แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๓๑ รู้จักสิ่งที่ไม่ควรทำ แล้วพึงทำกิจที่ควรทำคือศีลสมาธิปัญญาในปัจจุบันให้ถึงพร้อม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
อกรณียกิจ กิจที่ไม่ควรทำ กรณียกิจ กิจควรทำ นี้เป็นกิจที่เราจะเข้าถึงความเมตตาของตัวเอง เป็นกิจกรรมเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา เป็นหน้าที่ของเราทุกคนต้องเข้าสู่ธรรมะเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี ถ้าเราจะหยุดไม่ให้มี ก็ต้องหยุดสิ่งไม่ควรทำ สิ่งไม่ควรคิด เราทุกคนต้องรู้ความจริง รู้อริยสัจ ๔ คือรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ การปฏิบัติของเราทุกคนทุกท่านต้องเน้นที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราจะเห็นความสำคัญ ส่วนใหญ่ก็จะเห็นความสำคัญแต่เรื่องวัตถุ เรื่องปลายเหตุ ที่แก้ไป เกิดมาแล้วเราก็ต้องดำรงธาตุดำรงขันธ์ หาอาหารบริโภค แต่กิจที่ต้นเหตุก็คือ เรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องมิจฉาทิฏฐิเรื่องมีความเห็นผิดเข้าใจผิด ปล่อยให้ตัวเองต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นผู้ที่ไม่มีเมตตาต่อตนเอง ไม่ได้เข้าสู่กรณียกิจที่ควรทำ
พระพุทธเจ้าให้เราเน้นประพฤติ เน้นปฏิบัติที่ปัจจุบัน เมื่อวานก็พูดแล้วว่าความคิดนี้มันสำคัญ ความคิดนี้แหละมันทำให้เราทุกท่านทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิด เราต้องรู้เรื่องจิตเรื่องใจเหมือนรู้เรื่องยา ยาสลบมันแค่นาที สองนาที มันสามารถผ่าตัดใหญ่ได้ รู้ว่ายาดมสลบมันสามารถผ่าตัดระดับรองลงมาได้ เรื่องจิตเรื่องใจเรื่องความคิดนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ให้เราทุกคน ต้องพากันเข้าใจเรื่องพระศาสนา เข้าใจเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปถึงมี เราต้องรู้จักว่าทุกท่านทุกคนคือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาแล้วต้องเมตตาตนเองกรุณา เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะโอกาสของเรานี่มันมีจำกัด ปัจจุบันนี้แหละ ถือว่ายังเซ่อมาก เบลอมาก เพราะปล่อยให้ตนเองมีความเห็นผิดเข้าใจผิด และก็ไม่เข้าสู่กิจกรรมภาคประพฤติภาคปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มองเห็นพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ นึกว่าเหมือนกับกฎหมายบ้านเมือง มันไม่ใช่ กฎหมายบ้านเมืองนั้นมันแก้ไปเหตุไม่ใช่ต้นเหตุ พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่เป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เราถึงต้องหยุดมีเซ็กซ์หรือว่ามีเพศสัมพันธ์ทางความคิดทางอารมณ์ ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ เราก็เป็นคนว่างจากตัวจากตนไม่ได้ มันจะว่างแบบที่ไม่มีอยู่ เอาแต่ชอบๆ ไม่ชอบก็ไม่เอา เอาแต่ความแข็งแรง ความเจ็บป่วยก็จะไม่เอา จะเอาแต่หนุ่ม ความแก่ก็จะไม่เอา จะเอาแต่สะดวกสบาย ควมทุกข์ก็ไม่เอา อันนี้เขาเรียกว่ามันเป็นมิจฉาทิฎฐิ เพราะเราจะให้มันว่างจากสิ่งที่ไม่มีอยู่ ถ้าอย่างนั้น คนตาบอดมันก็ดี คนหูหนวกมันก็ดี คนพิการมันก็ดี มันไม่ใช่ระบบของศาสนา มันเป็นระบบของมิจฉาทิฎฐิ ระบบที่เราไม่เข้าใจเรื่องธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ จึงแบกโลกแบกอวิชชา แบกความหลง เราต้องพากันกระชับเข้าหาภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะทุกวันนี้เราพากันไปแก้ปลายเหตุ เน้นแต่ความสะดวกความสบายอันนั้นมันปลายเหตุ อันนั้นมันก็ดีอยู่มันก็ถูกต้อง แต่มันส่วนหนึ่ง ท่านว่า เมื่อเรารวยแล้ว เรามีกินมีใช้ เราต้องเห็นโทษแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เห็นโทษในกาม รู้จักสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ไม่ควรทำ
ศีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ เป็นต้น ชื่อว่า “อกรณียะ”. คำว่า วิบัติ หมายถึง ความผิดพลาด ความคลาดเคลื่อน ความเสียหาย ความบกพร่อง และความใช้การไม่ได้
โดยนัยแห่งอรรถาธิบายดังกล่าวข้างต้น ศีลวิบัติ ก็คือ การกระทำที่ขัดต่อศีลหรือการทำให้ศีลบกพร่องนั่นเอง และพร้อมกันนี้ผู้รจนาอรรถาธิบายได้ยกตัวอย่างว่าศีลวิบัติที่เกิดขึ้นกับพระภิกษุก็คือ พระที่ล่วงละเมิดศีลข้อปาราชิก และสังฆาทิเสส แต่มิได้ยกอุทาหรณ์เกี่ยวกับศีลวิบัติสำหรับคฤหัสถ์
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าถือตามนัยแห่งศีลวิบัติดังกล่าวข้างต้น ก็พอจะนำมาอธิบายศีลวิบัติสำหรับคฤหัสถ์ได้ โดยแบ่งตามนัยของศีลที่คฤหัสถ์สามารถสมาทานได้ดังนี้
๑. ศีล ๕ สำหรับสาธุชน หรือที่เรียกว่าคนดีต้องมีศีล 5 ข้อเป็นนิจศีล คือ รักษาได้เป็นประจำไม่ขาด ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งก็อนุโลมเรียกได้ว่าศีลวิบัติ
๒. อุบาสกศีล หรือศีล ๘ สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ตลอดระยะเวลาที่สมาทานวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ถ้ามีการล่วงละเมิดข้อใดข้อหนึ่งก็เรียกได้ว่า ศีลวิบัติ
อาจารวิบัติ หรือวิบัติแห่งอาจาระก็ทำนองเดียวกัน ถ้ามีการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อหลักแห่งจริยธรรมก็ถือได้ว่าวิบัติแห่งอาจาระ ถ้าเป็นภิกษุล่วงละเมิดอาบัติตั้งแต่ถุลลัจจัยจนถึงทุพภาสิตก็เรียกได้ว่าอาจารวิบัติ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมขัดต่อหลักจริยธรรมอันดีงามของสังคม ก็ถือได้ว่าอาจารวิบัติ
สำหรับทิฏฐิวิบัติ ก็คือ ความเห็นที่ขัดต่อความเป็นจริงหรือความเห็นผิดเป็นถูกนั่นเอง ถ้าเป็นภิกษุก็คือเห็นผิดไปจากธรรม จากวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็เห็นจะได้แก่การเห็นที่ผิดไปจากกฎเกณฑ์และกติกาที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าควร รวมไปถึงความเห็นที่ผิดไปจากคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถืออยู่
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า "นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ ยํ เอวํ มหาสาวชฺชํ ยถยิทํ ภิกฺขเว มิจฺฉาทิฏฺฐิ มิจฺฉาทิฏฺฐิปรมานิ ภิกฺขเว วชฺชานิ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง"
มิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นผิดนั้น เป็นภัยร้ายแรงในสังสารวัฏ ถ้าไม่ยอมสละ ละทิ้งออกไปจากใจ ย่อมจะเกิดโทษมากมาย ยิ่งถ้าเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิแล้ว เท่ากับเป็นตอในวัฏฏะ ชีวิตจะไม่มีวันเจริญงอกงามได้ เพราะฉะนั้น เราต้องหมั่นไปหาผู้รู้ที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ที่แท้จริง ที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ทางด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิปัญญา เราจึงจะสามารถเข้าใจ และสละทิฏฐิอันไม่ถูกต้องนั้นได้
สรุปคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ผู้คนจดจำมากที่สุด
๑) ความเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่า ทำดี ต้องได้ดี ทำบุญต้องได้บุญ
ที่ถูก คือ ทำดีไม่ได้อะไร ได้แค่ละกิเลส ทำบุญ ได้แค่สบายใจ
๒) เข้าใจผิดว่า ดีกับใคร คนนั้นต้องดีตอบ
ที่ถูก คือ เรามีหน้าที่ดี ใครจะดีกับเรา ไม่ดีกับเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา
๓) เข้าใจผิดว่า ให้อะไรใคร ต้องได้กลับคืน
ที่ถูก คือ การ “ให้” คือ ยินดีเสียสละ ให้แล้วคาดหวัง..ไม่ใช่การให้ อ้างบุญคุณไม่ได้
๔) เข้าใจผิดว่า แก่แล้วทำอะไรก็ได้
ที่ถูก คือ แก่แล้วต้องยิ่งสำนึก ทำชั่วไม่ได้ เวลาเหลือน้อย
๕) เข้าใจผิดว่า ต้องทำเพื่อความมั่นคงของชีวิตในภายหน้า
ที่ถูก ความมั่นคงไม่มีในโลก ตายได้ทุกเมื่อ
๖) เข้าใจผิดว่า ความต้องการของตัวเองสำคัญที่สุด เราสำคัญที่สุดที่ถูก คือ ไม่มีความต้องการนั่นแหละสำคัญที่สุด ไม่มีเราต่างหากสำคัญที่สุด
๗) เข้าใจผิดว่า เข้าวัด ใจสงบ. ที่ถูก คือ วัดอยู่ในใจ ใจสงบ
๘) เข้าใจผิดว่า ความสบายเลือกได้.
ที่ถูก คือ เกิดมาก็ทุกข์แล้ว มันเลือกไม่ได้ ไม่มีใครสบายตลอดชาติ
๙) เข้าใจผิดว่า สิ่งของ คนของเรา ตัวตนของเรา เราต้องยึดไว้ รักษาไว้
ที่ถูก คือ ไม่มีอะไร หรือใครให้ต้องยึด ต้องรักษา ทุกอย่างไม่ใช่ของเราและที่สุดแล้วก็ไม่มี
ขยันการทำบุญให้ทานแล้ว ถือว่าเป็นการสนใจธรรมเพียงพอ; นี้เข้าใจผิด.
สนใจธรรมะนั้นต้องรู้ธรรมะ หรือว่ากระทำอยู่อย่างถูกต้อง ชนิดที่กิเลสนั้นถูกทำลายอยู่เสมอ.
ทีนี้ มาดูถึงการทำบุญให้ทาน : คนส่วนมากเหล่านั้น ไม่ได้ทำบุญเพื่อทำลายกิเลส; แต่ทำบุญเพื่อพอกกิเลส, และก็โดยไม่รู้สึกตัว; เช่นว่า ให้ทานไปบาทหนึ่งสองบาท ก็จะให้ได้บุญได้กุศลชนิด ที่ทำให้เกิดรวย เกิดสวย มีโชคดี. มีบางคนคิดจะตักบาตรช้อนหนึ่ง ก็จะให้ได้วิมานหลังหนึ่ง, ได้สวรรค์วิมานจากการ ตักบาตรช้อนหนึ่งก็มี. อย่างนี้ทำบุญเพิ่มกิเลส โดยความหวังที่จะเอา กำไรมากเกินกว่า การค้ากำไรชนิดไหนหมด.
มีที่ไหนบ้าง ที่ทำบุญ ตักบาตรช้อนหนึ่ง เป็นราคาไม่กี่สตางค์ แล้วจะได้วิมานหลังหนึ่ง? ไม่มีการค้าขายที่ไหน ที่ได้กำไรมากขนาดนี้.
เมื่อไปหวังอย่างนี้ ก็เรียกว่าละโมบอย่างยิ่ง; การทำบุญนั้นมัน จึงเป็นการเพิ่มกิเลส เขาไม่เคยเลื่อนขึ้นมา, เลื่อนขึ้นมา จนได้ทำบุญ เพื่อให้ตัวหมดกิเลส, ทำบุญเพื่อให้เรา หมดความเห็นแก่ตัว, ทำทานเพื่อเราหมดความตระหนี่, ให้มีจิตใจที่มีกิเลสน้อยลง; ไม่เคยคิดอย่างนี้.
การที่ทำบุญทำทานในรูปแบบนั้น ยังไม่ใช่เป็นเรื่องสนใจธรรมะอย่างถูกต้อง; ฉะนั้น คนที่ทำบุญชนิดนั้นมากๆ กลับร้องไห้มากกว่าคนอื่น, เป็นทุกข์มากกว่าคนอื่น, และเมื่อปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็แก้ไขไม่ได้ แก้ไขไม่ถูก แล้วก็เป็นโรคเส้นประสาทก็มี เป็นบ้าก็มี.
นี่แล้วจะไปโทษว่าธรรมะไม่ช่วย, ไปโทษธรรมะว่าไม่มีประโยชน์, ทำบุญจนจะตายอยู่แล้ว บุญยังไม่เห็นช่วย; ธรรมะแท้ๆ นั้นคนละเรื่องกัน กับการทำอย่างที่ เขาคิดว่าเป็นธรรมะแล้ว.
ท่านฮุ่ยเหนิงหรือท่านเว่ยหล่าง เกิดในสมัยราชวงศ์ถัง สภาพชีวิตที่แร้นแค้นจึงไม่ได้รับการศึกษา อ่านหนังสือไม่ออก แต่เหตุไฉนเพียงได้ฟังวัชรสูตรเท่านั้น ปัญญาสว่างไสวและเกิดความศรัทธาในพุทธธรรม ประการแรกลองพิจารณาจากวัชรสูตรซึ่งเป็นสูตรสำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานซึ่งใจความสำคัญว่าด้วยการปล่อยวางเครื่องร้อยรัดทั้งปวงให้หมด ไม่ยึดถือทั้งความดีและความชั่ว ไม่ปรารถนาในบุญ และบาป พระสูตรนี้สอนให้วางทั้ง รูป และ นาม ถ้าเทียบเคียงกับพระสูตรในพุทธศาสนาฝ่ายหินยานก็ได้แก่ อนัตตลักขณสูตร ซึ่งเป็นการประกาศให้ปรากฎแก่เวไนยสัตว์ทั้งปวงถึง "ความไม่มีตัวตน"
การพูดว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่เป็นความว่างที่ปราศจากตัวตนจึงเป็นเรื่องยากที่ปุถุชนจะเกิดความเข้าใจ แต่ท่านที่บำเพ็ญให้จิตถึงซึ่งสภาวะแห่งธรรมชาติเดิมแท้แล้วก็เข้าใจแจ่มแจ้งได้เองว่า รูปที่มีอยู่นั้นในที่สุดก็ปราศนาการกลายเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ นามที่หลงยึดถือ เกียรติยศ ชื่อเสียง ในที่สุดก็เสื่อมถอยหมดไป ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพที่เกรียงไกรที่สุดในโลก สามารถนำกองทัพปราบปรามแว่นแคว้นต่างๆ ได้ราบคาบอยู่ภายใต้อำนาจ ของตนเอง บัดนี้ทั้งตัวแม่ทัพและชื่อเสียงนั้นก็ไม่มีใครรู้จักเลยแม้แต่คนเดียว ความมีอยู่ในสิ่งทั้งปวง จึงเกิดขึ้นแต่ "จิตผูกพันติดยึด" ทั้งสิ้นถ้าตัดความยึดถือลงไปได้หมดโดยเด็ดขาด สรรพสิ่งทั้งปวง จึงเป็น "อนัตตา" โดยแท้จริง สภาวะเช่นนี้ต้องใช้ปัญญาตัดความผูกยึดอันเป็น "อุปาทาน" การใช้ความรู้อย่างเดียว จึงไม่อาจตัดความยึดถือได้ เพราะเป็นการตัดแต่เพียงลมปากหากแต่จิตยึดอยู่เหนียวแน่น
คุณนายคนหนึ่งได้เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์แห่งสำนักวิปัสสนา เธอจึงไปฝึกนั่งสมาธิจนจิตสว่างไสวเงียบสงบแสนดีใจยิ่งนัก จึงเข้าไปกราบ เรียนพระอาจารย์ว่า "อาจารย์เจ้าคะ อะไรๆ อิฉันก็วางได้หมดแล้ว" "ยังงั้นเรอะ อีตอแหล" พระอาจารย์ตอบรับ ส่วนผู้ปล่อยวางด้วยลมปากพอได้ฟังวาจาของพระอาจารย์โทสะจริตเข้าครอบงำลุกขึ้นกระทืบเท้าแล่นลงจากอาศรมวิปัสสนาไปทันที การปล่อยวางใน "รูป" คือสิ่งที่มองเห็นได้นั้นไม่ยากจนเกินไป แต่การปล่อยวาง "นาม" อันสถิตอยู่ในจิตจึงเป็นเรื่องยากลำบากนัก
ปุถุชนบำเพ็ญธรรมมักมีความเข้าใจผิดจึงปฏิบัติผิดๆ ต่อการรักษาศีลโดยเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสมาทานขอศีลจากพระภิกษุสงฆ์จึงเกิดความบริสุทธิ์และเป็นบุญกุศล บางรายขณะที่ตั้งจิตรับศีล ถ้าเห็นว่าข้อใดปฏิบัติมิได้ ก็ไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่าการไม่รับแล้วไปปฏิบัติในสิ่งที่พระพุทธองค์ห้ามเอาไว้ไม่เป็นความผิด ความจริงพระพุทธองค์บัญญัติศีลห้า มิได้กำหนดสิ่งใหม่นอกเหนือสัจธรรมเลย ศีลห้าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นใครจะรับ หรือไม่รับ ถ้าปฏิบัติผิดต่อสัจธรรมย่อมได้รับบาปเช่นเดียวกัน
ท่านบรมปราชญ์ขงจื๊อกล่าวเอาไว้ว่า คุณธรรมสามัญของมนุษย์มีอยู่แล้วห้าประการคือ เมตตา มโนธรรม จริยธรรม ปัญญาธรรม และสัตยธรรม ในกรณีที่เรานั่งรถไปข้างคนขับรถและหมาขี้เรือนวิ่งตัดหน้าเราจะรีบบอกคนขับทันที "อย่าทับ อย่าทับ" วาจาที่เปล่งออกมาโดยตกใจลืมตัว จึงเป็นภาวะของธรรมญาณแท้ๆ ที่มีเมตตาอยู่แล้ว แต่หมาขี้เรื้อนตัวเดิมไปคาบไก่ที่บ้าน เราจะวิ่งไล่ตีเพราะอารมณ์โลภไก่ไปบิดบังเมตตาจนหมดสิ้น พระธรรมาจารย์เว่ยหล่างจึงกล่าวโศลกเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นจริงในข้อนี้ว่า "ผู้มีใจเที่ยงธรรม การรักษาศีลไม่เป็นสิ่งจำเป็น" (เหมือนความเป็นพระโสดาบัน) ความหมายประโยคนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีใจเยี่ยงเดียวกับฟ้าดินไม่จำเป็นต้องรักษาศีล เพราะใจเช่นนี้เป็นจิตใจที่มีเมตตาต้องการโอบอุ้มทุกชีวิตเอาไว้เช่นเดียวกับฟ้า และมีความอดทนยอมรับความไม่ดีทั้งปวงได้จึงเหมือนดิน เพราะฉะนั้นผู้มีใจตรงต่อธรรมชาติเดิมแท้ แม้ไม่เคยได้ยินศีลจากภิกษุองค์ใดเลย เขาย่อมไม่ปฏิบัติผิด แต่ผู้ที่เห็นศีลเป็นของนอกกายต้องรับจากผู้อื่น ขณะที่รับศีลมาต้องปฏิบัติเคร่งครัดอย่างยิ่งยวด แต่พอสิ้นเวลาของการสมาทาน จึงปล่อยตัวปล่อยกายกระทำความชั่วเต็มตามอารมณ์กิเลสทั้งปวง เพราะฉะนั้นถือศีลจึงมีโอกาสตกนรกได้มากกว่า สู้คนที่ไม่รู้จักศีลแต่ปฏิบัติต่อฟ้าดิน สัจธรรมด้วยความจริงใจมิได้ บางรายยังไม่ลงจากศาลาวัด ก็แย่งกันนินทา หรือบางครั้งถึงขนาดตบตีหึงหวงกันวุ่นวายไปหมด บางรายหยาบคายร้ายกาจขาดสำรวม ที่เป็นดังนี้เพราะเห็นศีลเป็นของนอกกาย ถือได้วางได้ ศีลจึงมิได้เป็นเครื่องมือที่ขัดเกลากิเลสทั้งปวง แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการอวดถือเคร่งกว่ากันและกลายเป็นศีลอวดกันเท่านั้นเอง
พระธรรมาจารย์เว่ยหล่างกล่าวต่อไปว่า "ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว การปฏิบัติในทางฌาน มันมีมาเอง แม้เราไม่ตั้งใจทำเพื่อให้ได้ฌาณ" ผู้ที่สามารถปฏิบัติได้ตรงแน่ว ย่อมต้องมีจิตใจตรงต่อสัจธรรมเสมอ ความสงบไม่หวั่นไหวของจิตจึงเกิดขึ้นได้ ซึ่งโดยธรรมชาติเดิมแท้ของ "ธรรมญาณ" มีความสงบเป็นฌานอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการบังควรที่หลับตาภาวนาเพื่อให้ได้ฌานเลย ผู้ที่ปฏิบัติไม่ตรงต่อสัจธรรมจึงเป็นผู้ที่วุ่นวายสับสนหาความสงบได้ยาก เพราะความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมแห่งจิตที่วิ่งไปตามอายตนะทั้งหกไม่หยุดหย่อน ผู้ที่ไม่พบธรรมญาณ จึงถูกหลอกลวงด้วยอำนาจจิตของตนเองโดยไม่รู้ตัว เพราะเขาประพฤติปฏิบัติแบบลวงโลกและยึดถือสิ่งลวงเป็นสิ่งจริง อำนาจจิตสามารถสร้างรูปมากมายโดยที่ตนเองหารู้ไม่ว่ารูปเหล่านั้นเป็นมายากลับยึดถือเอาไว้ และการแสดงออกย่อมผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติแท้ของธรรมญาณ
การปฏิบัติที่ตรงต่ออารมณ์ความชอบของตนเองย่อมเบี่ยงเบนไปจากสัจธรรม ความคิดจึงเป็นอย่างหนึ่ง การกระทำจึงเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงต่อความคิด วาจากลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าใครที่มีภาวะเป็นเช่นนี้ความสับสนและความทุกข์ย่อมครอบงำธรรมญาณ จนห่างไกลไปจากหลักของสัจธรรมตกไปสู่วัฏจักร์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป
ประการสุดท้าย อาชีววิบัติหมายถึง ความวิบัติแห่งการประกอบอาชีพ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การเลี้ยงชีพในทางที่ผิดไม่เหมาะไม่ควรแก่เพศภาวะรวมไปถึงการเลี้ยงชีพในทางที่ผิดกฎหมายด้วย ถ้าเป็นภิกษุก็คือการแสวงหาลาภสักการะในทางมิชอบ ไม่ประกอบด้วยธรรมและวินัย แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็คือการเลี้ยงชีพที่ผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรมของศาสนาที่ตนนับถืออยู่
สิกขา ๓ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่า “กรณียะ”.
"อริยมรรค ๘" คือ ทางอันประเสริฐ ทางของพระอริยะ ทางไปสู่ความเป็นอริยชน คือข้อปฏิบัติทั้ง 8 นี้ ผู้ใดได้อย่างสมบูรณ์ จิตใจของผู้นั้นจะหมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เปลี่ยนภาพจากปุถุชน (คนกิเลสหนา) เป็นอริยชน (คนประเสริฐ) เช่นดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย
มนุษย์ที่ยังไม่ได้พบหนทางแห่ง “ธรรมญาณ” ย่อมสับสนถ้อยคำว่า “ความรู้” กับ “ปัญญา” เพราะเห็นเป็นเรื่องเดียวกัน แท้ที่จริงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน “ความรู้” เป็นความจำ อ่านมากฟังมากย่อมมีความรู้มากเป็น “สัญญาขันธ์” ที่ตกอยู่ในกฎแห่งความไม่เที่ยง พอมีกิเลสมากระทบความรู้ย่อมหายไปได้ง่ายๆ ส่วน “ปัญญา” เป็นอานุภาพของ “ธรรมญาณ” สามารถแยกแยะ “ผิด” หรือ “ถูก” ได้ แต่เพราะไม่พบหนทางแห่งธรรมญาณอันแท้จริงจึงมีปัญญาทั้งที่ถูกและผิดต่อสัจธรรม
ถ้าเปรียบไปแล้วเหมือนกองไฟมีเชื้อเพลิงคือฟืนโหมใส่มากเท่าใดความสว่างไสวก็ย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว “ความรู้” จึงเปรียบเสมือนฟืน ส่วน “ปัญญา” คือแสงสว่างแห่งกองเพลิง ถ้าได้ฟืนดีแสงสว่างก็โชติช่วง แต่ถ้าได้ฟืนไม่ดี แสงสว่างก็มืดมัว ความรู้ดี ย่อมส่งผลให้เกิดปัญญาดี ความรู้ชั่ว จึงก่อให้เกิด ปัญญาชั่ว
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee