แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๕๖ ทำประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ในภายหน้า และประโยชน์สูงสุดให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญพุทธบารมี หลายล้านชาติ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วมาบอกพวกเราที่เป็นมนุษย์ ถ้าเราทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึกตัวเอง เราก็พากันเป็นได้แต่เพียงคน อยู่ในอบายมุข อบายภูมิ สมณะที่ 1 2 3 4 ถึงอยู่ในความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง อยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี แต่ก็เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เราทุกคนให้พากันรู้นะ ร่างกายนี้มันเป็นธรรม ที่มันรวมกันเป็นพลังงาน เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นพลังงานแห่งความหลง เราถึงเอาชีวิตที่ประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มาประพฤติมาปฏิบัติกันในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบัน เพราะว่าในอดีตก็ไม่ได้ อนาคตก็ไม่ได้ ปัจจุบันจึงสำคัญ เพราะความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ที่เป็นอดีต เป็นอนาคต อันนั้นมันเป็นการโคจรของโลก
เราทุกคนต้องจับหลักให้ได้ ถึงเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ เราจะใช้ร่างกายนี้เหมือนกับใช้รถยนต์ เหมือนกันใช้ภาชนะเฉยๆ คนเรานี้ไปเอาความรู้สึกว่าเป็นเรา มันไม่ได้นะ เพราะอันนี้แหละมันเป็นธาตุ เป็นขันธ์ มันเป็นอายตนะ ถ้าเอาความรู้สึกเป็นเรา เราก็ต้องเป็น เค้าแต่งตั้งให้เราเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เป็นคนจีน คนไทย คนฝรั่ง คนอะไรมันก็เป็นไป มันก็ต้องเป็นทุกข์ อย่างนี้แหละต้องเข้าใจ การปฏิบัติธรรมนี้ ปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่ออย่างอื่น ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันก็จะพอดี มันจะดับทุกข์ ของมันเอง พระพุทธเจ้าถึงตรัสสอน แม้แต่สำคัญว่าเราดีกว่าเขา ด้อยกว่าเขา หรือเสมอเขา มันก็ยังไม่ใช่ เพราะมันเป็นความปรุงแต่ง เราพากันปฏิบัติธรรม มันถึงมีปัญหาเพราะเราไม่เอาอริยมรรคมีองค์ 8 ทำไม่ถูกก็คือทำไม่ถูก เพราะเราต้องจับหลักให้ได้
เราต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์ให้มันสมบูรณ์ เพื่อความสะดวกความสบาย และก็พัฒนาใจให้สมบูรณ์ เราจะได้ใช้สอยปัจจัย 4 เค้าเรียกว่าทุกอย่างมันเป็นคุณ ร่างกายมันก็เป็นคุณ พวกความแก่ ความเจ็บ ความตาย พวกนี้มันเป็นคุณสำหรับเรา ที่ให้เราพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ เพราะความเป็นจริงมันอย่างนี้แหละ คนเรามันจะเอาเราเป็นเรา เค้าสมมุตติให้เป็นผู้หญิง ผู้ชาย มันไม่ได้หรอกอันนี้ มันเป็นเรื่องสมมุตติเพื่อจะใช้งาน ใช้การอะไรเฉยๆ อย่างนี้เราจะได้ไม่หลงขยะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้แน่นอน สมณะที่ 1 2 3 4 ต้องทำอย่างนี้ เราจะได้เป็นมนุษย์ จะได้เป็นประชาชนที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง หรือว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ แพทย์ พยาบาล อย่างถูกต้อง มันจะเป็นไปปตามหลัก เพราะมันเป็นกฏแห่งกรรม เพราะเรานี้ไปเหนื่อยกับร่างกาย ร่างกายมันเหนื่อยแต่ว่าใจมันคนละอย่างนะ ร่างกายมันหิวก็จริง ใจมันคนละอย่าง เราอย่าไปซบเซากับความง่วงเหงาหาวนอน ไปตามความฟุ้งซ่านไม่ได้ อันนี้มันไม่เกี่ยวกับคนบ้านนอก ไม่เกี่ยวกับคนในเมือง การเรียนการศึกษา มันเกี่ยวกับความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง
กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาจะตรัสรู้บทอันสงบแล้วอยู่ พึงบำเพ็ญไตรสิกขา (กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ)
กรณียะ ก็มี อกรณียะ ก็มี. ในสองอย่างนั้น โดยสังเขป สิกขา ๓ ชื่อว่ากรณียะ. ศีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ ดังกล่าวมาอย่างนี้เป็นต้น ชื่อว่าอกรณียะ.
อนึ่ง อัตถโกศลก็มี อนัตถโกศลก็มี. ใน ๒ อย่างนั้น ผู้ใดบวชในพระศาสนานี้ไม่ประกอบตนไว้โดยชอบ เป็นผู้มีศีลขาด อาศัยอเนสนา การแสวงหาที่ไม่สมควร ๒๑ อย่างเลี้ยงชีวิต คือ ๑ ให้ไม้ไผ่ ๒ ให้ใบไม้ ๓ ให้ดอกไม้ ๔ ให้ผลไม้ ๕ ให้ไม้ชำระฟัน ๖ ให้น้ำล้างหน้า ๗ ให้น้ำอาบ ๘ ให้ผงทาตัว ๙ ให้ดินถูกตัว ๑๐ ประจบ ๑๑ พูดจริงปนเท็จ ๑๒ เลี้ยงลูกให้เขา ๑๓ รับใช้คฤหัสถ์ ๑๔ ทำตัวเป็นหมอ ๑๕ ทำตัวเป็นทูต ๑๖ รับส่งข่าวคฤหัสถ์ ๑๗ ให้ข้าวของหวังผลตอบแทน ๑๘ แลกเปลี่ยน๑๙ เป็นหมอดูพื้นที่ ๒๐ เป็นหมอดูฤกษ์ ๒๑ เป็นหมอดูลักษณะ และประพฤติอโคจร ๖ คือ ๑ หญิงแพศยา ๒ หญิงหม้าย ๓ หญิงสาวแก่ ๔ บัณเฑาะก์ ๕ ภิกษุณี ๖ ร้านเหล้า. คลุกคลีกับคฤหัสถ์ คือพระราชา อมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่สมควร. เสพคบ เข้าใกล้ตระกูลที่ไม่มีศรัทธาปสาทะ ไม่เป็นดังบ่อน้ำ ด่าและบริภาษ หวังแต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่เกื้อกูล ไม่ผาสุก ไม่ปลอดโยคะ แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้นี้ชื่อว่าผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์.
อนึ่ง ผู้ใดบวชในพระศาสนานี้ ประกอบตนโดยชอบ ละอเนสนา ปรารถนาแต่จะตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีล บำเพ็ญปาติโมกขสังวรศีลด้วยศรัทธาเป็นสำคัญ บำเพ็ญอินทรียสังวรศีลด้วยสติเป็นสำคัญ บำเพ็ญอาชีวปาริสุทธิศีลด้วยความเพียรเป็นสำคัญ บำเพ็ญการเสพปัจจัยด้วยปัญญาเป็นสำคัญ ผู้นี้ชื่อว่าผู้ฉลาดในประโยชน์.
อนึ่ง ผู้ใดรู้ว่า ผ้าสกปรก อาศัยน้ำเค็ม ก็ทำให้สะอาดได้ กระจกอาศัยเถ้า ก็ทำให้สะอาดได้ ทองอาศัยเบ้าหลอมก็ทำให้ผ่องแผ้วได้ ฉันใด ศีลอาศัยญาณก็ผ่องแผ้วได้ฉันนั้น แล้วชำระด้วยน้ำคือญาณ ก็ทำศีลให้บริสุทธิ์ได้ เปรียบเหมือนนกต้อยตีวิดรักษาไข่ เนื้อทรายจามรีรักษาขนหาง นารีมีบุตรคนเดียวรักษาบุตรคนเดียวที่น่ารัก บุรุษมีดวงตาข้างเดียวรักษาดวงตาข้างเดียวนั้นไว้ ฉันใด ผู้ไม่ประมาทอย่างเหลือเกิน ก็รักษาศีลขันธ์ของตน ฉันนั้น เขาพิจารณาทั้งเย็นเช้า ก็ไม่พบโทษแม้ประมาณน้อย แม้ผู้นี้ก็ชื่อว่าผู้ฉลาดในประโยชน์.
เมื่อพระศาสดาตรัสในกาลที่จวนจะปรินิพพานว่า "ภิกษุทั้งหลาย โดยกาลล่วงไป ๔ เดือนแต่วันนี้ เราจักปรินิพพาน" ภิกษุประมาณ ๗๐๐ รูปซึ่งยังเป็นปุถุชน เกิดความสังเวช ไม่ละสำนักพระศาสดาเลย เที่ยวปรึกษากันว่า "ท่านผู้มีอายุ พวกเราจะทำอะไรหนอแล?"
ส่วนพระอัตตทัตถเถระคิดว่า "ข่าวว่า พระศาสดาจักปรินิพพานโดยกาลล่วงไป ๔ เดือน ก็ตัวเรายังเป็นผู้มีราคะไม่ไปปราศ, เมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่นี่แหละ เราจักพยายามเพื่อประโยชน์แก่พระอรหัต."
พระเถระนั้นย่อมไม่ไปสำนักของภิกษุทั้งหลาย. ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะท่านว่า "ผู้มีอายุ ทำไม? ท่านจึงไม่มาสำนักของพวกกระผมเสียเลย, ท่านไม่ปรึกษาอะไรๆ" ดังนี้แล้ว ก็นำไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ภิกษุรูปนี้ย่อมทำชื่ออย่างนี้."
พระอัตตทัตถเถระนั้น แม้พระศาสดาตรัสว่า "เหตุไร? เธอจึงทำอย่างนั้น" ก็กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข่าวว่าพระองค์จักปรินิพพานโดยกาลล่วงไป ๔ เดือน ข้าพระองค์พยายามเพื่อบรรลุพระอรหัต ในเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นี่แหละ."
พระศาสดาประทานสาธุการแก่พระเถระนั้นแล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีความสิเนหาในเรา ผู้นั้นควรเป็นดุจอัตตทัตถะ ด้วยว่า ชนทั้งหลายบูชาอยู่ด้วยวัตถุต่างๆ มีของหอมเป็นต้น ย่อมไม่ชื่อว่าบูชาเรา, ส่วนผู้บูชาอยู่ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมชื่อว่าบูชาเรา เพราะฉะนั้น แม้ภิกษุรูปอื่นก็พึงเป็นเช่นอัตตทัตถะ" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย อตฺตทตฺถมภิญฺญาย สทตฺถปสุโต สิยา.
บุคคลไม่พึงยังประโยชน์ของตน ให้เสื่อมเสีย เพราะประโยชน์ของคนอื่นแม้มาก รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงเป็นผู้ขวนขวายในประโยชน์ของตน.
เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า :- บุคคลผู้เป็นคฤหัสถ์ ไม่พึงยังประโยชน์ของตน แม้ประมาณกากณิกหนึ่งให้เสื่อมเสีย เพราะประโยชน์ของคนอื่น แม้ประมาณค่าตั้งพันทีเดียว. ด้วยว่าประโยชน์ของตนแห่งบุคคลนั้นแล แม้ประมาณกากณิกหนึ่ง ก็ยังของควรเคี้ยวหรือของควรบริโภคให้สำเร็จได้ ประโยชน์ของคนอื่น หาให้สำเร็จไม่.
กากณิก เป็นชื่อของมาตราเงินอย่างต่ำที่สุด แทบไม่มีค่าเสียเลย แต่ในที่นี้ เป็นคุณบทของคำว่าประโยชน์ จึงหมายความว่า ประโยชน์ของตนแม้น้อย จนไม่รู้จะประมาณได้ว่าเท่าไหน ก็ไม่ควรให้เสียไป.
ส่วนสองบาทพระคาถาเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสอย่างนั้น ตรัสด้วยหัวข้อแห่งกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ภิกษุตั้งใจว่า ‘เราจะไม่ยังประโยชน์ของตนให้เสื่อมเสีย’ ดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงยังกิจมีการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์เป็นต้น อันบังเกิดขึ้นแก่สงฆ์ หรือวัตถุมีอุปัชฌายวัตรเป็นต้นให้เสื่อมเสีย ด้วยว่าภิกษุบำเพ็ญอภิสมาจาริกวัตรให้สมบูรณ์อยู่แล ย่อมทำให้แจ้งซึ่งผลทั้งหลายมีอริยผลเป็นต้น. เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญวัตรให้บริบูรณ์แม้นี้ จึงชื่อว่าเป็นประโยชน์ของตนแท้.
อนึ่ง ภิกษุใดมีวิปัสสนาอันปรารภยิ่งแล้ว ปรารถนาการแทงตลอดว่า ‘เราจักแทงตลอดในวันนี้ๆ แหละ’ ดังนี้แล้ว ประพฤติอยู่, ภิกษุนั้น แม้ยังวัตรมีอุปัชฌายวัตรเป็นต้นให้เสื่อมแล้ว ก็พึงทำกิจของตนให้ได้. ก็ภิกษุรู้จักประโยชน์ของตนเห็นปานนั้น คือกำหนดได้ว่า ‘นี้เป็นประโยชน์ตนของเรา’ พึงเป็นผู้เร่งขวนขวาย ประกอบในประโยชน์ของตนนั้น."
ในกาลจบเทศนา พระเถระนั้นได้ตั้งอยู่ในพระอรหัตผล. เทศนาได้เป็นประโยชน์แม้แก่ภิกษุผู้ประชุมกันทั้งหลาย ดังนี้แล.
การทำ “ประโยชน์ของผู้อื่น” เป็นสิ่งที่ดี ที่เราควรทำ เพราะ มีผลเป็น “วิบากกรรมดี” หรือ “กุศลวิบาก” แต่เราต้องระมัดระวัง อย่าให้เสีย “ประโยชน์ของตน”
การทำ “ประโยชน์ของตน” หมายถึง การปฏิบัติตาม โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ประการ ได้แก่
๑. การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การไม่สร้างอกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมที่ไม่ดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต
๒. การหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การเพียรหมั่นสร้างกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต
๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง การเพียรหมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล หรือ มูลเหตุของอกุศล ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น
การทำ “ประโยชน์ของผู้อื่น” หมายถึง การกระทำ เพื่อเกื้อกูลโลก เพื่อเกื้อกูลสังคม เพื่อเกื้อกูลผู้อื่น และ เพื่อเกื้อกูลสัตว์อื่น อันมีผลเป็น “วิบากกรรมดี” หรือ “กุศลวิบาก”
เพราะเหตุว่า ชีวิตของคนเรา ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆไป ขึ้นอยู่กับ ผลของการทำ “ประโยชน์ของตน” เป็นหลัก
และ เพราะเหตุว่าโดยปกติแล้ว การทำ “ประโยชน์ของตน” ย่อมก่อให้เกิด “ประโยชน์ของผู้อื่น” ตามมา เป็นธรรมดา
ดังนั้น เราจึงควรมุ่งเน้น การทำ “ประโยชน์ของตน” เป็นหลัก เพื่อทำให้เกิด “ประโยชน์ของผู้อื่น” โดยไม่ทำให้เสีย “ประโยชน์ของตน”
การทำ “ประโยชน์ของผู้อื่น” แล้วทำให้เสีย “ประโยชน์ของตน” หมายถึง
๑. การทำประโยชน์ของผู้อื่น แล้วทำให้ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน พอกพูนเพิ่มขึ้น ในจิตใจของตน คือ เกิดความโลภ เกิดความอยากได้ เกิดความอยากมี และ เกิดความอยากเป็น เพิ่มมากขึ้น
หรือ เกิดอารมณ์ไม่พอใจ เกิดอารมณ์ขัดเคืองใจ เกิดอารมณ์โกรธ เกิดอารมณ์โทสะ เกิดอารมณ์พยาบาทอาฆาตแค้น
หรือ เกิดความหลงใหลติดใจ ในลาภ ยศ สรรเสริญ และ โลกียสุข เพิ่มมากขึ้น
๒. การมุ่งทำประโยชน์ของผู้อื่น จนไม่มีเวลา ทำประโยน์ของตน
๓. การทำประโยชน์ของผู้อื่น แล้วทำให้ตน เป็นทุกข์ เดือดร้อนกาย และ เดือดร้อนใจ
๔. การทำประโยชน์ของผู้อื่น แล้วทำให้ผู้อื่น หรือ สัตว์อื่น เป็นทุกข์ เดือดร้อนกาย และ เดือดร้อนใจ (เกิดอกุศลวิบาก มาเติมเพิ่มในชีวิต)
คำว่า ประโยชน์ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง ความสุข หรือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น เจริญขึ้น หรือแปลว่า จุดหมายของชีวิตมนุษย์ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น ๒ ประการ คือ ๑.ประโยชน์ทางวัตถุ ได้แก่ ทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น ๒. ประโยชน์ทางด้านจิตใจ ได้แก่ การบรรลุคุณธรรม ทั้งมรรคผล และนิพพาน หรือระดับขั้นของการพัฒนาจิตใจ
ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้เห็น ตามหลักแห่งความเป็นจริงจนกระทั่งวาระสุดท้ายพระองค์ทรงเน้นย้ำมากในเรื่องการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน ดังที่ปรากฏในพุทธดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อ เกื้อกูลแก่คนหมู่มากเพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลเพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ไม่เพียงแต่จะทรงสั่งสอนให้เหล่าภิกษุบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น เท่านั้น แม้พระองค์เองก็ทรงได้ปฏิบัติตามหลักการนั้นให้เห็นเป็นแบบอย่างด้วยดีมาตลอด นับตั้งแต่ทรงตรัสรู้จนถึงปรินิพพาน ในเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สุขของคนหมู่มากนั้น พระองค์ยังได้ทรงตรัสอธิบายขยายความถึงรายละเอียดของหลักการนั้น โดยได้แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์ ได้แก่ ประโยชน์ในปัจจุบัน หรือประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์อย่างที่เห็นๆ เพราะทิฏฐธัมมะแปลว่า เรื่องที่เห็นๆ กันอยู่ เรื่องที่มองเห็นได้ในแง่กาละ ก็คือปัจจุบัน หรือถ้าพูดในแง่ของเรื่องราวก็คือเรื่องทั่วๆ ไป เรื่องการดำเนินชีวิต การเป็นอยู่ที่ปรากฏ เรื่องทางวัตถุที่เห็นกันได้ สภาพภายนอก เช่น การมีปัจจัย ๔ มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย มีฐานะ มีลาภ มีเกียรติ มียศ มีสรรเสริญ เรื่องชีวิตคู่ครอง ความมีมิตรไมตรี อะไรต่างๆ ในชีวิตปัจจุบันนี้ ในชีวิตที่มองเห็นๆ กันอยู่ นี้เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ซึ่งพระพุทธศาสนาก็สอน ว่าเป็นจุดหมายประการหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรือการปฏิบัติตามธรรมในพระพุทธศาสนา
๒. สัมปรายิกัตถประโยชน์ ได้แก่ ประโยชน์ที่เลยออกไปหรือต่อออกไป สัมปราย แปลว่า เลยออกไป ก็หมายถึงเบื้องหน้า เลยออกไปไกลๆ ก็คือ ภพหน้า ชาติหน้า จะไปเกิดที่ดีๆ ไม่ไปเกิดที่ชั่วๆ นี่เป็นประโยชน์หรือเป็นจุดหมายขั้นสัมปรายะ หรือถ้าไม่มองไกลมากอย่างนั้น ก็ได้แก่สิ่งที่เป็นหลักประกันชีวิตในเบื้องหน้าหมายถึงสิ่งที่ลึกเข้าไปทางจิตใจ คือ พ้นจากเรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การมีฐานะ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ชั้นภายนอกแล้วก็มาถึงเรื่องจิตใจ เรื่องคุณธรรมต่างๆ การที่จะมีจิตใจที่สุขสบาย ซึ่งท่านบอกว่าต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีศรัทธา มีความประพฤติซึ่งทำให้มั่นใจตนเอง มีศีล มีจาคะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีสุตะ มีความรู้ได้เล่าเรียนศึกษาและมีปัญญา มีความเข้าใจรู้จักสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง อะไรพวกนี้ นี้เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งเข้าไปในจิตใจ ซึ่งเมื่อมีแล้วก็เป็นเครื่องรับประกันชีวิตในเบื้องหน้าได้ทีเดียวว่า คติชีวิตจะเป็นไปในทางที่ดี นี้ก็เป็นจุดหมายประการหนึ่งในทางพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล สมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทางเสวยมากจนกระทั่งอ้วนอึดอัด พระพุทธเจ้าก็ทรงตักเตือน พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับได้ทูลพระพุทธเจ้าว่าพระองค์นี้ทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ ไม่เฉพาะเรื่องสัมปรายิกัตถะเท่านั้น ทรงอนุเคราะห์แม้แต่ในเรื่องทิฏฐธัมมิกัตถะด้วย
๓. ปรมัตถประโยชน์ ได้แก่ ประโยชน์สูงสุด หรือจุดหมายสุดสูด คือ พระนิพพาน ความมีใจเป็นอิสระ ความมีจิตหลุดพ้นจากการถูกบังคับบงการชีวิตด้วยอำนาจของความอยากได้ อยากมี อยากเป็น จึงมีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานได้ตลอดเวลา เพราะปราศจากกิเลส
พระพุทธเจ้าทรงนำพาเราทำดีอย่างสมบูรณ์ งดงามทั้งในเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด เราจะไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะมันไม่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความหลุดพ้น เพื่อพระนิพพาน พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ทั่วโลก ทวนกระแส ทวนใจ ทวนอารมณ์ ทวนความรู้สึกทวนอัธยาศัยของเรา พระพุทธเจ้าทรงขนาบเรา เราจึงต้องมาขนาบตนเอง ฝึกฝนตนเอง เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องเฉพาะตน ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น
พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้ว่า “อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม เหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อที่ยังเปียก ยังดิบอยู่ อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้. คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใดๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละ คือผู้ชี้ขุมทรัพย์, ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น เมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้นอยู่ ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย”
หลวงพ่อกัณหา ไม่ได้ว่าให้พระภิกษุสามเณรผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านะ ว่าให้แต่ภิกษุสามเณร ที่ทำตามจิตตามใจ ตามอารมณ์ตามความรู้สึก ออกนอกแนวพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้สำนึกสำเหนียกว่าที่ครูบาอาจารย์นำพาเราประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก
เราจะได้ไม่เอาพระธรรม คำสอนที่ประเสริฐนั้น มาเหยียบย่ำทำลายให้หายไป เพราะอวิชชาความหลง ความเห็นแก่ตัว ที่เราเป็นผู้นำเป็นประธานสงฆ์ เหมือนที่กำลังเป็นกันอยู่นี้ ทุกคนยังหน้าไม่อายบอกว่าตนเองเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า ท่านยังจะมีหน้ามาพูด เป็นแต่ผู้เอาศาสนา เอาชื่อเสียงครูบาอาจารย์มาหากิน ให้พิจารณาให้ดีๆ อย่าปฏิเสธพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ที่ท่านได้เสียสละบอกสอนนำพาเราประพฤติปฏิบัติขัดเกลาเพื่อพระนิพพาน
จะหัวดีไม่หัวดีไม่สำคัญ สำคัญที่มุ่งมรรคผลนิพพานจริงๆ เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ต้องเป็นคนซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามรอยของพระพุทธเจ้า ใครจะฉลาด ไม่ฉลาด จะหัวดี ไม่หัวดี ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราเป็นคนซื่อสัตย์ คนซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้าจะไม่ไปคิดเรื่องอยากได้เงินได้ทอง ไม่มีใจไปคิดเรื่องผู้หญิงเรื่องกินเรื่องเที่ยว คนซื่อสัตย์จะไม่คิดไม่พูดไม่ทำแบบนี้ ต้องเป็นผู้ซื่อสัตย์ เกรงกลัวต่อบาปละอายต่อบาป ไม่คิดเรื่องไปในทางกาม ไม่คิดเรื่องผู้หญิง เรื่องกามคุณ แม้กระทั่งเรื่องเสพเรื่องกินเรื่องเที่ยวที่ผ่านมาก็ตามที ต้องไม่คิด จึงเป็นการพัฒนาไปสู่ความซื่อสัตย์ มันมีอย่างที่ไหนเราบวชเป็นพระยังไม่เกรงกลัวต่อบาปไม่ละอายต่อบาป ยังคิดถึงสาว คิดชอบสาวอยู่ อย่างนี้คือคนไม่ซื่อสัตย์ คิดเรื่องเงินเรื่องทองเรื่องยศตำแหน่งสรรเสริญ ไม่มีใครจะบรรลุธรรมได้เลยถ้าไม่ซื่อสัตย์ อย่างระบบความคิดระบบความเห็นของที่วัดเรา องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ไม่ให้มีโทรศัพท์ เราก็ยังคิดแต่ว่าวัดนั้นก็ยังมีวัดนี้ก็ยังมีวัดนั้นก็ยังโทร เราจะไปเอามาตรฐานของที่อื่นไม่ได้ มันคือการยังยินดีในกาม ใครจะไปทำอย่างนั้นก็ช่างหัวมัน พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เราคิดไม่ได้ให้เราทำอย่างนี้
ทุกท่านทุกคนต้องเป็นคนซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้า ซื่อสัตย์ต่อพระธรรม ซื่อสัตย์ต่อพระอริยสงฆ์ สิ่งไหนไม่ดีต้องไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำถ้าไม่เป็นคนซื่อสัตย์ถึงจะปลงผมห่มผ้าเหลืองแต่ใจก็ ยังเป็นโจรเป็นมหาโจร หมกดาบหมกปืนพกระเบิดเอาไว้ในจีวร เพราะไม่ซื่อสัตย์ทำตามใจทำตามอารมณ์ไม่มีความละอายแก่ใจไม่มีหิริโอตตัปปะ ทำตามผู้ทุศีล ทำตามอลัชชีก็พาตัวของตัวเองให้เป็นผู้ทุศีลเป็นอลัชชีตามไปด้วย
ใจเรานี้คือเมล็ดพันธุ์คือปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีไม่บริสุทธิ์เอาไว้สิ่งไม่ดีสิ่ง ไม่บริสุทธิ์จะไปคิดมันทําไม จะไปติดใจ จะไปติดอกติดใจอยู่ในเรื่องกามคุณไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ ทางแห่งพรหมจรรย์จึงต้องสมาทานไม่คิดไม่พูดไม่ทำ ต้องมาสมาทานให้เป็นผู้ที่มีศีลงดงาม ให้เป็นผู้ที่งดงามด้วยศีลด้วยสมาธิและปัญญาที่เสมอกัน เราจึงต้องมาสมาทานเพื่อเป็นผู้ที่มีศีล มีสมาธิมีปัญญา เสมอกันทั้งอาราม มีปัญญาสละคืนความขี้เกียจขี้คร้าน ความเห็นแก่ตัว ทุกคนต้องเป็นหนึ่ง ต้องเป็น เอกไม่เป็นรองใคร เพราะธรรมะเป็นหนึ่งเป็นเอกไม่ได้เป็นรอง ถ้าทำอยางนี้ไม่ต้องกลัวใครว่าเพราะเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ไม่ต้องระแวงภัยจากที่ไหนๆ เราบวชมาเพื่อเสียสละจึงต้อง ตามรอยพระพุทธเจ้าเอาอยางพระอรหันต์ผู้เป็นต้นแบบให้เรา เราต้องพัฒนาตนเองเช่นนี้ปฏิบัติเช่นนี้ อย่าไปคิดว่าทำไม่ได้สมองไม่ดี มันไม่เกี่ยวกันเลย อยู่ที่ความซื่อสัตย์ถ้าคิดพูดทำในสิ่งดีๆ สิ่งที่ออกมาก็จะมีแต่ธรรมะจะได้เป็นพืชพันธุ์ สร้างความดีให้แก่ตนเอง สร้างที่พึ่งให้แก่ตนเองและก็ยังสร้างที่พึ่งให้แก่พระศาสนาให้แก่ญาติพี่น้องแล้วก็ศรัทธาประชาชน ไม่เกี่ยวกับรู้มากรู้น้อย ขึ้นอยู่ที่ความซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ต่อพระอริยสงฆ์ เอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ อย่าไป เก็บโจรมหาโจรเอาไว้ในใจ ต้องเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นหลักเป็นใหญ่เอาไว้ในใจ ต้องพากนทำอย่างนี้ ปฏิบัติอยางนี้ พระพุทธเจ้าจึงจะไว้วางใจเรา ครูบาอาจารย์จึงจะไว้วางใจเรา
เพราะทุกวันนี้หาคนไว้วางใจยาก ประชาชนจะกราบก็แค่กราบสัญลักษณ์แค่ปลงผมห่มผ้าเหลืองแต่ใจก็ยังสงสัยอยูว่า เป็นพระจริงหรือเปล่า ใจเป็นพระจริงหรือเปล่า ใจไม่ได้เป็นมหาโจร จึงต้องกลับมาหาธรรมะบ้าง หายใจเข้าหายใจออกให้มี ความสุขสดชื่นเบิกบานกระปรี้กระเปร่า กายก็อย่างหนึ่ง ใจก็อย่างหนึ่ง ใจต้องรู้จักความคิดต้องรู้จักการปรุงแต่ง อย่าให้เล่ห์เหลี่ยมมายาของโจรของมหาโจรมาครอบงำจิตใจ จะได้ไม่เป็นทาสของกิเลส ตัณหาและอวิชชา
ธมฺมํ จเร สุจริตํ น นํ ทุจฺจริตํ จเร ธมฺมจารี สุขํ เสติ อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ.
บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต, ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้ทุจริต, ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า.
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee