แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๕ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เน้นเรื่องจิตใจที่บริสุทธิ์สงบเย็น
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้พระให้สามเณรให้แม่ชีให้ประชาชน มีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติถูกต้อง การประพฤติการปฎิบัติธรรมของเรานั้นอยู่ที่ปัจจุบันที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องในปัจจุบัน เราจะได้ไม่หลงไปตามผัสสะ จะได้ไม่หลงไปตามความคิด จะได้ไม่หลงไปตามอารมณ์ ปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราทุกคนนะ มันท่องเที่ยวในวัฏสงสารมานาน เพราะว่ามันเป็นการเป็นอวิชชาเป็นความหลง ไม่อยากเสียสละ เมื่อมันมีการเวียนว่ายตายเกิดยังไม่มีที่จบสิ้น เราก็ต้องเสียสละ คนเราน่ะ ถึงเวลานอนก็ไม่นอน เพราะมันติดโทรศัพท์ติดหนังติดละคร เพราะใจไม่อยากกลับมาหาบ้านที่แท้จริง คือสิ่งที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
เรื่องการดับทุกข์ไม่ได้เกี่ยวกับคนรวยคนจน ไม่เกี่ยวกับคนหนุ่มคนแก่หรอก เป็นเรื่องที่ต้องมารู้ธรรมะ และปฏิบัติธรรมะให้ถูกต้อง เราทุกคนต้องจัดการตัวเองให้ได้ เมื่อเราไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติ ไม่ทำให้ถูกต้อง มันก็มีเรื่องมีปัญหาเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ ถ้าเราจัดการได้ในปัจจุบัน อนาคตมันก็อยู่ที่ปัจจุบันนี่แหละ แล้วก็จะฉลาดขึ้นพัฒนาขึ้นกว่าเดิม ศีลสมาธิปัญญาอริยมรรคมีองค์แปดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นยานนำเราออกจากวัฏสงสาร ถ้าเราไม่ปฏิบัติอย่างนี้ ทรัพยากรที่เราได้มาก็เท่ากับมาทำร้ายทำลายตัวเอง ไม่ได้เอามาสร้างบารมี สร้างความดี สร้างคุณธรรม
เราดูสิ พวกที่ติดยาเสพติดเพราะปัจจุบันมันไม่ดี มันควบคุมตัวเองไม่ได้ การสมาทานในศีลในข้อวัตรปฏิบัติมันไม่ได้ มันใจอ่อน ใจอ่อนเลยต้องมีการบำบัด เพราะใจอ่อนถึงต้องไปอยู่ในสำนักที่มีพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีข้อวัตรมีข้อปฏิบัติ เพราะเราใจอ่อนถึงต้องส่งลูกไปเรียนไปศึกษาในสถานศึกษาราคาแพงๆ ก็เพื่อให้เขาได้บังคับได้ดูแลลูกของเรา เพราะเราใจอ่อนทำให้ลูกเราเสียคน
เมื่อเรารู้หลักการแล้วเราก็ปฏิบัติของเราเอง เราจะได้เข้าถึงพุทธะ พุทธะนี้ตรงข้ามกับอวิชชากับความหลง ตรงข้ามกับไสยศาสตร์
การชำระจิตชำระใจได้ เราต้องมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง คนเราเรื่องการประพฤติปฏิบัตินี้สำคัญเพราะการเรียนการศึกษานี้มันดี จะเป็นหนังสือธรรมะจากพระไตรปิฎก จากครูบาอาจารย์ จากการฟัง เพื่อเป็นบารมีที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติแต่เราต้องเอามาประพฤติปฏิบัติ ต้องมีเจตนาพวกที่บวชหลายพรรษา บวชเรียนสูงๆ มันบวชมาไม่ได้ปฏิบัติ บวชมาทำแต่ผิดศีล ผิดพระวินัย ใจเลยเป็นใจสกปรก เรียกว่าจิตสกปรก เอาความรู้ความเข้าใจไปใช้ในสิ่งสกปรก หาเงิน หาสตางค์ หากาม สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่ศาสนาเป็นอวิชชา เป็นความหลง ไม่ใช่ศาสนาพุทธ เรียกว่าทำกิจไม่ถูก กิจที่ไม่ได้มุ่งมรรคผลนิพพาน
เราเข้าห้องน้ำห้องสุขาเพื่อไปถ่ายของเสียของจากกายของเรา ที่ตาเราเห็นรูป หูเราฟังเสียง เราก็ต้องเสียสละไป มันถึงจะเกิดปัญญา เพื่อผัสสะมันเกิดมาเพื่อให้เราเกิดปัญญา เราก็ต้องเสียสละรู้ว่าอันไหนไม่ดี เราก็อย่าไปคิด อย่าไปทำอีก เราทำกิจในปัจจุบัน เราจะพูดจาปราศัย ก็คือการทำกิจ ภารกิจ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านมันจะเป็นสิ่งที่ระเบิดไปในตัว ไม่ว่าสิ่งที่ดีไม่ดี เราต้องระเบิดด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ให้เป็นศีล สมาธิ ปัญญาพากันไปให้สมบูรณ์ในปัจจุบัน เพราะการประพฤติปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน เราจะเข้าใจว่าการประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติยังไงไม่รู้เรื่องการปฏิบัติเลย เพราะมันอยู่ที่ปัจจุบันที่เกี่ยวกับใจ จิตใจของเราต้องรีบทำ รีบจัดการ ใจของเรารักใคร โกรธใคร ชอบใคร หลายปีก็ยังไม่ปล่อยไม่ว่าง มันจะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรมยังไง เพราะว่ามันผ่านไปหลายเดือน หลายปีแล้ว เรายังไม่เสียสละ เราจะไปอวดไปคุยว่าเราปฏิบัติธรรม มันไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เพราะจิตมันเกิดดับในปัจจุบันหลายดวงนับไม่ถ้วน จิตมันทำงานสนั่นหวั่นไหวทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำงานสนั่นหวั่นไหว เราต้องรู้จักจิต จิตที่มันเกี่ยวข้องอย่างนี้เราต้องให้จิตของเรามีปัญญา เราต้องให้ปัญญาแก่จิต แก่ใจ เรียกว่าอาหารทางใจ มันจะได้พัฒนาตัวเองไป มรรคเราจะได้สมบูรณ์เราจะได้เข้าถึงความบริสุทธิ์ทางจิตใจ ถ้าเราพัฒนาไปแบบนี้ เราจะไปมีโอกาสฟุ้งซ่านที่ไหน มีโอกาสไปไลน์โทรศัพท์ที่ไหน เพราะงานของเราในปัจจุบันมันก็มีเยอะอยู่แล้ว
ผู้ที่ยังเป็นเสขะบุคคล บุคคลผู้ที่ยังต้องประพฤติปฏิบัติมันงานเยอะอยู่แล้ว มันจะมีงานที่ไหนไปไลน์โทรศัพท์เล่น ไปฟังเพลงเล่น ไปนินทาชาวบ้านเล่น เป็นบาปเป็นกรรม การปฏิบัติของเรานี้ ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งมีความสุข ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งใจสงบใจเย็น เหมือนน้ำลึก น้ำลึกตั้งหลายโยชน์ถึงแม้เราดูแล้วจะไหลช้า แต่มันลึก เขาเรียกว่าปัญญากับสมาธิมันจะไปด้วยกัน น้ำสุดลูกหูลูกตามันลึกหลายพันเมตร มันไหลโดยที่เราไม่รู้จักว่ามันไหล เพราะต้องเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญา ใจผู้ปฏิบัติถึงจะสงบเย็น ยิ่งเป็นพระอริยเจ้าระดับกลาง ระดับสูง ก็ยิ่งสงบเย็น เย็นในที่นี้ไม่ใช่น้ำแข็ง เขาเรียกว่าอวิชชามันเผาเรา มันไม่มีกำลัง มันหมดกำลัง มันก็จะสงบเย็น เขาเรียกว่าบริสุทธิ์ทางจิตใจ ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร แก้ไขที่ปัจจุบันนี้
แท้จริงแล้วโลกุตรธรรมคือ มรรค ผล และนิพพาน เป็นมรดกธรรมของพระพุทธองค์ แม้ข้อปฏิบัติที่ทำให้บรรลุธรรมเหล่านั้นได้แก่ ศีล สมาธิ และวิปัสสนา ก็จัดเป็นมรดกธรรมโดยปริยาย นอกจากนี้ กุตลทั้งหมดที่กระทำเพื่อการบรรลุนิพพานอันได้แก่ทาน ศีลเป็นต้น ก็ชื่อว่ามรดกธรรมโดยปริยาย เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุธรรมในอนาคตชาติ ดังนั้น สาวกของพระบรมศาสดาจึงควรเพียรปฏิบัติเพื่อรับเอามรดกธรรมโดยตรงและโดยปริยาย อย่างไรก็ตามพระพุทธองค์ทรงประสงค์ไห้รับมรดกโดยตรงที่เป็นมรรด ผล และนิพพาน พร้อมทั้งศีล สมาธิ และวิปัสสนาที่เป็นเหตุให้บรรลุธรรมในปัจจุบันชาติ ดังที่พระองค์ทรงแนะนำพระโปฏฐิละไว้ ชาวพุทธจึงควรมุ่งการบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้เป็นจุดหมายของชีวิต ดังพระพุทธวจนะในคัมภีร์ธรรมบทว่า
น สีลพฺพตมตเตน พาหุสจฺเจน วา ปน อถ วา สมาธิลาเภน วิวิตฺตสยเนน วา
ผุสามิ เนกฺขมฺมสุขํ อปุถุชุชนเสวิตํ ภิกฺขุ วิสฺสาสมาปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ.
"ภิกษุเอย เพียงมีศีลาจารวัตร เพียงมีภูมิปริยัติคงแก่เรียน เพียงพากเพียรปฏิบัติจนได้ฌาน เพียงอยู่ในสถานสงบสงัด ได้รับสุขของพระอนาคามีที่สามัญชนทั่วไปไม่ได้สัมผัส ถ้าขจัดกิเลสไม่ได้หมด เธออย่าพึงนิ่งนอนใจเลย"
พระพุทธดำรัสนี้ตรัสสอนเหล่าภิกษุผู้ทรงศีลเป็นต้น ในภิกษุเหล่านั้นบางรูปดำริว่าตนมีศีลหมดจด ไม่นานนักก็บรรลุอรหัตตผลได้ จึงนิ่งนอนใจไม่เพียรปฏิบัติธรรม บางรูปดำริว่าตนถือธุดงค์บ้าง เป็นพหูสูตรบ้าง บรรลุสมาบัติ ๘ บ้าง อยู่ในวัดป่าที่เงียบสงัดบ้าง บางรูปบรรลุอนาคามิผลแล้วดำริว่าตนอาจบรรลุอรหัตตผลได้ไม่ยากแล้วนิ่งนอนใจเสีย พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำว่าอย่านิ่งนอนใจจนกว่าจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
อุปสรรคของสมาธิ ๖ ประการ พระสารีบุตรกล่าวถึงอุปสรรคของสมาธิและวิธีกำจัดไว้ ๖ ประการ คือ ๑. การคำนึงถึงอดีต ๒. การคาดหวังอนาคต ๓. ความหดหู่ ๔. ความพยายามยิ่ง ๕. ความปรารถนายิ่ง ๖. ความท้อถอย ข้อความข้างต้นมีความพิสดารดังต่อไปนี้
๑. การคำนึงถึงอดีต "จิตที่คำนึงถึงอดีตย่อมตกไปสู่ความฟุ้งซ่าน ภิกษุย่อมหลีกเลี่ยงอดีตอารมณ์นั้นแล้ว ย่อมตั้งจิตไว้ในปัจจุบันอารมณ์อย่างเดียว เมื่อตั้งจิตไว้อย่างนี้ จิตย่อมไม่ถึงความซัดส่าย"
สิ่งที่เคยเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส หรือนึกคิดมาก่อน ชื่อว่า อดีตอารมณ์ จิตที่คำนึงถึงอารมณ์ที่เคยรับรู้มานั้นย่อมตกไปสู่ความฟุ้งซ่าน เช่น ขณะเจริญวิปัสสนาภาวนา ผู้ปฏิบัติอาจหวนนึกถึงสิ่งที่เคยเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรสสัมผัส หรือนึกย้อนไปถึงวันก่อน เดือนก่อน หรือปีก่อน หรือว่าหวนนึกถึงการปฏิบัติที่ดีหรือไม่ดีในช่วงเวลาที่ปฏิบัติธรรมอยู่ หรือว่าหวนนึกถึงสิ่งที่ตนลืมกำหนดรู้เท่าทัน แล้วพิจารณาว่าอารมณ์ดังกล่าวเป็นรูปหรือนาม ปรากฏชัดหรือไม่ปรากฏชัด ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติควรกำหนดรู้อดีตอารมณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ ขณะที่รู้ตัว แล้วตั้งจิตไว้ในปัจจุบันอารมณ์ คือ กำหนดรู้ปัจจุบันอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ เมื่อเป็นดังนี้ จิตย่อมดำรงมั่นไม่ซัดส่าย
๒. การคาดหวังอนาคต "จิตที่คาดหวังอนาคตย่อมซัดส่าย ภิกษุย่อมหลีกเลี่ยงอนาคตอารมณ์นั้น แล้วย่อมใส่ใจในปัจจุบันอารมณ์อย่างเดียว เมื่อใส่ใจอย่างนี้ จิตย่อมไม่ถึงความซัดส่าย"
สิ่งที่จะเกิดในอนาคตด้วยการเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส หรือนึกคิด ชื่อว่า อนาคตอารมณ์ จิตที่คาดหวังอารมณ์ดังกล่าวย่อมซัดส่ายไม่สงบนิ่ง เช่น ความคาดหวังว่าจะเห็นหรือได้ยินสิ่งใดในอนาคต หรือคาดหวังถึงความรุ่งเรืองก้าวหน้าในภพนี้หรือภพหน้า หรือว่าคาดหวังความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติควรกำหนดรู้อนาคตอารมณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ ขณะที่รู้ตัวแล้วใส่ใจในปัจจุบันอารมณ์ เมื่อเป็นดังนี้ จิตย่อมดำรงมั่นไม่ซัดส่าย
๓. ความหดหู่ "จิตที่หดหู่ย่อมตกไปสู่ความเกียจคร้าน ภิกษุประคองจิตนั้นแล้ว ย่อมละความเกียจคร้าน เมื่อประคองจิตไว้อย่างนี้ จิตย่อมไม่ถึงความซัดส่าย"
ในบางขณะที่นักปฏิบัติกำหนดรู้สภาวธรรมปัจจุบันได้ไม่ชัดเจน หรือไม่มีความก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม นักปฏิบัติอาจเกิดความหดหู่ไม่ต้องการจะปฏิบัติธรรม ความเกียจคร้านย่อมเกิดขึ้นในขณะนั้น นักปฏิบัติควรกำหนดรู้เท่าทันความเกียจคร้านที่เกิดขึ้นแล้วละเสียให้ได้ ถ้าละไม่ได้ด้วยการกำหนดรู้ ก็ควรประคองจิตให้มีกำลังใจไม่ท้อถอย เมื่อเกิดความหดหู่ เกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติธรรม ไม่ยินดีในภาวนา มีบุคคลมากมายไม่อาจปฏิบัติธรรมได้เพราะถูกความเบื่อหน่ายครอบงำ ผู้ที่สามารถปฏิบัติธรรมเป็นเวลานานมีจำนวนน้อยมาก คนทั่วไปจึงเวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนี้ ดังพระพุทธวจนะในคัมภีร์ธรรมบทว่า "อนฺธกูโต อยํ โลโก ตนุเกตฺถ วิปสฺสติ สกุโณ ชาลมุตฺโตว อปฺโป สคฺคาย คจฺฉติ. โลกนี้มืดมน น้อยคนจักเห็นแจ้ง น้อยคนจะไปสวรรค์ เหมือนนกติดข่ายนายพราน น้อยตัวจะหลุดรอดไปได้"
ในคัมภีร์อรรถกถาอธิบายว่า คำว่า "น้อยคนจะไปสวรรค์" หมายความว่าน้อยคนจะไปสวรรค์และนิพพาน คำนี้จึงหมายถึงการบรรลุนิพพานอีกด้วย ผู้ที่เจริญวิปัสสนาอยู่นั้น บางขณะอาจกำหนดรู้เท่าทันสภาวธรรมปัจจุบันได้ไม่ชัดเจน หรืออาจไม่บรรลุวิปัสสนาญาณระดับสูงกว่าเดิม ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในภาวนา เมื่อเกิดสภาวะดังกล่าว ความเพลิดเพลินในภาวนาจะอันตรธานไป ส่งผลให้ไม่อาจปฏิบัติธรรมต่อไป เมื่อเป็นดังนี้เขาย่อมหลุดพ้นจากวัฏฏสงสารไม่ได้
แม้ผู้ที่ไปเกิดในอบายภูมิอื่นโดยเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เปรต หรืออสุรกาย ต้องรับผลกรรมตามสมควร ก็ไม่มีโอกาสเจริญวิปัสสนาภาวนา เช่น ปลาที่ติดอยู่ในแหแล้วถูกฆ่า วัวควายที่ถูกปฏักแทงต้องนำภาระในรถหรือเกวียนให้เคลื่อนเดินทางไป เปรตที่หิวโหยตลอดกาลยาวนานผ่านสมัยของพระพุทธเจ้าสองพระองค์สามพระองค์หรือสี่พระองค์ ต้องอดอยากหิวโหยทนต่อลมแดดเป็นเวลานาน ดังนี้เป็นต้น
ท่านผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จงอย่าประมาท อย่าเกียจคร้าน ถ้ามัวประมาทอยู่ ก็จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏไม่ได้ เมื่อหลุดพ้นไม่ได้ก็อาจไปเกิดในนรกเสวยทุกข์อันใหญ่หลวงซึ่งเคยพบมาแล้ว ในขณะนั้นแม้จะร้องไห้รำพันก็ไม่มีใครช่วยเหลือได้ บัดนี้ท่านได้เกิดเป็นมนุษย์พบกับพระพุทธศาสนา นับเป็นโอกาสปฏิบัติธรรมอันประเสริฐ จงอย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาที่ตรัสเตือนไว้ว่า "ฌาย ภิกขุ มา จ ปมาโท มา เต กามคุเณ รมสฺสุ จิตตํมา โลหคุฬํ คิลี ปมตฺโต มา กนฺทิ ทุกฺขมิทนฺติ ฑยฺหมาโน. จงเจริญกาวนาเถิด ภิกษุ อย่ามัวประมาท อย่าปล่อยใจให้หลงใหลในกามคุณ อย่าประมาทแล้วกลืนกินก้อนเหล็กแดง อย่าปล่อยให้ความทุกข์เผาผลาญแล้วคร่ำครวญว่า โอนี่ทุกข์ จริงๆ"
พระพุทธดำรัสที่กล่าวมานี้เป็นการพิจารณาภัยในอบายภูมิ ผู้ปฏิบัติอาจพิจารณาประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนาได้บ้าง กล่าวคือ การเจริญวิปัสสนามีประโยชน์เพื่อให้บรรลุมรรค ผล และนิพพาน หลุดพ้นจากทุกข์ในอบายภูมิและสังสารวัฏ ประโยชน์ดังกล่าวไม่อาจบังเกิดด้วยความเพียรที่ย่อหย่อน แม้การแสวงหาทรัพย์นับพันนับหมื่นก็ต้องใช้ความพยายามมาก คนที่ยอมลำบากทำงานหนึ่งวันแล้วอยู่สบายหนึ่งปี ย่อมจะทำงานด้วยความเต็มใจ คนที่ยอมลำบากทำงานหนึ่งเดือนแล้วอยู่สบายชั่วชีวิตก็จะตั้งใจทำงานนั้น ในกรณีเดียวกัน การยอมลำบากพากเพียรเจริญวิปัสสนาเป็นเวลาครึ่งเดือน หนึ่งเดือน หรือสองเดือน เป็นต้น แล้วหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏทั้งปวง จัดเป็นกิจที่คุ้มค่ากว่าประโยชน์ทางโลกอย่างมากมาย ดังนั้น จึงควรเพียรเจริญวิปัสสนาด้วยความไม่ประมาท
อีกนัยหนึ่ง ผู้ปฏิบัติควรพิจารณาหนทางดำเนินไปของพระอริยะทั้งหลายกล่าวคือ วิปัสสนาภาวนามิใช่ทางดำเนินไปของคนสามัญที่มัวประมาทเกียจคร้านอยู่ แต่เป็นทางดำเนินไปของพระอริยะอันได้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลาย ผู้ที่ดำเนินไปตามทางนี้ได้ชื่อว่าตามรอยบาทของพระอริยะเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงควรเพียรปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นทางดำเนินไปของพระอริยะทั้งหลาย
อีกนัยหนึ่ง ผู้ปฏิบัติที่เป็นภิกษุควรมีความเคารพในก้อนข้าวของชาวบ้าน หมายความว่า ชาวบ้านพากันแสวงหาทรัพย์ด้วยความเหน็ดเหนื่อยทั้งกลางวันและกลางคืน บางคนเสี่ยงตายหาทรัพย์เลี้ยงชีพ พวกเขาใช้สอยทรัพย์ที่ตนหามาได้พอสมควร แต่สละทรัพย์ถวายสิ่งของที่ดีเลิศแก่ภิกษุ การสละทรัพย์ให้ทานดังกล่าวไม่ใช่ให้แก่ญาติมิตร ไม่ใช่การตอบแทนอุปการคุณ และไม่ใช่ให้ทานโดยมุ่งหวังลาภยศฐานันดร แต่พวกเขาคิดว่าภิกษุเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมคือศีล สมาธิ และปัญญา ทานที่ถวายแด่ภิกษุมีผลมาก สามารถให้ผลที่เป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติได้ เหมือนการปลูกเมล็ดโพธิ์ซึ่งให้ผลเป็นต้นโพธิ์ใหญ่ในกาลต่อไป แต่ถ้าภิกษุผู้รับทานไม่เพียบพร้อมด้วยศีล สมาธิและปัญญาอย่างแท้จริง ทานที่ถวายก็มีผลไม่มากนัก ดังนั้น ภิกษุผู้มีความเดารพในก้อนข้าวของชาวบ้านจึงควรบำเพ็ญศีล สมาธิ และวิปัสสนาปัญญาให้บริบูรณ์ ถ้าเป็นคนเกียจคร้านมัวประมาทอยู่ ก็จัดว่าเป็นผู้ไม่เคารพในก้อนข้าวของชาวบ้าน
ตามนัยนี้ภิกษุควรพิจารณาว่า ชาวบ้านเชื่อถือข้อวัตรปฏิบัติของเราแล้ว ถวายจีวรและบิณฑบาตเป็นต้น พวกเขามิได้หวังสิ่งใดจากเรา เพียงปรารถนาความสุขในมนุษย์ สวรรค์ และนิพพาน เราบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ อย่างไม่ลำบากด้วยความเย็น ความร้อน ความหิวกระหาย ไม่ต้องเดือดร้อนในการแสวงหาปัจจัย ๔ มีโอกาสปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาอย่างอิสระ ชาวบ้านทั้งหลายจึงมีอุปการะแก่เรา ถ้าเรามัวประมาทเกียจคร้านอยู่ ไม่เพียรเจริญศีล สมาธิ และวิปัสสนาปัญญาให้บริบูรณ์ ชาวบ้านก็จะได้รับผลจากการให้ทานไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรหมั่นเจริญวิปัสสนาด้วยความบากบั่น
"กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธาควรปรารภความเพียร (ที่มีองค์ ๔) คือ หนัง เอ็น และกระดูกจงเหลืออยู่โดยแท้ เนื้อและเลือดในร่างกายจงแห้งไปเถิด เมื่อยังไม่บรรลุมรรคผลที่ควรบรรลุด้วยกำลังความเพียรและความบากบั่นของบุรุษ การหยุดยั้งความเพียรจักไม่มี...ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบรรลุมรรคผลอันประเสริฐย่อมไม่มีด้วยอินทรีย์ ๕ ที่ย่อหย่อน แต่การบรรลุมรรคผลอันประเสริฐย่อมมีได้ด้วยอินทรีย์ ๕ ที่แก่กล้าสูงสุด...ดังนั้น พวกเธอจงปรารภความเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังมีได้บรรลุ เพื่อให้ได้รับธรรมที่ยังไม่ได้รับ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้กระทำให้แจ้งพวกเธอพึงสำเหนียกว่า โดยประการดังนี้ การบวชของพวกเรานี้จักไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร อนึ่ง พวกเราใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรคของบุคคลเหล่าใด ทานนั้นของบุคคลเหล่นั้นใน เราทั้งหลายจักมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เห็นประโยชน์ตน...ประโยชน์ผู้อื่น..ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ควรยังสิกขา ๓ ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท"
นอกจากความเคารพในก้อนข้าวของชาวบ้านที่กล่าวมานี้ นักปฏิบัติอาจความประเสริฐที่ได้เป็นทายาทผู้รับมรดกคือโลกุตตรธรรม, พิจารณาความประเสริฐแห่งพระบรมศาสดาผู้ทรงแนะนำสั่งสอน, พิจารณาความเพียรอันอุกฤษฏ์ หรือรำลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ, พิจารณาความหมดจดแห่งศีล หรือฟังพระสูตรที่น่าเลื่อมใส เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาตามวิธีเหล่านี้อย่างเดียวหรือหลายอย่างย่อมเกิดกำลังใจในการปฏิบัติธรรม ในขณะนั้นจิตจะตั้งมั่นแน่วแน่ สามารถกำหนดรู้เท่าทันสภาวธรรมปัจจุบันได้
๔. ความพยายามยิ่ง "จิตที่พยายามยิ่งย่อมตกไปสู่ความฟุ้งซ่าน ภิกษุผ่อนจิตนั้นแล้วย่อมละความฟุ้งซ่าน เมื่อผ่อนจิตอย่างนี้ จิตย่อมไม่ถึงความซัดส่าย"
ในบางขณะนักปฏิบัติอาจตั้งใจกำหนดจนเกินพอดี โดยคิดว่าจะรับรู้เท่าทันทุกสภาวธรรมปัจจุบันที่เกิดขึ้น เมื่อนั้นอาจคิดฟุ้งซ่านว่า เราได้กำหนดรู้เท่าทันทุกอย่างหรือไม่ ลืมกำหนดรู้สภาวธรรมไหนบ้าง หรืออาจคิดว่า เราพยายามจนสุดความสามารถแล้ว แต่ทำไมจึงไม่ก้าวหน้ามากกว่านี้ ความฟุ้งซ่านข้างตันทำให้สติไม่ต่อเนื่องในปัจจุบันอารมณ์ เพราะมีดวามฟุ้งซ่านเกิดแทรกช้อนอยู่ ความพยายามยิ่งจึงเป็นอุปสรรคประการหนึ่งของสมาธิ
ความฟุ้งซ่านที่กล่าวถึงในอุปสรรคของสมาธิข้อแรกและข้อที่ ๔ นี้ มีลักษณะต่างกันกล่าวคือ ความฟุ้งซ่านในข้อแรกเป็นการซัดจิตไปสู่อารมณ์ที่ห่างไกลอันล่วงมาแล้ว ส่วนความฟุ้งซ่านที่กล่าวถึงในข้อนี้ เป็นความฟุ้งซ่านเกี่ยวกับการกำหนดซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว เมื่อผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าตนมีความเพียรมากเกินพอดี ควรผ่อนจิตด้วยการพิจารณาว่า สภาวธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในบังคับของตน แม้จะพยายามมากก็อาจจะไม่ก้าวหน้าได้ เพราะความก้าวหน้าในการปฏิบัติย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่จะก่อให้ผลคือวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ดังนั้น การกำหนดรู้ตามสมควร ไม่ตึงจนเกินไป การผ่อนจิตอย่างนี้ทำให้วิยะลดลง ส่งผลให้จิตตั้งมั่นมีสมาธิอย่างรวดเร็ว
๕. ความปรารถนายิ่ง "จิตที่ปรารถนายิ่งย่อมตกไปสู่ความพอใจ ภิกษุรู้จิตนั้นแล้วย่อมละความพอใจ เมื่อละความพอใจอย่างนี้ จิตย่อมไม่ถึงความซัดส่าย"
ในบางขณะที่นักปฏิบัติกำหนดรู้เท่าทันสภาวธรรมได้เป็นอย่างดี อาจเกิดความปรารถนาที่จะบรรลุความก้าวหน้าซึ่งได้แก่วิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้นไปหรือมรรคผล ความปรารถนานี้เป็นความพอใจที่จัดเป็นโลภะ ขณะนั้นควรกำหนดรู้ความปรารถนายิ่งนั้น เมื่อนักปฏิบัติกำหนดรู้ดังนี้ ย่อมละโลภะได้ด้วยการกำหนดรู้เท่าทัน จิตก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิในขณะนั้น
๖. ความท้อถอย "จิตที่ท้อถอยย่อมตกไปสู่ความไม่พอใจ ภิกษุรู้จิตนั้นแล้ว ย่อมละความไม่พอใจ เมื่อละความไม่พอใจอย่างนี้ จิตย่อมไม่ถึงความซัดส่าย"
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมนานหลายวันหรือหลายเดือน อาจเกิดความท้อถอยเมื่อไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติจนกระทั่งคิดจะเลิกปฏิบัติธรรม ความท้อถอยดังกล่าว เกิดร่วมกับความไม่พอใจ จัดว่าเป็นอุปสรรดอันใหญ่หลวงของสมาธิ ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดความท้อถอยซึ่งทำให้อยากจะออกจากกรรมฐานซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะหายไป เมื่อความท้อถอยหายไปแล้ว จิตก็จะสงบนิ่งมีสมาธิ
ผู้ปฏิบัติที่กำจัดอุปสรรคของสมาธิ ๖ ประการตามวิธีที่กล่าวมาแล้วย่อมไม่คำนึงถึงอดีต ไม่คาดหวังถึงอนาคต ปราศจากความหดหู่ ไม่พยายามยิ่งหรือปรารถนายิ่งและไม่ท้อถอย สามารถรู้เท่าทันรูปนามในปัจจุบันขณะได้อย่างชัดเจน ในขณะนั้นสมาธิที่ตั้งมั่นย่อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีกิเลสเจือปน
พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเน้นเรื่องจิตเรื่องใจที่บริสุทธิ์ที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีนี้ก็เป็นเรื่องที่จิตใจตั้งมั่น จิตใจเป็นพระนิพพาน ที่จะสะอาดบริสุทธิ์ใจนี้หน่ะ ถ้าเป็นใจของพระอริยเจ้าก็เป็นใจบริสุทธิ์ตามคุณธรรม ถ้าเป็นพระโสดาบันก็บริสุทธิ์ระดับหนึ่ง ถ้าเป็นใจของพระสกิทาคามีก็ระดับหนึ่ง ของใจของพระอรหันต์ก็ระดับหนึ่ง คำว่าจิตนี้ก็หมายถึงตัวผู้รู้ ความรู้มันก็มีอยู่ในหลายระดับ อย่างประชาชนคนทั่วไปก็อยู่ในระดับของความเป็นคน ธรรมวินัยก็ประดิษฐานในพระอริยเจ้าก็เป็นของบริสุทธิ์ตามระดับสังโยชน์ที่ตัดที่ละไปได้
เราถึงเอาจิตเอาความประพฤตินี้ให้ประกอบด้วยปัญญา สัมมาทิฏฐิ เช่น จิตของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ท่านเป็นพระพุทธเจ้าท่านจะทำอะไร จิตก็ชื่อว่าเป็นจิตเป็นพุทธจิต ไม่ว่าท่านคิด ท่านพูด ท่านทำอะไรก็เป็นสิ่งที่มาจากจิต เช่นว่า บิณฑบาตทุกวัน ตอนเช้าก็ตื่นมาทำอะไรๆ ที่ออกมาจากมหากรุณา มหาเมตตา มหาปัญญา ที่บริสุทธิ์ มีพระนิพพานเป็นที่ตั้ง
เราทุกคนถึงจำเป็นต้องพัฒนาจิตใจ เพื่อให้ใจมันเกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิ มันต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบัน เพราะเราต้องให้เกิดทั้งศีล เกิดทั้งสมาธิ เกิดทั้งปัญญาในปัจจุบัน เราถึงจะไม่เสียเวลา โดยอาศัยพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก คนเรานี้เสียเวลา เพราะไม่รู้ว่าอันไหนสำคัญ อันไหนไม่สำคัญ การพัฒนาจิตใจจึงเป็นที่สำคัญ การฝึกจิตใจจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่าทุกๆ อย่าง ใจของเราก็เพื่อให้เกิดปัญญาและก็เกิดการประพฤติการปฏิบัติ เขาเรียกว่าศีล เกิดความตั้งมั่น หรือว่าเป็นการสมาทานเอาไว้ คิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เป็นสัมมาสมาธิอย่างนี้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee