แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๑๓ คณะสงฆ์จะไม่เสื่อมจากศาสนา ก็ด้วยประพฤติในหลักอปริหานิยธรรม ๗ ประการ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกคนรู้จักศาสนา ไม่ว่าเราจะเป็นพุทธคริสต์อิสลามพราหมณ์ฮินดูซิกข์ เป็นศาสนาต่างๆ เพราะศาสนาก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือศาสนา ศาสนานี่คือรู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่เอาความหลงเป็นที่ตั้ง ไม่เอาไสยศาสตร์เป็นที่ตั้ง พัฒนาเทคโนโลยีพร้อมกับพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน หมู่มวลมนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ถึงจะมีความสุขความดับทุกข์ ทุกท่านทุกคนต้องพากันรู้จัก ว่าศาสนานี้คือธรรมะ ธรรมะนี้คือศาสนา ที่ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ถ้าไม่งั้นเราจะหลงทาง จะลงประเด็น เราจะมาเอาธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ อายตนะทั้ง ๖ มาเป็นตัวเป็นตน นี้ไม่ใช่ นี้เป็นเพียงเหตุเป็นปัจจัยเพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี มันเป็นการเวียนว่ายตายเกิด เราต้องละสักกายทิฏฐิ ละซึ่งตัวซึ่งตน
แก่นแท้ของศาสนาคือภาคประพฤติภาคปฏิบัติ การสร้างศาสนาก็โดยอาศัยศรัทธาอาศัยความเคารพนับถือ ได้สร้างพระพุทธรูปสร้างเหรียญครูบาอาจารย์ นั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าอันนั้นเป็นความขลังเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ไม่ใช่ความขลังความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเรา เพราะท่านเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้าได้เป็นพระอรหันต์ได้เป็นพระอริยเจ้า เราต้องรู้จัก ถ้าไม่งั้นการสร้างศาสนวัตถุก็ถือว่ามากมายก่ายกอง การเรียนการศึกษาก็ต้องเข้าภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะไม่ใช่ว่ามันจะปฏิบัติไม่ได้ เพราะมันอยู่ที่ใจของเรามีสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เน้นประพฤติเน้นปฏิบัติในปัจจุบัน อย่าไปหลงวัตถุเหมือนนักบวชยุคสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยนาลันทาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะล่มสลายไปจากอินเดีย ที่ไปเอาแต่ยศเอาแต่ตำแหน่ง เอาแต่ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี ละทิ้งชาวบ้านคนยากคนจน เอาแต่คนชั้นบริหารปกครองเอาแต่คนรวย เลยไม่ได้เป็นศาสนา
เรามีวัดวาอาราม เป็นเพียงแค่ที่ทำมาหากินของผู้มองช่องทางออกในการดำรงชีพ มันเลยหลงประเด็นไป ไปเอาแต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกไม่ได้สอน มายึดแต่ศาสนพิธีที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติ แล้วบอกว่าเป็นธรรมวินัย เช่นไปเคร่งครัดแต่ทางยศตำแหน่ง จับพัดถูกจับพัดไม่ถูก เดินไปชักผ้าบังสกุลต้องใช้มือนัันมือนี้ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ล้วนแต่เป็นการยึดแต่พิธีรีตองทั้งนั้น โดยไม่ได้เข้าถึงแก่นแท้เลย
เราก็ต้องทำงานที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ และไม่ยึดติดมัวเมาใน "ยศช้างขุนนางพระ" จากธรรมเนียมแต่โบราณ ที่มีการพระราชทานเครื่องคชาภรณ์ประดับยศ และต้องเรียกคำนำหน้าว่า "คุณพระ" ด้วยเห็นว่าช้างเป็นสัตว์มีคุณในการศึกสงคราม เช่นเดียวกันก็มีการพระราชทาน "สมณศักดิ์" แก่ภิกษุเพื่อเป็นกำลังสืบต่อพระศาสนา และเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย
หากในความจริงแม้จะอวยยศอย่างไรช้างก็คงอยู่กินอย่างช้าง ไม่ต่างอะไรกับพระ แม้ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์ พระก็ยังคงมีวัตรปฏิบัติในฐานะผู้ทรงศีล ดังนั้น ลาภยศและสรรเสริญจึงเป็นเพียงสิ่งสมมุติทางโลก ไม่ได้มีความจำเป็นต่อช้างและพระ ความหมายของสำนวน "ยศช้างขุนนางพระ" จึงหมายถึง "ยศที่ไม่สำคัญ ไม่จริงจัง และไม่สามารถให้คุณให้โทษแก่ใครได้" ซึ่งมีนัยเป็นเครื่องเตือนจิต ให้ระลึกถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่น
พระพุทธเจ้าให้เราต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นธรรมนูญของชีวิต ชีวิตจะได้หมดปัญหา มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรม ยศตำแหน่งของพระพุทธเจ้า ก็คือ ความเป็นผู้เลิศเอตทัคคะในด้านต่างๆ รวมถึงการเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ คือ พระอรหันต์ ผู้ห่างไกลจากกิเลส พระอนาคามี ผู้ไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก พระสกทาคามี ผู้มาสู่โลกนี้อีกพียงครั้งเดียว และพระโสดาบัน ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ผู้มีคติแน่นอนไม่ตกต่ำลงอบายภูมิ เวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิด ๗ ชาติก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ คุณธรรมอันสูงส่งเหล่านี้ มาจากการประพฤติปฏิบัติ มาจากคุณธรรมภายใน มิได้มาจากการเสาะแสวงหาภายนอกพระองค์ทรงสอนให้มุ่งแต่พระนิพพาน ดังที่ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน”
พระพุทธศาสนาจะเสื่อมหรือสูญสิ้นไปก็เพราะภิกษุเองไม่ใช่คนภายนอก ฉะนั้นภิกษุที่ทำลายพระพุทธศาสนา ก็คือผู้ที่ไม่รู้จักคำว่าพุทธะอย่างแท้จริง ภิกษุที่บวชโดยมิได้หวังพระนิพพานคือผู้คอรัปชั่นในพระพุทธศาสนา เมื่อไม่มีทางได้ลาภสักการะได้เสียงเยินยอโดยการทำข้อวัตรกิจวัตรหรือประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็มักวกไปประกอบเดรัจฉานวิชา หาเงินด้วยอุบายวิธีต่างๆนานา ไม่เกรงกลัวใคร ไม่ละอายต่อบาป จิตใจไม่สงบระงับ ห่างไกลมรรคผลนิพพานออกไปทุกวันๆ แต่กลับเข้าใกล้นรกมากขึ้นทุกทีๆ และเป็นผู้ที่นำภัยมาสู่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ให้พวกเรารู้จักเข้าใจแก่นแท้เนื้อแท้แห่งพระพุทธศาสนาจริงๆ อย่าหลงกับพุทธศาสนา "เนื้องอก" ที่มีขึ้นมาใหม่ๆ มากมายหลายร้อยอย่างโดยไม่ต้องระบุชื่อ เพราะมากจนระบุไม่ไหว แต่อยากจะให้เชื่อว่า "พุทธศาสนาเนื้องอก" เป็นเนื้อร้ายชนิดหนึ่ง ซึ่งงอกขึ้นๆ จนปิดบังห่อหุ้มเนื้อดีหรือแก่นแท้ของพุทธศาสนาให้ค่อยๆ ลางเลือนไป ด้วยเหตุฉะนี้แหละสิ่งที่เราเรียกว่าพระพุทธศาสนาๆ จึงมีเพิ่มขึ้นมากมายหลายประเภทจากตัวแท้ ของศาสนาที่มีอยู่ดั้งเดิม
ศาสนาพุทธ ที่เป็น “พุทธะ” ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะเหลืออยู่สักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่ คือ เนื้องอก เช่น พิธีกรรมบวงสรวง เซ่นไหว้ บูชา หลงประกาศแต่ศาสนาพราหมณ์ ปฏิบัติกิจเกี่ยวกับพิธีรีตองของขลังศักดิ์สิทธิ์ ประกอบธุรกิจพุทธพาณิชต่างๆ เป็นเนื้องอกเนื้อร้ายแห่งพระพุทธศาสนา
พระเจ้าพระสงฆ์น่ะ อย่าพากันหลอกประชาชน ต้องละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป คนนู้นก็ทำคนนี้ก็ทำ ละก็ทำกันทั่วทุกหนทุกแห่ง หลอกประชาชนเค้า พระพุทธเจ้าท่านไม่พูดเรื่องสวรรค์พวกอะไรๆ อย่างนี้ ช่างหัวมันมันแล้วก็แล้วไป พระรุ่นใหม่คนสมัยใหม่ก็ต้องเข้าใจนะ ว่าบางอย่างบางอัน พระมหาเถระพาเราทำความผิดเราก็อย่าไปทำตาม เราก็ต้องรักพระศาสนาเรา เราพากันหยุดเสพกามกัน รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ พวกนี้คือกาม เราพากันมี sex ทางกามทางจิตใจกัน มันไปไม่ได้ เพราะว่าทางตัน เค้าเรียกว่าตัณหา มันตัน ถ้าไม่พูดมันก็ไม่ได้ เพราะโรคทางใจนี้สำคัญนะ ให้พากันประพฤติพากันปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับวัดบ้าน วัดป่า ไม่เกี่ยวกับธรรมยุต มหานิกาย มหายาน หินยาน มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ทุกศาสนาก็ต้องไปในแนวเดียว มันจะไปคนละแนวได้อย่างไร ไปคนละแนวมันก็ไม่ใช่ศาสนาแล้ว ก็เป็นระบบทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ก็เป็นนิติบุคคลไม่ใช่ศาสนา
บ้านเมืองเจริญ ยิ่งเราใช้เทคโนโลยีออกอากาศ มันก็ยิ่งหลอกประชาชนได้กว้างขว้าง ถ้าเทคโนโลยีเจริญอย่างนี้ ถ้าเราพูดของจริงอะไรจริง ประชาชนทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลเค้าก็รู้กัน เราต้องหยุดหลอกลวงประชาชน ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปกัน ถ้าเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไม่ต้องกลัวอดกลัวอยาก เพราะเราพูดอย่างนี้แสดงอย่างนี้ แสดงอย่างนี้แหละ แสดงว่าเราหลงในกาม เราไม่ได้เอาธรรมะ ไม่ได้เอาวินัย ไม่เอาศาสนาแล้ว เราใช้ความฉลาดหลอกประชาชน ที่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้ว่าให้พระนะ เพราะว่าพระ คือ พระธรรม คือพระวินัย คือความถูกต้อง อย่างนี้ไปว่าให้ไม่ได้บาป ว่าให้ผู้ไม่เอาธรรมไม่เอาพระวินัย เอาลาภสักการะ เสียงเยินยอ พวกที่เอาเงินเอาสตางค์ เอานารีสีกา พากันไปขับรถขับเรือ ที่พากันกินโต๊ะประชากรของโลก ให้เข้าใจนะ ให้ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป อย่าไปด้านเกินมึนเกิน พูดถูกต้องอย่างนี้ละก็กลัว กลัวประชาชนจะรู้ของจริง รู้ความจริง ถ้ามันถูกต้องแล้วมันไม่กลัวหรอก ต้องสง่างาม ไม่มีอะไรที่จะดีกว่าการที่ทุกท่านทุกต้องพากันมาเสียสละ
ทิฏฐิพระ มานะพวกที่มีมิจฉาทิฏฐิ เช่น ฤาษีใหญ่ๆ หลายฤาษี ถ้าประชาชนไปหาอีกฤาษีหนึ่งก็พากันเครียดนะ เพราะกลัวกามของตัวเองจะหมด กลัวกามของตัวเองจะหาย ประชาชนคนที่พากันหลงในเครื่องรางของขลัง หลงในรูป ในเหรียญ อะไรก็พากันมีปัญญา ทุกคนถึงจะขลังจะศักดิ์จะสิทธิ์ มันแก้ปัญหาไม่ได้หรอก มันก็เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกคน อย่าให้พระภิกษุประเภทนี้หลอกลวง เพราะว่ามันมีมาก ของไม่จริงมันมากกว่าของจริง
พวกเรานี่ ถ้าไม่ตามธรรม ไม่ตามวินัย ไม่ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ พวกเราก็เป็นได้แต่เพียงภิกษุ สามเณร ถ้าไม่ตามธรรม ไม่ตามวินัย เอาตามใจ ตามอารมณ์ เอาตามความรู้สึก เราจะตกสภาพจากพระภิกษุ สามเณร กลายเป็นโจร เป็นมหาโจร โดยที่เราพากันหลงประเด็น เราไม่ได้พากันประพฤติ พากันปฏิบัติในปัจจุบัน
อย่างพระภิกษุที่ว่าถือศีล ๒๒๗ ถ้ารักษาไม่ได้ แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นคนโกหก โกหกคนทั้งโลก โกหกพระพุทธเจ้า พระถ้าไม่ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ศีล ๕ ยังรักษาไม่ได้ ข้อที่ ๔ คือมุสาวาทยังผ่านไม่ได้ ไม่ใช่พระก็อ้างเป็นพระ ไม่ใช่สมณะก็อ้างตนว่าเป็นสมณะ เหมือนลาที่เดินตามฝูงโคไปนั้น สีของมัน เสียงของมัน เท้าของมัน ไม่เหมือนของโคเลย แต่มันก็ร้องอยู่ว่า “กูก็เป็นโค กูก็เป็นโค” เปรียบเหมือนภิกษุบางรูปที่เดินตามหลังหมู่ภิกษุ แล้วร้องประกาศว่า ข้าก็เป็นภิกษุ ข้าก็เป็นภิกษุ แต่ความประพฤติสีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขาของภิกษุรูปนั้น ไม่เหมือนของหมู่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นได้แต่เดินตามหลังหมู่ภิกษุแล้วร้องประกาศว่า “ข้าก็เป็นภิกษุ ข้าก็เป็นภิกษุ” เพราะยังมีความย่อหย่อนอ่อนแออยู่ ยังเป็นคนไม่กตัญญูกตเวที แบบนี้เขาเรียกว่า สร้างความเสียหายให้ตัวเอง ให้ศาสนา ให้ประเทศชาติ ขนาดตัวเองยังสั่งสอนไม่ได้ จะไปสอนประชาชนได้ยังไง อย่างภิกษุแม้แต่ศีล ๕ ก็ยังรักษาไม่ได้ โดยเฉพาะศีลข้อ ๔ ที่รักษาไม่ได้เลย เพราะยังโกหกพระพุทธเจ้าอยู่
ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะยังหายใจได้อยู่ อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ อยู่ที่ไหนเราก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีการประพฤติปฏิบัติ ไม่ได้มีหลักห้ามไม่ให้ปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะอยู่ในกรุงอยู่ในเมืองอยู่ในสังคมจะปฏิบัติไม่ได้ เพราะอันนี้เป็นเรื่องจิตเรื่องใจเป็นเรื่องสัมมาทิฏฐิ เราจะได้เข้าถึงพระศาสนาที่แท้ เป็นผู้ที่เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่
อปริหานิยธรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้นแล เมื่อวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธกลับไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงไป ภิกษุทั้งหลายมีจำนวนเท่าใดอยู่อาศัยกรุงราชคฤห์ เธอจงให้ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา ท่านพระอานนท์กราบทูลรับแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า แล้วให้พระภิกษุตามจำนวนที่อาศัยกรุงราชคฤห์อยู่ทั้งหมดประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ยืนอยู่ ณ ด้านหนึ่ง
ท่านพระอานนท์ผู้ยืนอยู่แล้ว ณ ด้านหนึ่งแล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว บัดนี้ เป็นเวลาซึ่งทรงเห็นเป็นกาลสมควร พระเจ้าข้า ครั้นนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลุกจากอาสนะเสด็จดำเนินเข้าอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว ครั้นประทับนั่งแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจักแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังจงทำไว้ในใจให้ดี ตถาคตจักกล่าวดังนี้ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พร้อมแล้ว พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพระดำรัสต่อไปนี้
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ หมายถึง ในกิจของสงฆ์ที่ต้องทำร่วมกันไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ ต้องมีการประชุม ปรึกษาหารืออย่างสม่ำเสมอ คือ กำหนดให้มีการประชุมกันเป็นประจำ เช่นมีการประชุมประจำวัน ประจำสัปดาห์ ประจำเดือน หรือประจำปี และการประชุมพิเศษเมื่อมีเหตุอันควรประชุมเกิดขึ้น
ตัวอย่างการประชุมประจำ (ประชุมสามัญ) เช่น ประชุมทำอุโบสถกรรม ประชุมทำวัตรเช้าเย็น ประชุมฟังเทศน์วันธรรมสวนะ ตัวอย่างการประชุมพิเศษ (ประชุมวิสามัญ) เช่น ประชุมทำอุปสมบทกรรม ประชุมวินิจฉัยอธิกรณ์ และประชุมปรึกษากิจกรรม
การบริหารงานที่มีการประชุมดังนี้มีลักษณะเป็นการบริหารโดยหมู่คณะ เข้าแบบประชาธิปไตย คือ ผู้ใหญ่ผู้น้อยต่างรับฟังความคิดความเห็นของกันและกัน ผลของการประชุมคือ ทำให้สมาชิกของสถาบันนั้นต่างรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของสถาบันด้วย (ตรงกับลักษณนิยมของนักบริหารที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า sense belonging ) หรือทางบาลีว่า มามกะและทำให้ทุกคนที่เป็นสมาชิกรู้สึกว่าตนก็มีโอกาสสร้างสรรค์สถาบัน (ดังที่นักบริหารเรียกว่า opportunity) หรือบาลีว่า โอกาสะ ครั้นแล้วก็ทำให้เกิดความรู้สึกแก่ทุกคนว่า ตนเป็นผู้รับผิดชอบในการดำรงรักษาสถาบัน (ดังที่นักบริหารเรียกว่า authority) เมื่อสมาชิกของสถาบันเกิดความรู้สึกสามอย่างนี้แล้ว ทุกคนย่อมจะพิทักษ์รักษาสถาบันเต็มความสามารถ
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ หมายถึง การประชุมถือว่าเป็นกิจที่สงฆ์ต้องทำร่วมกัน แต่การที่จะให้สงฆ์ทุกรูปยอมรับซึ่งกันและกันเพื่อความสามัคคี ก็จะต้องอาศัยความพร้อมเพรียงกันทุกๆ ครั้ง และต้องพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ช่วยทำกิจกรรมของสงฆ์จนสำเร็จด้วย เช่น ทำพิธีกรรมในงานมงคลนิยมใช้พระสงฆ์ ๙ รูป ก็ต้องมาพร้อมกันจึงจะทำพิธีกรรมได้
ข้อนี้เป็นกฎทั่วไปของการประชุมที่ดี คือต้องการความพร้อมเพรียง ซึ่งการพร้อมเพรียงนั้นมีความหมาย ๒ สถาน คือ
ก. การประชุมใดกำหนดตัวบุคคลใดไว้ในรูปกรรมการ ก็พร้อมหน้ากันตามที่กำหนดไว้ถ้าตนจำเป็นเข้าประชุมไม่ได้ก็ต้องบอกลาเป็นกิจลักษณะ
ข. การประชุมใดเป็นการประชุมสมาชิกทั้งหมด ก็พร้อมหน้ากันหมด แม้ผู้ที่ไปประชุมไม่ได้ เช่นอาพาธ ก็ต้องบอกลา หรือมอบฉันทะให้คนอื่นแทน
รวมความว่าทุกคนถือว่าการประชุมเป็นกิจสำคัญ เพราะเป็นงานของหมู่คณะ ถ้าหากจำเป็นพร้อมทางกายไม่ได้ ต้องแสดงออกซึ่งความพร้อมทางใจ
โดยเฉพาะพระพุทธโอวาทข้อนี้ ย่อมส่องความในทางผู้บริหารด้วยว่า การประชุมนั้นควรพยายามกระทำเมื่อสมาชิกพร้อมหน้า ไม่ใช่คอยฉวยโอกาสเรียกประชุมเมื่อสมาชิกไม่พร้อมแบบซุบซิบกัน ซึ่งจะทำให้ผลการประชุมบกพร่อง แม้จะสมบูรณ์ทางนิตินัย แต่ก็ไม่สมบูรณ์ในทางสามัคคีธรรม
ผลของการปฏิบัติตามอปริหานิยธรรมข้อนี้ คือรักษาเอกภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว) ของสถาบันไว้ได้ และโทษของการปฏิบัติทางตรงกันข้ามก็คือ ทำให้หมู่คณะแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า เกิดจุดอ่อนขึ้นในสถาบันนั้น
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้วมาทานศึกษาและประพฤติอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ หมายถึง ไม่บัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มเลิกสิ่งที่พระองค์บัญญัติไว้ ถือว่าสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญที่พระสงฆ์จะต้องปฏิบัติตาม ไม่เพิกถอนไม่เพิ่มเติม ไม่ละเมิดพุทธบัญญัติ เอาใจใส่ประพฤติตนตามพุทธบัญญัติอย่างเคร่งครัด
ข้อนี้เป็นหลักการใหญ่ ต้นไม้ที่จะแข็งแรงทนทานต้องมีแก่น รัฐที่จะมั่นคงก็ต้องมีบัญญัติสูงสุดที่เรียกว่าธรรมนูญ ซึ่งทุกคนต้องยึดถือเป็นหลัก ไม่ใช่ใครมีอำนาจอยากทำอะไรก็ทำตามอำเภอใจ ศาสนาก็เหมือนกันมีพระพุทธบัญญัติเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญสงฆ์ที่ดีย่อมไม่ยกเลิกเพิกถอน
ผลของการปฏิบัติในข้อนี้คือ ทำให้ศาสนาคงรูปคงร่างอยู่ได้นาน
โทษของการไม่ปฏิบัติตามก็คือ การทำลายโครงสร้างของพระศาสนา ทำให้ศาสนาเสียความมั่นคง และถูกศาสนาอื่นกลืนได้โดยง่าย
“วินโย นาม พุทฺธสาสนสฺส อายุ, วินเย ฐิเต พุทฺธสาสนํ ฐิตํ โหติ ฯ
อันพระวินัยจัดเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ด้วย”
๔. สักการะและเคารพนับถือ บูชา พระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระผู้รู้กาลนานผู้บวชมาแล้วนาน ผู้เป็นบิดาของสงฆ์ เป็นปริณายกของสงฆ์ และยังจักเชื่อถือโอวาทที่พึงฟังของท่านด้วย หมายถึง เคารพนับถือให้เกียรติและรับฟังถ้อยคำของภิกษุผู้ใหญ่ ผู้เป็นประธานในสงฆ์ ผู้เป็นอธิบดี ผู้ปกครองสงฆ์
ในการปกครองของพระสงฆ์จะให้อำนาจแก่ผู้ที่มีความสามารถตามบรรดาศักดิ์ เช่น ภิกษุผู้ใหญ่สังฆบิดรสังฆปรินายก ภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตามลำดับขั้นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ข้อนี้มุ่งในทางการปกครองบังคับบัญชา โดยหลักการนั้นก็คือว่าสถาบันจักต้องมีการปกครองบังคับบัญชา ในการปกครองบังคับบัญชานั้น ท่านย่อมให้อำนาจไว้กับผู้ที่มีสมรรถภาพสูงสามารถบริหารกิจการได้ แต่ผู้ที่ได้อำนาจนั้นบางกรณีอายุพรรษาน้อยกว่าผู้ที่ไม่มีอำนาจอปริหานิยธรรมข้อนี้จึงโปรดให้ถือหลัก "เคารพนับถึอ" ซึ่งกันและกัน ท่านแบ่งพระสงฆ์ในหมู่หนึ่งๆ ไว้ดังนี้
ก. เถโร มีอายุมาก ข. จิรปัพพชิโต มีพรรษามาก
ค. สังฆปิตา เป็นผู้ให้บรรพชาอุปสมบท (เหมือนพ่อ)
ง. สังฆปริณายโก เป็นหัวหน้าหมู่ (คือผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจ)
ผลการปฏิบัติตามอปริหานิยธรรมข้อนี้ ทำให้การปกครองหมู่คณะเป็นไปด้วยดี และมีความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาส่วนโทษของการไม่ปฏิบัติก็ตรงกันข้าม
๕. ไม่ลุอำนาจของตัณหา อันมีปกติให้เกิดในภพใหม่ ที่เกิดขึ้น หมายถึง ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น ไม่นำความอยากของตนเองเข้ามา ไม่ปล่อยให้ความต้องการส่วนตัวเข้ามาครอบงำ ให้คิดถึงแต่ส่วนรวม รู้จักอดกลั้น หักห้ามใจ มิให้ตกเป็นทาสภายใต้อำนาจกิเลสตัณหา เพราะพระสงฆ์ตัดแล้วซึ่งกิเลสตัณหา ความอยากมีอยากได้จะต้องไม่เกิดขึ้นจึงจะเป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป
ถ้าใครปฏิบัติได้ดังนี้ย่อมทำให้สังคมของพระภิกษุสงฆ์มีระเบียบวินัยดีขึ้นสามารถดำรงรักษาสิ่งที่มีคุณค่าไว้ได้ยั่งยืน จะไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียด้านการปกครอง และย่อมเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา
ข้อนี้มุ่งหมายถึงการปกครองตนเองของแต่ละคน เป็นการสนับสนุนข้อที่ 4 คือ คนเรามักมีความอยากดองอยู่ในสันดาน ที่ท่านเรียกว่าตัณหาบ้าง โลภะบ้าง มหิจฉาบ้าง เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ความอยากของคนเราก็ไม่พ้นไปจาก ๓ อย่างคือ ก. ความอยากได้ เช่น อยากได้ลาภ อยากได้ยศ อยากได้ชื่อเสียง ฯลฯ
ข. อยากเป็น เช่น อยากเป็นเจ้าอาวาส อยากเป็นฐานา ฯลฯ
ค. อยากไม่เป็น อยากจะสลัดทิ้งหน้าที่การงานหรือตำแหน่งที่สงฆ์มอบให้
เมื่อความอยากท่วมใจแล้วมันก็จะแสดงออกมาในรูปความอิจฉาริษยา ใส่ร้ายกันแย่งชิงกัน ฟ้องร้องกัน ตีเสมอผู้ใหญ่ ยกตนข่มท่าน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า ไม่ให้ลุอำนาจแก่ความอยาก คือ อย่าทำอะไรที่ไม่ชอบไม่ควรเพราะอำนาจความอยากผลักดันจิตใจ
ผลของการปฏิบัติ ทำให้หมู่คณะสงบเรียบร้อย น่าเลื่อมใส
โทษของการไม่ปฏิบัติ คือหมู่คณะนั้นจะเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นวาย ฟ้องร้องกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง อย่างเช่นบางรายสมภารกับลูกวัดฟ้องกันถึงในศาลบ้านเมือง ชื่อเสียงอันน่าเกลียดของสถาบันนั้นย่อมแผ่ไปในสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย
๖. เป็นผู้มีความยินดีในเสนาสนะตามราวป่า หมายถึง ยินดีในเสนาสนะอันควร ณ สถานที่อันสงัด คือพระสงฆ์ต้องมีชีวิตสงบเรียบง่าย มุ่งแสวงหาธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กับผู้อื่น ต้องรู้จักสงบจิตใจ ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่
เสนาสนะป่าตามข้อนี้ หมายถึงวัดป่า คือวัดที่ห่างจากย่านชุมชน ตามสังฆประเพณีนั้นวัดป่ามักห่างจากหมู่บ้านประมาณ 500 ชั่วขาธนู ประมาณ 500 เมตร หรือครึ่งกิโลเมตรตามมาตราวัดสากล
แม้ประเทศไทยเราสมัยเริ่มแรกก็คงถืออย่างนี้ คือสร้างวัดนอกหมู่บ้าน แต่ครั้นนานเข้าหมู่บ้านขยายตัวออกไปล้อมวัด ทุกวันนี้เราจึงเห็นแต่วัดที่อยู่กลางบ้าน กลางเมือง เป็นส่วนมาก
ความมุ่งหมายของอปริหานิยธรรมข้อนี้อยู่ตรงที่ว่า เป็นพระเป็นสงฆ์จะต้องฝึกอบรมจิตด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ถ้าพระไม่นำพาให้การอบรมจิตเมื่อไร ศาสนาก็เสื่อม ทีนี้การอบรมจิตนั้นต้องการใช้สถานที่วิเวกสงบสงัด เป็นสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การอบรม ที่อย่างนี้ก็คือป่านั่นเอง ในข้อนี้ท่านจึงสอนให้นิยมอยู่เสนาสนะป่า แม้จะอยู่ตลอดไปไม่สะดวก ก็หาโอกาสไปพักอบรมจิตใจเป็นครั้งคราว
ผลของการปฏิบัติ คือ ทำให้พระสงฆ์มีการอบรมจิตใจ จะได้เป็นสมณะผู้สงบเสงี่ยมน่าเลื่อมใส่วนโทษของการไม่ปฏิบัติ ก็คือสถาบันจะขาดแคลนพระผู้ได้รับการอบรมจิต หมู่คณะก็จะเต็มไปด้วยคนฟุ้งซ่าน
๗. เข้าไปตั้งสติไว้เฉพาะตนว่า ทำอย่างไร เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักที่ยังไม่มาขอให้มา และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก ที่มาแล้วขอให้อยู่สบาย หมายถึง ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนภิกษุสามเณรที่เป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาสก็ขอให้มา ที่มาแล้วก็ขอให้อยู่เป็นสุข ใฝ่ใจที่จะพบเห็นและสมาคมกับท่านผู้มีศีลและอาจารบริสุทธิ์ น่าเสื่อมใส
พระสงฆ์ต้องใจกว้างยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่และมีความปรารถนาดีต่อ มาชิกเก่า เพื่อสังคมสงฆ์จะได้ไม่เกิดความเสื่อมถอย รวมถึงตั้งใจสนับสนุน ปกป้องส่งเสริมพระภิกษุสามเณรที่ดี เลือกพระภิกษุสามเณรที่ดีมีความสามารถมีคุณธรรมเข้ามาเป็นกำลังพัฒนาหมู่คณะของตนไม่มีการขัดแข้งขัดขา เลื่อยขาเก้าอี้ เป็นต้น การทะนุบำรุงคุ้มครองพระภิกษุสามเณรที่ดี ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไปนั้นสามารถทำได้โดย การทำบุญด้วยปัจจัย 4 แด่ท่านเป็นประจำ เป็นต้น
ข้อนี้มีความมุ่งหมายให้แต่ละสถาบันมีการประสานงานกัน สนับสนุนซึ่งกันและกันเพราะในศาสนาเดียวกันกับเราก็แยกย้ายกันหลายวัด อยู่ต่างบ้านต่างเมืองถึงต่างประเทศก็มีการประสานงานกันด้วยไมตรีอันงาม ย่อมทำให้เกิดความสามัคคี เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ช่วยเหลือกันได้ ดังเช่นประเทศไทยกับประเทศลังกา เคยช่วยเหลือกันมาในอดีต
เฉพาะในส่วนย่อย คือวัดหนึ่งๆ พระพุทธองค์ไม่ประสงค์ให้ผู้ใดผูกขาด แต่ละวัดย่อมเอื้อเฟื้อรับรองพระที่มาจากอาวาสอื่นเท่าที่จะทำได้ เพราะผู้ที่มานั้นอาจเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ช่วยทำความเจริญ หรืออาจเป็นผู้มาเพื่อศึกษาอบรมนำเอาความเจริญไปเผยแพร่ต่อไปทำให้ศาสนาเจริญ ก็เป็นได้
แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่า ขอให้ผู้ที่มานั้นเป็นพระเณรที่ดี เคร่งครัดในสิกขาวินัย มิใช่จะให้คนเก่าต้องถูกขับไล่ไส่งหรือได้รับความลำบากเพราะเหตุแห่งคนที่มาใหม่
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อปริหานิยธรรม ๗ ประการเหล่านี้ ยังจักตั้งอยู่ในภิกษุทั้งหลายและภิกษุทั้งหลายยังจักเห็นดีร่วมกันในอปริหานิยธรรม ๗ประการเหล่านี้ ตลอดกาลเพียงไรภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียวหาความเสื่อมมิได้
จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาให้คณะสงฆ์มีความเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้น เข้มแข็งสามัคคีปรองดองกัน จึงทรงประทานหลักธรรมเรื่องอปริหานิยธรรม ๗ ประการหรือหลักการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ๗ ประการนี้ไว้ให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดนำไปประพฤติปฏิบัติกัน เพื่อสร้างความผาสุกให้เกิดขึ้นกับหมู่สงฆ์ และทำให้พระพุทธศาสนาพบแต่ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป จะไม่พบความเสื่อมถอยเลย แม้หากจะมีผู้ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนาก็จะไม่สามารถมาทำร้ายหรือทำลายได้ง่ายเลย
"ความดี ความถูกต้อง ธรรมวินัย" เท่านั้น จะเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหน ทำอะไรนั้นน่ะ "ศีล คือความรับผิดชอบ สมาธิ คือความหนักแน่น ปัญญา คือรู้จักรู้แจ้ง ปล่อยวาง เสียสละ อบรมบ่มอินทรีย์ พัฒนาตัวเองอย่างนี้ตลอดไป"
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee