แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๕๙ สมณะเป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการพัฒนาจิตใจ ละอกุศลมูลได้ ไตรทวารสะอาดบริสุทธิ์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกท่านทุกคนมันมีความหลง มันถึงมีความโลภ ความโกรธ มันมี 'อวิชชา'มีความไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราพามาประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรคองค์ ๘ ประการ ที่ประกอบด้วยความคิด จิตใจ กาย ประกอบกับการทำงาน เพื่อให้เราทุกๆ คนได้ตั้งมั่นในธรรม และจะได้เข้าถึงคุณธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติอย่างอื่นมันไม่สามารถพาเราเข้าสู่ความดับทุกข์ที่แท้จริงได้
ผู้ปฏิบัติน่ะ ปฏิบัติไป ทำความเพียรไป ยิ่งไม่เข้าใจ เพราะว่าทำเพื่อเอา เพื่อมี เพื่อเป็น เพื่อบรรลุธรรม ไม่ได้ทำเพื่อเสียสละ ละตัวละตน ไม่ได้ทำเพื่อที่สุดของกองทุกข์น่ะ....หนทางเราเลยมืดบอด เราทำเหมือนกันแต่จิตใจมันไม่เหมือนกัน อย่างเราทำงานก็เพื่อเสียสละ เราทำเพื่อปล่อยเพื่อวาง เพื่อไม่มีไม่เป็น เพื่อไม่หวังอะไรตอบแทน สิ่งที่เราจะได้มาก็คือ มรรคผลนิพพาน และทรัพย์ ข้าวของ โดยได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์
ถ้าเราทำถูกมันก็มีความสุข มีความดับทุกข์ มันก็ดีไปหมด มันก็เข้าถึงพระนิพพาน ตั้งแต่ยังไม่ตาย...ขณะนี้เดี๋ยวนี้ มันก็ชำนิชำนาญไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปวิ่งหาธรรมะที่ไหน เพราะมันอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เราก็จะไม่ต้องหนีงาน หนีการ หนีสังคม เราก็จะได้ละความถือละตัวละตน ที่เราพากันแบกไว้ในจิตในใจให้มันหนักหัวสมอง
เรื่องต่างๆ ไม่ว่าสิ่งที่ดี...ไม่ดี ที่มันเกิดในชีวิตประจำวันของเรา มันทำให้เราได้ฝึกทำจิตทำใจ พระพุทธเจ้าท่านให้เราประพฤติปฏิบัติที่จิตที่ใจ ที่กาย วาจา ใจของเรา ที่สุดของความดับทุกข์มันก็จะผ่านไปทุกขณะจิตไปเรื่อยๆ อินทรีย์บารมีเราก็แก่กล้าเข้าไปเรื่อย เช่น ถ้าเราประพฤติไปยิ่งงง คนเราถ้าใจไม่สงบ มันก็เหมือนคนตาบอดนี่แหละ
ทุกท่านทุกคน... พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันปฏิบัติ ไม่ว่าเป็นพระ เป็นเณร เป็นชี เป็นญาติโยม เพื่อจิตใจของเรา ทุกๆ คนก็มีโอกาส มีเวลาเท่าๆ กัน ทุกๆ คนก็ทำไป... เสียสละไป... เราจะเอาความสุข ความดับทุกข์ในเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญนั้นมันมีแต่ความเสื่อมความสลาย พยายามสร้างอริยทรัพย์ที่มันไม่เสื่อม...ไม่สลาย
ทุกคนอยากได้มรรคผลนิพพาน แต่มันก็ขาดเหตุปัจจัย คือการประพฤติปฏิบัติที่สม่ำเสมอ สมาธิของเราทุกคนต้องแข็งแรง เราต้องตั้งมั่นไว้นานๆ ไว้ตลอดกาล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาต้องสมดุลกัน จะได้มีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ถ้าเราเอาแต่สงบ มันก็เหมือนอาหารที่แช่ในตู้เย็น มันไม่สด ไม่เป็นธรรมชาติศีล สมาธิ ปัญญาของเราต้องควบคู่กันไป จะได้เกิดอริยมรรคมีองค์ ๘ เราสังเกตตัวเราให้ดี เวลาเราไม่เครียดเราทำใจอย่างไร เวลาเราเครียดเราเป็นอย่างไร เราต้องสังเกตดูเราจะได้รู้จักการวางจิตวางใจ เราจะได้ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ให้มันถูกต้อง
เรื่องความเครียด เรื่องความทุกข์ในชีวิตประจำวันของเรานี้สำคัญ ทำอย่างไรมันถึงจะไม่เครียด ถ้าเราตึงเกินไปมันก็เครียด ถ้าเราหย่อนยาน มันไปทางความหลง ความโลภ
ท่านให้เราสังเกตตัวเอง จะได้รู้จักทางสายกลาง ประเด็นแรกก็ต้องยึดยานพาหนะ ได้แก่ ศีล สมาธิ เพื่ออาศัยรูปแบบที่เค้าทำพิมพ์ไว้แล้ว เราประพฤติปฏิบัติไป แล้วเราก็เข้าใจเอง ถ้าใจของเราไม่สงบ เราก็ไม่เข้าใจน่ะ เมื่อใจของเราสงบแล้วเราก็พากันเข้าใจเอง จึงสรุปได้ความว่า ความสุข ความดับทุกข์ของเรา ก็คือ ใจสงบ 'ใจสงบ นั้นได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นคือ อริยมรรคทั้ง ๘ ประการ ที่เราทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติ โดยไม่มีการยกเว้นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง...
พระโรหิณีเถรี ผู้เป็นธิดาพราหมณ์มหาศาลตระกูลหนึ่งในเมืองไพศาลี เนื่องจากมีอุปนิสัยปัจจัยอันได้สั่งสมมาแล้วแต่ปางก่อน จึงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หลังจากฟังพระธรรมเทศนา ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็บวชอุทิศชีวิตแก่พระศาสนา บำเพ็ญสมถวิปัสสนา ไม่ช้าไม่นานก็บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา เมื่อกลับมายังตระกูลของตน ถูกบิดาถามทำนองค่อนแคะว่า ลูกโรหิณี พ่อไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าจึงนิยมชมชอบพวกสมณะ (ศากยบุตร) ซึ่งเป็นคนไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพ ได้แต่ขอเขากิน คนเกียจคร้านปานนี้ยังเป็นที่รักของเจ้าหรือ
เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง แม้สมัยปัจจุบันคำกล่าวหาทำนองนี้ก็ยังมีอยู่ และเมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงยุคนี้ คำกล่าวหาอย่างนี้กลับมีน้ำหนักเสียด้วยเพราะ “สมณะยุคโลกาภิวัตน์” ส่วนมากดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นเสียด้วย
ลองมาดูคำแถลงของพระโรหิณี ดูว่าท่านแก้ต่างว่าอย่างไร
สมณะเหล่านั้นมิได้เกียจคร้านดังคุณพ่อเข้าใจ ท่านใคร่ต่อการงานเป็นอย่างยิ่ง แต่เป็นการงานทางจิตที่ประเสริฐสุด คือ งานละราคะ โทสะ (โมหะ)
สมณะในพระพุทธศาสนามีพระคุณต่อลูกมาก เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า สมณะทั้งหลาย เป็นผู้ปรารภความเพียร ไม่เกียจคร้าน ทำแต่งานที่ประเสริฐสุด คือ งานขจัดกิเลสอาสวะ ท่านเหล่านั้นละราคะ โทสะ และโมหะได้สิ้นเชิง เพราะเหตุนั้น สมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของลูก...
สมณะทั้งหลาย กำจัดรากเหง้าแห่งบาป ๓ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ทำแต่การงานที่สะอาดบริสุทธิ์ ละความชั่วได้ทุกชนิด กายกรรมของท่านเหล่านั้นสะอาด วจีก็สะอาด มโนกรรมก็สะอาด สะอาดหมดจดทั้งภายนอกภายใน ดังสังข์ที่ขัดดีแล้ว เต็มเปี่ยมด้วยธรรมที่สะอาด เพราะเหตุนั้น สมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของลูก
คุณพ่อได้ยินลูกสาวกล่าวพรรณนาคุณของสมณะ ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน รู้สึกอัศจรรย์ใจเริ่มคล้อยตามคำของลูกสาว จึงถามต่อไปว่า “สมณะของลูกมีคุณอะไรอีก”
ลูกสาวบอกคุณพ่อว่า “สมณะของลูกเป็นพหูสูต สดับมาก ทรงธรรมเป็นพระอริยะ เป็นอยู่โดยธรรม ย่อมแสดงอรรถและธรรม ไม่พูดเรื่องไร้สาระ สมณะเหล่านั้นพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน รู้ที่สุดทุกข์ สมณะเหล่านั้นหลีกออกจากหมู่บ้านใดไป ก็ไม่เหลียวดูอย่างกังวลในหมู่บ้านนั้น ไม่มีอาลัย...
สมณะเหล่านั้นเป็นพหูสูตทรงธรรม เป็นอริยะ มีชีวิตอยู่ในธรรม มีจิตเป็นอารมณ์เดียว มีสติ แสดงเหตุแสดงผลให้คนเข้าใจแจ่มแจ้ง มีสติ มีสมาธิแน่วแน่ “ไปไกล” พูดพอประมาณ ไม่พูดเรื่องไร้สาระ พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน รู้จักวิธีขจัดทุกข์
ท่านเหล่านั้นไม่ติดถิ่นที่ ไปไหนไม่ต้องกังวลห่วงใย ท่านเหล่านั้นไม่สะสมข้าวปลาอาหาร ยังชีพด้วยภักษาหาร ฉันอาหารที่เขาถวาย และไม่รับเงินทอง สมณะทั้งหลายออกบวชจากตระกูลต่างกันจากชนบทต่างกัน แต่รักใคร่ปรองดองกันเป็นอย่างดี เพราะเหตุผลดังว่ามานี้ สมณะเหล่านั้นจึงเป็นที่รักของอาตมภาพ
พราหมณ์ผู้บิดา ได้ฟังเกียรติคุณของพระสมณะ (ศากยบุตร) ทั้งหลาย ที่ภิกษุณีผู้สาธยายให้ฟัง พิจารณาไปตาม ในที่สุดก็เห็นด้วยกับคำพูดของภิกษุณีผู้เป็นธิดา จึงเปลี่ยนท่าทีกล่าวกับเธอว่า โรหิณีลูกพ่อ เจ้าได้ศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ นับว่าเจ้าเกิดมาเพื่อประโยชน์แก่ตระกูลเราจริงๆ สมณะเหล่านั้นเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐจริงๆ ขอให้สมณะเหล่านั้นจงมารับทักษิณาของเราบ้างเถิด ไทยธรรมที่ถวายแก่สมณะเหล่านั้นจักมีผลไพบูลย์
โรหิณีภิกษุณี กล่าวกับบิดาว่า “ถ้าโยมพ่อเกลียดกลัวทุกข์ คุณพ่อจงเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ จงสมาทานศีลสรณคมน์ และศีลนั้นจักเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อและตระกูลวงศ์ของเรา”
เมื่อก่อนตระกูลเราเป็นพราหมณ์ (ถูกสอนว่าพวกเราได้เข้าถึงพระพรหม) บัดนี้อาตมภาพได้เป็นสมณะศากยบุตรได้รู้แจ้งวิชา ๓ ประการ ถึงฝั่งแห่งพรหมจรรย์ นับว่าได้เป็น “พราหมณ์” (ผู้ล้างบาป) ที่แท้จริงแล้ว
พระเถรีได้บรรยายคุณสมบัติของสมณะในอุดมคติให้บิดาฟังว่า สมณะศากยบุตรทั้งหลายมิได้เป็นอย่างที่บิดาคิด ท่านเหล่านั้นมีคุณสมบัติสรุปได้ดังนี้ คือ • เป็นผู้ขยันทำงาน มิได้เกียจคร้าน หากเป็นงานด้านการพัฒนาจิตใจ ละอกุศลมูลได้ ไตรทวารสะอาดบริสุทธิ์
นับว่าพระเถรีได้เป็นปากเป็นเสียงแทนสมณะศากยบุตรทั้งหลายได้เป็นอย่างดี ชี้แจงให้คนที่มองพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาผิดๆ (ในกรณี คือ โยมบิดา) ให้เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วมิได้เป็นดังที่คนทั่วไปคิด
ท้ายที่สุด พระเถรีได้ให้ความมั่นใจแก่โยมบิดาว่า ที่ท่านละทิ้งลัทธิพราหมณ์ดั้งเดิมที่เชื่อว่าเข้าถึงพระพรหมผู้ประเสริฐได้ และเป็นพราหมณ์ (คือ ผู้ล้างบาปได้) มาสู่พระพุทธศาสนานั้นเป็นความถูกต้องแล้ว เพราะการได้บรรลุวิชชา ๓ ประการนั้น ถือว่าเป็นการเข้าถึง “พรหม” (ภาวะที่ประเสริฐ) แท้จริง และท่านได้ละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง นับว่าเป็น “พราหมณ์” (ผู้ล้างบาปได้) ที่แท้จริง
การอาบน้ำในแม่น้ำคงคาทุกเช้าๆ แล้วเข้าใจว่าล้างบาปได้นั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะความบริสุทธิ์สะอาดแห่งจิตมิได้มีด้วยน้ำ โยมบิดาเข้าใจ สละความเชื่อถือเดิม หันมานับถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต ด้วยประการฉะนี้แล...
: เห็นพระ แต่ไม่ได้เป็นพระ : ดีกว่าเป็นพระ แต่ไม่ได้เห็นพระ
: บางคนเป็นพระ แม้จะไม่ได้อยู่ในสมณเพศ
: บางคนเป็นเปรต ทั้งๆ ที่อยู่ในเพศสมณะ
: ยอดบรรพชิต คือผู้สละชีวิตเพื่อพระศาสนา
: ยอดคนมิจฉา คือผู้สละพระศาสนาเพื่อชีวิต
พระ แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในความแก่ เห็นภัยในความเจ็บ เห็นภัยในความตาย เห็นภัยในความพลัดพราก มันเป็นการไม่สิ้นสุดในชีวิตในภพในชาติ ถ้าเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง และจะทำตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีวันจบสิ้น พระจึงเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นผู้ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป ไม่ทำบาปทำกรรม เอาศีลเป็นที่ตั้ง เพราะศีลเป็นตัวที่ทำให้ตัดเวรตัดกรรม ให้ทำความดี ข้อวัตรปฏิบัติให้ถึงพร้อม เป็นคนเข้มแข็ง เป็นคนหัวใจเข้มแข็งหัวใจไม่อ่อนแอ
คนเราถ้าเราเป็นคนอ่อนแอจิตใจไม่เข้มแข็ง มันจะละกิเลสไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ มันจะเป็นคนล้มเหลวในชีวิตหรือว่าอะไรๆ ไม่มีใครที่อ่อนแอจะละกิเลสหมดกิเลสได้
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะเราเป็นคนอ่อนแอ ไม่บังคับตัวเอง คนเรามันต้องบังคับตัวเอง บังคับในการคิด ในคำพูด ในการทำงาน บังคับตัวเองในการทำความดี ข้อวัตรปฏิบัติ เหมือนคนเขาจะเดินทางในถนน เขาขับรถเขาต้องบังคับพวงมาลัยให้ดีๆ ต้องมีสติบังคับทาง ถ้าไม่บังคับทาง จะไปได้กี่กิโล ฉันใด เราจะไปพระนิพพาน เราต้องบังคับตัวเอง ให้เอาศีลเป็นที่ตั้ง ให้เอาข้อวัตรปฏิบัติเป็นที่ตั้ง อย่าไปขี้เกียจขี้คร้าน ติดสุขติดสบาย อย่าเป็นคนประมาท เราอย่าไปโทษคนอื่นโทษสิ่งแวดล้อม ถ้าเราไม่เกิดมา เราก็ไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราไม่เกิดมาเราจะไม่ได้พบสิ่งเหล่านี้ ตัวเราเองเป็นคนสร้างปัญหา ด้วยเหตุนี้เองพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ตามกิเลสตัวเอง ท่านให้เราตัดภพตัดชาติ การปฏิบัติธรรมของเราต้องทำให้สม่ำเสมอ ติดต่ออย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนกว่าเราจะถึงพระนิพพาน
เราถือว่าเราเป็นคนโชคดี มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีอริยมรรคคือองค์แปด ให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ เราต้องเป็นคนซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ต่อพระธรรมพระวินัย ซื่อสัตย์ต่อการประพฤติปฏิบัติให้ซื่อตรง อย่าเป็นคนจิตใจสกปรก เน่าใน จิตใจหยาบ จิตใจก้าวร้าว จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ เราอย่าไปทำตามความฟุ้งซ่าน ความไม่สงบ สิ่งไหนมันไม่ดีก็ช่างหัวมันเอาใหม่ มันเจ็บมันล้มเหลวในด้านจิตใจ ก็ให้จำมันไว้ดีๆ ให้เป็นบทเรียนที่มีค่า เราอย่าไปคิดว่าตัวเองมันเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ความประมาทมันทำให้เราพังพินาศ ฉิบหาย คนเราถ้าศีลไม่ดี ข้อวัตรไม่ดี จิตใจมันตกต่ำ เหมือนตกในเหวนรก มันเจ็บมากมันช้ำมาก อยากจะไปทำแต่สิ่งเก่าๆ เหมือนกับคนที่ไม่มีสติไม่มีปัญญา
ทุกท่านทุกคนต้องอบรมบ่มอินทรีย์ให้กับตัวเอง ประชาชนประเทศก็ต้องรู้จักธรรมะ รู้จักพระวินัย รู้จักศาสนา ว่าอันไหนเป็นศาสนา อันไหนเป็นตัวเป็นตน วัดที่เเท้จริง คือข้อวัตรข้อปฏิบัติ คือธรรมวินัยที่เราทุกคนต้องปฏิบัติเพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพาน ศีลทุกข้อ พระวินัยทุกข้อ สิกขาบทน้อยใหญ่ คือข้อวัตรข้อปฏิบัติ ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๙ พวกที่สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างเจดีย์ หลายร้อยล้าน หลายสิบล้านนี้ ถึงว่ายังไม่ใช่วัด ยังไม่ใช่ศาสนา ถ้าเราไม่พากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นที่อยู่ของนกพิราบ ของจิ้งจก ตุ๊กเเก เพียงเเต่เป็นวัฒนธรรมให้คนทั้งหลายไปกราบไหว้เฉยๆ ถ้าเราทุกคนมีวัดมีข้อวัตรมีข้อปฏิบัติอย่างนี้ มันจะเปลี่ยนเเปลงตัวเองได้ เมื่อเปลี่ยนเเปลงตัวเองได้มันถึงเปลี่ยนสังคมได้ พระเรานี้อยุ่กับชุมชนอยู่กับรากหญ้า อยู่กับชาวบ้านก็ต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เพราะทุกคนก็มีตามีหูที่รู้เห็น ก็เข้าใจอยู่ การเผยเเผ่มันถึงจะไปได้ คนเราที่เค้าไม่เคารพนับถือเรา ก็เพราะเราไม่มีศีล เป็นคนไม่มีสมาธิ เป็นคนปัญญา เอาตัวตนเป็นที่ตั้งอยู่
เพราะว่าวัดของเรา พระทุกรูปใจต้องสะอาด วาจาต้องสะอาด กายต้องสะอาด กุฏิวิหารเจดีย์ต้องสะอาด ที่ปรากฏให้เห็นอย่างนี้มันสกปรกทั้งกายทั้งใจให้เห็นนี้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าเราปฏิบัติผิด เมื่อหลายสิบปีก่อน ที่เรามาจากบ้านนอก มาจากชนท เพื่อเเสวงหาความรู้ ความยากจนของเรา บางทีก็เพื่อที่จะมาเอาความรู้ในการเรียนการศึกษาเพื่อจะทำมาหากิน หาเลี้ยงชีพ
เราเป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสกอุบาสิกา เป็นผู้ที่มุ่งประพฤติปฏิบัติธรรม มุ่งมรรคผลพระนิพพาน
คำว่า 'พระนิพพาน' คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งกิเลสอาสวะ เป็นผลแห่งการประพฤติการปฏิบัติ
เราทำอย่างไรถึงจะดับไม่เหลือแห่งทุกข์ได้? ให้เราดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า ท่านได้สร้างสมบารมี ท่านได้ละทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้... ทั้งวัตถุ ข้าวของ เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุขความสบายทั้งหลาย ทั้งชื่อเสียง พี่น้องวงศ์ตระกูล หรือแม้แต่ตัวของท่านเอง คือ สรีระร่างกายนี้ ท่านก็ละทั้งหมด มาปลงผม ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าก็มีเพียงแค่ ๓ ผืน มีบาตรใบเดียว รองเท้าก็ไม่ใส่ ร่มก็ไม่มี
สิ่งเหล่านี้ท่านก็ละท่านก็ทิ้ง แม้แต่ลาภ ยศ สรรเสริญ ท่านตัดท่านละโดยเด็ดขาด ไปใช้ชีวิตอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อแสวงหา 'โมกขธรรม' ความหลุดพ้น คือความดับโดยสิ้นเชิงทางจิตใจ มีความตั้งจิตตั้งใจปฏิบัติจริงทำจริง ทำความพากเพียร...อดนอน ผ่อนอาหาร ฝึกสมาธิ ฝึกเข้าฌานออกฌาน จนสุดท้าย... ท่านก็ได้ 'ตรัสรู้' เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุธรรม ได้ตรัสรู้ธรรม ท่านจึงได้มีเมตตานำธรรมะที่ท่านได้ตรัสรู้นั้น มาบอกสอนให้กับเราทั้งหลาย
พวกเราทั้งหลายนี้ ถือว่า เป็นผู้ที่โชคดีที่ไม่ต้องไปคิดมาก ไม่ต้องไปค้นคว้ามาก เพียงแต่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสรู้ดีแล้ว...นั่นเอง
ในสมัยครั้งพุทธกาล...มีกุลบุตรลูกหลานได้พากันบรรพชาอุปสมบทแล้วก็ได้บรรลุธรรมกันเป็นจำนวนมาก เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน นี้ถือว่า เป็นค่านิยมในสมัยนั้น ยุคนั้น ทางฝ่ายญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ก็ได้มีผู้บรรลุธรรมตรัสรู้ธรรมเช่นเดียวกัน ไม่ต่างไปกับบรรพชิตทั้งหลาย เป็นพระอริยเจ้าที่อยู่ในคราบของคฤหัสถ์ เพราะความเป็นพระที่แท้จริงนั้น...อยู่ที่ใจ 'ใจ' ที่เข้าถึงศีลเข้าถึงธรรม 'ใจ' ที่ได้ประพฤติธรรม ได้ปฏิบัติธรรม ใจ มันเป็น...ธรรม ใจ ถึงได้...บรรลุธรรม ใจ จึงได้...เห็นธรรม
เราเกิดมาในยุคสมัยนี้เรามีโอกาสรู้เห็นน้อย เพราะเราจะเห็นแต่คนที่เกิดมา มีแต่การตั้งใจทำมาหากินตั้งแต่เกิดจนตาย.
ยุคนี้สมัยนี้...การที่จะได้เห็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็หายาก ประเพณีที่พระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติ ก็เลยขาดช่วงขาดตอนไป ญาติโยมประชาชนทั้งหลายก็เลยคิดว่าสมัยนี้พระอริยเจ้า มรรคผลนิพพานนั้นไม่มี "ก็คิดกันไปอย่างนั้น"
ความเป็นจริงแล้ว 'มรรคผลนิพพาน' ก็ยังมีอยู่ มีอยู่ในผู้ประพฤติปฏิบัติ มีอยู่ในกลุ่มของนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า "ตราบใดที่ยังมีผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์"
ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราก็จะเข้าถึงมรรคผลได้กันทุก ๆ คน...
สิ่งที่จะทำให้เราเข้าถึง 'มรรคผลพระนิพพาน' ได้ ก็คือ พระธรรม พระวินัย นั่นเอง ผู้ที่เข้าถึงธรรมเข้าถึงพระวินัยได้ จะต้องเป็นผู้ที่หายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ เป็นผู้ที่ไม่ถือตัว ไม่ถือตน ไม่เอาตนเป็นใหญ่มอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ และตั้งใจว่า... "ชาตินี้ข้าพเจ้าจะไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ถือตัวถือตน จะมอบกายถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัย เอาพระธรรม เอาพระวินัยเป็นที่ตั้ง พระธรรม พระวินัย ว่าอย่างไร ก็จะประพฤติปฏิบัติตามอย่างนั้น... เอาพระธรรม เอาพระวินัย เป็นประธานในหัวจิตหัวใจ"
ความอาลัยอาวรณ์ทั้งหลายในโลกในตัวในตนของแต่ละคนมันมีมาก มันยากที่จะสลัดทิ้ง ยากที่จะสลัดคืนออกไปได้ แต่เรามาคิดดูมาทบทวนดูแล้ว ถ้าเราไม่เดินตามรอยพระพุทธเจ้า ไม่เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ก็ไม่มีวันที่จะเข้าถึงความดับทุกข์ได้เลย เพราะยิ่งเราทำไป ยิ่งปฏิบัติ ก็ยิ่งสร้างปัญหา สร้างความทุกข์ ความสับสนวุ่นวายให้กับตัวเองยิ่งขึ้น เกิดแล้วเกิดเล่า ตายแล้วตายเล่า ก็เพราะว่าเราไม่ได้ ปฏิบัติตามรอยของพระพุทธเจ้า ปัญหาเรื่องราวต่างๆ มันจึงเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา
คนเราที่มันมีปัญหานี้ มันไม่ได้มาจากภายนอก มันมาจากจิตจากใจของตัวเองเราเอง มันมาจากความหลงของตัวเราเอง สิ่งภายนอกมันไม่ได้ให้คุณให้โทษ ความหลง ความไม่รู้แจ้งต่างหากที่มันให้คุณให้โทษกับเรา
การที่จะฝึกตัวเองได้ ปฏิบัติตัวเองได้ ก็ต้องอาศัยศีล อาศัยธรรม อาศัยข้อวัตรปฏิบัติ เพราะว่าใจของเรานี้มันเป็นนามธรรม มันไม่มีตัวไม่มีตน ภาคปฏิบัติ ต้องอาศัยการฝึกจิตฝึกใจ ฝึกกาย ฝึกวาจาของเราให้ตั้งมั่น ให้อยู่ในศีลในธรรม กายของเรามันทำโน่นทำนี่ ถือว่า เป็นอาการกิริยาทางจิตใจที่แสดงออกมา 'ทางกาย'
ที่มันไม่อยากรักษาศีล ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ ไม่อยากทำข้อวัตร นั่นคือ อาการกิริยาของใจ ที่มันแสดงออกมา 'ทางกาย' ที่มันหลง ที่มันมีความเห็นแก่ตัว มีความเห็นผิด อาการกิริยาที่เป็นตัวตนเป็นตน
การปล่อย... การวาง... ถ้าเราไปเน้นที่ใจ ทุกอย่างอะไรก็อยู่ที่ใจ ศีลเราก็ไม่ต้องรักษาอย่างนั้น มันก็ไม่ถูก! ถือว่ามันข้ามขั้นตอนของการประพฤติปฏิบัติไป มันเป็นความคิดความเห็นของคนเห็นแก่ตัว เป็นความคิดความเห็นของคนที่สรุปเอาเอง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ ว่าเราทำอะไรไปแบบไม่ยึดไม่ถือ มันถูกต้องแล้ว มันใช้ได้แล้ว
"ความปล่อย...ความวาง กับ 'ความขี้เกียจ" มันชอบหลงนะ หรือแม้แต่ว่า 'พระนิพพาน' กับ 'ความเห็นแก่ตัว' เราก็คิดเอาเองว่ามันเป็นเหมือนกัน "อย่างนั้นไม่ใช่"
นักประพฤติปฏิบัติ ท่านถึงให้มาเน้นที่ 'ศีล' เน้นที่ 'ธรรม' เน้นที่ 'ข้อวัตรปฏิบัติ' เพื่อฝึกที่จิตที่ใจของเรา ถ้าเราไม่ปฏิบัติอย่างนี้ ก็ยากที่จะเข้าถึงเรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องคุณธรรมได้
เจตนา ก็คือความตั้งจิตตั้งใจ นี้สำคัญมาก เพราะ "เรื่องจิต เรื่องใจ" เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเราคิดอะไร...คนอื่นเขาไม่รู้ เขาไม่เห็น เขาไม่เข้าใจกับเรา แต่เราต่างหากที่เป็นผู้รู้... ผู้เห็น... ผู้เข้าใจ...ของเราเอง
'รู้' ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราดำริขึ้นมาในใจของเรา การกระทำใดๆ เราก็รู้หมด ถ้าอันไหนมันไม่ถูก พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้เราคิด ไม่ให้เราทำ ไม่ให้เราพูด การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า "เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย"
เมื่อเราเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลายแล้ว เรานี้แหละก็ได้ชื่อว่าเป็น สุปะฏิปันโน อุชุปะฏิปันโน ญายะปะฏิปันโน สามีจิปะฏิปันโน ก็คือเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั่นเอง ความเป็นพระก็จะเกิดขึ้นที่จิตที่ใจของเรา สมมุติสงฆ์ก็จะเป็น 'อริยสงฆ์ ญาติโยมที่อยู่ที่บ้านที่สังคม ที่ปฏิบัติเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ก็จะได้เป็น "พระอริยสงฆ์ในจิตใจ" ได้เช่นเดียวกัน
ฉะนั้น เราต้องจับหลักให้ได้ดีๆ ทุกคนจะได้ไม่พลาดโอกาส ไม่เสียโอกาส เราอย่าไปคิดไกลเกินไปนะว่า...พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์นั้นอยู่ไกล แท้ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่ตัวเราทุกๆ คนนี้แหละ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee