แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๙ ผู้ฉลาดพึงประพฤติปฏิบัติธรรมให้สุจริต ด้วยความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
หิริ ความละอายแก่ใจในการทำบาป โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อผลแห่งบาป
ธรรมทั้งสองประการนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า เป็น โลกปาลธรรม คือธรรมที่รักษาคุ้มครองโลก คือหมู่สัตว์ให้อยู่ร่วมต่อกันอย่างปกติสุขตามสมควร นอกจากจะเรียกว่าเป็นโลกปาลธรรมแล้ว ยังถือว่าเป็น เทวธรรม คือ ธรรมที่จะสร้างคนให้เป็นเทพบุตรเทพธิดาด้วยร่างกายที่เป็นมนุษย์นี่เอง หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่า หิริโอตตัปปะ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นภายในใจของคนทุกคน ในลักษณะที่ค่อยเกิดขึ้นมาตามลำดับท่านจึงเรียกธรรมสองประการนี้ว่า “มโนธรรม” คือธรรมที่เกิดมีอยู่ภายในจิต หิริ โอตตัปปะ เป็นมโนธรรมนี้เองที่แยกให้แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน
ฝ่ายกฎหมายนั้น บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมความประพฤติผิด ทางกาย กับวาจาเท่านั้น หาได้ไปควบคุมถึงใจ ซึ่งเป็นตัวควบคุมกายกับวาจาไม่ อีกประการหนึ่งความผิดทางกฎหมายจะเกิดขึ้นตามเงื่อนไขของกฎหมายได้ ก็ต่อเมื่อการกระทำผิดเช่นนั้น จะต้องฟังให้ได้ว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย มีประจักษ์พยานหลักฐานมากพอที่จะถือว่าเป็นความผิดได้จึงตัดสินได้ว่าเป็นความผิดหากว่าความสานึกผิดว่าอะไรผิด อะไรถูก เกิดจากหิริโอตตัปปะแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมีคนเห็นหรือไม่เห็น ใครจะทักท้วงหรือไม่ก็ตาม คนที่มีหิริโอตตัปปะ จะสำนึกได้ด้วยตัวเองว่า อะไรควรเว้นอะไรควรกระทำในด้านการสร้างความดีก็ เช่นกัน ผู้ที่มีหิริโอตตัปปะ พร้อมที่จะทำความดี โดยไม่จำเป็นว่าใครจะเห็นหรือไม่ก็ตาม เมื่อเป็นความดี ก็พร้อมที่จะกระทำ อย่างที่พูดกันว่า "ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา"
โลกของเรานี้ได้รับการคุ้มครองด้วยธรรม จึงทำให้สังคมมนุษย์มีความสงบสุข ธรรมที่คุ้มครองโลกอยู่นี้ เรียกว่า “หิริ โอตตัปปะ”
หิริ คือ ความละอายที่จะทำความชั่ว โอตตัปปะ คือความกลัวต่อผลของความชั่ว หิริโอตตัปปะนี้เป็นธรรมของผู้มีคุณธรรม ที่จะนำพาเราก้าวไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เพราะผู้จะเป็นเทวดาได้ ต้องมีคุณธรรม คือหิริ โอตตัปปะอยู่ในใจ ท่านจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เทวธรรม” คือธรรมที่จะทำให้เราได้เป็นเทวดา อีกทั้งเทวธรรมนี้ คือธรรมคุ้มครองโลก หากคนทั้งโลกมีหิริ โอตตัปปะ ละอายต่อการทำบาปและกลัวต่อผลของบาป ก็จะไม่ทำบาปอกุศล จะตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ มนุษย์ทั้งหลายก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สันติภาพของโลกย่อมจะบังเกิดขึ้น เมื่อมนุษย์พากันประพฤติธรรม ธรรมะก็จะคุ้มครองมนุษย์ ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงภาวะได้ด้วยแรงกรรมคือความประพฤติของตนเอง เช่น ถ้าใครประพฤติตนเป็นคนขี้ลักขโมย เขาก็จะเปลี่ยนภาวะเป็นโจรทันที ถ้าใครขยันศึกษาเล่าเรียน เขาก็จะเป็นบัณฑิต ถ้าใครบวชแล้วรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ เขาก็จะเป็นภิกษุ และถ้าใครมีความละอายใจที่จะทำชั่ว พร้อมทั้งกลัวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นหลังจาทำชั่วนั้น คุณธรรมในใจเช่นนี้ พระท่านเรียกว่า หิริโอตตัปปะ จะมีสภาพเหมือนเกราะอันเหนียวแน่นป้องกันความชั่วทั้งปวงได้ ผู้มีสภาพจิตเช่นนี้จะเปลี่ยนภาวะเป็นเทวดาทันที
[ธนัญชานิสูตร : คนเราเลือกไปเกิดในภพภูมิที่ปรารถนาได้หรือไม่?]
คราวหนึ่ง พระสารีบุตรได้ทราบข่าวคราวของพราหมณ์ธนัญชานิ ที่ได้รับแต่งตั้งจากพระราชา ให้ทำหน้าที่เก็บส่วยข้าวกล้าจากประชาชนเข้าคลังหลวง โดยที่พระราชาทรงกำชับว่าให้เก็บเท่าที่จำเป็น ไม่ให้ราษฎรเดือดร้อน แต่เขาไปเก็บเอาข้าวกล้ามาเกือบหมด โดยอ้างกับราษฎรว่า “ข้าวกล้าในคลังหลวงมีน้อย พระราชาทรงสั่งให้เรามาเก็บไปอย่างนี้ พวกท่านอย่าได้คร่ำครวญไปเลย”
แล้วไปกราบทูลพระราชาว่า “ฤดูกาลนี้ ชาวบ้านได้ผลผลิตน้อย ข้าพระองค์ไม่อาจเบียดเบียนพวกเขาได้ จึงเก็บมาไม่มาก พระเจ้าข้า”
เขาอาศัยการ “ฉ้อราษฎร์” และ “บังหลวง” เช่นนี้ เอาข้าวเข้าบ้านตนเองเป็นอันมาก แล้วส่งเข้าคลังหลวงเพียงเล็กน้อย
พราหมณ์ให้เหตุผลว่า เขาจำเป็นต้องทำอย่างนี้ เพราะเขาต้องเลี้ยงพ่อแม่ ต้องเลี้ยงลูกเมีย ต้องเลี้ยงข้าทาสบริวาร ต้องเลี้ยงเพื่อนฝูงมิตรสหาย ต้องเลี้ยงญาติพี่น้อง ต้องต้อนรับแขกที่มาหา ต้องทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษ ต้องเซ่นสรวงเทวดา ต้องส่งเงินภาษีให้รัฐ ต้องเลี้ยงดูตนเอง
พระสารีบุตรตั้งคำถามให้เขาตอบตามลำดับว่า การประพฤติผิดธรรม โดยอ้างว่าเพื่อมารดาบิดา...เพื่อบุตรภรรยา... เพื่อทาส กรรมกร คนใช้...เพื่อมิตรสหาย...เพื่อญาติสาโลหิต ผู้คุมนรก (นิรยบาล) เขาจะรับฟังไหมว่าเราประพฤติธรรมเพื่อบุคคลเหล่านั้น หรือบุคคลเหล่านั้นจะแก้ต่างแทนเราได้หรือไม่ว่า เราประพฤติผิดธรรมเพื่อบุคคลเหล่านั้น หรือบุคคลเหล่านั้นจะแก้ต่างแทนเราได้ไหมว่า เราประพฤติผิดธรรมก็เพื่อพวกเขา ขอนายนิรยบาลอย่าลงโทษเลย?
พราหมณ์ธนัญชานิยอมรับว่า เป็นไปไม่ได้ ถึงอย่างไรเสีย เมื่อประพฤติผิดธรรม นายนิรยบาลก็ต้องโยนลงนรกแน่นอน แม้จะอ้างเหตุผลอย่างนั้น
พระสารีบุตรตั้งคำถามให้เขาตอบตามลำดับว่า การประพฤติผิดธรรม โดยอ้างว่าเพื่อมารดาบิดา...เพื่อบุตรภรรยา... เพื่อทาส กรรมกร คนใช้...เพื่อมิตรสหาย...เพื่อญาติสาโลหิต ผู้คุมนรก (นิรยบาล) เขาจะรับฟังไหมว่าเราประพฤติธรรมเพื่อบุคคลเหล่านั้น หรือบุคคลเหล่านั้นจะแก้ต่างแทนเราได้หรือไม่ว่า เราประพฤติผิดธรรมเพื่อบุคคลเหล่านั้น หรือบุคคลเหล่านั้นจะแก้ต่างแทนเราได้ไหมว่า เราประพฤติผิดธรรมก็เพื่อพวกเขา ขอนายนิรยบาลอย่าลงโทษเลย?
วันนั้น พราหมณ์ธนัญชานิ กราบลาพระสารีบุตรด้วยความเข้าใจซาบขึ้งในธรรม เป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาพราหมณ์ธนัญชานิ ป่วยหนัก ให้คนไปกราบทูลพระพุทธองค์เพื่อทรงทราบ และให้ไปนมัสการนิมนต์พระสาริบุตรไปที่บ้าน วันนั้นพระสาริบุตรถือบาตรและจีวรไป ตามคำนิมนต์ หลังจากนั่งบนอาสนะแล้วก็ถามอาการป่วยว่าเป็นอย่างไร ดีชึ้นบ้างหรือไม่ พราหมณ์นมัสการว่า ชีวิตคงไม่รอดแล้ว ทรมานเหลือเกิน อาการไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย...
พระสารีบุตรชวนพราหมณ์ธนัญชานิสนทนาธรรม ดังนี้
ส. นรกกับกำเนิดเดรัจฉาน อย่างไหนดีกว่ากัน? พ. กำเนิดเดรัจฉานดีกว่านรก
ส. กำเนิดเดรัจฉานกับภูมิเปรต (ปิตติวิสัย) อย่างไหนดีกว่ากัน?
พ. ภูมิเปรตดีกว่ากำเนิดเดรัจฉาน
ส. ภูมิเปรตกับมนุษย์ อย่างไหนดีกว่ากัน? พ. มนุษย์ดีกว่าภูมิเปรต
ส. มนุษย์กับเทวดาชั้นจาตุมหาราช อย่างไหนดีกว่ากัน?
พ. เทวดาชั้นจาตุมหาราชดีกว่ามนุษย์ ...
จากนั้น พระสารีบุตรชวนถาม-ตอบเรื่องเทวดาตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชว่าชั้นไหนดีกว่ากัน ไปตามลำดับ จนถึงคำถามว่า ระหว่างเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีกับพรหมโลกชั้นไหนดีกว่ากัน?
พราหมณ์ธนัญชานิถามขึ้น ท่านสารีบุตรกล่าวคำว่า “พรหมโลก” หรือ? (ถามชํ้าอยู่ 2 หน) ●● พระสารีบุตรคิดในใจว่า พราหมณ์เหล่านี้มีจิตใฝ่อยู่กับ พรหมโลก เห็นทีจะต้องบอกทางไปพรหมโลกแก่เขา จึงบอกให้พราหมณ์ธนัญชานิตั้งใจฟังเรื่องทางไปเกิดในพรหมโลก
พระสารีบุตรยกขึ้นกล่าวให้พราหมณ์ธนัญชานิฟังนั้น กล่าวถึงภิกษุเจริญพรหมวิหารธรรม 4 อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยแผ่ไปทุกทิศทุกทาง ทุกโลกทุกหมู่สัตว์ ไม่จำกัดขอบเขต... ฟังจบ พราหมณ์ก็นมัสการฝากความกับพระสารีบุตร ขอให้ถวายบังคมแทบพระบาทพระพุทธองค์ด้วยเคียรเกล้า เพื่อ ทรงทราบอาการป่วยหนักของตนอีกครั้งหนึ่ง
การแสดงธรรมของพระสารีบุตรครั้งนั้น เป็น การนำพราหมณ์ธนัญชานิไปเกิดในพรหมโลกชั้นตํ่า (หีนพรหมโลก) ทั้งๆ ที่สามารถจะช่วยได้ยิ่งกว่านั้น หลังจากท่านลุกจากอาสนะจากไปไม่นาน พราหมณ์ก็สิ้นใจ ไปเกิดในพรหมโลก
พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายถึงการที่พระสารีบุตร ทำอย่างนั้น และเมื่อพระสารีบุตรเข้าเฝ้า นำความที่พราหมณ์ขอให้ถวายบังคมกราบทูล ก็ได้มีพระดำรัสถามว่า เหตุใดจึงช่วย พราหมณ์ธนัญชานิได้เพียงให้เกิดในพรหมโลกชั้นตํ่าแล้วจากมา? พระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดว่า พราหมณ์เหล่า นี้มีใจน้อมไปในพรหมโลก เราก็น่าจะบอกทางให้เขาไปเกิดใน พรหมโลก” แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ธนัญชานิถึงแก่กรรมแล้ว เขาได้ไปเกิดในพรหมโลกแล้ว
จากเรื่องราวในพระสูตรข้างต้น อาจทำให้เกิดความสงสัยว่า คนเราเวลาใกล้ตาย สามารถน้อมจิตไปเกิดในภูมิต่างๆ ได้ตามที่ปรารถนาหรือ? ความจริงแล้วพราหมณ์ธนัญชานิ ต้องประกอบเหตุตามคำแนะนำของพระสารีบุตรด้วย คือ การเจริญพรหมวิหาร ๔ แล้วแผ่ออกไปโดยไม่มีประมาณ ก่อนจุติจิตจะมาถึง และเนื่องจากท่านมีความศรัทธาในพระพรหมเป็นพื้นอยู่แล้ว การระลึกถึงคุณความดีแห่งพระพรหม เพื่อไปเกิดเป็นพรหม ทำให้จิตของท่านน้อมไปได้ง่ายในเรื่องนั้น แต่ในพระสูตรไม่ได้กล่าวไว้ว่า จิตของท่านเข้าไปถึงระดับฌานด้วยหรือไม่ แต่โดยหลักทั่วไปแล้ว จิตต้องทรงอยู่ในฌานอย่างน้อยปฐมฌาน ก่อนจุติจิตจะเกิด จิตดวงต่อไปจึงจะไปปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิได้ ตามอินทรีย์และกำลังของฌานนั้นๆ ดังนั้นหากประสงค์จะไปเกิดในภพใดๆ ก็ต้องประกอบเหตุให้ถึงพร้อมเสียก่อน มิฉะนั้น สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดภพชาติต่อไปของเรา ก็มีแต่แรงกรรมที่ทำไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น ไม่มีใครจะไปบังคับได้ ปกติกรรมจะให้ผลตามความหนักเบาของกรรม ถ้าแบ่งตามความหนักเบาแล้ว ก็แบ่งได้ ๔ อย่างคือ
๑. ครุกรรม กรรมหนัก กรรมฝ่ายดี เช่น ทำสมาธิจนได้ฌาน กรรมฝ่ายชั่ว เช่นทำอนันตริยกรรม มีฆ่าบิดามารดาเป็นต้น เป็นกรรมที่จะให้ผลก่อนโดยไม่มีกรรมอื่นมาขวางหรือกั้นได้ ๒. พหุลกรรม กรรมที่ทำจนชิน
๓. อาสันนกรรม กรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย หรือที่เอาจิตใจจดจ่อในเวลาใกล้ตาย อาสันนกรรม ย่อมส่งผลให้ไปสู่ที่ดีหรือชั่วได้ เปรียบเหมือนโคแก่ที่อยู่ปากคอก แม้แรงจะน้อย แต่เมื่อเปิดคอกก็ออกได้ก่อน
๔. กตัตตากรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาไม่สมบูรณ์ อาจจะทำด้วยความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็อาจส่งผลดีร้ายให้ได้เหมือนกัน ในเมื่อไม่มีกรรมอื่นจะให้ผลแล้ว
ปกติกรรมก็จักให้ผลตามลำดับ ๑-๒-๓-๔ แต่บางกรณี อาสันนกรรมอาจให้ผลก่อนพหุลกรรมได้ ถ้ามีกำลังกล้ากว่า กรรมต่างๆ ที่จะมาให้ผลนี้ จะมาปรากฏให้เห็นในรูปของกรรมนิมิตหรือคตินิมิตก่อนตายหรือก่อนจุติจิตจะเกิด (คล้ายฝัน) ถ้าไม่ได้มีการฝึกหัดจิตมาก่อนเลย จิตก็จะไหลไปตามกระแสแห่งวิบากกรรมนั้นๆ ไม่มีใครจะต้านทานได้ ดังนั้นหากประสงค์จะไปเกิดในสุคติภพ ก็ต้องฝึกจิตของเราให้เป็นในทางกุศลบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นไปใน ทาน ศีล หรือภาวนา ทำจนชิน จนเป็นนิสัย เมื่อเวลาใกล้ตายมาถึง กุศลจิตย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยนั้นๆ โดยไม่ยาก แม้ไม่ตั้งใจจะให้เกิด มันก็สามารถเกิดตามเหตุปัจจัยที่ถึงพร้อมแล้วได้ สำหรับพราหมณ์ธนัญชานิ แม้จะไปปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิแล้วก็ตาม แต่อกุศลกรรมที่เขาได้ทำไว้ก่อนตาย ย่อมติดตามเขาไปด้วยและรอเวลาให้ผลในโอกาสต่อไป ไม่หายไปไหน ดังนั้น แม้เกิดในรูปพรหม หรืออรูปพรหมภูมิ ก็ตาม เมื่อหมดอายุขัย จุติจิตเกิดแล้ว ก็มีโอกาสไปปฏิสนธิในอบายภูมิได้เช่นเดียวกัน วัฏฏสงสารจึงไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าอยากพ้นจากความไม่แน่นอนเหล่านี้ ก็ต้องฝึกจิตให้เข้าถึงโลกุตตรธรรมเท่านั้น
ในพระสูตรกล่าวว่า พระสารีบุตรสามารถที่จะบอกทางไปให้สูงกว่าพรหมโลกก็ได้ หรือแม้แต่ทางสู่ความหลุดพ้น แต่ท่านไม่เลือกที่จะทำ อาจเป็นเพราะท่านพิจารณาเห็นแล้วว่าพราหมณ์ธนัญชานิ กำลังป่วยหนัก เวทนากล้า เวลาก็เหลือน้อยแล้ว ถ้าหนทางยากนักก็อาจไม่ได้ผล การหาอุบายโน้มน้าวให้จิตนึกถึงสิ่งที่ตนมีศรัทธาอยู่แล้วน่าจะประสพความสำเร็จแน่นอนกว่า เป็นความปรีชาและความกรุณาของพระสารีบุตรโดยแท้
ธัมมัง สุจริตัง จเร แปลว่า บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต ท่านทั้งหลายจงกำหนดไว้ซึ่งหัวข้อนี้ให้เป็นหัวข้อสำคัญว่า มีการตักเตือนว่าให้ประพฤติธรรมให้สุจริต เราส่วนมากมักจะไม่พูดกันถึงขนาดนี้ เพราะว่าเพียงแต่ประพฤติธรรมก็เป็นการเพียงพอแล้ว ทำไมจะต้องกล่าวถึงกับว่าต้องประพฤติธรรมให้สุจริต หรืออีกทางหนึ่งก็จะกล่าวได้ว่า จงประพฤติความดีให้สุจริต นี้ก็หมายความว่ามีการประพฤติความดีที่คดโกง คดๆ งอๆ ก็ยังมี ประพฤติธรรมไม่สุจริต ฟังดูให้ดีเถิดหมายความว่าอย่างไร ถ้าจะมองดูกันให้กว้างออกไปก็จะเห็นได้ว่า การประพฤติธรรมไม่สุจริตนี้มีอยู่ทั่วๆ ไปในโลก โลกนี้กำลังยุ่งยากลำบากทนทุกข์ทรมานเดือดร้อนหนักขึ้นทุกที ก็เพราะว่าคนในโลกไม่ประพฤติธรรมให้สุจริต
จงประพฤติธรรมให้สุจริต ตัวอื่นตัวอย่างอย่างอื่นยังมีอีกมาก นี้ยกมาเฉพาะตัวอย่างที่จะพอเห็นกันอยู่ได้ชัดๆ ว่าในทางโลกแท้ๆ มันก็หมุนไปในทางประพฤติธรรมเป็นทุจริตไปเสียหมดแล้ว ทีนี้เหลียวมาดูในทางธรรมกันบ้าง สัปปุรุษ ทายก ทายิกา อุบาสก อุบาสิกา กำลังประพฤติธรรมสุจริตหรือไม่ กำลังประพฤติธรรมเพื่ออะไร กำลังประพฤติธรรมเพื่อเงิน เพื่อชื่อเสียง หรือเพื่อสวรรค์ หรือเพื่ออะไร ทุกคนก็พอจะมองเห็นได้ดีว่าไปๆ มาๆ ก็ไม่พ้นไปจากความเห็นแก่ตัว ดังนั้นความประพฤติธรรม การประพฤติธรรมของบุคคลเหล่านี้จึงยังไม่สุจริต เพราะฉะนั้นจึงช่วยไม่ได้ จะช่วยยกมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ไม่ได้ จึงได้ตกอยู่ในลักษณะที่ต้องเป็นทุกข์แปลกๆ ออกไปหรือยังคงเป็นทุกข์อยู่ตามเดิม เรื่องประพฤติธรรมไม่สุจริตมีอะไรมากถึงอย่างนี้ แต่แล้วเราก็ไม่รู้สึก กลับรู้สึกไปในทำนองที่ว่า นั่นมันสุจริตแล้ว มันก็ถูกแล้ว มันก็สุจริตแล้ว ตามแบบของผู้ที่เห็นแก่ตัว แต่ไม่เห็นแก่ธรรม ถ้าเอาผู้ที่เห็นแก่ธรรมเป็นหลักแล้ว นั่นมันยังไม่สุจริต เพราะว่าบูชาเงินยิ่งกว่าธรรม บูชาเกียรติยิ่งกว่าธรรม บูชาสวรรค์ยิ่งกว่าธรรม คือความถูกต้อง ความแท้จริงของธรรม เรียกว่าประพฤติธรรมยังไม่สุจริต
เดี๋ยวนี้คนในโลกก็มีการศึกษากว้างขวาง แต่ละชาติ แต่ละประเทศก็มีความก้าวหน้าในการศึกษา แล้วก็ยังแลกเปลี่ยนกันซึ่งกันและกันให้มีมากขึ้น เต็มไปด้วยความรู้และการศึกษา แต่ความรู้และการศึกษาเหล่านั้นไม่เกี่ยวกับธรรมเลย เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นข้าศึกของธรรมทั้งนั้น คือเพิ่มความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ดังนั้นยิ่งรู้มากก็ยิ่งทำให้โลกนี้ร้อนเป็นไฟมากขึ้น ยิ่งรู้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำโลกนี้ให้ร้อนเป็นไฟมากขึ้นเท่านั้น เพราะว่าเป็นการเพิ่มความเห็นแก่ตัวขึ้นในโลกนี้ให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น นั่นแหละคือการประพฤติธรรมไม่สุจริตของคนทั้งโลก ประพฤติความดีไม่สุจริตของคนทั้งโลก โลกจึงเป็นอย่างนี้ คือเป็นโลกของความหลอกลวง เป็นโลกของความเห็นแก่ตัว หาความสงบสุขไม่ได้ และจะยิ่งเป็นไปในทำนองนี้มากยิ่งขึ้นทุกที ถ้าเราพิจารณาดูให้ดียิ่งขึ้นไปเท่าไร เราก็จะยิ่งเห็นด้วยพระพุทธเจ้าที่ตักเตือนว่า จงประพฤติธรรมให้สุจริต ยิ่งขึ้นทุกทีเหมือนกัน เราทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท จงมีความสลดสังเวชในข้อนี้ แล้วรีบชำระสะสางการประพฤติปฏิบัติของตนให้เป็นการประพฤติธรรมที่สุจริต คือประพฤติธรรมหรือทำความดีเพราะเห็นแก่ความดีหรือเห็นแก่ธรรมนั่นเอง
ทีนี้บางคนก็จะร้องคัดค้านขึ้นมาทีเดียวว่า จะเอามาแต่ไหนกิน จะเอามาแต่ไหนใช้ จะมีเกียรติยศชื่อเสียงได้อย่างไร จะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าไปเห็นแก่ธรรมหรือเห็นแก่ความดี นั่นก็คือคำคัดค้านของคนที่เห็นแก่ตัวอีกนั่นเอง ถ้าคนที่เห็นแก่ธรรมจะไม่คัดค้านอย่างนั้น และความจริงมันก็มีอยู่ว่า ขอให้ประพฤติธรรมเพราะเห็นแก่ธรรมเถิด ขอให้ทำความดีเพราะเห็นแก่ความดีเถิด แล้วเงินก็จะมีมาเอง เกียรติยศชื่อเสียงก็จะมีมาเอง ความสงบสุขตามที่ควรจะมีจะได้ก็จะมีมาเอง มันเป็นการได้ที่ดีที่สุจริต คือเงินที่ได้มาเพราะการประพฤติธรรมโดยเห็นแก่ธรรมนั้น มันเป็นเงินบริสุทธิ์ เกียรติยศชื่อเสียงที่ได้มาเพราะการประพฤติธรรมที่เห็นแก่ธรรมนั้น มันเป็นการๆ ได้ชื่อเสียงที่บริสุทธิ์ แม้จะเป็นสวรรค์ที่ได้มาเพราะการประพฤติธรรมนั้นก็เป็นสวรรค์ที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นสวรรค์ที่เดือดร้อนเป็นไฟเผาลนเหมือนสวรรค์ที่ได้มาเพราะการประพฤติธรรมเพราะเห็นแก่สวรรค์ ถ้าทำความดีเพราะเห็นแก่เงิน นี้หมายความว่าบูชาเงินยิ่งกว่าความดี เงินที่ได้มาเพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นเงินชั่ว เป็นเงินที่ได้มาเพราะกิเลสที่บูชาเงินยิ่งกว่าบูชาธรรม มันเป็นเงินชั่ว มาทำเจ้าของเงินให้ชั่ว แต่ถ้าเราไม่บูชาเงิน บูชาธรรม ประพฤติธรรม ไปตามธรรม ด้วยความรู้สึกที่บูชาธรรม ประพฤติธรรมอย่างนี้แล้ว เงินได้มาก็เป็นเงินดี เป็นเงินบริสุทธิ์ ทำเจ้าของเงินให้เป็นคนดี ไม่เป็นคนชั่ว
ดังนั้น มันจึงอยู่ที่จิตใจอย่างเดียวเท่านั้น ว่าจิตใจในขณะที่ประพฤติธรรมนั้นมันสุจริตหรือไม่สุจริต ถ้าจิตใจในขณะที่ประพฤติธรรมมันสุจริต มันก็ประพฤติธรรมเพื่อธรรม ทำความดีเพื่อความดี แล้วเงินมันก็ได้มาด้วย มันก็เป็นเงินดี แต่ถ้าประพฤติธรรมเพราะบูชาเงิน จิตใจมันก็เป็นจิตใจชั่วเสียแล้ว เงินแม้จะได้มามันก็เป็นเงินชั่ว ทำเจ้าของให้เป็นคนชั่วตั้งแต่ต้นจนปลาย ชื่อเสียงก็เหมือนกันมีนัยยะเช่นนั้น ทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี ไม่คำนึงถึงชื่อเสียง ชื่อเสียงมันคลานมาหาเองอย่างนี้ คนที่มีชื่อเสียงนั้นอยู่เหนือชื่อเสียง แต่ถ้าทำความดีเพราะอยากได้ชื่อเสียง เพราะเห็นแก่ชื่อเสียง คนนั้นมันเป็นทาส เป็นขี้ข้าของความของชื่อเสียงหรือของเกียรติยศ มันอยู่ข้างใต้ ไม่ได้อยู่ข้างบน ฉะนั้นถ้าว่าประพฤติความดี หรือประพฤติธรรมเพื่อจะให้ได้สวรรค์ในฐานะที่เป็นกามารมณ์แล้วก็มีจิตใจที่ตกต่ำไปแล้ว มันก็เป็นทาสของกามารมณ์ ได้สวรรค์มาสำหรับเผาลน แต่ถ้าประพฤติธรรมเพื่อสวรรค์ ด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีว่าสวรรค์นั้นเป็นความสุขตามประสาของบุคคลผู้ทำความดี ไม่ได้หลงใหลในกามารมณ์แล้ว มันก็เป็นสวรรค์ชนิดที่ดี ชนิดที่ไม่เผาลน
คำว่าสวรรค์มีหลายความหมาย แต่ความหมายที่คนรู้จักกันทั่วไปนั้น คือสวรรค์ที่เต็มไปด้วยกามารมณ์ สวรรค์ที่สูงไปกว่ากามารมณ์ก็มี เช่นชั้นพรหมก็เรียกว่าสวรรค์เหมือนกัน สวรรค์ชั้นพรหม หมายความว่าไม่เกี่ยวข้องกับกามารมณ์เลย เกี่ยวข้องอยู่แต่กับธรรมที่บริสุทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็มีความสงบสุข เย็นอกเย็นใจ อย่างนี้เป็นสวรรค์ที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ก็มี แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ถ้าจะเอาความดีเป็นสวรรค์แล้วก็จะปลอดภัยกว่า เมื่อใดทำความดีแล้วชื่นอกชื่นใจในการได้ทำความดี นั่นแหละคือสวรรค์ เมื่อใดพิจารณาดูตัวของตัวแล้วยกมือไหว้ตัวเองได้ ว่าไม่มีความชั่ว มีแต่ความดี นั่นแหละคือสวรรค์ คำว่าสวรรค์ไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับกามารมณ์เสมอไป เดี๋ยวนี้มีแต่ความหลงใหลในกามารมณ์ มุ่งหมายสวรรค์แต่ในลักษณะเช่นนั้น การประพฤติธรรมจึงทุจริต ไม่เป็นไปเพื่อธรรม ไม่สมควรแก่ธรรม ไม่เห็นแก่ธรรม ไม่บูชาธรรม แต่ไปบูชากามารมณ์ เรียกว่าประพฤติธรรมไม่สุจริต
ถ้าผู้ใดต้องการสวรรค์ จงศึกษาให้รู้ให้เข้าใจในความหมายของคำว่าสวรรค์ให้ถูกต้อง แล้วก็จะเห็นว่ามันเนื่องกันอยู่กับธรรม คือความดีที่บริสุทธิ์หรือถูกต้อง ซึ่งเมื่อบุคคลกระทำลงไปแล้ว ยกมือไหว้ตัวเองได้ ความที่ยกมือไหว้ตัวเองได้อย่างชื่นอกชื่นใจนี้คือสวรรค์ที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่สวรรค์ที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนเหมือนที่คนเขาสอนกันอยู่ เขาพูดกันอยู่เป็นส่วนมาก ตามประสาของคนที่เห็นแก่ตัวเลยตกเป็นทาสของกามารมณ์ รวมความแล้วว่าจะประพฤติธรรมเพื่อหาเงินก็ดี จะประพฤติธรรมเพื่อเกียรติยศชื่อเสียงก็ดี ประพฤติธรรมเพื่อสวรรค์ก็ดี นี้ต้องระวังดูให้ดีๆ อย่าปล่อยไปตามที่เขาว่าๆ กันว่ามันดี มันจะเป็นเพียงความดีของคนที่เห็นแก่ตัว ถ้าจะเป็นความดีจริงต้องเป็นความดีของคนที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ธรรม เห็นแก่ความดี เห็นแก่ความจริง อย่างคนที่ทำงานเพื่องาน นี้เรียกว่าเป็นคนประพฤติธรรมสุจริต แต่ถ้าใครทำงานเพื่อเงินแล้วเป็นคนประพฤติธรรมทุจริต ชาวโลกอาจจะสมมติกันให้ได้ว่าไม่ทุจริต แต่ตามความจริงหรือตามทางธรรมนั้นเป็นความทุจริต คนทำงานเพื่อเงินเป็นคนประพฤติธรรมทุจริต คนทำงานเพื่องาน เป็นคนประพฤติธรรมสุจริต แล้วคนที่ทำงานเพื่องานนั่นแหละกลับได้เงินที่ดีมาหล่อเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนคนทำงานเพื่อเงินนั้นได้เงินชั่วมาสำหรับย้อมตัวเองให้เป็นคนชั่ว คนเลวยิ่งขึ้นไปอีก มันต่างกันมากถึงอย่างนี้
ตัวอย่างที่จำง่ายๆ เรื่องการทำงาน ทำงานเพื่อเงินกับทำงานเพื่อเงิน มันก็มีอยู่ทั่วๆ ไป ลองพิจารณาดูเถิดว่า คนทุกคนส่วนมากในโลกนี้ทำงานเพื่องานหรือทำงานเพื่อเงิน ถ้าว่าคนส่วนมากในโลกนี้ทำงานเพื่องานแล้ว มันก็เป็นโลกที่ดี แต่ถ้าคนส่วนมากในโลกนี้ทำงานเพื่อเงินแล้ว มันก็เป็นโลกที่ชั่ว เป็นโลกที่ร้าย แล้วโลกของเราทุกวันนี้กำลังสงบสุขหรือกำลังวุ่นวาย และความวุ่นวายนี้จะต้องเกิดมาเพราะว่าคนทำงานเพื่อเงินอีกนั่นเอง คนส่วนมากในโลกกำลังบูชาเงิน อย่างที่ถูกหาถูกด่าว่าเป็นพวกนายทุน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้บูชาเงิน แล้วมีใครนิยมนับถือกันบ้าง มันก็จะมีแต่พวกที่เห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้นที่จะนับถือคนพวกนี้ ส่วนคนที่เห็นแก่ธรรมแล้วจะไม่เห็น จะไม่บูชานับถือคนพวกนี้เลย เพราะว่าประพฤติธรรมไม่สุจริต
มองดูไปทางไหนทิศไหนในโลกนี้ ก็จะเห็นแต่ว่าคนประพฤติธรรมไม่สุจริต นี้เรียกว่าเป็นกันทั้งโลก โลกนี้จึงเป็นโลกของคนที่ประพฤติธรรมไม่สุจริต จึงเป็นโลกที่เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น แล้วจะไปโทษใคร มันไม่ควรจะไปโทษใคร ไม่ควรจะไปโทษเทวดาผีสางที่ไหน ไม่ควรจะไปโทษพระเจ้า พระเป็นเจ้าที่ไหน มันควรจะโทษคนนั่นเองที่ประพฤติธรรมไม่สุจริต ถ้าประพฤติธรรมให้สุจริตแล้วมันก็จะมีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก แล้วธรรมนั่นแหละคือเทวดา แล้วธรรมนั่นแหละคือพระเป็นเจ้าที่จะคุ้มครองโลกนี้ให้อยู่เย็นเป็นผาสุก เราจงมุ่งหมายไปที่คำว่า ธรรม เพียงคำเดียวเถิด จะมีที่พึ่งอันแท้จริง จะมีที่พึ่งอันประเสริฐ สำหรับคุ้มครองโลกให้อยู่เย็นเป็นสุขโดยแน่นอน
เดี๋ยวนี้แม้แต่ตัวเองเพียงคนเดียวก็ประพฤติความดีชนิดที่ไม่สุจริตเสียแล้ว ประพฤติความดีเพื่ออวดคน หรือน้อยเนื้อต่ำใจขึ้นมาก็ทำความดีประชดคนอื่น อย่างนี้มันก็ยิ่งเพิ่มความเห็นแก่ตัว เพิ่มกิเลสที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว เพิ่มกิเลสที่เป็นเหตุให้ยกหูชูหาง มันก็ยิ่งไปไกลกันใหญ่ ไม่มีทางที่จะใกล้เข้ามาสู่แนวของธรรม คนนั้นจึงตกนรกทั้งเป็น ทั้งกลางวันและกลางคืน แม้ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับใครเลย ก็ตกนรกอยู่ได้ทั้งกลางวันและกลางคืนในส่วนตัวคนเดียว นี้เรียกว่าเรื่องส่วนบุคคลแท้ ๆ มันก็ยังเป็นอย่างนี้ ทีนี้ส่วนโลก ทั้งเป็นที่เป็นส่วนรวมนั้น ก็ยิ่งเป็นอย่างนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว ต่างคนต่างมีการศึกษา ที่จะใช้เป็นเครื่องมือทำความเห็นแก่ตัว ไม่ให้คนอื่นเขาสู้ได้ ให้สามารถเอาเปรียบผู้อื่นได้มากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการดี แล้วก็บูชาสิ่งนี้ว่าเป็นการดี แล้วก็เอาใจใส่สนใจกันแต่เรื่องอย่างนี้ทั่วกันไปทั้งโลก แปลว่าเป็นโลกที่ไร้ที่พึ่ง คือธรรมะ แต่ไปมีที่พึ่งที่กิเลส ตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เพราะไม่เป็นธรรม เพราะว่าไม่สุจริต
หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้นำเรื่องนี้ไปคิดพิจารณาดู จนมองเห็นตามที่เป็นจริงว่ามันเป็นอย่างไร ทำไมประพฤติดีแล้วยังจะต้องพูดว่าต้องให้สุจริตด้วย ทำไมจึงว่าประพฤติธรรมแล้วต้องให้สุจริตด้วย เพราะมันมีธรรมที่ไม่สุจริต มันมีความดีที่ไม่สุจริต ที่คนผู้เห็นแก่ตัวทั้งหลายบูชากันนักนั่นเอง ถ้าเราอยากจะเป็นพุทธบริษัท เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จงรีบประพฤติธรรมให้สุจริตให้สมตามธรรมภาษิตที่ว่า ธัมมัง สุจริตตัง จเร ดังที่ได้ยกขึ้นเป็นนิเขปบทข้างต้นนั้นจงทุกประการเถิด ก็จะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee