แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๒๐ ผู้ที่เคยประมาทมาก่อน แต่ถ่ายถอนความมัวเมาได้ ย่อมสว่างไสวเหมือนจันทร์เพ็ญฉะนั้น
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเขมร ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย ประเทศเนปาล ภูฏาน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น นับแต่โบราณกาลหลายร้อยหลายพันปี เอาพระพุทธศาสนาเป็นการพัฒนาใจเอาความรู้ในการเรียนการศึกษามาพัฒนา คือพัฒนากายพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ในการดำรงชีพและพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เป็นสิ่งที่ดีมากเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก ทุกอย่างนั้นย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ถ้าเราจะหยุดไม่ให้มันมีเราก็ต้องหยุดที่ความคิดคำพูดและการกระทำ
ชีวิตของมนุษย์จึงเป็นชีวิตที่ประเสริฐมาก ที่ได้มีการพัฒนาตนฝึกตนจนมีบ้านมีรถมีเครื่องบินมีสิ่งอำนวยความสะดวกความสบาย ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ พระศาสนานี้ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ พระศาสนาก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือศาสนา ให้ฝ่ายนักบวชพากันรู้และผู้ที่เป็นฆราวาสก็ต้องรู้ว่า ความเป็นพระที่แท้จริงนั้นอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันถึงจะเป็นพระศาสนาเป็นพระธรรมเป็นพระวินัย ทุกศาสนาก็ไปในทางเดียวกันนี่แหละ ไม่ได้แบ่งแยกกันหรอก เพราะความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพรากก็ไม่ได้แบ่งแยก กัมมุนา วัตตะตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม คำนี้ก็ชัดเจนในเรื่องของความเป็นสากลของเรื่องกฎแห่งกรรม
ร่างกายของเราก็อยู่ได้ไม่เกิน 120 ปี ทุกวันนี้การแพทย์การโภชนาการก็ทันสมัย ทำให้หมู่มวลมนุษย์มีอายุที่ยืนขึ้น จะมองเห็นคนที่อายุ 80-90-100 ปี มีมากขึ้น แต่ทุกอย่างมันก็ไม่จีรังยั่งยืน ให้ทุกท่านทุกคนต้องเอาหลักพระศาสนามาใช้มาปฏิบัติ เพื่อเราจะได้เข้าถึงความเป็นพระ เพราะดูแล้วการเรียนการศึกษานี้ยังไม่ค่อยได้เอาเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ จะว่าปฏิบัติไม่ได้ มันไม่จริง เพราะว่าคนยังไม่ตายก็ยังหายใจอยู่ มนุษย์ยังไม่ตายยังหายใจได้ มันต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติ เราต้องรู้จักสิ่งที่สำคัญสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้อง ต้องพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์เป็นสุดยอดมนุษย์
ผู้ที่มาบวชมาปฏิบัติ ให้พากันหยุดหลอกลวงประชาชน สมาทานเอาพระธรรมพระวินัยเอาพระศาสนา เพื่อบ้านเราเมืองเราลูกเรา จะได้มีการโกงกินคอรัปชั่นน้อยลง มันก็ไม่ยากหรอก เพราะว่าทุกคนก็เพียงแต่แก้ไขตัวเอง ที่มันยากก็เพราะว่ามีแต่จะไปแก้ไขคนอื่น โดยไม่แก้ไขตัวเอง ถ้าทุกคนแก้ไขตัวเองวันเดียวก็ดีหมดทั้งโลกได้ แต่มันมีปัญหา เพราะมีแต่จะไปแก้คนอื่นนี่แหละ
ที่พูดเมื่อวานนี้ก็ศาสนพิธีนี้ก็ถูกต้องแล้ว ที่มีข้าราชการมีทหารตำรวจมีองค์กรต่างๆ มีพระมีเณรมีแม่ชี ที่เป็นแบรนด์เนม แต่ถ้าไม่ได้มีการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็ยังไม่ใช่พระศาสนา เราจะไปแยกทางธรรมออกจากทางโลกไม่ได้ เพราะคนเรากายกับใจมันก็อยู่ด้วยกัน เดินไปทางไหนก็ไปด้วยกัน นอนก็นอนอยู่ด้วยกัน นั่งก็นั่งอยู่ด้วยกัน เพราะธรรมะนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องพัฒนาตนเอง หมู่มวลมนุษย์นี้ไม่ควรจะแตกแยกกันไม่ควรจะมีสงครามประหัตประหารกัน ไม่ควรจะประดิษฐ์อาวุธร้ายแรงต่างๆ มาทำร้ายกัน เพื่อแย่งขยะแย่งอวิชชาแย่งความหลงกัน เพราะว่าความดับทุกข์นั้นไม่ใช่ตามหลักอวิชชาตามความหลง เพราะความสุขความดับทุกข์นั้นอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการคิดดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ กิริยามารยาทดี มีความสุขในการทำงาน มันอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี เราจะได้หยุดความเป็นโจรในตัวเรา หยุดอวิชชาในตัวเรา จะได้ไม่ต้องไปแก้แต่ปลายเหตุมีกฎหมายมีประชาธิปไตย แต่ถ้าเอาตัวตนเป็นใหญ่ มันก็แก้ปัญหาไม่ได้อยู่แล้ว อัตตาธิปไตยที่เอาตัวตนเป็นใหญ่ ไม่ได้เอาธรรมเป็นใหญ่
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้พัฒนาทั้งภายนอกที่ไม่เบียดเบียนกัน พร้อมทั้งพัฒนาใจ ภายในไปพร้อมๆ กัน มีความสุขมีความสะดวกมีความสบายแล้วไม่หลง เพราะจะไปหลงอยู่ไม่ได้ ทุกอย่างมันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เราจะไปแข่งกันร่ำกันรวย มันไม่ไหวตัวเราก็สีเทาคนอื่นก็สีเทา สีเทาต่อสีเทาบวกกันมันก็จะกลายเป็นสีดำ ถ้าบ้านเราเมืองเรามันสีเทามากเกิน เพราะไม่มีความละอายต่อบาปไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป มันเลยจะกลายเป็นสีดำในที่สุด
ทำไมมนุษย์จึงยอมตัวอยู่ภายใต้การจองจำของสังคม ซึ่งมีแต่ความหลอกหลอนสับปรับและแปรผัน ทำไมมนุษย์จึงยอมตัวเป็นทาสของสังคมจนแทบจะกระดิกกระเดี้ยตัวมิได้ จะทำอะไรจะคิดอะไรก็ต้องคำนึงความรู้สึกของสังคมไปเสียหมด สังคมจึงกลายเป็นเครื่องจองจำชนิดหนึ่ง ที่มนุษย์ซึ่งสำคัญตัวว่าเจริญแล้วช่วยกันสร้างขึ้น เพื่อผูกมัดตัวเองให้อึดอัดรำคาญ มนุษย์ยิ่งเจริญขึ้น ก็ดูเหมือนจะมีเสรีภาพน้อยลงทั้งทางกายและทางใจ ดูๆ แล้วความสะดวกสบาย และเสรีภาพของมนุษย์จะสู้สัตว์ดิรัจฉานบางประเภทมิได้ มันมีเสรีภาพที่จะทำอะไรตามใจชอบอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่นฝูงวิหคนกกา
มนุษย์เราเจริญกว่าสัตว์ ตามที่มนุษย์เราเองชอบพูดกัน แต่ดูเหมือนพวกเราจะมีความสุขน้อยกว่าสัตว์ ภาระใหญ่ที่ต้องแบกไว้ คือ เรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ นั้นเป็นภาระหนักอึ้งของมนุษย์ชาติ สัตว์ดิรัจฉานตัดไปได้อย่างหนึ่ง คือเรื่องเกียรติคงเหลือแต่เรื่องกาม และเรื่องกิน นักพรตอย่างท่านนี้ตัดไปได้อีกอย่างคือเรื่องกาม คงเหลือแต่เรื่องกินอย่างเดียว ปลดภาระไปได้อีกมาก และการกินอย่างนักพรตกับการกินอย่างผู้บริโภคกาม ก็ดูเหมือนจะมีข้อที่แตกต่างกันอยู่ ผู้บริโภคกามและยังหนาแน่นอยู่ด้วยความรู้สึกทางโลกียวิสัย เมื่อกินบางทีก็กินเพื่อยั่วยุกามให้กำเริบ และต้องกินอย่างมีเกียรติ กินให้สมเกียรติ มิใช่กินเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้อย่างสมณะ ความจริงร่างกายคนเรามิได้ต้องการอาหารอะไรมากนัก เมื่อหิวร่างกายก็ต้องการอาหารเพียงเพื่อบำบัดความหิวเท่านั้น แต่เมื่อมีเกียรติเข้ามาบวกด้วยจึงกลายเป็นเรื่องกินอย่างเกียรติยศ และแล้วก็มีภาระตามมาอย่างหนักหน่วง คนจำนวนมากเบื่อเรื่องนี้ แต่จำต้องทำเหมือนโคหรือควายซึ่งเหนื่อยหน่ายต่อแอกและไถ แต่จำใจต้องลากมันไป ลากมันไป อนิจจา!
มีพุทธพจน์อยู่บทหนึ่งว่า “ยโส ลทฺธา น มชฺเชยฺย ได้ยศแล้วไม่พึงเมา”
เป็นคำเตือนผู้ได้ยศเพื่อไม่เมายศ โบราณว่า เมายศ ลืมตาย เมากาย ลืมแก่ เมาผัวเมีย ลืมพ่อแม่ เมาเหล้า ลืมศีลธรรม
ยศนั้น ท่านแจกไว้ ๓ อย่าง คือ อิสริยยศ ความเป็นใหญ่
เกียรติยศ ความมีเกียรติคุณดี บริวารยศ ความเป็นผู้มีบริวารมาก
ผู้มีเพียงอย่างเดียว ถ้าขาดสติระวัง ก็ทำให้เมาได้มากแล้ว ผู้มีพร้อมทั้ง ๓ อย่าง และขาดสติระวังจะเมามากสักเพียงใด
แต่บุคคลบางคน เมื่อได้ยศมาแล้วกลับหลงมัวเมาในยศ ใช้ยศถาบรรดาศักดิ์ที่มีในทางที่ทุจริต ใช้ยศใช้ตำแหน่งไปกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบคนอื่น แสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวโดยเบียดเบียนคนอื่น ถือตัวว่าตนเองมียศมีศักดิ์ คนเช่นนี้เรียกว่า เมายศ
คนที่เมายศถาบรรดาศักดิ์ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นคนฆ่าตัวเอง คือใช้ยศของตัวเองนั้นฆ่าตัวเอง สุดท้ายการใช้ยศในทางที่ไม่ถูกไม่ควรนั้น จะทำให้เขาเองต้องเสื่อมยศ จากสูงสุดคืนสู่สามัญ เมื่อเสื่อมยศก็เสื่อมเกียรติ แล้วความเสื่อมอื่นๆ ก็จะตามมา ดังนั้น ท่านจึงสอนว่า อย่ามัวเมาในยศถาบรรดาศักดิ์ เพราะยศนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีได้ก็เสื่อมได้ ให้หมั่นสร้างคุณงามความดีเอาไว้มากๆ ดีกว่า
ชาวบ้านส่วนมาก เป็นผู้เมาตัว เมากาย เมาเมียหรือผัว เมาเหล้าและเมายศกันอยู่เป็นประจำ จึงทำให้สังคมนี้ มืดมัว สับสนไปด้วยความเมา
บรรพชิตหรือสมณะ เป็นผู้ชี้ทางเพื่อสร่างเมา หรือเพื่อย่ำยีความเมา (มท นิมฺมทโน) อันเป็นไวพจน์หนึ่งของพระนิพพาน จึงได้รับยกย่องเป็นพิเศษจากประชาชนชาวบ้าน ได้อภิสิทธิ์มากมายหลายประการ แต่ถ้าบรรพชิตหรือสมณะ เป็นผู้เมาเสียเอง เช่น เมาตัว เมายศศักดิ์แล้ว ใครจะเป็นตัวอย่างแบบอย่าง ในความไม่เมาหรือทำความเมาให้สร่าง
พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยตรัสกับพระนาคิตะว่า (มาหํ นาคิต ยเสน สมาคมํ มา จ มยา ยโส) “นาคิตะ ขอยศ จงอย่าได้มาเกี่ยวข้องกับเรา และขอเราอย่าได้ไปเกี่ยวข้องกับยศ” นาคิตสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต
ทรงเห็นว่า ลาภ ยศ และชื่อเสียงนั้น ถ้าขาดความระวังแล้วเป็นอันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะต่อบรรพชิตหรือสมณะ
เหตุที่คนต้องก่อกรรมทำเข็ญ ก็เพราะแย่งลาภ แย่งยศ แย่งเปลือกที่ห่อหุ้มร่างกายของคน มนุษย์ทุกวันนี้วัดคุณค่าของคนกันที่เปลือก ยิ่งมีเปลือกหนามากเท่าใด ก็แสดงถึงความเป็นคนมาขึ้นเพียงนั้น แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ บางทีคนบางคนยิ่งเปลือกหนามาก ยิ่งมีความเป็นคนน้อยลงทุกที ความเป็นมนุษย์อันสมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจนั้น อาจจะอยู่ในเรือนร่างของบุคคล ที่สังคมกันรังเกียจก็ได้ สังคมยิ่งปลอมมากขึ้นเท่าใด ก็ย่อมรังเกียจของแท้มากขึ้นเพียงนั้น มนุษย์เรายิ่งแสวงหาความสุข ชอบใจในความสุขปลอมๆ มากขึ้นเพียงใด ความสุขที่แท้จริงก็ลดลงมากเพียงนั้น ยศศักดิ์ ตำแหน่ง ฐานะ เหล่านี้เป็นเปลือกของคน เป็นสิ่งที่หุ้มห่อมิให้เห็นตัวคนจริง บางคนหลงใหลในเปลือกของตน จนความเป็นมนุษย์ไม่เหลืออยู่ในเรือนร่างเลย
ถ้าคนมีจิตสำนึก ย่อมรู้จักคุณค่าของคนบ้าง ว่าอยู่ที่ความดีงาม ความมีเมตตากรุณา รู้จักหวั่นใจในความทุกข์ของผู้อื่น และไม่แสวงหาความสุขเพื่อตน โดยเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน
ถ้าปราศจากคุณธรรมเสียแล้ว มนุษย์ไม่เพียงแต่จะแสวงหาความสุขไม่พบเท่านั้น แต่เขาจะยิ่งมีความทุกข์ ที่สลับซับซ้อนมากขึ้นอีกด้วย
คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ถ้าต้องการความสุข ก็จงลดความอยากให้น้อยลง” จากหนังสือพระอานนท์พุทธอนุชา ถ้าเราถือตามพระดำรัสของพระศาสดาความเดือดร้อนวุ่นวายก็จะหมดไป ความสงบร่มเย็นก็จะเกิดแก่ตัวเอง และสังคมประเทศชาติ ทุกวันนี้คนไม่รู้จักคำว่าพอ จึงเดือดร้อน ต้องแย่งชิงกัน ด้วยเล่ห์เหลี่ยมอันไม่ชอบธรรม
“ความพอจะไม่มี ถ้ามนุษย์ไม่จำกัดขอบเขตแห่งความพอของตนไว้ มนุษย์ส่วนมากมิได้จำกัดของเขตแห่งความพอไว้ สิ่งที่ได้มาจึงเป็นเหมือนเชื้อไฟ มาเพิ่มความต้องการอย่างใหม่เจริญขึ้นรุนแรงมากขึ้น กระเถิบไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด
มนุษย์ได้พากันแสวงหาสิ่งภายนอกมาบำรุง ปรนเปรอตนก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยพบจุดอิ่ม เหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ เขาจะไม่พบความสงบสุข หรือสมปรารถนา ที่ถาวรแท้จริงได้ แต่เมื่อใดบุคคลใดมากำหนดรู้ความอยากอันไม่มีที่สิ้นสุด แล้วละความอยากในส่วนที่ไม่จำเป็นเสีย ดำรงชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ แต่ขยัน และเสียสละ พัฒนาสร้างสรรค์ ทำให้ผู้อื่นมากกว่าสะสมไว้เพื่อตัวเอง เมื่อนั้นแหละเขาจึงจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง คนส่วนมากประพฤติตนตามความอยาก ตกอยู่ใต้อำนาจของความอยาก มีใจพร่องอยู่เป็นนิตย์ ต่อเมื่อความตายมาถึง มัจจุราชมาเยือน และดึงตัวเขาไป เขาก็ต้องละสมบัติทั้งปวงไป ญาติพี่น้องบริวารก็ต้านทานไม่ได้ เขามาคนเดียวและไปคนเดียวตามกรรมของตนๆ ผู้สั่งสมบาปไว้ย่อมต้องประสบทุกข์ในโลกหน้า ส่วนผู้สั่งสมบุญไว้ย่อมประสบสุข บุญบาปนี้ต่างหากที่จะติดตามเขาไป เป็นสมบัติของเขา หาใช่สมบัติภายนอกไม่ ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ จึงควรสั่งสมความดี ไม่เบื่อหน่ายในการสั่งสมกรรมดี”
ความเมาในอำนาจ เป็นแรงผลักดันที่มีพลังมากพอให้คนทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มีอำนาจยิ่งขึ้น พร้อมๆ กันนั้นมันทำให้เขาลืมทุกสิ่งทุกอย่าง หัวใจที่เร่าร้อนอยู่แล้วของเขา ถูกเร่งให้เร่าร้อนมากขึ้น ด้วยความทะยานอยากอันไม่มีขอบเขต ไม่ทราบว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน วัตถุอันวิจิตรตระการตานั้น ช่วยเป็นเชื้อให้ความทะยานอยากโหมแรง กลายเป็นว่ายิ่งมียิ่งอยากใหญ่ แม้จะมีเสียงเตือน และเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาว่า ศีลธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนสังคม และคุ้มครองโลก แต่บุคคลผู้รับรู้ และพยายามประคับประคองศีลธรรมมีน้อยเกินไป สังคมมนุษย์จึงวุ่นวาย และกรอบเกรียมอย่างน่าวิตก
ความทุกข์ยากลำบาก และความดิ้นรนต่างๆ ของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งกระเสือกกระสนไปด้วยดวงใจที่ว้าเหว่ ไร้ความหวังรวมทั้งตัวอย่างชีวิตแห่งผู้ทุจริต คดโกง แล้วประสบภัยพิบัติในบั้นปลาย น่าจะเป็นบทเรียนที่ดียิ่ง แต่ บุคคลผู้มุ่งแต่ความสุขสำราญของตน ย่อมไม่อาจมองเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ จนกว่าภัยพิบัตินั้นได้มาถึงตัวเอง จึงจะคิดได้ แต่ทุกอย่างก็สายเสียแล้ว เมื่อเขาต้องรับชะตากรรมด้วยตัวของเขาเอง
คนชั่วเมื่อขณะทำชั่วอยู่ และกรรมชั่วยังไม่ให้ผล เขากระหยิ่มยินดีว่าเขาเก่งกล้าสามารถ ทำอย่างนั้นได้ทำอย่างนี้ได้ ไม่มีใครว่าอะไร ไม่มีใครกล้าทักท้วง เขายิ่งเหิมเกริมทำชั่วต่อไปอย่างเมามัน แม้ผู้หวังดีจะตักเตือนท้วงติง ก็ดูหมิ่นผู้ตักเตือนนั้นว่า เป็นผู้เยาว์บ้าง มีศักดิ์น้อยกว่าตนบ้าง เขาหลงตนหลงอำนาจวาสนาอันเป็นของเขาชั่วคราว แต่เมื่อใดกรรมชั่วอันเขาสั่งสมวันละน้อยเพิ่มพูนมากขึ้น และวิบากแห่งกรรมดีเก่าก่อน ก็ร่อยหรอลงวันละน้อยจนหมดสิ้น ไม่มีแรงต้านทานอีกแล้ว เมื่อนั้นเขาต้องเสวยผลกรรมอันทารุณแสบเผ็ด โดยไม่มีสิ่งใดทัดทานได้ ในเวลานั้นแม้จะรู้สึกตัว แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้เสียแล้ว
เมาบุญ เมาโลกธรรม การเมาบุญยังมีระดับการเมาที่หลงไปในระดับที่ลึกยิ่งกว่า นั่นคือเมาบุญในระดับหลงโลกธรรม คือหลงยึดติด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
เมาบุญหลงลาภ เช่น การทำทานที่เข้าใจไปว่าจะนำมาซึ่งความเจริญ เช่นคิดว่าทำทาน 1 พัน แล้วจะได้กลับมา 1 ล้าน หรือคิดว่าทำบุญ 1 ล้านแล้วจะสามารถซื้อนิพพาน ซื้อสวรรค์วิมานอยู่ได้ ตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ เป็นการหลงเมาบุญในเชิงของลาภหรือในลักษณะของการเอาลาภไปแลกลาภ
เมาบุญหลงยศ เช่น การที่เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสดูแลใกล้ชิดพระเกจิอาจารย์ หรือพระดังต่างๆ บางครั้งถึงขนาดใช้เวลาไปเสาะหา ติดตามพระดังทั้งหลาย พระรูปไหนที่เขาว่าดีก็ตามไปหมด เพื่อที่จะเสริมคุณค่าและบารมีให้กับตัวเอง หลงมัวเมาไปว่าพระดัง หรือวัดดังเหล่านั้นจะเป็นบุญบารมีคุ้มกันภัยให้ตนเองได้ หรือถึงขั้นเอาครูบาอาจารย์ไปอวดอ้างเพื่ออวดเบ่งบารมีของตนเอง ว่าฉันนี่แหละที่เป็นศิษย์ท่านนั้นท่านนี้ ฉันดูแลพระรูปนั้นรูปนี้ เพราะมัวเมาหลงบุญหลงยศไปพร้อมๆ กัน
เมาบุญหลงสรรเสริญ เช่น การมีความอยากในการเป็นประธานของงานบุญใหญ่ งานกุศลสำคัญต่างๆ หลงคิดว่าการที่ตนได้เป็นประธานนั้นจะนำมาซึ่งบุญที่มากกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกิดจากความเมาสรรเสริญร่วมด้วย คืออยากให้คนเคารพนับหน้าถือตา ให้คนเขามาชม ให้มีเรื่องไปอวดชาวบ้าน ว่าเป็นตนนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ใจบุญน่าเคารพยกย่อง จึงชอบไปทำบุญทำทานเพื่อการได้หน้า เพราะเขาเหล่านั้นหลงมัวเมาไปในบุญพร้อมกับเมาสรรเสริญ
เมาบุญหลงสุข เช่น ผู้ที่ทำบุญทำทานทั่วไป เมาไปในการทำบุญ หลงสุขติดสุข ในระดับเสพติดการทำบุญทำทานในลักษณะของทางโลก หวังแต่สวรรค์ เขาเหล่านี้จะหลงมัวเมาในบุญโลกียะเหล่านี้ ทำให้ติดหลงสุข ไม่ปฏิบัติในธรรมที่สูงกว่า ดีกว่า วิเศษกว่า นั่นคือศีล สมาธิ ปัญญา เพราะมัวแต่พอใจกับกุศลทางโลก จึงเป็นความมัวเมาที่มาบดบังกุศลที่แท้จริง
เราจะเห็นผู้ที่เมาบุญในระดับของโลกธรรมเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มจะมีความสมบูรณ์ในชีวิต มีการงานดี มีครอบครัวดี มีลูกน้องบริวารดี เขาเหล่านั้นก็จะเริ่มหากิเลสในระดับที่มากขึ้นมาปรนเปรอตัวเอง โดยการเลือกมัวเมาไปกับ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเขาหลงเข้าใจไปว่าสิ่งเหล่านั้น จะทำให้ตัวเขามีความสุข
เมาบุญในระดับอบายมุข และถ้าหากมัวเมาในบุญมากๆ ก็มักจะหลงไปในการเมาถึงระดับของเดรัจฉานวิชา ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำและหยาบ เพราะขาดปัญญาสัมมาทิฏฐิ นอกจากจะไม่เกิดบุญอย่างที่เข้าใจแล้ว ยังสร้างความหลงมัวเมาบาปอกุศลในระดับที่มากอีกด้วย
คนที่เมาบุญจนขาดสติ มักจะไปหลงมัวเมาในผู้บวชเป็นภิกษุ หรืออาจารย์ที่ทำเดรัจฉานวิชา แล้วหลงเข้าใจว่าสิ่งนั้นคือบุญคือกุศล สิ่งนั้นคือศาสนา สิ่งนั้นคือสิ่งดี เช่น ทายนิมิต ทำนายฝัน ทำพิธีเป่าเสก ทำนายทายทักวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หมอผี หมอลงยันต์ ดูฤกษ์ ดูดวง ดูดาว ทำนายฟ้าฝน ทรงเจ้า ทำพิธีเชิญขวัญ พิธีบนบาน การแก้บนต่างๆ ฯลฯ
เหล่านี้คือเดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นวิชาที่พาโง่ โดยคนโง่ เพื่อคนโง่ พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอันไม่เป็นกุศล ไม่เป็นบุญ ไม่พาลดกิเลส ไม่พาพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ ท่านให้เว้นเสียจากกิจกรรมพิธีรีตองพวกนี้ คนที่หลงมัวเมาไปก็มีแต่จะเพิ่มทุกข์ คนที่ใช้วิชาเหล่านี้ก็มีแต่จะเพิ่มวิบากบาปให้ตนเอง เพราะไปทำให้คนอื่นหลงมัวเมา เพื่อแลกกับการเสพ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และเป็นการเพิ่มกิเลสของตัวเองด้วย
สุนทรภู่กล่าวไว้ว่า “อันเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี่ประจำทุกค่ำคืน”
การเมาดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นการเมาทางใจ เมื่อถูกย้อมเข้าไปหลายครั้ง หลายหน ก็เป็นการยากที่จะสำรอกให้ออกได้ ถ้าผู้ได้มาไม่สำเหนียกตระหนักให้ดี ก็จะติดแน่นอยู่กับมัน เมาไม่สร่างอยู่กับสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง และยังจะมีความปรารถนายิ่งๆ ขึ้นไป และย้อมใจให้เมายิ่งขึ้น มิได้ตระหนักถึง พระพุทธดำรัสตรัสเตือนว่า “มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา”
ผู้ตื่นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่ฝัน ในขณะฝันก็เห็นเป็นเรื่องจริงจัง มีดีใจ หรือโศกเศร้า เสียใจ ตื่นเต้น ตกใจ เรื่องราวในชีวิตก็ทำนองนั้น สำหรับผู้หลับอยู่ด้วยกิเลสนิทรา ย่อมเห็นเป็นจริงจัง ผู้ตื่นแล้วย่อมรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งสมมติเหมือนของเด็กเล่น ต่างเพียงว่าผู้ใหญ่เอามาเล่นเท่านั้นเอง
ดอกไม้ สดสวยเพียงใดก็จบลงด้วยการร่วงโรย สิ้นไป เสื่อมไป รูปร่างผิวพรรณของมนุษย์ บุรุษสตรีก็เป็นอย่างนั้น ย่อมพ่ายแพ้แก่ชราและความตาย ในระหว่างมีชีวิตอยู่ก็ต้องผจญภัยนานาประการ เหน็ดเหนื่อย น่าเบื่อหน่ายเพียงไร ทุกอย่างซ้ำซากจนไม่มีรสเหมือนชานอ้อย
ชีวิตแวบเดียวก็ตายแล้วเหมือนสายฟ้า สว่างแวบเดียวแล้วหายไป เมื่อเทียบกับอายุของขุนเขา ทะเล ท้องฟ้า และจักรวาล ชีวิตมนุษย์ช่างน้อยนักเหมือนหยาดน้ำค้างบนใบหญ้า พลันอันตรธานเมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงแรงกล้า จึงไม่ควรประมาทเลย
ด้วยประการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นจนถึงตรงนี้ บุคคลผู้มีญาณจักษุจึงไม่ควรมัวเมาในสิ่งใดๆ กัน จะนำทุกข์มาให้ตนและผู้อื่น
เรื่องการกินการดื่มการเสพนี้ส่วนใหญ่ก็มาจากพ่อจากแม่มาจากการคบเพื่อนเกรดต่ำ มาจากการคบคนพาล มาจากการคบคนไม่ได้มาตรฐาน พ่อแม่ต้องบอกสอนลูก คุณครูก็ต้องบอกสอนลูกศิษย์ อันไหนดีไม่ดีต้องสอนให้รู้ให้ชัดเจน มงคลชีวิตจะเกิดขึ้นมาก็เริ่มต้นที่การคบคนดี เห็นไหมพ่อแม่หัวดีสายพันธุ์ก็ดี ก็มาจากพ่อจากแม่ การเรียนการศึกษาก็เช่นเดียวกัน อันไหนไม่ดีเราอย่าไปทำตามเพื่อนตามฝูง เพราะทุกอย่างนั่นแหละ การเสพของเราที่เสพทางตาหูจมูกลิ้นกายใจคือการมีเพศสัมพันธ์ มันจะไปตามสิ่งแวดล้อม ตัวนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เราก็ดูตัวอย่างแบบอย่างประวัติศาสตร์ มันไม่เพี้ยนหรอก การเสพหรือว่าถูกต้องสัมผัสอะไรก็ต้องให้มีปัญญา มันจะได้พัฒนาตนเองในปัจจุบัน ที่มันเป็นภาพรวมของโลกหรือของประเทศที่หลงเสพกันอยู่ รู้ว่ามันผิดแต่ทำกันมากจนเป็นประชาธิปไตย ถึงจะเป็นประชาธิปไตยก็จริงแต่มันก็ผิด พระพุทธเจ้าถึงสอนให้ครอบครัวพ่อแม่ก็ต้องมีความเห็นไปในทางเดียวกันเป็นสัมมาทิฏฐิ เค้าเรียกว่ามีความประพฤติเหมือนกัน มีศีลเสมอกัน มีสมาธิความตั้งมั่นเหมือนกัน มีปัญญาเหมือนกัน
อย่างเราไปอยู่วัดไหน จะเป็นพระอรหันต์เป็นพระอริยะเจ้าได้ ก็ต้องมีครูบาอาจารย์มีตัวอย่างแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ท่านถึงว่าการได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นบุญเป็นกุศลเยอะ เพราะว่าเป็นบัณฑิตที่แท้จริง การได้เห็นพระอรหันต์พระอริยเจ้า ก็ได้บุญเยอะ ได้ฟังธรรมคำสั่งสอนได้ถวายทานก็มีบุญใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่ การจะเปลี่ยนแปลงตัวเองมันก็ต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราอย่าไปกลัวมันอดกลัวมันยากลำบาก เราต้องเข้มแข็งอดทนปฏิบัติอย่างนี้ เราจะไปใจอ่อนไม่ได้
เราจะคิดว่าไม่สำคัญ นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เราคิดว่าอันนี้ไม่ดี แต่ก็ยังไปคิดมันอีก มันไม่ได้ เพราะใจของเรามันเสพจนชำนิชำนาญ ใจของเรามันอ่อนแอ เราต้องมาเข้าใจเพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวเอง ไม่ควรที่จะปล่อยตัวเองไปตามความขี้เกียจ ขี้คร้าน การทำตามใจตนเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกนี้ มันเป็นขบวนการเป็นคุณสมบัติของคนพาล เหมือนที่กำลังเป็นอยู่อย่างนี้
เราต้องหันมาทางพระพุทธเจ้า ทางพระอริยสงฆ์ หันมาทางผู้รู้ ในการเรียนการศึกษานี้ ก็เป็นแนวทางที่จะเข้าหาผู้รู้ คือ บัณฑิต
บัณฑิตที่แท้จริงได้แก่พระพุทธเจ้า ได้แก่พระอรหันต์ พระอริยเจ้า ผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนบัณฑิตภายในใจของเรา ก็คือเราต้องน้อมเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติเพื่อสร้างบัณฑิตภายในกาย วาจา ภายใจของเรา
ถ้าเราเข้าใจธรรมะแล้ว ธรรมะกับการงานต้องไปด้วยก้น ไม่ใช่หยุดการงานมาปฏิบัติธรรม การงานคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการทำงาน เรียกว่าอริยมรรคมีองค์แปด การพัฒนาจิตใจของเรา มันต้องพัฒนาให้ติดต่อต่อเนื่อง มันได้จะได้ดับเย็นเป็นพระนิพพาน
ผู้เอยผู้ใด ลำพองใจประมาทมาก่อน
แต่กลับตัวได้ไม่นิ่งนอน ถ่ายถอนชั่วช้าสร่างซาไป
ผู้นั้นเหมือนจันทร์วันเพ็ญ ลอยเด่นดูงามอร่ามใส
ไม่มีเมฆมัวหมองเท่ายองใย ส่องหล้าทั่วไปสว่างเอย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee