แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๓๖ เราคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ยังละวางไม่ได้ แน่ใจแล้วหรือ? ว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้เราทุกคนรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ในปัจจุบันเพราะนี่เป็นสัมมาทิฏฐิ และเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติในปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้เราต้องเอาศีลสมาธิปัญญามาใช้มาปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนต้องนำตัวเองขับเคลื่อนตัวเองออกจากวัฏสงสารด้วยการประพฤติการปฏิบัติ กิจกรรมของเราในชีวิตประจำวันคือศีลสมาธิปัญญาเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ มีอยู่ในปัจจุบัน เราต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ถ้าเราจะเอาว่างจากสิ่งที่ไม่มีอยู่ มันเป็นอวิชชาเป็นความหลง ไม่ใช่ศาสนาไม่ได้เข้าถึงศาสนา เราจะเอาตามความชอบใจตามความไม่ชอบใจอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเรานี่แหละต้องเดินไปด้วยพุทธะคือผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน มีสติมีสัมปชัญญะเป็นฐาน เป็นกรรมฐาน เป็นสติปัฏฐาน เข้าสู่ความเป็นพระ
หมู่มวลมนุษย์ก็จะมีใจเหมือนแอร์คอนดิชั่นเป็นการดำเนินชีวิต ใจของเราก็จะหยุดความฟุ้งซ่าน เกิดความสุขความอบอุ่นอย่างนี้นะ เราทุกคนน่ะต้องหนีวัฏสงสารด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องด้วยศีลสมาธิปัญญา หมู่มวลมนุษย์จะไปทิ้งความถูกต้อง อย่าไปทิ้งความเป็นธรรมความยุติธรรม
มันไม่เป็นธรรมจากการที่เอาสภาวะของดินน้ำลมไฟ มาเป็นธาตุเป็นขันธ์เป็นตัวเป็นตน มันไม่เป็นธรรมเพราะเอามาเป็นตัวเป็นตน เราเอาสิ่งเหล่านี้มาประพฤติมาปฏิบัติ เพื่อจะได้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ เราทุกคนน่ะให้พากันรู้จักความเป็นพระของเราทั้งสำหรับผู้ที่เป็นนักบวชและผู้ที่ครองเรือน ซึ่งมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ไม่ควรจะทุกข์ยากลำบากในเรื่องจิตเรื่องใจ พัฒนาให้เป็นให้ถูกต้องคือต่อยให้เป็น เราต้องเทคแคร์ตัวเองด้วยธรรมะ เทคแคร์คนอื่นด้วยธรรมะ มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ เพราะชีวิตของเราถ้าเอาตัวเอาตน มันเครียดมันมีความทุกข์ พระพุทธเจ้าให้เราไปทางตะวันออก แต่เราดันไปทางตะวันตก มันตกต่ำ มันซ้ำเติมการเวียนว่ายตายเกิดของเรานะ เราจึงต้องเข้าใจ เราไม่ต้องไปวิ่งหามรรคผลพระนิพพานไม่ต้องวิ่งไปหาพระที่ไหนหรอก เพราะความเป็นพระนั้นอยู่ที่ตัวเราที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เราเพลิดเพลินในความรวยในความเป็นเทวดาอย่างนี้ มันก็ทำให้เนิ่นช้าเสียเวลา ความสุขที่เกิดจากสมาธิมีความสงบเย็นก็ยังไม่สู้ความสุขจากการเป็นพระอริยเจ้าที่สมบูรณ์ด้วยสติด้วยปัญญา เราจึงต้องมีสติสัมปชัญญะ หัวใจเราต้องเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔
เราทุกคนพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราไม่รู้จักความสงบปฏิบัติในศาสนา ก็คิดว่าเสียงเยอะๆ ไม่สงบ มีรูปมีผัสสะก็ไม่สงบ นั่นคือยังไม่รู้จักความสงบ เพราะเราจะเอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันก็ไม่สงบ เราจะมาเป็นผู้หญิงผู้ชายเป็นพระเป็นเณรเป็นแม่ชีหรือเป็นภิกษุณี เป็นอะไรก็ไม่สงบ เพราะเราทำเพื่อมามีมาเป็น เมื่อเป็นก็เป็นโดยสมมติ เราก็ต้องรู้จักสมมติ ที่เอาไว้ใช้เพื่อความสะดวกความสบาย เราจะมาเป็นอะไรมันก็เครียด เพราะสิ่งที่มันแปลกปลอมมา มันก็ไม่ใช่ของจริงของแท้ เพราะความจริงคือเราไม่ได้เป็นอะไรตามที่ใจคิดใจนึกตามสมมติเลย
พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการ “รับผิดชอบ” ไม่ใช่รับแต่ “ชอบ”...ไม่รับ “ผิด”...ต้องรับทั้งสองอย่าง เราต้องพยายามปรับปรุงแก้ไขตัวเองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอ่อนน้อมถ่อมตน แล้วก็ทำความดี
...แต่ว่าทำความดีเพื่อความดี ทำความดีเพราะรักความดี แต่ไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นคนดี ก็ถ้าเราเป็น คนดี แล้วจะเป็นทุกข์
หลายปีที่แล้วมา หลวงพ่อชา ลงไปเยี่ยมวัดชิตเฮิร์สท์ที่อังกฤษ มีอุบาสกคนหนึ่งที่เคยศึกษาธรรมะฝ่ายมหายาน มาถามหลวงพ่อชา เรื่องการปฏิบัติว่า “คนที่ปฏิบัติเพื่อเป็นอรหันต์ กับคนปฏิบัติเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ อันไหนจะดีกว่ากัน อันไหนสูงกว่ากัน”
หลวงพ่อชาตอบว่า “อย่าเป็นอะไรเลย พระอรหันต์ก็อย่าเป็นเลย พระโพธิสัตว์ก็อย่าเป็นเลย แม้พระพุทธเจ้าก็อย่าเป็นเลย เป็นอะไรแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ทันที”
คืออย่าเป็นคนดี อย่าไปถึงระดับนั้น เป็นคน อย่าเป็นคนดี ถ้าเป็นคนดีแล้วต้องรำคาญคนไม่ดี ทุกวันนี้คนที่ไม่ดีมากกว่าคนดีเยอะ ไปที่ไหนก็กลุ้มใจ มีแต่ความไม่พอใจ เหมือนกับคนที่สูบบุหรี่เลิกแล้วดูคนอื่นสูบ ก็ไปเทศน์ให้เขาฟัง นี่เรียกว่าติดดี ท่านไม่ให้ติด แม้จะเป็นความดีท่านก็ไม่ให้เราติด เพราะว่าความติดเป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ใจ
"ติดดี แก้ยากกว่า ติดชั่ว"
ครั้งหนึ่ง หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร เคยให้โอวาทที่ลึกซึ้งแก่หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ว่า "ติดดี แก้ยากกว่าติดชั่ว"
คำพูดนี้ อาจดูจะฝืนความรู้สึกของหลายๆ คน แต่หากมีประสบการณ์มากเข้าๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงคนเข้าวัดฝึกหัดอบรมตน เราก็จะได้เห็นตัวอย่างที่ช่วยยืนยันคำพูดของหลวงปู่มั่น ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ
โอวาทของหลวงปู่มั่นข้างต้น จึงมีค่าอย่างเหลือล้นเพื่อใช้เป็นสิ่งเตือนจิตเตือนใจตัวเอง ไม่ให้หลงติดความดีที่ตัวเองบำเพ็ญ ไม่หลงว่าตัวเราดีแล้ว เก่งแล้ว บรรดาหมู่คณะ ไม่มีใครเคร่งเท่าเรา ไม่มีใครก้าวหน้าในการปฏิบัติเท่าเรา ฯลฯ
พอความ "หลงดี" หรือ "ติดดี" เกิดมากขึ้น ก็จะพาให้ลืมเป้าหมายการปฏิบัติว่า... แท้จริงแล้ว เราทำไปก็เพื่อให้หมด "ตัวเรา" แล้วยังจะมี "เรา" ที่เก่งกว่า ดีกว่า อีกหรือ แล้วเจ้าตัวติดดีนี้ก็จะทำให้เราเป็นชาล้นถ้วย ใครๆ เตือนก็ไม่ฟัง สำคัญว่า..ฉันเข้าวัดมาก่อน ฉันใกล้ชิดครูบาอาจารย์มากกว่า ฉันนั่งสมาธิเดินจงกรมมากกว่า ฉันรู้ข้อธรรมะมากกว่า
เป็นเรื่องจริงว่า..ในระยะต้นของการปฏิบัติ เราอาจจะปวารณาตัวขอให้หมู่คณะแนะนำตักเตือนได้ แต่พอถึงเวลาที่กิเลสขึ้นขี่หัวแล้ว มันทำไม่ได้หรอก ใจมันไม่เปิดรับแล้ว...
โอ๊ย แกเป็นใคร เพิ่งจะเข้าวัด จะมีปัญญาอะไรมาเตือนฉัน สอนฉัน ฉันรู้มากกว่าแกตั้งเยอะ ฉันเข้าวัดมากี่ปี แล้วแกเพิ่งจะเข้าวัดมากี่ปีเอง
แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นคนติดดีก็คือ
ให้ยึดหลักที่พระพุทธองค์ และหลวง ปู่มั่นที่ว่า... "จงคอยเตือนตนด้วยตนเอง" อยู่เสมอๆ ว่า... เราปฏิบัติเพื่อละโลภ โกรธ หลง การจะให้ใครๆ มายกย่องว่าเราเก่งเราดีอย่าให้มีในจิตใจ หากมันผุดขึ้นมา ก็ให้ละมันเสียด้วยการรู้เท่าทัน การมีการเป็นไม่ใช่เป้าหมายมุ่งละกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวมานะที่ชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นจับผิดคนอื่น ออกจากจิตใจ บอกตัวเองว่า... ฉันจะปฏิบัติอย่างคนโง่ ไม่สำคัญตนว่าดีแล้ว รู้แล้ว ตามที่หลวงปู่มั่นแนะนำ เช่นนี้แล้ว จึงจะพอมีทางให้ปฏิบัติไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผ่านพ้นภาวะติดดีเพราะถ้าติดดีขึ้นมาแล้ว มันแก้ยากกว่าติดชั่วเสียอีก
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงเรื่อง กำลัง หรือ อำนาจ ดังนี้ “ทารกทั้งหลายมีการร้องไห้เป็นกำลัง, มาตุคาม (ผู้หญิง) ทั้งหลายมีความโกรธเป็นกำลัง, โจรทั้งหลายมีอาวุธเป็นกำลัง, พระราชาทั้งหลายมีอิสริยยศเป็นกำลัง, คนพาลทั้งหลายมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง, บัณฑิตทั้งหลายมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง, พหุสุตบุคคลทั้งหลายมีการพิจารณาเป็นกำลัง, สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีขันติเป็นกำลัง”
เราต้องประพฤติปฏิบัติกระชับเข้ามาหาตัวเอง หลวงพ่อชาท่านสอนน่ะ ผมน่ะสอนตนเอง 95% สอนผู้อื่นเพียง 5%
ให้ก้าวไปด้วยธรรมะด้วยความเป็นธรรมความยุติธรรมอย่างนี้ การเรียนการศึกษาเป็นอาจารย์เป็นโน้นเป็นนี่เพื่อไปแก้ไขคนอื่น มันก็ต้องแก้ไขตัวเอง 95% แล้วถึงไปแก้คนอื่น ทุกคนก็ยอมรับได้ไม่ต้องไปพูดมาก เพราะถึงออกกฏหมายมาเยอะแยะอย่างไรก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะความขลังความศักดิ์สิทธิ์ไม่มีเพราะว่าผู้ปฏิบัติผู้ที่บอกผู้ที่สอนผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่เป็นผู้นำยังเป็นโมฆะบุรุษโมฆะสตรี
“ถ้าเราทำดี พูดดี คิดดีแล้ว คนอื่นเขาว่า เราทำไม่ดี ก็ไม่เป็นไร...
เมื่อเราทำดีแล้ว คนอื่นว่าไม่ดี ... มันเป็นเรื่องของเขา
เราอย่าไปทิ้งความดีของเรา ความดีมันอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่คนอื่นมอง
อย่าลืมว่ากรรมใคร ก็เป็นของคนนั้น อย่ายึดมั่นถือมั่น และ อย่าจับตาดูผู้อื่น” วิจารณ์คนอื่นทุกวัน...ใจต่ำลงทุกวัน วิจัยตัวเองทุกวัน...ใจสูงขึ้นทุกวัน
หลวงปู่ชา สุภัทโท สอนคนที่ชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่นว่า... อย่ายุ่งกับเรื่องของคนอื่น ภาวนามากๆ ดูตัวเองมากๆ หลวงปู่บอกว่า .. "ธรรมดาเราดูแต่คนอื่น 90% ดูตัวเองแค่ 10%" คือ คอยดูแต่ความผิดของคนอื่น เพ่งโทษคนอื่น คิดแต่จะแก้ไขคนอื่น กลับเสียใหม่นะ ดูคนอื่นเหลือไว้ 10% ดูเพื่อศึกษาว่า เมื่อเขาทำอย่างนั้น คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร เพื่อเอามาสอนตัวเองนั้นแหละ ดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง 90% จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมอยู่
ธรรมชาติของจิตใจมันเข้าข้างตัวเอง โบราณพูดว่า เรามักจะเห็น ความผิดของคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดของตนเองเท่ารูเข็ม มันเป็นความจริงอย่างนั้นด้วย เราต้องระวังความรูสึกนึกคิดของตัวเองให้มากๆ เห็นความผิดของคนอื่น ให้หารด้วย 10 เห็นความผิดของตนเอง ให้คูณด้วย 10 จึงจะใกล้เคียงกับความจริงและยุติธรรม เพราะเหตุนี้เราจะต้องพยายามมองแง่ดีของคนอื่นมากๆ และตำหนิติเตียนตัวเองมากๆ
แต่ถึงอย่างไรๆ เราก็ยังเข้าข้างตัวเองนั้นแหละ พยายามอย่าสนใจการกระทำ การปฏิบัติของคนอื่น ดูตัวเอง สนใจแก้ไขตัวเองนั้นแหละมากๆ
เช่น เข้าครัวเห็นเด็กทำอะไรไม่ถูกใจ แล้วเกิดอารมณ์ร้อนใจ ..ยังไม่ต้องบอกเขาให้แก้ไขอะไรหรอก รีบแก้ไข ระงับอารมณ์ร้อนใจของตัวเองเสียก่อน เห็นอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร ก็สักแต่ว่าใจเย็นๆ ไว้ก่อน ความเห็น ความคิด ความรู้สึกก็ไม่แน่ใจ.. ไม่แน่..อาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้ เราอาจจะเปลี่ยนความเห็นก็ได้ สักแต่ว่า.. สักแต่ว่า.. ใจเย็นๆ ไว้ก่อน ยังไม่ต้องพูด
ดูใจเราก่อน สอนใจเราก่อน หัดปล่อยวางก่อน เมื่อจิตสงบแล้ว เมื่อจิตปกติแล้ว จึงค่อยพูด จึงค่อยออกความคิดเห็น พูดด้วยเหตุ ด้วยผล ประกอบด้วยจิตเมตตากรุณา ขณะมีอารมณ์อย่าเพิ่งพูด ทำให้เสียความรู้สึกของผู้อื่น ทำให้เสียความรู้สึกของตนเอง ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร มักจะเสียประโยชน์ด้วยซ้ำไป
เพราะฉะนั้น อยู่ที่ไหน อยู่ที่วัด อยู่ที่บ้าน ก็สงบๆๆ ไม่ต้องดูคนอื่นว่าเขาทำผิดๆๆ ดูแต่ตัวเรา ระวังความรูสึก ระวังอารมณ์ของเรามากๆ พยายามแก้ไข พัฒนาตัวเรา.. นั้นแหละ
เห็นอะไรชอบ ไม่ชอบ ปล่อยไว้ก่อน เรื่องของคนอื่น พยายามอย่าให้เข้ามาที่จิตใจเรา ถ้าไม่ระวัง ก็จะยุ่งแต่เรื่องของคนอื่นไปเรื่อยๆ หาเรื่องอยู่อย่างนั้น เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของเราไปหมด มีแต่ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ ทั้งวัน อารมณ์มาก จิตไม่ปกติ ไม่สบาย ทั้งวันๆ ก็หมดแรง
ระวังนะ พยายามตามดูจิตของเรา รักษาจิตของเราให้ปกติให้มาก ใครจะเป็นอะไร ใครจะทำอะไร ดีหรือไม่ดี เรื่องของเขา แม้เขาจะทำกับเรา ว่าเรา.. ก็เป็นเรื่องของเขา อย่าเอามาเป็นอารมณ์ อย่าเอามาเป็นเรื่องของเรา ดูใจเรานั้นแหละ พัฒนาตัวเองนั้นแหละ ทำใจเราให้ปกติ สบายๆ มากๆ หัด-ฝึก ปล่อยวาง นั้นเอง ไม่มีอะไรหรอก
ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการตามรักษาจิตของเรา คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข ธรรมะโดย หลวงปู่ชา สุภัทโท
หลวงพ่อชาเล่าว่า... ท่านเคยไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่กินรี
หลวงพ่อชาตั้งใจปฏิบัติมาก เดินจงกรม และ นั่งสมาธิทั้งวัน แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า หลวงปู่กินรีวันๆ ไม่ค่อยเดินจงกรม ไม่ค่อยนั่งสมาธิเลย ทำโน่นทำนี่ เกือบตลอดเวลา แล้วท่านจะเห็นอะไร แต่หลังจากที่ได้อยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่นานๆ และได้ฟังธรรมอันลุ่มลึกจากท่าน
หลวงพ่อชาก็รู้ว่า เป็นความเขลาของท่านเองที่คิดเช่นนั้น ท่านพูดถึงบทเรียนที่ท่านได้ จากประสบการณ์ครั้งนั้นว่า “เรามันคิดผิด หลวงปู่ท่านรู้อะไรๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้นๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึก แฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาเราเป็นไหนๆ
- ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ ความพากเพียร กำจัดอาสวกิเลสภายในใจไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูบาอาจารย์เป็นเกณฑ์”
ท่านมาได้ตระหนักชัดอีกครั้งว่า...- การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ
- แต่อยู่ที่การวางใจให้ถูกต้อง - ไม่ว่าทำอะไร...ก็สามารถเป็นการภาวนาได้
คราวหนึ่งท่านนั่งปะชุนจีวรที่ขาดวิ่น ใจนั้นนึกถึงการภาวนาอยู่ตลอดเวลา อยากรีบปะชุนให้เสร็จเร็วๆ เพื่อจะได้ไปภาวนาต่อ ขณะนั้นเองหลวงปู่กินรีเดินผ่านมา สังเกตเห็นอาการของพระหนุ่ม จึงพูดขึ้นมาว่า “ท่านชา จะรีบร้อนไปทำไมเล่า” “ผมอยากให้เสร็จเร็วๆ ครับหลวงปู่”
“เสร็จแล้วท่านจะทำอะไรล่ะ” “จะไปทำอันนั้นอีก”
“ถ้าเสร็จอันนั้นแล้ว ท่านจะทำอะไรอีกล่ะ” “ผมก็จะทำอย่างอื่นอีก”
“เมื่อทำอย่างอื่นเสร็จแล้ว ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า”
เมื่อเห็นว่า ใจของหลวงพ่อชา ไม่ได้อยู่กับงานที่กำลังทำ แต่คิดถึงงานชิ้นอื่นๆ ที่อยู่ข้างหน้า และรีบร้อนจะทำให้เสร็จไวๆ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อไปภาวนาต่อ หลวงปู่กินรีจึงเตือนว่า...“ท่านชา ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้าผืนนี้ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตนอีก”
คำพูดของหลวงปู่กินรี กระตุกใจของหลวงพ่อชาอย่างแรง ทำให้ท่านได้สติ และ เกิดความเข้าใจชัดเจนว่า... - ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ภาวนาได้ทั้งนั้น ขอให้หมั่นดูใจของตนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม -นี้เป็นบทเรียนที่ประทับใจท่านมาก และถือเป็นหลักปฏิบัติของท่านตลอดมา
เมื่อท่านไปตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่หนองป่าพง จึงทำให้มีกิจกรรมหลายๆ อย่าง และมีเรื่องเล่าว่า ตอนนั้นหลวงพ่อชาอายุมากแล้ว มีเด็กหนุ่มมาถามท่านว่า...ทำไมพระจึงไม่นั่งสมาธิ
พอหลวงพ่อชาได้ฟังน้ำเสียงแล้วรู้ว่า ไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบที่แท้จริง ท่านจึงตอบว่า “นั่งอย่างเดียวมันถ่ายไม่ออกว่ะ จะนั่งอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องปฏิบัติ กับการทำงานด้วย” และท่านก็บอกว่า... การปฏิบัติธรรมมันต้องมาดูกายและใจ ไม่ว่าทำอะไร ต้องให้รู้ทันกายและใจ ทำงานก่อสร้างก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ อันนี้สำคัญมาก
เดี๋ยวนี้นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากคิดอย่างเดียวว่า เวลาปฏิบัติธรรมจะต้องเข้าวัด จะต้องหลบลี้หนี้หน้าผู้คน โดยไม่คิดว่า...กายอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้ อยู่บนท้องถนน รถติดก็กำหนดลมหายใจไปด้วย หรือ เวลาเจอไฟแดง หงุดหงิดขึ้นมา...ก็ปฏิบัติธรรมได้
ถามว่าเวลารถติด ทำไมถึงหงุดหงิด นั่นก็เพราะใจมันไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว ใจมันอยู่ข้างหน้าแล้ว... ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน จึงกลัวไปไม่ทัน กลัวไม่ทันประชุม เป็นต้น
ดังนั้น ให้พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน จะตามลมหายใจด้วยก็ได้ การปฏิบัติธรรมก็คือ ติดไฟแดงทำอย่างไรจะไม่หงุดหงิด ทำอย่างไรเวลาถูกต่อว่าจะไม่หงุดหงิด เวลาเสียเงินจะไม่โมโห เวลาเงินหายก็หายแต่เงิน แต่ใจไม่หาย ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เรียกว่า...ปฏิบัติธรรมแล้ว!
จึงต้องกลับมาประพฤติปฏิบัติสติสัมปชัญญะของเรามันถึงจะดีถึงจะสมบูรณ์ ให้ชีวิตมีสติปัฏฐานทั้ง ๔
เพราะธรรมชาติของจิตมีการนึกคิดตลอดเวลา การนึกคิดนี้ถ้าไม่มีสติกำกับ ก็จะกลายเป็นความคิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ถ้ามีสติกำกับแล้ว จะทำให้ไม่เผลอ ควบคุมความนึกคิดได้ ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไป ไม่ปล่อยอารมณ์ให้เป็นไปตามสิ่งที่มากระทบ
สติเสมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ คือคนที่มีสติเมื่อจะไตร่ตรองคิดในเรื่องใด ใจก็ปักแน่นคิดไตร่ตรองในเรื่องนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น คิดไตร่ตรองจนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทะลุปรุโปร่ง ท่านจึงเปรียบสติเสมือนเสาหลัก
สติเสมือนนายประตู คือเพราะสติจะทำหน้าที่เสมือนนายประตู คอยเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่จะผ่านเข้ามากระทบใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดจนเฝ้าดูถึงอารมณ์ที่ใจคิด ถ้าสิ่งใดเกิดขึ้นสติก็จะใคร่ครวญทันทีว่า ควรปล่อยให้ผ่านไปหรือไม่ หรือควรหยุดไว้ก่อน ปรับปรุงแก้ไขให้ดีเสียก่อน
สติเสมือนขุนคลัง เพราะคอยตรวจตราอยู่ทุกเมื่อ ว่าของที่ได้เข้ามาและใช้ออกไปมีเท่าไร งบบุญงบบาปของเราเป็นอย่างไร ตรวจตราดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ยอมให้ตัวเองเป็นหนี้บาป
สติเสมือนหางเสือ เพราะสติจะเป็นตัวควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิตของเราให้มุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่หลงไปทำในสิ่งที่ไม่ควรเหมือนคอยระมัดระวังไม่ให้เรือไปเกยตื้น
ประโยชน์ของสติ ๑. ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่เราต้องการ โดยการตรวจตราความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการไว้ กันสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป ตรึงกระแสความคิดให้เข้าที่ ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย เช่น จะดูหนังสือก็สนใจคิดติดตามไปตลอด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่น จะทำสมาธิใจก็จรดนิ่ง สงบตั้งมั่น ละเอียดอ่อนไปตามลำดับ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก เพราะฉะนั้น “ที่ใดมีสติ ที่นั่นมีสมาธิ ที่ใดมีสมาธิ ที่นั่นมีสติ”
๒. ทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธเคือง ความลุ่มหลงมัวเมา จึงมีความโปร่งเบา ผ่อนคลาย เป็นสุข โดยสภาพของมันเอง พร้อมที่จะเผชิญความเป็นไปต่างๆ และจัดการกับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม
๓. ทำให้ความคิดและการรับรู้ขยายวงกว้างออกไปได้โดยไม่มีสิ้นสุด เพราะไม่ถูกบีบคั้นด้วยกิเลสต่างๆ จึงทำให้ความคิดเป็นอิสระมีพลัง แต่มีสติควบคุม เสมือนเรือที่มีหางเสือควบคุมอย่างดี ย่อมสามารถแล่นตรงไปใน ทิศทางที่ต้องการได้โดยไม่วกวน
๔. ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้เต็มที่ เพราะมีความคิดที่เป็นระเบียบ และมีใจซึ่งมีพลังเข้มแข็ง จึงเป็นการเสริมสร้างปัญญาให้บริบูรณ์
๕. ชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพราะมีสติจึงไม่เผลอไปเกลือกกลั้วบาปอกุศลกรรม ทำให้พฤติกรรมต่างๆ เป็นไปด้วยปัญญาหรือเหตุผลที่บริสุทธิ์
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีสติรู้เท่าทันกาย ย่อมจะไม่พูดชั่ว และไม่กระทำชั่ว สามารถรักษาตนอยู่ใน ‘ศีล’ ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อมีสติรู้เท่าทันจิต ก็จะมี ‘สมาธิ’ ตั้งมั่น ไม่ซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวาย และเมื่อมีสติรู้เท่าทันถึงเหตุผลอย่างชัดเจน ‘ปัญญา’ ก็จะเกิดขึ้น เป็นเครื่องดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง
สติจึงเป็น ‘ธรรมมีอุปการะมาก’ คือทำให้ตื่นจากความไม่รู้ เพียงนำมาใช้กับทางโลกก็ยังเกื้อกูลประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคล การจัดระบบความคิด อีกทั้งยังทำให้ไม่มักโกรธ ไม่มัวเมา ไม่ซึมเศร้า ไม่รู้สึกกดดัน
และถ้าสั่งสมอบรมให้เจริญมากขึ้นจนเป็น ‘มหาสติ’ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรม เกื้อกูลต่อการเห็นประจักษ์ความจริงของกายและจิต สามารถตื่นจากกิเลสนิทราได้อยู่ทุกเมื่อ สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘สติ โลกสฺมิ ชาคโร’ ที่แปลว่า ‘สติเป็นเครื่องตื่นในโลก’ ทุกประการ
ผู้ปฏิบัติธรรมหมั่นประกอบความเพียร ย่อมทำให้เกิดผลคือ การมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ก็เป็นปัจจุบันกาล หรือการประกอบการงานทั้งทางโลกและทางธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เกิดผลดี เพราะทำให้อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เข้าใจผู้อื่นที่ยังมีกิเลสอยู่ และทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนาอินทรีย์ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้สมบูรณ์แบบ จนถึงขั้นทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป พบแต่บรมสุขคือ พระนิพพาน อันเป็นเป็นหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
เราสวดมนต์เก่ง แต่ เรายังชอบนินทา
เราบำเพ็ญทาน แต่ เรายังเห็นแก่ตัว
เรารักษาศีลเป็นประจำ แต่ เรายังคิดร้ายผู้อื่น
เราเจริญสมาธิเก่ง แต่ เรายังคิดฟุ้งซ่าน
เราเจริญวิปัสสนา แต่ เรายังไม่รู้คุณค่าสติ
เราช่วยเหลือผู้อื่น แต่ ยังต้องการคำชม
เรากราบไหว้ผู้ใหญ่ แต่ เรายังหยิ่งและถือตัว
เราชอบฟังธรรม แต่ เรายังไม่เคยทำตาม
เราชอบแนะนำผู้อื่น แต่ เรายังทำเองไม่ได้
เราแผ่ส่วนบุญประจำ แต่ เรายังหวงเสียดาย
เราอนุโมทนาสาธุ แต่ เรายังริษยาผู้อื่น
เราคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ เรายังละวางไม่ได้ ฯ
...... แน่ใจแล้วหรือ ? ว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรม.....
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee