แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๓๗ ถ้ากลัวต่อความทุกข์ ก็อย่าทำบาปกรรมทั้งหลาย ทั้งในที่ลับตาและที่แจ้ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ศาสนาคือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา ศาสนานี้ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คือเหตุปัจจัย เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปถึงมี เป็นเรื่องกรรม เป็นเรื่องกฏแห่งกรรม พระสารีบุตรได้ฟังโอวาทจากพระอัสสชิโดยย่อว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสบอกเหตุเกิดขึ้นและความดับไปของสิ่งเหล่านั้น
สมณะรูปหนึ่ง ผิวพรรณผ่องใส มีอินทรีย์สงบ ดำเนินอย่างเชื่องช้าออกจากโคจรคาม ท่านมีจักษุทอดลงต่ำ จะเหลียวซ้ายแลขวา ก็เต็มไปด้วยความสำรวมระวังมั่นคงและแจ่มใส ผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกาย แม้จะเป็นผ้าราคาถูก แต่ได้กลายเป็นของสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การเชิดชูบูชา เพราะได้มาห่อหุ้มสรีระของผู้ทรงศีล มีใจอันประเสริฐ ใครเห็นก็น้อมกายลงเคารพ
กาสาวพัสตร์ อา! กาสาวพัสตร์-สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์สูงส่ง ที่พระมหาสมณโคดมบรมศาสดาแห่งพระบรพุทธศาสนาเคยตรัสว่า "ผู้ใด คายกิเลสที่เหนียวแน่นดุจน้ำฝาดได้แล้ว มั่นคงในศีล ประกอบด้วยการฝึกอินทรีย์ (ทมะ) และมีสัจจะ ผู้นั้นควรห่มผ้ากาสาวะ"
กาสาวพัสตร์-ธงชัยแห่งผู้มีชัย คือชนะจิตของตนเองได้แล้ว ใครเล่าจะรังเกียจกาสาวพัสตร์ ถ้ากาสาวะนั้นห่อหุ้มร่างของบุคคลผู้มีกายวาจาใจสะอาดสมควรแก่ภูมิชั้นของตน
หนุ่มใหญ่ สง่างาม เครื่องแต่งกายบอกว่าเป็นนักพรตประเภทปริพพาชกได้เดินตามสมณะรูปนั้นไปห่างๆ กิริยาอาการของสมณะนั้นจับตาจับใจของเขายิ่งนัก เขาคิดว่าภายในของสมณะรูปนี้ น่าจะมีรัศมีแห่งธรรมอันประเสริฐส่องแสงเจิดจ้าอยู่เป็นแน่แท้ จึงทำให้ท่านมีอินทรีย์สงบและผ่องใสเช่นนั้น
มาถึงบริเวณร่มไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง สมณะแสดงอาการว่าจะนั่ง ผู้เฝ้าติดตามจึงจัดอาสนะถวาย รอคอยท่านฉัน ไม่กล้าถามอะไร เพราะเกรงใจ เห็นอาการที่ท่านฉันยิ่งเลื่อมใสมากขึ้น ท่านฉันอย่างสำรวมเรียบร้อย มีอาการแห่งผู้กำหนดรู้ในอาหาร คุณและโทษของอาหาร ไม่ติดในรสอาหาร ไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อเมา หรือเพื่อสนุกสนาน เอร็ดอร่อยในรสอาหาร แต่บริโภคเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อบำเพ็ญคุณงามความดี เหมือนนายช่างให้น้ำมันแก่เครื่องจักร เพื่อให้ทำหน้าที่ของมันต่อไปได้เท่านั้น
เมื่อท่านฉันเสร็จแล้ว ปริพพาชกได้รินน้ำในกุณโฑของตน เข้าไปถวายแล้วถามว่า "อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก มรรยาทของท่านงามยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผ่องใส ท่านบวชอุทิศใคร? ใครเป็นศาสดา ของท่าน? ท่านชอบใจธรรมของใคร?"
สมณะรูปนั้นมองปริพพาชกด้วยดวงเนตรที่เปี่ยมด้วยความปรานี ดวงตาของท่านแสดงแววแห่งเมตตาและความสงบลึกอยู่ภายใน บ่งบอกว่าดวงใจของท่านผ่องแผ้ว ไร้ราคี กระแสเสียงที่นุ่มนวลแจ่มใสผ่านโอษฐ์ของท่านออกมาว่า "ดูก่อนผู้แสวงสันติวรบท ! พระศาสดาของข้าพเจ้าตรัสว่า "ผู้ใด ไม่เศร้าโศกถึงอดีต ไม่กังวลถึงอนาคต มีชีวิตอยู่ด้วยปัจจุบันธรรม ผิวพรรณของผู้นั้นย่อมผ่องใส แม้จะบริโภคอาหารหนเดียวต่อวัน ประพฤติพรหมจรรย์สงบนิ่งอยู่ในป่า ส่วนผู้ที่มัวเศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว กังวลหวังอย่างเร่าร้อนต่อสิ่งที่ยังไม่มาถึง ย่อมซูบซีดเศร้าหมองเหมือนไม้สดที่ถูกตัดแล้ว"
กังวลหวังอย่างเร่าร้อน ! มนุษย์ส่วนมากเป็นอย่างนั้น เขาไม่ค่อยรู้จักรอคอยอย่างสงบเยือกเย็น เขาไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยเข้าใจว่า เขาบันดาลผลไม่ได้ เหตุที่เขาทำนั่นแหละจะบันดาลผลให้เกิดขึ้นเอง เหมือนชาวสวนปลูกต้นไม้คอยรดน้ำพรวนดิน ให้ปุยป้องกันศัตรูพืชนั่นคือเหตุ ส่วนการออกดอกออกผล ชาวสวนบันดาลไม่ได้ กระบวนการธรรมชาติของต้นไม้เองนั่นแหละ จะบันดาลให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดคุณค่แห่งชีวิตของตนไว้ให้แน่นอนว่า อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ เมื่อเป็นดังนี้ เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขไม่ได้ เขาจะไม่พบความพอใจในชีวิต"
ศิษย์แห่งพระตถาคตกล่าวต่อไปว่า "ข้าพเจ้าบวชอุทิศพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เสด็จออกบวชจากศากยตระกูลโคตมโคตร พระองค์ทรงเป็นศากยมุนี ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระองค์ท่าน"
"ได้โปรดเถิดท่านผู้นิรทุกข์" ปริพพาชกกล่าวเชิงอ้อนวอนอย่างนอบน้อม "ขอได้โปรดแสดงธรรมที่พระมหาสมณโคดมทรงแสดงแล้วแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด"
"ท่านผู้แสวงสัจจะ" สมณะรูปนั้นกล่าว "ข้าพเจ้ามาสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นานนัก ยังเป็นผู้ใหม่ (นวกะ) อยู่ ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้"
อาการที่ท่านกล่าวอย่างถ่อมตนนั้นเพิ่มความศรัทธาเลื่อมใสแก่ปริพพาชกมากขึ้นอีก จึงกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าชื่ออุปติสสะ บุตรแห่งนายบ้านอุปติสสคามใกล้ราชคฤห์นี่เอง ขอท่านผู้เจริญได้โปรดจำชื่อของข้าพเจ้าไว้ และขอได้โปรดกล่าวธรรมตามสามารถเถิด จะน้อยหรือมากไม่สำคัญ การเข้าใจธรรมแทงตลอดธรรมเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น"
สาวกของพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า "เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุง ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ = สิ่งใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสบอกเหตุแห่งสิ่งนั้นไว้ด้วย สิ่งนั้นดับไปได้โดยวิธีใด พระตถาคตตรัสบอกวิธีดับไว้ด้วย พระมหาสมณะมีพระวาจาอันประกอบด้วยเหตุผลอย่างนี้"
สาวกของพระพุทธเจ้าแสดงธรรมอันเป็นหัวใจแห่งอริยสัจ คือ ธรรมอันเป็นส่วนเหตุและธรรมอันเป็นส่วนผลโดยย่อดังกล่าวมานี้ สมุทัยและมรรคเป็นส่วนเหตุ ทุกข์และนิโรธเป็นส่วนผล นอกจากนี้ยังดึงเอาหัวใจของปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นและอาศัยกันดับไปมาแสดง ณ ที่นี้ด้วย
อุปติสสปริพพาชกได้ฟังธรรมอันแสดงถึงความเป็นจริงของชีวิตและโลกเพียงเท่านี้ ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นโสดาบัน เป็นผู้เข้าสู่กระแสธรรม มีคติแน่นอน ไม่ตกต่ำอีก จะต้องได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดอย่างแน่นอนในภายหน้า หากจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกก็ไม่เกิน ๗ ชาติ ปิดอบาย ๔ ได้ คือไม่ต้องเกิดในนรก เป็นเปรต อสูรกาย หรือสัตว์ดิรัจฉาน
เขากราบสาวกของพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ! เท่านี้พอแล้ว ไม่ต้องขยายธรรมเทศนาให้ยิ่งขึ้นไป แต่ข้าพเจ้าอยากทราบว่า เวลานี้พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ใด อนึ่ง ถ้าพระคุณเจ้าจะโปรดบอกนามของท่านแก่ข้าพเจ้าบ้าง ก็จะเป็นมงคลแก่ข้าพเจ้าหาน้อยไม่"
ศิษย์พระศากยมุนีมหาสมณโคดม พิจารณาถึงประโยชน์จึงบอกนามไป
อุปติสสปริพพาชกได้ลุกขึ้นนั่งกระโหย่ง ประนมมือกล่าวขึ้นว่า "ข้าแต่ท่านอัสสชิ ! เป็นลาภอันประเสริฐของข้าพเจ้าแล้ว สิ่งที่พบได้โดยยาก ข้าพเจ้าได้พบแล้ว ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นปฐมาจารย์ (อาจารย์คนแรก) ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก เป็นสิ่งนำทางแห่งชีวิตของข้าพเจ้า ท่านผู้เจริญ! ขอได้โปรดบอกหน่อยเถิดว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ใด?"
"ประทับอยู่ที่เวฬุวันนี่เอง" พระอัสสชิตอบ มองดูปริพพาชกศิษย์ของท่านอย่างเข้าใจในความรู้สึกของเขา
อุปติสสปริพพาชกได้กราบลาพระอัสสชิ ไปแล้วด้วยดวงใจที่ผ่องแผ้วชุ่มเย็น อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย อา! โสดาปัตติผล ช่างน่าอภิรมย์ชมชื่นอะไรเช่นนี้ ! สมแล้วที่พระจอมมุนีพุทธเจ้าตรัสว่า 'โสดาปัตติผล' ประเสริฐกว่าความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ประเสริฐกว่าการได้ไปสวรรค์ และกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง'
อันว่าบุคคลที่เคยระหกระเหินมานาน วนเวียนหลงทางอยู่ในป่ารก อันน่าหวาดเสียวด้วยอันตรายนานาประการ มีอันตรายจากสัตว์ร้ายและไข้ป่า เป็นต้น ได้อาศัยบุรุษหนึ่งชี้ทางให้ขึ้นสู่มรรคาอันจะดำเนินไปสู่แดนเกษม แม้จะยังอยู่แค่ต้นทางก็ให้รู้สึกโปร่งใจ มั่นใจในความปลอดภัย ฉันใด บุคคลผู้ระหกระเหินอยู่ในป่าแห่งสังสารวัฏนี้ก็ฉันนั้น ถูกภัยคือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะเหตุต่างๆ คุกคามให้หวาดหวั่นพรั่นพรึงอยู่เนืองนิตย์ ถูกความไม่ได้ดั่งใจปรารถนาบีบคั้นให้ต้องเสียใจครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เขาก็ยังหวังอยู่นั่นเอง หวังว่าจะได้อย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ พอถึงเวลาเข้าจริง ความหวังของเขากลับกลายเป็นเสมือนภาพอันซ้อนอยู่ในปุยเมฆ พอลมพัดมานิดเดียวภาพนั้นก็พลันเจือจางและเลือนหาย ด้วยเหตุนี้เสียงที่ว่า 'ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต' จึงระงมอยู่ในหมู่มนุษย์ตลอดมา
ความจริงมนุษย์ทุกคนได้เคยสมปรารถนา ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นระยะๆ อยู่เหมือนกัน แต่เพราะเมื่อความปรารถนาหรือความหวังอย่างหนึ่งสำเร็จลงแล้ว ความต้องการอย่างใหม่ก็เกิดขึ้นอีก บางทีก็อาศัยความสำเร็จเดิมนั้นเป็นมูลฐาน เขาจึงรู้สึกเหมือนหนึ่งว่ามิได้ประสบความสำเร็จในชีวิต จึงดิ้นรนอยู่ในทะเลเพลิงแห่งความอยาก ความปรารถนาอันไม่มีที่สิ้นสุด เร่าร้อนและว้าเหว่หาประมาณมิได้
ทุกครั้งที่ความปรารถนาเกิดขึ้นในห้วงหัวใจ ตราบใดที่ยังไม่สมปรารถนา ความเร่าร้อนในหัวใจก็หาดับลงไม่ นอกจากเขาจะเลิกปรารถนาสิ่งนั้นเสีย ความหวังเป็นสิ่งผูกพันชีวิตมนุษย์ไว้ อย่างยากที่จะแยกออกไปได้ ถึงกระนั้นก็ตาม มีมนุษย์เป็นอันมากที่ไม่รู้ตอบตัวเองไม่ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ตนหรือมนุษย์ควรจะต้องการจริงๆ อะไรคือสิ่งที่มนุษย์ควรเดินเข้าไปหาและขึ้นให้ถึง ตราบใดที่มนุษย์ยังตอบปัญหานี้ไม่ได้ ตราบนั้นเขาจะต้องดำเนินชีวิตอย่างลังเลไร้หวัง และวนเวียนเป็นสังสารจักร ไม่รู้อะไรคือทิศทางของชีวิต เหมือนคนหลงป่าหรือนกหาฝั่ง บินวนเวียนอยู่ในสมุทร เพราะหาฝั่งไม่พบ
แต่พอได้บรรลุธรรม คือโสดาปัตติผลแล้ว เข้าสู่กระแสพระนิพพานแล้ว เขารู้สึกตนได้ทันทีว่า ได้ออกจากป่าใหญ่แล้วดำรงตนอยู่ต้นทางอันนำไปสู่แดนเกษมแล้ว ถ้าเปรียบด้วยผู้ดำผุดดำว่ายอยู่ในมหาสมุทร ก็เป็นผู้ลอยคอขึ้นได้แล้ว มองเห็นฝั่งอยู่ข้างหน้า กำลังเดินเข้าหาฝั่ง จะต้องขึ้นฝั่งได้แน่นอน ไม่จมลงไปอีก ลองคิดดูเถิดคนทั้งสองพวกนั้น จะปลาบปลื้มปราโมชสักเพียงใด ชุ่มเย็นอยู่ด้วยธรรมท่ามกลางผู้เร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลส เหมือนหญ้าสดในทะเลทราย เพราะได้แหล่งน้ำในทะเลทรายนั่นเองหล่อเลี้ยง โลกนี้เร่าร้อนอยู่ด้วยกิเลส ธรรมเท่านั้นที่จะช่วยดับความเร่าร้อนของโลกได้
(ผู้สละโลก วศิน อินทสระ)
กรรมเป็นสิ่งที่มีจริง กฏแห่งกรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่เพราะเราไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันเลยมองไม่ออก เพราะจิตใจเราไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ จิตใจเรามันฟุ้งซ่าน เรียกว่า ไม่มีฐาน ไม่มีที่ตั้ง เป็นจิตที่ร่อนเร่พเนจร เป็นจิตที่ไม่มีเครื่องอยู่ เป็นจิตที่ไม่มีสัมมาทิฏฐิ คือไม่มีพระนิพพานเป็นบ้านอยู่ เราเลยไปอยู่กับความฟุ้งซ่าน ความคิดของเรามันเป็นกรรมเป็นมโนกรรม แต่เราคิดไม่ออก ก็ปล่อยให้ตัวเองคิด ปล่อยให้ตัวเองบริโภค มันสั่งสมมาเป็นเวลาหลายวันหลายเดือนหลายปี ผลมันก็ปรากฏ มันถึงเกิดมีลูกมีหลานมีวงศ์ตระกูล
เราน่ะ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ในการวางแผนในการใช้จ่ายเงิน หลายปีหลายเดือน มันเลยมีหนี้มีสินพะรุงพะรังหลายหมื่นหลายแสนหลายล้าน ให้ทุกคนน่ะ รู้จักกรรมรู้จักผลของกรรมที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เพราะว่าพระศาสนาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องของเราทุกคนที่ต้องรู้จัก และพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราจะได้แก้ปัญหาอย่างถูกต้อง เราทำอย่างนี้แหละ มันต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ โอ้...มันละเอียดอย่างนี้ มันจะไหวรึ ไปคิดอย่างนั้นได้อย่างไร มันต้องละเอียดสิ อย่างปัจจุบัน จะปลูกต้นไม้อย่างนี้หลายปีกว่าจะได้ผล มันเป็นเรื่องกรรมและผลของกรรม เพราะมาแก้ที่ตัวเรา แก้ที่ความประพฤติของเรา ถ้าไม่อย่างนั้น เราก็ผิดพลาดแน่
มันทำได้เพราะเป็นเรื่องของปัจจุบัน เหมือนที่พูดเมื่อวาน ทำถูกต้องก็ยังไม่ติดกับความถูกต้อง ทำดีก็ยังไปติดกับความดีอีก ต้องทำเพื่อให้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เพื่อจะได้ก้าวไปด้วยการทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ จะได้เป็นทรัพยากรแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นพ่อแม่ ข้าราชการ ทหารตำรวจ แพทย์พยาบาล ผู้พิพากษาอัยการ ครูอาจารย์ เป็นต้น พัฒนาการต่างๆ ต้องเข้าสู่ความถูกต้องตามกฏแห่งกรรม ให้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม
"กัมมุนา วัตตตี โลโก" สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม
กัมมปัจจัย หมายถึงการกระทำของจิตใจที่เป็นเหตุให้เกิดผล หรือให้สำเร็จกิจในหน้าที่ของตนเรียกว่า "กรรม" ดังพุทธภาษิตกล่าวไว้ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาตว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ เจตยิตฺวา กมฺมํ กาเยน วาจาย มนสา ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนาคือตัวกรรม สัตว์ทั้งหลายที่ทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจก็ดี ย่อมมีการปรุงแต่ง คือคิดนึกก่อนแล้วจึงทำ"
ดังจะเห็นได้ว่าการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ จะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตาม ต้องอาศัยเจตนาเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าในการกระทำนั้นๆ ฉะนั้น เจตนาจึงเป็นตัวกรรม หรือเป็นหัวหน้าของสังขารขันธ์ทั้งหลาย
กัมมปัจจัยที่กล่าวว่า เป็นปัจจัยให้เกิดผล ก็เพราะทำหน้าที่เพาะพืชพันธุ์ให้เกิดผลในอนาคต เรียกว่า พีชนิธานกิจ คือ ทำกิจสั่งสมพืชเชื้อเพื่อให้งอกต่อไปในอนาคต เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย
พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ถือการกระทำเป็นใหญ่ เป็นกรรมนิยม ซึ่งผิดกับศาสนาอื่นที่ถือเทวนิยม เป็นต้น เพราะเข้าใจว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยการบันดาลของเทพเจ้า แต่ส่วนของพระพุทธศาสนาถือว่า สัตว์ทั้งหลายจะดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้อื่น หรือขึ้นอยู่กับวงศ์ตระกูล เพราะการทำดีทำชั่วต้องทำด้วยตนเอง ไม่ใช่มีผู้อื่นมาทำให้ได้ เหตุนี้สัตว์ทั้งหลายจึงมีกรรมเป็นของตน เรียกว่า...
กมฺมสฺสโกมฺหิ เมื่อทำกรรมไว้อย่างไร ก็ต้องรับผลของกรรมนั้นตามที่ทำไว้
กมฺมทายาโท คือเป็นทายาทของกรรมที่ทำแล้ว จึงจำแนกสัตว์ให้ไปเกิดในที่ต่างๆกัน
กมฺมโยนิ คือมีกรรมเป็นกำเนิด และกรรมที่ทำแล้วยังจะติดตามไปทุกหนทุกแห่ง จะไม่สูญหายไปไหน
กมฺมพนฺธุ คือมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ แม้พ่อ-แม่ญาติพี่น้อง ก็ไม่ชื่อว่าเป็นเผ่าพันธุ์วงศ์ญาติที่แท้จริง คือชาตินี้เป็นญาติกัน แต่พอตายแล้วก็แยกย้ายกันไป แต่ส่วนกรรมที่ทำแล้วย่อมจะติดตามตนไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน.
ถ้าทำกรรมดีก็เหมือนมีวงศ์ญาติที่ดี ญาติดีก็จะอุปถัมภ์ค้ำชูให้มีความสุข ความเจริญ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็เหมือนมีวงศ์ญาติที่ชั่ว ญาติชั่วก็จะติดตามล้างผลาญให้เป็นทุกข์เดือดร้อนเรื่อยไป กรรมจึงเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์โลก
กมฺมปฏิสรโณ เพราะเมื่อกรรมชั่วให้ผลอยู่ แม้ญาติพ่อ-แม่พี่น้องตลอดจนผู้มีอำนาจราชศักดิ์ ก็ไม่อาจช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้ แต่ถ้ากรรมดีให้ผลอยู่ แม้ใครจะคิดร้ายทำลายชีวิตก็ไม่อาจถูกทำลายได้เลย.
อีกนัยหนึ่ง ท่านเปรียบกรรมคือการทำกุศล อกุศล ส่วนผลคือวิบาก เปรียบเหมือนเงา เมื่อมีคนที่ใหนก็ต้องมีเงาที่นั่น คือมีกรรมก็ต้องมีวิบากรับผล.
ปัจจุบันคนเริ่มสงสัยในเรื่องกฎแห่งกรรม และบางคนก็ไม่ยอมเชื่อเรื่องนี้ ถึงกับมีคนเขียนเป็นคำกลอนว่า คนทำดีได้ดีมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป
ในเรื่องกฎแห่งกรรม ได้กล่าวถึงอันตรายที่เกิดแก่สัตว์โลก ๕ อย่างคือ
๑. กิเสสันตราย อันตรายอันเกิดจากกิเลส
๒. กัมมันตราย อันตรายอันเกิดจากความชั่วที่ทำในปัจจุบัน
๓. วิปากันตราย อันตรายอันเกิดจากวิบาก คือ ผลของกรรมที่ทำในอดีต
๔. ทิฏฐันตราย อันตรายอันเกิดจากทิฏฐิที่ผิด
๕. อริยูปวันตราย อันตรายที่เกิดจากการจ้วงจาบพระอริยเจ้า
พระพุทธศาสนาสอนว่า บุคคลจะได้ดีหรือชั่ว ได้รับสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรม หรือการกระทำของตนเองทั้งสิ้น หากเราไม่ดำเนินตาทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ แม้จะสวดมนต์หรือวิงวอนขอร้อง ก็ไม่อาจจะช่วยให้เราพบความดีและความสุขได้ ถ้ามนุษย์จะมีความสุขได้ด้วยความภักดีและวิงวอน มนุษย์เราก็คงไม่ต้องทำอะไร
ความเชื่อในเรื่องกรรม ตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธควรมีศรัทธา ๔ อย่างคือ ๑. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคณ และพระมหากรุณาธิคุณ ๒. กัมมสัทธา เชื่อเรื่องกรรม คือเชื่อว่ากรรมมีจริง ๓. วิปากสัทธา เชื่อเรื่องผลของกรรม คือเชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมให้ผลเสมอ พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ทรงตอบคำถามของสุภมาณพบุตรแห่งโตเทยยพราหมณ์ เกี่ยวกับผลร้ายผลดีต่างๆ ๗ คู่ว่า เนื่องมาจากกรรมคือการกระทำของสัตว์ คือ
(๑) มีอายุน้อย เพราะฆ่าสัตว์ มีอายุยืน เพราะไม่ฆ่าสัตว์
(๒) มีโรคมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์ มีโรคน้อย เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์
(๓) มีผิวพรรณทราม เพราะขี้โกรธ มีผิวพรรณดี เพราะไม่ขี้โกรธ
(๔) มีศักดาน้อย เพราะมักริษยา มีศักดามาก เพราะไม่มักริษยา
(๕) มีโภคทรัพย์น้อย เพราะไม่ให้ทาน มีโภคทรัพย์มาก เพราะให้ทาน
(๖) เกิดในตระกูลต่ำ เพราะกระด้างถือตัวไม่อ่อนน้อม
เกิดในตระกูลสูง เพราะไม่กระด้างถือตัว แต่รู้จักอ่อนน้อม.
(๗) มีปัญญาทราม เพราะไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่อง การกุศล อกุศล เป็นต้น มีปัญญาดีเพราะเข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น. ๔. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่าผลที่เราได้รับ เป็นผลแห่งการกระทำของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ
จะเห็นได้ว่าความเชื่อหรือศรัทธา ๔ อย่าง เป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับกรรม กฎแห่งกรรมจึงเป็นคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนจึงควรเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ควรพยายามศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ชาวพุทธที่ไม่เชื่อกฎแห่งกรรมหาใช่ชาวพุทธที่แท้จริงไม่ เขาเป็นเพียงชาวพุทธแต่เพียงในนาม ศาสนาพุทธมีประโยชน์แก่เขาเพียงใช้กรอกแบบฟอร์ม เพื่อไม่ให้ถูกว่าเป็นคนไม่มีศาสนาเท่านั้นเอง
คนที่เชื่อในเรื่องกรรม ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เชื่อ คนที่เชื่อเรื่องกรรมย่อมสามารถอดทนรับความทุกข์ยากลำบาก ความผิดหวัง ความขมขื่น และเคราะห์ร้ายที่เกิดแก่ตนได้ เพราะถือว่าเป็นกรรมที่ทำมาแต่อดีต ไม่ตีโพยตีพายว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำดีแล้วไม่ได้ดี คนที่เชื่อในเรื่องกรรมจะยึดมั่นอยู่ในการทำความดีต่อไป จะเป็นผู้สามารถให้อภัยแก่ผู้อื่น และจะเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ คนที่ประกอบกรรมทำชั่วทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนใหญ่เป็นคนไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องบุญและบาป ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด คนพวกนี้เกิดมาจึงมุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติและความสุขสบายให้แก่ตัว โดยไม่คำนึงว่าทรัพย์สมบัติหรือความสนุกสนานที่ตนได้มาถูกหรือผิด และทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนหรือไม่
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมนั้นย่อมเป็นของเราโดยเฉพาะ และเราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น จะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้ เช่น เราทำกรรมชั่วอย่างหนึ่ง เราจะต้องรับผลของกรรมชั่วนั้น จะลบล้างหรอโอนไปให้ผู้อื่นไม่ได้ แม้ผู้นั้นจะยินดีรับโอนกรรมชั่วของเราก็ตาม กรรมดีก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดทำกรรมดี กรรมดีย่อมเป็นของผู้ทำโดยเฉพาะ จะจ้างหรือวานให้ทำแทนกันหาได้ไม่ เช่นเราจะเอาเงินจ้างผู้อื่นให้ประกอบกรรมดี แล้วขอให้โอนกรรมดีที่ผู้นั้นทำมาให้แก่เราย่อมไม่ได้ หากเราต้องการกรรมดีเป็นของเรา เราก็ต้องประกอบกรรมดีเอง เหมือนกับการรับประทานอาหาร ผู้ใดรับประทานผู้นั้นก็เป็นผู้อิ่ม
มนุษย์เรามีภาวะความเป็นไปต่างๆ กัน เช่น ดีหรือชั่ว รวยหรือจน เจริญหรือเสื่อม สุขหรือทุกข์ ก็เนื่องจากกรรมของตนเองทั้งสิ้น และกรรมใดที่ทำลงไปจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมให้ผลตอบแทนเสมอ และย่อมติดตามผู้ทำเสมือนเงาติดตามตน หรือเหมือนกับล้อเกวียนที่หมุนตามรอยเท้าโคไปฉะนั้น ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย หากเราทำกรรมดีเราก็ได้รับความสุขความเจริญ กรรมดีจึงเหมือนกัลยาณมิตรที่คอยให้ความอุปการะ และส่งเสริมให้เราประสบแต่ความสุขและความเจริญ แต่ถ้าเราทำกรรมชั่ว กรรมชั่วก็คอยล้างผลาญเราให้ประสบแต่ความทุกข์และความเสื่อม
พระพุทธองค์ได้ประทานโอวาทไว้ว่า “สเจ ภายถ ทุกฺขสฺส สเจ โว ทุกฺขมปฺปิยํ มา กตฺถ ปาปกํ กมฺมํ อาวี วา ยทิ วา รโห. ถ้าเธอทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่พอใจของพวกเธอ ก็อย่าทำบาปกรรมทั้งหลายในที่ลับตาและที่แจ้ง” ในการทำความชั่วนั้นคนขลาดสรรเสริญ แต่นักปราชญ์ไม่สรรเสริญคนกล้าเลย สัตบุรุษทั้งหลายไม่ทำบาปเพราะกลัวต่อบาปนั่นเทียว ด้วยเหตุนี้ความชั่วทุจริตเป็นสิ่งที่ควรกลัว
บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ ถึงจะหนีไปทางอากาศ ก็พ้นจากกรรมชั่วไปไม่ได้ หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็พ้นจากกรรมชั่วไปไม่ได้ หนีเข้าไปในซอกเขาก็ไม่พ้นจากกรรมชั่วไปได้ บุคคลอยู่ในส่วนแห่งภาคพื้นใดพึงพ้นจากบาปกรรม ส่วนแห่งภาคพื้นนั้น ย่อมไม่มี”
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee