แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๑๑ ความสมัครสมานสามัคคีที่จะเกิดได้ ก็เนื่องมาจากเสียสละ เพื่อเอาธรรมะเป็นหลักเป็นการดำเนินชีวิต
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความสมัครสมานสามัคคีของเราที่จะเกิดได้ ก็เนื่องมาจากเสียสละ เพื่อเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต เพราะเรื่องความสมัครสมานสามัคคีเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนน่ะไม่มีสิทธิ์ที่จะตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ต้องเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ เป็นผู้เสียสละเป็นผู้ให้ อย่างพ่อแม่อย่างครูบาอาจารย์ข้าราชการทหารตำรวจต้องพร้อมเพรียงกันทุกๆ คน เพื่อแก้ไขตัวเอง ถ้าเราไม่เสียสละมันก็ไว้ใจกันไม่ได้ เมื่อคนอื่นเขาไม่ไว้วางใจเรา จึงต้องเข้าใจและปฏิบัติให้ชัดเจน เพราะเราเกิดมาก็เพื่อมาเสียสละ เพื่อมาทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลง "รักชาติบ้านเมือง" ขึ้นเป็นเพลงปลุกใจให้รักชาติและให้สามัคคี เพื่อช่วยให้เกิดความสนิทสนมกลมเกลียวกัน เนื้อหาก็จับใจควรแก่การจดจำ คือ
"เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ควรคำนึงถึงชาติศาสนา ไม่ควรให้เสียทีที่เกิดมา ในหมู่ประชาชาวไทย
แม้ใครตั้งจิตรักตัว จะมัวนอนนิ่งอยู่ไฉน ควรจะร้อนอกร้อน ใจ เพื่อให้พรั่งพร้อมทั่วตน
ชาติใดไร้รักสมัครสมาน จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล แม้ชาติย่อยยับอับจน บุคคลจะสุขอยู่ได้อย่างไร
ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำร่ำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธ์นั้นอย่าหมาย
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้ง โลกา
เพราะฉะนั้นช่วยกันสวามิภักดิ์ จงรักร่วมชาติศาสนา
ยอมตายไม่เสียดายชีวา เพื่อรักษาอิสระคณะ ไทย
อปริหานิยธรรม (อ่านว่า อะปะริหานิยะธรรม) แปลว่า ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว หมายถึง ธรรมที่ทำให้ไม่เสื่อม เกิดความเจริญทั้งส่วนตนและส่วนรวม นำความสุขความเจริญมาสู่หมู่คณะฝ่ายเดียว เพราะเป็นหลักธรรมที่เน้นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ก่อเกิดเป็นความสามัคคีของหมู่คณะ และการเคารพนับถือซึ่งกันและกันสรุปก็คือ เป็นหลักธรรมที่สอนให้เรารู้จัก หลักการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างชุมชน องค์กร หรือสถาบัน ให้เข้มแข็งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมู่ชนกับผู้บริหารบ้านเมือง และคณะพระภิกษุสงฆ์
ทุกคนย่อมจะเข้าใจอยู่แล้วว่า ความสุขความเจริญของบุคคลย่อมอิงอาศัยสถาบันคำว่าสถาบัน นั้นหมายถึงองค์กรหนึ่งๆ เช่น วัด คณะสงฆ์ ศาสนา ประเทศ กระทรวง กรมกอง หรือที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นก็ตาม หน่วยงานที่บริการความสุขความเจริญให้แก่สมาชิกหน่วยหนึ่งๆ ก็เรียกว่า สถาบันหนึ่ง
สถาบันหนึ่งๆ ก็ย่อมประกอบด้วยบุคคลหลายคน เป็นสมาชิก คนหลายคนก็หลายใจหลายนิสัยใจคอ
การดำรงรักษาสถาบันให้มั่นคงและให้เจริญรุ่งเรือง มิให้เสื่อมถอยลงไปนั้น จึงเป็นเทคนิค (วิธีการเฉพาะ) อย่างหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า มีชนชาติหลายเผ่าในโลกนี้ได้สาบสูญไป มีประเทศบางประเทศหมดความเป็นอิสระ มีลัทธิศาสนามากต่อมากที่สลายตัวสถาบันอีกมากมายที่แม้จะไม่ถึงกับล้มละลายแต่ก็เสื่อมโทรมอย่างน่าเสียดาย ทั้งหมดนั้นเกิดจากการบริหารงานของสถาบันนั้นๆ ไม่ถูกต้องเหมาะสม
แม้พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสถาบันใหญ่ยิ่งสถาบันหนึ่งในโลก ก็ตกอยู่ในวิถีแห่งความเสื่อมและความเจริญเหมือนกัน ทั้งๆ ที่พระบรมศาสดาก็ทรงชี้ช่องทางเพื่อการดำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงไว้แล้ว แต่ถ้าหากพุทธบริษัท 4 ต่างไม่นำพาที่จะนำไปปฏิบัติให้ครบถ้วน ก็จะทำให้พระพุทธศาสนาถึงความเสื่อมสลายได้
เราทุกคนเป็นผู้มีหน้าที่ดำรงรักษาสถาบันทั้งสิ้น ไม่ฐานะของผู้บริหารก็ในฐานะของสมาชิก จึงควรศึกษาหลักธรรมเรื่อง อปริหานิยธรรม นี้ไว้ให้ดี เพราะหลักธรรมเรื่อง อปริหานิยธรรม เป็นเทคนิคในการดำรงรักษาสถาบัน ให้เจริญรุ่งเรือง ไม่ไปสู่ความเสื่อมถอย ซึ่งอนุโลมใช้ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม และในทุกระดับ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ทันสมัยอยู่เสมอ
พระพุทธองค์ตรัสถึงองค์ประกอบของอปริหานิยธรรม ไว้ 7 ประการ ทั้งสำหรับคฤหัสถ์และสำหรับพระภิกษุสงฆ์
อปริหานิยธรรมสำหรับคฤหัสถ์
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ หมายถึง การประชุมพบปะปรึกษาหารือกันในกิจการงานต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อแก้ปัญหาในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ยอมรับในเหตุผลที่ถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์สร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน
การประชุมกันบ่อยๆ คุยกันบ่อยๆ นั้น เป็นการระดมมันสมอง รวมความสามารถที่ทุกคนมี แล้วนำมาแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องส่งเสริมพัฒนาหมู่คณะให้มีความเจริญในด้านต่างๆ เช่น ในสถานที่ทำงาน หัวหน้ามีการประชุมปรึกษากับผู้ร่วมงานทุกครั้ง งานก็จะราบรื่น หากมีข้อผิดพลาด ทุกคนก็จะยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น, ในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก มีอะไรพูดกันปรึกษากัน ลูกก็จะอบอุ่น จะไม่ติดเกมส์หรือไม่ติดยาเสพติด
หมายเหตุ คำว่าประชุมนั้นหมายรวมไปถึง การพบปะสนทนา การรับประทานอาหารการเล่นกีฬา การทำกิจกรรมกลุ่มย่อยด้วยกัน เป็นต้น และการประชุมนั้น สมาชิกทุกคนจะต้องมีสติกำกับเพื่อควบคุมอารมณ์ให้ได้อยู่ตลอดเวลามิเช่นนั้นแล้วการประชุมก็จะไม่สัมฤทธิผล
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรทำ หมายถึง เข้าประชุม เลิกประชุม และทำกิจที่ได้รับมอบหมายตามมติที่ประชุม อย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการกินแหนงแคลงใจกัน ต้องให้ความสำคัญกับการประชุม ต้องทำงานของส่วนรวมให้ดี และพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันหมู่คณะเมื่อมีภัย
หมายเหตุ การเริ่มและเลิกประชุมโดยพร้อมเพรียงกันนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ เป็นตัววัดว่าคนในทีมมีความพร้อมหรือไม่แค่ไหน การตรงต่อเวลาเป็นการเสียสละ เป็นการแสดงน้ำใจเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ให้ความสำคัญของคำว่าทีม หัวหน้าที่ดีจึงต้องรักษาเวลาทั้งการเริ่มและเลิกประชุม
การทำกิจต่างๆ ตามมติที่ประชุม เป็นการเสียสละ การยอมรับ อดทนอดกลั้น และที่สำคัญคือเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากไม่เชื่อใจกัน จะทำให้ไม่แบ่งงานกัน เกิดการหลงตนเอง การใจไม่ถึง ใจไม่กว้างพอที่จะเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ทำผิดพลาดเพื่อการเรียนรู้
การจัดทำเอกสาร และกำหนดมาตราฐานต่างๆ ในการทำงาน ก็เป็นการวางระบบให้ทำงานอย่างพร้อมเพรียงกันได้อย่างหนึ่ง
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่บัญญัติ จักไม่ถอนสิ่งที่ท่านบัญญัติไว้แล้ว ประพฤติมั่นอยู่ในธรรมของชุมชนครั้งโบราณ หมายถึง ไม่บัญญัติสิ่งใหม่ๆ หรือล้มเลิกบัญญัติเดิม ตามอำเภอใจ โดยผิดหลักการเดิมที่หมู่คณะได้วางไว้ จะต้องถือปฏิบัติมั่นตามหลักการเดิมของหมู่คณะทำตามกฎระเบียบ ตามกติกาข้อบังคับ ตามหลักเกณฑ์ของหมู่คณะ เพื่อความเสมอภาคกัน อันเป็นเหตุส่งเสริมให้การปกครองการบริหารเกิดผลดี มีประสิทธิภาพ ไม่เล่นนอกกฎนอกกติกาเพราะจะกลายเป็นกติกาส่วนตัวที่ไม่ตรงกับกติกาของคนอื่น ซึ่งจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นตามมาภายหลัง
หมายเหตุ การกำหนด วิสัยทัศน์ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ แผนรองรับ ฯลฯ คือการบัญญัติดังนั้น ทุกคนในทีมจะต้องทำตามอย่างเคร่งครัด ไม่ล้มเลิก เพิ่มถอน ตามอำเภอใจ
๔. สักการะเคารพนับถือบูชาท่านผู้ใหญ่ทั้งหลาย มองเห็นความสำคัญแห่งถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันพึงรับฟัง หมายถึง ให้ความเคารพและรับฟังความคิดเห็นคำแนะนำของผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนาน ดังนั้นเราต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพนับถือ และรับฟังความคิดเห็นของท่านในฐานะที่เป็นผู้รู้และมีประสบการณ์มามาก การอยู่ร่วมกันในหมู่คณะจำเป็นต้องมีผู้นำและผู้ตาม เราต้องเคารพนับถือผู้เป็นใหญ่เป็นประธาน เคารพผู้บริหารหมู่คณะ ถ้าเราให้การเคารพและเชื่อฟังผู้นำ หมู่คณะสังคมก็จะไม่วุ่นวาย เช่น ถ้าลูกเชื่อฟังพ่อแม่ก็จะเป็นคนดีได้ ไม่เกะกะเกเรก่อความเดือดร้อนให้กับครอบครัวและสังคม
หมายเหตุ จุดตั้งต้นของการนำทีม อยู่ที่ผู้ใหญ่ในองค์กร ว่ามีคุณธรรม คู่ควรแก่การเคารพนับถือกราบไหว้ได้หรือไม่ น่าฟังและทำตามแค่ไหน
บางองค์กร ผู้ใหญ่ทำตัวไม่น่าเคารพนับถือ ไม่น่ากราบไหว้ มีนิสัยเจ้าชู้ ชอบเล่นการพนัน คดโกง เห็นแก่ตัว ขาดศีลธรรม ไร้จริยธรรม ก็ยากที่จะสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีมที่ดีได้
๕. ไม่ข่มเหงบังคับปกครองหญิงในสกุล หมายถึง ให้เกียรติและคุ้มครองสตรีและกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดี มิให้ถูกล่วงเกินข่มเหงรังแกหรือถูกฉุดคร่าขืนใจ
สตรีถือว่าเป็นเพศแม่ เป็นเพศที่อ่อนแอ บุรุษควรให้เกียรติ ให้การยกย่อง ปกป้องไม่ให้ใครละเมิดสิทธิหรือข่มเหงรังแก ถ้าสังคมใดๆ ผู้หญิงถูกฉุดคร่าข่มขืนมากๆ ความเสื่อมย่อมจะเกิดกับสังคมนั้น
หมายเหตุ การทำร้าย การทำผิดในลูกเมียผู้อื่น การกดขี่ทางเพศ การทำลามกอนาจารย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมในองค์กร เพราะทำให้เกิดความหวาดระแวง และขาดความปลอดภัยในคู่ครอง และในที่นี้ยังรวมไปถึง การไม่รับฟังความเห็นของเพศหญิงด้วย
๖. สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจติยสถานของคนในชุมชนทั้งภายในและภายนอกและไม่ลบล้างพลีกรรมอันชอบธรรม ซึ่งเคยให้เคยทำแก่เจติยสถานเหล่านั้น หมายถึง ให้การสักการะ เคารพ นับถือ บูชาและปกป้องรักษาปูชนีย ถานที่สำคัญของชุมชนนั้นๆ โดยทั่วถึงทั้งหมด เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนความทรงจำ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นศูนย์รวมใจของหมู่ชน เร้าให้ทำดี และไม่บั่นทอนผลประโยชน์ที่เคยอุปถัมภ์บำรุงเจดีย์หรือปูชนียสถานเหล่านั้นไม่ละเลยพิธีเคารพบูชาอันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานเหล่านั้นตามประเพณีที่ดีงาม เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้มีนิสัยดี รักสันติภาพ ขัดเกลาจิตใจอยู่เสมอ พร้อมที่จะปฏิบัติดีโดยไม่ประมาท การที่สมาชิกของสังคมเป็นคนดี ย่อมเป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรี และเป็นเครื่องยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
หมายเหตุ ศูนย์รวมจิตใจขององค์กรนั้น บางองค์กรเคารพบูชาอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญหรือบรรพบุรุษ หรือผู้มีพระคุณ ขอให้หาศูนย์รวมจิตใจในองค์กรนั้นๆ ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์อนุสาวรีย์ ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ หรือรูปเคารพต่างๆ ก็จะทำให้สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนหรือองค์กรนั้นๆ เพื่อสร้างความสามัคคีที่ดีต่อกันได้ไม่ยาก
๗. ถวายความอารักขา ความคุ้มครอง ป้องกันโดยชอบธรรมในพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นอย่างดี ด้วยหวังว่า ไฉนพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้น และที่มาแล้ว พึงอยู่เป็นสุข หมายถึง จัดการให้ความอารักขา บำรุง คุ้มครอง อันชอบธรรมแก่บรรพชิต ผู้ทรงศีลทรงธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชนเต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก
รวมถึงตั้งใจสนับสนุนคนดี ปกป้องคนดีส่งเสริมคนดี เลือกคนดีมีความสามารถมีคุณธรรมเข้ามาเป็นกำลังพัฒนาหมู่คณะของตน ไม่มีการขัดแข้งขัดขา เลื่อยขาเก้าอี้ เป็นต้น
การทะนุบำรุงคุ้มครองบรรพชิต ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไปนั้นสามารถทำได้โดย การทำบุญด้วยปัจจัย 4 แด่ท่านเป็นประจำ เป็นต้น
หมายเหตุ พระอรหันต์นั้น ท่านเป็นบัณฑิต เป็นผู้ชี้ทางนิพพาน การดูแลต้อนรับ การฟังคำสั่งสอนของท่าน ย่อมได้ประโยชน์มากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม พ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณธรรมก็เช่นเดียวกัน
"จงอย่าได้เพลินคบแต่ผู้รู้ทางโลก จงคบผู้รู้ทางธรรมด้วย"
“สมคฺคานํ ตโป สุโข ความเพียรของหมู่ชน ผู้พร้อมเพรียงกันทำให้เกิดสุข”
“วิวาทํ ภยโต ทิสฺวา อวิวาทญฺจ เขมโต สมคฺคา สขิลา โหถ เอสา พุทฺธานุสาสนี = ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย และ ความไม่วิวาทโดยความปลอดภัยแล้ว เป็นผู้พร้อมเพรียง มีความประนีประนอมกันเถิด นี้เป็นพระพุทธานุศาสนี”
“เอโส หิ อุตฺตริตโร ภาราวโห ธุรนฺธโร โย ปเรสาธิปนฺนานํ สยํ สนฺธาตุมรหติ = ผู้ใดเมื่อคนอื่นล่วงเกินกันอยู่ ตนเองกลับหาทางเชื่อมเขาให้คืนดีกันได้ ผู้นั้นแล ชื่อว่าเป็นคนเอาภาระ เป็นผู้จัดธุระที่ดียอดเยี่ยม”
“สเจปิ สนฺโต วิวทนฺติ ขิปฺปํ สนฺธียเร ปุน พาลา ปตฺตาว ภิชฺชนฺติ น เต สมถมชฺฌคู = ถ้าแม้นสัตบุรุษวิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว ส่วนคนพาลทั้งหลายย่อมแตกกันเหมือนชนะดิน เขาย่อมไม่ได้ความสงบเวรกันเลย”
การผูกเวร ก็เหมือนกับการผูกพยาบาท เมื่อต่างฝ่ายต่างผูกใจเจ็บกันอยู่ เวรก็ไม่สามารถระงับลงได้ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกผูกเวรเสียด้วยการให้อภัยและแผ่เมตตาให้เสมอๆ เวรย่อมระงับลงได้ในเวลาไม่นาน การไม่ผูกเวรทำให้จิตใจเราสบาย เมื่อใดใจผูกเวร เมื่อนั้นมองไปไหนก็เห็นแต่ศัตรู แต่เมื่อใดใจของเราไม่มีเวรกับใคร มีแต่เมตตาปรานี เมื่อนั้น มองไปทางใดก็เจอแต่มิตร เพราะฉะนั้น พระเจ้าโกศล เมื่อให้โอวาทพระราชโอรส ทรงพระนามว่า ฑีฆาวุกุมาร จึงตรัสว่า “ฑีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่กาลยาว อย่าเห็นแก่กาลนั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า”
เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาด เพื่อความสบายใจของตนเอง จึงไม่ควรผูกเวรไว้กับใครๆ จงจำแต่ความดีที่ผู้อื่นทำแก่ตน แต่อย่าจำความร้ายที่เขาทำให้ เพราะมันไม่มีประโยชน์แก่จิตใจ
คำว่า อย่าเห็นแก่กาลยาว นั้น หมายความว่าอย่าผูกเวรเอาไว้ เพราะเวรยิ่งผูกก็ยิ่งยาว คำว่า อย่าเห็นแก่กาลสั้น นั้น หมายความว่า อย่ารีบด่วนแตกจากมิตร มีอะไรก็ค่อยๆ ผ่อนปรนกันไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้ อย่าด่วนลงโทษใครง่ายเกินไป และอย่ารีบแตกจากใคร ขอให้พิจารณาเสียร้อยครั้งพันครั้ง
เรื่องประกอบ เรื่องยักษิณีชื่อกาลี
ที่เมืองสาวัตถี มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อบิดาสิ้นชีพแล้วก็ทำงานด้วยตนเองทั้งในบ้านและนอกบ้าน เลี้ยงมารดาอยู่ มารดาสงสารเขาจึงบอกว่าจะนำหญิงคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยา เพื่อจักได้แบ่งเบาภาระในบ้านไปเสียบ้าง แต่ลูกชายก็ห้ามเสียหลายครั้งหลายหน เขาบอกแม่ว่ายังไม่ต้องการ แต่ฝ่ายแม่ต้องการ จึงออกจากบ้านจะไปสู่ตระกูลหนึ่ง ลูกชายจึงว่า หากแม่จะไปนำหญิงมาให้ได้จริงๆ แล้ว ก็จงไปสู่สกุลที่ลูกชอบ เขาได้บอกชื่อสกุลให้มารดา
มารดาของเขาไปสู่ขอหญิงสกุลนั้นมาให้บุตรชายแล้ว แต่หญิงนั้นเป็นหมัน หญิงผู้มารดาจึงพูดกับบุตรว่า อันตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมขาดสูญ เพราะฉะนั้น แม่จะไปนำหญิงอีกคนหนึ่งมาให้ภรรยาของเจ้า บุตรชายกล่าวว่า อันการจะไปนำหญิงอื่นมาอีกคนหนึ่งนั้น ไม่จำเป็น แต่มารดาก็ยังพูดอยู่บ่อยๆ
หญิงสะใภ้ได้ยินบ่อยๆ จึงคิดว่า "ธรรมดาบุตรย่อมฝืนมารดาไปได้ไม่นาน อีกสักหน่อยก็คงยอมให้นำสตรีอื่นมา หากเธอมีลูก ตัวเราก็จะลดฐานะลงมาเป็นหญิงรับใช้ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะจัดการหาหญิงนั้นเสียเอง เพื่อจักได้อยู่ใต้อำนาจของเรา" นางคิดดังนี้แล้ว จึงไปนำหญิงอันคุ้นเคยกับเธอจากตระกูลหนึ่งมา
ทีแรกๆ ก็ดี แต่พอนานเข้า มีจิตริษยาบ้าง ด้วยความกลัวว่าตนจะตกต่ำ หากภรรยาน้อยมีลูกบ้าง นางจึงคิดทำลายครรภ์ของภรรยาน้อย นางได้สั่งไว้ว่า เมื่อใดมีครรภ์ขอให้บอกนางแต่เนิ่นๆ
ภรรยาน้อยพาซื่อ คิดว่าเขาหวังดีกับตัว พอตั้งครรภ์ก็บอก นางเมียหลวงจึงประกอบยาใส่ลงไปในอาหาร โดยทำนองนี้ ครรภ์ของภรรยาน้อยจึงตกไป แท้งถึง ๒ ครั้ง พอครั้งที่สาม ภรรยาน้อยไปปรึกษากับเพื่อน พวกเพื่อนๆ พูดเป็นทำนองให้เฉลียวใจถึงภรรยาหลวง นางจึงระวังตัว คราวนี้ไม่ยอมบอก พยายามถนอมจนครรภ์แก่ นางเมียหลวงไม่ได้ช่องที่จะผสมยาลงไปในอาหารได้ เพราะเขาระวังตัวอยู่ จนกระทั่งครรภ์แก่ นางจึงได้โอกาส แต่ครรภ์ไม่ตก เพราะแก่เสียแล้ว แต่กลับนอนขวาง
ภรรยาน้อยได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสจนสิ้นชีวิต ก่อนสิ้นชีพได้อธิษฐานขอจองเวรกับหญิงนั้น นางตายแล้วไปเกิดเป็นแมวตัวเมียในเรือนนั่นเอง
ฝ่ายสามีของนาง รู้ว่าภรรยาหลวงประกอบยาทำลายครรภ์ของภรรยาน้อยถึง ๓ ครั้ง โกรธจัด ประหารภรรยาหลวงเสียถึงตาย นางไปเกิดเป็นแม่ไก่
พอแม่ไก่ตกไข่ แมวก็ไปกินเสียถึง ๓ ครั้ง แม่ไก่ผูกพยาบาท ขอให้ได้เกิดเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่พอทำร้ายนางแมวได้ แม่ไก่ไปเกิดเป็นแม่เสือเหลือง ส่วนนางแมวไปเกิดเป็นแม่เนื้อ พอแม่เนื้อคลอดลูก แม่เสือเหลืองก็มากินเสียทุกครั้ง แม่เนื้อผูกพยาบาท ตายจากชาตินั้นไปเกิดเป็นนางยักษิณี แม่เสือไปเกิดเป็น หญิงชาวบ้านธรรมดา เมื่อหญิงนั้นคลอดลูก นางยักษิณีก็ปลอมแปลงตัวเป็น หญิงสหายของเธอ มากินลูกเสียทุกครั้ง
พอครั้งที่ ๓ หญิงนั้นหนีไปคลอดลูกที่อื่น และนางยักษิณีก็ติดเข้าเวรส่งน้ำให้ ท้าวเวสสุวรรณเสียหลายเดือน พอออกเวรก็รีบมายังบ้านของหญิงนั้น ทราบว่า เธอไปคลอดลูกที่บ้านเดิม คือบ้านพ่อแม่ของนาง
ยักษิณี อันกำลังแห่งเวรให้อุตสาหะ แล้วรีบวิ่งไปยังบ้านนั้น เวลานั้น หญิงคู่เวรคลอดลูกแล้ว กำลังกลับมาพร้อมด้วยสามี มาถึงสระแห่งหนึ่งหน้าวัดเชตวัน สามีลงอาบน้ำในสระ นางยืนอุ้มลูกให้ดื่มนมคอยอยู่ เหลียวมาเห็นนางยักษ์กำลังวิ่งมาอย่างเร็ว จึงร้องตะโกนให้สามีขึ้นมาช่วย เมื่อเห็นว่าสามีจะขึ้นมาไม่ทัน นางยักษ์วิ่งมากระชั้นชิดแล้ว นางจึงอุ้มลูกวิ่งหนีเข้าวัดเชตวัน
เวลานั้น พระศาสดากำลังประทับแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทในธรรมสภา เธอนำลูกไปวางไว้ใกล้บาทแห่งพระผู้มีพระภาค ละล่ำละลักทูลว่า "ขอได้โปรดเป็นที่พึ่งของเด็กคนนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"
นางยักษ์วิ่งไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด พอถึงประตูวัดเชตวัน สุมนเทพ ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่ยอมให้เข้า พระศาสดา ทรงทราบเหตุการณ์ทั้งปวงโดยตลอด รับสั่งให้พระอานนท์ ไปนำนางยักษ์เข้ามา เมื่อหญิงนั้นเห็นนางยักษ์เข้ามาก็ตกใจกลัว ร้องขอให้พระศาสดาช่วย ศาสดาตรัสปลอบว่า "อย่ากลัวเลย ณ ที่นี้ นางยักษ์จะทำอันตรายไม่ได้" ดังนี้ ตรัสกับนางยักษ์ว่า "ดูก่อนยักษิณี และกุลธิดา เพราะเหตุไร เจ้าทั้งสองจึงจองเวรกันเช่นนี้ ถ้ามิได้พบพระพุทธเจ้าเช่นเรา เวรของเจ้าทั้งสองก็จะดำรงอยู่ชั่วกัปป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน หมีกับไม้สะคร้อ และ กากับนกเค้า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า “น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโน ในกาลไหนๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร, ธรรมนี้เป็นของเก่า.”
ขยายข้อว่า เวรทั้งหลาย ย่อมไม่ระงับด้วยเวร บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น หิ เวเรน เป็นต้น ความว่า เหมือนอย่างว่า บุคคลแม้เมื่อล้างที่ซึ่งเปื้อนแล้วด้วยของไม่สะอาดมีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น ด้วยของไม่สะอาดเหล่านั้นแล ย่อมไม่อาจทำให้เป็นที่หมดจดหายกลิ่นเหม็นได้, โดยที่แท้ ที่นั้นกลับเป็นที่ไม่หมดจดและมีกลิ่นเหม็นยิ่งกว่าเก่าอีก ฉันใด บุคคลเมื่อด่าตอบชนผู้ด่าอยู่ ประหารตอบชนผู้ประหารอยู่ ย่อมไม่อาจยังเวรให้ระงับด้วยเวรได้, โดยที่แท้ เขาชื่อว่าทำเวรนั่นเองให้ยิ่งขึ้น ฉันนั้นนั่นเทียว แม้ในกาลไหนๆ ขึ้นชื่อว่าเวรทั้งหลาย ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวร, โดยที่แท้ เวร ชื่อว่าย่อมเพิ่มยิ่งขึ้นอย่างเดียว ด้วยประการฉะนี้.
ขยายข้อว่า เวรย่อมระงับ ด้วยการไม่จองเวรหรือด้วยการไม่มีเวร
สองบทว่า อเวเรน จ สมฺมนฺติ ความว่า เหมือนอย่างว่า ของไม่สะอาด มีน้ำลายเป็นต้นเหล่านั้น อันบุคคลล้างด้วยน้ำที่ใสย่อมหายหมดได้, ที่นั้นย่อมเป็นที่หมดจด ไม่มีกลิ่นเหม็น ฉันใด, เวรทั้งหลาย ย่อมระงับ คือ ย่อมสงบ ได้แก่ ย่อมถึงความไม่มี ด้วยความไม่มีเวร คือ ด้วยน้ำคือขันติ (ความอดทน) และเมตตา (ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน) ด้วยการทำไว้ในใจโดยแยบคายและด้วยการพิจารณา ฉันนั้น.
พระศาสดาทรงยังพระธรรมเทศนาให้พิสดารโดยอเนกปริยาย ในการจบเทศนา นางยักษ์ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นโสดาบัน เป็นผู้มีศีล 5 สมบูรณ์ พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้นส่งลูกให้ยักษิณี กุลธิดากราบทูลว่า เธอกลัว พระศาสดาตรัสว่าอย่ากลัวเลย อันตรายจากยักษิณีไม่มีแล้ว นางจึงส่งลูกให้, นางยักษ์รับเด็กมากอดจูบแล้วส่งคืนให้มารดา แล้วร้องไห้ พระศาสดาตรัสถามว่าร้องไห้ทำไม นางทูลว่า "ข้าแต่พระองค์! เมื่อก่อนนี้ ข้าพระพุทธเจ้า หากินโดยไม่เลือกทาง ก็ยังไม่สามารถหาอาหารมาให้พอเต็มท้องได้ บัดนี้ ต่อจากนี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?"
พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้น นำนางยักษ์ไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน ให้ข้าวและน้ำ กระทำอุปการะอย่างดี ยักษิณีรู้อุปการะของหญิงนั้นแล้ว ช่วยบอกว่า ปีนี้ฝนจะตกมากให้ทำนาบนที่ดอน, ปีนี้ฝนจะตกน้อยให้ทำนาในที่ลุ่ม กุลธิดาได้ทำตามคำแนะนำของยักษิณี ได้ข้าวดีทุกปี คนชาวบ้านทั้งหลายรู้ข่าวเข้าก็ชวนกันมาถามบ้าง ยักษิณีก็บอกให้ คนทั้งหลายได้นำข้าว น้ำ และผลไม้มาให้ยักษิณีเป็นการตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีอุปการะซึ่งกันและกันด้วยประการฉะนี้
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ดังพรรณนามาฉะนี้
หมายเหตุ : ลำดับชาติที่ทั้งสองจองเวรกัน เมียน้อย-นางแมว-นางเนื้อ-นางยักษ์ เมียหลวง-นางไก่-นางเสือเหลือง-กุลธิดา
หลวงปู่มั่นสอนว่า “ความไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน ความยิ่งใหญ่คือความไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ยิ่งใหญ่คือชีวิตที่อยู่ด้วย ทาน ศีล เมตตาและกตัญญู ชีวิตที่มีความดีอาจมิใช่ความยิ่งใหญ่แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น”
โลกเค้าพัฒนาเรื่องวัตถุ เรื่องเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็ถึงมี" เราก็มาพัฒนา 'อริยมรรค' พัฒนา 'ข้อวัตรปฏิบัติ' ให้มีในตัวในตน พยายามเชื่อมั่นในตัวเองให้มาก ชีวิตนี้จะไม่ได้งมงาย ไม่ได้เพ้อฝันไปหลงความสุข ที่จะทำให้เราตกนรกไปจนไม่รู้จักที่จบที่สิ้น เราประพฤติปฏิบัติไปก็ย่อมเข้าถึงความสงบ ความดับทุกข์ไปเรื่อยๆ ให้พากันตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ในสิ่งที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติที่ถูกต้อง ทุกท่านทุกคนจะได้เข้าถึงความประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เพื่อประสบความสำเร็จคือเดินตามอริยมรรคสู่มรรคผลพระนิพพาน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee