แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๑๗ แก้โรคถือตัวตนถือทิฏฐิมานะ ด้วยธรรมะโอสถของพระพุทธเจ้า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
หัวใจของเราทุกคน ต้องเป็นหัวใจที่มีศีล มีธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นหัวใจธรรมวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ เราจะได้หยุดมีหัวใจที่มีอวิชชา มีความหลง หรือมีหัวใจปาราชิก ทุกท่านทุกคนจะประมาทไม่ได้ เรามีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ชีวิตของเราไม่ถึง ๑๒๐ ปี ก็ต้องจากโลกนี้ไป การดำรงชีพของเราต้องเอาศีล เอาธรรม เข้าสู่อิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ที่เป็นพระรัตนตรัย ที่อยู่ในใจของเรา เราทุกคนจะเอาความชอบความไม่ชอบนี้ไม่ได้ อันนั้นมันเป็นอวิชชา เป็นความหลง เป็นตัวเป็นตน เป็นความเห็นผิด ความเข้าใจผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ
พระพุทธเจ้าให้เราว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ไม่ใช่ว่างจากสิ่งที่ไม่มี เราต้องรู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด พวกอารมณ์ พวกความคิด หลงในอารมณ์ หลงในความคิด คือมันหลงอยู่ในวัฏฏะสงสาร ถ้าไม่มีความคิด ไม่มีอารมณ์ เราก็ไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ ถ้าไม่มีอายตนะ ไม่มีรูป ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เราก็ไม่มีอะไรปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างไง ปฏิบัติให้เรารู้จักว่า อันนั้นมันไม่แน่ ไม่เที่ยง มันเป็นเพียงธาตุขันธ์อายตนะเฉยๆ มันมาให้เราเกิดปัญญา นักปฏิบัติทั้งหลายเสียเวลา เพราะไม่รู้เรื่องในการปฏิบัติ ถ้าเราตามใจ ตามอารมณ์ ตามอัธยาศัย นั่นคือความเสื่อม ความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ทำให้เรามีหัวใจปาราชิก
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อตัวเพื่อตน เพื่อทิฏฐิมานะ จึงไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงสงบเย็น เพราะว่าไม่มีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน เพราะว่าเป็นผู้ที่วางภาระหนัก คือ ความยึดมั่นถือมั่นอัตตาตัวตนออกไป ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงต้องพากันเข้าใจ เพราะในความยึดมั่นถือมั่นลึกๆ มันมีตัวมีตน เเต่ละคน มันมีตัวมีตนเยอะ เเต่ละคน เช่น หญิงสาวหรือเเม้เเต่ปานกลาง จะออกจากบ้านได้ ต้องเเต่งหน้าเเต่งตาเเต่งผม อันนี้ก็เพื่อตัวเพื่อตน เเล้วก็ตรงกันข้าม ผู้ที่มาบวช พระพุทธเจ้าไม่ให้ส่องกระจก ไม่ให้ส่องหน้าส่องตา เพราะไม่เอาความงามที่มีตัวมีตน เอาความงามจากการมีศีล การเสียสละ ชีวิตของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงเป็นชีวิตที่งาม งามน่ารัก ไม่มีทิฏฐิมานะ ไม่มีอัตตาตัวตน ยิ่งกว่าเด็กน้อยอีก เด็กน้อยยังมีตัวมีตน ร้องไห้เพื่อให้ผู้ใหญ่ หรือพ่อเเม่เอาใจ
เเต่ชีวิตของพระอรหันต์เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ สละเสียซึ่งตัวซึ่งตน มานะ ๙ ที่เป็นธรรมเบื้องปลายของการหมดภพ หมดชาติ พระอนาคามีก็ยังติดอยู่ในมานะ ๙ ผู้ที่ไม่ติดก็คือพระอรหันต์ ทุกคนต้องพากันเข้าใจ ที่เรามีปัญหาก็เพราะเราไม่เข้าใจศาสนา ตัวตนของเรามันเยอะ พระพุทธเจ้าถึงให้พิจารณาเกสา ผม สู่พระไตรลักษณ์ โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง ทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์ เพื่อเราทุกคนจะได้ไม่มีทิฏฐิ ไม่มีมานะอัตตาตัวตน เราทำอะไรก็เพื่อตัวเพื่อตน เราต้องเข้าใจนะ ถ้าเราเอาศีลเอาธรรม มีศีลเสมอกัน มีความตั้งมั่นเสมอกัน มีปัญญา เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกอย่างมันก็จะไม่มีปัญหา
“ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรม ก็เพราะว่า "พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน" ขวางท่านอยู่”
มีปริศนาธรรมข้อหนึ่งกล่าวว่า หากพบพระพุทธเจ้าระหว่างทางนั้นจะทำเช่นไร คำตอบคือ จงฆ่าพระพุทธเจ้าเสีย
กล่าวมาอย่างนี้ หากเผลอตัดสินโดยไม่ได้ยั้งคิดด้วยสติปัญญาก่อนแล้ว เราอาจมองว่านี่เป็นการยั่วยุให้ทำร้ายพระสงฆ์องค์เจ้าใช่ไหม หรือหากคิดปรุงแต่งเกินเลยไปอีกอาจไพล่เห็นว่านี่ต้องเป็นทัศนคติคนศาสนาอื่นต้องการบ่อนทำลายศาสนาพุทธเป็นแน่ หากแต่ตามจริงแล้ว นี่ปริศนาธรรมในศาสนาพุทธนี้เอง ซึ่งมุ่งตรงไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตากันแน่
แล้วที่ผ่านมาก็มีเพียงคนศาสนาเดียวที่บ่อนทำลายศาสนาพุทธ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว นั่นคือพุทธศาสนิกชนและพระสงฆ์องค์เจ้าเอง ที่ยึดเอาศาสนาพุทธไปผิดทางและสอนธรรมะไปผิดทิศ นั่นแล
คำกล่าวของปริศนาธรรมข้างต้น ไม่ได้หมายถึงให้เราประทุษร้ายพระพุทธเจ้าหรือสงฆ์องค์ไหน แม้จะเป็นสงฆ์แท้หรือเทียมก็ตาม หากแต่หมายถึง ขจัด “พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน” ออกไปเสียให้พ้นทาง เพราะนี่คือเหตุหนึ่งที่ทำให้เราทั้งหลาย ไม่เข้าถึงพุทธธรรม คือไม่เข้าใจหลักธรรมตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ หรือปฏิบัติเท่าใดก็ไม่อาจพ้นทุกข์
กล่าวให้ชัดเจนขึ้นคือ การยึดมั่นใน “พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์” อย่างสำคัญมั่นหมายเป็นตัวเป็นตนนั่น คือภูเขาลูกใหญ่ที่บดบังเราจากพุทธธรรมไว้ ทึกทักไปเองว่านั่นคือ “พระพุทธเจ้าของกู พระพุทธแบบที่กูเชื่อ พระธรรมที่กูศรัทธา พระสงฆ์ของกู ศีลที่กูสะอาด อาจารย์ที่กูเคารพ ศาสนาของกู” ทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้นที่พาเราไปไกลสุดกู่จากพระนิพพาน
พระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราชอบแนวคิดไหนหรือหลักการไหนเราพึงพอใจ หรือครูอาจารย์ที่ใดสอนสั่ง เหล่านั้นล้วนแต่เป็น พระพุทธเจ้าตามทัศนะของเราที่บดบังเราจากพุทธธรรมทั้งสิ้น นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตาขึ้นอยู่กับนำเราไปสู่หนทางหลุดพ้นทุกข์สิ้นเชิงหรือก่อทุกข์มากมี เพราะป่ากว้างใหญ่ พระพุทธเจ้าเพียงหยิบใบไม้มากำมือ เอาแค่เพียงธรรมะที่สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้แล้ว ธรรมะอย่างอื่นมิใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องใส่ใจ
เราทั้งหลายมิจำเป็นต้องนำหลักธรรมใดใดมาชี้วัดตัดสินว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา เสมอไป แค่ดูให้ดีว่า การเชื่อและปฏิบัติแบบใดของพวกใดที่นำมาสู่ความสุขอย่างแท้จริงด้วยปัญญา และลดละความทุกข์อย่างแท้จริง แล้วพวกอื่นที่เชื่อแบบใด ปฏิบัติและรวมหมู่อย่างไร ก่อให้เกิดความทุกข์และความสุขจอมปลอมที่ต้องใช้เงินและความหลงซื้อมา.
แต่ละนิกายในพุทธศาสนาย่อมมีวิธีการเล่าเรื่องราวและลักษณะเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันในบางจุดบ้างและหลายจุดบ้าง แต่มิว่าแบบใดเหล่านั้นล้วนแต่สามารถเป็น “พระพุทธเจ้าในทัศนะของท่าน” อันขวางทางท่านจากธรรม คือสำคัญมั่นหมายยึดเอาว่า พระพุทธเจ้าเป็นแบบนั้นแบบนี้ เป็นอัตตาตัวตนตามแต่ที่พอใจ มีรูปร่างลักษณะ มีที่อยู่ดินแดนแห่งหน หรือยศตำแหน่งอะไร ยึดมั่นเอามันก็พาให้การปฏิบัติและใจหลงทาง
เราจึงเห็นว่าพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งไปหลงอยู่กับรูปเคารพสักการะ ถือว่าอิฐปูนเป็นพระพุทธเจ้า คิดเอาเองว่าพระองค์นั้นซึ่งนิพพานไม่เหลือแล้วยังมีตัวตนตามต้นไม้ หรือเสด็จอยู่ใน นิพพานที่มีความหมายของภพภูมิที่เป็นอัตตา บางพวกก็ทึกทักเอาว่าพระพุทธเจ้าสอนไม่หมดบ้างก็มี กล่าวกันว่าไตรลักษณ์ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดก็มี
หากเราพบพระพุทธเจ้าบนทางเดิน หรือ พบเจอว่าท่านกำลังนั่งอยู่ในศูนย์กลางกาย และในคติความคิดใดใด ก็จงฆ่าท่านเสีย คือฆ่าภาพลักษณ์และอัตตวาทุปาทานที่จิตตนคิดให้เสียสิ้น
พระพุทธเจ้าที่เห็นเป็นท่านก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ความว่างที่เราทึกทักเอาว่า “ว่าง” ก็มิใช่ความว่าง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ที่เราคิดว่า “ใช่” ก็ไม่ใช่อย่างที่ยึด หากจิตยื้อยุดว่าจะให้มัน “ใช่” นั่นก็เพราะภูเขามันบังตาเราอยู่อย่างนั้น
พระองค์ท่านใช้สรรพนามแทนตนว่า “ตถาคต” ผู้ใดเข้าใจซึ้งถึงความหมายแล้ว ย่อมฆ่าท่านที่เป็นอัตตาได้อีกก้าวหนึ่ง
“ตถาคต : (คำนาม) คำเรียกพระพุทธเจ้า, คำที่พระพุทธเจ้าใช้แทนพระองค์เอง. ตถาคต : พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย ๘ อย่าง คือ
(๑) พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น
(๒) พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชาสละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น
(๓) พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง
(๔) พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจจ์ 4 หรือปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน
(๕) พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือ ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตวโลกตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง
(๖) พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น
(๗) พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น
(๘) พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสุด เป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจ เป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ
หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวสรุปว่า “ฉะนั้น คําว่า “ตถาตา” จึงได้แก่ พระไตรลักษณ์ ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท ได้แก่ อริยสัจ ๔. เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ทําไมจะไม่เรียกว่านี้คือหัวใจของพระพุทธศาสนา ซึ่งสรุปเข้ามาเหลือเพียงคําคําเดียวว่า “ตถตา” คือความเป็นเช่นนั้น แม้จะใช้คําว่า “ตถาตา” ก็ยังเป็นคําที่มีความหมายอย่าง เดียวกัน จงจําคําว่า “ตถตา” หรือ ความเป็นเช่นนั้น ไว้ให้แม่นยํา อยู่กับเนื้อกับตัว ; เหมือนกับเอามาแขวนไว้ที่คออย่างพระเครื่อง ให้มันคล่องปาก คล่องใจ ว่า ตถตา เป็นเช่นนั้น จะพูดเป็นภาษาชาวบ้านสักหน่อยก็ได้ว่า มันเช่นนั้นเอง เพื่อเป็นภาษาคนธรรมดามากขึ้นกว่า เช่นนั้นเอง เอา เช่นนั้นเอง มาแขวนไว้ที่คอเป็นพระเครื่อง แล้วจะคุ้มครองทุกอย่าง แล้วก็จะส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้าเป็น ลําดับไป จนถึงการบรรลุมรรค ผล นิพพาน.”
ยิ่งยึดเอาพระสงฆ์เป็นของกูมากเท่าใด ความเป็นพระสงฆ์ยิ่งเสื่อมถอยลงเท่านั้น ยิ่งยึดเอาพระพุทธเจ้าตามใจกูมากเพียงใด ศาสนาพุทธยิ่งเสื่อมถอยลงมาเท่านั้น ยิ่งมองธรรมะเป็นไปเพื่อส่งเสริมตัวกูของกูเพียงใด ธรรมะยิ่งหมองลงเพียงนั้น บุญใดเอามาเสริมส่งตัวกูของกูแล้วบุญนั้นก็อกุศล วัดใดเอาอัตตาเป็นที่ตั้งแล้ว ย่อมเสื่อมความเป็นวัดลงไปฉันนั้น
เราทำอะไรก็เพื่อตัวเพื่อตน เราต้องเข้าใจนะ ถ้าเราเอาศีลเอาธรรม มีศีลเสมอกัน มีความตั้งมั่นเสมอกัน มีปัญญา เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกอย่างมันก็จะไม่มีปัญหา
มนุษย์เรามีทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน ไม่ได้ ถ้าเรามีทิฏฐิ มานะอัตตา ตัวตน เราก็เป็นได้แต่เพียงคน ผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อไม่มีตัว ไม่มีตน ความเครียดมันก็ไม่มี มันมีความเคร่งครัด แต่ว่าไม่มีความเคร่งเครียด เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง อย่างนี้มันก็มีความสุขสงบเย็น การจะรักษาโรคจิต โรคประสาท กินยาไม่หายหรอก ต้องรักษาด้วยสัมมาทิฏฐิ ด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง คือธรรมะโอสถ เราพากันไปหาหมอ หมอมองหน้าก็สั่งยา ส่วนใหญ่ก็เป็นยาระงับโรคจิต โรคประสาท ยาระงับไม่ให้เราปรุงแต่งมาก เพราะร่างกายเราขาดสารที่ทำให้มีความสุข เราต้องพากันรู้จัก อย่าไปคิดมากปรุงแต่งมาก สมองเราเอาไว้ใช้งานเท่าที่จำเป็น
เราทุกคนต้องพากันเข้าใจ เมื่อเข้าใจ เราก็ต้องพากันหยุด อริยมรรคมีองค์ 8 เบื้องต้นคือ สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง จะไปจบลงที่องค์สุดท้ายคือ สัมมาสมาธิ เราจึงต้องมาหยุดตนเอง มารู้จักตนเองว่าความคิดความรู้ต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ถ้าเราไม่หยุด ใครจะมาหยุดให้เรา เราทุกคนจะไปวุ่นวายกันไปทำไม? เราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรให้เป็น อย่างร่างกายของเรา ประกอบมาจากธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอากาศ เราไปคิดไปปรุงแต่งมันย่อมปวดหัว ใจของเรามันก็ไม่สงบ ถ้าเราไม่มีเครื่องอยู่ พระพุทธเจ้าให้เราอยู่กับอานาปานสติหายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข หรือไม่ก็ไปอยู่กับอริยมรรคมีองค์ 8 อันอื่น เช่น เวลาทำงานที่เป็นสัมมาอาชีวะ ก็มีความสุขกับการทำงานในปัจจุบัน การเมาเหล้าเมาเบียร์มันมีเวลาหยุด มีเวลาสร่างนะ แต่เมาความคิดเมาความปรุงแต่ง มันเมาค้างมันแฮงค์ มันไม่จบไม่สิ้นนะ เราก็ต้องสงสารตนเองบ้าง เราจะไปคิด เราจะไปปรุงแต่งมันทำไม เราต้องหยุดตนเองเพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ให้ใจเราสงบให้ใจเราเย็น
เราทุกคนกำลังเป็นโรคไม่รู้จักอารมณ์ ไม่รู้จักความคิด ไม่รู้จักความปรุงแต่ง ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นธรรมชาติที่เราเกิดมาก็ต้องมีความคิดมีอารมณ์ เราพากันหลงในความปรุงแต่งหลงในสังขาร ก็เลยเป็นโรคหวั่นไหวไหวหวั่นต่อโลกธรรมทั้ง 8 คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์
ทุกท่านทุกคนต้องมารักษาโรคด้วยยาของพระพุทธเจ้า คือ ธรรมะโอสถ ใจเราจะได้เอาร่างกายนี้ทำประโยชน์เท่าที่จำเป็น ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะทำลายระบบสมอง ทำร้ายร่างกายของตนเอง ร่างกายมันไม่รู้เรื่องอะไร หาของไม่ดีใส่เข้าไปร่างกาย ก็เหมือนแพะรับบาป ถ้าใจของใครไวต่อสีแสง รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา เราต้องมาหยุดตนเองด้วยธรรมะโอสถ ด้วยการรู้จักความปรุงแต่งของเราทุกคน เราทำให้ง่ายอย่างนี้แหละ มันก็จะดีขึ้น ไม่มีอะไรจะมีความสุขเท่ากับรู้จักและมาหยุดตนเอง จะได้หยุดเป็นทาสของความคิด ทาสของอารมณ์ ทาสของความปรุงแต่ง ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง หยุดปรุงแต่ง เรื่องมันก็จบกัน ไม่ได้มีอะไร มันหาเรื่องให้ตนเองเฉยๆ สรุปแล้วปัญหาภายนอกไม่มีหรอก ปัญหามาจากที่มีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ต้องมารู้จักปัญหาที่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราทุกคน มันเป็นชะนวนเหมือน กับคนโบราณบอกว่า ไม้ขีดก้านเดียวที่จุดขึ้นมามันเผาบ้านทั้งหลังได้ ความคิดความรุนแรงอย่าไปให้ความสำคัญมั่นหมายกับมัน ไม่ให้มันมามีอำนาจมีอิทธิพลครอบงำจิตใจ ให้ทุกท่านทุกคนพากันถอนรากถอนโคนของอวิชชาคือความหลงออกไปให้ได้
อย่างพระอรหันต์ พระอริยเจ้าท่านมีความสุขจากการเสียสละ เพราะว่าจิตใจของท่านไม่มีปัญหา หมดปัญหา ท่านก็เสียสละ ท่านจึงมีอายุยืน ถ้าท่านไม่เสียสละเพื่อประโยชน์ เพื่อผู้อื่น เพื่อมหาชนส่วนรวม ท่านก็อายุไม่ยืน
ทุกท่านทุกคนอย่าพากันเผาตนเอง ต้องรู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด เราอย่าไปวิ่งตามรูปเสียงกลิ่น รส ลาภยศสรรเสริญ เราทุกคนพากันคิดดูดีๆนะ อวิชชาความหลง ความคิดความปรุงแต่งมันเผาเรา ความอยากความต้องการต่างๆมันมาเผาเรา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ทะเลไม่อิ่มด้วยน้ำ ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ คนหลงก็ไม่อิ่มเต็มด้วยตัณหาความทะยานอยากต่างๆ
การประพฤติปฏิบัติ เราอย่าพากันทำให้มันวุ่นวาย ครั้งหนึ่ง มีพระไปกราบ หลวงพ่อพุทธทาสที่สวนโมกขพลาราม แล้วกราบเรียนท่านว่า ผมอยากจะมาอยู่กับท่านอาจารย์ มาปฏิบัติกับท่านอาจารย์ หลวงพ่อก็เลยถามว่า ท่านไม่มีวัดไม่มีที่อยู่หรือ? พระรูปนั้นก็ตอบไปว่ามีที่อยู่ครับ แต่อยากมาประพฤติปฏิบัติกับท่านอาจารย์ หลวงพ่อพุทธทาสก็เลยบอกไปว่า ท่านไม่รู้การปฏิบัติหรอก การปฏิบัติไม่ต้องไปทำอะไรมาก ไม่ต้องไปคิดอะไร เราต้องรู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ อย่าไปวุ่นวายตามอารมณ์ เพราะความคิดความปรุงแต่งมันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง การปล่อยวางได้จึงเป็นสุขอย่างยิ่ง ยิ่งปล่อยวางยิ่งบางเบา ยิ่งรับเอายิ่งเป็นทุกข์
ถ้าเราไม่รู้จักความคิดความปรุงแต่ง ไม่อย่างนั้นก็คือ เผาตนเอง เรากำลังสร้างบาป สร้างกรรม สร้างเวร สร้างภัยให้กับตนเอง เราทุกคนต้องมารู้อารมณ์อย่างนี้ ต้องมารู้ความคิดอย่างนี้ รู้จิตรู้ใจอย่างนี้ พากันมาหยุดความวุ่นวาย คนเราทำได้อย่างนี้มันดีนะ เข้าถึงความพอดีพอเพียง มักน้อยสันโดษ เราทุกคนต้องมาเสียสละความวุ่นวาย ความปรุงแต่งออกจากจิตใจของเรา เราทำอย่างนี้จึงจะเป็นคนเก่งเป็นคนฉลาด ไม่เป็นทาสของความคิด ไม่เป็นทาสของอารมณ์ ไม่เป็นทาสของสิ่งแวดล้อม ใจจะได้เป็นธรรม เป็นธรรมชาติ สงบเย็น ใจจะได้มีพระนิพพาน ในจิตใจ ในปัจจุบัน เราทุกคนพากันคิดให้ดีๆนะ เราจะเผาตัวเองไปถึงไหน
ทางสายกลางของพระพุทธเจ้า เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มาสรุปสุดท้ายด้วย สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คือ เป็นศีลสมาธิ ปัญญา เป็นการหยุดความวุ่นวาย หยุดความปรุงแต่ง เราทุกคนจะพากันมาเอาอะไร? เพราะทุกอย่างไม่ใช่ของจะมาเอา เราต้องมาเสียสละ มีความสุขในการเสียสละ ความจริงแล้ว มันคิดไปเรื่อยแหละ บวชเป็นพระก็คิดไปเรื่อย คิดไปเรื่อย ก็คือคิดไปเรื่อย มันไม่หยุด บางคนถึงกับร้องไห้ มันไม่หยุด ก็เพราะเราคิดไม่หยุด
อย่าง มีคนเขาไปถามพระอรหันต์ว่า เป็นอย่างไรบ้างท่าน จิตใจของท่านเป็นอย่างไรบ้าง ท่านก็ตอบว่า ใจของผมก็ไม่มีอะไร ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่มีอะไรเลย อย่างนี้ถึงจะมีความสุขอย่างยิ่ง ถึงจะมีความสุขจริงๆ
รูปแบบเป็นสิ่งที่สำคัญ พวกแบรนด์เนมเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่มันก็สำคัญเป็นแค่รูปแบบ เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เราถึงเข้าสู่กิจกรรมคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เรามีหลักวิชาการ เราไม่เอามาประพฤติไม่เอามาปฏิบัติ มันเลยไม่ได้เป็นของใหม่ของสด มันเลยเป็นของที่ไม่ทันสมัย การประพฤติการปฏิบัติ มันต้องมีอยู่ในปัจจุบัน มันถึงจะเป็นของทันโลกทันสมัย ทุกท่านทุกคนต้องเอาธรรมวินัยเป็นหลัก ไม่ต้องเอาอย่างอื่น ไม่ต้องไปเกรงใจใคร เราต้องเกรงกลัวต่อบาป ละอายต่อบาป เห็นภัยในวัฏฏะสังสาร ทุกท่านทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติตนเอง พวกนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายทำอะไรก็เพื่อตัวเพื่อตน เพื่อประเทศชาติ ทำก็เพื่อเป็นลิขสิทธิ์ ตัวเองยังแก้ปัญหาไม่ได้ ยังเป็นบุคคลที่รวยอย่างไม่ฉลาดอยู่ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายถึงแข่งขันกันเพื่อจะอวดคนอื่น เพื่อจะเป็นที่ 1 ของโลก มันเป็นการพัฒนาที่ยังไม่ถูกต้อง
คนเราน่ะ ถ้าเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักเป็นใหญ่ไม่มีคำว่าเสื่อมหรอก พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกตนเอง ถ้าเราไม่ทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกตนเอง เราถึงจะปิดอบายมุข ปิดอบายภูมิของเราได้ เราอย่าไปติดสุขติดสบาย อย่างกลุ่มภิกษุวัชชีบุตร เราทุกคนต้องมีสัมมาสมาธิคือมีจิตใจที่เข้มแข็งตั้งมั่น ต้องมีปัญญาต้องเสียสละเพื่อเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรมไปเรื่อยๆ
เราจะไปย่อหย่อนอ่อนแอไปเรื่อยไม่ได้ ทุกคนต้องหยุดตนเองเบรกตนเอง ต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมี 20 อสงไขยแสนมหากัป ได้มาบอกมาสอนพวกเรา
เราได้ฉันภัตตาหารจากศรัทธาประชาชน เขาน้อมถวายเราแล้วยังกราบไหว้อีก ผู้ที่บวชมา พ่อแม่บังเกิดเกล้าท่านก็กราบพระลูกชาย ปู่ย่าตายายก็กราบพระหลาน พระราชามหากษัตริย์เศรษฐีคฤหบดีก็กราบไหว้ เราต้องเป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็เพราะทรงตั้งมั่นในความกตัญญูกตเวที ทุกท่านทุกคนต้องพากันมาแก้ไขตนเอง แก้ไขกาย แก้ไขวาจาคำพูด แก้ไขจิตใจ ปรับปรุงแก้ไขตนเอง ตัวของเราเองต้องแก้ไขตนเอง การแก้ไขตนเองต้องมีตลอดเวลาทุกๆ อิริยาบถ เวลานั่งสมาธิเดินจงกรม เดินบิณฑบาตก็พิจารณาดูนะ ทุกคนต้องสำนึกสำเหนียก หมั่นพิจารณาอยู่เนืองนิตย์ ๑๐ ประการ คือ ๑. เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ ๒. การเลี้ยงชีพ ของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ๓. อาการ กาย วาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้ ๔. ตัวของเราเองติเตียนตัวของเราเองโดยศีลได้หรือไม่ ๕. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีลหรือไม่ ๖. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น ๗. เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใด ดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๘. บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ๙.บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรายินดีที่สงัดหรือไม่ ๑๐. บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ ว่า ญาณทัสนะวิเศษอันสามารถกำจัดกิเลสเป็นอริยะ คือ อุตริมนุสธรรม อันเราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือหนอ ที่เป็นเหตุให้เราผู้อันเพื่อนพรหมจรรย์ถามแล้ว จักไม่เป็นผู้เก้อเขินในกาลภายหลัง
เพราะว่าไวรัสต่างๆ มันย่อมเจริญแก่กล้า ขยายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆ ความตั้งใจนี่เป็นสิ่งที่สำคัญ สัจจะบารมีอธิษฐานบารมีความตั้งใจมั่นคงจึงสำคัญยิ่ง เราจะไปแก้ไขภายนอกคงไม่ได้หรอก มาแก้ไขตนเองก่อน เราคิดดูดีๆ สิ ทุกคนจะเอาแต่ใจตนเองอารมณ์ตนเองความรู้สึกตนเอง จนมีความคิดอย่างนี้มีความเห็นอย่างนี้ เป็นประชาธิปไตยแบบเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เป็นอัตตาธิปไตยไปหมด
พวกเรารู้แล้วก็ต้องปล่อยต้องวาง ทุกคนต้องมาแก้ไขตนเอง สรุปแล้ว ทุกท่านทุกคนไม่ว่าจะเป็นภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาประชาชนคนทั้งหลาย สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือการแก้ไขตนเอง เราไม่ต้องไปจัดการคนอื่นเรามาจัดการตัวเราเองนี่แหละ เพราะนี่เป็นสภาวธรรม เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาตามสภาวะ สิ่งที่ไปจัดการไม่ได้ก็คือ ความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก มันจัดการไม่ได้ จะไปจัดการให้แก่เร็วแก่ช้า ตายเร็วตายช้า ให้เจริญหรือเสื่อม มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ไปบังคับไปจัดการไม่ได้เพราะเป็นอนัตตา
ทุกท่านทุกคนต้องฝึกปล่อยฝึกวางเพื่อแก้ไขตนเอง ไม่ต้องโง่ไปมากกว่านี้ เพื่อความเปลี่ยนแปลงจากมืดเป็นสว่าง เปลี่ยนแปลงจากผิดเป็นถูก เปลี่ยนแปลงจากไม่ปฏิบัติมาเป็นการปฏิบัติ นี่จึงเป็นความถูกต้อง เป็นพรหมจรรย์ของเราทั้งหลาย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee