แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๓๒ กิเลสอย่างหยาบละได้ด้วยรักษาศีล อย่างกลางละได้ด้วยเจริญสมาธิ อย่างละเอียดละได้ด้วยการเจริญวิปัสสนา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ผู้ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารคือผู้ที่ยังไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ที่ปัญหาความเป็นอยู่ของเรานี้ เรากำลังแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่ใช่ต้นเหตุ ต้นเหตุอยู่ที่เราคิดเห็นผิด เข้าใจผิด แล้วปฏิบัติผิด ที่เราเกิดมา ที่สอนลูกสอนหลานเพื่อเป็นคนเก่งคนฉลาด เรียนหนังสือหรือทำเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ นี้คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ที่เราหาอยู่หากินต่างถิ่น เรียนต่างถิ่นนี้คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะภาระที่เรารู้เราเห็นก็คือขันธ์ทั้ง ๕ ร่างกายนี้ ที่แท้จริงแล้วมันมาจากใจที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เข้าใจผิด เราต้องเข้าใจ
พระพุทธเจ้าให้เราเข้าใจอย่างนี้นะ พระที่แท้จริงอยู่ที่เรา คิดเห็นถูกต้อง เขาใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เป็นความประพฤติของเรา เป็นการปฏิบัติของเรา ออกมาจากใจที่เป็นสัมมาทิฏฐิ หรือเป็นใจของเราที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธเจ้าถึงบอกเราให้รู้ เราต้องหยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมร์ เป็นมนุษย์นี้เราต้องมาไฟติ้งตัวเอง ทุกคนมาแก้ไขตัวเอง คนอื่นเขาก็แก้ไขเขา ทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้รู้ถึงว่า ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาเวลา แล้วก็เข้าหาธรรมะ เพราะการหมุนของโลก มันหมุนไปตามเวลา ร่างกายของเราก็หมุนไปตามเวลา วันหนึ่งคืนหนึ่งของมนุษย์ถึงนอน 6 ชม. เราอย่าพากันคอรัปชั่นเวลา อย่างพระคุณเจ้าทั้งหลายก็ควรจะนอน 3 ทุ่ม ตื่นตี 3 เป็นต้น ทำวัตรสวดมนต์ก็ถึงตี 4 อย่างนี้เป็นต้น ตอนกลางวันทุกคนต้องมีความสุขในการทำงาน รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงการดับทุกข์ เรามีร่างกาย เราก็ต้องให้อาหารทางร่างกาย อาหารทางกายนั้นมันต้องไม่เป็นบาป อาหารทางใจก็คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง อาหารทางใจคือพรหมจรรย์คือศีล ศีลคือธรรม ธรรมคือศีล มันคืออันเดียวกัน ไม่ใช่กฎหมายบ้านเมือง
เราหน่ะ ไปตามพ่อตามแม่ตามสังคมอย่างนี้ไม่ได้ มัน เสียหาย เราดูพื้นฐานเราเกิดมาอย่างนี้แหละ เราพูดตามความเป็นจริงไม่มีอคติ พ่อแม่เรายังเป็นสามัญชน เป็นอย่างงี้อยู่ พ่อแม่เรามันเป็นส่วนทางร่างกาย แต่จิตใจต้องตามพระพุทธเจ้า เราทุกคนอย่าไปทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก นี่มันเสียหาย อย่างเราเกิดมากับแม่กับพ่อเรา เราก็เห็นพ่อกับแม่เราทำปาณาติบาต ฆ่ามด ฆ่าปลวก ฆ่ายุง ทานอาหารก็ทานประเภทที่มาจากการที่เบียดเบียน ตั้งแต่สัตว์เล็กที่มองเห็นไปจนถึงสัตว์ใหญ่อย่างนี้แหละ ถึงแม้เราไม่ได้ฆ่าเอง แต่ก็เห็นเรื่องนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เราก็ยังยินดีกับคนอื่นเค้า เค้าก็ฆ่าให้เราบริโภค เราก็เลยพัฒนาไปในเรื่องวัฏสงสาร
ภายหลังที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้าไปในประเทศจีนแยกออกเป็นนิกาย "อาจาริยวาท" หรือ "มหายาน" และขยายมาทางใต้ของอินเดียถือว่าเป็นเถรวาท หรือหินยาน ฝ่ายมหายานยึดหลักแห่งเมตตาธรรมมีวัตรปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือฉันภัตตาหารเจ
คัมภีร์สำคัญของมหายาน ๔ พระสูตรซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธวจนะ ได้บัญญัติห้ามการกินเนื้อสัตว์คือ หัสติกักสยะ, มหาเมฆะ, นิรวาณางคุลี มาลิกา และ ลังกาวตาร
ท่านพุทธทาสได้แปลบางตอนในลังกาวตารสูตรมีความว่า "โอ มหาบัณฑิต ในวัฏสงสารอันไม่มีใครทราบที่สุดในเบื้องต้นนี้สัตว์ผู้มีชีพได้พากันท่องเที่ยวไปในการเวียนว่ายในการเกิดอีก ตายอีก ไม่มีสัตว์แต่ตัวเดียวที่ในบางสมัย ไม่เคยเป็น แม่ พ่อ พี่ชาย น้องชาย พี่หญิงน้องหญิง ลูกชาย ลูกหญิง หรือเครือญาติอย่างอื่นๆ แก่กัน สัตว์ตัวเดียวกัน ย่อมถือปฏิสนธิในภพต่างๆ เป็นกวาง หรือสัตว์ สองเท้า สัตว์สี่เท้าอื่นๆ เป็นนก ฯลฯ ซึ่งยังนับได้ว่าเป็นเครือญาติ ของเราโดยตรง สาวกแห่งพระพุทธศาสนาจะทำลงไปได้อย่างไรหนอ จะเป็นผู้สำเร็จแล้วหรือยังเป็นสาวกธรรมดาอยู่ก็ตาม ผู้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้ทั้งหมดเป็นภราดรของตน แล้วจะเชือดเถือเนื้อหนังของมันอีกหรือ"
และอีกบางตอนมีความว่า "..เพราะฉะนั้น เนื้อทุกชนิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกชนผู้ปรารถนาจะมีสาธุคุณในทางจิต ทั้งเพื่อตนเอง และผู้อื่น นักกินเนื้อย่อมเป็นเหยื่อแห่งโรคหลายชนิด เช่น โรคไส้เดือน โรคพยาธิ โรคเรื้อน ใครเจ็บในท้อง ฯลฯ
โอ มหาบัณฑิต เรากำลังประกาศว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นการกินเนื้อบุตรของตนเองอยู่ดั่งนี้ แล้วจะกล่าวไปอย่างไรได้ ที่เราจะบัญญัติให้สาวกของเรากินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นของจัดไว้ต้อนรับของพวกคนใจอำมหิตเป็นของถูกห้ามโดยท่านสัตบุรุษทั่วไป เต็มไปด้วย มลทิน ปราศจากคุณธรรมใดๆ ไม่เหมาะที่จะบริโภคสำหรับผู้บริสุทธิ์ และเป็นของควรห้ามเด็ดขาดโดยประการทั้งปวง"
และปัญหาที่ถกเถียงกันไม่เป็นข้อยุติคือ ระหว่างผู้ฆ่า กับผู้กิน ใครคือผู้รับบาป ในลังกาวตารสูตรได้กล่าวเอาไว้ชัดเจนว่า "เขาผู้ฆ่าสัตว์ชนิดใดๆ ก็ตามเพื่อเงิน และเขาผู้ซึ่งจ่ายเงินซื้อเนื้อนั้น ทั้งสองพวกได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบอกุศลกรรม จักจมลงในนรกโรรุวะ ฯลฯ
ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายหินยานยึดถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ.๙๐๐ ได้กำหนดโดยอ้างว่าเป็นพระพุทธวจนะ ห้ามเสพเนื้อสัตว์สิบอย่างคือ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี และเนื้อเสือดาว นอกนั้นฉันได้แต่ต้องไม่อยู่ในข้อกำหนดอีกสามประการคือได้ยิน ได้เห็น และเจาะจง
แต่ตามหลักฐานค้นพบใหม่กล่าวว่า พุทธศาสนาหินยานแต่เดิมนั้น มิได้ฉันเนื้อสัตว์ โดยมีหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงลังกา ๓ ครั้ง พระสายลังกาวงศ์แท้ จึงไม่เสพเนื้อสัตว์ แต่พอไปจากสยามวงศ์ในภายหลังจึงหันมาฉันเนื้อสัตว์ ปัญหาที่ค้างคาใจพุทธศาสนิกชนก็คือ พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์ หรือไม่
ผู้ที่ตอบว่า "เสวย" กับ "ไม่เสวย" ต่างไม่เคยเห็นพระพุทธองค์เสวย
แต่มีข้อควรพิจารณาด้วยปัญญาของตนเองอยู่ ๓ ประการคือ
ประการแรก อาหารสามมื้อของพระพุทธองค์เป็น ภัตตาหารมังสวิรัติ ทั้งสิ้น คือ ก่อนตรัสรู้เสวยข้าวมธุปายาส ซึ่งนางสุชาดานาถวายรุกขเทวดา หลังจากตรัสรู้แล้วนายวานิชสองพี่น้องนำข้าว สัตตุผงมาถวาย และมื้อสุดท้ายที่เป็นปัญหาคือ "สุกรมัทวะ" ที่นายจุนทะนำมาถวายนั้นแปลกันว่า "เนื้อสุกรอ่อน" เป็นคำแปลที่ผิดท่านพุทธทาสภิกขุ แปลว่า "สิ่งที่หมูชอบ" คือเห็ดชนิดหนึ่งฝังอยู่ใต้ดินภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า "ลูกบุก" ภาษาอังกฤษเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า Truffle มีสีดำกับสีน้ำตาล เวลาหาเห็ดชนิดนี้ต้องพาหมูไปด้วย เพราะจมูกหมูไวต่อกลิ่นเห็ดนี้เป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่า ภัตตาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธองค์เป็นหมู หรือ เห็ด
ประการที่สอง ปัญหาที่พระเทวทัตทูลขอต่อพระพุทธองค์ให้บังคับสาวกทั้งปวงฉันอาหารมังสวิรัติ และพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุมัติตามคำขอนี้มาแปลความว่า พระภิกษุฉันอาหารเนื้อสัตว์เป็นปกติ ทำไมจึงไม่แปลความหมายว่า การที่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุมัติเพราะการบังคับย่อมเป็นไปไม่ได้ เนื่องด้วยการกินเป็นเรื่องเฉพาะตัว บังคับกินไม่ได้ ถ้าหากมีกฎขึ้นมาแล้ว ย่อมมีผู้รักษากฎ การกินเป็นเรื่องที่ต้องคุมตัวเอง ไม่มีใครคุมใครได้
ประการสุดท้ายพระพุทธองค์ทรงสอนเวไนยสัตว์ทั้งปวงให้รักษาเบญจศีล ซึ่งข้อที่หนึ่งคือ ห้ามเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เมื่อพระพุทธองค์สอนเช่นนี้ ย่อมปฏิบัติได้ เป็นนิจศีลอยู่แล้ว หากเสวยเนื้อสัตว์ย่อมอยู่ในฐานะสอนอย่างหนึ่งแต่ปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ย่อมถูกตำหนิติเตียนจากผู้คนของลัทธิอื่นอย่างแน่นอน ถึงจะกินโดยจิตว่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ลองใคร่ครวญจากคำพูดต่อไปนี้
"กินหมูก็อย่าหมายความว่าเป็นหมู ก็ไม่บาป" คนกินหมูพูดอย่างนี้
"หมูมันยินยอมพร้อมใจให้หมายอย่างนี้หรือ" คนไม่กินหมูตอบ
การกินเนื้อกับกินผักเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันไม่มีข้อยุติเพราะต่างก็มีเหตุผลของตนเอง เพราะฉะนั้นควรยุติปัญหานี้ด้วยการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ใครมีสติปัญญาเห็นอย่างไรก็กินไปตามที่ตนเองเชื่อ เพราะตามสัจธรรมใครประกอบกรรมเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น ไม่จำเป็นต้องมาทะเลาะกันด้วยความเห็นที่แตกต่างกันเลย
เมื่อท่านเว่ยหล่างมาถึงตำบลเฉาซี คนใจบาป พยายามตามมาจองเวรเพื่อหวังทำลายล้าง ท่านเว่ยหล่างจึงต้องหลบซ่อนอยู่ที่ ซื่อฮุยกับพวกพรานป่า นานถึง ๑๕ ปี ช่วงเวลานี้ท่านก็พยายามสั่งสอนพรานป่าเท่าที่จะสอนได้ แต่บางเวลาพรานป่าใช้ท่านเว่ยหล่างนั่งเฝ้าตาข่ายดักจับสัตว์ พอเห็นสัตว์มาติดตาข่ายท่านก็ปลดปล่อยให้สัตว์นั้นรอดชีวิตไป ท่านเว่ยหล่างกินเจ เวลาหุงต้มอาหาร ท่านก็นำผักใส่ตะกร้าแล้วใส่ไปในหม้อต้มเนื้อของพรานป่า
"และถ้าผักแกงรวมอยู่กับเนื้อจะทำอย่างไร"
"เราก็จะเลือกกินแต่ผักอย่างเดียว" ท่านเว่ยหล่างตอบ
ท่านเว่ยหล่างบรรลุธรรมจึงแจ้งชัดในสัจธรรมแห่งการเวียนว่ายตายเกิดมิได้มีความสงสัยในภพภูมิต่างๆ ที่สรรพสัตว์ต้องไปเวียนว่าย เพราะฉะนั้นจึงตัดกรรมอันต้องเกี่ยวพันกันโดยการไม่กินเนื้อสัตว์ ประการสำคัญแสดงให้เห็นถึงมหาเมตตายอมลำบากด้วยตัวเอง แทนที่ให้สรรพสัตว์ทั้งปวงต้องทุกข์ยาก บาดเจ็บ สูญเสียชีวิต ด้วยความอาฆาตพยาบาทและจองเวรกันไม่มีที่สิ้นสุด
ตามหลักคำสอนของศาสนาการกิน ซึ่งอาศัยการฆ่า เพื่อเอาเลือดเนื้อสัตว์มาเป็นอาหารของเรา เป็นการสร้างกรรมที่เกิดจากการกระทำคือ การกิน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเอง
หลวงพ่อพุทธทาสฯ เคยแสดงทัศนะไว้ว่า "ธรรมชาติสร้างสรรค์ชีวิตพวกเราให้มีความรักชีวิตของตนเอง เราก็ควรจะมีความรู้สึกเห็นใจสัตว์ ที่มีความรู้สึกเดียวกัน ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีความยุติธรรมเสียเลย หากมียักษ์ใหญ่ๆ มาจับมนุษย์กินเป็นอาหาร เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนที่เรามองสัตว์เดรัจฉาน หมู ไก่ หรือวัว ก็ต้องรู้สึกอย่างเดียวกัน"
"การฝึกกินอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ เป็นการฝึกฝนจิตใจอย่างหนึ่ง การกินอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เลย เราอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก แต่ที่เห็นกันว่ายากก็เพราะไม่ได้มีการฝึกฝน จึงว่ายาก จึงจำเป็นต้องฝึกหัดรับประทานอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ให้เป็นประจำ จึงจะได้ผลเร็ว และไม่ใช่แค่ฝึกใจ ยังฝึกในส่วนสันโดษ (การพอใจเท่าที่มี)
ชีวิตพระย่อมได้อาหารชั้นพื้นๆ เคยเห็นบรรพชิตบางคนเว้นไม่รับอาหารจากคนยากจน เพราะคิดว่าเป็นเพียงผักหรือผลไม้ชั้นต่ำ แม้จะรับมา ก็เพื่อทิ้ง นี่เป็นตัวอย่างที่ไม่มีความสันโดษ หรือถ่อมตน การฝึกเป็นนักเสพผักอย่างง่ายๆ จะแก้ปัญหานี้ได้หมด "
นอกจากนี้ หลวงพ่อพุทธทาสยังเคยบันทึกไว้ว่า..."เพราะผักไม่ยั่วในการบริโภคมากไปกว่าเพียงเพื่ออย่าให้ตาย ต่างกับเนื้อสัตว์ ซึ่งยั่วให้ติดรสและมัวเมาอยู่เสมอ ความอยากในรสที่เกินจำเป็นของชีวิต ความหลงใหลในรส ความหงุดหงิด เมื่อไม่มีเนื้อที่อร่อยมาเป็นอาหาร ฯลฯ เหล่านี้รับรองได้ว่า ไม่มีในใจของนักกินผักเลย "
สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อคิดทางธรรมที่บอกว่า "การรับประทานอาหารผักเป็นการฝึกจิต เพื่อพิจารณาว่า อาหารที่รับประทานเข้าไปนั้น เป็นเพียงของบริโภค ไม่ใช่ผัก ใช่เนื้อ หรือของคาวหวาน และเป็นของกลางๆ ที่บริสุทธิ์ การจะฝึกให้สามารถมีปัญญาพิจารณาเช่นนี้ได้ ก็ต้องอาศัยอาหารที่เป็นผักที่ไร้รสชาติให้ยึดติดเป็นตัวฝึกฝน เนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ทำให้เราหลงในรส"
ให้เข้าใจ เราจะได้เข้าใจเรื่องธรรมะศาสนา เข้าใจเรื่องพระ เข้าใจเรื่องมนุษย์ เข้าใจเรื่องคน เราทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราจะได้รู้จักวัดที่แท้จริง รู้จักพระศาสนาที่แท้จริง รู้ก็รู้งูๆ ปลาๆ การเรียนการศึกษาก็เพื่อแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อย่างนั้นไม่เอา ต้องแก้ต้นเหตุ แล้วแก้ถึงปัจจุบัน แก้ถึงอนาคต กรณียกิจคือการที่เมตตาตนเอง คือเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
ธรรมะก็คือธรรมะ ความจริงก็คือความจริง ทุกคนมันไม่เครียด เพราะมันทำเพื่อเสียสละตัวตน เสียสละตัวตนมันถึงจะมีศีล สมาธิ มีปัญญา ประการแรกคือสักกายะทิฏฐิ คือการละตัวละตน การให้ทานก็เพื่อเสียสละ ไม่ใช่เพื่อลงทุน ไม่ใช่เพื่อเป็นนายทุน การเรียนการศึกษาไม่ใช่การลงทุนเพื่อเป็นนายทุน ลงทุนเพื่อจะให้เข้าใจเรื่องที่ถูกต้อง เรื่องที่เป็นธรรมความยุติธรรม เราจะได้เข้าถึงข้าราชการนักการเมืองที่แท้จริง จะได้ไม่หลงขยะ มัวแต่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างเดียวไม่ได้ ปลายเหตุก็ต้องวางแผนไว้ ต้นเหตุนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะได้รู้อริยะสัจ ๔ ที่แท้จริง อย่าไปว่าพวกอริยะสัจ ๔ พูดเรื่องที่สูงเกิน ไม่ใช่ มันไม่เหมาะกับฆราวาส คำว่าฆราวาสไม่ได้หมายถึงนักบวชหรือคฤหัสถ์ หมายถึงผู้ที่ติดอยู่ที่หลงอยู่ ก็เป็นฆราวาส พระนี้ยังเอาตัวตนเป็นหลัก ยังถือเงินเป็นพระเจ้า ถือยศเป็นพระเจ้า ก็คือฆารวาสนี้เอง เราต้องรู้จักศาสนา ศาสนามันไม่ใช่ฆราวาสไม่ใช่นักบวชมันคือธรรมะคือธรรมความยุติธรรม
มนุษย์ที่ยังไม่ได้พบหนทางแห่ง “ธรรมญาณ” ย่อมสับสนถ้อยคำว่า “ความรู้” กับ “ปัญญา” เพราะเห็นเป็นเรื่องเดียวกัน แท้ที่จริงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน “ความรู้” เป็นความจำ อ่านมากฟังมากย่อมมีความรู้มากเป็น “สัญญาขันธ์” ที่ตกอยู่ในกฎแห่งความไม่เที่ยง พอมีกิเลสมากระทบความรู้ย่อมหายไปได้ง่ายๆ ส่วน “ปัญญา” เป็นอานุภาพของ “ธรรมญาณ” สามารถแยกแยะ “ผิด” หรือ “ถูก” ได้ แต่เพราะไม่พบหนทางแห่งธรรมญาณอันแท้จริงจึงมีปัญญาทั้งที่ถูกและผิดต่อสัจธรรม
ถ้าเปรียบไปแล้วเหมือนกองไฟมีเชื้อเพลิงคือฟืนโหมใส่มากเท่าใดความสว่างไสวก็ย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว “ความรู้” จึงเปรียบเสมือนฟืน ส่วน “ปัญญา” คือแสงสว่างแห่งกองเพลิง ถ้าได้ฟืนดีแสงสว่างก็โชติช่วง แต่ถ้าได้ฟืนไม่ดี แสงสว่างก็มืดมัว ความรู้ดี ย่อมส่งผลให้เกิดปัญญาดี ความรู้ชั่ว จึงก่อให้เกิด ปัญญาชั่ว
ท่านเว่ยหล่างหรือฮุ่ยเหนิงมิได้ร่ำเรียนพุทธธรรมมาก่อนเลย ครั้นได้ยินโศลกของท่านชินเชาหรือ เสิ่นซิว (หัวหน้าศิษย์ของพระสังฆปริณายกองค์ที่ ๕) ที่ว่า “กายของเราคือต้นโพธิ์ ใจของเรา คือ กระจกเงาอันใส เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุกๆ โมงยาม ไม่ให้ฝุ่นละอองจับ” ก็แยกเเยะออกด้วยสัมมาปัญญาว่า ยังเป็นโศลกที่ติดยึดอยู่ในรูปและนามจึงวานให้เสมียน จาง ยื่อย่ง ช่วยเขียนโศลกซึ่งมีข้อความดังนี้ “ไร้กาย ไร้ต้นโพธิ์ ไร้จิต ไร้บานกระจก เดิมที่ไม่มีใดใด ฝุ่นจะจับลงที่ตรงไหน”
ผู ถี เปิ่น วู๋ ชู่ว์ (ไม่มีซึ่งต้นไม้ ไยจะมีต้นโพธิ์ได้)
หมิง จิ้ง อี้ เฟ่ย ไถ (ไร้ซึ่งกระจกเงา)
เปิ่น ไหล วู๋ หยี่ วู่ (แต่เดิมในเมื่อไม่มีอะไร)
เหอ ชู่ เหร่อ เฉิน อัย (แล้วจะมีที่ไหนให้ฝุ่นมาจับเกาะได้)
“โพธิ์มิใช่ไม้ คันฉายมิใช่แท่น ความจริงไร้ทุกสิ้ง ไยต้องเปื้อนธุลี”
ข้อความแห่งโศลกนี้ทำให้มหาชนในที่นั้นตื่นเต้นส่งเสียงสรรเสริญดังไปถึงพระอาจารย์หงเหริ่น จึงออกมาดู ครั้นเห็นคนเหล่านั้นพากันเต็มตื้นด้วยความอัศจรรย์ใจจึงถอดรองเท้าออกมาลบโศลกนั้นเสีย เพื่อแสดงให้ชนทั้งหลายเข้าใจว่า ท่านเว่ยหล่างก็ยังมิใช่ผู้ค้นพบ “ธรรมญาณ” แห่งตน คนทั้งหลายจักได้พอใจไม่ทำร้ายด้วยจิตริษยา แต่โศลกอันลือเลื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงสภาวะแห่งรากฐานของธรรมมญาณแท้ตามธรรมชาติเป็น สุญญตา ไม่เกี่ยวเนื่องกับเหตุปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น จัดเป็นความว่างจาก “นาม” และ “รูป” โดยสิ้นเชิงและถ้าท่านฮุ่ยเหนิงมิได้เข้าถึงสภาวะนั้นย่อมไม่มีปัญญาแยกแยะชี้ให้ชนทั้งปวงเห็นถึงสัจธรรม
วันรุ่งขึ้นพระอาจารย์หงเหริ่นจึงรอบมาที่โรงครัว ซึ่งขณะนั้นท่านเว่ยหล่างกำลังใช้สากหินตำข้าว ซึ่งตามประวัติความเป็นมาได้บันทึกเอาไว้ว่า ท่านเว่ยหล่างเป็นคนร่างเล็กเตี้ย แต่การตำข้าวด้วยครกกระเดื่องต้องใช้น้ำหนักของตัวเองเหยียบกระเดื่องให้สากตำข้าว ท่านจึงใช้แผ่นหินผูกเอวเพื่อเพิ่มน้ำหนัก ตามตำนานเล่าว่า ท่านฮุ่ยเหนิงตำข้าวจนเชือกบาดไหล่เป็นแผลมีน้ำเหลืองไหล หนอนที่กินน้ำเหลืองหล่นลงไปท่านยังจับให้หนอนขึ้นมากินน้ำเหลืองต่อไป โดยไม่ได้แสดงถึงความเจ็บปวด เหตุการณ์ตอนนี้ชี้ให้เห็นถึงสภาวะจิตเป็นหนึ่งอันเป็นสมาธิจิตสูงสุด ปล่อยวางตัวตนให้เหลือแต่ “ธรรมญาณ” แท้ๆ ที่ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งได้อีกต่อไป พระอาจารย์หงเหริ่นจึงถามว่า “ข้าวได้ที่หรือยัง” “ได้ที่นานแล้วรออยู่แต่ตะแกรงสำหรับร่อนเปลือกเท่านั้น”
ท่านเว่ยหล่างตอบ คำโต้ตอบมีความหมายแฝงเร้นที่รู้เฉพาะกันสองท่านคือ ของพระอาจารย์หงเหริ่นมีความนัยว่า สภาวะแห่งจิตได้เข้าที่วิปัสสนาญาณอย่างแท้จริงแล้วหรือ ส่วนคำตอบของท่านเว่ยหล่างย่อมอธิบายว่า มีปัญญาญาณอันนิ่งสงบรออยู่แต่การชี้แนะหนทางของการปลดปล่อยให้เป็นอิสระอย่างแท้จริงเท่านั้น
พระอาจารย์หงเหริ่น จึงใช้ไม้เท้าเคาะครกตำข้าวสารทีแล้วเอามือไขว้หลังหันหลังเดินจากไป ปริศนาแห่งการเคาะครกตำข้าว ท่านฮุ่ยเหนิงก็ทราบดีถึงการบอกใบ้เพราะตามภาษาจีนอ่านออกเสียงว่า “ซันจิง” ปั้นเอวี้ย” ก็ความหมายว่า ยามสามเที่ยงคืนให้ไปพบ มือไขว้หลัง ก็หมายถึงเข้าทางประตูด้านหลัง
ท่านเว่ยหล่างไปพบกลางดึกคืนนั้นและเทศนาจนท่านเว่ยหล่างหมดความสงสัยในพุทธธรรม พร้อมมอบบาตรและจีวรให้เป็นพระโพธิธรรมสังฆปริณายกองค์ที่หก ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ออกบวชเลย แล้วบอกให้หนีออกจากวัดไปทางตอนใต้นานถึง ๑๕ ปี บางทีไปหลบอยู่กับพรานป่าบ้าง เป็นต้น ต่อมาพระพุทธศาสนานิกายเซ็น ในประเทศจีน จึงมีการแบ่งแยกออกเป็นสองแขนง คือ สายเหนือ กับ สายใต้ โดย ท่านชินเชา เป็น ตัวแทนของสายเหนือ และท่านเว่ยหล่าง เป็นตัวแทนของสายใต้
ฝุ่นละอองก็คือกิเลส ถ้าจะจัดเป็นระดับ ท่านจัด ๓ ระดับคือ
ระดับอนุสัย เป็นกิเลสที่ซึมลึก นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานเป็นพื้นของจิต ถ้าไม่กระทบอย่างแรงก็ไม่แสดงตัวออกมา ท่านเปรียบเหมือนตะกอนที่นอนก้นตุ่ม น้ำในตุ่มนั้นจะมองดูใสน่าดื่ม แต่ถ้ากวนน้ำในตุ่มอย่างแรง ตะกอนนั้นก็จะฟุ้งขึ้นมาทำให้น้ำขุ่นดื่มกินไม่ได้ ถ้าพูดตามหลักวิชา คนที่ยังมิได้เป็นอรหันต์ทุกคนมีกิเลสระดับนี้ทั้งนั้น
ระดับปริยุฏฐานะ แปลตามตัวว่ากิเลสที่กลุ้มรุมจิต เป็นกิเลสประเภทที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน กลัดกลุ้มคุกรุ่นภายใน แต่ยังไม่สำแดงออกมาเป็นพฤติกรรมการล่วงละเมิด ยกตัวอย่างเรื่องโกรธ ถ้าเป็นเพียงความขัดใจที่แฝงลึกเป็นพื้นของจิตท่านเรียกมันว่า ปฏิฆะ (ความขัดเคือง, ความขุ่นข้องลึกๆ) ถ้ามันถูกยั่วยุมันก็จะสำแดงออกมาเป็น โกธะ (ความโกรธ ความเดือดดาล) ถ้าระงับไว้ไม่อยู่ก็จะกลายเป็น โทสะ (ความกราดเกรี้ยวหรือบันดาลโทสะ) พอถึงขั้นนี้ไม่ใช่ยืนหน้าบูดหน้าเบี้ยวเฉยๆ ต้องถึงขั้นลงไม้ลงมือชกต่อย ทุบตีไปตามเรื่อง
ระดับวีติกกมะ หมายถึงกิเลสที่ควบคุมไม่อยู่แล้ว มันต้องแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม ยกตัวอย่างในเรื่องความรัก หนุ่มเห็นสาวสวยน่ารักไปหมดทุกอย่าง นึกชอบลึกๆ ในใจเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต วันดีคืนดีก็ครุ่นคิดคำนึงกระสับกระส่ายด้วยความคิดถึง จิตใจมันว้าเหว่ว้าวุ่นพิกล ฝันถึงทั้งหลับและตื่น นี่เป็นปริยุฏฐานะ วันดีคืนดี (น่าจะเรียกวันร้ายคืนร้าย) สบโอกาสเหมาะอยู่สองต่อสองลับหูลับตาคน หนุ่มทำมิดีมิร้ายสาว เพราะอดรนทนไม่ไหวแล้ว ขั้นนี้เรียกว่าวิติกกมะ เห็นหรือยังว่า ถ้าปล่อยกิเลสมันฟุ้งออกมาจนถึงขั้นวิติกกมะแล้ว คนดีๆ ก็กลายเป็นอาชญากร พระก็กลายเป็นอลัชชี ท่านจึงสอนวิธีระงับกิเลสแต่ละขั้นๆ ไว้ว่า กิเลสอย่างหยาบละได้ด้วยรักษาศีล อย่างกลางละได้ด้วยเจริญสมาธิ อย่างละเอียดละได้ด้วยการเจริญวิปัสสนา
พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ มีใจปราศจากธุลี หมดจดจากกิเลส เครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งหยาบ และละเอียด ซึ่งเป็นใจที่ผ่องแผ้วใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ใจของท่านหวั่นไหว หรือเศร้าหมองได้
ส่วนคนเราธรรมดา แม้ทำจิตไม่ได้ถึงขั้นของพระอริยเจ้า แต่ก็ต้องคอยพยายามระวังจิตของเราอย่าให้ตกลงไปในอำนาจความรัก ความชัง และความหลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นผู้ปกครองยิ่งต้องระวังมาก เอียงมากคนที่อยู่ใต้ปกครองก็แย่ ผู้ปกครองเหมือนยานพาหนะ รถ เรือ ส่วนผู้อยู่ใต้ปกครองเหมือนผู้โดยสาร ถ้ารถเรือมันเอียงมาก ผู้โดยสารก็อยู่ไม่เป็นสุข ท่านจึงสอนวิธีระงับกิเลสแต่ละขั้นๆ ไว้ว่า กิเลสอย่างละเอียดละได้ด้วยการเจริญวิปัสสนา อย่างกลางละได้ด้วยเจริญสมาธิ อย่างหยาบละได้ด้วยรักษาศีล ดังนั้นจึงต้องคอยระวังจิตให้ดี อย่าให้ธุลีเข้ามาครอบงำจิตใจของเราได้ การที่ไม่ให้ธุลีเข้าครอบงำจิตใจนี่แหละท่านว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง
จิตใจของพระอริยเจ้า ของพระอรหันต์ เป็นจิตใจที่มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นจิตใจที่กระทบผัสสะเสียสละแล้วก็ปล่อยวางเป็นจิตใจที่เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เป็นจิตใจที่รู้ตื่นเบิกบาน แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะติดข้างอยู่ในใจ เพราะรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง ท่านอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว จิตใจนั้นรู้จักสมมุติ จิตใจเป็นวิมุตติ จนประจักษ์แก่ใจตนว่า
“นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ วิราคา วิมุจฺจติ ฯ วิมุตฺตสฺมึ วิมุตฺตมิติ ญาณํ โหติ ฯ ขีณา ชาติ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาตีติ = เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ หยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ (การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘) อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee