แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๒๓ วิญญาณเป็นพืชพันธุ์ กรรมเป็นผืนนา ตัณหาเป็นเชื้อยางเหนียว จึงมีการเวียนว่ายตายเกิดร่ำไป
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ มันมีอาหารอยู่สองอย่าง อาหารที่ทำให้คนเวียนว่ายตายเกิด อาหารทางกายก็เหมือนกับที่เรารู้เราเห็นที่เราบริโภค แล้วก็อาหารทางใจ ถ้าเรามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันก็จะเป็นอาหารไปสู่มรรคผลพระนิพพาน ที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ มนุษย์เราน่ะจึงต้องรู้จักอาหารนะ ความสุขความดับทุกข์ถึงอยู่ที่การมีปัญญาเมื่อมีปัญญา แล้วก็เข้าสู่กิจกรรมคือศีลสมาธิ มีความตั้งมั่นมีความสุขในการกระทำดีที่เป็นศีลสมาธิปัญญา หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายต้องพากันเข้าใจ ความสุขความดับทุกข์ของเรานี้ มันอยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง ความเป็นพระอริยเจ้า ก็อยู่ที่กายวาจาใจของเรา โลกกับธรรมนี้แยกจากกันไม่ได้หรอก ใจกับกายไปไหนก็ไปด้วยกัน เราต้องรู้จักการให้อาหารที่ถูกต้อง
เห็นไหมผู้ที่เป็นโรคเก๊า ที่เป็นโรคต่างๆ เค้าก็ให้หยุดกินอาหารอย่างนั้นอย่างนี้ที่มันแสลงต่อโรค โรคไตโรคตับโรคต่างๆ ก็จะมีให้หยุดกินอาหารอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งอันนี้คืออาหารกาย
พระพุทธเจ้าท่านทรงเก่งมากสุดยอดมาก ถ้าไม่เก่งจริงก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราต้องเข้าใจว่าเราเป็นผู้ที่ประเสริฐ เราต้องเข้าสู่ความเป็นพระ ต้องเข้าใจ ทุกคนก็มีความสุข ต้องหยุดตัวเองจากโรคจิตโรคประสาท การพัฒนาประเทศชาตินั้นถูกแล้ว มีรถมีเครื่องบิน แต่เราต้องพัฒนาใจ เราต้องรู้จักอาหารสองทาง ถ้าพุทธเจ้าถึงตรัสบอก โภชเน มัตตัญญุตา ให้รู้จักประมาณในการบริโภค อย่างประชาชนคนเลื่อมใสในพระศาสนา อยากได้บุญ ตระเตรียมอาหารมาถวายพระ พระพุทธองค์ก็ทรงสอนให้รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ให้หวานเกินไม่เค็มเกินไม่รสจัดเกิน ยังประเทศต่างๆ พระคุณเจ้าเป็นโรคเบาหวานเยอะ ทั้งโรคตับโรคไต โรคความดัน ไขมัน สารพัดอย่าง พระพุทธเจ้าทรงเตือนไว้ตั้ง 2600 ปีแล้ว ว่าให้โภชเน มัตตัญญุตา
พระพุทธเจ้าได้สอนให้พิจารณาอาหารในขณะบริโภคด้วยความไม่ประมาท ไม่ให้กินด้วยความเพลินเพลิงสนองตัณหา ดังพระพุทธพจน์ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ด้วยคิดเห็นว่า เราจักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา
จากพุทธพจน์นี้ สามารถจำแนกเป็นลักษณะการบริโภคอาหารตามแนวพุทธวิธีได้ ๘ ประการ ดังนี้
๑) ไม่รับประทานอาหารเพียงแต่ว่ากินเล่น อธิบายว่า เพื่อเล่น คือ ทำเป็นเครื่องหมายกีฬา เหมือนอย่างพวกเด็กชาวบ้าน เป็นต้น
๒) ไม่รับประทานอาหารด้วยความมัวเมาหลงในรสชาติ อธิบายว่า เพื่อความมัน คือ เป็นเครื่องหมายของความเมากำลัง และเป็นเครื่องหมายของความเมาเป็นบุรุษ เหมือนพวกนักมวย เป็นต้น
๓) ไม่รับประทานอาหารด้วยหวังว่าเป็นเครื่องประดับประดา อวดฐานะมั่งมี อธิบายว่า เพื่อประดับ คือ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นผู้มีองค์อวัยวะน้อยใหญ่อิ่มเต็ม เหมือนกับพวกหญิงชาววังและหญิงแพศยา เป็นต้น
๔) ไม่รับประทานอาหารด้วยหวังว่าจะตกแต่งร่างกาย อธิบายว่า เพื่อตกแต่ง คือ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส เหมือนกับหญิงละครและพวกหญิงช่างฟ้อน เป็นต้น
๕) ให้บริโภคอาหารเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ หมายถึง ความตั้งอยู่แห่งอัตภาพ คือ มหาภูตรูป ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม นับว่าเป็นประโยชน์หลักประการหนึ่งแห่งการบริโภคอาหาร เพื่อช่วยให้ร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรง สามารถประกบกิจการงานในหน้าที่ของตนได้ตามปกติและดำรงอยู่สืบเนื่องกันไป
๖) ให้บริโภคอาหารเพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป คือ การบริโภคอาหารเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ให้อยู่ในร่างกายต่อไป ไม่ใช่มีแต่ร่างกายแต่ปราศจากชีวิตหรือมีแต่ชีวิตแต่ไร้ร่างกาย การบริโภคอาหารจึงเป็นไปเพื่อเกิดสิ่งทั้งสองอย่างรวมกันอย่างสมดุลและดำรงอยู่ต่อไป
๗) ให้บริโภคอาหารเพื่อกาจัดความเบียดเบียน ความเบียดเบียนก็คือความหิว การบริโภคอาหารจึงเป็นไปเพื่อกำจัดหรือระงับความหิวซึ่งเป็นเวทนาเก่า และป้องกันไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ก็คือ ความไม่สบายกาย อันเกิดจากการบริโภคเกิดประมาณ
๘) ให้บริโภคอาหารเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ คือ ศาสนาทั้งหลวงอย่างหนึ่ง หมายความว่า เมื่อร่างกายได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยอาหารสมบูรณ์แล้วก็อำนวยประโยชน์ด้วยการทำความดี ทำคุณประโยชน์ หน้าที่ ส่วนตัวและส่วนรวม พรหมจรรย์หมายถึง การครองชีวิตประเสริฐ การประพฤติดีงามที่ประเสริฐ
เมื่อสามารถกำหนดละ คลาย ถอน ความยึดมั่นถือมั่นในรสชาติของอาหารได้แล้ว จึงจะเป็นแนวทางการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง เพราะความไม่ยินดีและความเมาอาหารนั้น อริยมรรคจึงบริสุทธิ์ได้ แนวทางปฏิบัติข้างต้นนี้ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบการพิจารณาอาหารสำหรับพระภิกษุจนถึงปัจจุบัน
การบริโภคอาหารนั้นต้องประกอบด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราหลง เพราะเราต้องเอาร่างกายมาเพียงบำเพ็ญบารมี ถึงจะปรุงอร่อย สำหรับผู้ที่อินทรีย์บารมียังไม่แก่กล้าเท่านั้นเอง อาหารทางใจ เราก็อย่าไปหลง เพราะทุกอย่างมันตั้งอยู่บนรากฐานแห่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อให้เป็นธรรมเป็นคุณธรรม คนเราหน่ะ พระพุทธเจ้าบอกว่า ต้องมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เรียกว่าอริยมรรค มีองค์ ๘ เราต้องพากันรู้จัก ที่จริงแล้วมนุษย์เรา ถ้าทำถูกต้องปฏิบัติถูกต้องแล้ว ความทุกข์ทางใจจะไม่มี ความทุกข์ทางกายนั้นเป็นเพียงให้เราได้ภาวนาวิปัสสนา ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ เราทุกคนนี่ไม่ควรจะปล่อยโอกาสให้เสียเวลาโดยที่ไม่ได้ปฏิบัติตนเอง ไม่ได้พัฒนาจิตใจตนเอง
อาหารใจก็เช่นเดียวกัน เราต้องเข้าสู่ศีลเข้าสู่ธรรมเข้าสู่พระศาสนา มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ ทุกๆ คนน่ะส่วนใหญ่มันติดความอร่อยของโลกของวัฏฏะ พระอรหันต์เท่านั้นที่ท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ปัจจุบันท่านดีท่านเก่ง ชีวิตนี้ก็เป็นการเดินไปแต่เพียงผู้เดียว โดยมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เป็นการปรับตัวเข้าหาเวลาเข้าหาธรรมะ เป็นศาสนา ศาสนาก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือศาสนา คือความเป็นธรรมความยุติธรรม ไม่ได้เข้าข้างใคร เราไม่อยากแก่มันก็ต้องแก่ เราไม่อยากเจ็บมันก็ต้องเจ็บ เพราะไม่อยากตายมันก็ต้องตาย จึงต้องรู้จักสัจธรรมเหล่านี้ให้ชัดเจน เราต้องรู้จักศาสนาคือสิ่งที่จะพัฒนาหมู่มวลมนุษย์ให้หยุดเวียนว่ายตายเกิด ให้ทันเวลาให้ทันท่วงที ตั้งอยู่ในความไม่เพลิดเพลินไม่ประมาท
ถึงเราจะอยากไม่ให้มันเป็นอย่างโน้น ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ ที่สำคัญเราต้องมาพัฒนาเรื่องอาหารใจ อย่างคนเราเนี่ยคิดถึงพ่อคิดถึงแม่ คิดถึงลูกถึงหลาน เราก็ต้องรู้จักว่า เราจะมายึดมาถือทำไม เพราะว่าจะไปพระนิพพานน่ะ พระนิพพานไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่มีพี่น้องหรอก แม้แต่ตัวเรายังไม่มีเลย แล้วก็ไปเจ็บใจตัวเองไปช้ำใจตัวเอง จะไปเจ็บช้ำยังไงมันก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติม เพราะเราให้อาหารใจไม่ถูกต้อง
เราต้องมาตัดความกังวลอันเป็นปลิโพธออกไป ...เบื้องหน้าแต่การชำระศีลให้หมดจดนั้น ก็ควรตัดปลิโพธ (ความกังวล) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในบรรดาปลิโพธ 10 อย่าง ที่พระอาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ปลิโพธ (ความกังวล) 10 ปลิโพธ เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเหตุกังวล, ข้อติดข้อง; ปลิโพธที่ผู้จะเจริญกรรมฐานพึงตัดเสียให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่งพร้อมที่จะเจริญกรรมฐานให้ก้าวหน้าไปได้ดีมี ๑๐ อย่าง คือ ๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับวัดหรือที่อยู่ ๒. กุลปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลญาติหรืออุปัฎฐาก ๓. ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ ๔. คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับคณะศิษย์หรือหมู่ชนที่ตนต้องรับผิดชอบ ๕. กรรมปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงานเช่น การก่อสร้าง ๖. อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกลเนื้อด้วยกิจธุระ ๗. ญาติปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติหรือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นห่วงซึ่งกำลังเจ็บป่วย เป็นต้น ๘. อาพาธปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง ๙. คันถปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน ๑๐. อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของปุถุชนที่จะต้องคอยรักษาไม่ให้เสื่อม (ข้อท้ายนี้เป็นปลิโพธสำหรับผู้จะเจริญวิปัสสนา เท่านั้น)
เราจะตัดปลิโพธ...ความกังวลได้ เราต้องสละคืนสักกายทิฏฐิ ที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา เราต้องคืนสู่ธรรมชาติคืนสู่ธรรมชาติ เมื่อสมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าแสดงธรรม แจ่มแจ้งไพเราะเพราะว่าทรงแสดงออกจากใจออกจากพระนิพพาน คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินได้ฟัง ก็บรรลุธรรมกันมากมายนับไม่ถ้วน ในขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมก็ส่งกระแสจิตไปตามกระแสเสียงแห่งพระธรรมเทศนา อันเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาในพระตถาคตเจ้า ที่เป็นตถาคตโพธิศรัทธา เจริญปัญญาในขณะนั้นๆก็ได้บรรลุธรรมกันมากมาย ถึงแม้คนที่หัวไม่ดีก็บรรลุธรรมได้ คนเราไม่ต้องไปรู้อะไรมากมายหรอก แต่ให้รู้ความจริง มีหนาวมีร้อนมีกลางวันกลางคืนมีสุขมีทุกข์มีดีใจมีเสียใจ มีสมหวังมีผิดหวัง ถ้าเราฟังโอวาทธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เกิดความศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ที่พระองค์ทรงสอน ว่าอย่าไปคิดแบบนี้ อย่าไปพูดแบบนี้ อย่าไปทำแบบนี้ มันก็เป็นของง่ายๆ เมื่อคนเรามีศรัทธา ความเชื่อความเลื่อมใส มีความไว้วางใจ ก็พร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม
อย่างเวลาเค้าจะเพาะเห็ดป่ามาปลูก ก็พัฒนาเช่นว่าเอาเห็ดที่บานค่อนข้างแก่แล้ว เอามาป่น ขยี้แช่น้ำ ไว้สัก ๑-๒ คืน แล้วก็ไปขุดดินลงซักหน่อยแล้วก็เอาเชื้อเหล่านี้ไปเพาะลงในดิน เพื่อให้มันมีเชื้อ
เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากเหตุจากปัจจัย เกิดจากเชื้อ เกิดจากกรรม เกิดจากการกระทำ เกิดจากระบบอาหารกายอาหารใจ
แล้วก็ต้องรู้จักอาหารใจ อาหารใจคือวิปัสสนา คือรู้อนิจจัง รู้ทุกขัง รู้อนัตตา พัฒนาตนเองให้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ไม่ต้องมองหาความหวานหอมอร่อยจากการเวียนว่ายตายเกิด ทุกคนพากันปฎิบัติ ทุกคนที่เกิดมาเนี่ยต้องมีความสมัครสมานสามัคคีกัน พ่อแม่ก็ให้ปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างแบบอย่างต้องใจเข้มแข็ง อย่างการจะสร้างพระองค์สวยงามก็ต้องมีแบบพิมพ์ การจะทำอะไรก็ต้องมีแบบพิมพ์มีเชื้อ ที่ส่งทอดทางดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ จากพ่อแม่ไปสู่ลูก ในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ จึงต้องเอาใหม่ อย่าไปเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ต้องเอาธรรมะเป็นที่ตั้ง
ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน ผู้ที่เดินทางจนเมื่อยล้าแล้วรู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางที่ยืดยาว แต่สังสารวัฏคือการเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ผู้ไม่รู้พระสัทธรรมยังยาวนานกว่านั้น สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อยๆ และการเกิดบ่อยๆ นั้น ตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวด ทรมาน และตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียนแล้วจะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว
ขุททกนิกาย ธรรมบท ธัมมปทัฏฐานกถา เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้า ๒๘๑-๒๘๙ เรื่องลูกสุกร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้ภัยในท่ามกลางสังสารวัฏ ตรัสพระธรรมเทศนาให้พุทธบริษัททราบถึง สังสารวัฏอันหาระหว่างมิได้ คือติดต่อกันจากภพนี้ สู่ภพอื่น ๆ ดังมีเรื่องของนางลูกสุกรเป็นอุทาหรณ์ ความว่า
วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ ทอดพระเนตรเห็นลูกสุกรตัวหนึ่ง ได้ทรงแย้มพระ โอษฐ์ พระอานนทน์ทูลถามเหตุแห่งการแย้มพระโอษฐ์นั้น พระศาสดาจึงตรัสถามพระอานนท์ว่า เธอเห็นนางลูกสุกร นั่นไหม ? พระอานนท์กราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า
พระบรมศาสดาจึงตรัสเล่าถึงบุรพกรรมของลูกสุกรนั้นว่า ในอดีตนางลูกสุกรนี้เกิดเป็นแม่ไก่ อยู่ในที่ ใกล้โรงฉันแห่งหนึ่ง ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ นางไก่นั้น ฟังเสียงประกาศธรรมของ ภิกษุรูปหนึ่ง สาธยายวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ นางจุติจากอัตภาพนั้นแล้วเกิดในราชตระกูล เป็นพระราชธิดาพระนามว่า อุพพรี ในกาลต่อมา พระนางเสด็จเข้าไปยังสถานที่ถ่ายอุจจาระ ทอดพระเนตรเห็นหมู่หนอน ยังให้ปุฬวกสัญญา (ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด) ให้เกิดขึ้นในที่นั้น ได้ปฐมฌานแล้ว พระนางดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นจนสิ้นอายุ จุติจากอัตภาพนั้น บังเกิดในพรหมโลก พระนางจุติจากพรหมโลก สับสนอยู่ด้วยอำนาจคติ จึงมาเกิดเป็นลูกสุกร ในบัดนี้ เราเห็นเหตุนี้ จึงได้ทำการแย้มให้ปรากฏ
พระบรมศาสดา ทรงยังความสังเวชให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว ทรงประกาศโทษแห่งราคะตัณหา ประทับยืนอยู่ระหว่างถนนนั้นเอง ได้ทรงภาษิตว่า ยถาปิ มูเล อนุปทฺทเว ทเฬฺห ฉินฺโนปิ รุกฺโข ปุนเรว รูหติเอวมฺปิ ตณฺหานุสเย อนูหเต นิพฺพตฺตติ ทุกฺขมิทํ ปุนปฺปุนํ.
เหมือนอย่างว่า เมื่อรากไม้ยังมั่นคง ต้นไม้แม้จะถูกตัดแล้ว ก็ย่อมงอกขึ้นได้ฉันใด เมื่อตัณหานุสัยยังไม่ถูกถอนขึ้นก็ฉันนั้น ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆ
กระแส (แห่งตัณหา) ๓๖ อันไหลไปในอารมณ์ เป็นที่พอใจ เป็นธรรมชาติกล้า ย่อมมีแก่บุคคลใด, ความดำริทั้งหลายอันใหญ่ อาศัยราคะย่อมนำบุคคลนั้น ผู้มีทิฏฐิชั่วไป.
กระแส (แห่งตัณหาทั้งหลาย) ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ตัณหาดุจเถาวัลย์แตกขึ้นแล้วย่อมตั้งอยู่, ก็ท่านทั้งหลายเห็นตัณหานั้น เป็นดังเถาวัลย์เกิดแล้ว จงตัดรากเสียด้วยปัญญาเถิด.
โสมนัสทั้งหลายที่ซ่านไป และเปื้อนตัณหาดุจยางเหนียว ย่อมมีแก่สัตว์, สัตว์ทั้งหลายนั้นอาศัยความสำราญ จึงเป็นผู้แสวงหาความสุข, นระเหล่านั้นแล ย่อมเป็นผู้เข้าถึงซึ่งชาติชรา.
หมู่สัตว์ อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว ย่อมกระเสือกกระสน เหมือนกระต่ายอันนายพรานดักได้แล้วฉะนั้น, หมู่สัตว์ผู้ข้องอยู่ในสังโยชน์และกิเลสเครื่องข้อง ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ อยู่ช้านาน.
หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว ย่อมกระเสือกกระสนเหมือนกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้วฉะนั้น. เพราะเหตุนั้น ภิกษุหวังธรรมเป็นที่สำรอกกิเลสแก่ตน พึงบรรเทาตัณหาผู้ทำความ ดิ้นรนเสีย.
ตัณหานุสัย – อนุสัยคือตัณหา กิเลสอันนอนนิ่งอยู่ในขันธสันดาน คติของบุคคลผู้ยังกิเลสเป็นของไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ สูงบ้างต่ำบ้าง
ตัณหาประกอบด้วยกระแส ๓๖ ด้วยสามารถแห่งตัณหาวิจริตเหล่านี้ คือตัณหาวิจริตอิงอายตนะภายใน ๑๘ ตัณหาวิจริตอิงอายตนะภายนอก ๑๘ (ตัณหานั้นท่านจัดไว้ตามธรรมดาเป็น ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา ๓ นี้ เกิดขึ้นเพราะอาศัยอารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ ๓ คูณด้วย ๖ จึงเป็น ๑๘) ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่าไหลไปในอารมณ์เป็นที่ชอบใจ เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า ย่อมไหลไป คือเป็นไปในอารมณ์มีรูปเป็นต้น อันเป็นที่ชอบใจ เป็นธรรมชาติกล้า คือมีกำลัง ย่อมมีแก่บุคคลใด, ความดำริทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นธรรมชาติใหญ่ เพราะความเป็นของใหญ่ โดยอันเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่อาศัยฌานหรือวิปัสสนา อาศัยราคะ ย่อมนำบุคคลนั้นผู้ชื่อว่ามีทิฏฐิชั่ว เพราะความเป็นผู้มีญาณวิบัติไป.
ความหิวและความต้องการของร่างกาย ร่างกายจะทรงอยู่ได้เพราะอาหาร มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงจะมีชีวิตอยู่ได้เพราะอาหาร การกินเพราะความหิวจึงเป็นการจำเป็น การกินเพราะความหิวมีเวลาอิ่มและเบื่อได้ ทั้งมีขีดจำกัด ตามขนาดกระเพาะของแต่ละบุคคล
ความอยาก เป็นอาการของใจที่ประกอบด้วยตัณหา การกินด้วยความอยาก หามีอะไรเป็นขอบเขตจำกัดไม่ ยิ่งหามาสนองความอยากได้มากเท่าใด ก็ยิ่งจะเพิ่มความอยากให้มากขึ้นเท่านั้น ที่สุดของความอยากไม่มี ผู้ที่กินด้วยความอยาก ย่อมไม่มีเวลาอิ่มท้องจะต้องแตกตาย เหมือนตาชูชกผู้กินด้วยความอยาก หาใช่กินเฉพาะทางปากเท่านั้นไม่ บางคนยังสามารถกินสิ่งที่ไม่น่าจะกินได้ เช่น กินจอบ กินเสียม กินตึก กินถนนหนทาง และรถเรือนเป็นต้น ไฟไม่อิ่มเชื้อ ทะเลไม่อิ่มน้ำฉันใด คนที่มีโลภตัณหาก็ไม่อิ่มในสิ่งใดๆ ดังภาษิตโตปเทศว่า
ธรรมดาไฟย่อมไม่พักพอไม้เชื้อ ทะเลใหญ่ไม่ปรากฏว่าเบื่อน้ำ
มฤตยูไม่เคยอิ่มหนำประชาสัตว์ นางผู้งามจำรัสก็ไม่รู้สึกจุใจในผู้ชาย
ขอเปลี่ยนวรรคสุดท้ายเป็น “คนละโมภสมบัติก็ไม่รู้สึกจุใจในสิ่งใด”
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น
นางลูกสุกรนั้น จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในราชตระกูลในสุวรรณภูมิ
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในกรุงพาราณสี
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเรือนพ่อค้าม้าที่ท่าสุปปารกะ
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเรือนของนายเรือที่ท่าคาวิระ
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในเรือนของอิสรชน ในเมืองอนุราธปุรี
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดเป็นธิดาในเรือนของกุฎุมพีชื่อสุมนะ ในเภกกันตคาม ในทิศ
ทักษิณของเมืองนั้น ชื่อ สุมนา ต่อมาบิดาของนางได้ไปสู่แคว้นทีฆวาปี อยู่ในหมู่บ้านชื่อมหามุนีคาม อํามาตย์ของพระเจ้าทุฏฐคามินี นามว่าลกุณฏกอติมพระ ไปที่บ้านของนางด้วยกรณียกิจบางอย่าง เห็นนางแล้ว ทํามหามงคลอย่างใหญ่ พานางไปสู่บ้านมหาปุณณคามแล้ว
ครั้งนั้น พระมหาอุตลเถระผู้อยู่ในมหาวิหารชื่อโกฏิบรรพต เที่ยวไปในบ้านนั้นเพื่อบิณฑบาต ยืนอยู่ที่ ประตูเรือนของนาง เห็นนางแล้วกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า นางลูกสุกรนี้ถึงความเป็นภรรยาของมหาอํามาตย์ชื่อ ลกุณฏกอติมพระแล้ว โอ น่าอัศจรรย์จริงพอนางได้ฟังคําที่พระมหาอตุลเถระกล่าวดังนั้นแล้ว กลับได้ญาณอันเป็นเหตุให้ระลึกชาติได้ นางเกิด ความสังเวช อ้อนวอนสามีขอบวชในสํานักของพระเถรีด้วยอิสริยยศอย่างใหญ่ ได้ฟังกถาพรรณามหาสติปัฏฐานสูตร ในติสสมหาวิหารแล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ภายหลังเมื่อพระเจ้าทุฏฐคามินีทรงปราบทมิฬได้แล้ว พระสุมนาเถรี กลับไปสู่บ้านเภกกันตคามซึ่งเป็นที่อยู่ของมารดาบิดา ได้ฟังอาสีวิสูปมสูตรในกัลลกมหาวิหาร ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ในวันที่จะปรินิพพาน นางถูกพวกภิกษุณีซักถาม นางได้เล่าประวัติทั้งหมดอย่างละเอียดแก่ภิกษุณี สงฆ์ทั้งหลาย แล้วสนทนากับพระมหาติสสเถระผู้กล่าวบทแห่งธรรม ผู้มีปกติอยู่ในมณฑลาราม ณ ท่ามกลาง ภิกษุสงฆ์ผู้ประชุมกันแล้ว กล่าวว่าในกาลก่อน ข้าพเจ้าจุติจากกําเนิดมนุษย์แล้ว เป็นแม่ไก่ ถูกตัดศีรษะจากสํานักเหยี่ยว ปฏิสนธิใน กรุงราชคฤห์แล้วบวชในสํานักปริพาชิกาทั้งหลาย แล้วเกิดในภูมิปฐมฌาน จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในตระกูล เศรษฐี ต่อกาลไม่นานนัก จุติจากมนุษย์แล้วไปสู่กําเนิดเดียรัจฉานเป็นลูกสุกร จุติจากอัตภาพนั้นแล้วไปสู่สุวรรณภูมิ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปสู่เมืองพาราณสี จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปสู่ท่าสุปปารกะ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปสู่ ท่าคาวิระ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปสู่เมืองอนุราธปุรี จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปสู่บ้านเภกทันตคาม ข้าพเจ้าได้ อัตภาพอันสูงๆ ต่ำๆ วนเวียนไปมาอยู่ในสังสารวัฏ ยาวนานอย่างนี้
บัดนี้ มีโอกาสได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้อัตภาพอันอุกฤษฎ์แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลาย จงยังธรรมที่เป็น กุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด นางสุมนาได้ยังบริษัท ๔ ให้สังเวช แล้วปรินิพพาน ดังนี้แล
ขอให้ทุกคนมีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีอะไรเป็นตัวตนอย่างแท้จริง ไม่น่าหลงด้วยกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้น ควรยับยั้งด้วยปัญญาเรียกว่าเป็นผู้รู้ด้วยปัญญามีความเห็นถูกต้อง ตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา จึงสมควรจะเรียกว่า เป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริง
แม้จะไม่เคยบวชไม่เคยรับศีล แต่ก็เป็นบุคคลที่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง เขามีจิตใจอย่างเดียวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือมีความสะอาด สว่าง สงบในใจ เพราะเหตุที่ไม่ยึดถือในสิ่งใด ว่าน่าเอา หรือน่าเป็นนั่นเอง เขาจึงเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์ อย่างง่ายดายและอย่างแท้จริง ด้วยอาศัยอุบายถูกต้อง ที่พิจารณามองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่ใช่ตัวตน ของตัวของตน จนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ น่าเอา น่าเป็นสักอย่างเดียว การรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดนั้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของตน เมื่อรู้โดยแท้จริงแล้ว ก็จะเกิดความรู้ชนิดที่จิตใจจะไม่อยากเป็นอะไรด้วยความยึดถือ แต่ถ้าต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ ที่เรียกว่า “ความมีความเป็น” บ้างก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจของปัญญา ไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจของตัณหา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความทุกข์เลย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee