แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๑๕ สร้างพุทธภาวะขึ้นในใจ ให้สันโดษพอเพียงซึ่งเป็นยอดของทรัพย์ทั้งปวง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความรู้ความเข้าใจนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ ความไม่รู้ความเข้าใจนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ การเรียนการศึกษาถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การปฏิบัติของเราทุกคนนี้ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันคือศีลคือสมาธิคือปัญญา พระพุทธเจ้าคือผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน ศาสนาก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือศาสนา เราทุกคนต้องพากันสร้างพุทธะขึ้นในใจของเรา เพราะพระพุทธเจ้าก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า เราต้องเอาความถูกต้องเอาความเป็นธรรมก็เอาความยุติธรรมเป็นหลัก ทุกๆ คนก็ต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ การปฏิบัติธรรมเนี่ยคือทุกท่านทุกคนต้องปฏิบัติตนเองแก้ไขตัวเอง เพื่อให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ที่ทำถูกต้อง เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี
ศีลกับกฎหมายบ้านเมืองก็ถือว่าเหมือนกัน กฎหมายบ้านเมืองสำหรับปฏิบัติทางกายทางวาจา แต่ศาสนานี้ครอบคลุมไปทั้งเรื่องกายวาจาและจิตใจ เพราะการปกครองระดับบ้านเมืองก็ควบคุมกายกับวาจา การพัฒนาความดับทุกข์เพื่อทำที่สุดแห่งกองทุกข์ ถึงเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา เป็นกฎหมายเป็นศาสนา สำคัญอยู่ที่ผู้นำ ผู้นำที่ดีที่สุดผู้นำที่สูงสุด ที่ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณพระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่
พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่มีตนไม่มีตัว รู้คือ รู้อริยสัจ ๔ เป็นต้น และรู้สิ่งอื่นๆ อีกเท่าที่จำเป็นต้องรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ทรงปฏิญาณพระองค์ว่าทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะเพราะทรงรู้อริยสัจ ๔ อันประกอบด้วยรอบ ๓ หรือ ญาณ ๓ อาการ ๑๒ (ไตรปริวัฏทวาทสาการ) จัดเป็นพระปัญญาคุณ
ตื่น (ไม่ใช่ตื่นตระหนกตกใจหรือตื่นเต้น) แต่หมายถึงตื่นที่ตรงกันข้ามกับหลับ ในที่นี้หมายถึงตื่นจากความหลับคือกิเลส (กิเลสนิทรา) ความหลับมี ๒ อย่าง คือ ปกตินิทรา หลับตามปกติ เพื่อร่างกายได้พักผ่อน และกิเลสนิทรา หลับเพราะกิเลส เมื่อตื่นจากกิเลสนิทรา เป็นพระบริสุทธิคุณ
เบิกบาน หมายถึง มีใจเบิกบานด้วยความกรุณา ใบหน้าสดชื่นเพราะความกรุณาต่อสรรพสัตว์ ไม่คิดเบียดเบียนใคร มีแต่เอื้ออาทรคิดอนุเคราะห์เกื้อกูล จัดเป็น พระมหากรุณาคุณ
ความเสื่อมความเจริญถึงอยู่ที่การมีสัมมาทิฏฐิ เป็นกิจกรรม เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง เราทุกคนน่ะ พระพุทธเจ้าให้เราพากันเดินอย่างนี้ ถ้าเราขาดพุทธะขาดสิ่งที่ถูกต้องขาดความเป็นธรรมขาดความยุติธรรม มันก็ไปไม่ได้ ไม่ได้เป็นไปตามกฎแห่งกรรมแห่งศีลสมาธิปัญญา อย่างนี้ไม่ได้
คนเราต้องพาฉันเข้าใจอย่างนี้ ที่เรายากจนมีหนี้มีสิน ก็เพราะเราไม่มีพุทธะไม่มี ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราเลยเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่เสียสละ สมควรแล้วที่จะต้องมีหนี้มีสินมีปัญหา เพราะว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ ต้องมีความสุขในการเสียสละ เพราะการเสียสละที่มีความสุขนี้มันจะพัฒนาทั้งการเรียนการศึกษา การทำงานทุกอย่าง จะเป็นความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริง จะเป็นพรหมจรรย์ โชคดีแล้วที่เราทุกคนยังมีลมหายใจ การพัฒนาก็ก้าวไปไกลไปถึงดวงดาวดวงจันทร์ จะไปดวงอาทิตย์ไม่ได้ มันร้อน
สังฆาฏิสูตร : เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุจับที่ชายสังฆาฏิแล้ว พึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปรกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมชื่อว่าไม่เห็นเรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา
ภิกษุนั้น เมื่อไม่บำเพ็ญปฏิปทาที่เราตถาคตกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ ก็ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ไกลเราตถาคตทีเดียว เราตถาคตก็ชื่อว่าอยู่ไกลเธอเหมือนกัน. ด้วยคำนี้พระองค์ทรงแสดงว่า การเห็นพระตถาคตเจ้าด้วยมังสจักษุก็ดี การอยู่รวมกันทางรูปกายก็ดี ไม่ใช่เหตุ (ของการอยู่ใกล้) แต่การเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการรวมกันด้วยธรรมกายต่างหาก เป็นประมาณ (ในเรื่องนี้) ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นเราตถาคต.
ในคำว่า ธมฺม น ปสฺสติ นั้น มีอธิบายว่า โลกุตรธรรม ๙ อย่าง ชื่อว่าธรรม ก็เธอไม่อาจจะเห็นโลกุตรธรรมนั้นได้ ด้วยจิตที่ถูกอภิชฌาเป็นต้นประทุษร้าย เพราะไม่เห็นธรรมนั้น เธอจึงชื่อว่าไม่เห็นกายธรรม.
สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนวักกลิ เธอจะมีประโยชน์อะไรด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้ที่เธอได้เห็นแล้ว. ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นก็เห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นก็เห็นธรรม
บทว่า มหิจฺโฉ ความว่า ชื่อว่าผู้มีความมักมาก เพราะมีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย.
บทว่า วิฆาตวา ความว่า ชื่อว่าผู้มีความคับแค้น เพราะมีความดำริด้วยใจที่ถูกความอยากประทุษร้ายแล้ว เพราะเป็นผู้มีความมักมาก ด้วยอำนาจแห่งการอาฆาตในสัตว์ทั้งหลาย และเพราะไม่ได้ตามที่ต้องการ.
บทว่า เอชานุโค ความว่า เมื่อติดตามตัณหานั้นไป เหมือนเป็นทาสของตัณหา กล่าวคือความหวั่นไหวยังไม่ดับ เพราะถูกความกระวนกระวายเกิดแต่กิเลส มีราคะเป็นต้น ครอบงำแล้ว คือติดอยู่แล้ว ด้วยความจำนงอารมณ์มีรูปเป็นต้น.
บทว่า ปสฺส ยาวญฺจ อารกา มีอธิบายว่า ผู้มีความมักมาก ถึงอยู่แม้ใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ดับ (ทุกข์) ได้แล้ว ผู้ปราศจากความกำหนัดแล้ว ตามอำนาจแห่งโอกาส แต่ยังเป็นผู้คับแค้น ติดตามกิเลสชื่อตัณหาไป ยังดับทุกข์ไม่ได้ ยังกำหนัดคือยังเป็นพาลปุถุชนตามสภาวธรรม ชื่อว่าเห็นพระองค์ได้ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในที่ไกล แม้การจะกราบทูล ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย. สมจริงตามที่ตรัสไว้ว่า นักปราชญ์กล่าวว่า “ท้องฟ้ากับแผ่นดินอยู่ไกลกัน ฝั่งมหาสมุทรก็อยู่ไกลกันเหมือนกัน แต่ท่านกล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่า”
บุคคลผู้มักมาก มีความคับแค้น ยังเป็นไปตามตัณหา ดับความเร่าร้อนไม่ได้ แม้หากว่าพึงเป็นผู้ติดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาความหวั่นไหวมิได้
ผู้ดับความเร่าร้อนได้แล้วไซร้ บุคคลนั้นผู้กำหนัดยินดี ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี เพียงในที่ไกลเท่านั้น ส่วนบุคคลใดเป็นบัณฑิต รู้ธรรมด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ธรรมอันยิ่ง เป็นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ สงบระงับ เปรียบเหมือนห้วงน้ำที่ไม่มีลมฉะนั้น บุคคลนั้นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ผู้ไม่กำหนัดยินดี ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ปราศจากความกำหนัดยินดี ในที่ใกล้แท้
ผู้นำเป็นสิ่งที่สำคัญ พ่อแม่นี้สำคัญ เจ้าอาวาสนี้สำคัญ ผู้นำต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ยังคณะสงฆ์นี่ก็ สมเด็จพระสังฆราชนี้สำคัญ กรรมการมหาเถรสมาคมนี้สำคัญ พระพุทธเจ้าถึงให้เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ถือนิสัยถือพระวินัยของพระพุทธเจ้าอย่างน้อยต้อง ๕ ปี ไม่คิดอย่างนี้ ไม่พูดอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนี้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะ เอาความถูกต้องเป็นหลัก เราจะเอาคนในโลกนี้ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งไม่ได้ เพราะยังเป็นระบบที่ยังไม่ได้เข้าสู่ธรรมะ เราทุกคนน่ะ ต้องพากันนำตัวเอง ต้องเอาศีลเป็นหลัก
ที่ยากจนเพราะไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันมีมากอยู่แต่ไม่รู้จักพอ ทำอะไรก็เพื่อตัวตน ไม่ได้ทำเพื่อธรรมะ เพื่อความเสียสละ มันเป็นอัตตาตัวตน สมณะที่หนึ่งที่สองที่สามที่สี่นั้นมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ มนุษย์นี้สามารถเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ได้ทุกๆ คน ทุกคนจะต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เราทุกคนปฏิบัติได้อยู่ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะอยู่ในเมืองกรุงเมืองหลวงนิคมชนบท ความสุขความดับทุกข์มันมีอยู่กับการที่เราทำตามพระพุทธเจ้า สร้างพระพุทธเจ้าขึ้นในจิตในใจของเรา มันมีอยู่อย่างนี้ ทุกอย่างมันจะดีขึ้นเพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี กลไกของเรามันถึงจะไปได้ เราจะได้มีพระมีสมณะ มีข้าราชการนักการเมืองผู้นำที่เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย ไม่เอาโลกธรรมเป็นใหญ่ มันเป็นเทวทูตที่มาให้เราเจริญสติสมาธิปัญญา เป็นสนามให้เราฝึกใจ
ประเภทของคนจน คนจนในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่
๑. จนเพราะไม่มี คือคนที่ขัดสนทรัพย์ มีทรัพย์น้อย จัดว่าเป็นคน “จนชั่วคราว” ถ้าหากทำมาหากินถูกช่องทาง ย่อมมีโอกาสรวยได้
๒. จนเพราะไม่พอ คือคนที่มีทรัพย์มากแต่ไม่รู้จักพอ จัดว่าเป็นคน “จนถาวร” เป็นเศรษฐีอนาถา ต้องจนจนตาย
สันโดษ คือการรู้จักพอ จึงเป็นคุณธรรมที่มหัศจรรย์ สามารถทำให้คนเลิกเบียดเบียนกัน เลิกฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เลิกสะเพร่า เลิกสงคราม ทำให้คนอิ่มใจได้แม้มีทรัพย์ มียศ มีตำแหน่งน้อย และทำให้คนรวยเป็นเศรษฐีได้ โดยสมบูรณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “สนฺตุฏฺฐีปรมํ ธนํ ความสันโดษเป็นยอดทรัพย์”
ความจริง สันโดษกับความมักน้อย มันคนละเรื่องกันความมักน้อยนั้นเป็นคำแปลของคำบาลีว่า “อปปิจฺฉตา” พระพุทธองค์ทรงสอนพระให้ปฏิบัติเกี่ยวกับปัจจัยสี่คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ว่าสิ่งเหล่านี้ให้พระต้องการแต่น้อยพออาศัยยังชีพเพราะชีวิตพระมิใช่ชาวบ้าน จะได้สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้มากมาย
ส่วน สันโดษ หรือ สนฺตฎฐี นั้น หมายถึง ความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความสามารถ ด้วยความพากเพียรพยายามของตนในทางที่สุจริตชอบธรรม
ฟังดูดีๆ จะเห็นว่า คนสันโดษคือ คนที่ขยันหา ขยันสร้างสรรค์ (ยถาลาภ) ทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญาเต็มที่ (ยถาพล) ในสิ่งที่สุจริตถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม (ยถาสารุปฺป) เมื่อได้ผลสำเร็จขึ้นมาแล้วก็ภาคภูมิใจในผลสำเร็จนั้น
ยถาลาภะ ควรแก่ฐานะนั้น ได้แก่ฐานะของเรา คือเราต้องนึกถึงฐานะของเราว่า เราอยู่ในฐานะอย่างไร เป็นบรรพชิต เป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้น้อย แต่ละฐานะก็ยังมีจำแนกชั้นออกไปอีก ตัวอย่างเช่น ในฝ่ายคฤหัสถ์ก็แยกออกไปอีกทางยศ มีนายพล นายพัน นายร้อย นายสิบ พลทหาร ทางพลเรือนก็มี หัวหน้ากอง หัวหน้าแผนกประจำแผนก ลดหลั่นกันลงไป รวมความแล้วเราแต่ละคนมีฐานะไม่เหมือนกัน คนมีสันโดษประเภทนี้ เป็นคนรู้ประมาณตัว วางตัวได้เหมาะสมกับฐานะของตน เข้าหลักของคนดี ข้อที่ว่า อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน และข้อว่า มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ถ้าเป็นผู้น้อยก็เป็นผู้น้อยที่น่ารัก ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ คนที่ขาดสันโดษประเภทนี้ ไม่มีทางดีมีแต่ทางเสีย เสียถึงสองทาง คือ ๑. เสียในทางใฝ่สูงเกินฐานะ คิดแต่จะเอาดีเอาเด่น หนักเข้าก็กลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจ ๒. เสียในทางเห่อเหิมในสิ่งที่เกินวาสนาของตน
ยถาพละ ควรแก่กำลัง หรือสมรรถภาพ กำลังของคนหรือสมรรถภาพของคนนั้นมีไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นกำลังกาย กำลังใจบางคนกำลังกายเข้มแข็ง แต่กำลังใจอ่อนแอมาก กระทบอะไรนิดอะไรหน่อยไม่ได้ พลอยตายเอาง่ายๆ บางคนกำลังกายอ่อนปวกเปียก แต่กำลังใจเข้มแข็งเด็ดขาด สามารถเอาชนะคนที่มีกำลังกายแข็งแรงได้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมความแล้วว่าคนเรานี้ไม่เหมือนกันแน่ อย่าไปหลงเข้าใจผิดว่าเป็นคนแล้วเหมือนกันหมด
ยถาสารุปปะ ยินดีตามศักดิ์ศรี หมายความว่า ให้ยินดีตามในสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่ภูมิศีลธรรมของตน หรือจะพูดว่ายินดีตามความดีของตนก็ได้ ถ้าจะพูดให้เข้าใจซัดตามคำสามัญก็จะได้ว่า "ศักดิ์ศรี" ของใครก็ตาม แม้ว่าเราจะพอใจตามได้และตามกำลังที่เรามีอยู่ แต่ถ้าไปเกิดยินดีกับสิ่งนั้นเข้าแล้วมันเสียศักดิ์ศรีของเรา คือ เสียศีลเสียธรรม เสียชื่อเสียของ สิ่งนั้นเราก็ไม่ควรยินดี
ธรรมะที่ตรงข้ามกับสันโดษคือ ความโลภและความเกียจคร้าน คนโลภและขี้เกียจ คือคนที่ไม่สันโดษ
“สันโดษ” นั้นที่จริงหมายถึง ความขยันขันแข็งกระทำการงานที่สุจริตอย่างเต็มความสามารถ เมื่อได้ผลอย่างใดจากการกระทำของเรา เราก็ภาคภูมิใจ
เพราะฉะนั้น ธรรมะที่สนับสนุนสันโดษ จึงมีอยู่ 2 อย่างคือ ความไม่โลภกับความเพียร
คนสันโดษจึงมีคุณสมบัติสองประการนั้นคือ เป็นคนไม่โลภ และเป็นคนพากเพียรพยายามสูง คนไม่สันโดษก็คือคนเกียจคร้านและคนโลภนั้นเอง
เพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มชัด ขอสรุปลักษณะของคนที่มีความสันโดษดังต่อไปนี้
1. คนสันโดษ จะต้องเป็นคนทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยสติปัญญาเท่าที่มี และโดยวิธีการอันชอบธรรม
2. คนสันโดษ จะไม่อยากได้ของคนอื่น หรือของที่ไม่ชอบธรรม จะไม่ทุจริตเพราะปากท้องหรือผลประโยชน์ส่วนตัว
3. คนสันโดษ เมื่อหามาได้ก็ใช้สอยเท่าที่จำเป็น และใช้ด้วยสติปัญญา ไม่เป็นทาสของวัตถุ
4. เมื่อไม่ได้ เมื่อสุดวิสัยที่จะได้ ก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไป ไม่ยอมให้ความผิดหวังครอบงำใจ
5. หาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นของตน หรือเป็นสิทธิของตนสามารถดำรงชีวิตที่มีความสุขตามฐานะ
6. มีความภาคภูมิใจในผลสำเร็จอันเกิดจากกำลังของงาน มีความอดทน สามารถรอคอยผลสำเร็จอันพึงจะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน
7. มีความรักและภักดีในหน้าที่การงานของตน มุ่งปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าของการงาน เรียก “ทำงานเพื่องาน” อย่างแท้จริง
8. ไม่ถือเอาสิ่งของที่ตนหามาได้ สมบัติของตน หรือความสำเร็จของตนมาเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น
ความสันโดษ เป็นปัญญา สัมมาทิฏฐิ ให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในปัจจุบัน เพราะความสุขของเรามันมีความสุขทางกาย และมีความสุขทางใจ คนเราที่มีความทุกข์ก็คือใจ เพราะร่างกายก็เปรียบเหมือนรถยนต์ที่พาเราไปใช้งานในที่ต่างๆ เป็นอุปกรณ์พาไปใช้ในที่ต่างๆ ความสุขความดับทุกข์จริงๆมันอยู่ที่ใจ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา สอนให้เราพัฒนาตัวเองเป็นผู้สันโดษ สันโดษก็หมายถึงจิตใจที่มีปัญญา มีปัญญายังไง คนเราอยากได้มาก ก็ไม่ได้หรอก เราจะไปอยากได้ทำไม อยากได้น้อยมันก็ไม่ได้หรอก มันก็เท่าเก่า มันเป็นเรื่องความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ต้องมีความสุขในการเสียสละ อย่างเราพอใจในการทำงาน เพราะงานก็คือ ความสุขของเราที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความสันโดษนี้เราเอามาใช้ในเรื่องจิตใจของเรา ถ้าอย่างนั้นเราก็เป็นคนฟุ้งซ่าน เราก็เป็นได้แต่เพียงคน เราไม่ได้เป็นมนุษย์
ความสันโดษทุกคนต้องมี ระดับพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน สกิทาคา อนาคามี พระอรหันต์ มีความสันโดษแตกต่างกันตามระดับของภูมิธรรมภูมิจิต พระพุทธเจ้าท่านอยู่ที่ไหน ท่านถึงมีความสุขอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าแดดมันจะออก ฝนมันจะตก ร่างกายจะเจ็บป่วยแก่พลัดพราก เพราะอันนี้เป็นเรื่องปัญญา ที่พัฒนาใจ คนเราต้องพากันรู้จักว่าสันโดษนี้เป็นอริยทรัพย์ ถ้าเราพัฒนาเราจะได้ทั้งทรัพย์ภายนอก และ ทรัพย์ภายใน ในปัจจุบัน
คนเราน่ะ มันยังไม่ตายก็ตกนรกทั้งเป็นแล้ว เพราะความโลภความโกรธความหลงอย่างนี้ เราต้องรู้จัก เพราะเราเกิดมาเพื่อมาประพฤติมาปฏิบัติตนเอง ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช เป็นประชาชน ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นหนี้ทั้งทางใจ เป็นหนี้ทั้งทางกาย มันไม่ได้เดินทางสายกลาง ไม่ใช่ว่าสันโดษ ไม่ทำอะไรนะ สันโดษนั่นแหละ คือต้องมีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการเจริญสมาธิ ความหนักแน่น เข้มแข็งไม่หวั่นไหวไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน เอาธรรมเป็นหลัก มันจะเป็นธรรมเป็นปัจจุบัน มันเป็นความพอใจในสิ่งที่เราจะแก้ปัญหา เราดับทุกข์ได้ด้วยอย่างนี้ พระอริยเจ้าที่เป็นโสดาบันจึงมีความสุขกว่ามหาเศรษฐีที่เป็นปุถุชนสามัญชน เพราะพัฒนาทั้งกายทั้งใจ
ถ้าเรามีความเข้าใจธรรมะ เราก็มีความสุขมีความอบอุ่น มีปัญญาในปัจจุบัน ไม่ต้องไปวุ่นวายในสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน บางคนนี้ไปติดในสมาธิ ไม่เสียสละ ไม่ภาวนาวิปัสสนาอะไร อย่างนี้มันเลยไม่เข้าใจ กลายเป็นคนงมงาย เป็นคนหมดคุณภาพ อย่าเราขี้เกียจขี้คร้าน แสดงว่าเราเป็นคนไม่สันโดษ ยังตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ไม่สันโดษ ไม่สันโดษตัวเองที่จะต้องเป็นผู้เสียสละ ที่จะมีศีลมีธรรม คนเราถ้าไม่มีความพอใจ ไม่มีฉันทะก็ทำอะไรไม่ได้ ขี้เกียจแม้กระทั่งการหายใจ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเกียจค้าน ไม่มีปัญญา ไม่เสียสละ นับว่ายังไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
คนที่นับถือศาสนาพุทธยังไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจมันต้องดีกว่านี้ ความขี้เกียจขี้คร้าน กินเหล้าเมาเบียร์ เล่นการพนัน เจ้าชู้ อย่างนี้ไม่ใช่สันโดษ แต่เป็นผู้ที่มักมากในกาม ในความพยาบาท เป็นผู้ที่ลุ่มหลงในอะไรต่างๆ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราปฏิบัติอย่างนี้แหละ ทุกคนจะมีความสุข เอาเวลาในปัจจุบันพัฒนาตัวเอง จะไม่ได้เป็นเหมือนสังคมในปัจจุบัน สังคมในปัจจุบัน การพัฒนาแค่ความสุขร่ำรวย แต่ไม่ได้พัฒนาจิตใจ อันนี้เป็นปัญหาของสังคม เป็นเปรตยักษ์มารอสูรกายที่มีชีวิตอยู่ อันนี้ไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความชอบใจพอใจในศีลสมาธิปัญญา ตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เราดิ้นรนในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขัดหลักเหตุผล ขัดหลักวิทยาศาสตร์ แต่พระพุทธเจ้าท่านก้าวไปไกลกว่านั้นอีก ตามหลักเหตุเหตุหลักผล แล้วก็ยังไม่ติดแค่ความสะดวกความสบาย เป็นหนทางเดินเหยียบผ่านไปเฉยๆ เรียกว่าศาสนา เหมือนที่กล่าวไว้วันก่อน ศาสนาไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นการเสียสละ เป็นทั้งศีลทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ถึงเรียกว่าพระ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็เป็นได้แค่บุคคล พระที่มาบวชเป็นได้แค่ภิกษุ
เรามาหลงอย่างนี้ ใจของเรายังเป็นความหลง จิตใจของเรายังเป็นระบบครอบครัว ไม่ได้เป็นศีล เป็นธรรม เป็นพระวินัย ถ้าเราไม่มักน้อยสันโดษ ไม่เอาศีลเอาธรรมอย่างนี้ ใจของเราเป็นนักการเมือง นักกินเมือง อย่างนี้ไม่ได้ การปกครองอย่างนี้ ถ้าไม่เอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาเรียกว่ากินเมือง ไม่ใช่การเมือง พวกถือพรรคถือพวก พวกซื้อสิทธิ์ขายเสียง พูดเอาดีแต่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น มันเป็นการทำลายสิ่งที่สงบร่มเย็น เป็นการแตกแยก เป็นสังฆเภท ความมักน้อยสันโดษทุกคนต้องมี ถ้างั้นเกิดมาเราเป็นพี่เป็นน้องก็ต้องมาแย่งกัน มาแย่งบ้านแย่งรถ แย่งของพ่อของแม่ ของปู่ย่าตายาย เพราะเราเอาตัวตนเป็นหลัก เราไม่ได้เอาธรรมเป็นหลัก ความสันโดษของเราไม่มีเลย มีแต่เปรตผียักษ์มารอสูรกาย ไม่มีศักดิ์ศรีอะไรเลย
เราทุกๆคนจะได้รู้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่สูงส่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันถึงจะละลายใบประกาศ A4 ที่เราเรียนมา เขาให้เอามาเสียสละทั่วหน้าทุกคน ให้มาเป็นผู้สันโดษ ผู้ที่เสียสละซึ่งตัว ซึ่งตน พากันมาประพฤติพากันมาปฏิบัติ มันจะได้ตัดอบายมุข อบายภูมิ รุ่นพ่อสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน พัฒนาสิ่งที่ดีๆ ครอบครัวเราจะไม่ได้เป๋ ประเทศชาติเราจะได้ไม่เป๋ ถ้าเป็นนักบวชยังไปยินดีในกาม ในเรื่องเงินเรื่องสตางค์ เรื่องรถ เรื่องตำแหน่ง เรื่องนารีสีกา ที่มันเป็นความหลง ไม่เสียสละอย่างนี้ ถือว่าไม่สันโดษเป็นผู้มักมากในกาม อย่างนี้ถือว่าเป็นระบบครอบครัว ถ้าเป็นนักปกครองอย่างนี้ถือว่ายังไม่ได้เป็นเหมือนพระพุทธเจ้า มันปกครองคนอื่น ไม่ได้ปกครองตัวเอง มันจะไปแก้ไขปัญหาได้ยังไง อย่างนี้แหละ มันเป็นการเมืองที่น่าเกลียด
ไม่ว่านักบวช หรือ นักการเมือง ต้องปกครองตัวเองให้มักเป็นผู้มักน้อยสันโดษก่อน เพราะคนเราเห็นเงินเห็นตังค์ ทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องทะเลาะกัน มันไม่มีความสุขในธรรม เหมือนกับคนที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาใหม่ อย่างนักเรียนนักการศึกษาเรียนด้วยกันตั้งแต่เล็กๆ ผลสุดท้ายจบมาต่างคนก็ต่างมาเอาผลประโยชน์กันเอง มันก็เสียเพื่อนเสียธรรมะ มันก็ไม่ได้ ความฉลาดมันยังไม่พอ ความมักน้อยสันโดษมันยังไม่พอ ปลูกต้นไม้ยังไม่ใหญ่เลย ก็ไปกินยอดกินใบหมด ต้นไม้มันก็โตไม่ได้ คุณธรรมของเราก็โตไม่ได้ จึงต้องพัฒนากายใจให้เป็นผู้สันโดษ สันโดษรู้จักความพอดี หากเรารู้จักทำตนให้ดำรงอยู่อย่างพอเหมาะพอดี รู้จักประมาณในทุกสิ่ง ก็จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข โปร่งเบาใจ และจะห่างไกลจากความกังวลได้อย่างดีเยี่ยม ชีวิตของผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่า เป็นชีวิตที่ไม่พร่อง เพราะเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง มักน้อยสันโดษ ผู้ที่รู้จักตนเองเช่นนี้ เป็นผู้ที่ไม่เหลวไหลในการใช้ชีวิต จะรู้คุณค่าของลมหายใจ และใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเหมือนความเป็นผู้สันโดษ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลสันโดษ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป”
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee