แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๖๑ ผู้ฉลาดรู้จักทางแห่งความเสื่อม ๑๒ ประการ แล้วไม่ประพฤติหรือดำเนินชีวิตบนหนทางอย่างนั้น
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การปฏิบัติของเราทุกคน ต้องพัฒนาเรื่องปัญญาสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เพราะเรื่องความฉลาดนี้ ทุกคนต้องฉลาด ว่าสิ่งไหนมันถูกต้องไม่ถูกต้องสิ่งไหนเป็นธรรมไม่เป็นธรรม เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติในปัจจุบัน พัฒนาทั้งกาย พัฒนาทั้งวาจา พัฒนาทั้งกิริยามารยาท พัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กันในปัจจุบัน เรียกว่าเดินตามทางสายกลาง เพราะสมณที่หนึ่งที่สองที่สามที่สี่ไม่ได้มีอยู่ในที่อื่น แต่อยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เราต้องพากันเข้าใจ เพราะเราจะปล่อยให้ใจของเราคิดไปทั่วไม่ได้ สิ่งที่จะนำเราออกจากวัฏสงสารได้ ก็คือพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ต้องมีการฝึก มีการสมาทาน ต้องมีการตั้งใจ มีการปฏิบัติ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติให้เป็นของใหม่ ของสด ของสดชื่นเบิกบานในปัจจุบันอย่างนี้
ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องมันถึงจะแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงบอกชัดเจนอยู่แล้ว สมณะที่ ๑-๔ อยู่ในพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่นี้ ที่เป็นยานนำเราออกจากวัฏสงสาร เวลาจะเดินทางไกลก็ต้องอาศัยยาน ยานพาหนะที่ดี มีรถที่ดี มีเครื่องบินที่ดี เราจะออกจากวัฏสงสารเราก็ต้องอาศัยยานคือศีลสมาธิปัญญา
ผู้ที่มาบวชมาปฏิบัติถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี เรามีโอกาสมีเวลาเพื่อเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกคนต้องเก่งต้องฉลาดแล้วก็เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่ว่าสุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน พัฒนาทั้งกายทั้งใจไปพร้อมๆ กัน อีกไม่กี่วันก็จะเป็นวันวิสาขบูชา เราจึงต้องพากันมาเข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เพราะเราเกิดมาเพื่อพระนิพพาน เพื่อมารู้มาเข้าใจแล้วมาปฏิบัติ
ไม่ว่าจะเป็นใครมาบวช ก็ต้องพากันตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง สึกไปแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะเอาข้อวัตรข้อปฏิบัติทิ้งนะ แล้วก็มาถามหลวงพ่อ ทำยังไงมันถึงจะไม่เสื่อม เราก็ต้องเอาธรรมะเอาพระวินัยไปใช้ไปปฏิบัติในปัจจุบัน มันก็ไม่เสื่อม จึงต้องไม่ประมาท ต้องเอาปัจจุบันให้ดี เราจะไปเอาปุถุชนคนหลายพันล้านคน เป็นหลัก เป็นที่ตั้งไม่ได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เอาธรรมะธัมโมอะไร เขาพากันหลงขยะแย่งขยะกัน
ในสมัยหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่นั้น ได้มีเทวดาตนหนึ่งยังพระเชตวันให้สว่างไสว เข้ามากราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ที่ถึงความเสื่อม และผู้ที่เจริญนั้นเป็นเพราะสาเหตุอะไร” พระบรมศาสดาจึงแสดงทางแห่งความเสื่อมไว้ถึง ๑๒ ประการ ซึ่งเป็นธรรมะที่น่าสนใจ เมื่อเรารู้แล้ว จะได้ระมัดระวัง และดำรงตนอยู่ในทางแห่งความเป็นผู้เจริญเพียงอย่างเดียว
พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า “สุวิชาโน ภวํ โหติ ทุวิชาโน ปราภโว ธมฺมกาโม ภวํ โหติ ธมฺมเทสฺสี ปราภโว อิติ เหตํ วิชานาม ปฐโม โส ปราภโว” ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ผู้รู้ชั่วเป็นผู้ถึงความเสื่อม ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้เกลียดชังธรรมเป็นผู้เสื่อม ท่านหมายถึงว่า รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความดีงาม และยังเป็นผู้รักการประพฤติในสิ่งที่ดีงามนั้นด้วย รู้ธรรม คือ รู้ตั้งแต่ข้อวัตรปฏิบัติ อันเป็นความดีงาม จนกระทั่งใจบริสุทธิ์ รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม มีดวงตาเห็นธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมนั้นตลอดเวลา ทำให้เป็นผู้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ผู้เกลียดชังธรรมมักจะประสบเหตุตรงกันข้าม คือ พบแต่ความเสื่อมเสียเสมอๆ เพราะไม่ประพฤติธรรมของพระอริยเจ้านั่นเอง นี่เป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑
ส่วนทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๒ นั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า คนที่รักอสัตบุรุษ ไม่รักสัตบุรุษ และชอบใจธรรมคำสอน ของอสัตบุรุษนั้น เป็นความเสื่อม ความหมายตรงนี้ หมายถึงการคบหาสมาคมกับอสัตบุรุษ พูดง่ายๆ อสัตบุรุษ ก็คือ คนพาล ใครคบคนพาล เชื่อคำสอน และทำตามคำสอนของคนพาล ก็มีแต่ความเสื่อมถ่ายเดียว
ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๓ คือ คนที่ชอบนอน ชอบคุย ไม่ขยัน เป็นคนเกียจคร้าน โกรธง่าย คนชอบนอนนั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่า เป็นอยู่ก็สักแต่ว่ามีชีวิต เป็นอยู่สักแต่ว่ามีลมหายใจเข้าออก ไม่ได้สงวนเวลาไว้เพื่อฝึกฝนตนเอง ไม่ได้สร้างบุญบารมี มักขุ่นมัวอยู่เสมอ เมื่อใจไม่มีคุณภาพ ก็ผลักดันสิ่งดีออกไป
ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๔ คือ เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่สนใจเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่า มีความรู้แต่ไม่มีคุณธรรม ไม่ระลึกถึงแม้ผู้มีพระคุณ ไม่มีความกตัญญูกตเวที ผู้ที่ไม่มีความกตัญญูกตเวที ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมหรือให้การสนับสนุน เพราะเหตุว่า พึงให้แผ่นดินหมดทั้งโลก ก็ไม่ทำให้คนอกตัญญูพอใจได้เลย คนอกตัญญู คือ ผู้มีใจคับแคบ ลืมบุญคุณคน แม้มีผู้ทำคุณประโยชน์มากมายเพียงใดให้ เหมือน ทิ้งก้อนกรวดลงทะเล ไม่มีผลอะไรเลย เมื่อเทียบกับความสูงแห่งคลื่น ใครที่ไม่สนใจบำรุงมารดาบิดาผู้มีพระคุณ ก็จัดเป็นทางแห่งความเสื่อม
ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๕ คือ คนที่ชอบหลอกลวงหรือโกหกสมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล หรือโกหกหลอกลวงคนอื่น มีวาจาเป็นสอง เป็นผู้ต่อหน้าพูดอย่าง ลับหลังทำอีกอย่าง จิตใจไม่มั่นคง ทำให้เป็นผู้มีวาจาเชื่อถือไม่ได้ หากประพฤติตัวเช่นนี้กับผู้ทรงศีลผู้เป็นเนื้อนาบุญ ก็ยิ่งเป็นการสั่งสมบาปอกุศลให้กับตนเองเพิ่มขึ้น
ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๖ นั้นคือ เป็นคนมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่เป็นคนตระหนี่ มีของกินก็กินคนเดียว มีของใช้ก็ใช้คนเดียว ไม่รู้จักการเสียสละ ดวงตระหนี่ครอบงำจิตใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่รู้จักการให้แบ่งปัน ก็ย่อมจะไม่เป็นที่รักของใครๆ ไม่มีรั้วรอบๆ กายเลย เป็นเหมือนต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ยามเมื่อมีลมพัดกระหน่ำ ย่อมจะประสบกับความหายนะได้ง่าย เพราะรอบข้างไม่มีต้นไม้บริวารที่จะช่วยกันต้านแรงลม อยู่อย่างโดดเดี่ยว ย่อมจะอยู่ได้ไม่นาน นี่เป็นความเสื่อมเหมือนกัน
ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๗ คือ เป็นคนที่เย่อหยิ่ง เพราะชาติตระกูล และทรัพย์สมบัติ ทั้งดูหมิ่นญาติของตนเอง ผู้ที่ประพฤติตนเช่นนี้ แสดงว่า เป็นคนที่หลงตนเอง จนทำให้เป็นผู้ที่ขาดความเคารพ ไม่รู้จักควรไม่ควร จะทำให้ชีวิตผิดพลาดตกลงไปในหนทางแห่งความเสื่อมได้ง่าย
ประการที่ ๘ ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้คือ คนเป็นนักเที่ยวผู้หญิง นักดื่มสุรา นักเล่นการพนัน ผลาญทรัพย์สมบัติให้หมดสิ้นไปถ่ายเดียว การทำเช่นนี้ทำให้เป็นผู้ที่ไม่รู้จักการใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองทั้งในภพนี้ และภพหน้า การใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์นั้น เมื่อใช้ไปแล้ว จะต้องเกิดเป็นบุญกุศลเป็นการเปลี่ยนโลกียทรัพย์ให้เป็นอริยทรัพย์ ทำได้อย่างนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้ใช้ทรัพย์เป็น ส่วนใครที่นำทรัพย์ตนเองไปทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดบาปอกุศล การทำเช่นนั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ สุขใดๆ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เป็นทางแห่งความเสื่อม
ทางแห่งความเสื่อมประการที่ ๙ คือ คนไม่พอใจเฉพาะภรรยาของตนเอง ชอบคบชู้ภรรยาของคนอื่น หรือฝ่ายหญิง ก็ไม่เคารพสามีเสมือนเทวดา เป็นคนไม่รู้จักพอ ก่อให้เกิดภัย ทั้งทางร่างกาย และสังคมรอบด้าน ก่อให้เกิดความหวาดระแวง ระหองระแหง ระหว่างครอบครัวและสังคม นี่เป็นทางแห่งความเสื่อมของชีวิตอีกทางหนึ่ง
ประการที่ ๑๐ คือ การที่ชายแก่ได้หญิงสาวเป็นภรรยา ต้องเสียเวลาติดตามดูความประพฤติของนาง ห่วงภรรยาจนนอนไม่หลับ เมื่อเป็นอย่างนี้ทำให้สุขภาพทรุดโทรมเพราะกังวลมากเกินไป ก็เป็นทางแห่งความเสื่อม
ประการที่ ๑๑ คือการแต่งตั้งชายหรือหญิงผู้เป็นนักเลงโต ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เมื่อได้ตำแหน่งที่สำคัญๆ ในการบริหาร ก็เอาอำนาจมาข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชา นี่เป็นประการที่สำคัญ เมื่อคนดีมีอำนาจ คนพาลจะถูกข่ม เมื่อคนพาลมีอำนาจ คนดีก็จะถูกข่ม ไม่กล้าสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้สังคม อำนาจถ้าอยู่ในมือของคนพาล ก็จะนำความเดือดร้อนมาสู่สังคม และประเทศชาติได้ ดังนั้นขอให้ตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ให้ดี
ทางแห่งความเสื่อมประการสุดท้าย ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ คือ ผู้เกิดในสกุลกษัตริย์มีโภคสมบัติน้อย แต่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ปรารถนาจะเป็นพระราชา ก็เป็นทางแห่งความเสื่อมได้เช่นกัน เพราะความเป็นพระราชานั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาง่ายๆ แต่เกิดขึ้นมาด้วยอานุภาพของบุญที่สั่งสมไว้ดีแล้วเท่านั้น
ทางแห่งความเสื่อมทั้ง ๑๒ อย่าง ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนนี้ ผู้เจริญย่อมไม่ประพฤติ หรือดำเนินชีวิตบนหนทางอย่างนั้น แต่จะทำแต่สิ่งที่เป็นบุญบารมี เป็นคุณงามความดี อันจะเป็นประโยชน์สุขต่อตนเองทั้งในภพนี้ และภพหน้า
ความเพลิดเพลิน ความประมาท และก็ขอโอกาสตัวเอง ทำให้เวลากลืนกินเรา ทีนี้เราต้องรู้จักใจของตัวเอง รู้จักวาระจิตของตัวเอง คนเราจะคิดอย่างนั้นก็มันก็เป็นบาป สำเร็จรูปอยู่ในตัวแล้ว อย่างเรายินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส มันก็เป็นบาปสำเร็จรูปโดยอัตโนมัติ ทีนี้แหละ เราต้องรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ถึงแม้ว่าความคิดนั้นจะให้มนุษย์รู้ว่าอันนี้อร่อยหรือไม่อร่อย อันนี้สุข หรืออันนี้ทุกข์ เราก็ต้องรู้จัก ถ้าไม่อย่างนั้นสติสัมปชัญญะของเรามันห่างเกิน เพราะความรู้สึก กับความอร่อยมันเป็นอันเดียวกัน ความชอบ ไม่ชอบอันเดียวกัน ชื่อว่าความปรุงแต่งมันเป็นทุกข์อยู่ละ เราก็ถือเอาการเสียสละ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เน้นอยู่ที่ปัจจุบัน ความขี้เกียจขี้คร้านนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ความขยันการเสียสละนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะคนที่ขี้เกียจขี้คร้าน ก็ว่าจะได้เป็นมีศีล และอาจจะเป็นคนมีสมาธิ แต่ว่าระดับปัญญานั้น ก็คือว่ามันเป็นสิ่งที่กั้นกลาง ทำให้ปัญญาเราไม่เกิด
เวลามันเป็นของมีคุณค่า เป็นของที่มีราคา เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เราจะมาติดสุขติดสบาย ไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักพิจารณาไปไม่ได้นะ คนเราอย่างมากอายุก็ไม่เกินร้อยปี ร้อยปีมันก็มีหนึ่งพันสองร้อยเดือน ร้อยปีมันก็มีสามหมื่นหกพันห้าร้อยวัน มันมีแปดแสนเจ็ดหมื่นหกพันชั่วโมง มีห้าสิบสองล้านห้าแสนหกหมื่นนาที ร้อยปีมันก็มีสามพันหนึ่งร้อยห้าสิบสามล้านหกแสนวินาที
กาลเวลามันก็หมุนไปตามหน้าที่ของเขา แต่เราก็มัวแต่ไปติดสุขติดสบายติดขี้เกียจ ไม่รู้จักคิดไม่รู้จักพิจารณาว่าชีวิตของเรามันเหลือน้อยเข้ามาทุกที วันก็หมดไป เดือนก็หมดไป ปีก็หมดไปแล้วหมดไปเล่า เราก็มัวแต่ไปภูมิใจว่าเราเป็นคุณพ่อคุณแม่ เป็นคุณปู่คุณย่าน่ะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกเรานะว่า “เรามันใกล้จะตายแล้วนะ” เรามาภูมิใจว่าอายุเรายืนไม่ได้ อายุเรามันเหลือน้อยเข้ามาแล้ว ต้องหันหน้าเข้าหาศีลหาธรรม เข้าหาคุณพระรัตนตรัย
เรามันพึ่งอะไรไม่ได้แล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเหลือเราได้แล้ว นอกจากศีลจากธรรมที่จะนำเราสู่มรรคผลนิพพาน สวรรค์ก็ช่วยเราไม่ได้ สวรรค์ก็มีความเจ็บความตายความพลัดพราก มีแต่พระนิพพานเท่านั้นที่จะช่วยเหลือเราได้ “เราจะเข้าถึงพระนิพพานก็ต้องปรับปรุงแก้ไขพัฒนาตัวเอง”
เราน่ะอยากจะรวยแต่เราเป็นคนขี้เกียจ อยากบรรลุธรรมแต่เราเป็นคนขี้เกียจ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องมรรค คือเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ ผลมาจากข้อวัตรปฏิบัติที่เราปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ผลนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้นะ แต่เรามันพากันข้ามขั้นตอนไป อยากเอาแต่ผลไม่ต้องการทำข้อวัตรปฏิบัติ มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะสิ่งมันเป็นไปไม่ได้ เรื่องมรรคผลนิพพานมันเป็นเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ มันก็ไม่ใช่เรื่องยาก มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันเป็นเรื่องที่เราต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อให้มันเกิดมรรคผลนิพพาน
การรักษาศีลก็ให้เป็นผู้เสียสละ ละความเห็นแก่ตัว ละความมักง่ายของตัวเอง รู้จักเสียสละไม่ตามใจตัวเอง ถ้าเราปฏิบัติเพื่อเสียสละ เพื่อปล่อยวาง เพื่อไม่มีตัวมีตน ชื่อว่าเราปฏิบัติถูกต้อง ถ้าเรามีความสงสัย พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาธรรมตัดสิน ๘ ประการ มาตัดสินการประพฤติปฏิบัติของตัวเอง เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความขี้เกียจขี้คร้าน ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
ถ้าเราติดสุขติดสบาย เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านนั้นก็ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คำเกียจคร้านมันเป็นปัญหาใหญ่ มันทำให้ทุกคนติดทุกคนหลง ทำให้ทุกคนไม่เข้าถึงคุณธรรม เรามีความยากจน ไม่มีคุณธรรมก็เนื่องมาจากเราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ติดสุขติดสบาย ความสุขความสบายนี้แหละ มันเป็นสิ่งที่ร้อยรัด เป็นเครื่องพันธนาการผูกเข้าไว้ นี้ถือว่าด่านใหญ่ของชีวิต ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่านักเรียนนักศึกษา ไม่ว่าพระ ไม่ว่าชี ไม่ว่าโยม ถูกความขี้เกียจขี้คร้านมันเล่นงานทุกคน
ความขี้เกียจขี้คร้านจัดว่าเป็นสิ่งเสพติด เป็น "กามสุขัลลิกานุโยค" ถ้าเราติดมันแล้วเขาเรียกว่ามันมีโทษ ปกติคนเรามันจะมีอาชีพ มีการดำรงชีวิตด้วยความสุข แต่ถ้าเราไปติด เขาไม่เรียกว่ากามคุณแล้ว เขาเรียกว่า "กามโทษ"
พระพุทธเจ้าท่านให้เรารับประทานอาหาร ให้ร่างกายพักผ่อน ให้กายให้ใจสบาย เพื่อมีกำลังที่จะสร้างบารมีสร้างความดี แต่ท่านไม่ให้เราติด ถ้าเราติดแสดงว่าเราปฏิบัติผิด เพราะว่าคนติด ก็ยกตัวอย่างเช่น เราทำงาน เราได้เงินเดือน เรานอนกินเงินเดือนให้หมดเสียก่อน เราถึงไปทำงาน เงินเดือนของเรามันก็ย่อมหมด นั่นแสดงว่าเรากินของเก่า กินบุญเก่า ถ้าเราไปติดสุขติดสบายมันก็เป็นอย่างนี้ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติผิด ไม่เป็นผู้เดินทางสายกลาง
ความดีเป็นสิ่งที่จะต้องทำ "ทำสม่ำเสมอ" มันจะหยุดไม่ได้ถ้าเราหยุดก็แปลว่าเราตาย "เราตายจากคุณงามความดี" ที่สังคมมีปัญหา โลกมีปัญหา ปัญหาใหญ่มันมาจากความขี้เกียจขี้คร้าน ตัวเองก็ไม่เจริญ ครอบครัว สังคม ประเทศชาติก็ไม่เจริญ เพราะตัวเองติดสุข ติดความขี้เกียจขี้คร้านแท้ๆ
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอาความสุขทางร่างกาย ต้องเอาความสุขในการเสียสละ ในการละความเห็นแก่ตัว คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจแต่เรื่องวัตถุ แต่เรื่องจิตเรื่องใจยังไม่ค่อยเข้าใจกัน คิดว่าความสุขมันได้มาจากวัตถุ ได้มาจากการกิน การนอน การเล่น
ความสุขได้มาจากเสียสละ ได้มาจากการละความเห็นแก่ตัว ถ้าเราไม่มีตัวตนมาก เราเป็นผู้ให้ เราก็มีความสุขความดับทุกข์ อย่างเราทำงานมันไม่มีความทุกข์นะ ถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัว ใจอยู่กับการทำงาน เรามีความเสียสละ ใจมันวางของหนัก วางความขี้เกียจขี้คร้าน วางตัววางตน เพราะตัวตนทำให้เราทุกข์ เราเครียด เรามีปัญหา
ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่อยู่ด้วยตัวด้วยตน อยู่ด้วยความเครียด ไม่ได้อยู่ในทางสายกลาง เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ ทำไมดีใจเสียใจ ก็เพราะมีตัวมีตน เมื่อมีตัวมีตน โลกธรรมก็ครอบงำใจ
ถ้าเราคิดว่าเป็นผู้ชายเราก็เป็นทุกข์ ถ้าเราคิดว่าเป็นผู้หญิงมันก็เป็นทุกข์ ถ้าเราเป็นโน่นเป็นนี่ เราก็เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป ถ้าเราไม่รู้จัก เราจะแบกทุกข์นะ
ถ้าเรามาเดินตามทางสายกลาง เราไม่ได้เอาตัวเอง เอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง เอาศีลเอาธรรมเป็นที่ตั้ง ทุกข์จะมาจากไหน เพราะเราไม่มีตัวไม่มีตน พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกท่านทุกคนกลับมาหาศีลหาธรรมอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราจะได้ถูกต้อง
เรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้มันเป็นเรื่องของเรานะ มันไม่ใช่เรื่องของคนอื่น คนเราเกิดมาก็เกิดมาคนเดียว เวลาแก่ก็แก่เฉพาะเราคนเดียว เวลาตายก็ตายไปเฉพาะเราคนเดียว คนอื่นเขาก็เป็นคนอื่น โดยเหตุนี้ปัจจัยนี้พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราพากันกระตือรือร้นในการประพฤติปฏิบัติ ทำไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ให้เบื่อ ไม่ให้ท้อแท้ ไม่ให้หยุด ทำไปเรื่อยๆ เหมือนกับวินาทีมันเดินไป นาทีมันเดินไป ชั่วโมงมันเดินไปนะ เราทำไม่หยุด ปฏิบัติไม่หยุด มันเจริญไปเอง ก้าวหน้าไปเอง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee