แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๖๐ ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการตามรักษาจิตของเรา คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ คือผู้ที่ประเสริฐ ชีวิตของเราเกิดมาไม่เกิน 120 ปี ทุกๆคนก็ต้องจากโลกนี้ไป เราโชคดี เรามีพระพุทธเจ้าที่ได้บำเพ็ญพุทธบารมีจนได้ตรัสรู้ อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็คือวันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เราทุกคนต้องมาเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ด้วยภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ที่เป็นกิจกรรม ศีล สมาธิ และปัญญา ชีวิตของเรา ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนนอนหลับ คือการปฎิบัติธรรม พร้อมกับปฎิบัติงาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้แต่การนอนก็คือการปฏิบัติธรรม เพราะว่ามนุษย์เรานี้ต้องนอน 6 ชั่วโมง อย่างมากก็ 8 ชั่วโมง พระพุทธเจ้าทรงบรรทมวันละ 4 ชั่วโมง พระอรหันต์จะไม่นอนเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน
เราทุกคนที่เกิดมา เกิดมาจากพลังงานของอวิชชา พลังงานแห่งความหลง ที่มันรวมกัน เป็นตัวเป็นตน จากธาตุทั้ง 4 ขันธ์ทั้ง 5 อายตนะทั้ง 6 เราถึงต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เราตามใจตัวเอง เราตามอารมณ์ตัวเอง มันก็เป็นได้แต่เพียงคน คือการเวียนว่ายตายเกิด เป็นอวิชชา เป็นความหลง
มนุษย์เรามีความสุขได้ ดับทุกข์ได้ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง การปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน สิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไป เป็นเวลา เป็นวัน เป็นคืน เป็นเดือน เป็นปี เป็นการโคจรของโลก ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราก็จะเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เพราะว่ามันเป็นการปฏิบัติจิตปฏิบัติใจของเราให้เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา
ประชาชนที่ยังไม่ได้บวช อยู่ที่บ้าน ก็รักษาศีล ๕ เพราะความเป็นมนุษย์อยู่ที่การรักษาศีล ๕ ศีลคือธรรมะ ธรรมะก็คือศีล ศาสนาก็คือธรรมะก็คือศีล การจะรู้ได้อย่างนี้ก็ต้องอาศัยพ่อแม่ที่มีสัมมาทิฏฐิ อาศัยพระอรหันต์ ที่ได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เพราะศาสนามีหลายศาสนา แต่หลายๆ ศาสนาส่วนใหญ่ก็ไม่ถึงนิพพาน
สิ่งที่ดีที่สุดคือผู้ที่พากันมาบวช เป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะการเป็นพระพระคือพระธรรมคือพระวินัย ไม่ทำตามใจ ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเอง เป็นพรหมจรรย์ ผู้ที่มาบวชคือผู้ที่โชคดี ต้องบวชทั้งกายและใจ เพราะการบวชก็เหมือนการเล่นหนัง เล่นละคร ปลงผมสั้น ตัดผมสั้น นุ่งห่มผ้าจีวร ถ้าใจเราไม่ได้บวช มันก็เท่ากับเราไม่ได้บวช อยู่ในประเทศในสังคม ถึงมีเรื่องมีปัญหาเยอะ เพราะเขาบวชแต่กาย ไม่ได้บวชใจ ทำให้เสียหายทรัพยากรของชาติ ของโลก การบวชคือการหยุดวัฏสงสาร อบรมบ่มอินทรีย์ของตัวเอง เหมือนปลูกต้นไม้ ก็ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ให้แสงแดด ให้อากาศ ก็ค่อยๆ โตไป การบวชก็อย่างเดียวกันนี่แหละ ที่ประเทศไทยเรียกว่าวัด ครั้งสมัยพุทธกาลเรียกว่าอาราม ผู้ที่มาบวชต้องพากันบวชทั้งกายบวชทั้งใจ ทุกคนต้องให้ได้มาตรฐานเหมือนกันหมด เรียกว่ามีศีลเสมอกัน จะละตัวละตนหมด ไม่ว่าจะวัดบ้าน วัดป่า จะเป็นเถรวาท มหายาน ก็ต้องตามพระธรรมวินัย จะได้เข้าเข้าถึงความเป็นพระ ถ้าอย่างนั้นเป็นพระไม่ได้ เป็นแต่เพียงแบรนด์เนม
เราต้องเข้าสู่ระบบการประพฤติการปฏิบัติ การมาบวชนี้มันไม่เครียด เพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ได้ไปแก้ไขไม่ให้มันเจ็บ ไม่ให้มันแก่ ไม่ให้มันตาย แต่มันเป็นสิ่งที่แก้ใจของเรา ให้รู้แจ้งรู้สภาวะธรรม ชีวิตของเราก็จะสงบเย็น ศาสนาพุทธจึงเป็นเรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องสติ ปัญญาเป็น เรื่องยานที่จะออกจากวัฏสงสาร ไม่ใช่กฎหมายบ้านเมือง มันเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ
ถ้าเรามาบวชแล้วใจเราไม่ได้บวช ยิ่งสมัยนี้มีโทรทัศน์ มือถือ มีข่าวสารที่เข้าถึงเร็ว ใจเราก็จะส่งไปแต่ข้างนอก เราก็ไม่ได้เจริญอานาปานสติ ไม่ได้เจริญสติสัมปชัญญะ เราก็ไม่ได้พรากใจของเราจากการปรุงแต่ง ไม่ได้พรากจากกาม ผู้ที่มาบวชมาปฏิบัติจึงจำเป็นต้องตัดทางโลกไปให้หมด ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าเดรัจฉานกถา เดรัจฉานกถา คือ การพูดคุยเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ หรือเรื่องใดๆ ที่พาให้จิตใจของผู้พูดและผู้ฟังตกต่ำจากคุณความดี ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวหมดกำลังใจหรือทำให้จิตใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย เช่น พูดชื่นชมความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ พูดเรื่องโจร เรื่องข้าราชการ เรื่องการเมือง เรื่องกองทัพ เรื่องยุทธวิธีการรบ เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะต่างๆ เรื่องบ้าน เรื่องนิคมหรือชุมชน เรื่องความเป็นไปในเมืองใหญ่และชนบทเรื่องสตรี เรื่องแฟชั่น เรื่องบุรุษ เรื่องเพลง เรื่องหนังละคร เรื่องดารา เรื่องเบ็ดเตล็ดทั่วๆ ไป เป็นต้น
สิ่งที่เป็นทางโลกต้องทิ้งให้หมด ไม่ต้องห่วงเรื่องอยู่ เรื่องฉัน เรื่องอะไรเลย ถ้าเราปฏิบัติตามพระธรรมพระวินัยแล้ว ทุกคนจะให้ความเคารพนับถือหมด แม้แต่เทวดาที่หมู่มวลมนุษย์มองไม่เห็นก็ยังเคารพ ผู้ที่มาบวชก็พากันเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ตอนเป็นผ้าขาวมาอยู่วัดนะ เป็นผ้าขาวเป็นพระ จะคิดไปทางโลกไม่ได้ คิดทางโลกก็เท่ากับว่าเรามีเมีย มีภรรยานี่แหละ คือมันมีเซ็กส์ทางความคิดมีเซ็กส์ทางอารมณ์ ต้องรู้ว่าอันนี้มันไม่ถูกต้อง จึงต้องรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เราปฏิบัติมันไม่เครียดหรอก เราเอาใจของเราอยู่กับข้อวัตรกิจวัตร ปรับตัวเองเข้าหาเวลา เข้าทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิก่อนก่อนเวลา เช่นว่า 6 โมงเย็น ก่อน 6 โมงเย็นก็เดินไปศาลาแล้ว ใครไม่มาก็ช่างหัวมัน เราก็เข้าไปนั่งสมาธิรอเพื่อนรอเวลา สวดมนต์นั่งสมาธิ สองทุ่มเป็นเวลาเลิก จากนั้นก็กลับไปที่กุฏิเรา ไปเข้าห้องน้ำห้องสุขา ทำกิจวัตรส่วนตัวนั่งสมาธิ สามทุ่มก็จำวัด มันอยากนอนหรือไม่อยากนอนก็ต้องนอน ถ้าพระที่มีโทรศัพท์มือถือมีโทรทัศน์มีคอมพิวเตอร์ มันไม่อยากนอนหรอก เพราะมันฟุ้งซ่านมันเพลินในกาม เพลิดเพลินในรูปเสียง อยู่แต่เรื่องราวของคนอื่น ที่มันอยู่ในโทรศัพท์มือถือมันเลยไม่อยากนอน เมื่อเรามาบวชถึงสามทุ่มเราก็ต้องนอน ตีสามก็จะเป็นสัญญาณระฆัง เราก็ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตอนตีสาม ตื่นขึ้นมาที่ศาลา ตีสามครึ่งประธานสงฆ์ก็ให้สัญญาณทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิ ไปจนถึงตีห้า ถึงที่ห้าแล้วถึงค่อยเลิกนะ ใครเป็นประธานสงฆ์วันนั้นอย่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ ต้องเลิกตามเวลา อย่าตามอัธยาศัย บางทีตีสี่ครึ่งก็เลิก หรือว่าบางทีนั่งสมาธิมันสงบมันเพลิน นั่งเลยตีห้าอย่างนี้ก็ไม่ได้ เราต้องรักษาเวลา ใครได้มีโอกาสเป็นประธานสงฆ์อย่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ต้องรักษาเวลาตีห้าไว้ เพราะบางคนยังไม่ถึงเวลาก็เลิกแล้ว ช่วงตีสี่ครึ่งเนี่ยมันง่วงนะ พระใหม่มันคุมตัวเองไม่อยู่ ระวังจะกลับไปนอนนะ มันต้องเข้มแข็งไว้ เพราะเราต้องเข้มแข็ง คุมตัวเองให้ได้ พยายามเข้มแข็ง อย่าหนีไปนอนตอนเช้า ต้องทำอะไรพร้อมกัน เลิกพร้อมกัน อย่าปล่อยว่างอย่างไม่ถูกต้อง
คนเราต้องเข้มแข็งต้องควบคุมตัวเองให้อยู่ เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ความเจริญของหมู่คณะโดยที่ไม่เสื่อมก็เพราะทำอะไรพร้อมเพรียงกัน ถึงเวลาเลิกก็เลิกโดยพร้อมเพรียงกัน อย่างนี้แหละ พอตีห้าเลิก เราก็พากันทำความสะอาดศาลา ทำความสะอาดรอบๆ ศาลา ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน กวาดถนนหนทาง ล้างห้องน้ำ เพราะการทำงานน่ะ เราต้องมีความสุขในการทำงาน งานคือความสุข เราอย่าคิดว่า โอ้ย… มาทำให้ตัวเองยุ่งยากลำบาก ปฎิบัติธรรมอะไรว่ะอย่างนี้ ไม่เห็นนั่งสมาธิเดินจงกรมเลย มีแต่มาถูพื้นทำนู่นทำนี่ ที่จริงแล้วอันนี้คือการพัฒนาใจ เพราะใจมันไม่อยากเสียสละ ไม่อยากเทคแคร์หน้าที่การงาน เราต้องเอาสิ่งเหล่านี้แหละมาประพฤติปฏิบัติเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความขี้เกียจขี้คร้าน ต้องฝึกเทคแคร์พ่อแม่ เทคแคร์ครูบาอาจารย์ เทคแคร์ดูแลธุรกิจหน้าที่การงาน ต้องเสียสละ เพราะเรามันเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน อย่าไปสนใจมันความขี้เกียจขี้คร้านน่ะ ถ้าไม่มีความขี้เกียจขี้คร้านเราก็ไม่ได้พัฒนาใจเรา
ทุกคนน่ะถือว่าโชคดี ที่มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์พาฝึกภาคปฏิบัติ ถ้าอย่างนั้นมันใจอ่อน อยู่ที่บ้านไม่ทำอย่างนี้หรอก มีแต่ทำตามอัธยาศัย เรามีเวลากลับไปกุฏิเรา ก็ดูแลกุฏิเสนาสนะทำความสะอาด ให้กุฏิสะอาด ถึงแม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่เรานี่แหละเป็นคนรู้คนเห็น จะได้ฝึกจิตใจอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเนื้ออยู่กับตัว ต้องสะอาดต้องเรียบร้อย อันนี้เป็นการฝึกเรา อย่าให้เป็นเหมือนชาวบ้านเขา
พระเราเนี่ย ถ้าไม่จำเป็นก็อย่านอนกลางวันนะ ถ้านอนกลางวันมันจะเตลิด ถ้ากลางวันไปนอนเกินชั่วโมงนึง สามทุ่มมันจะไม่ยอมนอนนะ
พวกผู้หญิงพวกทำโรงครัว พยายามมีความสุขในการทำงานครัว ประกอบอาหาร ต้องมีความสุข อย่าไปคิดว่า โอ้ย… ไม่ได้ภาวนาเลย มีแต่มาทำอาหารมาทำอะไร อย่าไปคิดอย่างนั้น การทำอย่างนี้ก็คือการปฎิบัติธรรม เพราะเรื่องการพัฒนาใจ มันไม่ได้เกี่ยวกับทำอาหารไม่ทำอาหารหรอก ความคิดอย่างนั้นมันเป็นความคิดที่เห็นแก่ตัว คนเราถ้าว่างงานเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเป็นโรคจิตโรคประสาท เห็นไหมคนแก่เกษียณไปแล้ว ก็ยังไปทำการกุศล ถ้าไม่ทำการกุศลก็ยิ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ไม่มีความสุข เราก็ทำอาหารไปให้มีความสุข ทำอาหารไปก็อย่าไปทะเลาะกัน เพราะคนอื่นเค้าทำดีเราก็ทำดี เราทำงานก็เพื่อความสุขเพื่อความเสียสละ เรามีหน้าที่ทำความดี มีหน้าที่เสียสละ ทำอาหารให้มันสุกให้มันสะอาด ทุกคนก็ต้องพากันแก้ไขตนเองอย่างนี้ๆ อย่ามาอาศัยวัดแล้วเป็นคนเห็นแก่ตัว เรามาอาศัยวัดก็เพื่อมาเป็นคนเสียสละ ไม่ใช่เพื่อมากินมานอนมาพักผ่อนเฉยๆ มันไม่ดี มันไม่ถูกต้อง เราต้องพากันมาเสียสละ ถ้าใครยังเด็กยังแข็งแรงอยู่ก็พากันรักษาศีล ๘ ถ้าใครสุขภาพไม่ดีหรือแก่มากแล้วก็เอาศีล ๕ กัน ต้องมีความสุขในการพยายามที่จะแก้ตัวเอง เราตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองเค้าเรียกว่าโจรเรียกว่าแก๊งค์ ต้องเป็นผู้ละเสียซึ่งตัวซึ่งตน จะได้เข้าถึงธรรมะเข้าถึงความสด
เราทุกคนก็ต่างมาฝึกมาปฏิบัติกัน ผู้ที่มาบวชเก่าบวชใหม่ไม่กี่วัน ก็ต้องเอาทำเอาพระวินัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เอามรรคผลพระนิพพานร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องเน้นที่ปัจจุบัน ถ้าเราไม่เอามรรคผลนิพพานร้อยเปอร์เซ็นต์ เรามาบวชก็ไม่ได้สืบทอดพระศาสนา ไม่ได้ทำให้พระศาสนาดีขึ้น เราคิดว่ามาบวชชั่วคราวจะไปเอาอะไรจริงๆจังๆ จะไปคิดอย่างนี้ไม่ได้มันเห็นแก่ตัว เรามาบวชก็ต้องตั้งใจฝึกตั้งใจปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนนิสัยของตัวเอง เราตั้งใจบวชวันเดียว ก็ยังดีกว่าพวกบวชไม่สึกที่ไม่เอามรรคผลพระนิพพาน เพราะว่าศาสนาพุทธของเรา พวกที่มาเอาศาสนาทำมาหากิน ไม่เอามรรคผลนิพพาน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ 99% แค่ 1% ที่เอามรรคผลพระนิพพานอย่างจริงจัง จึงให้เข้าใจอย่างนี้นะ เราไม่ต้องไปคิดมันหรอก ใครจะเอาหรือไม่เอา ไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของคนอื่น เมื่อเราได้โอกาสได้เวลาเพราะการบวชเป็นบุญเป็นกุศลเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติ เอาปัจจุบันให้มันดี เอาให้มันเต็มที่ พวกที่เป็นพระเก่าน่ะสำคัญ พวกพระเก่าเนี่ย พระเก่ามันมักย่อหย่อนอ่อนแอ มันซิกแซ็กเก่ง เหมือนพวกเรียนพวกศึกษาเก่งฉลาดแล้วพากันมากินบ้านกินเมือง มาโกงบ้านโกงเมือง ทุกสังคมทุกองค์กรจึงมีแต่การทุจริตคอร์รัปชั่นทุกวงการ เพราะมีแต่ความเห็นแก่ตัวไม่เสียสละ ใครไม่เสียสละก็ช่างหัวมัน เราไม่ต้องไปคิดให้มันท้อใจหรอก เราเน้นมาที่ตัวเรา
ปัจจุบันเนี่ย พระเราต้องท่องสวดมนต์ ปาติโมกข์ ทบทวนท่องอะไรต่างๆ คำว่าปล่อยวางน่ะ คือไม่ตามใจตัวเองไม่ตามอารมณ์ตัวเอง คือปล่อยวางตัวตน คำว่าปล่อยวาง นึกว่าไม่ทำอะไร มันผิด เราก็ต้องวางตัวตน สวดให้มันเก่ง เพราะ จะได้เข้าใจบทธรรมะพระวินัย เข้าใจพระสูตร เข้าใจพระอภิธรรม มันต้องเน้นที่ปัจจุบัน เอาปัจจุบันให้ดี มันหลงประเด็นนะ ไม่เข้าใจประเด็น นึกว่าปล่อยวางแล้วไม่ต้องทำอะไร อย่างนั้นมันเป็นการปล่อยวางอย่างสัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่ปล่อยวางอย่างมนุษย์ ปล่อยวางอย่างเปรตยักษ์มารอสุรกายอย่างนั้น ไม่เอา เวลานั่งก็พยามสู้กับตัวเอง พยามฝึกตัวเองให้เข้าสมาธิให้ได้ อย่าเอาแต่นั่งหลับนั่งสัปหงก จะเป็นลูกใครหลานใครมาบวช ก็ต้องพากันตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง ศึกไปแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะเอาข้อวัตรข้อปฏิบัติทิ้งนะ แล้วก็มาถามหลวงพ่อ ทำยังไงมันถึงจะไม่เสื่อม เราก็ต้องเอาธรรมะเอาพระวินัยไปใช้ไปปฏิบัติในปัจจุบัน มันก็ไม่เสื่อม จึงต้องไม่ประมาท ต้องเอาปัจจุบันให้ดี เราจะไปเอาปุถุชนคนหลายพันล้านคน เป็นหลัก เป็นที่ตั้งไม่ได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เอาธรรมะธัมโมอะไร เขาพากันหลงขยะแย่งขยะกัน
ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจอย่างนี้นะ ถ้าเราไปมองแต่คนอื่น เรามันต้องอาบัตินะ เพราะมันไปหาจับผิดคนอื่น
พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่คอยจับผิดคนอื่น ด้วยเหตุผลหนึ่งคือ “โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น ดุจบุคคลโปรยแกลบแต่ปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้ ฉะนั้น อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น”
ในพุทธกาล พระรูปหนึ่งเที่ยวแส่หาแต่โทษของภิกษุทั้งหลายเท่านั้นว่า "ภิกษุนี้ย่อมนุ่งอย่างนี้ ภิกษุนี้ย่อมห่มอย่างนี้." พวกภิกษุกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระชื่อโน้น ย่อมกระทำอย่างนี้."
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในข้อวัตรกล่าวสอนอยู่อย่างนี้ ใครๆ ไม่ควรติเตียน, ส่วนภิกษุใดแสวงหาโทษของชนเหล่าอื่น เพราะความมุ่งหมายในอันยกโทษ กล่าวอย่างนี้แล้วเที่ยวไปอยู่, บรรดาคุณวิเศษมีฌานเป็นต้น คุณวิเศษแม้อย่างหนึ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น, อาสวะทั้งหลายเท่านั้น ย่อมเจริญอย่างเดียว" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อารา โส อาสวกฺขยา.
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ผู้คอยดูโทษของบุคคลอื่น ผู้มีความมุ่งหมายในอันยกโทษเป็นนิตย์, บุคคลนั้น เป็นผู้ไกลจากความสิ้นไปแห่งอาสวะ.
ยิ่งเพ่งโทษคนอื่นมากเพียงใด เรายิ่งหลงลืม “อาสวะ” หรือกิเลสหม่นหมองที่หมักหมมอยู่ในตนมากเท่านั้น จึงยิ่งโทษคนอื่นเพียงใด เราก็ยิ่งเป็นผู้น่าถูกกล่าวโทษมากเท่านั้น เพราะขณะที่เรากล่าวโทษคนอื่นอยู่ จิตก็ส่งออกไปนอกตัว จึงไม่ทันได้หันกลับมาแลเหลียวพิจารณาตนเองอย่างถี่ถ้วน จึงกล่าวว่าโทษคนอื่นเห็นง่าย โทษตนเองเห็นยาก เมื่อมีการส่งจิตออกไปข้างนอกตัวบ่อยๆ แล้วการจะพิจารณาหรือรู้เท่าทันข้อบกพร่องของตนเองก็เป็นไปได้ยาก มัวแต่มองผู้อื่นจนลืมตนอยู่นั่นเอง ดังพระตรัสของพระพุทธเจ้า การกล่าวโทษคนอื่นอย่างขาดสติปัญญา เป็นเหมือนการเอาแกลบมาปกปิดโทษหรือข้อบกพร่องของตนเองไว้ การโทษคนอื่นก็เป็นกลไกการปกป้องตนเองจากการยอมรับโทษที่ตนก่อ ความผิดพลาดที่กระทำ กิเลสและข้อเสียที่ตนมีอยู่ จิตใจเราอาจไม่อยากยอมรับ จึงโทษคนอื่นหรือเฝ้าเพ่งเล็งข้อบกพร่องของคนอื่นๆ ไม่สิ้นสุด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเราเองได้สบตากับด้านมืดภายใน
“ถ้าเราทำดี พูดดี คิดดีแล้ว คนอื่นเขาว่า เราทำไม่ดี ก็ไม่เป็นไร...
เมื่อเราทำดีแล้ว คนอื่นว่าไม่ดี ... มันเป็นเรื่องของเขา
เราอย่าไปทิ้งความดีของเรา ความดีมันอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่คนอื่นมอง
อย่าลืมว่ากรรมใคร ก็เป็นของคนนั้น อย่ายึดมั่นถือมั่น และ อย่าจับตาดูผู้อื่น” วิจารณ์คนอื่นทุกวัน...ใจต่ำลงทุกวัน วิจัยตัวเองทุกวัน...ใจสูงขึ้นทุกวัน
หลวงปู่ชา สุภัทโท สอนคนที่ชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่นว่า... อย่ายุ่งกับเรื่องของคนอื่น ภาวนามากๆ ดูตัวเองมากๆ หลวงปู่บอกว่า .. "ธรรมดาเราดูแต่คนอื่น 90% ดูตัวเองแค่ 10%" คือ คอยดูแต่ความผิดของคนอื่น เพ่งโทษคนอื่น คิดแต่จะแก้ไขคนอื่น กลับเสียใหม่นะ ดูคนอื่นเหลือไว้ 10% ดูเพื่อศึกษาว่า เมื่อเขาทำอย่างนั้น คนอื่นจะรู้สึกอย่างไร เพื่อเอามาสอนตัวเองนั้นแหละ ดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง 90% จึงเรียกว่าปฏิบัติธรรมอยู่
ธรรมชาติของจิตใจมันเข้าข้างตัวเอง โบราณพูดว่า เรามักจะเห็น ความผิดของคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดของตนเองเท่ารูเข็ม มันเป็นความจริงอย่างนั้นด้วย เราต้องระวังความรูสึกนึกคิดของตัวเองให้มากๆ เห็นความผิดของคนอื่น ให้หารด้วย 10 เห็นความผิดของตนเอง ให้คูณด้วย 10 จึงจะใกล้เคียงกับความจริงและยุติธรรม เพราะเหตุนี้เราจะต้องพยายามมองแง่ดีของคนอื่นมากๆ และตำหนิติเตียนตัวเองมากๆ
แต่ถึงอย่างไรๆ เราก็ยังเข้าข้างตัวเองนั้นแหละ พยายามอย่าสนใจการกระทำ การปฏิบัติของคนอื่น ดูตัวเอง สนใจแก้ไขตัวเองนั้นแหละมากๆ
เช่น เข้าครัวเห็นเด็กทำอะไรไม่ถูกใจ แล้วเกิดอารมณ์ร้อนใจ ..ยังไม่ต้องบอกเขาให้แก้ไขอะไรหรอก รีบแก้ไข ระงับอารมณ์ร้อนใจของตัวเองเสียก่อน เห็นอะไร คิดอะไร รู้สึกอย่างไร ก็สักแต่ว่าใจเย็นๆ ไว้ก่อน ความเห็น ความคิด ความรู้สึกก็ไม่แน่ใจ.. ไม่แน่..อาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้ เราอาจจะเปลี่ยนความเห็นก็ได้ สักแต่ว่า.. สักแต่ว่า.. ใจเย็นๆ ไว้ก่อน ยังไม่ต้องพูด
ดูใจเราก่อน สอนใจเราก่อน หัดปล่อยวางก่อน เมื่อจิตสงบแล้ว เมื่อจิตปกติแล้ว จึงค่อยพูด จึงค่อยออกความคิดเห็น พูดด้วยเหตุ ด้วยผล ประกอบด้วยจิตเมตตากรุณา ขณะมีอารมณ์อย่าเพิ่งพูด ทำให้เสียความรู้สึกของผู้อื่น ทำให้เสียความรู้สึกของตนเอง ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร มักจะเสียประโยชน์ด้วยซ้ำไป
เพราะฉะนั้น อยู่ที่ไหน อยู่ที่วัด อยู่ที่บ้าน ก็สงบๆๆ ไม่ต้องดูคนอื่นว่าเขาทำผิดๆๆ ดูแต่ตัวเรา ระวังความรูสึก ระวังอารมณ์ของเรามากๆ พยายามแก้ไข พัฒนาตัวเรา.. นั้นแหละ
เห็นอะไรชอบ ไม่ชอบ ปล่อยไว้ก่อน เรื่องของคนอื่น พยายามอย่าให้เข้ามาที่จิตใจเรา ถ้าไม่ระวัง ก็จะยุ่งแต่เรื่องของคนอื่นไปเรื่อยๆ หาเรื่องอยู่อย่างนั้น เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของเราไปหมด มีแต่ยินดี ยินร้าย พอใจ ไม่พอใจ ทั้งวัน อารมณ์มาก จิตไม่ปกติ ไม่สบาย ทั้งวันๆ ก็หมดแรง
ระวังนะ พยายามตามดูจิตของเรา รักษาจิตของเราให้ปกติให้มาก ใครจะเป็นอะไร ใครจะทำอะไร ดีหรือไม่ดี เรื่องของเขา แม้เขาจะทำกับเรา ว่าเรา.. ก็เป็นเรื่องของเขา อย่าเอามาเป็นอารมณ์ อย่าเอามาเป็นเรื่องของเรา ดูใจเรานั้นแหละ พัฒนาตัวเองนั้นแหละ ทำใจเราให้ปกติ สบายๆ มากๆ หัด-ฝึก ปล่อยวาง นั้นเอง ไม่มีอะไรหรอก
ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการตามรักษาจิตของเรา คิดดี พูดดี ทำดี มีความสุข ธรรมะโดย หลวงปู่ชา สุภัทโท
หลวงพ่อชาเล่าว่า... ท่านเคยไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่กินรี
หลวงพ่อชาตั้งใจปฏิบัติมาก เดินจงกรม และ นั่งสมาธิทั้งวัน แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า หลวงปู่กินรีวันๆ ไม่ค่อยเดินจงกรม ไม่ค่อยนั่งสมาธิเลย ทำโน่นทำนี่ เกือบตลอดเวลา แล้วท่านจะเห็นอะไร แต่หลังจากที่ได้อยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่นานๆ และได้ฟังธรรมอันลุ่มลึกจากท่าน
หลวงพ่อชาก็รู้ว่า เป็นความเขลาของท่านเองที่คิดเช่นนั้น ท่านพูดถึงบทเรียนที่ท่านได้ จากประสบการณ์ครั้งนั้นว่า “เรามันคิดผิด หลวงปู่ท่านรู้อะไรๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้นๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึก แฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาเราเป็นไหนๆ
-ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ ความพากเพียร กำจัดอาสวกิเลสภายในใจไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูบาอาจารย์เป็นเกณฑ์”
ท่านมาได้ตระหนักชัดอีกครั้งว่า...- การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ
- แต่อยู่ที่การวางใจให้ถูกต้อง - ไม่ว่าทำอะไร...ก็สามารถเป็นการภาวนาได้
คราวหนึ่งท่านนั่งปะชุนจีวรที่ขาดวิ่น ใจนั้นนึกถึงการภาวนาอยู่ตลอดเวลา อยากรีบปะชุนให้เสร็จเร็วๆ เพื่อจะได้ไปภาวนาต่อ ขณะนั้นเองหลวงปู่กินรีเดินผ่านมา สังเกตเห็นอาการของพระหนุ่ม จึงพูดขึ้นมาว่า “ท่านชา จะรีบร้อนไปทำไมเล่า” “ผมอยากให้เสร็จเร็วๆ ครับหลวงปู่”
“เสร็จแล้วท่านจะทำอะไรล่ะ” “จะไปทำอันนั้นอีก”
“ถ้าเสร็จอันนั้นแล้ว ท่านจะทำอะไรอีกล่ะ” “ผมก็จะทำอย่างอื่นอีก”
“เมื่อทำอย่างอื่นเสร็จแล้ว ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า”
เมื่อเห็นว่า ใจของหลวงพ่อชา ไม่ได้อยู่กับงานที่กำลังทำ แต่คิดถึงงานชิ้นอื่นๆ ที่อยู่ข้างหน้า และรีบร้อนจะทำให้เสร็จไวๆ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อไปภาวนาต่อ หลวงปู่กินรีจึงเตือนว่า...“ท่านชา ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้าผืนนี้ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตนอีก”
คำพูดของหลวงปู่กินรี กระตุกใจของหลวงพ่อชาอย่างแรง ทำให้ท่านได้สติ และ เกิดความเข้าใจชัดเจนว่า... - ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ภาวนาได้ทั้งนั้น ขอให้หมั่นดูใจของตนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม -นี้เป็นบทเรียนที่ประทับใจท่านมาก และถือเป็นหลักปฏิบัติของท่านตลอดมา
เมื่อท่านไปตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่หนองป่าพง จึงทำให้มีกิจกรรมหลายๆ อย่าง และมีเรื่องเล่าว่า ตอนนั้นหลวงพ่อชาอายุมากแล้ว มีเด็กหนุ่มมาถามท่านว่า...ทำไมพระจึงไม่นั่งสมาธิ
พอหลวงพ่อชาได้ฟังน้ำเสียงแล้วรู้ว่า ไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบที่แท้จริง ท่านจึงตอบว่า “นั่งอย่างเดียวมันถ่ายไม่ออกว่ะ จะนั่งอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องปฏิบัติ กับการทำงานด้วย” และท่านก็บอกว่า... การปฏิบัติธรรมมันต้องมาดูกายและใจ ไม่ว่าทำอะไร ต้องให้รู้ทันกายและใจ ทำงานก่อสร้างก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ อันนี้สำคัญมาก
เดี๋ยวนี้นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากคิดอย่างเดียวว่า เวลาปฏิบัติธรรมจะต้องเข้าวัด จะต้องหลบลี้หนี้หน้าผู้คน โดยไม่คิดว่า...กายอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้ อยู่บนท้องถนน รถติดก็กำหนดลมหายใจไปด้วย หรือ เวลาเจอไฟแดง หงุดหงิดขึ้นมา...ก็ปฏิบัติธรรมได้
ถามว่าเวลารถติด ทำไมถึงหงุดหงิด นั่นก็เพราะใจมันไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว ใจมันอยู่ข้างหน้าแล้ว... ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน จึงกลัวไปไม่ทัน กลัวไม่ทันประชุม เป็นต้น
ดังนั้น ให้พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน จะตามลมหายใจด้วยก็ได้ การปฏิบัติธรรมก็คือ ติดไฟแดงทำอย่างไรจะไม่หงุดหงิด ทำอย่างไรเวลาถูกต่อว่าจะไม่หงุดหงิด เวลาเสียเงินจะไม่โมโห เวลาเงินหายก็หายแต่เงิน แต่ใจไม่หาย ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เรียกว่า...ปฏิบัติธรรมแล้ว!
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee