แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๖๒ ต้องจัดการกับตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องความขี้เกียจขี้คร้าน เรื่องผัดวันประกันพรุ่ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำเทศนา วันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๖
ความดับทุกข์ของเราอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ไม่ทำตามใจตัวเองไม่ทำตามอารมณ์ตัวเองไม่ทำตามความรู้สึก เอาพระธรรมเอาพระวินัยเป็นการดำเนินชีวิต ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็มีอยู่อย่างนี้ ถ้าตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก เราทุกคนก็ยิ่งเพิ่มอวิชชาเพิ่มความหลง เพิ่มโรคจิตโรคประสาท เราเป็นโรคจิตโรคประสาทเยอะ เราต้องกินยาระงับโรคจิตโรคประสาท โรคจิตโรคประสาทคือโรคตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกอย่างนี้แหละ
มนุษย์เราเนี่ยมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องตามพระพุทธเจ้า ต้องประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน มนุษย์เราต้องบริโภคธรรมะโอสถ ไม่ใช่บริโภคโมหะ บริโภคความหลง เราก็ดูตัวอย่างแบบอย่างที่บ้านเมืองหรือว่าโลกนี้กำลังหมุนไปสู่ความหายนะความพินาศ ด้วยเอาตัวตนเป็นหลัก เอาความยึดมันถือมั่นเป็นหลัก ไม่ได้เอาธรรมะไม่ได้เอาความเป็นธรรมความยุติธรรม มนุษย์เรามันถึงลดความสุขลง มันถึงได้สร้างเรือสร้างเครื่องบินสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก มันก็ยิ่งเผาตัวเอง เราต้องพัฒนาใจของหมู่มวลมนุษย์ให้มีความสุข มีความสุขในการหยุดวัฏสงสาร คือไม่คิดไม่พูดไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง ปัจจุบันนี้มนุษย์เราต้องมีความสุข ใจอยู่กับเนื้ออยู่กับตัวใจอยู่กับปัจจุบันอย่างนี้นะ
เราต้องมีความสุขมีความดับทุกข์ต่อเนื่องกัน วันหนึ่งคืนหนึ่งความดับทุกข์ต้องมากกว่า 50% มันถึงจะสอบผ่าน ในชีวิตของเราแต่ละคนก็อยู่แต่กับการตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ยังไม่ตายก็ถูกเผาทั้งเป็นแล้ว จึงน่าสมเพชเวทนา พระพุทธเจ้ามองเรา เราจะไปคิดว่ารวยเป็นมหาเศรษฐีแล้วจะแก้ปัญหาได้ดับทุกข์ได้ มีรถมีบ้านมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายแล้วจะดับทุกข์ได้ อันนั้นเป็นอวิชชาเป็นความหลงที่เราคิดมา ท่านจึงให้เราพัฒนาเทคโนโลยีเสียงอำนวยความสะดวกความสบายพัฒนาปัญญาไปพร้อมๆ กัน ทุกท่านทุกคนต้องพากันปฏิบัติอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้เพิ่มความสุขความดับทุกข์ไป เราก็มีแต่จะไปแก้แต่สิ่งภายนอก ไม่แก้ตัวเอง มันก็เพิ่มความหายนะ เพิ่มโรคจิตโรคประสาท
อีกสองวันก็จะถึงวันวิสาขบูชาแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ได้ทรงทำพระองค์ให้เป็นตัวอย่าง ทั้งในเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด เราทุกคนเป็นผู้ที่ประเสริฐ เราไม่ต้องไปวุ่นวายอะไร เราไม่ต้องไปว่าให้อากาศว่าให้ฟ้าให้ฝน ว่าให้คนโน้นคนนี้ มันไม่ใช่ เพราะมันต้องแก้ที่ใจ ให้รู้จักว่าอันนี้เป็นสภาวะธรรม เป็นการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของร่างกายของกรรมจิตอุตุอาหาร เป็นการหมุนเวียนของโลก เป็นสัจธรรม เราอย่าพากันไปแบกโลก เพราะการแบกมันเป็นของหนัก เราต้องเข้าใจ เราอย่าไปทำตามโปรแกรมที่มันหลงอยู่แล้ว ต้องลบกระดานให้เป็นเลขศูนย์ ถือว่าเราต้องประพฤติต้องปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะวัดนี่คือเป็นศูนย์รวมแห่งการประพฤติการปฏิบัติของผู้ที่จะไปพระนิพพาน มารวมกันประพฤติปฏิบัติอย่างนี้
วัดความคิด ว่าคิดร้ายหรือดี, วัดความดี ว่าเคยมีไหมนั่น, วัดความดัน ว่ามันสูงหรือต่ำ, วัดความจำ ว่ามันยังจำดีไหม, วัดหัวใจ ว่าเต้นเร็วหรือช้า, วัดสายตา ว่ามันยาวหรือสั้น, วัดกายสังขาร ว่ามันตึงหรือยาน, วัดสันดาน ว่ามันดีหรือชั่ว, วัดใจตัว ว่ามันต่ำ! หรือ สูง! ดังนั้น วัดคือมีข้อวัตรข้อปฏิบัติ เป็นศูนย์รวมความดี ของผู้เอามรรคผลพระนิพพาน
เราน่ะมักจะไปหลงวัดภายนอก หลงโบสถ์ หลงวิหาร หลงกุฏิเสนาสนะว่าเป็นวัด นั่นไม่ใช่วัด ไม่ใช่ข้อวัตรข้อปฏิบัติ เป็นเพียงที่อยู่ที่อาศัยเท่านั้น วัดก็คือข้อวัตรปฏิบัติ คือศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 นั่นคือวัด เราอย่าไปหลงประเด็นทางวัตถุ แล้วก็สร้างวัดกันขึ้นมามากมาย เป็นที่ซ่องสุมของโจรของมหาโจร ของอลัชชี ไม่ได้สร้างวัดที่เป็นวัดคู่ใจคู่ครอบครัวเลย เป็นการสร้างวัดภายนอกเป็นการสร้างวัฏฏะ ไม่ได้สร้างข้อวัตรข้อปฏิบัติ คนเรามีปัญญา ต้องเอาธรรมะมาประพฤติมาปฏิบัติอย่างนี้แหละ สิ่งที่แล้วก็แล้วไป สิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็ปฏิบัติไม่ได้ ต้องเน้นที่ปัจจุบัน ปัจจุบันคือการประพฤติการปฏิบัติของเรา เราต้องทำอย่างนี้ๆ มีความเชื่อมั่นในความดี ในการทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราถึงจะได้มีพระศาสนาประจำใจประจำครอบครัวประจำประเทศเรา เราไม่ต้องไปทุกข์ยากลำบากอะไร เราไม่ต้องไปแข่งกันแย่งขยะกัน เน้นมาที่ตัวเราทุกคน เราไม่ต้องอาศัยพ่ออาศัยแม่อาศัยใคร อาศัยการประพฤติการปฏิบัติของเรา อาศัยศีลนี้ อาศัยสมาธิความตั้งมั่นนี้ อาศัยปัญญาที่เราต้องเสียสละ ทำความดีแข่งกับเวลา เราต้องพัฒนาอย่างนี้แหละ สนามปฏิบัติของเรา เช่น วัดอย่างนี้ ถ้าเราอยู่บ้านก็คือที่ครอบครัวของเรา ถ้าอยู่ที่ทำงาน ก็คือที่ทำงานนั่นแหละ ข้าราชการก็ไปตามระบบข้าราชการ เขาให้เงินเดือนเท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น มีความสุขในการทำงาน เป็นนักการเมืองก็เหมือนกัน ให้เข้าสู่ระบบของธรรมะ อย่าพากันไปเป็นโจร คนเราน่ะ ต้องแก้ไขตัวเอง ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ทำหน้าที่ของตัวเองให้มีความสุข อย่าไปหลง ความสุขของเราอยู่ที่เสียสละ เราไม่เสียสละ ครอบครัวเราจะทำยังไง ตัวเราจะทำยังไง เพราะเรามีความเห็นแก่ตัวขนาดนี้ มันไม่ได้ไปตามฟันเฟือง ไม่ได้ไปตามกลไก
วัดไหนที่จะรู้ว่าวัดนั้นดี วัดนั้นต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าไม่มีข้อวัตรปฏิบัติก็เหมือนกับบ้านเรา ต่างกันก็ตรงที่โกนผม ห่มผ้ากาสาวพัสตร์เท่านั้น
'วัด' คือสถานที่ที่มีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัด ถึงเรียกว่า 'วัตร"
'วัด' เป็นสถานที่ของคนที่ตั้งใจทำความดี เราอย่าไปคิดว่าวัดนี้เป็นที่อยู่ของคนตกงาน เป็นพวกที่มีปัญหา ไม่มีศักยภาพในการทำมาหากิน 'วัด' นี้คือที่อยู่ของคนไม่ค่อยจะเต็ม 'วัด' นี้คือที่อยู่ของคนพิกลพิการ 'วัด' นี้คือที่อยู่ของคนที่มีปัญหาติดยาเสพติด
จุดมุ่งหมายของวัดคือเป็นสถานที่สำหรับผู้บำเพ็ญบารมีที่จะไป 'พระนิพพาน' อย่างเดียว ถ้าปฏิบัติไปเพื่อสวรรค์นี้ยังไม่ได้ ยังไม่ใช่ ถ้าปฏิบัติไปเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ เหมือนทางโลก ก็ถือว่าที่นั่นไม่ใช่สถานที่สัปปายะ
กุลบุตรลุกหลานที่มาบวช มาปฏิบัติ ถึงจะมาบวชระยะน้อยหรือระยะยาว ให้พากันถือเนกข้มมะมุ่งตรงต่อพระนิพพาน อย่ามุ่งแต่ประดับเกียรติ ประดับยศ ท่านต้องตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจบวช อย่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านหนักใจ ประธานสงฆ์ท่านหนักใจ พระพี่เลี้ยงท่านหนักใจ ว่าพระชุดนี้ไม่ตั้งใจกัน ลำบากกับพระพวกนี้เหลือเกิน
ท่านต้องเป็นสุปฏิปันโน เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อย่าได้ส่งใจออกไปภายนอก ใจมันไปกิน ไปเที่ยว มันไปกินก๋วยเตี๋ยว ในใจมันไปเที่ยวในผับในบาร์ ท่านจะคิดอย่างนั้นไม่ได้ เราเป็น 'พระ' เรามาคิดเหมือนกับฆราวาสนี้ไม่ได้ มันเป็นบาป...
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสมณสัญญาว่า ขณะนี้เรากำลังเป็น "พระ" อาการกิริยา วาจา ใจ ต้องไม่เหมือนโยม พยายามฝึกจิตฝึกใจ ให้ใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับ "พุทโธๆ' นั่งสมาธิ เดินจงกรมก็มันอยู่กับเนื้อกับตัว ทำวัตรสวดมนต์ก็ให้ใจมันอยู่กับการทำวัตรสวดมนต์
ไอ้เจ้าตัวร้ายที่มันอยู่ในจิตในใจนี้มันดิ้นเหลือเกิน ก็ช่างหัวมัน ถ้ามันคิดมากเกินก็กลั้นลมหายใจ เมื่อใจมันจะขาด มันก็กลับมาเอง
เราปล่อยเค้าจนเคยชินแล้วนเค้าติดเป็นนิสัยแล้ว เราจะควบคุมให้เค้าหยุด เค้านิ่ง ก็เป็นสิ่งที่ลำบาก "ลำบากก็ช่างหัวมัน นั่งสมาธิเอาไว้ครึ่งหนึ่ง..."
ให้เรานั่งสมาธิให้มันได้นานๆ เดินจงกรมเอาไว้ให้มันได้นานๆ ให้ใจมันอยู่กับการเดิน "นั่งไม่ได้ก็ให้มันได้นั่ง เดินไม่ได้ก็ให้มันได้เดิน" เรามันก็คิดแต่จะได้รางวัล ได้ค่าจ้าง ให้เราเดินเพื่อปล่อยวาง นั่งเพื่อปล่อยวาง ท่านไม่ให้เรายุ่งมาก ท่านไม่ให้เราคิดมาก ยุ่งไป คิดไป มันก็ไม่ได้อะไร มันก็ได้แต่โรคปวดหัว ได้แต่โรคประสาท เราเดินทั้งวัน ถ้าเราไม่คิดอะไร มันก็ไม่มีทุกข์อะไร เรานั่งทั้งวัน ถ้าเราไม่คิด มันก็ไม่มีทุกข์อะไร ถ้าเรารู้จักแต่อารมณ์ในความเป็นคน ในความเป็นมนุษย์ ในอารมณ์สะดวกสบายเพลิดเพลิน เมื่อเอา 'อารมณ์นิพพาน' ให้มัน มันไม่เอา มันไม่สนุก มันไม่ชอบความสงบ มันกลัวตายจากโลกนี้ มันกลัวตายจากรูป เสียง กลิ่น รส มันเลยดิ้นใหญ่เลยทีนี้ เหมือนปลาอยู่ในน้ำแล้วเอาขึ้นมาบนบก มันก็ดิ้นใหญ่เลย "การประพฤติปฏิบัติของเรา มันก็เหมือนปลาดิ้นอยู่ในน้ำที่เราเอาขึ้นมาบนบก"
ความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากที่ครูบาอาจารย์พานั่งสมาธิสองทุ่มถึงสามทุ่ม มันก็เบื่อ มันก็ท้อแท้ มันเบื่อเหลือเกิน มันทรมานเหลือเกิน ทำไมมันถึงทุกข์อย่างนี้ มันทุกข์เพราะใจของเราไปคิด ไปปรุง ไปแต่ง ถ้าเราไม่คิด ไม่ปรุง ไม่แต่ง มันก็ไม่ทุกข์อะไร
ถึงตีสามก็ยิ่งทุกข์กว่าเก่าอีก กำลังจะพักผ่อนสบายๆ ระฆังดังอีกแล้ว ต้องมาทำวัตรสวดมนต์ ต้องมานั่งสมาธิอีกแล้ว
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเห็นทุกข์ มันทุกข์ที่ใจเรา ใจเรามันไปคิด ไปปรุง ไปแต่ง ไปต่อต้าน มันไปปฏิเสธความจริง คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เมื่อเราไปต่อต้าน เราไปทุกข์ ไปปรุง ไปแต่ง มันหายทุกข์ไหม..? มันไม่หายทุกข์หรอกนะ มันเพิ่มทุกข์ให้เราอีก มันทุกข์ทางกายยังไม่พอ มันก็เพิ่มทุกข์ทางใจอีก ท่านจึงให้เราเห็นทุกข์ มันทุกข์เพราะใจเราไปยึดไปถือแท้ๆ นี่คือโรคทางใจนะ นั่งสมาธิตีสามตีสี่มันทุกข์หลาย มันทุกข์มาก นั่งโยกไปโยกมา อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่นั่นแหละ พระพุทธเจ้าท่านให้เราผ่านด่านนี้ ชื่อความง่วงเหงาหาวนอนนี้ นิวรณ์ตัวนี้เปรียบเสมือนเมฆก้อนใหญ่ มันมาบดบังพระอาทิตย์ มาบังดวงจันทร์ให้มืดมิดหมด
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราหมกมุ่น...จมอยู่ ให้เราทำจิตทำใจสบาย... อย่าไปยินดีในเวทนา ในความสุข ในความง่วงเหงาหาวนอน เราอย่าไปคิดว่านั่งไปแล้วก็พักผ่อนไปด้วย
ให้เราทำจิตทำใจให้เป็นหนึ่ง ให้เราเห็นจิต เห็นใจตัวเอง เพราะความง่วงเหงาหาวนอนคือความมืด คนเวลาง่วงมันไม่เห็นใจตัวเองนะ 'พุทโธ ธัมโม สังโฆ' มันหายหมดนะ ถ้ามันง่วงมากๆ เราอาจจะกลั้นลมหายใจ ถ้าใจมันจะขาด ก็ให้ปล่อยลมหายใจ
พวกเรากำลังหลงทางถูกกิเลสมันครอบงำ ถ้ามันยังไม่หาย พระพุทธเจ้าท่านให้เอาบทสวดมนต์ที่เราท่อง มาท่องในใจของเรา ดีกว่าเราไปนั่งหลับ นอนหลับ พยายามฝึกใจไม่ให้เราง่วง ไม่ให้เราหลับ จิตใจของเราจะได้เข้มแข็ง ถ้าเราเคลิ้มกับเวทนานิดหน่อยเราก็สัปหงกได้ให้ใจของเราใส ให้ใจของเราเบิกบาน พระพุทธเจ้าท่านสอนพระเวลาฉันอาหารเสร็จให้นั่งสมาธิ เพราะ ฉันข้าวเสร็จมันง่วงมาก ให้เรามานั่งสมาธิเพื่อสู้กับนิวรณ์ เพื่อทำจิตใจให้เป็นสมาธิ
"คนเราจิตใจเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว จริงจัง จึงเข้าสมาธิได้ต้องตั้งใจหัด ตั้งใจปฏิบัติ" พวกเราทุกท่านทุกคนที่มาบวชมาปฏิบัติในพระพุทธศาสนาย่อมไม่มีความอ่อนแอ ถ้าเราอ่อนแอเมื่อใด นิวรณ์ความง่วงเหงาหาวนอนก็ทับถมจิตใจของเรา ถ้าเราเคยแพ้ มันจะแพ้ไปเรื่อยนะ ถ้าเราเอาชนะมันบ้าง เราก็เอาชนะมันไปเรื่อยๆ นะ จนกว่าจะชนะมันเด็ดขาด
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราทุกๆ คนให้เข้มแข็งนะ ต้องไม่กลัว ต้องตั้งใจนะ เวลาทำวัตรเช้าอย่าไป...สวดไป...หลับไป ให้ตั้งใจสวด เดี๋ยวมันจะหลับ ต้องตั้งใจสวดด้วย...เอาจริงเอาจังด้วย....สติสัมปชัญญะ
"ถ้าไม่ตั้งใจมันหลับแน่ เพราะตีสามถึงตีสี่นี้มันง่วงมาก...!" การปฏิบัติธรรมมันเป็นสิ่งที่ทวนกระแส เราจะมาสะเงาะสะแงะ จะมากระท่อนกระแท่นไม่ได้นะ ท่านจึงบอกว่า "พระอยู่ที่ใจ พระนิพพานอยู่ที่ตายก่อนตาย..."
ความขี้เกียจขี้คร้านทำให้ไม่เกิดปัญญา ความขี้เกียจขี้คร้านมันคือกาม ความขี้เกียจขี้คร้าน นี้เป็นสาเหตุให้คนไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา พวกขี้เกียจขี้คร้านทั้งหลายถึงเป็นสาเหตุที่ให้ทุกคนไม่ได้พัฒนา อย่างพระองค์นั้นองค์นี้ ที่มีปัญญาน้อย เพราะว่ามันขี้เกียจ มันไม่เสียสละ ไม่เสียสละปัญญาไม่เกิดหรอก ตามใจตัวเอง ตามอามณ์ตัวเอง พวกขี้เกียจขี้คร้าน ทุกคนให้รู้เลยว่า ถ้าตัวเองยังขี้เกียจขี้คร้านอยู่ไม่ทวนอารมณ์ ไม่ทวนกระแส ไม่มีความสุขที่จะแก้ไขตัวเอง ไปไม่ได้นะ ทุกคนต้องรีบเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะขี้เกียจไม่ได้ ขี้เกียจไม่เป็น ทำไมปัญญาไม่เกิด ทำไมมันคิดได้ไม่เยอะ เพราะว่าความขี้เกียจขี้คร้านนี่เอง
กุสีตะ แปลว่า ผู้เกียจคร้าน คนเกียจคร้าน คนผู้จมอยู่โดยอาการอันบัณฑิตพึงเกลียด ใช้ใน ความหมายที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของบุคคลผู้กระทำมีพุทธพจน์ที่ตรัสถึงศัพท์นี้ไว้ในเรื่องสัปปทาสเถรวัตถุว่า “ผู้มีความเพียรมั่นคง แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าผู้เกียจคร้าน ไม่มีความเพียร ที่มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี”
อลสะ แปลว่า คนเกียจคร้าน ใช้ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของบุคคลผู้กระทำ มี พุทธพจน์ตรัสตอบปัญหาของเทวดาเรื่องทางแห่งความเสื่อมไว้ในปราภวสูตรว่า “นิทฺทาสีลี สภาสีลี อนุฏฺฐาตา จ โย นโร อลโส โกธปญฺญาโณ ตํ ปราภวโต มุขํ. คนผู้ชอบหลับอยู่เสมอ ชอบคุยสมาคม ไม่ขยันหมั่นเพียร เกียจคร้าน โกรธง่าย นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม”
โกสัชชะ แปลว่า ความเป็นแห่งบุคคลผู้เกียจคร้านการเพิ่มพูนความปล่อยจิตไปในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ 5 การไม่ทำโดยติดต่อ การทำโดยไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่ทำให้เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจมั่น ความไม่หมั่นประกอบ ความประมาทในการเจริญสภาวธรรมที่เป็นกุศล
อย่างที่เราเห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นคนจริงของจริง กว่าที่ท่านจะเป็นพระอริยเจ้าได้ มันไม่ใช่ของง่าย ในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกคนก็แทบล้มแทบตาย เรียกว่าร่อแร่คางเหลืองไปตามๆ กัน ถึงได้ผ่านมาได้อย่างนี้ เราจะไปชื่นชมในความเป็นพระอริยเจ้าของท่าน ชื่นชมในความเป็นเศรษฐีธรรมของท่าน อย่างนี้มันก็ไปไม่ได้ เพราะอันนั้นมันเป็นของท่าน ของเรามันต้องประพฤติต้องปฏิบัติ เพื่อเราจะได้คบบัณฑิตในปัจจุบัน ในชีวิตประจำวัน
ทุกคนต้องจัดการกับตัวเอง เรื่องความขี้เกียจขี้คร้าน เรื่องผัดวันประกันพรุ่ง ต้องรู้จักหน้าตาของการเวียนว่ายตายเกิด ทุกคนอย่าไปสนใจมันเลย เรื่องความขี้เกียจขี้คร้าน หรืออย่าไปสนใจอารมณ์อยากทำหรือไม่อยากทำ ดีใจเสียใจ อย่าไปสนใจมันเลย เพราะอันนั้นมันเป็นอารมณ์ ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ อย่าให้ความขี้เกียจขี้คร้านมันลอยนวลอยู่กับเราทุกๆ คน
ทุกคนต้องตั้งใจต้องสมาทานเป็นคนที่ไม่ขี้เกียจไม่ขี้คร้าน ชีวิตของเรานี่มันต้องขยัน คนขี้เกียจขี้คร้านนี้ปัญญาไม่ก้าวหน้า เพราะคนเรานี่ถ้าเราสมาธิอะไร มันก็จะได้ความสงบ เมื่อสงบแล้วมันก็ไม่คิดอะไร ก็เลยมันจะทื่อๆน่ะ มันก็ยังติดอยู่ในอวิชชาความหลง ติดอยู่ในสมาธิ เพราะเราต้องเสียสละความคิดอย่างนั้นอารมณ์อย่างนั้น ถ้ามันคิดอย่างนั้นใจของเรามันก็ติดแล้ว มันอยู่สภาวะสมาธิแล้ว วิปัสสนาไม่เกิดแล้ว วันหนึ่งคืนหนึ่งเราต้องเสียสละ เพื่อให้เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม หมดภาระงานที่ช่วยเหลือตัวเองแล้วก็ต้องช่วยเหลือบุคคลอื่น เราจะขี้เกียจขี้คร้านได้อย่างไร เราจะถือว่าเราตามหลักการ ประโยชน์ของตน ประโยชน์ของท่านได้อย่างไร เพราะเราจะติดสุขติดสบาย ความคิดอย่างนั้นคือความคิดเป็นแค่สมาธิ ท่านยังไม่ใช่บรรลุธรรมจริง มันต้องเสียสละ และก็รับผิดชอบ
ทำไมพระพุทธเจ้า ได้บรรลุธรรมแล้วทำไมไม่เสวยวิมุตติสุขอยู่กับนิโรธสมาบัติอย่างเดียว มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หัวสมองมันจะระเบิด จะให้พระพุทธเจ้าทำอย่างนั้น เพราะว่าไม่ได้เสียสละ ไม่ได้ทำหน้าที่ของผู้ที่เป็นสัพพัญญู เพราะเราดูแล้ว พระที่ไปไม่ได้ หรือว่าโยมที่มาอยู่วัดไปไม่ได้ เพราะว่าความขี้เกียจนี้แหละ ถ้าความขี้เกียจมันมีอย่างนี้ปัญญามันไม่เกิด อย่างมากก็ไปได้ไม่เกินสมาธิหรอก ยากที่จะจิตใจถึงจะทะลุถึงพระอริยเจ้าได้
มนุษย์เราจะประเสริฐได้ก็ด้วยการฝึกตน มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมก็คือ มีความสุขในการทำงาน การทำงานกับการปฏิบัติธรรมก็คืออันหนึ่งอันเดียวกัน
ชีวิตของพวกเรา จะต้องดำเนินตามอย่างพระพุทธเจ้า ชีวิตเราจึงจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ที่ประเสริฐสุด เกิดมาเพื่อสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นแก่โลกอย่างแท้จริง มีพระบาลีที่มาใน วัจฉนขชาดก ว่า
ฆรา นานีหมานสฺส ฆรา นาภณโต มุสา ฆรา นาทินฺนทณฺฑสฺส ปเรสํ อนิกุพฺพโต เอวํ ฉิทฺทํ ทุรภิสมฺภวํ โก ฆรํ ปฏิปชฺชติ
บุคคลที่เป็นผู้ครองเรือน ถ้าหากไม่มีมานะพยายามทำการงานก็ดี ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี ไม่ใช้อำนาจลงโทษผู้อื่นก็ดี การครองเรือนก็เป็นไปโดยยาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะครองเรือนโดยไม่ให้บกพร่อง ให้เกิดความยินดีนั้นยากแสนยาก
ธรรมดาว่าชีวิตของผู้ครองเรือนนั้น ถ้าขาดความพากเพียรพยายามในการทำธุรกิจการงานต่างๆแล้ว การครองเรือนก็เป็นไปได้โดยยาก ชีวิตการครองเรือนเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง บางครั้งก็ต้องพูดโกหกมดเท็จเพื่อประโยชน์บางอย่าง ถ้าจะไม่ให้กล่าวเท็จเลย ก็จะเสียรู้คนอื่นเขา บางทีก็ต้องมีการแก่งแย่งชิงดีเบียดเบียน รังแกซึ่งกันและกัน บางครั้งถึงกับต้องทำร้ายกันก็มี บางครั้งที่เราไม่ไปเบียดเบียนเขา แต่เขาก็มากลั่นแกล้งเบียดเบียนเรา การที่จะไม่ให้เบียดเบียนกระทบกระทั่งกันนั้น เป็นเรื่องยากสำหรับชีวิตการครองเรือน
การประกอบธุรกิจการงาน บางทีเราไม่ได้ไปต่อสู้กับคนอื่น แต่ก็ต้องรบกับคนร่วมงานเราบ้าง ลูกน้องเราบ้าง เมื่อทำไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็ต้องตักเตือนลงโทษกันไป แม้เราจะทำไปด้วยความปรารถนาดีและเพื่อไม่ให้งานเสีย ถึงอย่างนั้นก็อาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมาได้ พอไม่พอใจก็เกิดการน้อยอกน้อยใจ บางครั้งก็ถึงกับผูกพยาบาทจองเวรกันก็มี เพราะฉะนั้นการครองงานครองเรือนไม่ใช่ของง่าย พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ชีวิตการครองเรือนที่จะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นยาก และเป็นทางมาแห่งธุลีกิเลส ทำให้เป็นทุกข์ ยากที่จะหาความยินดีได้
เพราะเห็นว่า การครองเรือนมีความทุกข์ยากและลำบาก เต็มไปด้วยเครื่องพันธนาการอย่างนี้ บัณฑิตผู้รู้ทั้งหลายจึงหาทางที่จะพ้นจากเครื่องพันธนาการเหล่านั้น เมื่อพิจารณาแล้วก็พบว่า บรรพชาหรือการบวชเป็นทางมาแห่งความบริสุทธิ์ เป็นการหาโอกาสว่างที่จะขจัดกิเลสอาสวะให้หลุดล่อนออกไปจากใจ เมื่อบวชแล้วก็จะได้ทำงานที่แท้จริง ทำงานที่เป็นกรณียกิจ กิจที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อแสวงหาหนทางของพระนิพพาน
แต่ในการบวชนั้น บางครั้งก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจของคน ผู้ครองเรือน ผู้ยังมีดวงปัญญาไม่บริสุทธิ์ ยังคิดว่าชีวิตการครองเรือนนั้นมีความสุขมากกว่า เพราะหลงคิดว่า การได้เพลิดเพลินจากกามคุณทั้ง ๕ เป็นสุขกว่า แต่ยังไม่รู้เลยว่า สุขที่เกิดจากความสงบเป็นสุขยิ่งกว่านั้นหลายร้อยหลายพันเท่า ซึ่งถ้าหยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ ความสุขจะยิ่งพรั่งพรูออกมามากมายไม่มีประมาณ เป็นสุขยิ่งใหญ่ ที่เทียบกันไม่ได้เลยกับสุขเล็กน้อยที่เกิดจากกามคุณ ๕
การออกบวช เป็นหนทางที่จะนำเราไปสู่ความหลุดพ้น ทำให้เรามีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทางลัดที่จะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต การบวชอย่างมีเป้าหมาย เพื่อสลัดออกจากกองทุกข์และกระทำพระนิพพานให้แจ้ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในโลก เพราะผู้บวชจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนบริบูรณ์ คือ ได้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ในดินแดนที่พระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง ได้เกิดเป็นมนุษย์ มีร่างกายสมประกอบ ไม่พิกลพิการ ได้เกิดในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฐิ และตนเองต้องเป็นสัมมาทิฐิบุคคลด้วย
สิ่งใดที่เราได้มาโดยยาก ควรจะรักษาหวงแหนไว้ และใช้ให้คุ้มค่าที่สุด การสละเวลาทำมาหากิน สละความสุขทางโลก เพื่อมาแสวงหาความสุขอันเกิดจากเนกขัมมะ ด้วยการเข้ามาบวช เพื่อประพฤติธรรม ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ชำระกาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็นการให้โอกาสอันทรงคุณค่าแก่ตัวของเราเอง
มีโยมถามหลวงพ่อชา สุภัทโท ว่า : ท่านเป็นพระอรหันต์หรือเปล่าคะ?
หลวงพ่อชา : ต้นไม้ผลิดอกออกผล มีนกมาเกาะกิ่งไม้แล้วจิกกินผลไม้นั้น จะหวานหรือเปรี้ยวเป็นเรื่องของของนกที่จะรู้ได้ แต่ต้นไม้ไม่รู้อะไรเลย
อย่าเป็นพระพุทธเจ้าเลย อย่าเป็นอรหันต์ อย่าเป็นพระโพธิสัตว์ อย่าเป็นอะไรเลย การเป็นอะไรก็มีแต่ความทุกข์เท่านั้นแหละ เราไม่มีความจำเป็นต้องเป็นอะไรสักอย่าง
ขอให้ทุกคนมีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีอะไรเป็นตัวตนอย่างแท้จริง ไม่น่าหลงด้วยกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้น ควรยับยั้งด้วยปัญญาเรียกว่าเป็นผู้รู้ด้วยปัญญามีความเห็นถูกต้อง ตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา จึงสมควรจะเรียกว่า เป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริง
แม้จะไม่เคยบวชไม่เคยรับศีล แต่ก็เป็นบุคคลที่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง เขามีจิตใจอย่างเดียวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือมีความสะอาด สว่าง สงบในใจ เพราะเหตุที่ไม่ยึดถือในสิ่งใด ว่าน่าเอา หรือน่าเป็นนั่นเอง เขาจึงเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์ อย่างง่ายดายและอย่างแท้จริง ด้วยอาศัยอุบายถูกต้อง ที่พิจารณามองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่ใช่ตัวตน ของตัวของตน จนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ น่าเอา น่าเป็นสักอย่างเดียว การรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดนั้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของตน เมื่อรู้โดยแท้จริงแล้ว ก็จะเกิดความรู้ชนิดที่จิตใจจะไม่อยากเป็นอะไรด้วยความยึดถือ แต่ถ้าต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ ที่เรียกว่า “ความมีความเป็น” บ้างก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจของปัญญา ไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจของตัณหา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความทุกข์เลย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee