แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๑๐ ความสามัคคีพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ย่อมทำความเจริญให้สำเร็จ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความเป็นมนุษย์ของเราอยู่ที่มีสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ไม่อาจจะทำตามอัธยาศัยตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกได้ นั่นมันคือวัฏสงสาร ทุกท่านทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ เพราะเราจะวิ่งตามความคิดตามอารมณ์ตามความรู้สึกไม่ได้ เพราะนั่นคือสังสาระ คือวัฏสงสาร
สิ่งสำคัญคือชาติศาสน์กษัตริย์ ชาติก็คือการที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ศาสน์ก็คือคำสอนที่เป็นหลักวิทยาศาสตร์ ที่พัฒนาวัตถุเทคโนโลยีและศาสตร์ทางจิตใจ เดินทางกายทั้งใจไปพร้อมๆ กัน ถ้าจะเอาแต่วัตถุมันไม่ได้ มันไม่ได้พัฒนาใจ มันเลยเป็นการเผาโลกทำลายโลก ปัญหาต่างๆ ของเราทุกคนมันไม่ได้อยู่ที่ไกลหรอก เราจะไปวิ่งตามอารมณ์ตามความคิดไม่ได้เพราะอันนี้คือสังขารคือความปรุงแต่ง เพราะความปรุงแต่งมันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ความสมัครสมานสามัคคี เค้าถึงให้มีทหารตำรวจมีข้าราชการมีนักบวช แต่ละท่านแต่ละคนก็ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ การปฎิบัติธรรมก็คือหน้าที่ หน้าที่ก็คือการปฎิบัติธรรม มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ มนุษย์เราถึงจะแก้ปัญหาได้ดับทุกข์ได้ มันไม่มีอวิชชาไม่มีความหลงจะได้ไม่หลงขยะ มันอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันต้องแก้ทั้งสิ่งภายนอกและทั้งสิ่งภายใน แก้สิ่งภายนอกเช่นเราตื่นขึ้นมาดำรงชีพทำมาหากินเลี้ยงสุขภาพร่างกายด้วยสุจริตและเลี้ยงจิตใจไปพร้อมๆ กัน มีความสมัครสมานสามัคคีไปพร้อมๆ กัน เราจะเป็นระบบหมู่เฮาระบบพวกพ้องระบบตัวตนนี้ไม่ได้ ความสมัครสมานสามัคคีจึงสำคัญ ถ้าเราจะเอาแต่คนดีๆ แล้วคนชั่วจะเอาไปไว้ไหน เราดูพระพุทธเจ้าพระองค์ไม่ได้ทรงแบ่งแยก ทรงมีพระเมตตาหมด ดูน้ำฝนที่ตกลงมาถ้าตกไม่ทั่วทุกหนทุกแห่งอย่างสม่ำเสมอ มันจึงมีที่แล้งที่สมบูรณ์ต่างกันไป ความสมัครสมานสามัคคีถึงเป็นเรื่องใหญ่
ทุกท่านทุกคนน่ะ ต้องปรับตัวเข้าหาศีลเข้าหาธรรมเข้าหาสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ยุติธรรม ทุกท่านทุกคนไม่ต้องคิดแต่จะไปแก้ไขคนอื่น ต้องพยายามที่จะแก้ไขตัวเองนี่แหละ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราเค้าถึงจะยอมรับได้ เพราะอันนี้คือศีลคือสมาธิคือปัญญา อย่างเจ้าคณะจังหวัดท่านปฏิบัติดีเอาการเอางานดี จังหวัดใหญ่ๆ แต่ก็มีเจ้าคณะอำเภอร่วมด้วยแค่สองสามอำเภอ ทั้งที่มีเป็น 10 อำเภอ อย่างนี้ก็เท่ากับเป็นระบบหมู่เฮา ยังไม่ใช่ระบบสมัครสมานสามัคคี อย่างวัดแต่ละวัดมีพระ 40 50 ถึงจะเยอะก็จริง แต่ก็แต่ความสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่ทำกิจวัตรข้อวัตรพร้อมกัน ไม่สวดมนต์พร้อมกัน ไม่ฉันพร้อมกัน อย่างนี้มันก็เป็นเหมือนสังฆเภท เลยแก้ปัญหาไม่ได้ ทุกท่านทุกคนน่ะต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง คือต้องประพฤติต้องปฏิบัติ เพราะความสมัครสมานสามัคคีจึงชื่อว่าเป็นประเทศ เป็นหมู่บ้าน วัด โรงเรียน เป็นตำบลอำเภอจังหวัดเป็นภาค เป็นหน่วยงานองค์กร กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น ความสมัครสมานสามัคคีถึงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ จะไปตามใจตามอัธยาศัยไม่ได้ ต่อให้มีผู้นำในระดับต่างๆ ถ้าเราไม่มีความสมัครสมานสามัคคีกัน มันก็ก้าวไปไม่ได้ เพราะยังตามอัธยาศัยอยู่ ยังไม่ใช่ระบบศีลสมาธิปัญญา
ทุกท่านทุกคนน่ะจึงต้องเข้าใจ โดยการเอาหลักธรรมเป็นหลักแห่งการประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะ สาราณียธรรม แปลว่า ธรรมอันเป็นไปเพื่อความระลึกถึงกันและกัน หมายถึง ธรรมอันเป็นไปเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้นต่อกันจนก่อเกิดเป็นความสามัคคีมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้นสาราณียธรรม ก็คือ วิธีสร้างความสามัคคีนั่นเอง
การที่หมู่คณะหรือสังคมใดเกิดความแตกแยก มีปัญหาวุ่นวาย ก็เป็นเพราะว่าคนในหมู่คณะหรือสังคมเหล่านั้นละเลยหลักธรรมเรื่องความสามัคคี จึงทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาคือขาดความรัก ขาดความเมตตา อิจฉาริษยา นินทาว่าร้ายกัน เบียดเบียนและรังแกกัน เห็นแก่ตัวถืออภิสิทธิ์ อ้างอำนาจบาตรใหญ่ และมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ต่างคนต่างก็ถือความคิดของตนเป็นใหญ่อยู่ตลอดเวลา
ถ้าหากทุกคนในสังคมเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน เคารพในกฎกติกาเดียวกัน รู้จักแบ่งปันช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และรู้จักการให้อภัยกันอยู่ตลอดเวลาสังคมของเราก็จะมีความอบอุ่นและน่าอยู่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขสิ่งดังกล่าวมานี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยการเสริมสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในสังคม
เรื่องของความสามัคคีนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงหลักธรรมที่เป็นแนวทางในการเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะในสังคม ไว้ ๖ ประการ เรียกว่า สาราณียธรรม ๖ พระพุทธองค์ตรัสถึงองค์ประกอบของสาราณียธรรมไว้ 6 ประการ คือ
๑. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) หมายถึงกระทำสิ่งใดก็ทำด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น สนับสนุนช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกาย ด้วยการช่วยเหลือกิจธุระต่าง ๆ ของหมู่คณะด้วยความเต็มใจ แสดงอาการกิริยาสุภาพต่อกัน มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน เคารพนับถือกัน รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน มีสัมมาคารวะ ไม่ไปเบียดเบียนหรือใช้กำลังข่มเหงผู้อื่น ไม่ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๒. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) หมายถึง การพูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดกันด้วยความรักความปรารถนาดี รู้จักการพูดให้กำลังใจซึ่งกันและกันในยามที่เพื่อนร่วมสังคมประสบกับความทุกข์ ความผิดหวัง หรือปัญหาต่าง ๆ ควรพูดแนะนำแต่สิ่งที่ดี แจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี พูดอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ไม่โกหกมดเท็จ กล่าววาจาสุภาพ ใช้วาจาที่แสดงความเคารพนับถือต่อกัน เจรจากันด้วยเหตุผล ด้วย ติปัญญา ไม่ใช้โทสะเป็นตัวนำ พูดอย่างมีจิตสำนึกในผลประโยชน์สุขร่วมกันพูดจาสร้างสรรค์ หากไม่มีความสามารถที่จะพูดแนะนำอะไรใครได้ ก็ไม่ควรพูดซ้ำเติม หรือนำไปนินทาว่าร้าย หรือกล่าวร้ายเสียดสีประชดประชันกัน ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าหรือลับหลัง
แต่ทว่ามีคนอยู่ประเภทหนึ่งที่ท่านพระสารีบุตรจะไม่ขออยู่ร่วมด้วยอย่างเด็ดขาด นั่นคือ คนที่ชอบพูดยุแยงตะแคงรั่วให้มิตรแตกแยก
ดังเช่น คนกินเดนผู้หนึ่ง เขาเลี้ยงชีพด้วยการขอผู้อื่นกิน เมื่อได้เห็นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะเดินทางมาปลีกวิเวกจำพรรษาอยู่ในป่าแถบหมู่บ้านชายแดนที่ตนอยู่ ก็เข้าไปขออาศัยอยู่ด้วย ทำการอุปัฏฐากเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้พระเถระทั้งสอง เพื่อแลกข้าวก้นบาตรกิน
เมื่ออยู่ไปหลายวัน เขาเห็นพระเถระทั้งสองมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี ก็รู้สึกริษยาคิดอยากจะทำลายให้แตกกัน เขาจึงเข้าไปหาพระสารีบุตร แล้วกล่าวใส่ร้ายพระโมคคัลลานะว่า “ท่านขอรับ พระโมคคัลลานะดูหมิ่นท่านลับหลัง บอกว่าชาติกำเนิด โคตร ตระกูล ที่อยู่การศึกษา การรู้แจ้งธรรมและฤทธิ์ ยังต่ำต้อยกว่าของตนมากนัก” พระสารีบุตรทราบดีว่าไม่เป็นความจริง ฟังแล้วก็ยิ้ม บอกให้เขากลับออกไป
วันต่อมา เขาก็เข้าไปหาพระโมคคัลลานะแล้วกล่าวใส่ร้ายพระสารีบุตรโดยทำนองเดียวกันนั้นอีก พระโมคคัลลานะทราบแก่ใจว่าไม่เป็นความจริง ฟังแล้วก็ยิ้ม บอกให้เขากลับออกไป
หลังจากนั้น พระโมคคัลลานะได้เข้าไปหาพระสารีบุตรเพื่อหารือเรื่องคนกินเดนเข้ามาพูดจายุแยงตะแคงรั่ว เมื่อทราบว่าเขามีเจตนาทำลายมิตรให้แตกแยกแน่ชัดแล้ว พระสารีบุตรจึงดีดนิ้วมือ อันเป็นการแสดงออกเพื่อขับไล่คนกินเดนให้ออกไปพ้นสำนัก
เรื่องนี้เป็นข้อเตือนใจว่า หากคิดจะทำ ความดีใดให้ตลอดรอดฝั่ง อย่ารับคนปากเสียมีปมด้อย ชอบพูดจายุยงให้หมู่คณะแตกแยกเข้ามาร่วมงานด้วยเป็นอันขาด เพราะแม้แต่พระสารีบุตรซึ่งมีปกติเป็นผู้มีเมตตากรุณาแม้แก่คนดื้อด้านหรือคนยากจนเข็ญใจ ก็ยังไม่ต้องการอยู่ร่วมกับคนชั่วผู้ชอบยุยงให้มิตรแตกแยกแม้แต่วันเดียว
๓. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) หมายถึง การคิดดี มองกันในแง่ดี มีความหวังดี ปรารถนาดี มีความรักความเมตตาต่อกัน คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน คิดพิจารณาวินิจฉัย คิดวางแผนต่าง ๆ โดยมุ่งทำให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกัน ไม่คิดทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่คิดอิจฉาริษยา ไม่คิดอคติ ไม่คิดพยาบาทไม่คิดผูกโกรธแค้นเคืองกัน รู้จักให้โอกาสและให้อภัยต่อกันอยู่เสมอ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๔. สาธารณโภคี (ไม่หวงสิ่งของ ได้ของสิ่งใดมาโดยชอบธรรมก็แบ่งปันกัน) หมายถึง ได้สิ่งใดมาก็รู้จักแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ แม้เป็นของเล็กน้อยก็ยินดีแจกจ่ายให้กับทุกคนได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน รู้จักแบ่งปันผลประโยชน์ต่อกันด้วยความชอบธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามอัตภาพ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันอยู่เสมอตามโอกาสอันควร รู้จักเฉลี่ยแจกจ่ายสงเคราะห์ เช่น บริจาคอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคเครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนวิทยาการความรู้ต่าง ๆ ให้แก่ เพื่อนมนุษย์ รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันโดยไม่ทำลายระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อมวลมนุษย์ มุ่งช่วยเหลือและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ตระหนี่ ไม่ขี้เหนียว ไม่โลภ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร แม้จะมีช่องทางให้ทำได้ก็ตาม
๕. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) หมายถึง มีความประพฤติสุจริตดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวม ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของสังคมที่ตนเองอยู่ร่วม รู้จักเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ไม่บ้าอำนาจ หรือถือตนว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าผู้อื่น ไม่ถืออภิสิทธิ์ใดๆทั้งปวง ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ ไม่ฝ่าฝืนมติหรือหลักการของหมู่คณะอันจะก่อให้เกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๖. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) หมายถึง มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นสิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา ยึดถืออุดมคติ หลักแห่งความดีงาม หรือจุดหมายสูงสุดอันเดียวกันไม่ยึดถือความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ฝ่ายเดียว เมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม ต้องรู้จักฟังความคิดเห็นของผู้อื่นบ้าง ของสังคมโดยรวมบ้าง เมื่อความคิดเห็นของตัวเองแตกต่างจากคนหมู่มาก ก็ต้องหันมาพิจารณาดูตัวเอง ปรับมุมมอง ทัศนคติของตัวให้เข้ากับคนหมู่มาก เรียกว่ารู้จักแสวงหาจุดร่วมและสงวนไว้ซึ่งจุดต่าง ไม่สร้างข้อขัดแย้งโดยไม่มีเหตุผล ต้องมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพของแต่ละบุคคล ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องสาราณียธรรม 6 ประการนี้ให้กับพระภิกษุสงฆ์ก่อนและคฤหัสถ์ตามมา ว่าให้อยู่ร่วมกันด้วยหลักของสาราณียธรรม 6 ประการนี้ แล้วจะทำให้แต่ละบุคคลที่เป็นสมาชิกของสังคมนั้น ๆ มีความระลึกถึงกัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเมตตาต่อกันพร้อมที่จะให้ความร่วมมือต่อกัน มีความรักสามัคคีต่อกัน เพราะตั้งแต่ทางกายก็ปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตาช่วยเหลือการงานต่อกัน ทางวาจาก็พูดด้วยปิยวาจาถนอมน้ำใจไมตรีต่อกัน ในจิตใจก็มีแต่ความจริงใจคิดปรารถนาดีต่อกัน ในการอยู่ร่วมกันนั้นเมื่อมีของอะไร หรือได้รับสิ่งใดมา ก็นำมาแบ่งปันต่อกัน ในการอยู่ร่วมกันของสังคมเราก็รักษาระเบียบวินัย มีศีลเสมอกันไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่กัน และปฏิบัติตามกฎกติกาของส่วนรวม ในเรื่องทิฏฐิความเชื่อก็ยึดถือและเข้าใจหลักการสำคัญของหมู่คณะร่วมกัน ตลอดจนยึดถือและเข้าใจร่วมกันในความจริงที่เป็นธรรมชาติของโลกและชีวิตที่จะรองรับความเป็นมนุษย์ของเราไว้ด้วยกันเพียงเท่านี้หมู่คณะหรือสังคมก็จะอยู่เย็นเป็นสุขและสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าไปบนรากฐานแห่งความสัมพันธ์อันดีงามอย่างมั่นคง
ที่ใดก็ตาม ที่มีความสมัครสมานสามัคคี มีความพร้อมเพรียงกันทุกคน ที่แห่งนั้นย่อมมีความสุข และการประพฤติปฏิบัติธรรมของบุคคล ในสถานที่ที่มีความสามัคคีกัน ย่อมได้รับผลแห่งการปฏิบัติที่ก้าวหน้า เพราะทุกคนต่างมีความสุขในการอยู่ร่วมกัน ความสุขเป็นรากฐานของความสำเร็จทั้งมวล
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในโมทสูตร มีความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูล แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งเป็นไฉน คือ สังฆสามัคคี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์พร้อมเพรียงกันอยู่ ย่อมไม่มีการบาดหมางซึ่งกันและกัน ไม่มีการบริภาษซึ่งกันและกัน ไม่มีการขับไล่ซึ่งกันและกัน ในเพราะสังฆสามัคคีนั้น ชนทั้งหลายผู้ยังไม่เลื่อมใสย่อมเลื่อมใส และชนผู้เลื่อมใสแล้วย่อมเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานญฺจนุคฺคโห สมคฺครโต ธมฺมฏฺโฐ โยคกฺเขมา น ธํสติ สงฺฆํ สมคฺคํ กตฺวาน กปฺปํ สคฺคมฺหิ โมทติ ฯ ความพร้อมเพรียงของหมู่ ให้เกิดสุข การสนับสนุนผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นเหตุแห่งความสุข บุคคลผู้ยินดีในความพร้อมเพรียง ตั้งมั่นอยู่ในธรรม ย่อมไม่เสื่อมจากธรรมอันเกษมจากโยคะ นรชนผู้สมานหมู่คณะ ให้พร้อมเพรียงกันแล้ว ย่อมบันเทิงในสุคติสวรรค์ตลอดกัป ฯ
ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นคุณธรรมที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะใหญ่อย่างมีความสุข เป็นปราการด่านสำคัญที่สุด ในการที่จะทำให้สังคมประเทศชาติ มีความมั่นคงและปลอดภัย ไม่ถูกข้าศึกรุกราน หรือถูกแทรกแซงให้บ้านเมืองระสํ่าระสาย ความสามัคคีเป็นยิ่งกว่าป้อมปราการของบ้านเมือง ที่สูงตระหง่านเสียดฟ้า เพราะเป็นประดุจป้อมปราการ หรือกำแพงเมืองที่มีชีวิตจิตใจ ที่ทุกคนต่างมีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะเสียสละรักษาประเทศชาติ แม้ข้าศึกจะมีพลังอำนาจ มีความสามารถมากมายเพียงไร แต่ก็ไม่สามารถทลายกำแพงแห่งความสามัคคีของหมู่คณะไปได้ ความสามัคคีของหมู่คณะจึงนำสุขมาให้ นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย จึงยินดีในสามัคคีธรรม และสนับสนุนให้หมู่คณะรู้รักสมัครสมาน หากขาดความสามัคคี นั่นเปรียบเสมือนลางร้ายว่า ความเสื่อมสลายกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า
ดังเช่นในสมัยพุทธกาล มีแคว้นหนึ่งชื่อแคว้นวัชชี เป็นประเทศเล็กๆ ที่ปกครองตนเอง ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของใคร ประชาชนชาวเมืองอยู่เย็นเป็นสุข แม้แคว้นวัชชีเป็นแคว้นเล็กๆ แต่ว่าแข็งแกร่งมาก เหมือนกลุ่มต้นไม้กลุ่มเดียวกลางท้องนาที่ไม่กลัวต่อพายุฝน แว่นแคว้นหรือเมืองใหญ่ๆ เห็นความอุดมสมบูรณ์ของแคว้นวัชชี ต่างอยากมายึดเป็นเมืองขึ้น แต่ก็โดนตีพ่ายย่อยยับกลับไปทุกครั้ง
ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูราชาแห่งแคว้นมคธ มีพระประสงค์จะยกทัพไปตีเมืองวัชชี แต่ได้ยินกิตติศัพท์ว่า ไม่ใช่เมืองที่ใครๆ จะสามารถยึดเป็นเมืองขึ้นได้ง่ายๆ การทำสงครามต้องรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งจึงจะชนะร้อยครั้ง พระราชาจึงมีรับสั่งให้วัสสการพราหมณ์ ในฐานะที่เป็นอำมาตย์ที่ปรึกษา ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลบอกถึงความประสงค์ที่จะยกทัพไปยึดแคว้นวัชชีว่า จะยึดเมืองนี้ได้อย่างไร
วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์รับคำสั่งแล้ว รีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ธรรมดาวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่ตรัสถ้อยคำที่นำมาซึ่งความแตกร้าว แต่ครั้นจะไม่ตรัสสิ่งใดก็ไม่สมควร จึงรับสั่งถามพระอานนท์ ซึ่งยืนถวายงานพัดอยู่ใกล้ๆ ว่า “อานนท์ เธอได้ยินบ้างไหมว่า ชาววัชชีนั้นหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์” เมื่อพระอานนท์กราบทูลยืนยันพระดำรัสนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เมื่อใดที่ชาววัชชีหมั่นประชุมกัน เมื่อนั้นพึงหวังความเจริญได้อย่างแน่นอน”
พระพุทธองค์ทรงรับสั่งถามพระอานนท์ต่อว่า “อานนท์ เธอได้ยินข่าวหรือไม่ว่า เมื่อชาววัชชีจะประชุมกันก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกก็พร้อมเพรียงกันเลิก และสมัครสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรทำ” พระอานนท์ทูลว่า “เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า” “อานนท์เอ๋ย เมื่อชาววัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่ควรทำ พึงหวังความเจริญได้ ไม่มีความเสื่อมแน่นอน”
พระพุทธองค์ทรงรับสั่งต่อไปว่า “ชาววัชชีจักไม่บัญญัติสิ่งที่ยังไม่บัญญัติ ไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว จักประพฤติมั่นอยู่ในธรรมของชาววัชชี ที่ได้ประพฤติปฏิบัติกันมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อนั้น ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้อย่างแน่นอน และตราบใดชาววัชชียังสักการะ เคารพนับถือบูชาผู้ใหญ่ซึ่งมีคุณธรรม และให้ความสำคัญกับถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่า เป็นคำที่ควรเชื่อฟัง ควรปฏิบัติตามด้วยความเคารพ เมื่อนั้นชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่มีความเสื่อมเลย
ดูก่อนอานนท์ ถ้าชาววัชชีไม่ข่มเหงรังแกหญิงในตระกูล ชาววัชชีพึงหวังความเจริญได้แน่นอน ไม่มีความเสื่อมเลย” นี่เป็นอีกข้อหนึ่งที่เป็นการให้เกียรติสตรี ไม่ไปล่วงเกินสิทธิส่วนบุคคลของใคร พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า “อานนท์ ตราบใดที่ชาววัชชียังสักการะ เคารพนับถือบูชาเจดียสถานทั้งภายในและภายนอก ไม่ลบล้างประเพณีที่ดีงาม ซึ่งเคยปฏิบัติต่อเจดียสถานเหล่านั้น ตราบนั้นชาววัชชีก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง”
นี่เห็นไหมว่า ชาววัชชีมีความเคารพต่อสิ่งที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ไม่ดูถูกดูหมิ่นประเพณีที่ดีงาม ที่บรรพบุรุษได้สืบทอดกันมา และข้อสุดท้ายเป็นสิ่งที่สำคัญคือ "ตราบใดที่ชาววัชชียังถวายการอารักขา คุ้มครองป้องกันพระอรหันต์ และพระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นอย่างดี ด้วยหวังว่า พระอรหันต์และผู้ทรงศีลเหล่านั้น ที่ยังไม่มาสู่แว่นแคว้นก็ขอให้มา ที่มาแล้วก็ขอให้อยู่เป็นสุข ถ้าชาววัชชียังทำเช่นนี้อยู่ พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย"
หลังจากนั้น พระพุทธองค์ทรงสรุปอปริหานิยธรรมทั้งเจ็ดประการว่า ถ้าชาววัชชีหรือใครก็ตามปฏิบัติตนตามหลักธรรมนี้ จะไม่มีความเสื่อมแน่นอน วัสสการพราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลเสริมว่า “อย่าว่าแต่ทำทั้งเจ็ดข้อเลย เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ก็ทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขเเล้ว พระเจ้าข้า”
ขณะเดียวกันนั้นเอง วัสสการพราหมณ์ฉุกคิดวิธีที่จะเอาชนะชาววัชชีได้ คือจะต้องให้ชาววัชชีแตกความสามัคคีกันให้ได้ จึงไปทูลปรึกษางานกับพระเจ้าอชาตศัตรู และเริ่มดำเนินตามแผนทันที พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับสั่งให้โบยตีวัสสการพราหมณ์ แล้วเนรเทศออกจากแคว้นมคธ พราหมณ์จึงทำทีเดินทางระหกระเหินไปขอพึ่งเจ้าวัชชี และเนื่องจากพราหมณ์เป็นผู้มีปัญญามาก ทำให้เจ้าวัชชีรับไว้ใช้งาน
ในช่วงแรกๆ ท่านตั้งใจสนองงานอย่างดี จนเป็นที่ไว้วางใจของเจ้าวัชชี เมื่อได้รับความไว้วางใจแล้ว จึงเริ่มแผนยุแหย่เจ้าวัชชี สร้างความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน จากที่เคยปฏิบัติหัวข้อธรรมทั้งเจ็ดประการ ก็ย่อหย่อนลงทุกวันๆ จากชาววัชชีที่สามัคคีกัน ก็ทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ ที่เคยเข้มแข็งก็อ่อนแอลง เมื่อภายในแตกร้าว ภายนอกก็เปราะบาง พราหมณ์จึงส่งข่าวไปถึงพระเจ้าอชาตศัตรู ให้ยกทัพมาได้แล้ว กองทัพของแคว้นมคธจึงยกทัพมาตีแคว้นวัชชี และสามารถยึดครองเมืองวัชชีได้อย่างง่ายดาย
เพราะฉะนั้น การแตกความสามัคคี จึงเป็นสัญญาณของความหายนะ การทะเลาะวิวาทกัน เป็นปากทางแห่งความเสื่อม บัณฑิตจึงสนับสนุนความพร้อมเพรียงกันของหมู่คณะ ความสามัคคีค้ำจุนประเทศชาติและโลกนี้ทีเดียว ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ถ้าประเทศใดไม่เห็นความสำคัญของอปริหานิยธรรม ดังที่กล่าวมาแล้ว ความวัฒนาถาวรของประเทศชาติก็อยู่ได้ไม่นาน
“สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา ความพร้อมเพรียงของปวงชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ”
ความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความร่วมแรงร่วมใจกัน ความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันนี้เรียกว่า ความสามัคคี
บุคคลทั้งหลายที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมขนาดเล็ก ตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล หรือสังคมที่ใหญ่ขึ้น เช่น อำเภอ จังหวัด หรือระดับประเทศ ล้วนจำเป็นที่จะต้องมีความสามัคคีเป็นคุณธรรมเครื่องยึดเหนี่ยว
เพราะการอยู่ร่วมกันหลายๆ คน เป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำกิจต่าง ๆ ไม่เช่นนั้น งานของกลุ่มคนนั้นๆ ก็จะไม่สามารถสำเร็จได้
เพราะถ้าต่างคนต่างแยกกัน ไม่มีใครช่วยเหลือกัน ต่างคนต่างอยู่ เมื่อมีกิจที่จำเป็นต้องใช้คนมากก็ไม่มีใครช่วยกัน เช่นนี้ งานนั้นก็สำเร็จไม่ได้
แต่ถ้าทุกคนในสังคมเดียวกันหรือในกลุ่มเดียวกันต่างร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเหลือกัน เช่นนี้ งานใหญ่ก็กลายเป็นงานเล็ก งานยากก็กลายเป็นงานง่าย เพราะทุกคนช่วยเหลือกัน แล้วความสุขความเจริญก็จะตามมาอย่างแน่นอน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee