แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๕๘ ผู้สงบกายวาจาใจ สงบบาปทั้งปวงได้ นั่นคือสมณะที่แท้จริง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เดือนนี้เป็นเดือนวิสาขบูชา อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะเป็นวันวิสาขบูชา พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญบารมีมาหลายล้านชาติจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วิสาขบูชาเป็นวันที่เสด็จประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๔๕พรรษา เราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์คือผู้ที่โชคดีที่จะได้มาพบพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นพระพุทธศาสนา ศาสนาคือธรรมะ
เรามีกุลบุตรได้บรรพชาอุปสมบทตามพระพุทธเจ้า เป็นภิกษุ แต่ผู้ที่บวชมาเขาไม่เรียกว่าพระนะ เพราะการดำเนินชีวิตของเราคือพระธรรมคือพระวินัย ไม่ได้ทำตามใจตัวเอง ไม่ได้ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ได้ทำตามความรู้สึก เอาพระธรรมเอาพระวินัยเป็นวิธีการเรียกติดปากว่าพระ ผู้ที่เอาพระธรรมเอาพระวินัยเป็นหลักได้แก่พระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์ ถือว่าเป็นพระ พระที่แท้จริงจะมีความคิดเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง เป็นได้ทั้งฆารวาสที่ไม่ได้บวช เป็นได้ทั้งผู้ที่บรรพชาอุปสมบท
คนอย่างไรเรียกว่าสมณะ เราอย่าเพิ่งไปตีความหมายเอาว่าการเห็นภิกษุสามเณรซึ่งโกนผมนุ่งห่มผ้าเหลืองซึ่งอันนี้เป็นต้นเดิมของความเข้าใจผิด และทำให้เกิดความเสียหายมามากแล้วซึ่งก็ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ อันที่จริงคนที่ครองเพศเป็นนักบวชนั้นเรียกว่าบรรพชิต และบรรพชิตนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นนักบวชทุกรูปก็หาไม่ พิจารณาพระบาลีโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่นเบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ หาใช่สมณะไม่ ฯ
ตามพระพุทธพจน์นี้ก็คงทราบแล้วใช่ไหมว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า บรรพชิตกับสมณะนั้นเป็นคนละพวก คือ บรรพชิตและสมณะ ทั้งสองนี้มีภูมิธรรมต่างกัน คนละชั้นคนละราคา อย่าได้เหมาเอาว่าเป็นพวกเดียวกัน
บรรพชิต เราแปลว่า นักบวช คือท่านผู้ทรงศีล อยู่ด้วยศีลเอาศีลกำกับตัว เมื่อไม่ละเมิดศีล (ตามชั้นของบรรพชิต) ก็คงมีศักดิ์เป็นบรรพชิตทุกองค์ แต่ในบรรดาผู้ที่เป็นบรรพชิตนั้น ก็มีอยู่หลายชั้นรักษาศีลวินัยได้มั่นคงก็มี รักษาได้ขาดๆ วิ่นๆ ก็มี ปพฺพชิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีบรรพชาเกิดขึ้นแล้ว” : ป + ว + วชฺ > ปววชฺ> ปพฺพช + อิ + ต = ปพฺพชิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปสู่ความเป็นผู้ประเสริฐที่สุด”
“ภิกขุ - ภิกษุ” คือชายที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา “ภิกขุ” แปลตามรากศัพท์ มีหลายความหมาย คือ -
1. “ผู้ขอ” (ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺข + รู, ลบ ร รัสสะ อู เป็น อุ)
2. “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” (สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขู = ภย + อิกฺข + รู)
3. “ผู้ทำลายบาปอกุศล” (ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ + รู)
4. “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” (ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ)
5. “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” (ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺข + รู)
ส่วน “สมณะ” เขียนแบบบาลีเป็น “สมณ” : สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” แปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ”
สมณะ แปลว่า ผู้สงบ หมายถึงผู้สงบจากการทำบาป นอกจากเว้นการทำบาปทางวินัยหรือทางศีลแล้ว ยังเว้นจากบาปทางธรรมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ทางศีลห้ามลักทรัพย์ ศีลจะขาดต่อเมื่อลักจริงๆ เพียงแต่คิดจะลักศีลยังไม่ขาด แต่ทางธรรมถือละเอียดไปกว่า แม้แต่คิดจะลัก จิตก็เป็นอกุศล ก็เสียธรรมะ สมณะกับบรรพชิตต่างกันตรงที่ว่า บรรพชิตถือเอาศีลเป็นขอบเขต ส่วนสมณะนั้นถือทั้งศีลและธรรมเป็นขอบเขต เพื่อความแน่ใจ ขอได้โปรดดูบาลีพุทธวจนะที่มาในธรรมบท ขุททก-นิกายว่า "น มุณฺฑเกน สมโณ อพฺพโต วลิกํ ภณํ อิจฉาโลภสมาปนฺโน สมโณ กึ ภวิสฺสติ" “คนเราไม่ใช่จะเป็นสมณะเพราะหัวโล้น คนที่ไม่มีวัตร มีแต่พูดพล่อยๆ มีความริษยากัน เป็นคนละโมบ จัดเป็นสมณะได้อย่างไร” และอีกบทหนึ่งว่า "โย จ สเมติ ปาปานิ อณุง ถูลานิ สพฺพโส สมิตตฺตา หิ ปาปานํ สมโณติ ปวุจฺจติ" “คนที่เราตถาคตเรียกว่าสมณะ จะต้องเป็นผู้ระงับการทำบาปน้อยใหญ่เสีย”
รวมความแล้วว่า เฉพาะคนที่สงบเท่านั้น ที่เรียกว่าสมณะและที่ว่าสงบนั้นหมายถึง สงบกาย สงบวาจา และสงบใจตนเอง
๑. สมณะต้องสงบกาย คือมีความสำรวม ไม่คะนอง ไม่มีกิริยาร้าย เช่น ทุบตี ชกต่อย ฆ่าฟัน สะพายดาบ พกมีดพกปืน เดินขบวน ยกพวกเข้าชิงดีชิงเด่น แย่งที่อยู่ที่ทำกินกัน อันเป็นกิริยาของคนไม่สงบ คนที่เป็นสมณะไม่ว่าจะเข้าที่ไหนจะอยู่ที่ไหน ย่อมจะไม่ทำความชอกช้ำแก่ใคร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชมพระโมคคัลลานะในเรื่องนี้ว่า ท่านแม้จะมีฤทธิ์เดชมาก แต่ไม่ว่าจะไปที่ใดก็ไม่เคยทำความช้ำชอกแก่ตระกูลนั้นเลย จะบิณฑบาตรับของถวายอะไรก็ตาม ก็คอยดูว่าเขาจะเดือดร้อนไหม รับแต่พอประมาณ เปรียบเหมือนแมลงภู่บินเข้าสวน ดูดเกสรดอกไม้จนอิ่มหนำสำราญ แต่ไม่เคยทำความช้ำชอกให้แก่ดอกไม้เลย นอกจากนี้แล้วสมณะยังต้องคำนึงถึง สมณสารูป คือจะทำอะไรต้องให้ควรแก่สมณวิสัย
๒. สมณะต้องสงบวาจา คือ สงบปากสงบคำ ไม่เป็นคนปากร้าย ไม่นินทาว่าร้ายใคร ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีกัน จะเป็นระหว่างพระกับพระ หรือพระกับฆราวาสก็ตาม จะทำไปโดยอ้างคณะ อ้างนิกาย อ้างวัด อ้างพวกไม่ได้ทั้งนั้น มีแต่วาจาที่เป็นอรรถเป็นธรรม ไม่ใช่วาจาเหมือนคมหอกคมดาบ แม้การพูดให้คนอื่นกระดากขวยเขิน เช่น พูดจาเกาะแกะผู้หญิงเล่นสนุกๆ ก็ผิดสมณสารูป
๓. สมณะต้องสงบใจ คือทำใจให้หยุดนิ่งเป็นสุขอยู่ภายใน สงบจากบาปกรรม ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นสงบแต่เปลือกนอกเหมือนเสือเฒ่าจำศีล จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด
การที่มีความสงบกาย วาจา ใจ ทั้ง ๓ ประการนี้ ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว มีคำอยู่ ๒ คำที่ใช้ชมความงามของคน คือถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไปเราใช้คำว่า สวยงาม แต่ถ้าจะชมสมณะเราใช้คำว่า สง่างาม เป็นความงามที่สง่า และยังมีความสงบเสงี่ยมอยู่ในตัว ทั้งสง่างามและสงบเสงี่ยม แต่ไม่จ๋อง ไม่กระจอกงอกง่อย เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่ตนเองปฏิบัติอยู่ มีความอิ่มเอิบอยู่ในธรรม เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประพฤติดีปฏิบัติชอบ “เด็กต้องการตัวอย่างที่ดีจากพ่อแม่ครูอาจารย์ฉันใด ชาวโลกทั้งหลายก็ต้องการตัวอย่างที่ดี จากสมณะฉันนั้น สมณะจึงเป็นมาตรฐานความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย”
ลักษณะของสมณะในเชิงปฏิบัติ
๑. สมณะต้องไม่ทำอันตรายใคร ไม่ว่าทางกายหรือทางวาจาก็ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร แม้ในความคิดก็ไม่คิดให้ร้ายใคร
๒. สมณะต้องไม่เห็นแก่ลาภ ดำรงชีพอยู่เพียงเพื่อทำความเพียร มีความสันโดษ ไม่เป็นคนเห็นแก่กิน เห็นแก่ปากแก่ท้อง
๓. สมณะต้องบำเพ็ญสมณธรรม พยายามฝึกฝนตนเอง ไม่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ แต่บำเพ็ญกิจวัตรของสมณะ เช่น การสวดมนต์ทำวัตร การศึกษาพระธรรมวินัย กิริยามารยาทต่างๆ ตั้งใจฝึกฝนอย่างเต็มที่
๔. สมณะต้องบำเพ็ญตบะ คือทำความเพียรเพื่อกำจัดกิเลส เป็นทหารในกองทัพธรรมอย่างเต็มที่ ตั้งใจรบเอาชนะกิเลสให้ได้ ไม่ว่าจะโดยการเดินจงกรม ทำสมาธิ อยู่ธุดงค์ ก็ตาม
นี่เป็นการขยายความจาก ปรูปฆาตี กับ ปรํ วิเหฐยนฺโต ซึ่งแสดงความเว้นของสมณะเท่านั้น ส่วนในทางปฏิบัตินั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกว่า "โอโณทโร โย สเหเต ชิคจฺฉํ ทนฺโต ตปสี มิตปานโภชโน อาหารเหตุ น กโรติ ปาปํ ตํ เว นรํ สมณมาหู โลเก" แปลว่า “บุคคลใดทนต่อความหิว ฝึกตน บำเพ็ญตบะ จำกัดอาหาร ไม่ทำบาปเพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง บุคคลนั้นแหละ เรียกว่า สมณะในโลก” เหล่านี้เป็นลักษณะของสมณะที่ยกขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า บรรพชิตไม่ใช่ว่าจะเป็นสมณะทุกรูป ซึ่งเป็นการแสดงตามหลักฐานที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นหลักฐาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ถึง สมณะที่ ๑-๔ ดังนี้
ในวันสุดท้าย ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชก ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา ท่านได้ทราบข่าวว่า พระสมณโคดมพุทธเจ้าจักปรินิพพานในยามสุดท้ายของคืนนี้ แต่ท่านยังมีข้อสงสัยอยู่หลายประการ เพราะได้ยินได้ฟังคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และบุพพาจารย์ทั้งหลายพากันกล่าวว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมอุบัติขึ้นในโลกเป็นบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการยาก การได้ฟังพระสัทธรรมก็เป็นการยาก ท่านเกิดปริวิตกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักปรินิพพานในยามสุดท้ายของคืนนี้แล้ว แต่ธรรมที่เราสงสัยนี้ ยังค้างคาใจของเราอยู่ เราก็มีความเชื่อมั่นในพระสมณโคดมพุทธเจ้าว่า พระองค์สามารถที่จะแสดงธรรมแก่เรา ทำให้เราขจัดความสงสัยในหัวข้อธรรมต่างๆเหล่านั้นได้
พอดำริเช่นนั้นแล้ว สุภัททปริพาชกจึงเข้าไปหาพระอานนท์ ที่ดงป่าไม้สาละของพวกมัลลกษัตริย์ เพื่อกล่าวถึงความตั้งใจของตน ที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทูลถามปัญหาที่ค้างคาใจ แต่ก็ถูกพระอานนท์กล่าวห้ามถึง ๓ครั้ง เพราะท่านเกรงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงลำบากพระวรกาย เนื่องจากพระพุทธองค์กำลังอาพาธ จึงไม่อยากให้ใครมารบกวน
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสดับคำเจรจาของพระอานนท์กับสุภัททปริพาชก ทรงทราบว่าปริพาชกเป็นผู้มีบุญ เมื่อหายสงสัยแล้วจะได้บรรลุธรรม ด้วยมหากรุณาอันหาประมาณมิได้ของพระพุทธองค์ จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์ อย่าห้ามสุภัททะเลย ให้สุภัททะเข้ามาหาเราเถิด สุภัททะจักถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรา เพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่เพื่อความเบียดเบียนเรา อนึ่ง เมื่อเราถูกสุภัททะถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความนั้นแก่สุภัททะ เขาจักรู้แจ้งเห็นจริงข้อความนั้นได้โดยง่ายดาย เพราะขณะนี้อินทรีย์เขาแก่รอบแล้ว เป็นผู้ควรแก่การตรัสรู้ธรรม”
พอฟังพุทธดำรัส พระอานนท์จึงกล่าวกับสุภัททปริพาชกว่า “เชิญเถิดท่านสุภัททะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระมหากรุณา ประทานโอกาสให้ท่านถามปัญหาแล้ว” สุภัททปริพาชกปลื้มปีติอย่างยิ่ง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบนมัสการด้วยความเคารพ แล้วกราบทูลถามความสงสัยที่มีอยู่ในใจว่า...
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่าใด เป็นเจ้าหมู่ เป็นเจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากต่างเข้าใจว่าเป็นคนดี คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถนาฏบุตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดตรัสรู้แล้วตามปฏิญญาของตน หรือทั้งหมดไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกตรัสรู้ บางพวกไม่ได้ตรัสรู้ ข้าพระองค์อยากทราบความเป็นสมณะของเจ้าลัทธิเหล่านี้ ขอพระองค์โปรดให้ความกระจ่างด้วย”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ปัญหานี้ไม่ควรพยากรณ์ เพราะจะเป็นไปเพื่อความไม่สงบใจ จึงได้ตรัสห้ามว่า “อย่าเลยสุภัททะ คำถามนี้หยุดไว้ก่อนเถิด เราจะแสดงธรรมแก่เธอ เธอจงตั้งใจฟังธรรมนั้นโดยเคารพ จงตั้งใจฟังให้ดีเถิด” สุภัททปริพาชก ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า... “ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด แม้สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น
สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด แม้สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ย่อมหาได้ในธรรมวินัยนั้น
สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิ คือ คำสอนอื่นๆ ที่เว้นจากอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมว่างจากสมณะผู้รู้ สุภัททะ ภิกษุเหล่านี้ พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย
ดูก่อนสุภัททะ ครั้งเมื่อเรามีวัย ๒๙พรรษา บวชแล้วแสวงหาอยู่ว่า อะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้วจนถึงบัดนี้นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะที่เป็นไปในส่วนแห่งธรรมที่เป็นเครื่องนำออกจากภพ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่มีในภายนอกแต่พระธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิคำสอนอื่นว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกก็ไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”
เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเกิดดวงตาเห็นธรรม ความมืดในจิตใจได้ถูกขจัดให้หมดไปด้วยแสงแห่งธรรมของพระพุทธองค์ ความสงสัยที่มีมายาวนานก็หมดสิ้นไป และเกิดความศรัทธาเลื่อมใสอย่างท่วมท้น ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป จึงขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก แล้วกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ประทานการบวชให้
ท่านพระสุภัททะได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ไม่ช้านานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ท่านสุภัททะได้เป็นอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นสักขิสาวกองค์สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค ฯ
ให้เราเข้าใจเรื่องพระศาสนา เพาะศาสนาเป็นสิ่งที่สูงส่ง เพราะทำให้เราได้พัฒนาจิตใจ ไม่งั้นเราก็จะเป็นได้เพียงแค่คน
ความหลงที่เราพากันหลงนี่เรียกว่าไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ก็แปลว่าความหลง หลงในตัวในตนในร่างกาย ในเวทนา พระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ให้เอาร่างกายนี้เป็นเรา ขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน เป็นเรา ถ้าเรารู้อย่างนี้ เราก็จะได้ปฏิบัติง่าย ถ้าเราเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นเรา ยิ่งกว่าเราแบกโลกทั้งโลกอีก เราทุกคนที่พากันมาบวชมาปฏิบัติ ก็ต้องพากันฝึกพากันปฏิบัติ พวกที่มาบางครั้งบางคราวก็พากันฝึกกันปฏิบัติ พวกที่กลับไปบ้านก็เอาธรรมมะไปปฏิบัติอยู่ที่บ้านน่ะ เพราะปัญหาต่างๆ ไม่ได้อยู่กับบุคคลภายนอก มันอยู่กับตัวเรานี้เอง แต่เรามีความเห็นผิดเข้าใจผิด มันไม่ได้ปรับกายวาจาใจ มันจะมีปัญหา ก็ไปโทษแต่สิ่งต่างๆ น่ะ
เรามีโอกาศพิเศษที่ได้มาบรรพชาอุปสมบทได้มาวัด ก็พากันประพฤติพากันปฏิบัติ ก็นำตัวเองเข้าหาธรรมมะได้ เราไม่มีสิท์ที่จะตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก เราต้องเข้าสู่กิจกรรมคือ ศีล สมาธิ ปัญญา คือพรหมจรรย์ คือพระธรรมพระวินัย เข้าสู่การเป็นพระ เราจะไม่ได้เป็นพระตั้งแต่แบรนด์เนม เป็นสมมุติสงฆ์ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราจะได้รู้แก่นแท้ของความประเสริฐที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะเราทุกคนมีความสุขมีความดับทุกข์อยู่แล้ว ถ้าเราเอาพระธรรมเอาพระวินัย ได้ข่าวว่าคนโน้นไปทำงานอย่างโน้น ก็มีปัญหาอย่างนู้นอย่างนี้ มันไม่ใช่เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของตัวเราเอง อันนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่นมันเกี่ยวกับตัวเรา เราจึงต้องเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญา ให้ทุกคนรู้จักศาสนา ศาสนาก็คือธรรมะ คือคำสั่งสอน คือความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง
ความสุข ความดับทุกข์ของเราทุกคนอยู่ที่ใจสงบ ไม่ว่าเราจะเป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่แข็งแรง ความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ใจสงบ พระพุทธเจ้าท่านถึงได้มีเมตตาสอนเราให้พากันมีสติ มีสัมปชัญญะให้พากันฝึกปล่อยฝึกวางในเรื่องความยึดมั่นถือมั่น
ที่มันเป็นอดีต... 'อดีต' คือกรรมเก่าที่พวกเราพากันยึดถือ ถ้าเราไม่ฝึกปล่อย ไม่ฝึกวาง มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยสนับสนุนกรรมใหม่ไปเรื่อยๆ สิ่งที่เป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว ที่มันเป็นสิ่งที่ดี...ไม่ดี พระพุทธเจ้าให้เราปล่อยวางให้หมด พยายามมีสติ มีสัมปชัญญะ พยายามทำใจของเราไม่ให้มีทุกข์ ทำใจให้เบิกบาน ผิดก็เป็นครู ถูกก็เป็นครู สิ่งที่แล้วก็แล้วไป พยายามใหม่ ตั้งใจใหม่ มาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ตั้งมั่นในความดี สมาทานความดี เป็นผู้ที่มีความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป มีความอด มีความทน ถ้าเราเชื่อตัวเราเอง เชื่อใจของเราเองนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาศีลเอาธรรมเป็นหลัก
เรารู้ เราเห็น เราเข้าใจนั้น มันยังใช้ไม่ได้ เราต้องเอาความรู้ความเห็นมาประพฤติปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนนั้นต้องปฏิบัติ...มันถึงจะเป็นเหมือนเขาจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่ชำนาญ ผู้ที่เป็นหมอก็ไปเรียนทางด้านเป็นหมอ ผู้ที่เป็นวิศวกรก็ไปเรียนวิศวกร ผู้ที่เป็นเกษตรกรรมก็ไปเป็นเกษตรกรรม ผู้ที่ค้าขายก็ต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ค้าขาย บุคคลผู้นั้นถึงจะเป็น ถึงจะเชี่ยวชาญ เราทุกคนก็เหมือนกันที่ได้มรรคผลพระนิพพานก็ต้องเรียนรู้ต้องเข้าใจและประพฤติปฏิบัติ อบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" เรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องคุณธรรมนั้น ไม่มีใครมาแต่งตั้งให้เราได้ นอกจากประพฤติปฏิบัติของเราเอง เขาแต่งตั้งให้เราเป็นพระเป็นเณร เป็นแม่ชี มันก็เป็นแต่เพียงภายนอก ให้ทุกท่านทุกคนให้เข้าใจดีๆ ว่า เราทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติเอง หายใจเข้าออกเอง พักผ่อน รับประทานอาหารเอง ที่พึ่งแท้จริงของเรา ก็คือศีล คือสมาธิ คือสติสัมปชัญญะ ปัญญาต้องเข้าใจ เรื่องกิเลส เรื่องความอยาก เรื่องความหลงของเรา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee