แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๒๗ เศรษฐีแปลว่าผู้มีความประเสริฐ เพราะเลิศด้วยทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายใน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ชาติที่เราทุกคนได้เกิดเป็นมนุษย์ นี้คือเป็นชาติที่ประเสริฐ ทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อเราจะได้พัฒนาทั้งหลักวิทยาศาสตร์และพัฒนาจิตใจ มวลมนุษย์ของเราจะได้พากันหยุดโกงกินคอรัปชั่น โลกนี้ถึงจะได้มีข้าราชการ นักการเมือง มีนักบวช เพราะความรู้ความเข้าใจของเราทุกคนนั้นมาจากการเรียนการศึกษา และมาจากการค้นคว้า การประพฤติ การปฏิบัติก็เน้นที่ปัจจุบัน แสดงว่าพื้นฐานที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน มันเป็นอย่างนี้ก็ถือว่ายังไม่ได้ มันยังใช้ไม่ได้ มันเป็นเพียงแบรนด์เนมแห่งความเป็นมนุษย์เฉยๆ เป็นแบรนด์เนมแห่งความเป็นข้าราชการนักการเมือง เป็นแบรนด์เนมแห่งนักบวชเฉยๆ นั่นยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง มันยังเอาตัวตนอวิชชาความหลง เป็นที่ตั้ง เป็นสรณะ มันยังเอาความประมาทความฟุ้งซ่านเป็นที่ตั้งเป็นสรณะ
เราทุกคนพากันรู้นะว่าชีวิตของเรานี้แหละ เป็นของประเสริฐมาก มีค่า มีราคา การประพฤติการปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน มันถึงไม่เกี่ยวกับผู้ที่เป็นนักบวช ไม่ได้อยู่ผู้ที่เป็นข้าราชการ นักการเมือง มันอยู่ที่ทุกคนทำหน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายก็จะพากันมีความสุข ไม่พากันเป็นโรคจิตโรคประสาท โรคซึมเศร้า โรคแย่งขยะกัน ทุกประเทศก็ต้องมีการบริหารประเทศของตน ทุกศาสนาก็ต้องเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่อย่างนี้ เราอย่าเอาความฟุ้งซ่านเป็นสรณะเป็นโมเดล คนเราก็ถือว่ามันไม่ถูกต้องมันถึงเป็นอย่างนี้้ ตัวเรามันถึงโกงกินคอรัปชั่น ไม่ได้ทำหน้าที่แห่งความถูกต้อง เราไม่รู้จัก เราปล่อยให้อยู่กับความเพ้อฝัน อยู่กับความฟุ้งซ่าน
ทุกท่านทุกคนต้องจัดการตัวเองนะ เพราะเราทุกคนนั้นไม่ต้องไปโทษใครหรอก เราก็เอาตัวอย่างอย่างพระพุทธเจ้า อย่างพระเยซู อย่างนี้เป็นต้น เพราะชีวิตของท่านคือท่านเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ เพราะว่าทุกท่านทุกคนมันทำได้ปฏิบัติได้ ถ้าใครไม่เป็นบ้า ไม่เป็นโรคประสาทโรคจิต แม้แต่พิการทางร่างกายส่วนแขนขา ยังพัฒนาใจได้ คนแก่ที่เดินไม่ได้ก็พัฒนาจิตใจได้ เพราะเราดูแล้วมันต้องแก้ไข ต้องจัดการ กรรมที่เรามีความประพฤติมีการปฏิบัติ บางทีมันก็ 10 ปี 20 ปี 30 ปีมันถึงให้ผล ยกตัวอย่างอย่างเราปล่อยปละละเลย ในการไม่มีความสุขในการเรียน ไม่มีความสุขในการทำงาน 20 ปี 30 ปีก็ทำให้เรายากจน จะรู้แล้วมันก็สายไปแล้ว ใจของเราที่ไม่รู้จักอริยสัจ 4 ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดทุกข์ มันหลายปีมันถึงให้ผล ทุกคนก็พากันแก่เฒ่า แต่มันไม่ได้เป็นเถ้าแก่กัน เพราะความที่เราไม่รู้เหตุ ไม่รู้ปัจจัย หรือว่าไม่รู้อริยสัจ 4 หรือแม้แต่ระบบทางกายก็ถือว่าไม่รู้อริยสัจ 4 ถ้าเค้ารู้แล้วเค้าก็คงเหมือนพวกนักบวช ถ้าเขารู้แล้วเขาก็คงไม่พากันรับเงิน รับทองรับสตางค์ ไม่สั่งสมสิ่งของ ไม่หลงในยศในตำแหน่ง เพราะอันนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่หนทางที่ประเสริฐ มันเป็นหนทางแห่งอวิชชาแห่งความหลง ต้องเน้นพระธรรมพระวินัย 100 เปอร์เซ็นต์ไปเลย นี้ความประพฤติมันบ่งบอกอย่างนี้
แต่การปฏิบัติธรรมของเราทุกคน มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ใช้เวลาติดต่อต่อเนื่องกันกว่าจะรู้ผลบางทีมันก็ปีหนึ่ง ก็รู้แล้ว อย่างภายนอกเวลาสอบเทอมสุดท้าย หรือว่าการที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ที่แยกทำให้ชัดเจนขึ้นบางคนก็สอบตก บางคนก็ได้เรียนแผนกโน้นแผนกนี้ อันนี้เนื่องมาจากผลของกรรม อย่างพ่อแม่ไม่เห็นความสำคัญในการทำงาน ไม่เห็นความสำคัญในการวางแผนในการใช้รายรับรายจ่าย จะรู้ผลก็โอ๋...มันก็เป็นปีหลายปี หนี้สินมันก็พอกหางหมู อย่างพระก็ปล่อยให้ตัวเองคิด มีเซ็กส์ทางความคิด มีเซ็กส์ทางอารมณ์ แต่เราไม่มีเซ็กส์ทางร่างกายก็ดี ไม่มีเพศสัมพันธ์ แต่จิตใจของเรามันอย่างนี้มันประมาทไป
ทุกคนต้องเอาพระรัตนตรัยเป็นหลัก เป็นที่พึ่ง ไม่ต้องไปคิดที่จะเป็นมหาเศรษฐีทางวัตถุหรอก ต้องคิดที่จะเป็นมหาเศรษฐีทางธรรมะ
"เศรษฐี" คำนี้แปลว่า ผู้ประเสริฐที่สุด เพราะมีหลักว่า ผลิตช่วยกัน ผลิตมากที่สุด ได้ผลมากที่สุดแล้วก็ใช้แต่น้อย กินแต่น้อยเท่าที่พอดี มันก็เหลือมาก แล้วก็ ไปช่วยสังคม. ทำอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเศรษฐี คือผู้ประเสริฐที่สุด.
ปุถุชน คือ ผู้เห็นแก่ตัว ผลิตมากก็กินมาก กินจนหมด จนไม่มีเหลือสำหรับจะช่วยสังคมเลยเรียกว่าเศรษฐีไม่ได้ ควรจะเรียกว่านายทุนมากกว่า เศรษฐีผลิตมาก กินแต่พอดี เหลือไปช่วยสังคม อย่างน้อยก็มีโรงทาน เป็นเศรษฐีใหญ่ก็มีโรงทานหลายโรง แล้วยังฝังทรัพย์สมบัติซ่อนไว้ใต้ดิน เพื่อจะเอามาช่วยยามฉุกเฉิน เผื่อเหลือ เผื่อขาด อย่าให้โรงทานนั้นล้มไป. จิตใจอย่างนี้ จะไม่เรียกว่าประเสริฐที่สุด แล้วจะเรียกจิตใจ อย่างไหนว่าประเสริฐที่สุด ? ช่วยกันผลิตให้มาก ใช้แต่พอดี เหลือช่วยสังคม นี้เรียกว่าเศรษฐีตามคำในภาษาบาลี.
ส่วนนายทุนสมัยนี้เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ? ว่า ช่วยกันผลิตให้มาก ใช้แต่น้อย เหลือเท่าไรเอาไปช่วยสังคม หรือช่วยโลก ช่วยโดยตรง เช่นมีโรงทาน ช่วยโดยอ้อม เช่นสร้างวัดวาอาราม. เศรษฐีสมัยก่อนในเมืองไทยเรา ก็ช่วยกันสร้างวัดวาอาราม เศรษฐีต้องมีการสร้างวัดทั้งนั้น เป็นธรรมเนียมไปเลย แต่นายทุนไม่มีธรรมเนียมเช่นนั้นจึงต่างกัน .
อวิชชา ทำให้เราเห็นแก่ตัว รักตัวเรา ไม่รักผู้อื่น. วิชชาทำให้เราไม่เห็นแก่ตัว เรารักผู้อื่นได้. อวิชชาไม่สามารถจะแก้ปัญหาของโลกได้. ขอให้ วิชชา กลับมาโดยเร็วเถิด. - พุทธทาส อินฺทปญฺโญ .
เรื่องราวของท่านอนาถบิณฑกะ เป็นชีวิตตัวอย่าง ของเศรษฐีใจบุญ คติชีวิตที่พึงได้จากชีวประวัติของท่านผู้นี้มีมากมาย อาทิ
๑. ความเป็นผู้มั่นคงในการทำความดี ท่านได้นามว่า “อนาถบิณฑิกะ ผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถา” แสดงถึงความเป็นผู้มีใจบุญสุนทานอย่างยิ่ง สร้างโรงทานไว้สำหรับผู้ยากไร้ ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์เป็นนิตย์ ไม่เฉพาะถวายทานแด่พระสงฆ์ ประชาชนทั่วไป แม้กระทั่งคนอนาถาไร้ที่พึ่ง จำพวกยาจกวณิพกทั้งหลาย ท่านก็ให้เป็นประจำ คำ “อนาถบิณฑิกะ” นี้ ถ้าไม่แปลตามตัวอักษร แปลเอาความก็คือ “เศรษฐีผู้ใจบุญ” นั่นเอง พระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ เขาแปลว่า the benefactor
ว่ากันว่า เวลาท่านไปวัด ไม่ไปมือเปล่าเลย ถ้าไปเวลาเช้าก็นำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ ถ้าไปเวลาเย็นก็นำเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย อันเป็นเภสัช ไปถวายพระสงฆ์ มั่นคงแน่วแน่ในการทำบุญ
แม้ว่าบางครั้งจะประสบภาวะวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจค้าขายขาดทุน กลายสภาพจากเศรษฐีเป็น “คนที่เคยรวย” ท่านก็ไม่งดการทำบุญสุนทาน เคยตั้งงบไว้สำหรับการทำบุญอย่างไร ก็คงทำตามอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูทนเห็นท่านเศรษฐีอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ มาแนะนำให้ลดการถวายทานลงบ้าง ท่านก็ไม่ยอม
๒. ความมีปณิธานแน่วแน่ ตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ คุณสมบัติข้อนี้เห็นได้จากการที่ท่านมุ่งมั่นจะไปเฝ้าพระพุทธองค์ให้ได้ ทั้งๆ ที่น้องเขยบอกว่าให้รอจนถึงรุ่งเช้า พุทธองค์ก็เสด็จมาอยู่แล้ว ท่านก็ไม่รอ เพราะมีความมุ่งมั่นว่าจะเข้าพบฟังธรรมให้ได้ ในที่สุดท่านก็ออกจากคฤหาสน์ของน้องเขยไปเฝ้าพระพุทธองค์จนได้ เมื่อจวนสว่างของคืนวันนั้น
ความมุ่งมั่นอีกเรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อท่านตัดสินใจจะขอซื้อสวนจากเจ้าเชตสร้างวัด ท่านก็เอาให้จงได้ เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดแล้ว แม้ว่าเจ้าของสวนจะโก่งราคา (ให้เอากหาปนะมาปูเต็มพื้นที่) ท่านก็ยอม สั่งให้ขนกหาปณะมาปูพื้นที่ตามที่เจ้าของสวนต้องการ จนกระทั่งเจ้าเชตเห็นในความมีปณิธานแน่วแน่ของท่าน จึงลดราคาให้ และขอมีส่วนในการสร้างวัดด้วย
๓. คุณธรรมประการสุดท้ายที่จะพูดถึงคือ ความเป็นพ่อที่ดีของลูก ท่านมีลูกชายหนึ่งคน ลูกสาวสามคน ลูกสาวนั้นต่างก็อยู่ในโอวาท ช่วยท่านถวายทานแด่พระสงฆ์ และให้ทานแก่ยาจกและวนิพก อันเป็นกิจวัตรประจำวัน
ตัวท่านเศรษฐีเองมักได้รับเชิญจากประชาชนชาวเมืองสาวัตถี เพื่อไปให้คำแนะนำแก่พวกเขาในการทำบุญทำกุศล เรียกสมัยนี้ว่า เป็น “มรรคนายก” นั้นแล ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน หน้าที่ในการตระเตรียมทานในบ้านจึงตกอยู่กับลูกสาว เมื่อลูกสาวคนโตแต่งงานออกเรือนไปแล้ว คนรองก็รับหน้าที่ทาน เมื่อคนรองออกเรือนไปแล้ว คนเล็กก็ทำแทน
ส่วนลูกชายคนโตเป็นเด็กเกเร ชอบเที่ยวเตร่หาความสำราญตามประสา “เพลย์บอย” ไม่ได้ช่วยพ่อแม่ทำกิจการงาน ท่านอนาถบิณฑิกะมีเทคนิควิธีในการอบรมลูก เมื่อว่ากล่าวตักเตือน ลูกชายไม่รับก็คิดหาทางอื่นที่ได้ผล ในที่สุดก็ใช้วิธี “เอาเหยื่อล่อ” เมื่อลูกชอบใช้เงิน ใช้ทองมาเป็นเครื่องล่อ แต่วางเงื่อนไขว่า ถ้าอยากใช้เงินมากๆ ก็ให้ทำอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์
การจ้างลูกไปฟังธรรมจึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ แรกๆ ลูกชายของท่านก็ไปฟังพอเป็นพิธี ไปถึงก็หาทำเลเหมาะนั่งหลับ เมื่อพระพุทธองค์แสดงธรรมจบก็กลับบ้านทวงค่าจ้าง
ทำอย่างนี้ไประยะหนึ่ง พ่อจึงวางเงื่อนไขใหม่ คือให้จำบทธรรมที่ทรงแสดงจำได้มากจะจ่ายให้มาก ด้วยความโลภอยากได้เงินมาก เขาจึงตั้งใจฟัง พยายามจำให้ได้มากที่สุด เมื่อเขาทำอย่างนี้นานเข้าก็เข้าใจในธรรมที่ทรงแสดง เมื่อเข้าใจมากขึ้นจนกระทั่งได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็เลยไม่เอาค่าจ้างอีกต่อไป แม้ว่าพ่อจะเอาถุงทรัพย์จำนวนมากมามอบให้ต่อพระพักตร์พระพุทธองค์ บุตรชายก็ปฏิเสธ เพราะเขาได้พบขุมอริยทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ไม่ต้องการทรัพย์ภายนอกแต่อย่างใด
ท่านเศรษฐีมีลูกสาวสามคน คือ มหาสุภัททา จุลสุภัททา และสุมนาเทวี ลูกสาวคนโตและคนรองของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชื่อ มหาสุภัททา และจุลสุภัททา ตามลำดับ ทั้งสองคนต่างก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และทั้งสองก็ได้แต่งงานกับสามีที่คู่ควรกัน และได้ไปอยู่ที่ตระกูลสามีตามประเพณีของชาวชมพูทวีป ทั้งสองเป็นพระอริยบุคคลระดับพระโสดาบัน มีศรัทธาไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัย ไม่เหมือนปุถุชนยัง “แกว่ง” ไปมาอยู่
เมื่อพี่สาวทั้งสองออกเรือนไปแล้ว หน้าที่ในการดูแลการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ประจำก็ตกอยู่ที่สุมนาเทวี บุตรสาวคนเล็กของท่านเศรษฐี
สุมนาเทวี ขณะที่รับหน้าที่เป็นแม่งานการถวายภัตตาหารประจำแก่พระสงฆ์นี้ นัยว่าเธอได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบันแล้ว ต่อมาเธอก็ก้าวสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือเป็นพระสกทาคามี
ต่อมาไม่นานเธอก็ล้มป่วยลง เป็นโรคอะไรไม่แจ้ง แต่ปรากฏว่าอาการทรุดลงทุกขณะ จนกระทั่งใกล้จะถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต พ่อไม่อยู่บ้าน เพราะมัวแต่ไปให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้าน คนในบ้านไปตามพ่อ บอกว่าสุมนาเทวีอาการหนัก
เศรษฐีรีบกลับมาหาลูกด้วยความเป็นห่วง มาถึงก็ถามว่า “เป็นยังไงบ้างลูกพ่อ”
“ไม่เป็นอะไรมากดอก น้องชาย” ลูกสาวตอบ
ได้ฟังดังนั้น เศรษฐีก็ตกใจว่าลูกสาวอาการหนักจนเพ้อ ปลอบลูกว่า “อย่ากลัวเลยลูก พ่ออยู่นี่” “พี่ไม่กลัว น้องชาย” เรียกน้องเหมือนเดิม
“ลูกพ่อเพ้อแล้ว” เศรษฐีหดหู่ใจอย่างยิ่ง
“พี่ไม่ได้เพ้อนะ น้องชาย น้องชายอย่าเศร้าโศกเสียใจเลย พี่จะไปแล้ว”
ว่าแล้วก็เงียบ ไม่พูดไม่จาอีกต่อไป จนกระทั่งสิ้นลมหายใจ
เศรษฐีเศร้าโศกเสียใจมาก แทบไม่เป็นอันกินอันนอน เสียใจที่สูญเสียลูกน่ะมากโขอยู่แล้ว แต่เสียใจที่ว่าลูกสาวของตน “หลงทำกาละ” มากกว่าหลายเท่า เมื่อนึกว่าลูกสาวคงมีคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้าไม่ดีแน่ ก็ยิ่งรันทดใจหนักขึ้น
ตรงนี้ต้องขยายสักเล็กน้อย คือ คนที่ทำบาปทำกรรมมากๆ จะได้รับผลทั้งทันตาเห็นในโลกนี้ และในชาติหน้า ดังนี้ครับ
๑. ย่อมเสื่อมจากโภคทรัพย์ คือ เสียเงินเสียทองเพราะการทำชั่วเป็นเหตุ เช่น ถูกจับกุมต้องเสียเงินประกัน เสียเงินจ้างทนายขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกตัดสินริบทรัพย์สมบัติ ดังกรณีทรราชทั้งหลาย เป็นต้น
๒. ชื่อเสีย ขจรขยายไปทั่ว ถูกคนเขาสาปแช่งไปทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่มีอะไรดีเลย ถ้าชั่วมากจนแผ่นดินรับไว้ไม่ไหว ก็อาจถูกแผ่นดินสูบดังกรณีพระเทวทัต นางจิญจมาณวิกาในอดีต เป็นต้น ถ้าชั่วน้อยหน่อยก็ตกเป็นขี้ปากชาวบ้าน ไปไหนมาไหนคนก็สะกิดให้กันดู “นั่นไง คนเอางบประมาณแผ่นดินเข้าพกเข้าห่อตัวเอง” อะไรทำนองนี้
๓. ไม่แกล้วกล้าในสมาคม เข้าสมาคมไหนก็จ๋องๆ หวาดๆ กลัวๆ เพราะตัวเองมีแผล กลัวจะโดนสะกิดแผลเข้า บางทีก็ลืมตัวไปว่าคนอื่น เพราะปากไว พอเขาสวนกลับเท่านั้น สะดุ้งแปดตลบ เพราะโดนแผลขี้เรื้อนตัวเองเข้า จำต้องสงบปากสงบคำ
๔. ย่อมหลงตาย หมายความว่าเวลาจะตายมักจะเพ้อไร้สติ เพราะนิมิตแห่งบาปกรรมที่ทำไว้มาปรากฏให้เห็น แล้วก็สะดุ้งหวาดกลัวร้องออกมา ว่ากันว่านายพลคนดังในอดีต สั่งประหารชีวิตคนจำนวนมาก บางทีก็ประหารผิด ผู้บริสุทธิ์ถูกประหารตายไปหลายคน พอถึงคราวจะตาย เพ้อ “เผามันเลย ประหารมันเลย” แล้วก็ร้องว่า “โอ๊ย ร้อนๆ” แล้วก็ขาดใจตาย นี่แหละเรียกว่าหลงตาย
๕. ตายแล้วไปสู่ทุคติ คือไปเกิดในแดนไม่ดี ตกนรกหมกไหม้ หรือไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย หรือแม้กระทั่งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เห็นลูกสาวคนเล็กเพ้อไม่ได้สติก่อนที่จะสิ้นลม ท่านจึงรันทดใจมาก สงสัยว่าลูกสาวตัวเองก็ใจบุญสุนทาน ไม่ปรากฏว่าทำบาปทำกรรมอะไร ทำไมจึง “หลงตาย” ทำไมจึงต้องไปสู่ทุคติ
ท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ ไม่วายตัดพ้อว่าเพราะเหตุใดคนที่ทำแต่ความดีอย่างลูกสาวตน จึงจะต้อง “หลงตาย” ด้วย หรือว่าบาปกรรมแต่ชาติปางไหน พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “ทำไมคหบดีจึงว่าอย่างนั้น”
เศรษฐีกราบทูลว่า “เพราะลูกสาวข้าพระองค์เพ้อพูดกับข้าพระองค์ว่า “น้องชาย” แสดงว่าเธอหลงตาย พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “สุมนาพูดถูกแล้ว เธอเป็นอริยบุคคลระดับสกทาคามีแล้ว สูงกว่าท่านตั้งหนึ่งขั้น เธอจึงเป็นพี่ท่านในทางคุณธรรม เธอหาได้เพ้อไม่”
เศรษฐีเอามือป้ายน้ำตาด้วยความปลาบปลื้ม ความทุกข์โศกพลันสลายไปสิ้นแล
การประพฤติการปฏิบัติธรรมของเรานั้น พระพุทธเจ้าให้เราปฏิบัติที่บ้าน ที่ทำงาน ส่วนที่วัดหรือที่อยู่ของพระนี้ เราเพียงมาศึกษา มาเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจในการประพฤติการปฏิบัติ ทุกคนนั้นต้องเข้าใจถึงจะได้ ปฏิบัติถูกต้อง
ประการแรกน่ะ พระพุทธเจ้าสอนเราให้พากันฝึกหายใจเข้า ให้มันสบายไว้ หายใจออกให้มันสบายไว้ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าเราจะเดิน จะนั่ง จะนอน ฝึกหายใจเข้า หายใจออก ให้มันสบายไว้ ให้เรามีความสุขในการหายใจ ให้เราเป็นผู้ที่ชำนิชำนาญในการหายใจเข้า-ออกสบาย ให้มีความสุข "เราฝึกไว้ให้มันชำนิชำนาญ"
อย่างเรามาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม วันแรกนี้ควรที่จะฝึกหายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย มาฝึกปล่อยฝึกวางทุกอย่าง อยู่กับการหายใจเข้าสบาย ออกสบาย เราก็ทำในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน อย่างนี้ เป็นต้น
นั่งให้สบาย หายใจออกก็ให้สบาย หายใจเข้าก็ให้สบาย มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับเนื้อกับตัว ปล่อยวางทุกอย่าง เสียสละทุกอย่าง เราเจริญสติสัมปชัญญะไม่หวังอะไรตอบแทน มีหน้าที่อย่างเดียว คือหายใจเข้าก็ให้สบาย หายใจออกก็ให้สบาย ถ้าเราไปต้องการให้มันสงบ เดี๋ยวมันจะเกิดความเครียดเน๊อะ...
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เจริญสติ เจริญสัมปชัญญะทุกๆ อิริยาบถ ไม่ว่าเราจะทำงาน เดิน นั่ง นอน ให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับหน้าที่การงาน เราเสียสละ เราเจริญสติสัมปชัญญะตั้งแต่เช้าจนนอนหลับน่ะ โดยไม่หวังอะไรตอบแทน ถือว่าเราได้เดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ อาศัยอิริยาบถทั้ง อาศัยหน้าที่การงานเพื่อฝึกจิตฝึกใจ เพื่อเจริญสติสัมปชัญญะ เพื่อให้อินทรีย์บารมีของเราแก่กล้า
ทุกๆ ท่าน ทุกคนต้องปฏิบัติตามอริยมรรค "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็ถึงมี" ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นย่อมเกิดจากเหตุ เกิดจากปัจจัย คนเราทำไมมันถึงไม่เก่ง ทำไมมันถึงไม่ฉลาด...? เพราะคนเรามันเห็นแก่ตัว เมื่อมันเห็นแก่ตัวแล้วความขี้เกียจมันก็ย่อมมีแก่เราทุกคน คนขี้เกียจนั้นย่อมไปถึงทางตัน คนไม่เสียสละนั้นมันย่อมไปถึงทางตัน คนเรานั้นถ้าฝึกเป็นคนเสียสละ เป็นคนขยัน เป็นคนรับผิดชอบ เป็นคนซื่อสัตย์ เป็นผู้ที่มีศีล ปฏิบัติไปเรื่อยๆ สติปัญญานั้นมันจะเกิดขึ้นมาเอง
คนเราน่ะ มองไม่เห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรจะทำ เพราะว่าความเห็นแก่ตัวมันทำให้เราคิดไม่ออก ทำให้เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ไม่เห็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ถือว่าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท เป็นผู้ที่ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ ในหน้าที่การงาน ถือว่ายังไม่เข้าถึงกระแสถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน ถือว่าเต็มไปด้วยทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน มาเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ตั้งอยู่ในความขี้เกียจ ไม่เอาศีลมาปฏิบัติ ไม่เอาทานมาปฏิบัติเห็นแก่ตัว...
สมาธิปัญญาจะเกิดได้อย่างไร เพราะเราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน การประพฤติการปฏิบัตินี้พระพุทธเจ้าให้เรามีสติสัมปชัญญะนะ มีการรู้ตัวทั่วพร้อมเพื่อที่จะควบคุมตัวเอง คอนโทรลตัวเอง อันนี้ผิด ไม่คิด อันนี้ผิดไม่พูด อันนี้ผิดไม่ทำ ทางอื่นที่จะดับทุกข์นั้นไม่มี นอกจากเดินตามรอยของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
การสร้างบารมีของเรามันก็เป็นของง่าย ถ้าเราตามพระพุทธเจ้า เราปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เราต้องมีความสุขความดับทุกข์แน่นอน ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลก็ย่อมได้รับผลการกระทำของเราไปพร้อมๆ กัน โลกนี้จะไม่มีความว่างเปล่าจากการที่มีเราประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรคของพระพุทธเจ้า
ทุกท่านทุกคนนั้นไม่มีใครแต่งตั้งเรามาเป็นพระอริยเจ้าได้ ไม่มีใครมาสรรเสริญเยินยอให้เราเป็นพระอริยเจ้าได้ นอกจากเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า
เราทุกคนถือว่าเป็นผู้มีโชคดีพอๆ กัน เพราะว่ามีลมหายใจเหมือนๆ กัน เราจะไปโทษว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ ติดภาระโน่นนี่ "ไม่จริง..." เพราะการปฏิบัติต้องปฏิบัติทุกลมหายใจ คนเราน่ะมันติด มันหลง มันไม่อยากแก้ไขตัวเอง ไม่อยากปรับปรุงตัวเอง มันติดในโลก ติดในเหยื่อของโลก ติดในความเอร็ดอร่อยของโลก มันไม่อยากสร้างคุณงามความดี มันมีเหตุผลมากและมีความเห็นแก่ตัวมาก ปัญหาของเรามันถึงมีไปเรื่อยๆ ปัญหาไม่ใหญ่ไม่โตเท่าไหร่ มันถึงเป็นปัญหาเรื้อรังน่ะ มันเป็นสงครามชีวิต สงครามในวัฏฏสงสาร
"มันไม่กล้าตัด ไม่กล้าปฏิบัติ เราก็ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย... พระพุทธเจ้าถึงให้เราสมาทาน...ตั้งใจ เหนื่อยก็ช่างมัน ผอมก็ช่างมัน ลำบากก็ช่างมัน ขอให้เราได้เดินตามพระพุทธเจ้า เสียสละเหมือนพระพุทธเจ้า มีศีลมีธรรมเหมือนพระพุทธเจ้า
เรายอมลำบากเพื่อธรรมเพื่อวินัย เรายอมลำบากในทุกขเวทนา ที่มันเกิดจากความหิว ความต้องการ "เรารักษาธรรมะที่เราจะยอมตัดความสะดวกสบาย ความสุขของเราออกไป เรายอมเสียอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิต เรารักษาธรรมะ แม้ชีวิตของเราจะหาไม่"
ทุกท่านทุกคนต้องมีสติมีสัมปชัญญะ จิตใจมีพลัง เพราะการที่จะตัดวัฏฏสงสารสิ่งที่เราชอบเราหลงนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องเพิ่มสัมปชัญญะให้มาก สมาทานให้แข็งแรง อย่าไปทำผิด พูดผิด คิดผิด สมาทานไว้ให้แน่น ปัญญาของเรามันถึงจะเกิดน่ะ "การชนะสิ่งใด ก็สู้ชนะจิตใจที่มันไม่ดีที่ตัวเรานี้ไม่ได้"
การกระทำ คำพูดของตัวเราต้องไปทาง 'เสียสละ" ไปทางไม่เห็นแก่ตัว ไม่หวังอะไรตอบแทน เราอย่าไปคิดว่า ทำดีทำถูกต้องจะมีปัญหา 'มันไม่จริง' เพราะในโลกนี้ต้องการคนเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่เรามีปัญหาทุกวันนี้ เพราะเรามีโลภ โกรธ หลง เห็นแก่ตัว คนอื่นเขาถึงยอมรับเราไม่ได้ เคารพเราไม่ได้ ทุกคนต้องมีสติ...
สติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว มันจะได้กลมกลืนกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติต้องปฏิบัติทุกเมื่อ ทุกเวลา การปฏิบัติมันไม่ได้นั่งนอน ยืน 'การปฏิบัติ' นั้นคืออริยมรรคทั้ง ๘ ประการ ให้ทุกๆ ท่าน ทุกคนน่ะ มาประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้แหละ มันจะได้ง่าย เราอย่าไปมองข้ามสติสัมปชัญญะ เราอย่าไปมองข้ามการประพฤติปฏิบัติ เราทำได้ เราปฏิบัติได้ ที่เราปฏิบัติไม่ได้ คือเราไม่ทันปฏิบัติ เราไม่รู้แนวปฏิบัติ ผู้ที่อยู่วัดก็ปฏิบัติได้ ผู้ที่อยู่บ้านก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติได้เหมือนกันหมด ไม่มีใครที่จะแตกต่างกัน
ชีวิตของเรานี้ เราต้องรับผิดชอบ ไม่มีใครมาปฏิบัติให้เรา ไม่มีใครมาบำเพ็ญบารมีให้เรา ชีวิตของเรานี้ถือว่าเกิดมาเพื่อสร้างความดีบำเพ็ญบารมี บำเพ็ญคุณธรรม ข้าว อาหารทุกอย่างนี้ เราเอาของเขามาบริโภค มาใช้สอยปัจจัย ทั้ง ๔ นี้ใช้เพื่อบำเพ็ญบารมี สร้างคุณธรรม ไม่ใช่เอามาหลงมาเพลิดเพลิน
ทุกท่านทุกคนต้องเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะ เป็นหน้าที่เราเอง ไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นเณร เป็นแม่ชี หรือว่าญาติโยม ชีวิตของเรานี้ คืออริยมรรคองค์ ๘ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จะใช้ชีวิตที่มันเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ มาประพฤติพรหมจรรย์ มาทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
โลกเค้าพัฒนาเรื่องวัตถุ เรื่องเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์น่ะ "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็ถึงมี" เราก็มาพัฒนา 'อริยมรรค' พัฒนา 'ข้อวัตรปฏิบัติ' ให้มีในตัวในตน พยายามเชื่อมั่นในตัวเองให้มาก ชีวิตนี้จะไม่ได้งมงาย ไม่ได้เพ้อฝันไปหลงความสุข ที่จะทำให้เราตกนรกไปจนไม่รู้จักที่จบที่สิ้น เราประพฤติปฏิบัติไปก็ย่อมเข้าถึงความสงบ ความดับทุกข์ไปเรื่อยๆ ให้พากันตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ในสิ่งที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติที่ถูกต้อง ทุกท่านทุกคนจะได้เข้าถึงความประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อประสบความสำเร็จคือเดินตามอริยมรรคสู่มรรคผลพระนิพพาน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee