แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๒๖ ศาสนากับการเมืองต้องไปด้วยกัน ถ้าแยกกันเมื่อไร การเมืองก็กลายเป็นเรื่องทำลายโลกขึ้นมาทันที
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ศาสนากับการเมืองมันคนละอย่าง การเมืองคือการปกครองประเทศ เป็นธรรมนูนของแต่ละประเทศ พระศาสนาคือธรรมะที่หมู่มวลมนุษย์ที่เกิดมาในโลกใบนี้ ที่ต้องพึ่งต้องประพฤติปฏิบัติ ศาสนาทุกศาสนาที่มีอยู่ในโลก มีแนวทางไปในทางเดียวกัน การปกครองทุกๆ ประเทศ ก็ย่อมไปในทางเดียวกัน ทางการเมืองก็มีธรรมนูญ ทางธรรมะก็มีธรรมนูญ มีบทบัญญัติของแต่ละศาสนา แต่การประพฤติการปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติร่วมๆ กันไป ทั้งการเมืองทั้งศาสนา แยกกันไม่ได้ เพราะทางการเมืองต้องปกครองตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อมีอยู่มีกินมีใช้ อำนวยความสะดวกความสบาย พระศาสนาก็มีขึ้นเพื่อไม่ให้หมู่มวลมนุษย์นี้หลง
พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมีถือว่าหลายล้านชาติ ธรรมะวินัยที่ท่านตรัสไว้ ทรงวางหลักการเป็นเวลา 45 ปี หรือว่า 45 พรรษา สมบูรณ์ พร้อมด้วยพระธรรมพระวินัย พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่มีตั้ง 21,000 พระธรรมขันธ์ พระสูตร 21,000 พระธรรมขันธ์ พระอภิธรรม 42,000 พระธรรมขันธ์ เป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบ หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาต้องปฏิบัติตนเอง พัฒนาตัวเอง เพื่อจะหยุดอบายมุข อบายภูมิ เรื่องยากจนเรื่องตามใจตัวเอง ทางพระศาสนาน่ะ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า สิ่งที่ปลอดภัยของหมู่มวลมนุษย์คือเอาพระธรรมเอาพระวินัยเป็นหลัก ไม่อาจจะทำตามใจตามอารมณ์ ตามความรู้สึกไม่ได้ ผู้ที่มีปัญญาทั้งหลาย ผู้ที่คงแก่เรียนทั้งหลาย ผู้ที่จบ ป.ตรี ป.โท ป.เอก ต้องพากันเข้าใจ ทุกคนจะไปทิ้งพระศาสนา ไปทิ้งความถูกต้อง ไปทิ้งความเป็นธรรมความยุติธรรมนี้ไม่ได้ เพราะนี้เป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เป็นเรื่องกฎแห่งความสันติสุข หรือว่าเป็นกฎแห่งพระนิพพาน สมณะที่ 1-4 ถึงมีอยู่ในอริยะมรรคมีองค์ 8 ทุกคนเข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ เข้าถึงความเป็นพระศาสนา เข้าถึงพระธรรมพระวินัยเหมือนกันหมด ไม่แยกว่าคนนี้ไม่ได้บวช คนนี้เป็นนักบวช คืออริยมรรคมีองค์ 8 มีอยู่ในชีวิตประจำวันของคนที่ยังไม่ตาย ปฏิบัติได้ทุกหนทุกแห่ง
พระศาสนากับการปกครองไปด้วยกัน เหมือนกายกับใจไปด้วยกัน เวลาเราเดินกายกับใจก็ไปด้วยกัน เวลานั่งเวลานอน ทุกอย่างไปด้วยกัน พระพุทธเจ้าซึ่งให้เราพัฒนา เพราะความสุขความดับทุกข์ของเรามันอยู่ที่กิจกรรม หรือศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ที่ปัจจุบัน มันไม่เกี่ยวกับฆารวาสไม่เกี่ยวกับนักบวชเลย แต่ผู้ที่มาบวชได้สิทธิพิเศษ บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ มีสิ่งที่อำนวยความสดวกความสบาย อย่างมากก็แค่รักษาเสนาสนะ รักษาวัสดุก่อสร้างให้มันดี แล้วเราก็ไม่ต้องไปขวนขวายไปทำอะไร ขวนขวายที่จะรักษาพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ 21000 พระธรรมขันธ์ เพราะเราทำอย่างนี้ เผ่าพันธุ์ของมนุษย์เข้าสู่ความเจริญ เพราะหมู่มวลมนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีแล้วพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน การโกงกินคอรัปชั่น การมีคดี การมีสงครามมันถึงจะหยุดลง ด้วยที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราต้องเข้าถึงแก่นแท้ เข้าถึงสัจธรรมที่เป็นตัวพระศาสนาที่แท้จริง ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เข้าถึงแก่นแท้ของการเป็นข้าราชการ เป็นนักการเมือง
เพราะความสุขนั้นอยู่ที่ทุกคนน่ะ พากันมาเสียสละสักกายทิฏฐิ ที่ไม่เป็นตัวเป็นตน เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ หมู่มวลมนุษย์ถึงมีความสุข หมู่มวลมนุษย์ถึงจะมีเครื่องอยู่ที่เป็นความถูกต้อง มันเป็นความเป็นธรรมเป็นความยุติธรรม ไม่เอาเปรียบใคร ถ้าไม่มีการเสียสละนี่ ไม่ไหวหรอก บ้านเรา เมืองเรา โลกเรา มันโกงกินคอรัปชั่นเยอะ ทั้งนักบวชก็ไม่ทำหน้าที่ก็ถือว่าโกงกินคอรัปชั่นเหมือนกัน นี่นะตามหลักเหตุตามหลักผล ตามที่มองดูความเป็นจริงที่บ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ โลกเราเป็นอย่างนี้ เพราะเราไม่รู้จักทุกข์ ยังไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงการดับทุกข์ ถือว่าเรายังไม่รู้อริยสัจ 4 นะ เราต้องพากันเข้าใจๆ แล้วก็ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เพราะความติด ความหลง ความอร่อยของโลกมันจัดการเราทุกคน ทุกคนไม่ได้เป็นไทยนะ ทุกคนเป็นทาสของอวิชชาของความหลงนะ ประเทศไทยหน่ะชื่อของประเทศไทยก็คือไม่เป็นทาสไม่เป็นอวิชชาเป็นความหลง เอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกคนต้องมีความตั้งมั่นในความถูกต้อง มีความเป็นธรรมมีความยุติธรรม
คำว่าเป็นทาสกับเป็นไท มันเนื่องกันอยู่กับหลักอันนี้ คนก็ไม่ชอบเป็นทาส ชอบเป็นไท เป็นอิสระแก่ตัว แต่คำว่าคนนั้น มันไม่รู้ว่าอยู่ที่ตรงไหน คือมันคนดี หรือคนชั่ว คนที่สติปัญญาหรือคนโง่ มันต่างกันอยู่ตรงกันข้าม เพราะงั้นถ้าเป็นทาสหรือเป็นไทมันเป็นสองความหมาย ตรงกันข้ามหรือแย้งกันอยู่เสมอไป จะยกตัวอย่างเช่นว่า เป็นทาสของเขา เป็นทาสของมนุษย์อยู่ด้วยกันเนี่ย กับเป็นทาสของพระธรรมมันไม่เหมือนกัน เรายอมเป็นทาสของพระธรรม อย่างอาตมาเนี่ย เรียกตัวเองว่าพุทธทาส สมัครเป็นของพระพุทธเจ้า คือเป็นทาสของพระธรรม มันก็ไปไหนไม่รอด มันก็มีแต่ที่จะประกอบหรือประพฤติ หรือกระทำ อยู่แต่ในคลองของธรรม แต่ถ้าเป็นทาสของคน มันก็แล้วแต่คนเขาจะใช้ มันคนละอย่างนะ เพราะฉะนั้นคำว่าทาสระวังไว้ให้ดี มันมีอยู่ 2 ความหมาย มันเป็นอุดมคติก็ดี แล้วเป็นทาสของธรรมมะ แล้วมันทำอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากประพฤติตามธรรมมะ แล้วมันก็ไม่มีผิด มันก็แก้ปัญหาได้ แต่ถ้าเป็นทาสของคน มันไม่ไหวแน่ แม้จะเป็นของคนดี ค่อยยังชั่วหน่อย มันก็ยังไม่ค่อยไหว แต่ถ้าเป็นทาสของคนชั่ว แล้วมันก็ยิ่งเหมือนกับว่า ตายซะยังดีกว่า
เพราะงั้นเป็นทาส หรือเป็นไท ก็ยังต้องระวังอยู่อีก มันกำกวม ถ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า มันก็คงปลอดภัยแน่ ถ้าเป็นทาสของคนมีกิเลส มันก็ไม่ไหว เพราะงั้นคำว่าทาสในที่นี้ ก็มี 2 ความหมาย ถ้าเราบูชาอุดมคติ บูชาความถูกต้อง อันนี้มันก็รอดตัวได้ อย่างนั้นแหละมันจึงจะเป็นอิสรภาพ
มันก็เลยเป็นคำพูดที่น่าหัว ถ้าเราเป็นทาสของพระธรรม เรากลับมีอิสรภาพ ถ้าเราเป็นทาสของคน ของกิเลส เราก็สูญเสียอิสรภาพ แม้ว่าทางร่างกายนี้มันจะดูก๋าหล๋า ว่าไม่เป็นทาสใคร คนโง่เข้าใจอย่างนั้นเสมอ คำว่าเป็นทาสหรือเป็นไทนี้ ต้องระวังให้ดี มันยังมีซ้อนๆ กันอยู่ ถ้าเป็นทางของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเป็นทาสของความถูกต้องนี้มันก็ไม่เป็นไร
เพราะฉะนั้นจงระวังให้ดีว่า อย่าเมามายในอิสรภาพจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันจะไร้อิสรภาพโดยสิ้นเชิง สำหรับผู้ที่เมามายในอิสรภาพ จนไม่รู้จักว่าอิสรภาพมันคืออะไร ความเป็นทาสนั้นคืออะไร
นายทุน กรรมกร เศรษฐี ทาส
ทีนี้ก็จะดูต่อไป ถึงคำที่มันเป็นปัญหาอื่นๆ ที่นี้ก็คำที่มีความหมายเป็นพิเศษ ที่ทำให้หลงกันอยู่ คำว่านายทุนกับคำว่าชนกรรมาชีพ นี้คู่หนึ่ง คำว่าเศรษฐีกับคำว่าทาสนี้คู่หนึ่ง
คำว่าเศรษฐีในครั้งพุทธกาล ไม่ใช่นายทุนอย่างสมัยนี้ คำว่าเศรษฐีอย่างครั้งพุทธกาลเค้าสะสมทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะงั้นคำว่าเศรษฐีครั้งนั้น ก็คือผู้ที่มีโรงทาน ถ้าว่าไม่มีโรงทาน ก็ไม่เป็นเศรษฐีอย่างครั้งพุทธกาล หรือตามแบบครั้งพุทธกาล นายทุนอย่างสมัยนี้ เค้าไม่ต้องมีโรงทาน เพราะว่าเค้ามีทุนมาก เค้าลงทุนเพื่อกอบโกยกำไร ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าเป็นเศรษฐีครั้งพุทธกาล และก็จะต้องมีโรงทาน จึงจะเรียกว่าเป็นเศรษฐี เพราะฉะนั้นคำว่าเป็นทาสในครั้งพุทธกาลที่เป็นทาสของเศรษฐี ช่วยเศรษฐีหาทุนเพื่อโรงทาน ทาสเดี๋ยวนี้มันก็เป็นทาสขี้ข้าที่หากำไรของพวกนายทุน คำมันเปลี่ยนแปลงความหมาย
ถ้าเศรษฐีครั้งพุทธกาลนั้น เค้าก็จะมีแต่โรงทานสำหรับช่วยเหลือคนจน ถ้าเป็นทาสในสมัยนั้นอย่างเศรษฐีก็คือร่วมมือกับเศรษฐีเพื่อหาทุนมาหล่อเลี้ยงโรงทาน ถ้ามันเป็นทาสของพวกนายทุน มันก็เป็นขี้ข้า หรือว่าเป็นเครื่องมือสำหรับหาทุน เพื่อความร่ำรวยของนายทุน ถ้าเป็นเศรษฐีครั้งพุทธกาล มันไม่ใช่นายทุน มันเป็นผู้ที่หาเงินมาเพื่อตั้งโรงทาน เพราะเขาวัดความเป็นเศรษฐีด้วยการมีโรงทานมาก หรือมีโรงทานน้อย นี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องดูให้ดีว่า ธรรมมันหลอกลวงยิ่งขึ้นทุกทีตามยุคตามสมัย
ความเจริญ ความเสื่อม
มันก็เลยอยากจะให้ดูไปถึงคำต่อไปที่ว่าความเจริญ หรือความเสื่อม ความเจริญ ถ้าเป็นในทางวัตถุมันก็ก้าวหน้าในทางวัตถุแต่มันลงเหวในทางวิญญาณทางจิตใจ ความเจริญอย่างวัตถุมันจะทิ้งพระเจ้า มันทิ้งพระธรรม เพราะงั้น คุณระวังให้ดี ที่จะไปชอบความเจริญ ดูว่าความเจริญอย่างไร ความเจริญทางวัตถุ มันก็ก้าวหน้าทางวัตถุ แล้วมันจะเกลียดพระเจ้า มันจะเกลียดธรรมมะ แล้วมันก็จะลงเหวทางวิญญาณ ที่นี้ความเสื่อม ถ้ามันเสื่อมทางวัตถุ มันก็ขาดแคลนทางวัตถุ ไม่เป็นไร แต่ขอให้มันสูง มันร่ำรวยทางวิญญาณ มันก็ไม่ยอมลงเหวเพื่ออบายมุข มันจะไม่ทิ้งพระเจ้า คำว่าวัตถุกับคำว่าวิญญาณ มันคู่กันอยู่ มันสำคัญอยู่ที่ทางวิญญาณหรือว่าทางจิตใจ ความเจริญทางวัตถุ มันจะปิดบังความเจริญทางจิตใจ ระวังให้ดี ถ้าพวกเรามัวเมาความเจริญทางวัตถุกันแล้ว ระวังให้ดี จิตใจมันจะเสื่อม ต่ำละลายไปโดยไม่รู้สึกตัว คำว่าเจริญ เจริญน่ะ ระวังให้ดี ให้มันควบคู่กันไปทั้งทางวัตถุ ทั้งทางจิตใจ
ถอยหลังเข้าคลองหรือก้าวหน้า
ทีนี้เราต้องการความเจริญ ก็หลับหูหลับตาสร้างกันแต่ทางวัตถุ มันก็เกิดเรื่องทางจิตใจ จิตใจมันก็เสื่อมลงไปจนสูญหายไป เนี่ยจะเป็นเรื่องที่ว่าผิดโดยไม่รู้ตัวว่าผิด ฆ่าตัวตายอย่างที่ไม่รู้ว่าเรากำลังฆ่าตัวตาย ทีนี้คำถัดไปที่มันเนื่องกัน ที่จะต้องรู้ ถ้าการถอยหลังเข้าคลอง ถ้าพูดอย่างนี้พวกคุณก็เครียดทันที ถอยหลังเข้าคลอง คุณต้องการก้าวหน้า ก้าวหน้า แต่การก้าวหน้าระวังให้ดี มันก้าวหน้าไปลงเหว หรือว่ามันก้าวหน้าพลัดตกหน้าผาลงไป มันเป็นอย่างนั้น
ทีนี้คำว่าถอยหลังเข้าคลองนี้มันจะถูกต้องขึ้นมาทันที สำหรับผู้ที่ก้าวหน้าจะพลัดเหวอยู่แล้ว ถอยหลังเข้ามาเสียมันถูกต้อง อยู่ในร่องในรอยนี้มันถูก และคำว่าถอยหลังเข้าคลองนี้ จะถูกสำหรับคนสมัยปัจจุบันนี้ ซึ่งกำลังออกนอกคลอง ออกนอกทางจะพลัดเหวอยู่แล้ว พลัดเหวแห่งวัตถุนิยม คือความสุขสนุกสนาน อะไรต่ออะไร ทางเนื้อทางหนัง ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความฉิบหายทั้งหลาย ถ้ามันออกไปนอกคลอง ที่นี้ถอยหลังเข้าคลอง ถ้ามันถอยหลังเข้ามาสู่ความถูกต้อง
คำว่าถอยหลังเข้าคลองก็เกิดเป็นสองความหมาย ถอยหลังเข้ามาสู่คลองแห่งความถูกต้อง ผิดเพราะมันเพราะมันได้ทำผิดไปมากแล้ว ถอยหลังเข้าคลองอย่างนี้ประเสริฐ วิเศษ จำเป็นและเหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับพวกคุณทั้งหลายที่จะต้องขอเรียกว่าเยาวชนสักหน่อย กำลังจะเดินผิดคลอง ก็ต้องถอยหลังให้ให้มันเข้าคลอง แล้วก็ดูให้ดี ให้มันถูกคลองที่แท้จริง อย่าให้มันหลอก อย่างแรกถอยหลังเข้าคลองนี้จะนึกถึงว่า วิญญาณของเด็กๆ ยังบริสุทธิ์ ไม่ค่อยเห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัวนี้เพิ่งเกิดเมื่อโตขึ้น โตขึ้น ยิ่งโตยิ่งฉลาดไปผิดทาง ก็ยิ่งเห็นแก่ตัวมาก นี่จะทำให้โลกให้ฉิบหาย เพราะความเห็นแก่ตัว
เด็กๆยังไม่รู้จักเห็นแก่ตัว ใช้อุดมคติอันนี้ก็ได้ เข้าไปสู่วิญญาณของเด็กๆอันบริสุทธิ์ ถ้าใช้คำว่าไม่เดียงสา มันก็จะมากเกินไป แต่ที่ใช้แล้วเหมือนกัน บริสุทธิ์เหมือนกัน มีลักษณะอย่างนั้น ไปสู่วิญญาณของเด็กๆที่บริสุทธิ์ ที่ยังไม่ทันจะเห็นแก่ตัว พอโตขึ้นก็เห็นแก่ตัวมากขึ้น มันก็เห็นแก่กิเลส เห็นแก่เนื้อหนัง เห็นแก่การถูกทางเนื้อหนังมากขึ้น ถอยหลังไปหาวิญญาณของเด็กๆอันบริสุทธิ์ของเด็กๆเนี่ย จะน่าดูกว่า น่าเลื่อมใส น่าบูชากว่า แล้วถอยหลังเข้าคลองของศีลธรรม ถ้าเราออกมานอกคลองของศีลธรรม แล้วที่ถอยหลังเข้าคลองของศีลธรรม กระทั่งไปถึงเข้าคลองของมรรค ผล นิพพาน อันสูงสุดในศาสนาทุกศาสนา พวกที่มีพระเจ้าเค้าก็เรียกว่าแผ่นดินพระเจ้า ถอยหลังเข้าไปหาแผ่นดินพระเจ้า ทุกศาสนา นี่ก็เรียกว่าถอยหลังเข้าคลอง คนเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้จัก แล้วก็ไม่สมัคร ถ้าเรารู้จักถอยหลังเข้าคลอง มันจะไปหาพระเจ้า ไปหาศาสนามากขึ้น
คลองของวัฒนธรรมนั้นก็มีอยู่ วัฒนธรรมที่เคยบริสุทธิ์ผุดผ่อง มันก็เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมเนื้อหนัง เห็นแก่กิเลส เค้าไม่ใช่จะด่าคนปัจจุบันนี้ หรือว่าด่าพวกตะวันตกว่าเค้ามีแต่วัฒนธรรมเนื้อหนัง บูชาเนื้อหนัง ไม่บูชาจิตใจ เรื่องถอยหลังเข้าคลองของวัฒนธรรมหรือว่าศีลธรรมที่เป็นเรื่องของจิตใจ เนี้ย เรียกว่าถอยหลังเข้าคลองของมรรค ผล นิพพาน ถ้าเรียกทางพุทธศาสนา ถ้าเรียกอย่างศาสนาอื่น ก็ถอยหลังเข้าไปหาพระเจ้า หาแผ่นดินของพระเจ้า มันก็จะมีผลให้ว่าพระเจ้ากลับมา ศาสนากลับมา เดี๋ยวนี้เรากำลังจะไม่มีพระเจ้า กำลังจะไม่มีศาสนา เพราะเห็นแก่เนื้อหนัง ความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางเนื้อหนัง เอาเนื้อหนังเป็นพระเจ้า เนี่ย ปัจจุบันนี้เป็นอย่างนี้ รู้จักแต่เรื่องเนื้อหนัง ก็จำเป็นอยู่เองที่แสวงหาแต่เรื่องความดีความสุขแต่ทางเนื้อหนัง เพราะว่าถอยหลังเข้าคลองเนี้ย มันมีปัญหาอย่างนี้เอง
พระพุทธองค์แสดงไว้อย่างชัดเจน "เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต = ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั้นมิใช่สภา" สัตบุรุษ คือ ผู้รู้จักเหตุผล-รู้จักตน รู้จักประมาณ-รู้จักกาล-รู้จักชุมชุม และรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
สัปปุริสธรรม หมายถึง ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี ธรรมของผู้ดี ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ข้อนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณเป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือ เป็นผู้ควรรับของที่เขานำมาถวาย
นอกจากนี้ ยังมีธรรมะอีกหมวดหนึ่งซึ่งคล้ายกัน คือได้มีการบรรยายถึง พระเจ้าจักรพรรดิว่าทรงประกอบด้วยองค์ 5 ประการ ย่อมทรงยังจักรให้เป็นไปโดยธรรม จักรนั้นย่อมเป็นจักรอันมนุษย์ผู้เป็นข้าศึกใดๆ จะต้านทานมิได้ และแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงประกอบด้วยธรรม 5 ประการเหล่านี้ ย่อมทรงยังธรรมจักรชั้นเยี่ยมให้เป็นไปโดยธรรม ธรรมจักรนั้นย่อมเป็นจักรอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้ ธรรม 5 ประการนี้ได้แก่ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท
๑. ธัมมัญญู รู้จักเหตุ ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่า หลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้นๆ เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นธัมมัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะอัพภูตธรรม เวทัลละ...
๒. อัตถัญญู รู้จักอรรถ อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ เป็นผู้รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นอัตถัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักเนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ๆ...
๓. อัตตัญญู รู้จักตน อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตนคือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร สามารถประเมินตนเองได้ในหลักธรรม ดังนี้ ศรัทธา (ชอบ รักในงานอะไร) ศีล (วินัย) สุตะ(ความรู้) จาคะ (ความเสียสละ) ปัญญา (กระบวนการในการพัฒนาความรู้ที่มีอยู่) เป็นต้น แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป
ก็ภิกษุเป็นอัตตัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ...
๔. มัตตัญญู รู้จักประมาณ มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณ ในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นมัตตัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร...
๕. กาลัญญู รู้จักกาล กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาลคือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นกาลัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น.
๖. ปริสัญญู รู้จักบริษัท ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นปริสัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้น เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้...
๗. ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกคบคน ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น
ก็ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ คือ บุคคล ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ
บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะพึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม
บุคคลที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม
บุคคลที่ไม่ตั้งใจฟังธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้
บุคคลที่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้
พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ที่ทรงจำไว้
บุคคลที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
พวกหนึ่งหารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่
บุคคลที่หารู้อรรถรู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
พวกหนึ่งปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
บุคคลที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ
บุคคลที่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้นๆ
ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 23
เราเป็นพระ เราเป็นชี เราก็ปฏิบัติอยู่ที่วัด เราเป็นญาติเป็นโยมเราก็ปฏิบัติที่บ้านที่ทำงาน เพราะทุกอย่างมันแก้ที่ตัวเรา ที่ปฏิปทาของเราเองพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราผัดวันประกันพรุ่ง
ถ้าเราแก้ตัวเองได้ ทุกหนทุกแห่งก็จะเป็นที่อยู่ที่มีความสุข เพราะปัญหาทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวของเราเอง อย่าไปคิดว่าเป็นเพราะสิ่งโน้นสิ่งนั้น สิ่งนี้มาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเรา มันเป็นเพราะเราเองนี้แหละเราสร้างตัวเองปฏิบัติตัวเอง จะได้พึ่งพาอาศัยตัวเองได้และคนอื่นเค้าก็จะได้พึ่งพาอาศัยตัวเราได้ แล้วทุกอย่างมันจะดี เรตติ้งของการเป็นมนุษย์มันก็จะสูงขึ้น ดีขึ้น ทุกคนก็จะต้องการเรา การบอกสอน หรือการนำทุกคนทำความดีมันก็จะง่ายขึ้น เพราะการประพฤติปฏิบัติมันแจ่มแจ้งในกาย วาจา ใจของเรา ว่าปฏิบัติอย่างนี้มันใช้ได้ ดับทุกข์ได้ เพราะมนุษย์เราเกิดมาถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อสร้างความดี สร้างบารมี สร้างคุณธรรม
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee