แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้าตอนที่ ๒๒ การเรียนการศึกษานี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยังไม่ยิ่งเท่ากับนำตัวเองมาประพฤติปฏิบัติตามธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ศาสนาเป็นหลักเหตุหลักผลหลักวิทยาศาสตร์ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงจะมี เป็นการที่แก้ปัญหาได้ทางเศรษฐกิจ พระศาสนานี้แก้หมู่มวลมนุษย์ได้ทั้งทางจิตใจ ศาสนาถึงไปพร้อมกับหลักเหตุผล หลักวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องธรรมเป็นเรื่องปัจจุบันธรรม ที่เรายังไม่เข้าใจความจริง ไม่เข้าใจสัจธรรม ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ เราต้องพากันทำตามใจตัวเอง มันไม่ได้ หมู่มวลมนุษย์ต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราก็ต้องมีการทำการทำงาน การงานก็ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น เพราะทุกในโลกนี้เป็นพี่น้องกันหมด ตลอดถึงสรรพสัตว์ พัฒนาใจของเรา แล้วเราพัฒนาวิทยาศาสตร์ขึ้นมา เพื่อเราจะได้ไม่หลง
ทุกวันนี้ เราก็ถือว่าก้าวมาไกล มีรถ มีเครื่องบิน มีอะไรอำนวยความสดวกสบายทุกอย่าง ก็ถือว่าดีแล้วถูกต้องแล้ว เราจะเอาแต่ทางโลก เอาแต่ทางวัตถุ ไม่เอาทางจิตใจมันไม่ได้ มันสุดโต่ง
ต้องมีธรรมาธิปไตย คนเราทุกคนทุกครอบครัวจะได้หยุดอบายมุข หยุดกินเหล้าเมาเบียร์ เล่นการพนัน เราก็คิดดูตามหลักเหตุ หลักผล มันก็เจริญไม่ได้ มีแต่ความเสื่อม เราก็พัฒนาตัวเอง เหมือนกับพัฒนาวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ เน้นให้เข้ากับภาคปฏิบัติ เพราะทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ แล้วทุกคนก็มีหลักอย่างนี้ เรียกว่าเราจะได้มีพระศาสนาอยู่ในตัว เราปล่อยให้หมู่มวลมนุษย์ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไปในอบายมุข อบายภูมิ เราไม่รู้จักระบบสร้างเหตุ สร้างปัจจัย เราก็มีแต่จะแย่งเศรษฐกิจกัน แย่งอะไรกัน สามีภรรยาก็นอนไม่หลับเถียงกันแย่งขยะกัน วัดต่างๆ ก็ไม่รู้เรื่องศาสนา นึกว่าโกนหัวห่มผ้าเหลืองเป็นศาสนา ไม่รู้เรื่องการดำเนินชีวิต ไม่รู้เรื่องจิตใจ
ให้ทุกท่านทุกคนรู้ข้อวัตรกิจวัตรของตัวเอง ว่าถึงกาลถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเอาจริงเอาจัง เพื่อที่จะได้ละสีลัพพตปรามาส การยึดถือปฏิบัติที่เป็นสีลัพพตปรามาสนั้น เป็นความผิดพลาดเลยเถิดไปเพราะเจตนาของใจที่ขุ่นมัวโง่เลอะ ก็เลยยึดถือไปตามกิเลสที่เป็นเหตุต่างๆ คือ ๑. สีลัพพตปรามาสด้วยโมหะ คือยึดถือด้วยโมหะ ถือโดยหลงโง่งมงาย ปฏิบัติตามๆ เขาไปอย่างนั้นๆ โดยไม่รู้เรื่อง โดยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ความมุ่งหมาย อย่างที่ว่าแล้ว เขาสอนมาอย่างนั้น อาจารย์ทำมา ก็ทำตามกันไป อย่างนี้เป็นกันมาก เป็นสีลัพพตปรามาสด้วยโมหะ
๒. สีลัพพตปรามาสด้วยโลภะ ข้อนี้ท่านยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่น ถือศีลโดยอยากไปเป็นเทวดา คิดว่า เราถือศีลอย่างนี้แล้ว จะได้เป็นเทวดาองค์นั้นองค์นี้ จะได้มีอำนาจฤทธิ์เดชอย่างนั้นๆ เรียกว่า ยึดถือด้วยโลภะ ที่จริงนั้น การไปเป็นเทวดา ไปสวรรค์อะไรๆ นั้น เป็นเรื่องของผลพลอยได้ เป็นผลพ่วง เมื่อปฏิบัติถูก ก็ไปเอง เป็นธรรมดาของมัน ไม่ต้องไปอยาก
๓. สีลัพพตปรามาสด้วยโทสะ เช่น ยึดถืออย่างเป็นปฏิกิริยา ได้ยินเขาว่าแล้วขัดใจขึ้นมา ฮึดฮัดบอกว่า ข้าจะถือของข้าอย่างนี้แหละ ใครจะว่าอย่างไรก็ว่าไป โกรธ อย่างนี้ก็โทสะ
รวมความว่า สีลลพตปรามาส จะเกิดขึ้น เมื่อไม่ปฏิบัติด้วยปัญญา พูดสั้นๆ เอาง่ายๆ ก็ว่าปฏิบัติด้วยกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ แม้จะทำด้วยริษยาหรือกิเลสอะไร ก็อยู่ในนี้
ให้ทุกท่านทุกคนรู้ข้อวัตรกิจวัตรของตัวเอง ว่าถึงกาลถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเอาจริงเอาจัง เพื่อที่จะได้ละสีลัพพตปรามาส เพื่อที่จะตั้งมั่น ในพระพุทธเจ้า พระธรรม ดำเนินทางสู่ทางเดินของพระอริยสงฆ์ เพราะการท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร เป็นสิ่งที่ไม่น่าเพลินเพลิน ไม่น่ายินดี ทุกท่านทุกคนก็ต้องตัดสังโยชน์ เพื่อล่าก่อน หยุดก่อน เพื่อพลิกแผ่นดิน หรือว่าพลิกตัวตน จากของที่คว่ำให้หงาย ด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ ด้วยพลัง เราจะได้พากันประพฤติพรหมจรรย์ กัน 100%
พรหมจรรย์สำหรับประชาชน พรหมจรรย์สำหรับนักบวช ประชาชนก็ศีล 5 พระก็ศีล 227 ที่มาในพระปาฏิโมกข์ เพราะทุกท่านทุกคนก็ต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราจะได้ไม่เสียเวลาไปหาธรรมะที่ไหน เพราะธรรมะมันอยู่ในใจ ต้องเห็นความสำคัญในการประพฤติการปฏิบัติ เพราะเรารู้แล้วว่าไม่ได้ไปแก้ที่ไหน ไม่ได้ไปวิ่งหาที่ไหน มันอยู่ในใจ มันอยู่ในตัวในตนของเรา เพราะเราก็ต้องเปลี่ยนตนเองใหม่ ให้ตั้งใจ แล้วก็ทำเหมือนพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติไม่เอาความเป็นมนุษย์ หรือเอาความเป็นเทวดา เราเสียสละ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็นทางผ่านเฉยๆ ทุกท่านทุกคนต้องตั้งอยู่ในความไม่เพลิดเพลิน อยู่ในความไม่ประมาท ฝึกอานาปานสติ เพราะอานาปานสติ มันมีทั้งสมถะ มีทั้งวิปัสสนา ทุกเมื่อ ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ 8 เราจะจัดการทางจิตใจ รายรับรายจ่ายให้สมดุล เพราะทุกคนก็เลี่ยงไปเลี่ยงมา เพราะยินดีในวัฏฏะสงสาร ยินดีในกาม รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะมันเป็นยางเหนียว
การประพฤติการปฏิบัติ มันต้องติดต่อต่อเนื่องกัน มันเน้นที่ปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนไม่ได้ไปสู้กับใครหรอก สู้กับตัวเอง สถานที่เราก็สัปปายะ มีที่อยู่ มีที่อาศัย มีอาหาร ทุกท่านทุกคนก็ต่างพากันประพฤติ พากันปฏิบัติ ให้เป็นธรรม ไม่ต้องมาเป็นโลกธรรม ทุกท่านทุกคนอย่าไปคิดเลยว่าเราก็เป็นคนรวย เป็นคนมีฐานะ ก็พออยู่ได้ เราก็อย่าไปคิดเฉยๆ ยังไม่ต้องไปพระนิพพานก็ได้ ความคิดอย่างนี้ มันมีความแอบแฝงด้วยตัวตน อย่างนี้เราจะมารับจ้างเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้มันก็ไม่ดีเนอะ
ปัญญาของมนุษย์นี้สร้างสรรค์ก็ได้ทำลายก็ได้ สุดแล้วแต่ว่าได้รับการควบคุมด้วยศีลธรรม หรือมโนธรรมเพียงไร ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ ความทุกข์ในใจของมนุษย์นั้น จะเอาชนะได้ด้วยปัญญา บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ปัญญา ความรอบรู้ ความเข้าใจชีวิตดี ปัญญามีหลายแบบ ๑. สชาติกปัญญา เป็นปัญญาที่มีมาแต่กำเนิด
๒. โยคะปัญญา ปัญญาที่ได้จากการประกอบความเพียรหรือว่าลงมือปฏิบัติ แล้วรู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
๓. โธนปัญญา ปัญญาในการพิจารณาปัจจัย ๔ คือใช้ปัจจัย ๔ มีอาหารเป็นต้นด้วยปัญญา ใช้ปัจจัย ๔ ตรงตามจุดมุ่งหมาย
๔. อุทยัตถคามินีปัญญา ปัญญารู้การเกิดการดับของนามรูป
๕. นิพเพธิกปัญญา ปัญญาแทงทะลุสัจจะคือ ความจริงต่างๆ เช่น เรื่องทุกข์และการดับทุกข์ เป็นต้น
ในนิพเพธิกปัญญสูตร - ธรรมเพื่อความเป็นผู้มีปัญญา “ธรรม ๔ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส คือ การคบสัตบุรุษ ๑ การฟังสัทธรรม ๑ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ ธรรม ๔ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส”
๑. สัปปุริสสังเสวะ (คบสัตบุรุษ) หมายถึงการคบคนดีมีความสามารถ “หาครูบาอาจารย์ที่ดีให้พบ” ครูผู้รู้ ผู้ทรงคุณงามความดี มีความประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ การเลือกครูดีนั้น ต้องพิจารณา ๒ เรื่องใหญ่เป็นสำคัญ คือ ต้องพิจารณาจากการมีความรู้จริงและการเป็นคนจริง เราจึงจะแน่ใจได้ว่าท่านจะสามารถสอนได้จริงทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนเพราะครูคือต้นแบบ และต้องเป็นต้นแบบที่ดี สมบูรณ์พร้อมในทุกด้านซึ่งหาได้ยากยิ่งนัก ข้อ ๑ สัปปุริสสังเสวะ การคบหาคนดี หรือคบหาเสวนาสัตบุรุษ อันนี้เป็นหลักธรรมสำคัญ ที่เรามักจะเรียกว่า การคบหากัลยาณมิตร หรือการมีมิตรดี
การคบหาคนนั้น เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม ถ้าคบหาคนไม่ดี ก็พาให้ห่างไกลจากความเจริญงอกงาม ในทางตรงข้าม ก็จะนำไปสู่ความเสื่อม แทนที่จะได้ความดี ก็ได้ความชั่ว อย่างที่ท่านกล่าวว่า คบหาคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้น
ดังที่ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับเอาใบไม้ไปห่อของ ถ้าเอาใบไม้ไปห่อของเหม็น ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นเหม็นไปด้วย ถ้าเอาใบไม้นั้นไปห่อของหอมอย่างเช่นไม้กฤษณา ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นหอมไปด้วย
ถ้าคบหาคนชั่ว ก็นำไปสู่ความชั่ว ความเสื่อมเสียหาย ถ้าคบหาคนดี ก็นำไปสู่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า
ในทางธรรม การที่จะเจริญก้าวหน้าได้ ก็ต้องคบหาบุคคลที่ดีก่อน คนดีที่ควรคบหาเรียกว่า สัตบุรุษ ซึ่งท่านยกตัวอย่างไว้ ยอดของสัตบุรุษก็ได้แก่พระพุทธเจ้า รองลงมาก็ได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งพระสาวก ท่านผู้รู้ธรรม ผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณธรรม หรือผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ถ้าผู้ใดประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ก็เรียกว่า เป็นสัตบุรุษ (คนเก่าๆ มักเรียกว่า สัปบุรุษ) สัปปุริสธรรม ๗ ประการนั้น ว่ากันแต่โดยหัวข้อว่า รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบุคคล รู้จักชุมชน คือคบหาคนดี คนที่มีความรู้ คนที่ทรงคุณธรรม
อันนี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะให้ได้ฟังคำแนะนำสั่งสอน และได้แบบอย่างที่ดี เพราะว่าท่านที่มีความรู้ ก็สามารถให้ความรู้ เมื่อมีการให้ความรู้ ได้รับการเล่าเรียนศึกษา ก็สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จผล ในทางพระพุทธศาสนาถือการคบหานี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ท่านเล่าเป็นนิทานชาดกก็มี อย่างเรื่องลูกนกแขกเต้า ที่ท่านเล่าว่า ลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว ตอนแรกก็อยู่ในรังเดียวกัน พอดีวันหนึ่งมีพายุใหญ่มา พัดเอารังกระจัดกระจาย ลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว ก็พลัดกันไป ตัวหนึ่งไปตกที่อาศรมพระฤษี อีกตัวหนึ่งไปตกที่ซ่องโจร นก ๒ ตัวนี้ก็เจริญเติบโตมาในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
เรื่องนี้ท่านเล่าไว้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของการคบหา หรือสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การคบหาจึงเป็นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม
คนดี หรือ คนชั่ว ที่จะคบหานั้น ไม่ใช่เฉพาะเป็นคนที่พบปะพูดคุยกันเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ยังมีคนที่พูดที่แสดงตัวออกมาให้เราคบทางหนังสือ และสิ่งตีพิมพ์ที่อ่าน วิทยุ เทปที่ฟัง ทีวี วีดิโอที่ชมที่ดู เป็นต้น อีกด้วย
เมื่อคบหาสัตบุรุษ คบหาคนดีแล้ว ต่อไปก็มาสู่หลักข้อที่ ๒
๒. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังธรรม) หมายถึง “ฟังคำสอนครูบาอาจารย์ให้ชัด” เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว สิ่งสำคัญอันดับที่สองก็คือ ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของท่าน เอาใจใส่เล่าเรียน บุคคลที่อยู่กับคนที่ดีมีความรู้ ก็มีโอกาสมากที่จะรับฟังคำสั่งสอน แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ท่านบอกว่าเหมือนทัพพี กับ ลิ้น ที่ต่างกัน
ทัพพี นั้นอยู่ในหม้อแกง แต่ไม่เคยรู้รสแกงเลย เปรียบเหมือนกับคนที่มาอยู่ใกล้บัณฑิต ใกล้นักปราชญ์ แต่ไม่รู้จักสดับตรับฟังหรือสังเกต แม้จะได้ไปบ้าง ก็เป็นเพียงสิ่งแวดล้อมประดับตัว ถ้าไม่ได้ใส่ใจฟังคำแนะนำสั่งสอน ก็ไม่ได้รู้อะไรมาก เหมือนกับทัพพีที่ไม่รู้รสแกง
นี่ต่างกับลิ้น ลิ้นนั้น ถ้าตักแกงเพียงช้อนเดียวใส่เข้าไปในปาก ก็รู้รสแกง ว่ามีรสอร่อยหรือไม่อร่อย เผ็ดเค็มเปรี้ยวอย่างไร เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า ให้ทำตนเหมือนกับลิ้นที่รู้รสแกง ไม่ให้ทำตนเหมือนกับทัพพี
เมื่อทำตัวเหมือนกับลิ้นที่รู้รสแกงแล้ว ก็เป็นอันว่าเข้าหลักที่เรียกว่า สัทธัมมัสสวนะ คือฟังคำสอนของท่านผู้รู้ด้วย
เมื่อฟังธรรม สดับคำสอนของท่านแล้ว ก็มาสู่หลักที่สามข้อต่อไป
๓. โยนิโสมนสิการ (ไตร่ตรองธรรม) หมายถึง “ตรองคำครูบาอาจารย์ให้ลึก” เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว ได้ฟังคำครูชัดเจนทำใจโดยแยบคาย, รู้จักคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผลคุณโทษในสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟังนั้น จับสาระที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
รู้จักไตร่ตรองพิจารณาด้วย คือฟังอย่างเดียวไม่พอ ฟังแล้วรู้จักคิดรู้จักพิจารณา จึงจะได้ประโยชน์ อันนี้ก็มีข้อเปรียบเทียบอีก ท่านเปรียบเทียบเหมือนกับเรื่องหู หูนั้นก็มีหูคน กับหูของ หูของ อย่างหูกา หูกระทะ ก็เรียกว่าหูเหมือนกัน แต่ว่าได้แค่คนจับ ดึงเอาไป เอาไปทำโน้น เอาไปทำนี่ แล้วแต่คนจะชักพาไป ไม่เหมือนหูคน หูคนนั้นฟัง ฟังแล้ว พินิจพิจารณาด้วย รู้จักคิดว่า อันนี้มีเหตุมีผลอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าเชื่อ น่าฟังหรือไม่ ไม่ถูกชักพาไปในความหลง
หมายความว่าหูคนนั้น จะชักพาเอาไปเหมือนอย่างหูกาหูกระทะไม่ได้ แต่รู้จักคิดรู้จักพิจารณาด้วย
การรู้จักคิดรู้จักพิจารณานี้ ก็คือการใช้โยนิโสมนสิการ การไตร่ตรองพิจารณาโดยใช้ปัญญา ว่าที่ท่านพูดมาแสดงมานั้น มีเหตุมีผลหรือไม่อย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะได้สืบสาวราวเรื่อง คิดแก้ไขให้ถูกจุดถูกขั้นตอน รู้จักนำความรู้มาใช้ให้ถูกจุดถูกแง่ จึงจะได้ประโยชน์ ตลอดจนรู้จักพิจารณา เช่นว่าหลักธรรมข้อนี้ ท่านกล่าวไว้นั้น มีความมุ่งหมายอย่างไร นำไปใช้ในกรณีไหนจะถูกต้อง จึงจะเกิดผลเกิดประโยชน์
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม) หมายถึง “ทำตามครูบาอาจารย์ให้ครบ” ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฎิบัติธรรมถูกหลัก สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของธรรมทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน, ปฏิบัติธรรมนั้นๆ ให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับธรรมข้ออื่นๆกลมกลืนกันในหลักใหญ่ที่เป็นระบบทั้งหมด, ดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรม
มนุษย์เรามีปัญญาสามารถสารพัดอย่าง แต่บกพร่องหรือขาดปัญญาในการที่จะเอาชนะความทุกข์ ชาวโลกจึงระงมไปด้วยความทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชาวโลกตั้งอยู่ในทุกข์ (ทุกฺเข โลโก ปติฏฺฐิโต) ทั้งนี้เพราะความเข้าใจผิด เพราะการถือผิด สมดังสุภาษิตในวิธุรชาดกว่า “ชาวโลกได้พากันวอดวายมามากแล้ว เพราะการถือผิด” คือ ถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ มีความคิดผิดเป็นทางดำเนิน มีปัญญาผิด จึงไม่พบสิ่งที่เป็นสาระ บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาย่อมประสบสุขได้ แม้ในเหตุการณ์ที่น่าจะทุกข์ หมายความว่า เปลี่ยนสิ่งร้ายให้กลายเป็นสิ่งดี เหมือนทำขยะมูลฝอยให้เป็นปุ๋ยเป็นต้น
ปรัชญาของชีวิตในการเรียนการรู้การศึกษานี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยัง ไม่ยิ่งเท่ากับนำตัวเองมาประพฤติมาปฏิบัติ การเสียสละและรับผิดชอบ มีความตั้งมั่น อนาคตบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเข้าถึงความสุขความดับทุกข์แน่นอน ชื่อว่า 'เป็นบุคคลที่มีหลักของชีวิต'
เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเรื่องใดเกิดขึ้น ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยใจที่สงบเยือกเย็น ปัญหาทั้งหลายนั้นมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม จงแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา สติมาปัญญาจะเกิด สติเตลิด มักจะเกิดปัญหา ปัญญานี่แหละที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ยิ่งจิตว่างจิตละเอียด ปัญญายิ่งละเอียดลึกซึ้ง ความรู้ความเห็นกว้างไกล ทำให้การตัดสินใจถูกต้อง มีวินิจฉัยไม่ผิดพลาด ดังพระบาลีว่า "นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอ ด้วยปัญญาไม่มี" ยิ่งกว่านั้นแสงสว่างแห่งปัญญานี้ ยังสามารถขจัดกิเลสอาสวะ และครอบงำอวิชชาที่ปิดบังใจของชาวโลกได้ ทำให้เปลี่ยนจากคนธรรมดา มาเป็นผู้รู้แจ้งโลกได้ในที่สุด
คนเราต้องปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราจะได้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้มันเป็นมหาสติปัฏฐาน เราจะได้ปฏิบัติเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันถึงมี เพราะเราหยุดวัฏสงสาร เราหยุดโรงงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด รูปเสียงกลิ่นรส ลาภยศสรรเสริญไม่ให้มันดึงเราไป เราต้องไปตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้น คือ ผู้ที่ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีอะไรที่หลงเหลืออยู่ เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เราต้องเดินตามท่าน เราทำไมถึงโชคดีแท้ เราจะปฏิบัติสมัยครั้งพุทธกาล หรือ สมัยนี้มันอันเดียวกัน มันไม่แตกต่างกันหรอก ยิ่งสมัยนี้ ยิ่งมีเทคโนโลยีเยอะ ยิ่งสะดวกทางภายนอก ทางจิตใจ นี้เราบริโภคทุกอย่างด้วยปัญญา สัมมาสมาธิ ทุกท่านทุกคนต้องเข้มแข็ง ถ้าเราไม่เข้มแข็งมันเป็นพระไม่ได้หรอก ปัญญานี้เราต้องเห็นโทษให้ภัยในวัฏสงสาร
เราจำเป็นจะต้องตัดสิ่งมันยึดมันหลง คือความยึดมั่นถือมั่น เพราะเวทนา ความสุข ถ้าหลงในความสุขมันก็ต้องมีทุกข์ เพราะว่ามันเป็นของคู่ เราต้องมีสัมมาสมาธิ เราต้องรู้จักปรุงแต่ง ถ้าไม่ปรุงแต่ง เรื่องมันก็จบกัน เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้มีความสุข เราจะได้รู้ข้อวัตรปฏิบัติ เราจะรู้ว่าปฏิบัติยังไง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติอย่างนี้แหละปฏิบัติถูก ถึงคราวแล้ว ถึงเวลาแล้ว วันหนึ่งของเรานี้ คือการปฏิบัติ เราอย่าไปอาลัย อาวรณ์ ให้คิดว่าชาตินี้มันต้องเป็นชาติสุดท้ายของเรา เราอย่าไปต่อเติมเสริมอะไร เพราะเราดูแล้ว ทุกคนว่าเดี๋ยวก่อนๆ
มันไม่ได้อย่างนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท ความเพลิดเพลิน เราทุกคนนะ ความสุขมันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มีความสุขที่การเสียสละ มหาเศรษฐีมันมีความสุขไม่ได้ เพราะความสุขมันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน มหาเศรษฐีก็ยังสร้างปัญหาให้ ผู้ที่เป็นคนรวย หรือว่าเป็นเทวดา ผู้ทรงฤทธิ์ทรงอภินิหาร มันก็ต้องหมดบุญ เพราะว่ายังเป็นผู้หลงอยู่ ความสุขของมนุษย์มันถึงอยู่อย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เพื่อมาทำที่สุดแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงของตนเอง พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้บอก ครูบาอาจารย์ก็เป็นผู้บอก เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เราไม่ต้องไปเครียดมัน ให้เรามีความสุขกัน เราจะไปทำงานก็มีความสุขในการทำงาน เพราะเราเอาอิริยาบถทั้ง ๔ เขาเรียกว่า ปฏิบัติสม่ำเสมอ
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเข้าใจ การเรียนการศึกษาที่กล่าวมา เพื่อให้เข้าใจ เพื่อจะได้พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อมาเสียสละ การดำรงชีพ การทำมาหากิน มันต้องพัฒนาใจพร้อมๆ กันไป มันจะไปเอาเเต่ทางโลก ทางวัตถุ ทางวิทยาศาสตร์ไปไม่ได้ เพราะการดำเนินชีวิตมันต้องประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา ใจของเราต้อง มีสัมมาทิฏฐิ มีการประพฤติการปฏิบัติ เป็นศีลสมาธิ ปัญญาในปัจจุบันไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มันจะไม่มีความสงสัยเลยว่า ตายเเล้วเกิด ตายเเล้วสูญ มันจะเข้าสู่ความสุข ความดับทุกข์ในปัจจุบัน เพราะมันจะเป็นปัจจุบันธรรม เพราะทุกอย่างมันจะเลื่อนไปเรื่อยๆ ผู้ที่เกิดมา เราจะเป็นศาสนาพุทธคริสต์ อิสลาม เราก็พากันปฏิบัติอย่างนี้เเหละ เพราะเราทุกคนเกิดมาเพื่อมาปฏิบัติธรรม ผู้ที่เป็นบรรพชิตก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าตั้งเเต่พระโสดาบันไปถึงพระอรหันต์ ผู้เป็นฆราวาสก็จะได้เป็นพระอริยเจ้าตั้งเเต่ พระโสดาบัน จนไปถึงพระอนาคามี โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ มันขึ้นอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติ
วันเวลา ผ่านไป ให้หยุดคิด เพียงสักนิด ว่าเรา จะไปไหน
ถามใจดู ถามให้รู้ จากภายใน ถ้าตอบได้ ก็จะรู้ อย่าดูนาน
เพราะเวลา ไม่มี ให้นานนัก หากมัวรัก ผูกใจ หลายสถาน
เหมือนติดบ่วง รัดไว้ ทุกวันวาร เพราะบ่วงมาร ร้อยรัด มัดโดยตรง
มาคนเดียว ไปคนเดียว คือจริงแท้ อย่ามัวแต่ ยึดไว้ ใจลุ่มหลง
สัจธรรม คือธรรมะ พระพุทธองค์ ยังมั่นคง มิแปรผัน ชั่วกาลนาน ฯ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee