แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๔๒ เมื่อบวช ต้องบวชทั้ังกายบวชทั้งใจ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่แบรนด์เนม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้ญาติโยมประชาชน มาวัด มาให้ทาน รักษาศีล มาปฏิบัติธรรม เป็นวันหยุด เราอยู่ที่บ้าน หลายคนก็ยังไม่รู้ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้ารู้แล้วก็ไปปฏิบัติที่บ้านที่ทำงานทุกหนทุกแห่งได้ เพราะการปฏิบัติธรรมก็เปรียบเสมือนลมหายใจ ไปที่ไหนก็ต้องหายใจ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้เข้าสู่ธรรมะ การพัฒนามนุษย์เขาก็ต้องพัฒนาทั้งเรื่องทำมาหากิน เพราะปลายเหตุที่เราเกิดมาที่มีร่างกาย เราก็ต้องเรียนหนังสือ ต้องทำงาน สิ่งที่เป็นต้นเหตุของเราทุกคนคือ อวิชชา คือความหลง มันนำเราเวียนว่ายตายเกิด
ทุกคนก็ต้องพัฒนาทั้งการทำมาหากินที่ไม่มีบาปไม่มีกรรม มีแต่บุญมีแต่กุศลที่ต้องพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะได้หยุดวัฏฏะสงสาร พวกที่มาบวชมาบรรพชา เป็นภิกษุ เป็นภิกษุณี ก็อยู่วัดเป็นหลัก วันนี้มีบวชพระ ๓ รูป บวชเพื่อเป็นแบรนด์เนมของความเป็นพระ โกนผม ห่มผ้าเหลือง มีการสวดญัตติถูกต้องตามพระธรรมวินัย แต่ความเป็นพระจริงๆ มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ตองเข้าสู่ธรรมะเข้าสู่พระวินัย เพราะว่าส่วนใหญ่เข้าถึงแต่เพียงรูปแบบ มันขั้นนึง เราต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ประเทศไทยเราโชคดีที่พระเจ้าอยู่หัวท่านเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ ถึงได้อนุญาตให้ผสกนิกรชาวไทยพากันบวช อายุ 20 ปี ก็บวชเป็นพระภิกษุเพื่อฝึกใจ บวชก็ต้องตั้งอกตั้งใจ ไม่ใช่เรามาถือแบรนด์เนม เราต้องหยุดมีเซ็กทั้งกาย ทั้งวาจา หยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์
พระพุทธเจ้าถึงให้เราหยุดหมด หยุดคุยกันมาก ทุกวันนี้สมัยใหม่หยุดพวกโทรศัพท์มือถือ เพราะพวกนี้มันทำให้ใจเราไม่วิเวก ใหม่ๆ ก็เมื่อความเคยชินบริโภคแต่อวิชชาบริโภคแต่ความหลง จิตใจเราก็ลุกลี้ลุกลน จิตใจไม่สงบ พระพุทธเจ้าถึงให้เราละเดรัจฉานวิชา พวกนี้แหละพวก หนังสือพิมพ์ทางโลก วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ มันเป็นกามคุณ มันเป็นกามารมณ์ มันทำให้เรามาอยู่วัดหรือมาบวชนี้ ใจมันไม่ได้บวช ใจมันยังมีเซ็กทางความคิดทางอารมณ์ เราต้องมาหยุด เพราะพวกเราทุกคนมันติด ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ภาคประพฤติภาคปฏิบัติเขาเรียกว่าบำบัด พวกที่เขาติดเหล้าติดเบียร์ เขาเข้าสู่สถานที่เข้าสู่ภาคบำบัด ภาคบำบัดกับภาคปฏิบัติ ก็อันเดียวกัน อาศัยธรรมะ อาศัยพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่นี้แหละ เพราะอันนีมันเป็นศาสนาเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เราทุกคนจะได้ไม่มีแต่แบรนด์เนม เรามาบวชเราก็พากันตั้งใจดีๆ เพราะคนเรามันใจอ่อน เพราะมันเอาร่างกายหรือว่าเอาธาตุขันธ์ เอาตัวตนเป็นหลัก ร่างกายมันเหน็ดมันเหนื่อย มันท้อใจ ฉันข้าวมื้อเดียวมันก็ท้อใจ ตื่นตี 2 ตี 3 นั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์มันก็ท้อใจ จะมาอยู่แต่กับตัวเองมีสติสัมปชัญญะ ไม่อยู่กับภายนอกนี้มันก็ท้อใจ อันนี้เราต้องรู้จักว่า อันนี้มันเป็นตัวเป็นตน มันเป็นความเร่าร้อนเป็นความลุ่มหลง ทุกคนไม่อยากตายไปจากความอร่อย คือกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ
ดูตัวอย่าง อย่างหลวงปู่มั่น กว่าจะให้บวชได้ก็ต้องเป็นผ้าขาวตั้งหลายเดือน หรือว่าบางคนก็หลายปี เพื่อให้บวชทั้งหาย บวชทั้งใจ ไม่เหมือนคนสมัยใหม่บวชนี้ก็มีมหรสพ มีคอนเสิร์ต มีแห่มีแหนอะไร อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ได้ปรารภธรรม มีแต่ปรารภโลก ปรารภตัวตน
หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวว่า พิธีรีตองต่างๆ ทำนองนี้ ได้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมากมายจนหุ้มห่อของจริง หรือความมุ่งหมายเดิมให้สาบสูญไป ขอยกตัวอย่างเช่นในเรื่อง การบวชนาค ก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้านบวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น
การบวชสมัยพระพุทธเจ้า นั้นหมายความว่าบุคคลใดที่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้ว ก็ปลีกตัวจากบ้านเรือนเป็นคนที่ทางบ้านตัดบัญชีทิ้งได้ ไปอยู่กับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ โอกาสเหมาะสมเมื่อไรท่านก็บวชให้ โดยมิได้พบหน้าบิดามารดาญาติพี่น้องเลย จนตลอดชีวิตก็ยังมี แม้บางรายจะมีกลับมาเยี่ยมบิดามารดาบ้าง ก็ต่อโอกาสหลังซึ่งเหมาะสม แต่ก็มีน้อยเหลือเกินในพุทธศาสนามีระเบียบว่ามาบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลสมควร และพึงทราบไว้ด้วยว่าพวกที่บวชนั้นไม่ได้เวียนมาบ้าน ไม่ได้บวชในที่ต่อหน้าบิดามารดา ไม่ได้ฉลองกันเป็นการใหญ่แล้ว ไม่กี่วันสึก สึกแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้นไปกว่าเดิม อย่างที่เป็นกันอยู่ในเวลานี้
เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆ ตลอดถึงการฉลองอะไรๆ เหล่านั้นว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆ อย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป เช่นการบวชก็กลายเป็นเรื่อสำหรับแก้หน้าเด็กหนุ่มๆ ที่ถูกหาว่าเป็นคนดิบ หาเมียยากอะไรเหล่านี้เป็นต้น ในบางถิ่นบางแห่ง ถือเป็นโอกาสสำหรับรวบรวมเงินที่มีผู้นำมาช่วย เป็นการหาทางร่ำรวยเสียคราวหนึ่ง ถึงอย่างนั้นเขาก็เรียกว่าพุทธศาสนา ใครไปตำหนิติเตียนเข้าก็จะถูกหาว่าไม่รู้จักพุทธศาสนา หรือทำลายศาสนา
การบวชอย่างนั้นมันไม่ใช้อุดมคติ ไม่ใช่อุดมการณ์ของพระพุทธเจ้า เขาไม่ให้มีโทรศัพท์มือถือ ไม่ให้สูบบุหรี่ ก็ดีเราจะได้ฝึกสติสัมปชัญญะ ได้ฝึกตัวเอง ปรับเข้าหาธรรมะ ปรับเข้าหาตัวเอง เราต้องถือว่าการบวชนี้ไม่ใช่อามิสบูชา เป็นการประพฤติปฏิบัติบูชา เวลาลาสิกขาลาเพศไปผู้ที่มีภาระมากที่ต้องดูแลตัวเอง ดูแลพ่อแม่ ดูแลญาติพี่น้องวงศ์ตะกูล ดูแลประเทศชาติ ดูแลพระศาสนา พวกนี้ต้องตั้งใจฝึก เวลาลาสิกขาไปมันถึงจะเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามาห่มผ้าเหลืองไม่มีเหตุผลที่ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เพราะเราจะไปทำสิ่งที่ไม่เคยชิน สิ่งที่ดีๆ ก็ทำไว้ให้เคยชินติดต่อกัน เหมือนไก่ฟักไข่ก็ต้องใช้เวลา 3 สัปดาห์ ถึงออกลูกมาเป็นตัวไก่ เราก็เหมือนกัน มันต้องฝึกมันต้องทวนกระแส มันตามใจตัวเองไม่ได้ เพราะเราเป็นโรคตามจิตตามใจ ยิ่งเราเป็นลูกคนรวยพ่อแม่ตาใจ พ่อแม่ก็ใจอ่อน พ่อแม่นี้มีปัญญาไม่มากไปตามใจลูกสงสารลูก อย่างนี้ลูกก็ไม่มีโอกาสฝึก
มาบวชก็ต้องฝึกตัวเอง ไม่มีใครที่เป็นหมอเป็นนายแพทย์โดยที่ไม่เรียนไม่ฝึก ต้องเรียนหนังสือ เรียนหนังสือก็ยังไม่พอต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราจะเป็นพระอย่างนี้ก็ต้องฝึกเริ่มต้นมาเป็นนาคก่อน มาเรียนรู้พระธรรมวินัย มาฝึกทานอาหารวันละครั้ง ฝึกใจไม่ให้มันคิด คิดแล้วก็รู้ว่าอาหารกายคือข้าวปลาอาหาร อาหารใจคืออารมณ์คือความคิด เราไม่รู้จักอารมณ์เราไม่รู้จักความคิดเหมือนคนไม่มีเจ้าของ เราต้องรู้ตัวเอง เราก็ต้องฝึกตัวเอง คิดเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ มันคิดไม่ได้ มันต้องมาฝึกทางจิตใจ เน้นเข้าสู่ภาคปฏิบัติ เพราะเวลาเราก็มีค่านะ เราต้องปรับตัวเข้าหาเวลา แป๊ะๆๆ อย่าถือว่าเป็นความยากลำบาก มันเป็นการประพฤติการปฏิบัติ เราเป็นคนโชคดีปฏิบัติบูชา มาบวชที่นี่ก็บวชตามแบบพระพุทธเจ้าเลย พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ตั้งใจฝึกตัวเอง เพราะคนเราต้องไฟต์ติ้งตัวเอง เหมือนเรามารู้ธรรมรู้พระวินัย ก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เหมือนเราไปเรียนขับเครื่องบินนี่แหละ เราก็ต้องรู้หลักการรู้อะไรอย่างนี้ พระพี่เลี้ยง กัปตันเขาก็พาเราฝึก เราฝึกแล้วเราก็เป็นคนขับเครื่องบินด้วยตัวเอง เพราะอันนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาฝึกตนเอง
เราไม่ต้องอาศัยพ่อ อาศัยแม่ อาศัยเพื่อนฝูง เราต้องเป็นผู้นำตัวเองออกจากทุกข์ทางกาย ทางจิตใจ ไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ดีๆ เราก็มักเห็นเป็นเรื่องแปลกดีแหละ เห็นพระที่นี่ดูแลครูบาอาจารย์ เทคแคร์ครูบาอาจารย์ รับบาตร ล้างเท้า เช็ดเท้า โอ้... งงไปหมดเลย เพราะเราเกิดมาเราไม่ได้เทคแคร์ความถูกต้อง ไม่ได้เทคแคร์ความเป็นธรรมความยุติธรรม เราไม่ได้เทคแคร์พ่อแม่อย่างนี้ เอาแต่ใจตัวเองเอาแต่อารมณ์ตัวเอง เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ พวกที่มาบวชก็ต้องฝึก เวลาลาสิกขาไปแล้วจะได้อุปัฏฐากพ่อแม่ได้ จะได้สอนลูกสอนหลานได้ มันไม่ฝึกไม่ปฏิบัติไม่ได้ มันต้องฝึกมันต้องหัดชีวิตของเรา
การบวชนั้นถึงเป็นสิ่งที่ดีสิ่งที่ประเสริฐ ถ้าบวชโดยไม่ตามพระพุทธเจ้าไม่มุ่งมรรคผลนิพพาน อย่าไปบวช อยู่ดีๆ มันยังไม่บาป แต่มาบวชแล้วมันบาป เรามาบวช บ้านก็ไม่ได้เช้า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ พ่อแม่เราก็กราบไหว้เรา ปู่ย่าตายายก็กราบเรา ประชาชนให้ของเรา เขาก็ยังมาไหว้เราอีก เราต้องรู้จัก เราไม่ใช่จะเอาแต่ปล่อยวาง คำว่าปล่อยวางนี้ หมายถึงปล่อยวางตัวตนนะ ปล่อยวางความขี้เกียจขี้คร้าน ปล่อยวางสิ่งที่มันยึดมั่นถือมั่น ไม่เป็นคนตามใจไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ อย่างที่เขาพูดว่าเจ้าอาวาสนั้นเจ้าอาวาสนี้ เจ้าอาวาสนี้ก็หมายถึงดูแลตัวเอง คือรู้ทุกข์ รู้เหตุของทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ดูแลตัวเองได้ เราก็ดูแลคนอื่นได้ ถ้าเราดูแลตัวเองไม่ได้ มันจะไปดูแลคนอื่นได้อย่างไร พระพุทธเจ้าท่านสอนท่าน 100 % ท่านรู้ท่านเข้าใจภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ต้องเข้าใจ ถ้างั้นเราจะไปว่าลูกหลานไม่ฟังเรา เราเป็นคนไม่มีศีล ไม่มีธรรม ไม่มีคุณธรรม ใครจะไปฟัง ตัวเองยังคุมตัวเองไม่ได้เลย เข้าสู่รันเวย์เป็นกัปตันนำตัวเองออกจากวัฏฏะสงสารไม่ได้
ให้ทุกคนเข้าใจคำว่าพระนะ พระคือพระธรรมพระวินัย ศาสนานี้คือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา เราก็ตั้งใจละทิฏฐิ ละมานะ ละตัวตน ทำอะไรก็ให้คล่องแคล่วว่องไว อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิดมันเลย อันไหนไม่ดีก็อย่าไปพูดมันเลย ให้มีกิริยามารยาทดีๆ ความรับผิดชอบดีๆ อย่าเป็นคนเก่งแต่ทางรับประเคน เก่งแต่ทางฉัน แต่ไม่ล้างไม่เก็บ อย่างนี้มันไม่ใช่
พระพุทธเจ้าท่านให้เราบวชทั้งกาย บวชทั้งใจ ผู้ที่บวชกายไม่ได้ ก็ให้บวชใจนะ เราบวชกายนี้มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ถ้าเราไม่บวชทั้งกายทั้งใจ พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันเน้นเข้าหาเรื่องจิตเรื่องใจ มารู้เรื่องจิตเรื่องใจ รู้อารมณ์ รู้สิ่งที่จะต้องแก้ในตัวเรานี้ บวชพระหลายปี อยู่วัดหลายปีมันก็ไม่ได้เรื่องนะ เพราะว่ามันไม่ได้บวชใจ มาอยู่วัดหลายปี มันก็ไม่ได้เรื่อง เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติใจ
พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอน ท่านเน้นให้เราพากันประพฤติปฏิบัติ เพราะความแก่มันก็เข้ามาถึงเราทุกวัน ความเจ็บ ความตาย ก็เข้ามาทุกวันนะ อีกสักวันมันต้องถึงเราแน่นอน เดี๋ยวเราก็มาคิด ในใจเราเองว่า เราบวชมาหลายปีแล้วจิตใจเราเองก็ไม่ได้มีอะไรเลย ไม่ได้เป็นอะไรเลยน่ะ มันจะมีอะไร มันจะเป็นอะไรล่ะ เพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย
เป้าหมายชีวิตของมนุษย์ มักจะมีผู้สงสัยและตั้งคำถามกันว่า "คนเราเกิดมาทำไม" แต่เมื่อถามคำถามนี้ออกไปแล้ว ก็ไม่สามารถหาคำตอบ ที่ทำให้รู้สึกพอใจได้ ในที่สุดก็มักจะมีคำตอบในทำนองว่า ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะถามคำถามที่เป็นอจินไตย (คำถามที่พ้นความคิด หรือที่ไม่ควรคิด) ทั้งที่เรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสตอบไว้อย่างชัดเจนแล้วในสามัญญผลสูตร สรุปเป้าหมายชีวิตมนุษย์ได้ ๓ ระดับ คือ ๑. เป้าหมายระดับต้น ๒. เป้าหมายระดับกลาง ๓. เป้าหมายระดับสูงสุด
๑. เป้าหมายระดับต้น ได้แก่ เป้าหมายชีวิตที่ปุถุชน (ผู้ที่ยังมีกิเลสหนา) โดยทั่วไปคิดและปฏิบัติกันอยู่ เป้าหมายระดับต้นนี้ อาจเรียกง่ายๆ ว่า "เป้าหมายบนดินคือมนุษย์สมบัติ" เป็นการตั้งเป้าหมายของคนที่มุ่งแสวงหาความสุขสบายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ตามความคิดของแต่ละคน ดังที่พระเจ้าอชาตศัตรูทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ผู้คนทั่วไปต่างก็อาศัยความรู้ความสามารถของตน ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวรวมทั้งบำรุงบิดามารดาให้เป็นสุข."
จากข้อความที่ยกมานี้ จะเห็นว่าสอดคล้องกับความคิดของคนในสังคมโดยทั่วไปที่มองว่าเงิน คืออำนาจ ยิ่งรวยเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเท่านั้น เพราะมีความคิดทำนองนี้ จึงเห็นคนในสังคมทุกยุคทุกสมัยทุ่มเทชีวิตทำมาหากิน เพื่อหวังความมั่งคั่งร่ำรวย อันจะเป็นพื้นฐานไปสู่การมีอำนาจและบริวารมากมาย เมื่อประกอบอาชีพสุจริตไม่รวย บางคนก็หันไปประกอบอาชีพทุจริต ยอมเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ
บุคคลที่มีเป้าหมายบนดิน ก็อาจจะประสบทั้งสุขและทุกข์ระคนกันไปตามประสาปุถุชน ที่แน่นอนก็คือ ผู้ที่บรรลุ "เป้าหมายบนดิน" ย่อมประสบความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน และอาจมีอำนาจ มีเกียรติยศ ชื่อเสียงในสังคมด้วย
บุคคลที่มีเป้าหมายจำกัดอยู่เพียงในระดับนี้ มักไม่สนใจเรื่องการสั่งสมบุญบารมี อาจไม่มีความละอาย หรือเกรงกลัวบาปเท่าที่ควร ครั้นตั้งหน้าตั้งตากอบโกยแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย อำนาจและบริวารไปเรื่อยๆ ก็มักจะไม่สามารถสอนใจตนเองได้ว่า จะต้องมีมากเท่าไรจึงจะพอ เมื่อไม่รู้ปริมาณที่ควรจะพอก็ย่อมจะเบียดเบียนทั้งตนเอง และผู้อื่นต่อๆ ไปไม่รู้จบ
เบียดเบียนตนเอง หมายความว่า คิดแต่จะแสวงหาทรัพย์แม้ในทางไม่ชอบ จนกลายเป็นความโลภ เมื่อพบอุปสรรค หรือคู่แข่งก็เกิดความโกรธ มุ่งแสวงหาอำนาจก็คือความหลง
เบียดเบียนผู้อื่น หมายความว่า แก่งแย่งผู้อื่นโดยรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติด้วย ทั้งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เหล่านี้คือวิสัยของ "มิจฉาทิฏฐิบุคคล"
ดังนั้น ผู้ที่ตั้งเป้าหมายบนดินเท่านั้น จึงนับว่าดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่เสี่ยงอันตราย มีโอกาสผิดพลาดได้ง่ายอย่างยิ่ง
๒. เป้าหมายระดับกลาง เป็นเป้าหมายที่คำนึงถึงชาติหน้าด้วย เพราะเข้าใจถูกว่า ตายแล้วไม่สูญ อาจเรียกง่ายๆ ว่า "เป้าหมายบนฟ้าคือสวรรค์สมบัติ" มนุษย์เราวิเศษกว่าสัตว์ติรัจฉาน ก็ตรงที่มี "ธรรมสัญญา" หมายถึง การตระหนักในเรื่องของธรรมะจัดเป็นสัมมาทิฏฐิระดับหนึ่ง คือ สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดเป็นบุญ สิ่งใดเป็นบาป มีความเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ จึงคิดสร้างบุญไว้สำหรับชีวิตหน้า โดยการบำรุงสมณพราหมณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะของจิตใจที่พัฒนาสูงขึ้น ดังที่พระเจ้าอชาตศัตรูทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ผู้คนทั่วไปต่างก็อาศัยความรู้ความสามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมทั้งบำรุงบิดามารดาให้เป็นสุข ส่วนทรัพย์สินที่เหลือ ก็นำไปบำเพ็ญทานแก่นักบวชทั้งหลาย ด้วยหวังความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า.."
ใครก็ตามที่มีความคิดเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น และมีเป้าหมายชีวิตอยู่ในระดับกลาง
๓. เป้าหมายระดับสูงสุด เป็นเป้าหมายที่มุ่งความหลุดพ้น เพื่อบรรลุนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ "เป้าหมายเหนือโลกคือโลกุตตระ" เป้าหมายระดับนี้ มีปรากฏเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ปรากฏอยู่ในคำสอนของศาสนาอื่นใดในโลกเลย นี่คือคุณวิเศษอย่างยิ่งของพระพุทธศาสนา เพราะเป็น "ศาสนาแห่งปัญญาโดยแท้"
พระพุทธศาสนาจึงสอนว่า ให้ปฏิบัติให้ก้าวล่วงให้ก้าวพ้นเหยื่อ จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะก้าวพ้น ในพระพุทธภาษิตนี้ทรงแสดงข้อปฏิบัติอย่างเดียว คือ ให้มีสติ ได้ในคำว่า สโต พุทฺธสฺส สาวโก พระสาวกของพระพุทธเจ้ามีสติ มีสติตัวเดียวก้าวล่วงโลกามิสได้ สติมีหลายลักษณะพึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้
สติสังวร สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยสติ ให้เห็นด้วยสติ ฟังเสียงด้วยสติ ดมกลิ่นด้วยสติ ลิ้มรสด้วยสติ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยสติ รู้ธรรมารมณ์ด้วยสติ การปฏิบัติอย่างนี้ เราต้องสมมติกายของเราเองเป็นเมืองเมืองหนึ่ง คือ กายนคร มีประตูชั้นนอกเข้าในเมืองได้ ๕ ประตู ประตูชั้นใน ๑ ประตู รวมเป็น ๖ ประตู ตั้งสติตัวเดียวไว้เป็นทหารยามคอยเฝ้าถือปืน ถือหอกถือดาบคอยเฝ้าอยู่ คอยตรวจดูเหมือนทหารรักษาวัง ทหารรักษาวังนั้นเฝ้าอยู่ที่ประตูวัง พอคนจะเข้าประตูพระราชวังก็ต้องค้นตัวซักไซ้ไล่เลียงไต่ถามธุระว่ามาทำอะไร ต้องการพบใคร สืบสวนให้ดีว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่ว คนทุจริตหรือสุจริต ถ้าไม่สมควรก็ไม่ให้เข้าไป ให้เข้าแต่คนสมควรฉันใด ประตูกายนครก็มีฉันนั้น
เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ ให้ทหาร คือ สติคอยสอบถาม คือ ใคร่ครวญพิจารณาไตร่ตรอง เพราะเวลาเห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น เกิดความรู้สึกสองอย่างคือ ชอบกับไม่ชอบ บางคราวก็ชอบ บางคราวก็ไม่ชอบ รูปดีก็ชอบ รูปชั่วก็ไม่ชอบ เสียงเพราะก็ชอบ เสียงไม่เพราะก็ไม่ชอบ ให้ถามว่ามาทำไม มาธุระอะไร ต้องการไปหาใคร เมื่อเห็นว่าไม่สมควร จะเข้าไปประทุษร้ายท้าวจิตราชผู้เป็นเจ้าของกายนคร เราก็ไม่ให้เข้าไป สติไม่ให้เข้า ไล่กลับไปเสีย ถ้ามาในทางที่ดี ไม่ประทุษร้ายจิตก็ให้เข้า อย่างนี้เรียกว่า สำรวจด้วยสติ หรือสติสังวร
สติตัวเดียวคุมได้ทั้ง ๖ ประตู คือ ประตูชั้นนอก ๕ ประตูชั้นใน ๑ คุมได้ทั้งหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ เปิดคราวละประตู ไม่ได้เปิดพร้อมกัน เมื่อเปิดคราวละประตูแล้ว ทหารยามคนเดียวก็รักษาได้ คือ สติ อย่างนี้เรียกว่า สติสังวร สำรวมระวังด้วยสติ เรียกว่า อินทรีสังวร สำรวมอินทรีย์ นี้เป็นประการต้น
เมื่อสำรวมอินทรีย์อย่างนี้แล้ว เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ เรารู้ทั่วทั้งหมด ในเวลาที่จะเกลียด สติก็ห้ามว่าอย่าเกลียด ในเวลาที่จะรัก สติก็ห้ามว่าอย่ารัก สมมติให้เห็นง่ายๆ ต่างว่าลูกเขาจะเอาหลานมาให้เลี้ยง บอกว่าอยู่กับคุณย่าคุณยายนะ ตาเราก็เห็นหลาน หลานเป็นรูปเป็นอายตนะภายนอก ตาเป็นภายใน พอเห็นก็เกิดรัก สติก็ถามว่ารักทำไม พ้นทุกข์ไหม สติสอบไปสอบมา ประเดี๋ยวก็แพ้สติ พอได้สติก็ตอบไปว่า ข้าไม่เลี้ยงหรอก ข้าเหนื่อย ข้าจะไปฟังเทศน์ ไปจ้างคนเลี้ยงเอาสิ สติทำให้มีทางออกอย่างนี้ จิตใจไม่เศร้าหมอง นี้เป็นประการหนึ่ง
ให้สติสูงขึ้นอีกขั้นหนึ่งเรียกว่า สติพละ ทำสติให้มีกำลังขึ้น กิเลสเกิดครอบงำ สติมีกำลังมากกว่า กิเลสมารก็สู้ไม่ได้ เพราะสติเต็มไปหมด มีอะไรเกิดขึ้นก็มีสติรู้ทุกขณะ พอจะโกรธ สติก็รู้เสียแล้วว่าจะโกรธ โกรธก็สงบ พอจะรัก สติก็รู้เสียแล้วว่าจะรัก รักก็สงบ สติรู้ทันหมด อย่างนี้เรียกว่า สติพละ ทำให้ใจมีกำลัง ให้เป็นสติเต็มบริบูรณ์ที่ใจ ในใจนี้ไม่มีที่ว่าง ไม่มีที่ที่จะให้พญามาร คือ กิเลสเข้ามาอาศัย เพราะมีสติประจำใจ
สมมติว่าในจิตใจของเรามีห้องแต่ไม่มีว่าง สติอยู่หมดทุกห้อง กิเลสก็ไม่มีที่อาศัย สติพละ สติเป็นกำลังนั้นก็ให้นึกอยู่เสมอว่า กำลังอื่นสู้กำลังคือสติไม่ได้ กำลังคือสติ วิเศษกว่าอะไรหมด นึกถึงสติอยู่เสมอ เรียกมาไว้เสมอ กำลังก็เกิดขึ้น
สตินทรีย์ อินทรีย์แปลว่าใหญ่ สติก็คือสติ สตินทรีย์ สติเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ที่ตา เป็นใหญ่ที่หู เป็นใหญ่ที่จมูก เป็นใหญ่ที่ลิ้น เป็นใหญ่ที่กาย เป็นใหญ่ที่ใจ สติเขาเป็นนายหมด เป็นเจ้าใหญ่นายโตอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจหมด เราไม่สามารถที่จะแบ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปให้คนอื่นอีก เพราะสติเขาไม่อนุญาต มีสติเต็มไปหมด โลกามิสก็ครอบงำไม่ได้เหมือนกัน
สัมมาสติ ตั้งสติไว้ชอบ ไม่ยุ่งในทางอื่น ดูแต่ที่กาย เวทนา จิต ธรรมเท่านั้น กายของเราเองสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เวทนาของเราเอง คือ รู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จิตของเราเองที่เศร้าหมองบ้าง ที่ผ่องใสบ้าง ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา สักแต่ว่าคิดๆเท่านั้น ธรรมของเราเองคือที่เราคิดขึ้นในใจ บางคราวเราคิดดี บางคราวเราก็คิดชั่ว หรือธรรมที่เกิดขึ้นที่ใจเรา เช่น นิวรณ์ เราก็รู้ว่ามันชั่ว โพชฌงค์เกิด เราก็รู้ว่าดี อย่างนี้เรียกว่า สัมมาสติ คือ สติปัฏฐาน ๔ นั้นเอง
สูงขึ้นไปอีก สติโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งธรรมเครื่องตรัสรู้ ถ้าได้สติตัวนี้ไว้แล้วตรัสรู้แน่ๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วว่า อวินิปาตธมฺโม มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา นิตโย เป็นผู้แน่นอน สมฺโพธิปรายโน มีอันจะต้องตรัสรู้ในเบื้องหน้า ที่เราจะรู้ว่าเป็นสติสัมโพชฌงค์นั้น เพราะสติตัวนี้เมื่อเกิดขึ้นเป็น วิเวกนิสฺสิตํ อาศัยวิเวก คือรู้สึกตัวว่าสงัดสบาย แม้อยู่บ้านคนอยู่มากๆ แต่รู้สึกว่าสบายโปร่งว่าง เรารู้แล้วว่า บัดนี้ สติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นแล้ว วิราคนิสฺสิตํ อาศัยวิราคะคลายกำหนัด ไม่ติด ไม่กำหนัด ไม่เสียดาย ไม่พอใจอะไรเกินประมาณ เมื่อใดใจเป็นอย่างนี้ เมื่อนั้นพึงทราบว่า สติสัมโพชฌงค์เกิดแล้ว โลกามิสก็ดับ โลกามิสครอบงำไม่ได้ นิโรธนิสฺสิตํ อาศัยความดับ คือ ดับร้อนใจ กลุ้มใจ อึดอัดใจ ไม่สบายใจดับหมด โวสฺสคฺคปริณามึ น้อมไปสู่โวสสัคคะ คือ ความสละลง ได้แก่ วางภาระยอมใจปฏิบัติ นี้เป็นสติสัมโพชฌงค์
ผู้ใดมีสติเป็นชั้นๆ ดังกล่าวมา ผู้นั้นก้าวล่วงโลกามิสได้ เมื่อโลกามิสครอบงำไม่ได้ ชอบไม่ชอบก็ไม่เกิด เกิดแต่เฉยๆ คือ อุเบกขา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นอันได้ก้าวล่วงมารเธยยะ คือ ดินแดนเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพญามาร คือ ไตรวัฏฏ์ กิเลส กรรมวิบาก ๓ อย่างนี้ก็ไม่วนที่ท่านผู้นั้น ท่านผู้นั้นจึงได้ชื่อว่า มารเธยฺยสมติกฺกโม ผู้ก้าวล่วงมารเธยยะ คือ ดินแดนของมาร อาทิจฺโจ ว วิโรจติ สว่างไสวไพโรจน์ คือ จิตใจสว่างไสวเรื่อยไป ไม่มีมืด เหมือนดวงอาทิตย์อันอุทัยขึ้น กำจัดความมืดให้หมดไป ฉะนั้น
เราเดินทางสายกลาง ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำบุญทำกุศลให้ถึงพร้อม สร้างแต่ความดี สร้างแต่บารมี ต้องเอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง เราจะเอานอกจากนี้มันพึ่งไม่ได้ เราปฏิบัติไป ฝึกตัวเองไป เราอย่าไปสงสัยอยู่นั่นแหละว่ามันถูกมันผิดหรือเปล่า ถ้าเอาศีลเอาธรรมเป็นที่ตั้งได้ชื่อว่าถูก แต่มันอาจไม่ถูกใจไม่ถูกกิเลสของเรา เพราะทุกคนก็พยายามเอาทางสายกลางของตน หวังว่าทุกท่านทุกคนจะเดินทางสายกลางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความไม่ผิดพลาด เพื่อความถูกต้อง.
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee