แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๓๐ เมื่อเมตตาตนเอง ก็ต้องปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ แล้วแผ่เมตตาแชร์ความสุขไปยังผู้อื่น
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเมตตาตนเอง เพราะการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารนี้มันไม่ใช่สิ่งที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่จะมีปัญญา ไม่น่าหลงไม่น่าเพลิดเพลิน เราประเสริฐแล้ว เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มาพบคำสั่งสอนของพระพุทะเจ้า แม้พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วแต่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ายังอยู่ เพราะสิ่งที่เป็นพระพุทธเจ้านั้นคือความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติถูกต้อง เพราะเราทุกคนต้องพัฒนากาย พัฒนาวาจา กิริยามารยาท ทำมาหาเลี้ยงชีพแล้วก็ปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน การพัฒนาเทคโนโลยีก็ถือว่าสมบูรณ์ ในโครงสร้างของเราถึงมี ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีบ้าน มีวัด มีโรงเรียน มันต้องไปพร้อมกัน มีความรู้มีความเข้าใจ พัฒนาค้นคว้าหลักวิทยาศาสตร์ จากสิ่งที่ไม่เจริญงอกงามก็ให้เจริญงอกงาม จากสิ่งที่มันแห้งแล้งก็ให้มันสมบูรณ์ เข้าถึงความสุขความดับทุกข์ ทั้งทางเศรษฐกิจทั้งทางจิตใจ ถึงต้องมีวัดมีโรงเรียนมีบ้าน ก็ต้องมีความเป็นมนุษย์ มีพระศาสนา มีสัมมาทิฏฐิ ที่เกิดจากการเรียนการศึกษา
เพราะเรายังไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ เราถึงปล่อยให้ชีวิตของเราถือว่าลอยแพ ประชากรของโลกนี้ 7000 กว่าล้านจะเข้า 8000 แล้วถือว่าลอยแพ ทุกท่านทุกคนต้องรู้จักว่าความเป็นพระนั้น มันต้องเข้าสู่กิจกรรม เมื่อวานพูดถึงเรื่องแผ่เมตตา การแผ่เมตตาก็ต้องเข้าถึงกิจกรรม การประพฤติก่ารปฏิบัติ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม ต้องเมตตาตัวเองก่อน คือต้องจัดการตัวเองก่อน ว่าเราต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เพราะเราจะเป็นผู้คงแก่เรียนแล้วปล่อยให้เป็นแต่นักปรัชญา มันต้องเข้าสู่กิจกรรม ต้องเข้าสู่หลักเหตุหลักผลหลักวิทยาศาสตร์ ความเป็นมนุษย์ของเรา ที่ว่าชาติจะได้จบสมบูรณ์ มันจะไม่เป็นได้แต่เพียงคน ต้องเข้าสู่ข้าราชการที่แท้จริง นักการเมืองที่แท้จริง สู่ความเป็นพ่อเป็นแม่เป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นตำรวจเป็นทหารที่แท้จริง ด้วยกิจกรรมด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
เราทุกคนจะได้เข้าถึงความสุขความดับทุกข์ของตัวเอง เพราะไม่มีใครปฏิบัติให้เรา หมู่มวลมนุษย์มันถึงจะเป็นหัวใจติดแอร์… จะเป็นหัวใจมีความอบอุ่นด้วยสติด้วยสัมปชัญญะ ด้วยความไม่หลง ไม่เพลิดเพลิน ด้วยความไม่ประมาท ไม่เนิ่นช้า ไม่ลูบคลำในสิ่งที่ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ ไม่ต้องลังเลสงสัย ต้องให้ปัจจุบันเป็นของใหม่ของสด เราต้องเข้าใจอย่างนี้ เข้าใจเรื่องศาสนา เข้าใจเรื่องมรรคเรื่องผล เรื่องพระนิพพาน
ทุกท่านทุกคนต้องเข้าถึงมรรคถึงผลถึงพระนิพพานตั้งแต่ยังไม่ตาย ถ้าตายแล้วมันเป็นที่มันยังเป็น… เมื่อตายไปแล้วนั้นลาละสังขารทางร่างกายเป็นนิพพานที่…
เราต้องพัฒนาอย่างนี้ๆ เราเข้าถึงความเป็นพระศาสนา หรือเข้าถึงความเป็นพระธรรมพระวินัย เราจะไม่เป็นเหมือนโลกปัจจุบันนี้ มีแต่แบรนด์เนม ไม่มีกิจกรรม การแผ่เมตตานี้มันไม่ได้ผล การประพฤติการปฏิบัติไม่ใช่ทำให้ตัวเองทุกข์หรอก มันทำให้ตัวเองหยุดทุกข์ คือการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ เราต้องปรับตัวเองเข้าหาเวลา แล้วก็เข้าหาธรรมะด้วย หยุดคอรัปชั่นแห่งความเป็นมนุษย์ คอรัปชั่นของมนุษย์คือเราเอาตัวตนเป็นหลัก ไม่ได้เอาธรรมะเป็นหลักเขาเรียกว่าคอรัปชั่น หยุดคอรัปชั่นแห่งความเป็นข้าราชการนักการเมือง
จิตใจของเราต้องเข้าสู่ระบบหยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ คนเราต้องมีการเสียสละ ถ้าเราเสียสละมันถึงจะมีความสุข ถ้าเราไม่เสียสละเราจะมีความสุขได้ไง เราไม่เสียสละเราก็เท่ากับแบกโลกทั้งโลก เราคิดดูดีๆ สิ ความคิดมันเป็นยานะ ยาสลบแค่ 1-2 ซีซี ก็เอาเราสลบไปหลายชั่วโมงนะ ความคิดก็เหมือนกัน มันคิดอย่างนู้นอย่างนี้ก็เอาเราเวียนว่ายตายเกิดตั้งหลายภพหลายชาติ ถ้าเราต้องมาหยุดกรรมหยุดเวร เราก็มีความสุข แล้วความคิดมันก็เป็นยานะ อาหารการทานก็เป็นยา เราอย่าไปว่านิดหน่อยไม่เป็นไรหน่ะ หืมม… ฝนตกทีละเม็ดชั่วโมงหนึ่งหรือ 2 ชั่วโมงนี่ก็ 2-3 วันน้ำก็ท่วมหมดแล้ว ความแห้งแล้ว แห้งแล้งติดต่อกัน 7 วันพวกพืช พวกข้าวโพด พวกถั่ว พืชพันธุ์พวกข้าวนี้ก็แล้งก็เหี่ยวแล้ว
เราต้องรู้จักว่าทุกอย่างนั้นมันเป็นธรรมะที่เราต้องทำให้ถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราทุกคนจะได้ไม่ได้เอาความโง่มาใส่ใจเรา ไม่ทำให้เราเสียเวลา เราจะได้มีความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะการปฏิบัติธรรมเราต้องเข้าใจ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่านั่งสมาธิ เดินจงกรมหรอก ได้เป็นพระอริยะเจ้าเป็นอะไรหน่ะ ท่านบอกว่า สมณะที่ 1-4 อยู่ในอริยะมรรคมีองค์ 8 น่ะ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ปัจจุบันต้องมีกิจกรรมคือศีล สมาธิ ปัญญา ถึงเรียกว่ามีวิปัสสนา ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรมเป็นของสดเป็นธรรมะโอสถ
พระศาสดาตรัสพระพุทธพจน์นี้ ขณะที่ประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถีทรงปรารภภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาพวกหนึ่ง ซึ่งมีเรื่องย่อดังนี้ :-
ภิกษุ ๕๐๐ รูป ในกรุงสาวัตถี เรียนกัมมฐานในสำนักพระศาสดา แล้วเดินทางไปบำเพ็ญเพียรในป่า พวกเทวดาซึ่งสิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ในป่านั้นคิดว่า เมื่อภิกษุอาศัยอยู่โคนต้นไม้ การที่พวกตนจะขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ เป็นการไม่สมควร จึงพักอาศัยอยู่โคนไม้เหมือนกัน คิดว่าพรุ่งนี้พระทั้งหลายคงจากไป แต่ในวันรุ่งขึ้น พระก็ยังอยู่ จึงคิดว่าพรุ่งนี้พระคงไป
หลายวันผ่านไป เทวดาเหล่านั้นขึ้นต้นไม้ไม่ได้ อยู่ด้วยความลำบาก จึงคิดว่า พระคงจะอยู่ประจำตลอด ๓ เดือน พวกตนก็คงจะต้องลำบาก เรื่องที่อยู่ตลอด ๓ เดือน เหมือนกัน จึงตกลงกันว่าจะแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ไม่ได้ บางพวกจึงทำเสียงอมนุษย์ให้ปรากฏ บางพวกแสดงตนเป็นผีหัวขาด ให้ภิกษุเห็นในที่พักกลางวันบ้าง ที่พักกลางคืนบ้าง โรคหลายอย่างมีโรคไอเป็นต้น เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยการกลั่นแกล้งของเทวดาเหล่านั้น บางพวกเป็นโรคผอมเหลือง
ภิกษุทั้งหลายประจักษ์ดังนั้น อยู่ไม่ได้ จึงพากันกลับมาเฝ้าพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องแล้ว ทรงประทานอาวุธให้อย่างหนึ่ง คือ กรณียเมตตสูตร ให้ภิกษุเหล่านั้นสาธยาย ข้อความในกรณียเมตตสูตรนั้น เกี่ยวกับการแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วหน้า และว่าด้วยคุณธรรม ของผู้จะบรรลุบทอันสงบคือพระนิพพาน แล้วรับสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นไปอยู่ที่เดิม
ภิกษุสาธยายกรณียเมตตาสูตร ไปตั้งแต่ออกจากวัดเชตวัน เมื่อถึงป่านั้นเทวดาทั้งหลายได้ยินแล้ว เกิดเมตตาจิตต้อนรับภิกษุเหล่านั้นด้วยดี ทำการอารักขาให้อย่างเรียบร้อย ภิกษุเหล่านั้นไม่มีสิ่งรบกวน ตั้งใจปฏิบัติธรรม จิตหยั่งลงสู่สมาธิ พิจารณาอัตตภาพว่า เปรียบเสมือนภาชนะดินเพราะไม่มั่นคง
พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณ แล้วเปล่งพระรัศมีไป ตรัสพระคาถาว่า “กุมฺภูปมํ กายมิทํ วิทิตฺวา” เป็นอาทิ มีนัยดังอธิบายมาแล้วแต่ต้น เมื่อจบเทศนา ภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐ รูป บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาจะตรัสรู้บทอันสงบแล้วอยู่ พึงบำเพ็ญไตรสิกขา (กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ)
อกรณียะ ก็มี กรณียะ ก็มี ในสองอย่างนั้น โดยสังเขป ศีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ ดังกล่าวมาอย่างนี้เป็นต้น ชื่อว่าอกรณียะ. สิกขา ๓ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่า “กรณียะ”.
บุคคลผู้ฉลาดในสิ่งที่มีประโยชน์, มุ่งหวังจะบรรลุทางสงบ คือ พระนิพพาน, พึงบําเพ็ญศีล สมาธิ และปัญญา, พึงปฏิบัติตนเพื่อเจริญธรรมไว้ดังนี้
๑. สักโก เป็นคนกล้าหาญ ภิกษุผู้อยู่ป่า ประสงค์จะบรรลุสันตบทอยู่ หรือบรรลุสันตบทนั้นด้วยโลกิยปัญญาแล้ว ปฏิบัติเพื่อบรรลุสันตบทนั้น ไม่อาลัยในกายและชีวิต ด้วยประกอบด้วยปธานิยังคะ (คุณสมบัติของบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรทางจิต อันมีวิริยเจตสิกเป็นประธาน) ข้อ ๒ และ ๔ พึงเป็นผู้อาจปฏิบัติเพื่อแทงตลอดสัจจะ คือ ๒ อัปปาพาโธ เป็นผู้มีอาพาธน้อย คือ เป็นผู้มีความลำบากน้อยเพราะเป็นผู้ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารเป็นปกติดี ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นไปอย่างกลางๆ ควรแก่การบำเพ็ญความเพียร ๔ อารัทธวีริโย เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อยังกุศลธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒. เมื่อเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ก็พึงเป็นผู้ตรงด้วยการประกอบด้วยปธานิยังคะข้อที่ ๓ คือ อสโฐ อมายาวี เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา คือ เป็นผู้เปิดเผยตนเองตามความเป็นจริงในพระศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย โดยไม่ปิดบังอำพราง หรือมีลับลมคมใน แม้เมื่อเป็นผู้ตรงก็พึงเป็นผู้ตรงด้วยดี ด้วยเป็นผู้ตรงคราวเดียว หรือ เป็นคนตรง คือมีกายสุจริต วจีสุจริต
๔. สุวะโจ เป็นคนว่านอนสอนง่าย ก็บุคคลใดถูกท่านว่ากล่าวว่า ท่านไม่ควรทำข้อนี้ ก็พูดว่า ท่านเห็นอะไร ท่านได้ยินอย่างไร ท่านเป็นอะไรกับเราจึงพูด เป็นอุปัชฌาย์ อาจารย์ เพื่อนเห็นเพื่อนคบหรือ หรือเบียดเบียนผู้นั้นด้วยความนิ่งเสีย หรือยอมรับแล้วไม่ทำอย่างนั้น ผู้นั้นชื่อว่ายังอยู่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ.
ส่วนผู้ใดถูกท่านโอวาท ก็กล่าวว่า ดีละ ท่านขอรับ ท่านพูดดี. ขึ้นชื่อว่าโทษของตนเป็นของเห็นได้ยาก ท่านเห็นกระผมเป็นอย่างนี้ โปรดอาศัยความเอ็นดูว่ากล่าวอีกเถิด กระผมไม่ได้รับโอวาทจากสำนักท่านเสียนาน และปฏิบัติตามที่ท่านสอน ผู้นั้นชื่อว่าอยู่ไม่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ เพราะฉะนั้น บุคคลรับคำของผู้อื่นแล้วกระทำอย่างนี้ พึงชื่อว่าเป็นผู้ว่าง่าย.
๕. มุทุ เป็นคนอ่อนโยน ภิกษุถูกพวกคฤหัสถ์ใช้ในการเป็นทูตไปรับส่งข่าวเป็นต้น ก็ไม่ทำความอ่อนแอในกิจนั้น เป็นผู้แข็งกร้าวเสีย พึงเป็นผู้อ่อนโยน ในวัตรปฏิบัติ และพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ทนต่อการไม่ต้องรับใช้ในกิจนั้น เหมือนทองที่ช่างตกแต่งด้วยดี. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มุทุ ได้แก่ เป็นผู้ไม่มีหน้าสยิ้ว คือเป็นผู้มีหน้าเบิกบาน เจรจาแต่คำที่ให้เกิดสุข ต้อนรับแขก พึงเป็นเหมือนผู้ลงสู่ท่าน้ำที่ดีโดยสะดวก
๖. อะนะติมานี เป็นคนไม่หยิ่ง ไม่ถือตัว ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยเรื่องแห่งการดูหมิ่น มีชาติและโคตรเป็นต้น พึงมีใจเสมอด้วยเด็กจัณฑาลอยู่ เหมือนท่านพระสารีบุตรเถระ ฉะนั้น.
๗. สันตุสสะโก เป็นคนสันโดษ คือ สเกน สันโดษ ยินดีกับของของตน, สันเตน สันโดษ ยินดีกับสิ่งที่ได้มา, สเมน สันโดษ ยินดีโดยมีใจสม่ำเสมอ, และ ๓ ประเภท ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ ยถาพลสันโดษ ยินดีสิ่งที่ควรแก่สมรรถภาพ ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีสิ่งที่ควรแก่ฐานะ
๘. สุภะโร เป็นคนเลี้ยงง่าย ภิกษุหรือนักบวช ซึ่งเป็นพวกที่อาศัยชาวบ้านดำรงชีพ โดยเฉพาะภิกษุในพระพุทธศาสนา หลักข้อแรกที่เรียกว่า “นิสัยสี่” คือ “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา” หมายความว่า – วิถีชีวิตบรรพชิตอาศัยอาหารคือคำข้าวอันได้มาด้วยกำลังปลีแข้งคือเดินบิณฑบาตเป็นเครื่องดำรงชีพ ชาวบ้านให้มาอย่างไรก็กินอย่างนั้น เลือกไม่ได้ จึงต้องไม่เรื่องมาก ตรงกับที่เราพูดกันว่า อยู่ง่ายกินง่าย คือเสียเวลากับเรื่องกินเรื่องอยู่ให้น้อยที่สุด ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึกหัดขัดเกลาตนเองให้ประลุถึงความสะอาด สงบ สว่าง หลุดพ้นจากสังสารทุกข์
พระอยู่ด้วยปัจจัยสี่ที่ญาติโยมนำมาถวายก็คือว่าเป็นภาระ ในการเป็นภาระไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเสมอไป พระพุทธองค์ไม่สั่งเตือนพระว่าอย่าเป็นภาระแก่เขาเลย พระพุทธองค์สอนว่าเมื่อเป็นภาระแก่เขาแล้วให้เป็นภาระที่ดีคือสุภโร เพราะฆราวาสดูแลพระสงฆ์เป็นภาระ เขาจึงมีโอกาสทำทาน เรียนรู้เรื่องศีลธรรม และการภาวนา เมื่อพระมีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงาม และสามารถแนะนำฆราวาสในหลักธรรม ก็เรียกได้ว่าท่านเป็นภาระที่ดีของโยม
๙. อัปปะกิจโจ มีกิจธุระน้อย (ไม่มีงานยุ่ง) เป็นคนไม่แบกภาระมาก ไม่มีห่วงมาก มิใช่ผู้ขวนขวายด้วยกิจมาก อย่างเช่น เพลินงาน เพลินคุย เพลินคลุกคลีเป็นต้น
๑๐. สัลละหุกะวุตติ ประพฤติเบากายเบาจิต อยู่อย่างเบาสบาย ประพฤติตนดุจสกุณา มีบาตรและจีวรเป็นเสมือนปีกทั้งสอง อาจโผผินบินไปในเวหาตามต้องการ หรือเหมือนเนื้อในป่าเที่ยวไปได้ตามปรารถนา ไม่ถูกผูกมัดด้วยบ่วงคือบริขารและเครื่องกังวลใดๆ
เหมือนนกน้อย ล่องลอยไป ในนภา เหมือนมัจฉา แหวกว่ายใน ชลาสินธุ์
เหมือนเนื้อทราย ในไพรสัณฑ์ เที่ยวหากิน คือนักบวช สละสิ้น ค้นหาธรรม
ไม่มีห่วง กังวลใจ ให้ใฝ่หา ไม่มีทรัพย์ สิ้นเงินตรา แลน่าขำ
ไม่มีห่วง กังวลใด ให้จดจำ มีเพียง “คำ พระศาสดา” พาดำเนิน ฯ
๑๑. สันตินทริโย เป็นผู้สำรวมอินทรีย์ ก็คือระวังช่องทางทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ เมื่อรู้ถึงธรรมชาติของมันแล้วก็ต้องคอยระวัง ใช้สติเข้าช่วยกำกับ อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดมก็อย่าไปดม อะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส อะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปเห็นสิ่งที่ไม่ควรดูเข้าแล้ว ก็ให้จบแค่เห็น ไม่คิดปรุงแต่งต่อว่า สวยจริงนะ หล่อจริงนะ อะไรทำนองนี้ ต้องไม่นึกถึงโดยนิมิต หมายถึง เห็นว่าสวยไปทั้งตัว เช่น “เออ คนนี้สวยจริงๆ” ต้องไม่นึกถึงโดยอนุพยัญชนะ หมายถึง เห็นว่าส่วนใดส่วนหนึ่งสวย เช่น “ตาสวยนะ คมปลาบเลย” หรือแขนสวย ขาสวย อะไรอย่างนี้
อินทรีย์สังวรนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราสู้กับกิเลสชนะหรือแพ้ก็อยู่ตรงนี้ ถ้าเรามีอินทรีย์สังวรดีแล้ว โอกาสที่กิเลสจะรุกรานเราก็ยาก คุณธรรมต่างๆ ที่เราตั้งใจรักษาไว้ก็จะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจ เหมือนบ้าน ถ้าเราใส่กุญแจดูแลประตูหน้าต่างอย่างดีแล้ว ถึงแม้ตามลิ้นชักตามตู้จะไม่ได้ใส่กุญแจก็ย่อมปลอดภัย โจรมาเอาไปไม่ได้ แต่ถ้าเราขาดการสำรวมอินทรีย์ ไปดูในสิ่งที่ไม่ควรดู ฟังในสิ่งไม่ควรฟัง ดมในสิ่งไม่ควรดม ลิ้มรสในสิ่งไม่ควรลิ้ม จับต้องสัมผัสในสิ่งที่ไม่ควรสัมผัส คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด แม้เราจะ มีความตั้งใจรักษาศีล รักษาคุณธรรมต่างๆ ดีเพียงไร ก็มีโอกาสพลาดได้มาก เหมือนบ้านที่ไม่ได้ปิดประตูหน้าต่าง แม้จะใส่กุญแจตู้ลิ้นชักดีเพียงไร ก็ย่อมไม่ปลอดภัย โจรสามารถมาลักไปได้ง่าย
๑๒. นิปะโก เป็นผู้มีปัญญารักษาตัว เป็นวิญญูชน ผู้แจ่มแจ้ง มีปัญญา คือ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเครื่องตามรักษาศีล ด้วยปัญญากำหนดปัจจัยสี่มีจีวรเป็นต้น และด้วยปัญญากำหนดรู้สัปปายะ ๗ อย่าง มีอาวาสสัปปายะเป็นต้น
๑๓. อัปปะคัพโภ เป็นคนไม่คะนอง คือ เว้นจากการคะนองทางกาย ๘ ฐาน จากการคะนองวาจา ๔ ฐาน และจากการคะนองทางใจมากฐาน.
๑๔. กุเลสุ อะนะนุทคิทโธ เป็นผู้ไม่ติดในตระกูล ภิกษุเข้าไปหาตระกูลแล้ว ไม่ติดด้วยความอยากได้ปัจจัย หรือด้วยการคลุกคลีที่ไม่สมควรในตระกูลเหล่านั้น คือ ไม่โศกเศร้าร่วมด้วย ไม่ร่าเริงร่วมด้วย ไม่สุขด้วยเมื่อตระกูลเหล่านั้นประสบสุข ไม่ทุกข์ด้วยเมื่อตระกูลเหล่านั้นประสบทุกข์ หรือเมื่อกรณียกิจทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ไม่เข้าประกอบด้วยตนเอง. อันนี้สำหรับพระภิกษุคือเรา ไม่ยึดติดในตระกูลไปพัวพันกับญาติโยมคฤหัสถ์มาก เพื่อหวังลาภปัจจัยบางทีพระเราไปอวดกันว่าใครมีตระกูล อุปัฏฐากที่มีลาภสักการะมากกว่าถ้าเรายังหมกมุ่นในเรื่อง ของลาภสักการะมากเราก็ปฏิบัติต่อไม่ได้ ไปหยุดที่ลาภสักการะท่านจึงบอกว่าไม่ให้ยึดติดพวกนี้พระพุทธเจ้าท่าน ตรัสว่าเปรียบเหมือนหนอนในกองอุจจาระที่มาคุยอวดกันว่า ตัวไหนคลานอยู่บนกองคูถที่ใหญ่กว่านี้จึงไม่ใช่เรื่องที่เรา จะมาภูมิใจกันในเรื่องลาภสักการะนี้อีกอย่างหนึ่งคือไม่ให้ไปติดข้อง พลอยดีใจพลอยเศร้าโศกเสียใจไปกับคฤหัสถ์เขา
ต่อไป นะ จะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
ขุททัง แปลว่า เล็กน้อย สะมาจะเร คือ สมาจารต่างๆ ข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ วิญญูชน หรือผู้รู้ติเตียน คือผู้รู้ใคร่ครวญ แล้วเห็นว่ามันมีส่วนของความประพฤติเสียหาย เราก็ไม่ทำสิ่งนั้น อันนี้สำคัญนะ เราต้องเอาวิญญูชนเป็นหลัก คือ เอาคนที่รู้ แล้วรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องได้มีเวลาพิจารณา ไตร่ตรองแล้วด้วย ถ้าเขาพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมของเราแบบนี้เสียหาย เราก็ต้องฟังไว้ก่อน แล้วนำมาปรับปรุง เรียกว่าเอาคนที่รู้เป็นประมาณ ส่วนคนพาลเอาเป็นประมาณ ไม่ได้ บางทีก็ติไปทั่ว ถ้าเป็นคนพาล เราไม่ต้องฟังก็ได้ แต่ถ้าเป็นวิญญูชนที่เขาพิจารณาแล้วใคร่ครวญแล้ว เขาตักเตือนอะไร เราต้องนำไปพิจารณา โดยเฉพาะพระพุทธเจ้า นอกจากนี้สาวกของพระองค์ก็ถือว่าเป็นวิญญูชน
เท่าที่ผ่านมาจนจบนี้ เรียกว่าเป็นส่วนของ กรณียะ คือสิ่งที่พึงควรทำ
สุขิโน วา เขมิโน โหนตุ, สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา, จงเจริญเมตตาจิตว่า ขอสัตว์ทั้งปวง จงเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจ มีแต่ความเกษมสำราญเถิด ;
นี้ก็คือสรรพสัตว์ทั้งหมดเลย ไม่แบ่งแยก ไม่จำกัด ทีนี้ต่อไปท่านจะแยก ให้ดูว่ามีอะไรบ้าง
เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ, สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ทุกเหล่าทั้งหมดบรรดามี ; (ปาณะภูตัตถิ ท่านแยกเป็น ปาณะ คือสัตว์ที่มีลมปราณ คือพวกเรานี้แหละ ที่อยู่ในปัญจโวการภูมิ (มีขันธ์ครบทั้ง ๕) พวกมนุษย์ เทวดา สัตว์ในอบายภูมิพวกนี้ ส่วน ภูตะ คือสิ่งที่เป็นพวกขันธ์เดียวบ้าง ๔ ขันธ์บ้าง พวกอรูปพรหม พวกอสัญญสัตตพรหม คือรวมสัตว์ทั้งหมดในภพภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ
ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสา, ที่เป็นประเภทเคลื่อนไหวได้ก็ดี ประเภทอยู่กับที่ก็ดี ; (สัตว์ทั้งหลายย่อมสะดุ้ง เหตุนั้นจึงชื่อว่า ตสา คำนี้เป็นชื่อของสัตว์ทั้งหลายผู้มีตัณหาและมีภัย. สัตว์ทั้งหลายย่อมมั่นคง เหตุนั้นจึงชื่อว่า ถาวรา คำนี้เป็นชื่อของพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ละตัณหาและภัยได้แล้ว. ส่วนเหลือของสัตว์เหล่านั้นไม่มี เหตุนั้นจึงชื่อว่า อนวเสสา)
ทีฆา วา เย มะหันตา วา, มัชฌิมา รัสสะกา อะณุกะถูลา, เป็นสัตว์มีขนาดลำตัวยาว ปานกลาง หรือสั้นก็ดี, เป็นสัตว์มีลำตัวใหญ่ ปานกลาง หรือเล็กก็ดี, เป็นชนิดมีลำตัวละเอียดหรือมีลำตัวหยาบก็ดี ;
ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา, เป็นจำพวกที่ได้เห็นแล้ว หรือไม่ได้เห็นก็ดี ;
เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร, เป็นผู้อยู่ในที่ไกล หรือในที่โกล้ก็ดี ; (ก็เหล่าสัตว์ที่อยู่ในกายของตน เรียกว่า อวิทูเร อยู่ไม่ไกล เหล่าสัตว์ที่อยู่นอกกาย เรียกว่า ทูเร อยู่ไกล. อนึ่ง เหล่าสัตว์ที่อยู่ภายในอุปจาร เรียกว่า อยู่ไม่ไกล. ที่อยู่ภายนอกอุปจาร เรียกว่า อยู่ไกล. ที่อยู่ในพระวิหาร ตามชนบท ทวีป จักรวาล เรียกว่า อยู่ไม่ไกล ที่อยู่ในจักรวาลอื่น เรียกว่า อยู่ไกล.)
ภูตา วา สัมภะเวสี วา, เป็นผู้ที่เกิดแล้ว หรือกำลังแสวงหาที่เกิดอยู่ก็ดี ; (ภูตา ได้แก่ เกิดแล้ว บังเกิดแล้ว. พระขีณาสพเหล่าใด เป็นแล้วนั่นแล ไม่นับว่าจักเป็นอีก คำนั้นเป็นชื่อของพระขีณาสพเหล่านั้น. สัตว์เหล่าใดแสวงหาที่เกิด เหตุนั้น สัตว์เหล่านั้นชื่อว่า สัมภเวสี. คำนี้เป็นชื่อของพระเสขะและปุถุชนทั้งหลาย ที่กำลังแสวงหาที่เกิด แม้ในอนาคต เพราะภวสังโยชน์ยังไม่สิ้น.)
สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา, ขอสัตว์ทั้งปวงนั้น จงเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจเถิด ;
นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ, บุคคลไม่พึงข่มเหงกัน ; (ในอรรถกถาท่านแปลว่าไม่หลอกหลวง คือไม่ควรหลอกลวงตน ไม่ควรหลอกลวงคนอื่น ไม่ควรหลอกลวงกันและกัน)
นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง กิญจิ, ไม่พึงดูหมิ่นเหยียดหยามกัน ไม่ว่าในที่ไหนๆ ; (ในโอกาสไหนๆ คือในหมู่บ้านหรือในเขตหมู่บ้าน ท่ามกลางญาติหรือท่ามกลางบุคคล ดังนี้เป็นต้น)
พ๎ยาโรสะนา ปะฏีฆะสัญญา, นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ, ไม่พึงคิดก่อทุกข์ให้แก่กันและกัน เพราะความโกรธ และเพราะความเคียดแค้น ; (ท่านอธิบายไว้ว่า มิใช่เจริญเมตตาโดยมนสิการเป็นต้นว่า ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีสุข มีความเกษมเถิดดังนี้อย่างเดียว ที่แท้พึงมนสิการอย่างนี้ว่า โอหนอ บุคคลอื่นไม่ว่าใครๆ ไม่พึงข่มเหงบุคคลอื่นไม่ว่าใครๆ ด้วยกิริยาคดโกงมีล่อลวงเป็นต้น ไม่พึงดูหมิ่นบุคคลอื่นไม่ว่าใครๆ ไม่ว่าในประเทศไหนๆ ด้วยวัตถุแห่งมานะ ๙ อย่าง มีชาติเป็นต้น และไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน เพราะความกริ้วโกรธ หรือเพราะความคุมแค้น ดังนี้อีกด้วย.)
มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง, อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข, มารดาถนอมบุตรคนเดียว ผู้เกิดในตน ด้วยการยอมสละชีวิตของตนแทนได้ ฉันได ;
เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ, มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง, บุคคลพึงเจริญเมตตาจิตอันกว้างใหญ่ อันหาประมาณมิได้ในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้นเถิด ;
เมตตัญจะ สัพพะโลกัส๎มิง, มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง, อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ, อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง, บุคคลพึงเจริญเมตตาจิตอันไม่มีปริมาณ อันหาขอบเขตมิได้ อันไม่มีเวร ไม่มีศัตรูคู่ภัย ไปในสัตว์โลกทั้งสิ้น, ทั้งในทิศ เบื้องบน ในทิศเบื้องต่ำ และในทิศขวาง ; (อะสัมพาธัง คือ ไม่มีขอบเขตนี้เป็นลักษณะสำคัญของเมตตาในพระพุทธศาสนาของเรา ไม่มีขอบเขต ทั้งมนุษย์ ทั้งสัตว์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีชีวิตที่เป็นสัตว์นี่เราแผ่ไปให้หมด ไม่ใช่ให้เฉพาะพวกเรา แต่ไม่ให้พวกคนอื่น แต่ให้ทั้งหมด ที่เรียกว่าเป็นอัปปมัญญา คือว่าแผ่ไปไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ)
ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา, สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ, ผู้เจริญเมตตาจิตอย่างนี้นั้น ปรารถนาจะตั้งสติในเมตตาฌานให้นานเพียงใด ท่านผู้นั้นไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม ย่อมเป็นผู้ปราศจากความท้อแท้ ;
เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ, ก็พึงจะตั้งสตินั้นไว้ได้นานตามต้องการ ;
พ๎รัห๎มะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ, บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวการปฏิบัตินี้ว่าเป็นความประพฤติที่ประเสริฐในพระศาสนานี้ ;
และอานิสงส์ของการเจริญพรหมวิหาร ว่าสามารถนำไปสู่มรรคผลนิพพานได้ ดังที่ระบุผลไว้ดังนี้
๑. ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน หรือ "ท่านผู้เจริญเมตตาจิต ที่ละความเห็นผิดแล้ว มีศีล มีความเห็นชอบ" ในบาทที่ 1 ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุโสดาบัน กล่าวคือ พระอริยะบุคคลผู้มีสัมมาทิษฐิ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ปราศจากความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยและอริยสัจสี่ และมีศีลครบถ้วน อันคุณสมบัติสังเขปของลักษณะพระโสดาบันที่สามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ 3 ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
๒. กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง หรือ "ขจัดความใคร่ในกามได้" ในบาทที่ 3 ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุสกทาคามี กล่าวคือ พระอริยะบุคคลผู้สามารถละกามฉันทะ และปฏิฆะ อันหมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ
๓. นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ หรือ "จะไม่กลับมาเกิดอีกเป็นแน่แท้" ในบาทที่ 4 หรือบาทสุดท้าย ในบทที่ 10 เป็นการระบุถึงคุณสมบัติของผู้บรรลุอนาคามี คือ พระอริยะบุคคลผู้ไม่กลับบมาเกิดอีก บำเพ็ญเพียรภาวนาต่อไปในพรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะบรรลุอรหันต์นิพพานจากพรหมโลก
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee