แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๔๐ การปฏิบัติภาวนาทำได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
หมู่มวลมนุษย์ไม่รู้ความจริงตามความเป็นจริง คือไม่รู้อริยะสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าผู้บำเพ็ญบารมีตั้งหลายล้านชาติ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าสมบูรณ์ด้วย ด้วยภาคประพฤติ ด้วยภาคปฏิบัติ สมบูรณ์ ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ได้มาบอกมาสอน ได้มาบอกความดับทุกข์มันอยู่ที่เราทุกคนในชีวิตประจำวันเรียกว่า อริยะมรรคมีองค์ ๘ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ที่เป็นธรรมความยุติธรรมหรือว่าเรียกว่าพระศาสนา พระศาสนานี้เป็นสิ่งคู่กับหมู่มวลมนุษย์ แต่เรายังไม่รู้จักพระศาสนา เรายังเอาตัวตนเป็นหลัก เอาอวิชชา เอาความหลงเป็นหลัก พวกเราพากันเป็นได้แต่เพียงคน อย่างนี้แหละ เราเลยไม่รู้ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราเลยทิ้งธรรมทิ้งปัจจุบันธรรมไป เลยแยกทางโลก หรือว่าแยกการทำมาหากินออกจากธรรมะในชีวิตประจำวัน ไปแยกไม่ได้ เพราะอันนี้มันการดำเนินชีวิตของพวกเรา ต้องเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่
ผู้ปฏิบัติธรรมบางทีไม่รู้เรื่องอะไรเลย นึกว่านั่งสมาธิ เดินจงกรม เรียกว่าการปฏิบัติธรรม อันนี้พระพุทธเจ้าบอกสอน ความดับทุกข์ของเราต้องอยู่กับเราในชีวิตประจำวัน ด้วยหน้าที่การงาน ด้วยคำพูดการกระทำ เพราะธรรมะกับการดำเนินชีวิตมันต้องอยู่กับเรา ตลอดกาล พวกเราถึงจะได้หยุดอวิชชา หยุดความหลง หรือว่าหยุดที่อวิชชาความหลงมันเปรียบเหมือนการวางยาสลลบเราทุกๆ คน เราถึงจะได้เข้าถึงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ที่พวกเราต้องพากันประพฤติต้องพากันปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันนี้แหละ เพราะคนเราต้องอยู่ได้ด้วยความถูกต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้รู้จริงรู้อริยะสัจ ๔ ความเป็นพระต้องมีกับเราทุกๆ คน ไม่ใช่มีอยู่ที่พวกมาบวช ต้องอยู่กับทุกๆ คนไม่ว่าเราจะถือ ชาติ ศาสนา ความดับทุกข์ต้องอยู่กับเรา เราต้องเข้าใจอริยมรรคมีองค์ ๘ ถึงตอนเย็นน่ะสำหรับฆราวาสก็นั่งสมาธิพักผ่อนสมอง เหมือนรถทำงานใช้งานทั้งวันก็ต้องพักผ่อนเลย
สำหรับผู้ที่มาบวชเป็นนักบวชเขาก็ทำงาน ความเป็นพระธรรมเป็นพระวินัยให้สมบูรณ์ทั้งวันทั้งคืน ถึงตัดเรื่องภายนอก เรื่องเดรัจฉานกถา ตัดเรื่องอะไร อย่างผู้มาบวชก็ไม่ได้มีโทรศัพท์ไม่มีอะไร ถึงจะได้เจริญสติสัมปชัญญะ จะได้มีความสุข มีสติสัมปชัญญะ เรียกว่าสติปัฎฐาน ๔ มีความสุขในการทำข้อวัตรกิจวัตร เอาข้อวัตรกิจวัตรเป็นการดำเนินชีวิตอยู่ เราดูตัวอย่างอย่างพระรูปนั้นอยู่ได้ 20-30 พรรษา พระกรรมฐานก็อยู่กับเหลาขาบาตรบ้าน ทำกลดบ้าง เย็บผ้าบ้าง ก็อยู่กับเครื่องอยู่ พอถึงเวลาก็กวาดตาดบ้าง ถูพื้นถูอะไร ที่มันเป็นสติสัมปชัญญะ เราต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมันเป็นการปฏิบัติธรรม
เราเป็นประชาชนก็อยู่กับงานกับการเรา แต่ก่อนเราทำงานเพื่อจะเอาเงิน เราไม่ต้องไปคิดอย่างนั้น คิดว่าเรามีความสุขในการเสียสละ เพราะเรามีความจำเป็นเพราะเราเกิดมา เรามีร่างกายเราก็ต้องเรียนหนังสือ หาความรู้เพื่อจะมีอาหาร มีบ้าน มีรถ มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือมีเครื่องบิน เป็นต้น อันนี้มันปลายเหตุ ต้นเหตุคือเราต้องหยุดวัฏฏะสงสารของตัวเอง เราต้องรู้จักว่า สมณะที่ 1-4 หรือว่าพระอริยะเจ้าที่ 1-4 นั้น อยู่กับเราทุกๆ
คน เราจะได้พากันรู้จักพระศาสนา คนเรานี้ไม่ถือศาสนานี้ไม่ได้ บอกไม่ปฏิบัติพระศาสนานี้ไม่ได้ เพราะพระศาสนาคือความเป็นธรรมเป็นความยุติธรรม คือที่สุดแห่งความไม่มีทุก เข้าใจจริงๆ เขาเรียกว่า สติปัญญา รู้อริยะสัจ 4 เราทุกคนจะได้แก้ปัญหาตัวเอง คนเราไม่ต้องอาศัยใครอาศัยตัวเองนี้แหละ อาศัยที่เราเรียนเราศึกษากับครูบาอาจารย์แล้วก็มาประพฤติมาปฏิบัติเอง เหมือนกับเราเรียนหนังสือรู้วิชาการการทำมาหากินก็มาปฏิบัติเอง การปฏิบัติเราต้องปฏิบัติทั้งเทคโนโลยีหน้าที่การงาน แล้วมาปฏิบัติใจไปพร้อมๆ กัน เราจะเอาแต่ความร่ำรวยไม่ได้ มันได้แต่เพียงกาม มันได้แต่เพียงเกียรติ มันไม่ได้ เราต้องพัฒนาใจของเรา เราทุกท่านทุกคนจะได้พากันรู้จักพระศาสนา จะได้ไม่เป็นคนสีเทาสีด่าง เราจะได้เข้าถึงสุจริต เพราะเราต้องรู้ว่าศาสนาต้องมีกับเรา เพราะอันนี้มันเป็นหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี
บางคนไม่รู้เรื่องคิดว่ามาลาออกจากงานเงินเดือนเราเพียงพอ เราจะเอาพระนิพพาน มันต้องรู้จักพระนิพพาน มันต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันอยู่ที่ปัจจุบันอย่างนี้แหละ พวกเกษียณแล้วเขาก็ยังทำการกุศล เพื่อมีความสุขในการทำงานในการเสียสละ เราต้องเข้าใจเมืองเราเป็นประชาชน เป็นฆราวาส เรามีภาระที่จะต้องเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูพ่อแม่ ดูแลญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลแล้วก็เลี้ยงดูพระศาสนา เขาก็มีภาระ เขาก็ต้องมีความสุขกับการปฏิบัติพร้อมกับการพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เพราะความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ปัจจุบันนั้นแหละ เราจะหนีโลกไปไหน หนีโลหเราก็หนีด้วยสติปัญญา หนีด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ชาวบ้านหน่ะทิ้งธรรมเลยไม่ได้ มันไม่ยุติธรรมหนิ่ มันเอาตัวตนเป็นหลัก เอาตัวตนเป็นใหญ่ มีการฆ่าสัตว์ โลภเอาของคนอื่น โกหกหลอกลวง เมาไปเรื่อยอันนี้มันไม่ใช่ มันหลงในตัวในตนมากเกินไปพวกนี้นะ ถึงตอนค่ำตอนเย็นนี้เราก็ถึงกราบพระไหว้พระนั่งสมาธิ พักผ่อนจิตใจ หยุดพักยกก่อน หยุดพักงานภายนอก เราจะได้ซ่อมแซมสมอง เอาจริงการพักผ่อนถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราก็มีความสุขในการทำงานมันก็พักผ่อนไปในตัวอยู่แล้วไม่ใช่เราทำงานไปทุกข์ไป คิดถึงเงิน โอ้ยทำงานเงินไม่พอใช้ก็ยิ่งเครียด เราต้องรู้จัก เราต้องมีสัมมาทิฏฐิ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นคนใจบุญสุนทานจริงๆ มีความเคารพในพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์มาก โดยเฉพาะความเคารพรักในพระพุทธองค์มีมากจนเกิดความไม่สมดุล หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ท่านรักและเคารพพระพุทธองค์ไม่ค่อยถูกทาง ดังพระพุทธดำรัสว่า “รักษาเราในฐานะที่ไม่ควรรักษา” รักษาในที่นี้แปลว่า ดูแลเลี้ยงดูได้ด้วย (ดังภาษาชาวใต้นั่นแหละ) แปลว่าปกป้องคุ้มครองได้ด้วย
สาเหตุที่พระพุทธองค์ดำรัสอย่างนี้ ก็เพราะท่านเศรษฐี แม้ว่าจะ “ไปสู่ที่บำรุง” (หมายถึงเข้าเฝ้า) พระพุทธเจ้าวันละสามครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น) ก็เฝ้าเฉยๆ เวลาใครไปทูลถามปัญหาและเวลาพระพุทธองค์ตอบปัญหาแก่ผู้เข้าเฝ้าอื่นๆ ก็พลอยนั่งฟังอยู่ด้วย ไม่เคยคิดที่จะทูลถามข้อข้องใจของตนกับพระพุทธองค์เลย
เหตุผลของท่านเศรษฐีก็คือ กลัวพระพุทธองค์จะทรงเหนื่อย พระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนประชาชนมาทั้งวันแล้ว ถ้าจะทรงแสดงธรรมหรือประทานโอวาทแก่ตัวท่านอีก พระองค์จะไม่ทรงมีเวลาพักผ่อน จึงไม่คิดรบกวนพระพุทธองค์ ด้วยการถามปัญหาข้อข้องใจกับพระพุทธองค์ จนพระพุทธองค์ตรัสเปรยๆ ว่า ท่านเศรษฐี “รักษาพระองค์ในฐานะที่ไม่ควรรักษา” ดังกล่าวมา
แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี คงไม่เก็บงำความสงสัยเรื่องต่างๆ ไว้ในใจตลอดไป เพราะมีพระเถระที่ท่านเศรษฐีคุ้นเคยมากที่สุดอย่างน้อยสองรูป คือ พระสารีบุตรอัครสาวกกับพระอานนท์พุทธอนุชา
ท่านมีข้อสงสัยอะไรก็เรียนถามพระเถระทั้งสอง รูปใดรูปหนึ่ง วันไหนว่างก็นิมนต์พระสารีบุตรไปแสดงธรรมให้ฟังที่บ้าน เนื่องจากพระสารีบุตรเป็นพระนักวิชาการ อธิบายธรรมละเอียดลึกซึ้ง ท่านเศรษฐีฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็สนุกเพลิดเพลินในการฟังธรรม
มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรแสดงธรรมง่ายเป็นพิเศษ เศรษฐีเข้าใจแจ่มแจ้ง หลังพระสารีบุตรแสดงธรรมจบ ท่านเศรษฐีก็บอกว่า ต่อไปขอพระคุณเจ้าแสดงธรรมง่ายๆ อย่างนี้เสมอได้ไหม จากเรื่องราวเช่นนี้ แสดงว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคุ้นเคยกับพระอัครสาวกมาก ถึงขนาดกล้า “คอมเมนต์” ว่า ที่แล้วๆ มาเทศนาไม่รู้เรื่อง แต่คราวนี้รู้เรื่องดี ต่อไปเทศน์แบบนี้สิขอรับ อะไรทำนองนั้น
ความจริงสาวกอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดี ที่ท่านเศรษฐีไม่อยากรบกวนพระพุทธองค์ เพราะคิดว่า พระองค์เป็นคนของประชาชนให้พระองค์ทรงมีเวลาโปรดประชาชนได้เต็มที่จะดีกว่า ความสงสัยอะไรที่ตนมีถามพระเถระทั้งสองรูปดังกล่าวมาก็ย่อมได้ ไม่จำเป็นต้องรบกวนเบื้องยุคลบาทพระบรมศาสดา ยกเว้นแต่เรื่องสำคัญๆ ค่อยทูลถาม มองในแง่มุมของเศรษฐีก็น่าจะเรียกว่า ท่านเศรษฐี “รักษาพระพุทธองค์ในฐานะที่ควรรักษา” ก็ว่าได้
พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยอันนี้ของเศรษฐีแล้วทรงดำริว่า เศรษฐีนี้เกรงใจเราในฐานะที่ไม่ควรจะเกรง ก็เราบำเพ็ญบารมีมาเป็นเวลายืดยาวนาน เคยควักลูกนัยน์ตา เคยตัดศีรษะอันประดับประดาแล้วด้วยมงกุฎ และเคยสละอวัยวะอื่นๆ ตลอดถึงชีวิต ให้เป็นทาน บารมี ๑๐ เราบำเพ็ญมาแล้วอย่างเข้มงวดและบริบูรณ์ ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะขนสัตว์ในสังสารสาครขึ้นสู่ที่อันเกษม คือ พระนิพพาน ทรงดำริเช่นนี้ก็แสดงธรรมแก่เศรษฐีพอสมควรทุกครั้งที่เขาไปเฝ้า
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มักไม่ทูลถามข้อธรรมปฏิบัติจากพระพุทธเจ้า เพราะท่านเกรงว่าจะเป็นการรบกวนเบื้องยุคลบาท เมื่อไม่ต้องการให้พระพุทธองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย จึงไม่ทูลถามปัญหาใดๆ นั้น มิได้หมายความว่าท่านเศรษฐีเป็นคนไม่ใฝ่ใจศึกษาปฏิบัติธรรม หามิได้ ที่จริงแล้วท่านเป็นผู้มี “ธัมมกามตา” (ความใฝ่ธรรม, ความใฝ่รู้) เป็นอย่างยิ่ง ดังปรากฏว่ามีหลายสูตรบันทึกธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ท่านฟัง
๑. “จิตที่คุ้มครองดีแล้ว ปลอดภัยเหมือนเรือนที่มุงบังดีแล้ว ฝนไม่รั่วรดฉะนั้น” พุทธภาษิตบทนี้ทรงสอนคนอื่นในที่อื่นด้วย ความหมายทรงเน้นไปที่ “ราคะ” (ความกำหนัดในกาม) มันเหมือนฝนที่รั่วรดบ้านที่หลังคามุงไม่ดี บ้านหลังคามุงไม่ดี บ้านหลังคารั่วเดือดร้อนอย่างไร เวลาฝนตกเป็นที่รู้กันดี ทรงเปรียบเหมือนจิตใจที่ถูกราคะความกำหนัดครอบงำ ย่อมจะทำความเดือดร้อนกระวนกระวายให้ผู้นั้นอย่างยิ่ง
๒. “การให้อาหารเป็นทาน ย่อมได้รับผลบุญ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ” ข้อนี้อธิบายด้วยเหตุผลธรรมก็ได้ คนที่ให้ข้าวน้ำแก่คนอื่น คนที่รับ หรือคนที่กินข้าวน้ำนั้นย่อมจะมีอายุยืนยาวไปอีก มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีความสุข ไม่ต้องหิวโหย ทนทุกข์ทรมาน และมีพละกำลังเพิ่มขึ้น นี้พูดถึงอานิสงส์ที่ผู้รับได้ ส่วนผู้ให้ก็ย่อมจะได้รับอานิสงส์เช่นนั้นเหมือนกัน เห็นคนอื่นเขาได้กินข้าวปลาอาหารที่ตนให้แล้ว ก็มีปิติสุข จิตใจผ่องใสเบิกบานว่าตนได้สงเคราะห์เพื่อนมนุษย์
คนที่มีความสุขใจ ผิวพรรณก็ย่อมจะผุดผ่อง ไม่เศร้าหมอง ยืดอายุไปได้อีก มีกำลังใจและความเข้มแข็งขึ้น
มองสั้นเพียงแค่นี้ก็เห็นว่า การให้ข้าวน้ำเป็นทาน มีอานิสงส์มากมาย ยิ่งมองให้ลึกและมองให้ยาวไกล ยิ่งจะเห็นมากขึ้น
คนที่ใจกว้าง ใจบุญ ใจกุศล ยิ่งให้มากๆ โดยมิได้คิดถึงผลตอบแทน ผลที่ตอบแทนกลับมีมากโดยไม่รู้ตัว ตรงกันข้าม ใครที่งก เห็นแก่ได้ ไม่รู้จักสละอะไรให้ใครๆ เลย มีแต่ความเห็นแก่ตัว มักไม่ค่อยได้อะไร
เอริก ฟรอมม์ นักจิตวิทยามีชื่อ กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า “ความรักคือการให้ ยิ่งคุณให้มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งได้มากเท่านั้น” ท่านผู้นี้พูดอย่างกับเปิดพระไตรปิฎกอ่าน เพราะข้อเขียนของท่าน สอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาพอดิบพอดี
๓. “หน้าที่ ๔ อย่างที่คฤหัสถ์ผู้มีจิตศรัทธาจะพึงปฏิบัติคือ บำรุงพระสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่” (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ที่บางท่านคิดเป็นคำง่ายๆ ว่า “ข้าว ผ้า ยา บ้าน”)
ธรรมะข้อนี้เท่ากับบอกหน้าที่ที่คฤหัสถ์พึงทำ และบอกด้วยว่า คฤหัสถ์เท่านั้นที่จะต้องทำหน้าที่นี้ บรรพชิตหรือพระมีหน้าที่อื่นที่ต้องทำ โดยสรุปคือ สั่งสอนประชาชนผู้ที่บำรุงเลี้ยงท่านด้วยปัจจัยสี่ เป็นการตอบแทน
พูดให้ชัดก็คือ การจัดหาอาหารบิณฑบาต การจัดสร้างสถานที่พำนักอาศัย การจัดหาจีวร เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนการถวายการรักษาพยาบาล เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์โดยตรง คฤหัสถ์ต้องดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ท่านสะดวกสบายทางด้านวัตถุ พระสงฆ์ท่านจะได้ไม่ต้องมากังวลในเรื่องเหล่านี้ จะได้อุทิศเวลาศึกษาปฏิบัติธรรม และสั่งสอนประชาชนได้เต็มที่
เมื่อใดพระสงฆ์ท่านมาเริ่มทำสิ่งเหล่านี้เสียเอง คือก่อสร้างโบสถ์ วิหาร เสนาสนะอื่นๆ กันเอง แสวงหาเงินทองมาเป็นทุนในการสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมกันเอง ก็แสดงว่าชาวบ้านบกพร่องในหน้าที่ เพราะชาวบ้านไม่ได้ดูแลท่าน ท่านจึงต้องขวนขวายทำกันเอง เมื่อท่านมาทำเรื่องเหล่านี้ ท่านก็ “เขว” ออกจากทางเดินของท่าน เรียกว่า “ออกนอกทาง” ว่าอย่างนั้นเถอะ
ชาวบ้านเห็นพระท่านเขวออกนอกทาง “เพราะความบกพร่องในหน้าที่ของตน” แทนที่จะละอายใจ แต่เพื่อกลบเกลื่อนความบกพร่องของตน ก็ยุพระส่งเลยว่า ท่านทำดีแล้ว ท่านเก่ง ท่านมีบารมีมาก หาเงินทองได้มาก ก็เลยเฮโลสนับสนุนเป็นการใหญ่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
พระภิกษุบางรูปมีความสามารถในการระดมทุน ก็สนุกสนาน ขวนขวายหาเงินเป็นการใหญ่ ท่ามกลางความชื่นชมของพุทธศาสนิกชน (ผู้บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง)
เมื่อมีหนึ่งรูป ก็มีรูปที่สอง ที่สาม ที่สี่ ตามมา ตกลงสังคมพุทธจึงเต็มไปด้วยพุทธบริษัทผู้ไขว้เขวในหน้าที่อันแท้จริงของตน หรือพูดให้ชัดก็คือ พากันเดินหลงทางไปกันหมด แล้วอย่างนี้ เมื่อไรจะถึงเป้าหมายเล่า มัวแต่เข้ารกเข้าพงกันไปหมดอย่างนี้
๔. ความปรารถนาสมหวังได้ยาก ๔ ประการ คือ
๑. ขอให้สมบัติจงเกิดมีแก่เราโดยทางที่ชอบ ๒. ขอยศจงมีแก่เรากับญาติพี่น้อง
๓. ขอให้เรามีอายุยืนนาน ๔. เมื่อสิ้นชีวิต ขอให้เราจงไปเกิดในสวรรค์
ธรรมะหลักนี้ ตรัสสอนแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ตรัสถึงสิ่งที่ปรารถนาแล้วสมใจยาก ๔ ประการ สิ่งเหล่านี้มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุเพียงปรารถนาอ้อนวอนเอา ต้องลงมือทำเหตุที่จะบันดาลผลเช่นนั้น และการสร้างการทำเอาก็มิใช่ว่าทำเล็กๆ น้อยๆ แล้วจะได้ผลดังกล่าว ต้องสร้างต้องสมอย่างจริงจัง และใช้เวลานานพอสมควร
ในมหาชนกชาดก มีสุภาษิตบทหนึ่งว่า “น หิ จินฺตามยา โภคา คือ โภคทรัพย์ทั้งหลายจะสำเร็จด้วยการคิดเอาหาได้ไม่” หมายความว่า ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องทำเอา อยากได้โภคทรัพย์ก็ต้องพยายามทำเหตุที่จะได้โภคทรัพย์ เช่น ตรัส “หัวใจเศรษฐี” ไว้ ๔ ประการ ใครอยากรวยให้ปฏิบัติดังนี้ คือ
๑. ขยันหาทรัพย์ในทางซื่อสัตย์สุจริต
๒. หามาได้แล้วรู้จักใช้จ่าย รู้จักเก็บออม
๓. คบเพื่อนที่เกื้อกูลแก่อาชีพ (เช่น คนทำมาหากิน อย่าริคบนักเลงพนัน)
๔. ใช้จ่ายให้พอเหมาะพอสมแก่อัตภาพความเป็นอยู่ (เห็นเศรษฐีเขากินอาหารมื้อละหมื่น ตัวมีรายได้เดือนละแค่ไม่กี่พัน อย่าริทำตาม)
๕. กรรมกิเลส ๕ ประการ ธรรมะพื้นฐาน แต่จำเป็นมากสำหรับคฤหัสถ์ทุกคน (บรรพชิตด้วย) คือการละเว้นจากกรรมกิเลส ๕ ประการดังจะกล่าวข้างท้ายนี้ ก่อนอื่นขอแปลศัพท์ กรรมกิเลสก่อน
กรรมกิเลส แปลว่า ความมัวหมองแห่งกรรม (การกระทำ) แปลไทยเป็นไทยอีกทีก็คือ การกระทำที่ทำให้เสื่อมเสีย มีอยู่ ๕ ประการ ซึ่งก็คือการละเมิดศีล ๕ ข้อนั่นเอง มีดังนี้ ๑. การฆ่าสัตว ๒. การลักทรัพย ๓. การผิดในกาม ๔. การพูดเท็จ ๕. การดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
โดยตัวอักษร ถ้าเราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดลูกเมียเขา ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มสุราเมรัย ก็น่าจะเป็นคนดีมีศีลแล้ว นั่นนับว่าถูกในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าจะว่าโดยความจริงแล้ว เวลาพระพุทธองค์ตรัสถึงศีล ท่านมักจะตรัสในแง่ลบและแง่บวกรวมกันไป ทำให้เห็นว่า การงดเว้นจากการกระทำที่ไม่เหมาะสมนั้นๆ เป็นศีลในแง่ลบ ส่วนการบำเพ็ญหรือพัฒนาคุณธรรมเสริมเป็นศีลในแง่บวก เช่น ตรัสว่า “ละขาดจากปาณาติบาต เว้นการตัดรอนชีวิต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอายใจ กอปรด้วยเมตตา ใฝ่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง”
พูดอีกนัยหนึ่งว่า ศีลที่สมบูรณ์ในความหมายของศัพท์ คือ
๑. การละเว้นจากการฆ่าสัตว์ (รวมถึงการเบียดเบียนต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ) และความเมตตากรุณา
๒. การละเว้นจากการลักทรัพย์ (รวมถึงการละเมิดสิทธิของผู้อื่นทางด้านทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์) และการประกอบสัมมาอาชีพที่ช่วยให้ชีวิตมั่นคง อันจะไม่เป็นเหตุให้ลักทรัพย์ (คนเราถ้ามีอาชีพมั่นคง ก็จะไม่จำเป็นต้องลักขโมยคนอื่นกิน นอกเสียจากจะเป็น “สันดาน”)
๓. การละเว้นจากการผิดในกาม (รวมถึงไม่ผิดต่อบุคคลที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ผิดประเวณีทางเพศ ไม่นอกใจคู่ครองของตน) และการสำรวมในกาม หรือความพอใจในคู่ครองของตนเท่านั้น
๔. การละเว้นจากการพูดเท็จ (รวมถึงพูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ หรือการเบียดเบียนผู้อื่นทางวาจาในรูปแบบอื่น) และความซื่อสัตย์
๕. การละเว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท (รวมถึงเครื่องมึนเมา เครื่องเสพติดทุกชนิด เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ บุหรี่ กัญชา เฮโรอีน ฯลฯ) และความไม่ประมาท หรือมีสติสัมปชัญญะ
นักปราชญ์ไทยบัญญัติศีลกับธรรมเป็นคนละอย่าง คือเอา “ศีลในแง่ลบ” เป็นศีล เอา “ศีลในแง่บวก” เป็นธรรม เรียกว่า “เบญจศีล” กับ “เบญจธรรม” โดยจับคู่กันดังนี้ เวลาที่สอนก็จะเน้นว่า อย่างนี้คือศีล อย่างนี้คือธรรม แล้วอ้างอรรถกถาที่ท่านวางเกณฑ์ตัดสินว่า แค่ไหนเพียงไหนถือว่า “ศีลขาด” แค่ไหนไม่ขาด เรียกว่า “องค์ประกอบ” ของศีลแต่ละข้อ คือ
๑. ศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต มีองค์ ๕ คือ - สัตว์มีชีวิต - รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
- จิตคิดจะฆ่า - ลงมือฆ่า - สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
๒. ศีลข้อ ๒ อทินนาทาน มีองค์ ๕ คือ - ของนั้นเขาหวงแหน - รู้อยู่ว่าเขาหวงแหน - จิตคิดจะลัก - ลงมือลัก -ลักมาได้สำเร็จ
๓. ศีลข้อ ๓ กาเมสุมิจฉาจารา มีองค์ ๔ คือ - สตรีหรือบุรุษที่ไม่ควรละเมิด - จิตคิดเสพ - พยายามเสพ - เสพสำเร็จ
๔. ศีลข้อ ๔ มุสาวาท มีองค์ ๔ คือ - เรื่องไม่จริง - คิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน - พยายามกล่าวออกไป - ผู้ฟังเข้าใจตามนั้น
๕. ศีลข้อ ๕ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน มีองค์ ๔ คือ - สิ่งนั้นเป็นของเมา - จิตคิดที่จะดื่ม - พยายามที่จะดื่ม - น้ำเมานั้นร่วงลงสู่ลำคอไป
ถ้าถือองค์ประกอบเป็นหลักสำคัญ ก็กลายเป็นการศึกษาศีล แต่ในแง่ลบ การกระทำนั้นแม้จะเป็นการเบียดเบียนคนอื่นให้ลำบากในรูปแบบต่างๆ แต่บังเอิญว่าไม่ครบองค์ประกอบของศีลแต่ละข้อ ก็ถือว่าไม่ผิดศีล ผู้ถือศีลในแง่ลบอย่างเดียว บางครั้งจึงเป็นคนโหดร้าย เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบคนอื่นอย่างน่าเกลียด เพราะถืออย่างนี้เอง บางครั้งเราจึงได้เห็นภาพ สมมติว่าสามเณรน้อยไล่เตะหมา หมาร้องเอ๋งๆ ด้วยความเจ็บปวด ครั้นญาติโยมถามว่า เณร ทำไมเตะหมา เณรน้อยตอบด้วยความรอบรู้ว่า “ไม่เป็นไรดอกโยม ไม่ผิดศีล
การถือศีลเพียงในแง่นี้ ไม่มีทางที่จิตจะละเอียด ประณีต คนมีศีลในแง่ลบ ยิ่งมากเท่าไร กลับจะเป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมมากขึ้นเท่านั้น เพราะแต่ละคนจะหาทางเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างหน้าตาเฉย แถมยังภูมิใจด้วยว่า การกระทำนั้นไม่ผิดศีล เพราะไม่ครบองค์ประกอบ
เจ้าของโรงงานที่ใช้แรงงานจนเด็กพิการ ที่เขาเรียกว่าโรงงานนรก เศรษฐีนีเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยแพงหูดับตับไหม้ กระทั่งโรงงานผลิตสินค้าที่ทำลายสภาพแวดล้อม เป็นเหตุให้สุขภาพของประชาชนเสื่อมโทรม และผลิตสินค้าต้นทุนถูกแต่ขายแพง ฯลฯ ต่างก็นั่งภูมิใจว่าตนไม่เห็นผิดตรงไหนเลย เพราะไม่ครบองค์ประกอบ เพราะฉะนั้น เมื่อจะรักษาศีลให้อำนวยประโยชน์ จึงต้องคำนึงถึง “ศีลในแง่บวก” (ที่ปราชญ์ไทยโบราณเรียกว่า “ธรรม”) ควบคู่ไปด้วย พูดให้ชัดว่าต้องรักษาทั้งศีลและธรรม
อันที่จริงเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนศีล พระองค์ทรงหมายรวมความหมายในแง่บวกด้วย ไม่เคยแยกว่า นี่ศีล นี่ธรรม เพราะศีลก็คือธรรม ธรรมก็คือศีล ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมดสรุปรวมลงในอริยมรรคมีองค์แปด และอริยมรรคมีองค์แปดสรุปได้อีกขั้นหนึ่งเป็นไตรสิกขา (สิกขา ๓) คือศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็คือธรรม (ธรรมขั้นศีล) สมาธิก็คือธรรม (ธรรมขั้นสมาธิ) และปัญญาก็คือธรรม (ธรรมขั้นปัญญา)
ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงศีลทั้งในแง่ลบและแง่บวก คนส่วนมากมักจะพูดถึงศีลในแง่ลบ ให้ศีล รับศีล รักษาศีล เฉพาะในแง่ลบ พฤติกรรมของคนที่คิดว่าตนมีศีลจึงไม่ดีขึ้น เพราะขาดคุณสมบัติด้านบวกของศีล ปราชญ์ไทยโบราณจึงหาวิธีสอนศาสนาใหม่โดยแบ่งว่า นี่คือศีล และนี่คือธรรม แล้วก็บอกต่อไปว่า รักษาศีลอย่างเดียวไม่พอ ต้องรักษาธรรมหรือพัฒนาธรรมด้วย จึงจะนับว่าเป็นคนดี ก็โอเคครับ การบัญญัติใหม่อย่างนี้เป็นไปด้วยกุศลจิต ด้วยความปรารถนาดีอยากจะให้คนมีศีลทั้งในแง่ลบและแง่บวก ถือว่าไม่ขัดแย้งกับหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา
ศีล ๕ (ทั้งในแง่ลบและแง่บวก) นี้เป็นเครื่องประกันความบริสุทธิ์สะอาด ใครสามารถรักษาได้ครบถ้วน จะปราศจากความมัวหมองและปราศจากเวรภัย อย่าคิดว่าศีลในแง่ลบอย่างเดียวแล้วจะประกันความประพฤติได้
เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การละเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และสุราเมารัย เป็นเครื่องทำให้ไม่มีความเสื่อมเสียทางความประพฤติ และไม่ก่อเวรภัยแก่ตนและสังคมด้วยประการฉะนี้
ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมอันบุคคล ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอัน บุคคลผู้ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปทุคติ สภาพทั้งสองคือ ธรรมและอธรรม ย่อมมีวิบากไม่เสมอกัน อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมนำไปสู่สุคติ
เพราะฉะนั้นแหละ บุคคลเมื่อบันเทิงอยู่ด้วยการให้โอวาทที่พระตถาคตผู้คงที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ ควรทำความพอใจ ในธรรมทั้งหลาย เพราะพระสาวกทั้งหลายของพระตถาคตผู้ประเสริฐ เป็นนักปราชญ์ ตั้งอยู่แล้วในธรรม นับถือธรรม ว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐสุด ย่อมนำตนให้พ้นจากทุกข์ได้ ผู้ใดกำจัดรากเหง้าแห่งหัวฝี ถอนข่ายคือตัณหาได้แล้ว ผู้นั้นเป็นผู้สิ้นสงสาร ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลอีก เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ ปราศจากโทษฉะนั้น.
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee