แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๓๙ คนที่ดีที่สุด คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ของตนได้ดีที่สุด ครบถ้วนที่สุด และถูกต้องที่สุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มนุษย์เราเป็นผู้ประเสริฐ ได้มีการเรียนการศึกษาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัิตถูกต้องที่ดำรงชีพที่สุจริต ทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อแก้ปลายเหตุ คือบำรุงร่างกายเพื่อให้ทรงอยู่ได้ ด้วยเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์แล้วก็พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน กลับมาหาสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมเรียกว่าสุจริต เรียกว่ากรรม กรรมฐานคือฐานที่ตั้งฐานแห่งทำที่สุดแห่งความไม่มีทุกข์
ความคิด ความเห็น ความเข้าใจนี้มันถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ สำคัญยิ่งต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่พระพุทธเจ้าทรงวางแบบแผน ๔๕ พรรษาให้ พระสงฆ์ หรือว่าให้พุทธบริษัททั้ง ๔ เพราะความเป็นพระนั้นมันอยู่ที่ เราทำตามความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันมีอยู่ในปัจจุบัน อย่างนี้แหละ เราทุกคนก็จะได้เป็นมนุษย์ ปัจจุบันเรากลับมามองตัวเอง เราทุกคนไม่ได้เป็นมนุษย์นะ มันเป็นได้แต่เพียงคน ทุกท่านทุกคนหน่ะที่ว่าเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา พ่อค้า ประชาชน เราไม่ได้เป็นนะ มันเป็นได้แต่แบรนด์เนม หาพระที่ไหนล่ะ ส่วนใหญ่หาพระไม่มี มีแต่แบรนด์เนม ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ
เราทุกคนหน่ะต้องรู้จักว่าอวิชชาความหลงมันวางยาสลบเราทุกคน ต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้ เราต้องถือนิสัยพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คือความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ว่ามีแต่นั่งสมาธิ เดินจงกรม คือความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีอยู่กับเราทุกเมื่อ ทุกๆเวลาน่ะ นั่งสมาธิเดินจงกรมมันก็เป็นมรรคอันหนึ่ง แต่เราต้องเข้าใจว่าการทำงานนั้น เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ นั่นก็คือเป็นอันเดียวอย่างเดียวกับเดินจงกรม นั่งสมาธิ เราทำงานที่มีความสุขอยู่ที่บ้านที่ทำงาน นั่นคือกรรมคือกรรมฐาน คือฐานเราคือศีล คือธรรม คือคุณธรรม อันนี้เรียกว่าสุจริต เพราะเราทำมาเพื่อมาเสียสละ บ้านเรา เมืองเรา โลกเรา จะได้มีมนุษย์ ไม่ใช่มีได้แต่เพียงคน บ้านเมืองเราจะได้มีพระ คือพระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์ เราทุกคนน่ะต้องรู้จักพระที่แท้จริง พระที่แท้จรงอยู่ที่ตัวเรา ไม่ต้องไปหาพระที่ไหน ให้เราทุกคนพากันรู้จักกรรม รู้จักพระศาสนา รู้จักทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราต้องทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ด้วยการประพฤติด้วยการปฏิบัติ เราทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราจะไปพุ่งตามอารมณ์ พุ่งไปตามความฟุ้งซ่าน อันนี้ไม่ได้ เราต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เพราะมันก็ไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้ เราเดินทางไกลเราก็อาศัยกับตันเป็นคนขับ อันนี้มันอาศัยเขา เราจะนำครอบครัวมีอยู่มีกินมีใช้อย่างนี้ เราก็ต้องอาศัยเรา คิดวางแผนรู้จักเหตุรู้จักผล ไม่ต้องอาศัยพ่ออาศัยแม่ พ่อแม่เราคิดมาขนาดนี้แล้วเราก็ต้องฉลาดกว่าพ่อกว่าแม่ เพราะเราต้องรับไม้ผลัดจากพ่อจากแม่ คำว่าพ่อแม่ รู้จักไม่ใช่พ่อแม่เหมือน หมู หมา เป็ดไก่ พ่อแม่นี้ก็ต้องเป็นแม่แบบแม่พิมพ์ เรียกว่าเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน … อย่างนี้ อันนี้ถึงเรียกว่าพ่อเรียกว่าแม่ เรียกว่าครูบาอาจารย์
เราต้องเข้าสู่ระบบแห่งความดับทุกข์ เราต้องรู้จัก เราจะเอาแบรนด์นี้มามีลายเซ็นต์เพื่อให้เกิดมีทุจริตกันโดยเป็นขบวนการ การกินเป็นขบวนนี้มันไม่ถูกต้อง เราต้องรู้จักว่าอันนี้มันไม่ถูก โลกเราไปไม่ได้ ประเทศเราก็ไปไม่ได้ เราก็เป็นไม่ได้ เราต้องรู้กรรมรู้จักกฎแห่งกรรม เราต้องรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มนุษย์เรามันก็จะมีความสุขอย่างนี้แหละ เราไม่ต้องไปหาความสุขจากสิ่งภายนอก สิ่งภายนอกมันก็ดับทุกข์ได้ ระบบที่เรารู้เราเห็นน่ะ ทานอาหารก็อยู่ไม่ได้กี่ชั่วโมง พักผ่อนมันก็อยู่ไม่ได้กี่ชั่วโมง เราต้องรู้จักคำว่าพักผ่อน พักผ่อนคือทิ้งของหนักลง ของหนักคือเราแบก อวิชชา แบบความหลง แบบตัวแบกตนที่ทำให้ทุกคนมันแย่งขยะกัน เลยเป็นสังฆเภททุกหน่วยงาน ทุกคนต้องพากันมีความสุขความสงบร่มเย็น ถ้าเรานี้มีชีวิตอยู่ด้วยทุจริตคือไม่สุจริต เพราะเราไม่เอาความเป็นธรรมเอาพระธรรมเอาพระวินัย มันใช้ไม่ได้
พระตถาคตเจ้าทรงยืนยันอย่างมั่นคงอยู่เสมอว่า “ธรรมนั่นแหละย่อมคุ้มครองรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมนำความสุขมาให้”
แต่ศาสนิกจำนวนไม่น้อยไม่ไว้ใจธรรม คลางแคลงสงสัยในธรรมว่า จะให้ความสุขจริงหรือ? ประพฤติแล้วได้อะไร? ความจริงเมื่อเขาประพฤติธรรมก็ได้ธรรมนั่นเอง เมื่อได้ธรรมแล้วการได้อย่างอื่นก็ตามมา ธรรมนั่นแหละเป็นผู้อำนวยสิ่งต่างๆ ให้ ถ้าเขาเสื่อมจากธรรมก็จะเสื่อมหมดทุกอย่าง
บุคคลที่ทำหน้าที่ของตนดีที่สุดชื่อว่าได้ประพฤติธรรม แต่ต้องเป็นหน้าที่อันประกอบด้วยธรรม หน้าที่อันประกอบด้วยธรรมนั่นแหละจะอำนวย ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขสวัสดีให้แก่เขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
มนุษย์เรามีหน้าที่หลายอย่าง คนที่ดีที่สุด คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ของตนได้ดีที่สุด ครบถ้วนที่สุด และถูกต้องที่สุด ผู้ปกครองหรือผู้นำมวลชนจะต้องปกครองโดยธรรม เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ทรงธรรม ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามขึ้นว่า ก็อะไรเล่าเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดินั้น? พระตถาคตเจ้าตรัสตอบว่า ‘ธรรม’ อย่างไรเล่า เป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดินั้น
ดูก่อนภิกษุพระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมราชา ย่อมทรงอาศัยธรรม สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงดำเนินกิจการต่างๆ ไปโดยธรรม ดูก่อนภิกษุ แม้เราตถาคตก็เป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา เราต้องอาศัยธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา และมีธรรมเป็นใหญ่ดังนี้
จึงพอกล่าวได้ว่า ผู้เป็นใหญ่สูงสุดในโลกทั้งปวง คือ ธรรม บุคคลผู้เป็นใหญ่จะยิ่งใหญ่อยู่ได้ก็เฉพาะเมื่อดำรงตนอยู่ในธรรม อยู่ในร่มเงาของธรรม ทำหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทน หรือเป็นเครื่องมือแห่งธรรม ให้งานทุกสายเป็นทางเดินแห่งธรรม บุคคลผู้ยอมมอบตนให้แก่ธรรม ให้ธรรมเป็นผู้นำทาง ชีวิตย่อมไม่เสื่อม มีแต่ความเจริญ
พระจอมมุนีตรัสไว้ว่า “บุคคลจะเป็นผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย จะเป็นผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย คือผู้รักธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม”
ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำงานและดำเนินชีวิต เพื่อเอาใจธรรม ไม่ใช่เพื่อเอาใจคนทั้งหลายซึ่งมีใจต่างกัน ถูกใจคนหนึ่ง ไม่ถูกใจอีกคนหนึ่ง ถูกใจกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ถูกใจอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ธรรมมีใจเดียวคือความถูกต้อง เรามุ่งเอาธรรมาธิปไตยเป็นทางดำเนินชีวิต
เมื่อได้มอบตนให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของธรรมแล้ว ก็ไม่ต้องวิตกทุกข์ร้อนอะไรทั้งหมด ต้องการสิ่งใดธรรมะจะเป็นผู้มอบให้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่ได้โดยธรรม อันธรรมมอบให้แล้ว จะเป็นสิ่งสงบเย็น ไม่เร่าร้อนเหมือนลาภยศสรรเสริญสุขที่ได้มาโดยอธรรม
หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวว่า “สิ่งสูงสุดสำหรับมนุษย์ ก็คือความไม่มีทุกข์เลย ทุกศาสนาต้องการให้ทุกคนได้รับสิ่งสูงสุด ก็คือความไม่มีทุกข์เลย ไม่อาจจะเป็นทุกข์เลย เหมือนกับได้ของวิเศษอะไรมาแล้วทำให้ไม่มีทุกข์เลย เราจะได้ของวิเศษนี้มาจากไหน ฝ่ายโน้นเขาจะถือว่า จากความเชื่อในพระเจ้า จากการมอบอะไรทั้งหมดให้พระเจ้า เราก็พูดได้ว่า เราก็ได้มาจากการที่เรารู้จักปล่อยวาง รู้จักธรรมะ รู้จักสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง รู้จักธรรมะในข้อนี้แล้วจิตมันก็ปล่อยวาง มันก็ไม่มีทุกข์ เรียกว่าทุกฝ่ายไม่มีทุกข์ แม้ว่ามีวิธีที่จะปฏิบัติมันเดินกันคนละรูป แต่มันก็เป็นเพียงวิธีภายนอก เนื้อแท้ก็เหมือนกัน คือไม่มีตัวกู ต้องทำให้ถึงจุดที่ไม่มีตัวกูเสียก่อน ตรงนี้จะเหมือนกัน แล้วก็ไม่มีทุกข์ เอาตัวกูไปให้พระเจ้าเสียก็ได้ เอาตัวกูให้สลายทำลายไปเสีย เพราะเห็นว่าโดยแท้จริงมีแต่ธรรมชาติ มันไม่มีตัวกู อย่างนี้ก็ได้ ฉะนั้นเรามีวิธีที่จะทำให้หมดตัวกู แม้จะแตกต่างกันบ้างก็ไม่เป็นไร มันเหมือนกับกินยา ไม่ต้องกินยาอย่างเดียวกัน ขนานเดียวกันหมดทุกคน มันก็แก้โรคเดียวกันได้ เพราะมันมีอะไรที่เหมาะสำหรับบุคคลแต่ละคนอยู่แล้ว”
เราถือว่ามันต่างกันแต่เปลือกข้างนอก หรือจุดเริ่มต้น จุดตั้งต้น เพราะว่าเรามันเกิดมาต่างกัน ช่วยพิจารณาดูข้อนี้ ว่าเรามันเกิดมาต่างกัน โดยภูมิประเทศ เกิดประเทศที่ต่างกัน เกิดในยุคสมัยที่ต่างกัน เกิดในหมู่บุคคลทีมีวัฒนธรรมต่างกัน เช่นว่าพุทธศาสนาเกิดในประเทศอินเดีย ตั้ง 2500 ปีมาแล้ว ต่อมาราวๆ 500 ปี คริสต์ศาสนาจึงเกิด แล้วต่อมาอีกราวๆ 500 ปี ศาสนาอิสลามจึงเกิดต่างกันตั้งห้าร้อยๆ ปี แล้วเกิดในภูมิประเทศที่ต่างกัน ในหมู่บุคคลที่มันถือวัฒนธรรมต่างกัน คนอยู่ในประเทศไหน ก็ถือวัฒนธรรมของประเทศนั้น ได้รับความรู้ขั้นต้น ขั้นพื้นฐาน ในบ้านในเมือง มีขนบธรรมเนียมที่ต่างกัน ต่างกันอย่างยิ่งก็ในแง่ของความยึดถือ ยึดถือผีสางเทวดา มีความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นตัวเป็นพื้นฐานอย่างนั้นมาก่อน นี่ก็พวกหนึ่ง แล้วอีกพวกหนึ่งไม่ยึดถืออย่างนั้น นิยมสติปัญญา ถือเหตุผลเป็นหลัก นี่ก็เป็นอีกพวกหนึ่ง เขาเรียกว่ามันมีรากฐานแห่งจิตใจต่างกันเสียแล้ว มันจึงต้องมีจุดตั้งต้นที่ต่างกัน เปรียบเหมือนกับคนหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือ คนหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ คนหนึ่งทางทิศตะวันอก คนหนึ่งทิศตะวันตกแล้วล้วนแต่จะเดินเข้ามาถึงจุดศูนย์กลางด้วยกันทั้งนั้น แล้วมันจะเดินเหมือนกันได้อย่างไร เพราะมันมาจากจุดที่ตั้งต้นต่างกัน มันก็ต้องแตกต่างกันบ้าง แต่เมื่อเดินมาถึงจุดศูนย์กลาง มันก็ต้องเหมือนกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเดินมาจากทิศตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ฉะนั้นเราต้องให้อภัย เราต้องยินยอมให้สำหรับความแตกต่างกันในขั้นพิธีรีตอง ในขั้นที่เป็นจุดตั้งต้น หรือพิธีการ วิธีการ แล้วก็มาให้ได้ผลที่ว่า มันได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ มันรวมอยู่เป็นจุดกลางที่นั่น คือพอมาถึงนั้นแล้ว ไม่รู้จักเป็นทุกข์อะไรอีกต่อไป ไม่มีความทุกข์อะไรอีกต่อไป ทำอย่างไรๆ ก็ไม่มีความทุกข์ได้อีกต่อไป
ที่จุดตรงนั้น พวกหนึ่งเขาจะเรียกชื่อว่า เมืองพระเจ้า ก็ตามใจเขาสิ เขาจะถือว่าบ้านพระเจ้า เมืองพระเจ้า เขาเข้าไปหาพระเจ้าไปอยู่กับพระเจ้าในเมืองพระเจ้า ทีนี้เราอยากจะเรียกจุดตรงนั้นว่าพระนิพพาน ก็ต้องตามใจเราบ้างสิ เมื่ออยากจะเรียกว่าพระนิพพานเราก็ควรจะเรียกได้ เอากันแต่ว่าที่ตรงนั้นมันไม่มีความทุกข์เลย เมื่อคนขึ้นมาถึงจุดที่ไม่มีความเห็นแก่ตัวแล้ว มันก็ไม่มีความทุกข์เลย มันก็เรียกว่า ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับด้วยกันทั้งนั้น แล้วเราจะไปดูถูกดูหมิ่นกันทำไม ให้มันเกิดการแตกแยก เป็นศัตรูกัน ในเมื่อมันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเกลียดชังกัน เป็นศัตรูกัน เพราะทุกคนมันก็ตะเกียกตะกายเพื่อจะให้ได้สิ่งที่สูงสุด ที่ดีที่สุดหรับมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้นแล้ว และศาสนาทุกศาสนาก็มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันนี้
ที่เขานิยมแบ่งกัน ให้เห็นชัดๆ หน่อย เขาแบ่งกันอย่างนี้ เรียกพวกที่หนึ่งว่าปัญญาธิกะ พวกนี้อาศัยสติปัญญาเป็นเบื้องหน้าที่จะสำเร็จประโยชน์ในการไปถึงจุดนั้นได้ ด้วยอำนาจของปัญญา พวกนี้เรียกว่าปัญญาธิกะ ทีนี้พวกถัดไป เรียกว่า วิริยาธิกะ นี่อาศัยกำลังจิตเป็นเบื้องหน้า เขาไม่อาศัยปัญญา เขาอาศัยกำลังจิตเป็นเบื้องหน้า พวกที่สาม เรียกว่า ศรัทธาธิกะ พวกนี้อาศัยศรัทธา (ความเชื่อ) เป็นเบื้องหน้า
จะยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นพวกหนึ่งก็อาศัยสติปัญญา คิดแก้ไขด้วยสติปัญญา ให้ปลง ให้วางอะไรทำนองนั้น โดยอาศัยการเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยปัญญาดับทุกข์ได้ ทีนี้อีกพวกถัดไป เขาทำอย่างนั้นไม่ได้ เขาก็ใช้กำลังจิต เขามีวิธีฝึกฝนอบรมจิตให้จิตเข้มเข็ง ให้รู้สึกไม่เป็นทุกข์ได้ เขามีวิธีบังคับจิตให้เข้มแข็ง ไม่ให้มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ให้มีความรู้สึกที่เฉยได้ ที่ปกติได้ ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้เป็นพวกที่ใช้กำลังจิต เรียกว่า วิริยาธิกะ ทีนี้อีกพวกหนึ่งเขาทำสองอย่างแรกไม่ได้ เขาก็ทำตามวิธีของเขา คือมีศรัทธา เขามีความเชื่ออย่างสูงสุดในพระเจ้า มีความเชื่อในพระเจ้าดีกว่า เขาเห็นว่าความทุกข์นี้ เป็นการเรียกร้องของพระเจ้า เป็นความต้องการของพระเจ้า แม้แต่ความตายก็เถอะ อย่าว่าแต่ความทุกข์ความเจ็บปวดเลย ความเจ็บก็ดี ความตายก็ดี ที่มาถึงเรานี้ มันเป็นความประสงค์ของพระเจ้า เขามีความเชื่ออย่างนี้ เด็ดขาด เต็มที เขากลับยินดีเสียอีกเพราะเขารักพระเจ้า เขาบูชาพระเจ้า เมื่อเป็นความประสงค์ของพระเจ้าเขาก็ดีใจ ไม่เป็นทุกข์เพราะความเจ็บหรือความไข้ เขาอาศัยศรัทธา อย่างนี้ก็ขจัดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ได้ นี่ก็เรียกว่าพวกที่อาศัยศรัทธาเป็นเบื้องหน้า
อะไรคือที่พึ่งอันแท้จริง ของบุคคลผู้เวียนว่ายอยู่ในทะเลแห่งความทะยานอยากนี้? ...ธรรมอย่างไรเล่า พระพุทธองค์ตรัสว่า “จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” และทรงชี้บอกว่า “ธรรมคือความไม่กังวล ไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละคือที่พึ่ง (ของใจ) หาใช่อย่างอื่นไม่ ภิกษุทั้งหลาย ! คนเขลายึดมั่นอยู่ว่า นั่นบุตรของเรา นั่นทรัพย์ของเรา จึงต้องเดือดร้อนอยู่ร่ำไป ตามความเป็นจริงแล้ว ตนของตนยังไม่มี บุตรและทรัพย์จะมีที่ไหนเล่า”
คนยิ่งมีความยึดถือมากก็ยิ่งมีความกลัวมาก ไม่มีอะไรจะกลัวเฉพาะหน้า ก็กลัวอนาคต กลัวเสียจนหาความสุขความสงบให้แก่ชีวิตในปัจจุบันไม่ได้ แม้บัณฑิตจะบอกธรรมพร่ำสอนอยู่ว่า “จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเถิด อนาคตจะจัดตัวมันเอง” ก็ตาม เขาก็หารับฟังไม่ หาว่าคนบอกเป็นคนเขลา ไม่รู้จักเตรียมการเพื่ออนาคต
คนพวกนั้นพออนาคตที่เขาหวังไว้มาถึงเข้าจริง เขาก็คงหาความสงบสุขให้แก่ชีวิตไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะมันตกมาเป็นปัจจุบันเสียแล้ว เขาคงแบกก้อนหินแห่งชีวิต คือ ความหนักอกหนักใจ วิ่งฝ่ากองไฟ คือความทะยานอยากออกไปสู่ภูเขาแห่งความว่างเปล่า เพราะ ‘มันไม่มีอะไร’ แต่เพราะเขาสำคัญมั่นหมายว่า ‘มันมี’ จึงแบกต่อไป และต่อไป พร้อมกับร้องว่า “ร้อน หนัก - ร้อน หนัก” อย่างนี้เรื่อยไป
ความจริงอันน่าพิศวงมีอยู่ว่า ความสงบเยือกเย็นของดวงจิต เพราะความเป็นผู้ “ไม่ต้องการอะไร” นั้นมีค่ายิ่งกว่าสมบัติบรมจักรแห่งกษัตราธิราช หรือมหาจักรพรรดิผู้เร่าร้อนอยู่ด้วยความปรารถนาอันไม่มีที่สิ้นสุด มิฉะนั้นแล้วไฉนเล่าพระบรมครูของพวกเราจึงทรงสละสมบัติบรมจักร เพื่อแสวงหาความสงบเย็นให้แก่ดวงจิต
เมื่อพระองค์ประสบความสำเร็จในทางนี้แล้ว ก็กลายเป็นที่พึ่งที่บูชาของโลกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ตัวอย่างที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์นี้ชี้ให้เห็นความจริงอีกประการหนึ่งว่า ผู้นำโลกที่แท้จริง คือผู้นำทางจิตหรือวิญญาณ หาใช่ผู้มีอำนาจราชศักดิ์แต่ประการใดไม่
คนจำนวนไม่น้อย แบกก้อนหินแห่งชีวิต คือ ความหนักอกหนักใจ วิ่งฝ่าออกไปคือ ความทะยานอยาก ไปสู่ภูเขาแห่งความว่างเปล่า
สมมติว่ามีใครสักคนหนึ่ง กลิ้งหินอันแสนหนักขึ้นสู่ยอดเขา แล้วปล่อยให้หินนั้นตกลงมายังภาคพื้น ตามลงมากลิ้งขึ้นไปอีกแล้วปล่อยลงมา เขากลิ้งหินขึ้นยอดเขาอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่าปีแล้วปีเล่า ท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อบุคคลผู้นั้น
เขาถูกบังคับให้เข็นก้อนหิน โดยที่ตัวเขาเองไม่รู้ว่าจะต้องเข็นทำไม
บุคคลสมมติดังกล่าวฉันใด คนส่วนมากในโลกนี้ก็ฉันนั้น ได้ลงทุนลงแรงเป็นอย่างมากเข็นก้อนหิน คือภาระอันหนักของตนเพื่อไปสู่ยอดเขาแห่งความว่างเปล่า ต่างคนต่างก็กลิ้งขึ้นไป ถูกความทะยานอยากของตน ผลักดันให้กลิ้งขึ้นไปด้วยเข้าใจว่าบนยอดเขานั้นจะมีอะไร บางพวกก็กลิ้งหินกระทบกัน แย่งทางกันแล้วทะเลาะกัน เบียดเบียนฆ่าฟันกัน แข่งกันว่าใครจะถึงยอดเขาก่อน เมื่อถึงยอดเขาแล้วจึงได้รู้ว่ามันไม่มีอะไร คนทั้งหมดต้องนั่งลงกอดเข่ารำพันว่า “เหนื่อยแรงเปล่า”
มนุษย์จะถูกลงทัณฑ์ให้ประสบชะตากรรม คือการลงแรงที่สิ้นหวัง และไร้ผลตอบแทนอันคุ้มเหนื่อย ก็เพราะความเขลาของมนุษย์เอง แม้มนุษย์จะพอฉลาดบ้างแล้วในเรื่องอื่นๆ ในสาขาวิชาการมากหลาย แต่มนุษย์ยังเขลาต่อเรื่องราวแห่งชีวิต
มนุษย์ส่วนมากยังเข้าไม่ถึงสิ่งที่ชีวิตควรจะต้องการและขึ้นให้ถึง ส่วนใหญ่ยังถือเอากาม กิน และเกียรติ เป็นจุดหมายของชีวิต นั่นคือความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของสังคมมนุษย์ ตามความเป็นจริงแล้ว การงานทุกอย่างของมนุษย์ ควรเป็นเครื่องมือไปสู่การพัฒนาตน ให้ขึ้นสู่ฐานะอันสูงสุด เท่าที่มนุษย์จะขึ้นให้ถึงได้ นั่นคือความสะอาดแจ่มใสแห่งดวงจิต ข้ามแดนแห่งความมืดมนของชีวิตเสียได้
คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ในโลกนี้มี ๓ เรื่อง เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี้เป็นเหยื่อของโลก ในโลกได้ทั้งนั้น
เรื่องที่ ๑ เรื่องกิน ก็อย่าให้มันติดเบ็ด เกิดปัญหาขึ้นเพราะการกิน วินาศไปเพราะการกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินที่ไม่ต้องกิน เช่นกินเหล้าหรือกินอะไรที่มากเกินความจำเป็นที่ไม่ต้องกิน แม้แต่กินอาหารก็กินกันจนเกิน จนเสียนิสัยที่จะต้องกินเกินกินแพงจนเงินเดือนไม่พอใช้ อย่าให้มีลักษณะเหมือนกับติดเบ็ดในโลกเกี่ยวกับการกิน
เรื่องที่ ๒ เรื่องกาม นี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ก็เกินกว่าที่มนุษย์จะบังคับได้ เพราะธรรมชาติมันเป็นผู้กำหนดมา ใส่อวัยวะภายในบางอย่างมา ต่อมแกลนด์ประเภทนั้น ซึ่งจะต้องเกิดความรู้สึกในทางกามหรือทางเพศขึ้นมา อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วธรรมชาติอันสูงสุดหรือพระเจ้านี้ฉลาดเหนือมนุษย์ ใส่รสอร่อยสูงสุดมาในสิ่งที่เรียกว่ากาม เพื่อให้คนหลงแล้วก็ตกเป็นทาสของกาม แล้วก็ทำหน้าที่ที่น่าเกลียด น่าชัง สกปรก เหน็ดเหนื่อยที่สุด คือการสืบพันธุ์ ถ้าไม่มีอะไรมาล่อหลอกกันขนาดหนัก คือรสแห่งกามแล้ว คนก็ไม่สืบพันธุ์ พันธุ์ก็สูญ ธรรมชาติไม่ต้องการให้สูญพันธุ์ หรือพระเจ้าไม่ต้องการให้สูญพันธุ์ ก็ใส่เรื่องกามมาในชีวิตนี้อย่างเหนียวแน่น อย่างทุกคนก็ตกอยู่ใต้อำนาจ ฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เราก็ตกเป็นทาสของกาม ก็ติดเบ็ดของกาม ถ้ารู้เท่าทันกินเหยื่อไม่ติดเบ็ด บริโภคกามโดยไม่ต้องรับทุกข์ของกามก็เรียกว่าความงดงามได้
เรื่องที่ ๓ คือ เรื่องเกียรติ คนเราหลงใหลในเกียรติ ถ้าเรื่องกินเรื่องกามหมดไปก็มาติดเรื่องเกียรติ หลงเกียรติ ยอมตายเพื่อเกียรตินี้ก็ไม่งดงาม ถ้าจะมีเกียรติอย่างที่ไม่ต้องทุเรศตา ก็จะน่าดูและงดงาม
ฉะนั้น กินเหยื่อแล้วก็ไม่ติดเบ็ดของเรื่องกิน เรื่องกาม และเรื่องเกียรติ นี้เป็นศิลปะอย่างยิ่งในการที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นแง่หนึ่งที่ต้องมองเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในโลกให้งดงาม
พุทธทาสภิกขุ
ถ้าศีลธรรม ไม่กลับมา โลกาวินาศ มนุษยชาติ จะเลวร้าย กว่าเดรัจฉาน
มัวหลงเรื่อง กิน กาม เกียรติ เกลียดนิพพาน ล้วนดื้อด้าน ไม่เหนี่ยวรั้ง บังคับใจ
อาชญากรรม เกิดกระหน่ำ ลงในโลก มีเลือดโชก แดงฉาน แล้วซ่านไหลเพราะบ้ากิน บ้ากาม ทรามเกินไป บ้าเกียรติก็ พอไม่ได้ ให้เมาตน
อยากครองเมือง ครองโลก โยกกันใหญ่ ไม่มีใคร เมตตาใคร ให้สับสน
ขอศีลธรรม ได้กลับมา พาหมู่คน ให้ผ่านพ้น วิกฤตการณ์ ทันเวลา ฯ
คนเก่ง คนฉลาด คนมีทรัพย์มากก็มีมากอยู่แล้ว แต่คนดีนี้มีน้อย คนดีเป็นคนที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ฆราวาสก็ต้องมีศีล ๕ คุณแม่ชีก็ศีล ๘ สามเณรก็ศีล ๑๐ พระก็ศีล ๒๒๗ เป็นคนที่เมตตา ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที เป็นผู้ที่ไม่ลุ่มหลงในอัตตา และเป็นคนที่รู้จักสัจธรรมว่าเราเกิดมาก็ไม่ได้เอาอะไรมา ตอนตายก็ไม่ได้เอาอะไรไป นี้คนดีที่พระพุทธเจ้าท่านยกเอาเกณฑ์มาพิจารณา
ขอให้ปรับตัวเองเข้าหาธรรมวินัย อย่าไปถือสักกายทิฏฐิ ถือตัวถือตน ทำอะไรตามสบายว่าเป็นทางสายกลาง มันต้องฝืน ต้องอดทน ต้องเคารพนอบน้อมในศีล ในระเบียบ ในวินัย ถึงจะตายก็ยอม เพราะศาสนาพุทธเป็นของประเสริฐของสูง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นเพียงปรัชญา เป็นธรรมดาเหมือนทั่วๆ ไป ไม่มีประโยชน์อะไร เรามีของมีค่า จึงไม่ทำให้มีค่าอะไร พยายามสำรวจตนเองว่าเรามีข้อบกพร่องในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอะไรบ้าง แล้วพยายามตั้งตัว แก้ตัวใหม่ พยายามมีความเชื่อมั่นในการทำความดีว่าต้องได้ดี เชื่อมั่นว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าจะดับก็ต้องดับเหตุก่อน
เราอยู่ในสังคมเราก็ปฏิบัติได้ เราอยู่ในหมู่คณะเยอะๆ เราก็ปฏิบัติได้ ที่ว่าเราปฏิบัติไม่ได้คือเราไม่ได้ปฏิบัติ พิจารณาว่ารูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน พยายามทำไป เมื่อตัวตนไม่มีแล้ว ใครจะมาสุขมาทุกข์อยู่เล่า มีแต่อวิชชาความหลงที่มันเกิดดับอยู่นี้ เมื่อรู้จักสมาธิ ปัญญาเราก็เจริญ อินทรีย์ก็แก่กล้า ให้เราปฏิบัติให้มีความกล้าปฏิบัติ การละการปล่อยวางทำไปเรื่อยๆ จนกว่าอินทรีย์มันสมบูรณ์ ถ้าเราบังคับตนเองไม่ได้ นานไปยิ่งจะบังคับตัวเองไม่ได้นะ เพราะมันติดสุขติดสบาย เราต้องฝึกจริงๆ ความสุขที่ว่าสุข เราก็คิดปรุงแต่งเอาหรอก ความทุกข์ที่ว่าทุกข์เราก็ปรุงแต่งเอาหรอก แท้จริงแล้วไม่มีอะไร มีแต่ใจไปคิดปรุงแต่งเอาเองทั้งนั้น
ทุกท่านทุกคนไม่ต้องการขัดใจตัวเอง ถ้าขัดใจตนเองคิดว่ามันไม่ถูกจริต มันไม่ถูกนิสัย ไม่ใช่ทางสายกลาง คิดว่าอย่างนั้น คนเรามันหลงถ้าได้ตามใจชอบก็ว่าดี ไม่ได้ตามชอบก็ว่าไม่ดี
ท่านจึงให้เราทำตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ชื่อว่าเป็น "สุคโต" คือไปด้วยดี เรามาสว่างเราก็ให้ไปสว่างด้วย ฐานะความเป็นอยู่เราก็ดี มีความสุข มีความร่ำรวย เราก็อย่าไปหลงในความสุขความสบายเหล่านั้น ดูอย่างพระพุทธเจ้าท่านมีความสุขท่านก็ไม่ติด ไม่หลง ให้เราเอาความสบายความสะดวกนี้มาให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานอันสูงสุดเราก็มีโอกาสได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ เป็นพระอริยเจ้าตามลำดับไป ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐแล้ว ชีวิตนี้ไม่เป็นหมัน ชีวิตนี้ไม่สาย ขอให้ทุกท่านทุก คนประพฤติปฏิบัติตั้งแต่โอกาสบัดนี้ไป อย่าได้ผัดวัน ประกันพรุ่งต่อรองเรื่อยไป ต้องให้มีความเห็นความเข้าใจ อย่างถูกต้องชัดเจน และมีเจตนาตั้งอกตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ด้วยความสม่ำเสมอ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee