ไม่มีชาติหน้า เป็นต้น ความเห็นผิดในลักษณะต่างๆนี้ มีอิทธิพลอย่างสำคัญในชีวิตของคน เพราะคนเราจะทำ จะพูดทางกาย ทางวาจานั้น เกิดมาจากความเห็นภายในจิตใจของเขา เป็นสำคัญ เมื่อความเห็นผิด การกระทำของเขาก็จะผิดตามไปด้วย และที่เป็นอันตรายมากคือ เมื่อเขาปฏิเสธบาปบุญทั้งที่เป็นส่วนเหตุและผล จะทำให้เขาขาดความรับผิดชอบในการกระทำ โอฆะคือทิฏฐิจะท่วมทับใจของเขา ให้ไหลไปตามอำนาจของทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ซึ่งมีความทุกข์ความเดือดร้อนเป็นผลทั้งแก่ตน และคนอื่น ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
๔. อวิชโชฆะ – โอฆะคืออวิชชาความเขลา ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งหลาย ซึ่งท่านจัดเป็นอวิชชา ๘ ประการ ดังกล่าวแล้ว คือความไม่รู้จริงในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่รู้จริงในเรื่องอดีตกาล ในเรื่องอนาคตกาล ทั้งอดีตและอนาคตกาล และไม่รู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยของกันและกัน อาศัยกันและกันเกิดขึ้น คือ ไม่รู้กฏปฏิจจสมุปบาท
ผลเสียของจิตใจที่ถูกโอฆะท่วมทับ
- ห้วงน้ำคือกาม เมื่อท่วมทับใจบุคคลใดแล้ว ทำให้ใจของบุคคลนั้น ซัดส่ายไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ต้องมีความวิตกกังวล เร่าร้อน ผจญอุปสรรค เหน็ดเหนื่อย เพราะวัตถุกามที่ตนใคร่ ตนแสวงหา และได้มาไว้ในครอบครอง เมื่อสิ่งเหล่านี้เสื่อมสลายไป เปลี่ยนแปลงไป ก็เกิดความทุกข์โทมนัส หมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ความรู้สึกเป็นอิสระสุขสบาย อย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้โดยยาก
- ห้วงน้ำคือภพ ทำให้จิตใคร่ในความเป็นต่างๆ ที่สังคมยอมรับ และตนเห็นว่าดี เมื่อห้วงน้ำคือภพครอบงำจิต ความคิดของตนจะหมุนวนอยู่ด้วยการกำหนดหมายว่า ฐานะ ตำแหน่ง ชั้น ยศ ภพ อย่างนั้นอย่างนี้น่าพอใจ จิตจะดำริถึงแต่เรื่องนั้นๆ จนเกิดความเร่าร้อนเพราะแรงปรารถนา จากนั้นการแสวงหาสิ่งนั้น จะเกิดขึ้นด้วยความเหนื่อยยากลำบากมีการต่อสู้แย่งชิงกัน และต้องเกิดความทุกข์โทมนัส เมื่อฐานะตำแหน่งของตน ต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ตนไม่ต้องการ
- ห้วงน้ำคือทิฏฐิ เมื่อไหลมาท่วมทับจิตใจใคร ทำให้บุคคลผู้นั้น มีความคิดเห็นห่างไกลจากความจริงออกไป จนปฏิเสธสัจธรรมทั้งหลาย ใจของเขาจะประกอบด้วยมโนทุจริต การคิด การพูด การกระทำ จะมากไปด้วยบาปอกุศลอันมีผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะการไหลไปตามอำนาจของกิเลส พัฒนาการในด้านจิตใจจะเกิดขึ้นได้ยาก หากยังไม่ยอมปรับจิตของตนให้ถูกต้องตามธรรม
- ห้วงน้ำคืออวิชชา ถือว่าเป็นตัวการสำคัญ อันนำสัตว์เข้าสู่ความมืดบอดทางปัญญา เพราะอวิชชาความไม่รู้จริงนี้เอง ที่ทำให้คนมีความหลง มัวเมา งมงาย ไร้เหตุผล ไม่ทราบปัญหาที่แท้จริงของชีวิต ของโลกและสังสารวัฏ คนที่ถูกห้วงน้ำคืออวิชชาพัดพาไป จะเป็นเหมือนเต่าตาบอด ตกอยู่ในกระแสน้ำ ย่อมไม่อาจพบความสวัสดีในชีวิตได้
สิ่งที่เป็นทำนบกั้นกระแสห้วงน้ำเหล่านี้โดยตรงคือสติปัญญา แต่เมื่อจะกล่าวเป็นข้อๆ ตามลำดับแล้ว บุคคลอาจอาศัยหลักธรรมต่อไปนี้ในการกั้นกระแสห้วงน้ำ คือ - อสุภสัญญา อสุภกรรมฐาน คือ การกำหนดหมายว่าไม่สวย ไม่งาม และการเจริญอสุภกรรมฐาน จะช่วยลด ทำลายห้วงน้ำคือกามได้
- ความมีสติระลึกถึงเหตุผล แล้วทำใจตนให้เกิดความยินดี ในฐานะที่ตนเป็น คือสันโดษ จะช่วยบรรเทาห้วงน้ำคือภพได้
- สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาอันเห็นชอบในระดับต่างๆ จะผ่อนคลายทิฏฐิ อันเป็นความเห็นผิดให้เบาบาง จนถึงหมดสิ้นไปได้ในที่สุด
- จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา อันเป็นตัวปัญญาที่แท้จริง เมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมขจัดห้วงน้ำคืออวิชชาให้หมดไป ดุจพระอาทิตย์อุทัยกำจัดมืดให้หมดไปฉะนั้น
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee