แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๓ วิสาขบูชา ถวายปฏิบัติบูชาด้วยกตัญญูกตเวทิตาต่อพระพุทธเจ้า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา เมื่อเช้านี้เราทำบุญตักบาตร สมาทานรักษาศีลฟังธรรม กล่าวคำบูชาถวายสักการะพระรัตนตรัย แทนการเวียนเทียน ช่วงค่ำนี้เราจะฟังโอวาทธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
การอุบัติมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จึงเป็นเรื่องยากยิ่ง เพราะต้องสั่งสมบารมีอันยิ่งใหญ่ อาศัยความเพียรอย่างยิ่งยวด เป็นความมุ่งมั่นที่มั่นคงเด็ดเดี่ยว น้อยบุคคลนักจะทำตามปณิธานจนสำเร็จเหมือนดั่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าโคดม ผู้เป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย กิจโฉ พุทธานะมุปปาโท การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้านั้นยากยิ่ง
คำว่าพุทธะ พุทโธ เป็นสิ่งที่หาฟังได้ยากยิ่งในการเวียนว่ายตายเกิด พวกเราที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบันนับว่าเป็นผู้มีโอกาสอันประเสริฐยิ่ง แต่มนุษย์จำนวนมากกลับละเลยโอกาสนี้ไป
ดาวพระเคราะห์ที่มีพระพุทธเจ้าในอดีตนั้นต้องย้อนกลับไปถึง 31 กัปที่แล้ว (กัปหนึ่งเทียบง่ายๆคือการเกิดและดับของระบบสุริยะจักวาลหนึ่งๆ) จนมาถึงโลกของเราในปัจจุบันถึงได้มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้และเผยแพร่หลักธรรมแล้วถึง 4 พระองค์
พระธรรมนั้นสว่างไสวทำให้เราได้ประสบพบหรือได้ยิน ได้อ่านเรื่องราวของพระอรหันต์ผู้พ้นจากทุกข์พบบรมสุขในแผ่นดินไทย พระอริยะบุคคล เมื่อเข้าถึงธรรมอันเกษมนับแต่โสดาบันบุคคล จะเห็นคุณค่าของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง เห็นคุณค่ายิ่งของพระธรรมที่ได้เพียรศึกษาปฏิบัติจนชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล เห็นคุณค่าของพระอริยะสงฆ์ผู้ประเสริฐควรแก่การบูชาจริงๆ และจะเห็นชัดเจนว่า อานุภาพ พลัง แห่งพระรัตนตรัยนั้นมีจริง ประเสริฐ ยอดเยี่ยมจริงจากเบื้องลึกของดวงจิต วันแห่งการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งวันเพ็ญเดือน 6 ด้วยการปฏิบัติที่ตอกย้ำความมั่นคงในพระรัตนตรัยลงในดวงจิตของเราเอง เพื่อเป็นรากฐานแห่งพระนิพพานในเบื้องหน้า
เมื่อเราชาวพุทธได้มาหวนระลึกนึกถึงคุณูปการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแม้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้ว ด้วยพระมหาปัญญาธิคุณ พระมหาบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ที่ยังปรากฎเป็นมรดกธรรมต่อลมหายใจให้กับพุทธบริษัท พุทธศาสนา มาจนตราบทุกวันนี้ ยังพระสัทธรรมให้เราได้อาศัยดื่มด่ำดับทุกข์ เป็นวิมุตติรสด้วยพระสัทธรรมทั้ง ๓ ที่ยังปรากฏคือ ปริยัติสัทธรรม คำสั่งสอนพุทธวจนะอันปรากฏในพระไตรปิฎก เป็นหลักเป็นแบบแผนแนวทางอันดีงามแท้จริงตามธรรมวินัย ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว สมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยอรรถพยัญชนะน้อมนำไปสู่ ปฏิบัติสัทธรรม ด้วยการลงมือประพฤติให้ดี ปฏิบัติให้ชอบ ตามระบอบธรรมวินัยทุกประการ ทำลายล้างกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาร ผลปรากฎเป็น ปฏิเวธสัทธรรม บรรลุเป้าหมายคุณธรรมคือ มรรค ๔ ผล ๕ นิพพาน ๑ อันเป็นแก่นสารของพระพุทธศาสนา
พระสัทธรรมทั้งสามคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ที่ใช้เป็นหลักพร่ำสอนให้เข้าถึงทางดับทุกข์ในวัฏสงสารไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้เลย หากไม่มีการอุบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดกัลยาณมิตรอย่างสูงสุด เป็นรุ่งอรุณแห่งอริยมรรค อริยผล ของพุทธศาสนิกชนผู้ปรารถนาทางหลุดพ้น
วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พวกเราเหล่าพุทธบริษัท ควรจะได้ได้มาเจริญพุทธานุสติ ระลึกถึงหนทางการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย หันมาศึกษาหลักธรรมที่ทรงประทานไว้ เป็นดังประทีปธรรมนำทางชีวิตที่ถูกต้องไปสู่สวรรค์ สู่มรรคผลพระนิพพาน
วันวิสาขบูชา เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ของพระพุทธเจ้าถึง 3 เหตุการณ์ คือ การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเหตุการณ์เหล่านั้น คติธรรมหลักคือไตรลักษณ์ หรืออนิจจลักษณะ อันได้แก่ความเป็นธรรมดาของโลก 3 ประการ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์คือตั้งอยู่ในสภาพเดิมมิได้ และอนัตตา ความที่สังขารทั้งหลายไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ (เช่น บังคับไม่ให้แก่ไม่ได้ บังคับไม่ให้ตายไม่ได้) ซึ่งทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนตกอยู่ในสภาพ 3 ประการนี้ แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของโลก ก็ยังต้องทรงตกอยู่ในกฎเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้
ธรรมคำสอนที่เกิดจากการตรัสรู้ธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอมตธรรม จริงแท้แน่นอนไม่เปลียนแปลงตามกาลเวลา ใครก็ตามที่ประพฤติธรรม ตามพระธรรมคำสอน ย่อมเป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โดยไม่เลือกเชื้อชาติศาสนาเผ่าพันธุ์
หลักธรรมสำคัญในวันประสูติ
ในเหตุการณ์วันประสูตินั้น หลักธรรมสำคัญ คือ "หลักความกตัญญู" เพราะในพระพุทธประวัติ แม้พระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะจะสิ้นพระชนม์ไปหลังที่เจ้าชายประสูติได้เพียง 7 วัน แต่เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงสเทวโลก ถึงแม้พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดา พระพุทธองค์ก็เสด็จไปโปรดถึงพระราชวังที่ประทับ จนพระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนักใกล้สวรรคต พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปโปรดจนพระราชบิดาได้บรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์และนิพพานในพระราชวังในวันนั้นเอง
ซึ่งในเรื่องความกตัญญูต่อบิดามารดา และผู้มีอุปการะก่อนนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หลายพระสูตรด้วยกัน เช่นใน หลักทิศ 6 เป็นต้น ซึ่งความกตัญญูนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะกับบุคคลเท่านั้น แต่รวมไปแม้กระทั่งต้นไม้ที่ให้ร่มเงาด้วย ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า
"บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่ควรหักกิ่งต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม”
ความกตัญญู จึงนับได้ว่าเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง มีตัวอย่างหลายเรื่องในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงยกย่องผู้มีความกตัญญูต่อบิดามารดา เช่น เรื่องพระภิกษุเลี้ยงบิดามารดาในมหานิบาต เป็นต้น ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสไว้ในปุตตสูตร พระไตรปิฏก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ว่า "นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา" "ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี" ความกตัญญูในพุทธศาสนามีอยู่ 5 อย่างคือ
1. กตัญญูต่อบุคคล คือ กตัญญูรู้คุณ พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ด้วยการติดตามระลึกถึงเสมอ และพยายามหาโอกาสตอบแทนพระคุณท่าน คนเราเกิดมาต้องเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็น “พลเมืองดี” ของชาติบ้านเมือง และเป็น พุทธมามกะ ให้สมชื่อ
2. กตัญญูต่อสัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งาน ต้องใช้ด้วยความกรุณาปรานี ไม่เฆี่ยนตีมันจนมากเกินไป
3. กตัญญูต่อสิ่งของที่มีคุณต่อเรา เช่น หนังสือธรรมะ สถานศึกษา วัด ต้นไม้ ป่าไม้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ
4. กตัญญูต่อบุญ คนเราเกิดมามีอายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง ผิวพรรณดี มีสติปัญญา มีความสุขความเจริญ มีทรัพย์สมบัติ ก็เพราะ “ผลของบุญ” จะไปสวรรค์หรือไปนิพพาน ก็ด้วยผลของบุญ ทั้งบุญเก่าบุญใหม่ จึงควรระลึกถึงบุญเก่า และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่
5. กตัญญูต่อตนเอง รู้จักทะนุถนอมดูแลร่างกายของเราให้มีสุขภาพดี ไม่ทำลายด้วยการกินเหล้าและสิ่งเสพติด เพราะร่างกายของเราเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำมาหากิน สร้างความสุขความเจริญให้แก่ตนเอง เป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำความดีและบุญกุศลต่างๆ
กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ประสูตินี้เป็นเครื่องเตือนให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงความกตัญญูกตเวที ที่ทุกคนควรมีในตนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
หลักธรรมสำคัญในวันตรัสรู้
สมเด็จพระบรมศาสดาก่อนตรัสรู้นั้น ท่านไปรับข้าวจากนางสุชาดา เมื่อท่านทรงฉันเสร็จแล้ว ก็ทรงลอยถาดลงในน้ำ ธรรมดาน้ำมันไหลลง ท่านได้ทรงอธิษฐานจิตว่า ถ้าหากว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้ไหลลอยไปเหนือน้ำ แล้วถาดก็ลอยไหลไปเหนือน้ำ
ความจริงถาด ก็คือ ความเห็นชอบของพระองค์ท่านนั่นแหละ ผู้รู้หรือพุทธภาวะของท่านที่เกิดขึ้นมาจากการพิจารณาแล้วนั้น ไม่ได้ปล่อยตามใจของสัตว์ แต่ไหลขึ้นไปทวนกระแสใจของท่าน ทวนขึ้นไปหมดทุกอย่าง ไม่ได้ไปฟังเสียงใคร ฉะนั้น พระธรรมเทศนาของพระองค์จึงทวนใจของพวกเราจนทุกวันนี้
โลภท่านก็ว่าไม่ให้โลภ โกรธท่านก็ไม่ให้โกรธ ให้ทำลายมัน อยากหลงก็ไม่ให้หลง ให้ทำลายมัน มีแต่เรื่องทำลายมันอย่างเดียว ฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา ท่านจึงทรงเชื่อแน่ว่า จิตของท่านนั้นทวนกระแสขึ้นไปนั่นเอง
มันทวนสัตว์โลกหมด ทวนกระแสสัตว์โลก สิ่งที่ว่าสกลร่างกายสวย ท่านว่าไม่สวย โลกว่าอันสกลร่างกายเป็นของเรา ท่านว่าไม่ใช่ของเรา อันนี้ว่าเป็นแก่นเป็นสาร ท่านว่าไม่เป็นแก่นเป็นสาร ความเห็นชอบอย่างนี้เหนือ เหนือสัตว์โลกขึ้นไป สัตว์โลกนั้นตามลงมากับน้ำ
ต่อมา ท่านได้รับหญ้าคาจากโสตถิยะพราหมณ์แปดกำมือ ท่านทรงทำอธิษฐานเป็นบัลลังก์ เพื่อนั่งสมาธิว่า ถ้าไม่ตรัสรู้จะไม่ทรงลุกขึ้น แล้วท่านก็ตรัสรู้ที่ตรงนี้ ถ้าจะกล่าวเป็นธรรมาธิษฐานแล้ว หญ้าคาก็คือโลกธรรมแปดนี่แหละ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสุขมีทุกข์ สรรเสริญนินทา เหล่านี้แหละ โลกธรรมแปดประการ หญ้าคาแปดกำมือ ฟังแต่ชื่อมันซิ หญ้าคา “คา” คาอะไร?
นักบวชของเราเมื่อบวชเข้ามา ก็ “คา” สิ่งเหล่านี้แหละ มาคาลาภ มาคาสรรเสริญ มาคาทุกข์ โลกทั้งหลายมาคาอยู่ที่นี่หมด
สมเด็จพระศาสดาจึงทรงอธิษฐานเป็นบัลลังก์ นั่งทับลงไปด้วยสมาธิธรรม อาการที่นังทับคือสมาธิ นั่งทับคือจิตของท่านเหนือกว่าโลกธรรม จิตในขณะนั้นเป็นโลกุตตรธรรมทับโลกียธรรมไว้ แต่ก็ยังเกิดเป็นมารต่างๆนานามาหลอกล่อ ซึ่งความจริงก็เป็นอาการของจิตนั่นเอง จนกระทั่งท่านได้ตรัสรู้ธรรม ก็ได้ชนะมารในที่นั้น ชนะคือชนะโลกนี่เอง ไม่ใช่ชนะอะไรอื่นไกล ฉะนั้น ท่านจึงทรงเจริญมรรคในที่นั้น มรรคจึงฆ่าโลกธรรมทั้งหลายเหล่านั้น
พญามารได้ยกพลเสนามารมาผจญ พระองค์ต้องต่อสู้ด้วยพระบารมี 10 ทัศ กล่าวในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ ทรงต่อสู้กับกิเลสภายในใจจนทรงเอาชนะได้ด้วยพระบารมี คือ ความลำบากในการบำเพ็ญความดีทั้งปวง อันทรงได้สั่งสมมาตลอดแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงต่อสู้จนพญามารพ่ายแพ้ไป
ในเหตุการณ์วันตรัสรู้ คือ "อริยสัจ 4" อันเป็นหลักธรรมในการแก้ปัญหาชีวิตที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ คือ
"ทุกข์" ความไม่สบายกายไม่สบายใจ สภาวะที่ทนได้ยากทั้งหลาย (ปัญหา)
"สมุทัย" ต้นเหตุของความทุกข์ คือกิเลสตัณหา (ต้นเหตุของปัญหา)
"นิโรธ" จุดหมายที่จะดับทุกข์ คือนิพพาน (วางเป้าหมาย)
"มรรค" แนวทางในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (ลงมือแก้ไข)
๑. ทุกข์ (ธรรมที่ควรรู้) ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ความทุกข์จึงเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทุกขณะ เราจึงไม่ควรประมาทและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความจริงของทุกข์นั้นๆ ความทุกข์เกิดขึ้นที่ไหน และมีกระบวนการเกิดขึ้นได้อย่างไร
ความทุกข์ ๑๐ ประเภท ๑. สภาวทุกข์ ทุกข์ประจำสังขาร คือ เกิด แก่ เจ็บ และตาย ๒. ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ๓.นิพัทธทุกข์ ทุกข์เนืองนิตย์ คือ หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจาระ - ปัสสาวะ ๔. พยาธิทุกข์ ทุกข์เพราะโรคต่างๆ ๕. สันตาปทุกข์ ทุกข์เกิดจากกิเลส คือ โลภ โกรธ และหลง ๖. วิปากทุกข์ ทุกข์เกิดจากกรรมเก่าตามมาให้ผล ๗. สหคตทุกข์ (วิปริณามทุกข์) ทุกข์เกิดจากโลกธรรมแปด ๘. อาหารปริเยฏฐิทุกข์ ทุกข์เกิดจากการหาอาหาร ๙. วิวาทมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการทะเลาะวิวาท ๑๐. ทุกขขันธ์ ทุกข์รวบยอด คือ ความยึดมั่นในขันธ์ 5
๒. สมุทัย (หลักธรรมที่ควรละ) สมุทยสัจเป็นเหตุเกิดของทุกข์ที่ก่อให้เกิดขันธ์ ในภพใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีที่สิ้นสุด ความเข้าใจสมุทยสัจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เหมือนกับการค้นหาสมุฏฐานของโรคแล้วจึงดำเนินการรักษา เหตุเกิดของทุกข์ดังกล่าวคือตัณหา มีสภาพอยากได้สิ่งต่างๆ เพื่อสนองความต้องการเหมือน ความหิวหรือความกระหาย ตัณหานั้นมีลักษณะ ๓ ประการ คือ ๑. ก่อให้เกิดภพใหม่ (โปโนพฺภวิกา) ๒. ประกอบด้วยความยินดีพอใจ (นนฺทิราคสหคตา) ๓. เพลิดเพลินภพและอารมณ์นั้นๆ (ตตฺร ตตฺราภินนทินี)
๓. นิโรธ (หลักธรรมที่ทำให้บรรลุ) นิโรธ คือ ความดับทุกข์หรือดับปัญหาต่างๆ พระพุทธองค์ทรงแสดงความดับทุกข์ว่าเป็นความดับตัณหาที่เป็นเหตุเกิดของทุกข์ การปฏิบัติธรรมในพระศาสนาจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อละตัณหาที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ ความดับทุกข์มีได้ด้วยความดับตัณหาโดยแท้ ส่วนความดับทุกข์โดยวิธีอื่นจากนี้เป็นเพียงความดับชั่วขณะ เหมือนการเปลี่ยนอิริยาบถที่ทำไว้นานๆ ด้วยการเหยียด ดู เดิน นั่ง ฯลฯ การบริโภคอาหารในเวลาหิว หรือการบริโภคยาในเวลาเกิดโรค สิ่งเหล่านี้สามารถดับทุกข์ได้เพียงชั่วขณะ ไม่อาจดับทุกข์ได้ตลอดไป
ในพระพุทธพจน์ข้างต้น คำที่กล่าวต่อมาว่า จาโค (ความสละ) ปฏินิสฺสคฺโค (ความปล่อย) มุตฺติ (ความหลุดพัน) อนาลโย (ความไม่พัวพัน) เป็นคำไวพจน์ของคำว่า อเสสวิราคนิโรโธ (ความดับสนิทโดยสิ้นเชิง) การใช้คำในลักษณะนี้มีประโยชน์เพื่ออธิบายพระนิพพานในหลายมุมมองอันจะทำให้ผู้ฟังธรรมได้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น
ความดับตัณหานี้มีได้ด้วยวิปัสสนาญาณและมรรคญาณ เหมือนแสงสว่างที่ปรากฏขึ้นทำลายความมืด เมื่อตัณหาถูกกำจัดได้โดยเด็ดขาด รูปนามที่เป็นผลของตัณหาย่อมไม่เกิดขึ้น จัดว่าผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุนิโรธสัจ ความจริงแล้วความดับตัณหาด้วยอรหัตตมรรคญาณเป็นการละตัณหาได้โดยสิ้นเชิง
๔. มรรค (หลักธรรมที่ควรเจริญ หรือทำให้เกิดขึ้น) มรรค คือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นจากความทุกข์หรือปัญหาต่างๆ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ ๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ ๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ และ ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง
ต้นเหตุที่โลกจะเกิดขึ้นมาก็เกิดจากความอยาก ถ้าดับความอยากก็คือดับโลก ความอยากเป็นบ่อเกิดของโลกทั้งหลาย ฉะนั้น เมื่อเรามาประพฤติหรือปฏิบัติแล้ว เราจึงเดินทางศีลสมาธิปัญญา นี่ท่านว่าโลกธรรมแปดและมรรคแปดเป็นของคู่กัน ทำอย่างไรจึงเป็นของคู่กัน ถ้าหากว่าเราพูดทาง ปริยัติของเราแล้ว ก็พูดได้ว่า ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา นี่ก็แปดอย่างในทางโลก ส่วนในทางธรรม ก็มีมรรคแปด สัมมาทิฐิ สัมมาสังกับโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ รวมแล้วก็แปดอย่างเหมือนกัน
ทางสองแปดนี่นะมันอยู่ที่เดียวกัน ไม่ได้อยู่คนละที่ พวกยินดีในลาภยศสรรเสริญก็อยู่ในใจนี้ ใจผู้รู้นี้ แต่ผู้รู้นี้มีเครื่องปกปิดเอาไว้ จึงให้รู้ผิดไป มันก็เลยเป็นโลก ผู้รู้นี้ยังไม่มีพุทธภาวะเกิดขึ้นมา จึงถอนตัวออกไม่ได้ จิตใจขณะนี้ก็เลยเป็นโลก
เมื่อเราได้มาปฏิบัติ มาทำศีลทำสมาธิทำปัญญา ก็คือเอากายเอาวาจาใจนี้ มาประพฤติปฏิบัติที่โลกธรรมมันแฝงอยู่ นี้แหละ ที่มันยินดีในลาภในยศในสรรเสริญในสุขในทุกข์ นี้แหละ มาทำลงที่เดียวกัน ถ้าเมื่อเราได้มาทำลงที่เดียวกันนี้ ก็เลยเห็นกัน เห็นโลกเห็นธรรมมันขวางกันเลยทีเดียว ไม่มีลาภก็คิดอยากได้ลาภ มียศก็ติดยศ มีสรรเสริญก็ติดสรรเสริญ มีสุขก็ติดสุข มีทุกข์ก็ติดทุกข์ มีนินทาก็ติดนินทา ถ้าเรามาปฏิบัติลงที่ใจของเรา มันก็จะได้เห็นโลกธรรมชัด
หลักธรรมสำคัญในวันปรินิพพาน
ในเหตุการณ์วันปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสปัจฉิมโอวาทไว้บทหนึ่ง อันเป็นยอดของคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรนำมาปฏิบัติ คือ การมีสติอยู่ทุกเมื่อ ไม่ให้ความทุกข์ร้อนใจอันเกิดจากอำนาจกิเลสเข้าครอบงำ กล่าวคือ ความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ โดยพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "...ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ..."...สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่านให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด"
อัปปมาทธรรม ความไม่ประมาท คือ การมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใดๆ ไม่ยอมถลำลงไปในทางที่เสื่อม ในการก่อสร้างอาคารจำเป็นต้องมีเสาเป็นหลักค้ำจุนตัวอาคารไว้ฉันใด ในการสร้างความดีทุกชนิดก็จำเป็นต้องมีความไม่ประมาทเป็นแกนหลักรองรับฉันนั้น ผู้ที่ไม่ประมาท คือผู้มีความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ มีการดำเนินชีวิตที่อาศัยสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัวไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสำหรับความดีงามและสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลยการทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบ และรุดหน้าเรื่อยไป
สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง
1. ไม่ประมาทในเวลา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า "วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่" อย่ามัวเมาทำในสิ่งไร้สาระ ให้เร่งรีบทำงานให้เต็มที่แข่งกับเวลา เพราะเวลามีน้อย เมื่อกลืนกินชีวิตไปแล้วก็เรียกกลับคืนไม่ได้
2. ไม่ประมาทในวัย มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าตัวยังเป็นเด็กอยู่ จึงเที่ยวเล่นเพลิดเพลินไปวัน ๆ เพราะถ้านับอายุตั้งแต่เกิดจนถึงบัดนี้ แต่ละคนต่างมีอายุคนละหลายหมื่นวันแล้ว
3. ไม่ประมาทในความไม่มีโรค มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเราจะแข็งแรงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ถ้ากรรมชั่วในอดีตตามมาทันอาจป่วยเป็นโรค หรือไม่ บายเมื่อไรก็ได้เพราะฉะนั้นในขณะที่สุขภาพยังดีอยู่นี้ ต้องรีบขวนขวายสร้างความดีให้เต็มที่
4. ไม่ประมาทในชีวิต มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่สุขสบายดี เราจะยังมีชีวิตอยู่อีกนาน เพราะจริงๆ แล้วเราอาจจะตายเมื่อไรก็ได้ มัจจุราชไม่มีเครื่องหมายนำหน้า จึงเร่งรีบขวนขวายในการละความชั่วสร้างความดีและทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างเต็มที่ทุกรูปแบบ ทุกโอกาส
5. ไม่ประมาทในการงาน มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะทำงานทุกอย่างที่มาถึงมือให้ดีที่สุด ทำอย่างทุ่มเทไม่ออมมือ ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ท้อถอย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
6. ไม่ประมาทในการศึกษา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะขวนขวายหาความรู้อย่างเต็มที่อะไรที่ควรอ่านควรท่องก็จะรีบอ่านรีบท่องโดยไม่แชเชือน ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ ซึ่งจะเป็นกุญแจไขปัญหาชีวิต
7. ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อ โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้ ไม่ใช่รอจนแก่ค่อยเข้าวัด จะฟังเทศน์ก็หูตึงฟังไม่ถนัด จะนั่งสมาธิก็ปวดเมื่อยขัดยอกไปหมด ลุกก็โอยนั่งก็โอย เมื่อระลึกได้เช่นนี้จึงมีความเพียรใส่ใจในการปฏิบัติธรรม เพราะทราบดีว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ทำให้เกิดความสุขแก่ตนทั้งโลกนี้และโลกหน้า และเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดแห่งชีวิต คือ นิพพาน
คนไทยที่เป็นชาวพุทธมีความเชื่อว่า การบรรลุพระนิพพานคงต้องรอหลังจากตายแล้ว และต้องเวียนว่ายตายเกิดกันอีกหลายภพชาติจึงจะลุถึงภาวะพระนิพพาน ดังเมื่อมีการทำบุญเสร็จแล้ว และจะตั้งจิตอธิษฐานก็มักอธิษฐานกันว่า 'นิพพานปัจจโย โหตุ เม อนาคตกาเล' (ขอให้บุญที่ข้าพเจ้าทำไว้จงเป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ) ทั้งๆ ที่คนสมัยพระพุทธเจ้าท่านไม่อธิษฐานกันอย่างนี้ หากแต่อธิษฐานว่า 'ตุมเหหิ ทิฏฐธัมมัสสะ ภาคี โหมิ' (ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีส่วนได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ท่านได้บรรลุแล้วด้วยเถิด)
พระพุทธเจ้าทรงรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่แท้จริง ทรงมาบอกมาสอนเรื่องอริยสัจ ๔ พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสอนเรื่องอื่นเลย ข้อวัตรปฏิบัติก็คืออริยมรรคมีองค์แปด เราเกิดมาชีวิตของเราจะประเสริฐได้ต้องตามพระพุทธเจ้าอย่างเดียว เพราะว่าท่านคิดไว้ดีแล้ว ท่านตรัสไว้ดีแล้ว เรียกว่า ท่านเอาอาหารสำเร็จรูปมาให้เราบริโภคแล้ว เราทุกคนจะไปตามใจของตัวเองไม่ได้ ตามอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ ตามความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ นั้นคือการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร
ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ตามอริยมรรคมีองค์แปด ยังไม่ล้าสมัย ยังไม่หมดสมัย เป็นอะกาลิโก คือทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยตกยุค มรรคผลนิพพานยังมีอยู่ ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อมีผู้ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด ให้เข้าใจอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ทุกคนจะเคารพตนเองได้ ก็เพราะตนเองเอามรรคผลนิพพาน ลูกหลานจะเคารพนับถือเราได้ก็เพราะเรามีศีลมีธรรม ดำเนินสู่พระนิพพาน ให้เข้าใจ อย่าไปลังเลสงสัย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติจิตใจในปัจจุบัน คำว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วศูนย์ มันก็จะลบไปเอง มันจะไม่มีความสงสัยอีก เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เราได้ลงมือทำ ลงมือปฏิบัติได้จัดการ ระบบความคิดความปรุงแต่ ง ความสงสัยให้มันหายไปสิ้น ทุกท่านทุกคนจะได้เข้าถึง มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ ไปเรื่อยๆ ชีวิตของท่าจก็จะได้ปิดอบายมุข อบายภูมิ ท่านจะได้หยุดก่อน ลาก่อนวัฏฏะสงสาร ทุกท่านทุกคนต้องปฏิบัติเอง ไม่มีใครมาทำแทนได้
ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ของเราทุกคนก็พากันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มันก็มาจากใจเราที่มีอวิชชา ความหลง มันพาธาตุขันธ์ อายตนะ ระหกระเหินแร่ร่อน สับสนวุ่นวายยุ่งไปหมด เป็นชีวิตที่ไม่สงบร่มเย็นเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น ให้ทุกคนให้เราตั้งใจ ใจของเราจะได้เย็น เหมือนติดแอร์คอนดิชั่น จะได้ไม่เป็นคนพเนจร แร่รอร สัมภเวสี ประดุจคนไร้บ้าน คน homelessm ทุกข์นะ ใจคนเราถ้าล่องลอยฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ ตามความคิด ไม่รู้จักอยู่กับความสงบที่ใจ มันก็ไม่ต่างอะไรกับใจคนที่เป็น homeless มันพเนจรเป็นสัมภเวสีล่องลองไปเรื่อย
พระพุทธเจ้าให้เราพากันปฏิบัติไม่เกี่ยวกับใครจน ใครรวย จะจนจะรวยกว่ากันไม่เกี่ยวเลย อยู่ที่ความตั้งใจในปัจจุบัน เราจะไปทางไกล ก็ต้องอยู่ในยานพาหนะให้ชัดเจน จะไปปล่อยวางยานพาหนะก็ไม่ได้ ยานพาหนะก็คือศีล สมาธิ ปัญญา จิตใจของเรามีตัว มีตนพอมีตัว มีตนปุ๊บ มันจะปล่อยวาง ศีล สมาธิ ปัญญาหมด นั้นมันเป็นความว่างที่ไม่ถูกต้อง มันเพิ่มความบ้า เพิ่มอวิชชา เพิ่มความหลง สิกขาบทน้อยใหญ่ เราอย่าไปปล่อยวาง ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ เรารักลูก รักหลาน รักพ่อ รักแม่ เราต้องให้ลูกหลานพ่อแม่รู้จักของดี คือพระนิพพาน คือพระธรรมวินัย คือพระรัตนตรัย เราก็ต้องปฏิบัติเป็นตัวอย่างแบบอย่าง เรามองเห็นกันอยู่แล้ว เพราะตาก็มีดู หูก็มีฟังได้ อันไหนมันดี มันประเสริฐ ให้พากันกราบพระไหว้พระนั่งสมาธิ ทำงานหายใจเข้าออกให้รู้ชัดเจน สมาธิคือหายใจเข้าออกให้รู้ชัดเจนไปเลย ถ้าเราไปดูลมเหมือนดูเขาทำงาน ก็ไม่ได้ทำงานเองเราจะได้เข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติใจเราจะได้ไม่เสื่อม เพราะเรามียานคือรู้ลมเข้า ลมออกชัดเจน และวิปัสสนาเห็นแจ้งในกาย ที่มันไม่มีส่วนไหนสวยงาม ไม่มีส่วนไหนจีรัง ยั่งยืน ไม่มีส่วนไหนเป็นตัว เป็นตน ให้เราภาวนาพากันปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง อย่าทำๆ หยุดๆ ต้องให้มันต่อเนื่องเป็นสายน้ำ อย่าให้เป็นหยดน้ำ ต้องให้มันเป็นสายน้ำที่ติดต่อต่อเนื่องไปอย่างนี้
เพราะฉะนั้นจึงต้องมาเสียสละทุกอย่าง โดยเฉพาะเสียสละความทุกข์ออกไป เสียสละทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตนออกไป พระพุทธเจ้าเป็นผู้เสียสละที่สุดในโลก จึงมีความสุขที่สุดในโลก ทรงเป็นโลกะวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก เมื่อทรงรู้แจ้งแล้ว ไม่ได้เก็บงำไว้เพียงพระองค์เดียว เอามาบอกมาสอนชี้ทางสว่าง เราจะได้เข้าถึงความเป็นพระ ด้วยการเดินทางอริยมรรคคือหนทางอันประเสริฐ เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เรื่อยไปจนไปถึงสัมมาสมาธิ คือมีจิตใจตั้งมั่นชอบ ไม่ใจอ่อนนี้แหละคือความสุข ความดับทุกข์ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ พึงจะได้รับ พึงไปให้ถึง เพราะฉะนั้นสำคัญมากเราต้องประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันให้ได้ ให้กิเลส ให้ความชั่วมันตายจากใจของเรา ก่อนที่ตัวเราจะตายจริงๆ ให้ทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ความโลภ ความหลงมันดับสูญตายไปจากใจของเรา ก่อนที่ตัวเราจะตายตริงๆ
เราต้องมีความสุข มีความเบิกบาน ยิ่งแก่ยิ่งเฒ่า ก็ยิ่งมีความสุขเบิกบาน พระพุทธเจ้าให้เราทำอย่างนี้ เราโชคดีที่ได้พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร อย่างใครจะได้ดีคือก้าวหน้าในมรรคผลพระนิพพาน ก็เพราะได้พระพุทธเจ้า ได้พ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นยอดกัลยาณมิตร เป็นผู้ชี้นำทาง ชี้ทางสว่างไสวชี้ทางไปที่ถูกต้อง จึงเป็นผู้สว่างไสวในวาระสุดท้าย
ในวันนี้ทุกท่านทุกคนเมื่อหวนรำลึกถึงพระมหาปัญญาธิคุณ พระมหาบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ เพื่อจะแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้อาศัยสัจธรรมคำสอนของพระองค์เป็นดั่งนาวา ดำรงสัญจรออกจากทะเลวัฏทุกข์ให้ข้ามถึงฟากฝั่งบรมสุขคือนิพพานอันเกษม เหล่าพุทธสาวกได้อิ่มเอมดื่มด่ำธรรมโอสถ ได้อาศัยพระศาสนาของพระตถาคต เป็นเครื่องดับทุกข์ตลอดมา จึงต้องตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา ในดิถีวิสาขบูชา ในครั้งนี้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee