แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกคนรู้ทุกข์ พอสมควร รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ความรู้นั้นก็ถือว่าปัญญาจากที่เราได้ยินได้ฟัง เราได้ศึกษา เราได้ค้นคว้า พระพุทธเจ้าถึงให้เราเข้าถึงกิจกรรม คือความประพฤติ ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกท่านทุกคนต้องเข้าสู่เผด็จการแห่งธรรมะ บ้านเมืองเรามีระบบประชาธิปไตย และก็มีระบบสังคมนิยม ที่เอาความถูกต้อง ที่ว่าถูกต้องเป็นหลัก แต่มันก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มันเน้นทางวัตถุทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ก็คือความเห็นแก่ตัว พระพุทธเจ้าถึงให้เราเข้าหาเผด็จการแห่งธรรมะ ต้องอาศัยเวลาเหมือนกับไก่ฟักไข่ที่ใช้เวลา 3 อาทิตย์ ต้องอาศัยการประพฤติการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง ถึงสัมมาทิฏฐิ แล้วก็ต้องมีสัมมาสมาธิ ที่เป็นอุดมคติหรืออุดมการณ์ เปรียบเสมือนไก่มันฟักไข่อยู่ในอุณหภูมิที่จะต้องออกลูกมาเป็นตัวไก่ เพราะปัญหาของทุกคนมันไม่ได้อยู่ที่คนอื่น มันอยู่ที่ตัวเรา ต้องเข้าสู่เผด็จการแห่งตัวเอง แห่งธรรมะ ถ้างั้นเราทุกคนก็จะตกอยู่ในสีลัพพตปรามาส หรือว่าลูบคลำในศีล ไม่รู้ว่าความประพฤติ ปฏิปทา เพราะว่าเหยื่อของโลกหรือว่ารสของโลกมันแซ่บ มันลำ มันอร่อย ทุกคนต้องเผด็จการตัวเอง เพราะเราจะได้ไม่โอ้เอ้เสียเวลา ปัจจุบันนี้เราไฟต์ติ้ง เป็นความดับทุกข์ ของหมู่มวลมนุษย์ ที่ทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกภาษา เพราะทรัพยากร หมู่มวลมนุษย์ เกือบ 8,000 กว่าล้านคนนี้มันต้องเข้าสู่สันติภาพหรือว่าเข้าสู่พระนิพพาน ไปวิ่งตามความหลงไปวิ่งตามขยะ มันเป็นการวิ่งตามความฟุ้งซ่าน
ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งนี้รีบด่วนเราต้องปรับตัวเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะ ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าเราไปเรียนไปศึกษาภาคความรู้ ก็ยังต้องเข้าสู่พฤติกรรมหรือว่าภาคปฏิบัติ เพื่อจะเป็นผู้ที่ปฏิบัติเป็น เพราะความเป็นพระของหมู่มวลมนุษย์คืออริยมรรคมีองค์ 8 ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ อันนั้นเรียกว่าศาสนา เรียกว่าพระ คำว่าพระก็คือผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นผู้ที่เสียสละหยุดตัวตน ต้องจัดการกับตัวเอง เราอย่าไปคิดว่าเราอยากเป็นพระ นี่เราก็ต้องเป็นพระ อย่างเราเป็นเณรก็ต้องเป็นเณร เราเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องเป็น การปฏิบัติเราจะไม่มีความรู้ ไม่ได้เข้าสู่ภาคปฏิบัติ ถึงจบ ป.ธ.9มันก็ไม่ได้เรื่อง ปริญญาเอกก็ไม่ได้เรื่อง ข้าราชการมันก็ไม่ได้เรื่อง นักการเมืองก็ไม่ได้เรื่อง พวกนี้มันมาทำงานไปรษณีย์สำหรับส่งกันเป็นลายเซ็นผ่านกัน อยากจับตัวกัน เราไปเอาแต่ทางวัตถุทางวิทยาศาสตร์มันไปแก้ตั้งแต่ปลายเหตุ
ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจ ถึงเหตุที่เป็นอวิชาเป็นความหลงที่มันไม่รู้อริยสัจ 4 รู้แล้วก็ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม เพราะความเพลิดเพลินความประมาทเป็นสิ่งที่สำคัญต้องจัดการตัวเอง ต้องเห็นความสำคัญ ระบบความคิด ความคิดมันก็เป็นเหมือนยา คิดไม่ดีก็เป็นยา เหมือนยาที่เค้าวางยาสลบคนที่จะผ่าตัด เพราะนี้คือกรรม นี้คือกฏแห่งกรรม นี่คือการหยุดอวิชาหยุดความหลงหรือว่าหยุดไสยศาสตร์ที่มีในตัวเรา มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
เราทุกท่านทุกคนจะมาเอาอะไร เพราะมันไม่มีอะไรได้ มีแต่ผ่านมา ผ่านไป ผัสสะทั้งหลายที่เราขอบคุณ ก็เพื่อให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ เราจะได้พัฒนาศีล พัฒนาสัมมาสมาธิ พัฒนาสัมมาปัญญาของเรา เราต้องขอบคุณผัสสะอย่างนี้ สิ่งที่มันเป็นธรรมเป็นพรหมจรรย์ ทุกคนไม่อยากปฏิบัติศีล ไม่อยากตั้งมั่นในสมาธิ ไม่อยากเจริญปัญญา เพราะมันไม่อร่อย มันไม่รำ มันไม่แซ่บ มันไม่หรอย มันไม่ใช่สุดยอด มันไม่ใช่ climax
ให้เราเข้าใจว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ดีนะ เราจะได้พัฒนาใจของเรา ให้เรารู้จักอริยสัจ ๔ รู้จักทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อากาศหนาวก็ต้องขอบคุณเพื่อจะให้เราทำใจ เราไปตามความคิดตามอารมณ์ไปเรื่อย ว่าหน้าหนาวนี้ตัวเราธาตุไฟไม่แข็งแรง ธาตุน้ำเยอะ เราเลยไม่ออกมาทำวัตรสวดมนต์ ลักษณะการปฏิบัติเราต้องรู้จัก ความหนาวมันเอาศีลสมาธิมาให้เราว่า ศีลคือเราต้องรักษาเวลาส่วนรวม เราออกไปนั่งสมาธิกัน ออกมาทำวัตรสวดมนต์กัน อย่าไปใจอ่อน เพราะโรคใจอ่อนเป็นโรคสีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ
สีลัพพตปรามาส หมายความถึงความยึดมั่นถือมั่นอยู่ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือศีลพรตภายนอกพระพุทธศาสนา หรือความยึดมั่นถือมั่นในการบำเพ็ญเพียงกายและวาจาตามหลักธรรมพระพุทธศาสนา (ศีล) ของตนว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ซึ่งเป็นเหตุให้ละเลยการปฏิบัติทางด้านจิตใจหรือการใช้ปัญญาเพื่อหลุดพ้น สีลัพพตปรามาสจัดเป็นความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่งจัดเข้าในกลุ่มสังโยชน์ขั้นต้นที่พระอริยบุคคลระดับโสดาบันจะละความยึดมั่นเช่นนี้ได้
สีลัพพตปรามาสในพระไตรปิฎก ปรากฏทั้งในคัมภีร์สุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก โดยความหมายหลักของคำว่าศีลและพรตในศัพท์นี้ หมายถึงการปฏิบัติตามความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา เช่น ความเชื่อในอำนาจบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระผู้เป็นเจ้า, ความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่าการบำเพ็ญทุกกรกิริยาจะสามารถทำให้ผู้บำเพ็ญหลุดพ้นจากความทุกข์หรือหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ หรือความเชื่อของลัทธิตันตระที่เชื่อว่าการมั่วสุมอยู่ในกามารมณ์จะสามารถทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้ เป็นต้น
คำว่า “สีลัพพต” ได้แก่ ศีลและพรต นั้น คือ สีล และ วต (พรต ไม่ใช่วัตร) วต คือ พรต เป็นหลักการที่ถือปฏิบัติ ที่เรียกว่าบำเพ็ญพรต เช่น ถืออดอาหาร ถือโหนกิ่งไม้ ถือยืนขาเดียว มีมากนอกพุทธศาสนา ในพุทธศาสนาท่านให้ปฏิบัติได้ในขอบเขตหนึ่งโดยมีความเข้าใจที่จะทำให้ถูกต้อง ไม่ให้กลายเป็นการทรมานตนของคนขาดปัญญา
“ปรามาส” ท่านวิเคราะห์ศัพท์ (คือกระจายคำตามหลักไวยากรณ์) ไว้ชัดเจนว่า “สภาวํ อติกฺกมิตฺวา ปรโตอามสตีติ ปรามาโส แปลว่า จับฉวยเอาเกินเลยสภาวะเป็นอย่างอื่นไป เรียกว่า ปรามาส” แปลว่า การยึดถือมั่นจนเลยเถิด ถือเลยเถิดเป็นอย่างไร ที่ว่ายึดถือศีลพรตเลยเถิด ก็คือ ไม่ถือให้ตรงตามจุดมุ่งหมาย ก็เลยไม่ตรง ไม่พอดี จึงเลยเถิดไปเสีย
ยึดถือตามจุดมุ่งหมาย คือ ถือปฏิบัติโดยมีความรู้เข้าใจด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาจะรู้จุดหมายได้อย่างไร พูดสั้นๆ ก็คือว่า ถือปฏิบัติด้วยปัญญาที่รู้ความมุ่งหมาย เมื่อรู้ความมุ่งหมาย ก็ปฏิบัติถูกต้องได้ เมื่อเราจะปฏิบัติอะไร เราศึกษาไต่ถามให้รู้ชัดลงไปว่า อันนี้มีความหมายอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ เราก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความมุ่งหมาย เวลาทำอะไร ก็มองไปที่จุดหมาย อย่างนี้ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส
การยึดถือปฏิบัติที่เป็นสีลัพพตปรามาสนั้น เป็นความผิดพลาดเลยเถิดไปเพราะเจตนาของใจที่ขุ่นมัวโง่เลอะ ก็เลยยึดถือไปตามกิเลสที่เป็นเหตุต่างๆ คือ
๑. สีลัพพตปรามาสด้วยโลภะ ข้อนี้ท่านยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น ถือศีลโดยอยากไปเป็นเทวดา คิดว่า เราถือศีลอย่างนี้แล้ว จะได้เป็นเทวดาองค์นั้นองค์นี้ จะได้มีอำนาจฤทธิ์เดชอย่างนั้นๆ เรียกว่า ยึดถือด้วยโลภะ ที่จริงนั้น การไปเป็นเทวดา ไปสวรรค์อะไรๆ นั้น เป็นเรื่องของผลพลอยได้ เป็นผลพ่วง เมื่อปฏิบัติถูก ก็ไปเอง เป็นธรรมดาของมัน ไม่ต้องไปอยาก
๒. สีลัพพตปรามาสด้วยโทสะ เช่น ยึดถืออย่างเป็นปฏิกิริยา ได้ยินเขาว่าแล้วขัดใจขึ้นมา ฮึดฮัดบอกว่า ข้าจะถือของข้าอย่างนี้แหละ ใครจะว่าอย่างไรก็ว่าไป โกรธ อย่างนี้ก็โทสะ
๓. สีลัพพตปรามาสด้วยโมหะ คือยึดถือด้วยโมหะ ถือโดยหลงโง่งมงาย ปฏิบัติตามๆ เขาไปอย่างนั้นๆ โดยไม่รู้เรื่อง โดยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ความมุ่งหมาย อย่างที่ว่าแล้ว เขาสอนมาอย่างนั้น อาจารย์ทำมา ก็ทำตามกันไป อย่างนี้เป็นกันมาก เป็นสีลัพพตปรามาสด้วยโมหะ
“สีลัพพตปรามาส” ที่อาจพบเห็นได้ง่ายในหมู่คนไทยคือ “การถือ” บางอย่าง เช่น – เห็นผีพุ่งไต้ (ดาวตก) ห้ามทัก (ถ้าทัก วิญญาณในดาวนั้นจะไปเกิดในท้องหมา)
ยาต้มหรือน้ำมันที่ใช้ทารักษาโรค เมื่อรักษาหายแล้วให้ทิ้งเสีย ห้ามเก็บไว้ (ถ้าเก็บไว้จะมีคนป่วยอีก)
เมื่อไปเผาศพ ห้ามหยิบดอกไม้จันทน์ให้กัน ต้องหยิบเองเฉพาะของตัว (หยิบให้ใคร เท่ากับยื่นความตายให้เขา)
ห้ามชมการจัดดอกไม้ประดับหีบศพว่าสวย
"ขึ้นบ้านวันเสาร์ เผาผีวันศุกร์ โกนจุกวันอังคาร แต่งงานวันพุธ พุธห้ามตัด พฤหัสห้ามถอน สงฆ์ 14 นารี 11" ฯลฯ
ถ้ารวบรวม “การถือ” ของคนไทยมาให้หมด น่าจะเป็นหนังสือเล่มโตๆ ได้หลายเล่ม
ในชยปริตรท่อนแรกเป็นการกล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า จนเอาชนะมารทั้งหลายแล้วบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนท่อนหลังได้นำข้อความมาจาก สุปุพพัณหสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ซึ่งเป็นพระสูตรที่ตรัสสอนให้ถือว่าการทำดีด้วยกาย วาจา ใจ นั่นแหละ เป็นมงคลเป็นฤกษ์ดียามดีที่สำคัญที่สุด
สุปุพพัณหสูตร [๕๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจาประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น
สุนักขัตตัง สุมังคะลัง สุปปะภาตัง สุหุฏฐิตัง สุขะโณ สุมุตโต จะ สุยิฏฐัง พ๎รัหมะจาริสุ
ปะทักขิณัง กายะกัมมัง วาจากัมมัง ปะทักขิณัง ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง ปะณิธิ เต ปะทักขิณัง
ปะทักขิณานิ กัตวานะ ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ ฯ
สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย กายกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา วจีกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา มโนกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา ความปรารถนาของท่านเป็นส่วนเบื้องขวา สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นส่วนเบื้องขวาแล้ว ย่อมได้ผลประโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องขวา ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์แล้ว จงได้รับความสุข จงงอกงามในพระพุทธศาสนา จงไม่มีโรค ถึงความสุข พร้อมด้วยญาติทั้งมวล ฯ
ในคำเป็นต้นว่า สุนกฺขตฺตํ วันที่คนทั้งหลาย บำเพ็ญสุจริตธรรมทั้ง ๓ ให้บริบูรณ์ ชื่อว่าเป็นวันที่ได้การประกอบฤกษ์ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า วันนั้น มีฤกษ์ดีทุกเมื่อ วันนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า เป็นวันทำมงคลแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า วันนั้นมีมงคลดีทุกเมื่อ
แม้วันที่มีความสว่างไสวทั้งวัน จึงชื่อว่า สุปฺปภาตเมว (มีความสว่างไสวเป็นประจำ)
แม้การลุกขึ้นจากการนอนของวันนั้น ก็ชื่อว่า สุหุฏฺฐิตํ (ลุกขึ้นด้วยดี) แม้ขณะของวันนั้น ก็ชื่อว่า สุกฺขโณ (ขณะดี)
แม้ยามของวันนั้น ก็ชื่อว่า สุมุหุตฺโต (ยามดี)
บทว่า สุยิฏฺฐํ พฺรหฺมจาริสุ ความว่า ทานที่เขาให้ในผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ในวันที่บำเพ็ญสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์แล้ว ชื่อว่า สุยิฏฺฐํ (มีการบูชาดีแล้ว)
บทว่า ปทกฺขิณํ กายกมฺมํ ความว่า กายกรรมที่เขาทำแล้วในวันนั้น ชื่อว่า เป็นกายกรรม ประกอบด้วยความเจริญ. แม้ในบทที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน
บทว่า ปทกฺขิณานิ กตฺวาน ความว่า ครั้นการทำกายกรรมเป็นต้น ที่ประกอบด้วยความเจริญแล้ว
คนเราก็จะประสบความสำเร็จได้ก็เพราะความพากเพียรพยายาม ไม่ใช่เกิดจากฤกษ์ยาม ดวงชะตาหรือฟ้าลิขิตแต่อย่างใด
ที่สำคัญการกระทำหรือพฤติกรรมของเราเองนั่นหละที่ลิขิตชีวิตของเรา ที่เรียกว่า "กรรมลิขิต" ดังคำกลอนที่ว่า
มิใช่เทวาจะมาอุ้มสม ไม่ใช่พระพรหมจะมาเสกสรร
ไม่ใช่ศุกร์เสาร์หรืออาทิตย์จันทร์ จะมาบันดาลให้เราชั่วดี
อันกรรมลิขิตชีวิตของคน ยากดีมีจนสุดแต่วิถี
กฎแห่งกรรมทำดีต้องได้ดี ถ้าทำชั่วก็มีแต่ไปอบาย
ชีวิตของเราจึงอยู่ในกำมือเรา ผิดพลาดอะไรมา อย่าไปโทษคนอื่น ให้โทษตัวเองจะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวของเรา เป็นการสอนให้มนุษย์มีความฉลาดเกิดสติปัญญา ไม่งอมือ งอเท้า ไม่รอโชควาสนาหรือราชรถมาเกย แต่ให้ลงมือทำความดีด้วยตนเอง และความดีจะส่งผลเอง การทำดีจึงเป็นหน้าที่ของคน ส่วนการให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรม
เมื่อเราทำอะไร มุ่งมั่นทำจริง ไม่รอโชคชะตา ย่อมประสบความสำเร็จ
น้ำมนต์หรือจะสู้หยาดเหงื่อแรงงาน
ความสำเร็จต้องมาจากหยาดเหงื่อแรงกายของเราเอง
น้ำมนต์เป็นเพียงกำลังใจ อย่าให้น้ำมนต์มีอิทธิพลเหนือจิตใจ
สิ่งที่จะทำให้งานสำเร็จ มิใช่น้ำมนต์จากพระสงฆ์ชื่อดังแต่เป็นน้ำพักน้ำแรงหยาดเหงื่อแรงงานของเราเอง ที่อดทนต่อสู้จนประสบความสำเร็จ ไม่ว่างานนั้นจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ เราจะได้ประสบการณ์ที่ล้ำค่า หากล้มเหลวเราจะไม่ทำมันอีกและถือเป็นบทเรียน
การถือฤกษ์ถือยามนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด เพราะฤกษ์ยามไม่สามารถสร้างประโยชน์ใดๆ ได้ ผู้ถือฤกษ์ถือยามก็พลอยพลาดจากประโยชน์ไปด้วย มีคนจำนวนมากที่ขาดปัญญา มัวแต่ถือฤกษ์ถือยาม รอเวลาสร้างความดี จนบางทีก็ไม่มีโอกาสได้สร้างความดี เพราะมัวแต่รอฤกษ์งามยามดี อันนั้นเป็นลักษณะของคนเขลาขาดปัญญา แทนที่จะได้ทำคุณงามความดีในเมื่อโอกาสเหมาะมาถึง แต่เพราะมัวถือฤกษ์ถือยาม จึงพลาดโอกาสนั้นไปอย่างน่าเสียดาย
คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ท่านไม่ให้ถือกฤกษ์ถือยาม ทำความดีเมื่อไหร่ เป็นฤกษ์งามยามดีเมื่อนั้น ทำความชั่วเมื่อไหร่ เป็นฤกษ์ไม่ดีเมื่อนั้น ไม่ใช่จะไปดูดาวบนท้องฟ้า ดูการโคจรของดวงดาว วันนั้นดี วันนี้ไม่ดี เช้าดี บ่ายไม่ดี อะไรทำนองนี้ ถ้ามัวแต่ถือฤกษ์อยู่อย่างนี้ ย่อมพลาดประโยชน์ที่ควรได้ควรถึงไปได้ง่ายๆ เพราะแทนที่จะได้สร้างประโยชน์เดี๋ยวนี้ กลับต้องมานั่งรอฤกษ์อยู่ เวลาก็ล่วงเลยไป ถ้าตายก่อนก็จบกันเท่านั้นเอง ในนักขัตตชาดก กล่าวไว้ว่า "ประโยชน์มักล่วงเลยคนที่มัวรอคอยฤกษ์ยามอยู่ ความพร้อมในปัจจุบันแล้วเกิดประโยชน์นั่นแหละ คือฤกษ์ยามที่ดีที่สุด ดวงดาวก็ช่วยอะไรไม่ได้"
รวมความว่า สีลลพตปรามาส จะเกิดขึ้น เมื่อไม่ปฏิบัติด้วยปัญญา พูดสั้นๆ เอาง่ายๆ ก็ว่าปฏิบัติด้วยกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ แม้จะทำด้วยริษยาหรือกิเลสอะไร ก็อยู่ในนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อิเมสุ กิร สชฺชนฺติ เอเก สมณพฺราหฺมณา วิคฺคยฺห นํ วิวทนฺติ ชนา เอกงฺคทสฺสิโน = สมณะพราหมณ์บางพวกดังกล่าวนี้ ต่างยึดมั่นทฤษฎีที่ตนเห็น มองแง่มุมไม่จบครบประเด็น จึงทุ่มเถียงคอเป็นเอ็นไม่ฟังใคร ฯ
สรุปว่ากิเลสที่มีบทบาททำให้คนทะเลาะเบาะแว้งไม่รู้จบ มีอยู่ 3 ตัวใหญ่ๆ คือ
1. ตัณหา ความอยาก ความต้องการ ตนเองต้องการอย่างนี้ จะเอาอย่างนี้ ไม่คำนึงว่าที่ตนต้องการนั้นมันขัดกับศีลธรรมจริยธรรมหรือไม่ ขัดแย้งกับความต้องการของคนส่วนใหญ่หรือไม่ ก็กูจะเอาอย่างนี้นี่มีอะไรรึเปล่า
2. มานะ ความถือตัว ถือตัวว่ากูเป็นใคร ลูกเต้าเหล่าใคร ตำแหน่งหน้าที่การงานยิ่งใหญ่แค่ไหน สำคัญแค่ไหน มันเป็นใคร (Who is he? ว่างั้นเถอะ) จึงมาขัดแย้งกับกู
3. ทิฏฐิ ความเห็น ความเห็นของตนเป็นสำคัญ คิดว่าในที่นี้ไม่มีความเห็นของใครถูกต้องเท่ากับความเห็นของกู
เจ้าตัณหามานะทิฏฐินี้ ทางพระท่านเรียกว่า ตัมมยา ผู้ที่ปฏิบัติจนสามารถกำราบตัณหามานะทิฏฐิได้ เรียกว่า อตัมมยา ภาวะที่ปราศจากตัณหามานะและทิฐิ เรียกว่า อตัมมยตา
ปุถุชนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องมีตัณหามานะทิฐิเหมือนกัน ต่างเพียงว่าใครมีมากมีน้อยเท่านั้น จะให้ไม่มีความคิดเห็นต่างกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ ขอแต่เพียงไม่ยึดมั่นในกิเลสของตัวเกินไป ถึงขั้นตลุมบอนกันดังคนตาบอดคลำช้างก็นับว่าดีถมเถแล้ว
พูดอีกนัยหนึ่งกิเลสทั้งสามนี้รวมอยู่ใน "ตัวกู" "ตัวสู" ดังที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านกล่าวเตือนใจในบทกวีว่า
"อันความจริง "ตัวกู" มิได้มี แต่พอเผลอมันเป็นผีโผล่มาได้
พอหายเผลอ "ตัวกู" ก็หายไป หมด "ตัวกู" เสียได้เป็นเรื่องดี
สหายเอ๋ยจงถอนซึ่ง "ตัวกู" และถอนทั้ง "ตัวสู" อย่างเต็มที่
มีกันแต่ปัญญาและปรานี หน้าที่ใครทำให้ดีเท่านี้เอย"
“คนที่มองอะไรมุมเดียวแล้วยึดติดอยู่ในแง่มุมที่ตนมองเห็นนั้น ไม่แคล้วต้องวิวาทกัน”
นินทาและสรรเสริญ เป็นโลกธรรม ที่อยู่คู่มนุษยชาติมาตลอด เพราะในโลกนี้ “นักพูด” มีมากกว่า “นักทำ” ผู้ที่มีปกติชอบพูดวิพากษ์วิจารณ์ เยาะเย้ยถากถางผู้อื่น มนุษย์ประเภทสายตาสั้น ใจแคบ สำคัญตนว่ารู้มากกว่าคนอื่น ก็มีให้เห็นๆ อยู่ ไม่ว่าจะสมัยนี้หรือสมัยไหน
ดังนั้น ในการมองสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เราไม่สมควรที่จะมองเพียงด้านเดียว แล้วสรุปเองว่ามันเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นเราควรที่จะมองให้รอบด้าน พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย จะทำให้เราสามารถได้ข้อมูลที่ผิดพลาดน้อยที่สุด และใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถนำเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
มนุษย์ผู้มีตาดีทั้งหลายในโลกนี้ ส่วนมากก็เป็นเช่น “คนตาบอด” ในวัฏสงสาร เพราะถูกอวิชชา ความไม่รู้ ปิดบังไว้ ดังนั้น เราท่านอาจเป็นหนึ่งในพวก “ตาบอดคลำช้าง” โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ หนทางสว่างที่จะพ้นจากความเป็นคนบอดได้คือ “ปิดตา เปิดใจ รวมจิตให้มีสติมีสมาธิ” เมื่อใจบริสุทธิ์ ย่อมเกิดความสว่างไสว ทำลายความมืดบอดให้สิ้นไปได้ เมื่อนั้นเราจึงจะได้เป็น “คนตาดี” อย่างแท้จริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee