แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๕๒ เราโชคดี เรามีพระพุทธเจ้า ทำตามพระพุทธเจ้า จึงจะดับทุกข์ให้กับตนเองได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐจริงๆ หาที่สุดหาประมาณไม่ได้ เป็นโอกาสพิเศษที่ทุกท่านทุกคนจะได้บำเพ็ญบารมีตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐสูงสุดในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะเปรียบปราน ถ้าทุกคนไม่ได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอริยะเจ้าได้ เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ เป็นธรรมะที่ประเสริฐสุด เป็นธรรมะที่หยุดวัฏฏะสงสาร ที่เป็นศีลเป็นสมาธิ เป็นปัญญา ที่มารวมกันเป็นหนึ่ง ที่เป็นกิจกรรมที่นำเราทุกคนเดินไปสู่ความดับทุกข์ในปัจจุบัน
ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญทุกๆ คน เราทุกคนคือว่าต้องไม่มีอะไรที่จะมีโอกาสดีพิเศษ เราจะปล่อยให้ตัวเองหลงต่อไปอย่างนี้ไม่ได้ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เพราะเรานี้ต้องมีตาเพื่อความฉลาด เรามีหูก็เพื่อฉลาด มีจมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อฉลาดแล้วเพื่อจะได้มาเป็นสิ่งที่ประพฤติเพื่อปฏิบัติ เราต้องบริโภคทุกสิ่งทุกอย่างด้วยสติ ด้วยปัญญา ครั้งเดี๋ยวนี้กับครั้งพุทธกาลก็เหมือนกัน สิ่งที่หมุนเวียนก็คือโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ แต่ทุกอย่างมันก็เป็นปัจจุบัน พระพุทธเจ้าถึงไม่พูดถึงเรื่องตายแล้วเกิดตายแล้วศูนย์ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี เพราะหยุดสิ่งที่มีแล้ว สิ่งต่อไปมันถึงไม่มี ทุกคนต้องยกจิตยกใจที่เคยชินที่เคยท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร ให้ใจทุกคนมีสติมีกำลัง
อย่าให้นิวรณ์ทั้งหลายทั้งปวงมันครอบงำ นิวรณ์มี ๕ ประการ คือ
๑. กามฉันทะ คือ ความยินดีพอใจในกาม คือ สิ่งที่น่าชอบใจอัน ได้แก่ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และสิ่งที่สัมผัสอ่อนนุ่ม จิตที่ถูกนิวรณ์นี้ครอบงำ จะมีสภาพถูกปรุงแต่งไปตามอารมณ์นั้นๆ เหมือนน้ำที่ผสมด้วยสีต่างๆ
๒. พยาบาท คือ ความไม่พอใจ หงุดหงิด ขุ่นเคือง คิดประทุษร้าย ปองร้าย จิตที่ถูกนิวรณ์นี้ครอบงำจะมีสภาพกระวนกระวาย เหมือนน้ำต้มที่กำลังเดือดพล่าน
๓. ถีนมิทธะ คือ ความง่วงซึมเซา จิตที่ถูกนิวรณ์นี้ครอบงำจะมีสภาพไม่แจ่มใส เหมือนน้ำที่มีจอกแหนปกคลุม
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจ จิตที่ถูกนิวรณ์นี้ครอบงำมีสภาพไม่สงบนิ่ง เหมือนน้ำที่ถูกลมพัดเป็นระลอกคลื่น
๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง สงสัยในพระธรรมคือมรรคผลนิพพาน สงสัยในพระอริยสงฆ์ผู้บรรลุธรรม สงสัยในรูปนามด้วยเหตุจากอวิชชา สงสัยในแนวทางการปฏิบัติ หรือสงสัยในคำแนะนำของครูบาอาจารย์เป็นตัน จิตที่ถูกนิวรณ์นี้ครอบงำมีสภาพตัดสินใจไม่ได้ เหมือนน้ำที่ถูกวางไว้ในที่มืดผสมด้วยโคลนตม
เราต้องพากันประพฤติ พากันปฏิบัติ เราให้เพิ่มศรัทธาให้กับตัวเอง ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ เพราะว่านิวรณ์ทั้ง ๕ มันตามใจได้เมื่อไหร่ ความสุข ความขี้เกียจ ความขี้คร้าน ความสบาย เราไปยินดีในอารมณ์ของสวรรค์ เพราะสวรรค์มันก็หมดอายุ มันก็ต้องไปสู่นรก คนจะเอา มันก็คือคนหาเรื่องให้ตัวเอง ไม่ได้ตามใจมันก็ฟุ้งซ่าน ทุกคนต้องลบเรื่องอดีตให้เป็นเลขศูนย์ให้หมด ทุกอย่างต้องลบให้เป็นศูนย์ ทุกอย่างมันต้องเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม
อย่าให้นิวรณ์ทั้งหลายทั้งปวงมันครอบงำ เพราะคืนวันคือการประพฤติปฏิบัติ แม้เป็นอยู่แค่เพียงราตรีเดียว ชั่วลมหายใจเดียว ก็ยังดีกว่าที่มีชีวิตที่เสียประโยชน์ ที่ใช้ทรัพยากรณไปอย่างไม่คุ้มค้า เรามีลูกมีหลานมีพ่อมีแม่ก็เพื่อจากกัน พบกันก็เพื่อจาก ตาเห็นรูปหูฟังเสียงก็เพื่อจาก การประพฤติการปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่สำคัญ หมู่มวลมนุษย์นี้มันถึงเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริงไม่ได้หลงอยู่ในความรวย หลงอยู่ในความสะดวกความสบาย เราต้องเอาเสบียงที่เป็นทรัพยากร ที่บำเพ็ญบารมี
พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะนั้นคือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เราอย่าไปหลงตัว หลงตน แหละก็เราอย่าไปหลงในสิ่งต่างๆ เพราะเรามีความยึดมั่นถือมั่น สิ่งภายนอกมันก็เกิดจากผัสสะ มันก็แค่นี้เอง ทุกอย่างมันหลงความคิด หลงอารมณ์ เค้าเรียกว่ามันเป็นความเมา ความหลง เค้าเรียกว่าความหลงคือความสุดยอด ความสุดยอดของความอร่อยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นความสุดยอดของความรู้สึก เราต้องรู้จัก มันเป็นพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิดนะ เราต้องรู้จัก เราจะได้ตั้งจิตตั้งใจ เราอย่าไปตื่นเต้นมัน เราอย่าไปเสียใจ เราทำไป ปฏิบัติไปอย่างนี้
ศาสนาพุทธเท่านั้นที่มี คำสอน ทั้ง 20 อย่างนี้ ที่ไม่สามารถพบจากศาสนาอื่นได้
1. พระพุทธศาสนา ปฏิเสธว่า มีผู้สร้างโลก ถือว่า ความเชื่อนี้ไร้สาระ ตรงข้าม โลกนี้ประกอบขึ้นจากเหตุ ธาตุ ทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประกอบกันขึ้นมา
2. พระพุทธศาสนา ไม่ใช่ระบบความเชื่อที่จะใช้คำว่า Religion เพราะศัพท์นี้ หมายถึง ต้องมีความเชื่อในพระเจ้าผู้สร้างโลก
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ชาวเยอรมัน (เกิดเมื่อ พ.ศ. 2422 ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2498) เคยกล่าวว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งจักรวาล (Cosmic Religion)
เขากล่าวว่า “The religion of the future will be a cosmic religion. The religion which is based on experience, which refuses dogmatism .If there is any religion that would cope with the scientific need it will be Buddhism.”
ถอดความได้ดังนี้ “ศาสนาในอนาคตจัดเป็นศานาแห่งจักรวาล เป็นศาสนา อิงประสบการณ์ (ของมนุษย์) ปฏิเสธความเชื่อ (faith) ที่ไม่มีการพิสูจน์ ถ้าจะมีศาสนาที่จะรับมือกับวิทยาศาสตร์ได้ ศาสนานั้นคือ พุทธศาสนา”
3. จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา คือ ละกิเลสได้หมดแล้ว หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หรือวัฏฏสงสาร ไม่ใช่ไปแค่ไปเกิดบนสวรรค์เท่านั้น
4. พระพุทธเจ้า ไม่ใช่ผู้ปลดปล่อยสรรพสัตว์ให้รอด สรรพสัตว์ต้องช่วยตนเอง เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสและวัฏฏสงสาร
5. ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้า และสาวก คือ ครูผู้สอนและลูกศิษย์ ไม่ใช่ตัวแทนพระเจ้า และทาสผู้รับใช้
6. พระพุทธเจ้า ไม่เคยให้สาวกใช้ความเชื่อโดยปราศจากปัญญามานับถือ ตรงข้าม ทรงสอนให้ใช้ปัญญา พิจารณาคำสอนก่อนจะเชื่อ และเห็นจริงด้วยตนเอง และ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ต้องนำคำสอนไปประพฤติและปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นด้วยตนเอง ไม่มีใครช่วยทำให้หลุดพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตายได้ นอกจากให้คำแนะนำ ชี้ทางที่ถูกต้องให้เท่านั้น
เราตถาคต...เป็นแต่ผู้บอกทางเท่านั้น (เหตุที่สาวกบางคนไม่ได้บรรลุ)
พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พราหมณ์ ชื่อ "คณกโมคคัลลานะ" ที่บุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. “ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ เมื่อพระโคดมกล่าวสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ทุกๆองค์ได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่งหรือ หรือว่าบางองค์ไม่ได้บรรลุ ทูลถาม" พราหมณ์คณกโมคคัลลานะ ทูลถาม )
พราหมณ์ ! สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ.
(พราหมณ์ : พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย, ที่พระนิพพานก็ยังตั้งอยู่, หนทางเป็นที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพานก็ยังตั้งอยู่, พระโคดม ผู้ชักชวน(เพื่อการดำเนินไป)ก็ยังตั้งอยู่, ทำไมน้อยพวกที่บรรลุ และบางพวกไม่บรรลุ ?)
พราหมณ์ ! เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านจงตอบตามควร ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในหนทางไปสู่เมืองราชคฤห์ มิใช่หรือ, มีบุรุษผู้จะไปเมืองราชคฤห์เข้ามาหาและกล่าวกับท่านว่า "ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงชี้บอกทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าเถิด" ท่านก็จะกล่าวกับบุรุษนั้นว่า "มาซิท่าน, ทางนี้ไปเมือง ราชคฤห์ ไปได้ครู่หนึ่งจักพบบ้านชื่อโน้น แล้วจักเห็นนิคมชื่อโน้น จักเห็นสวนและป่าน่าสนุก จักเห็นภูมิภาคน่าสนุก สระโบกขรณีน่าสนุก ของเมืองราชคฤห์" ดังนี้. บุรุษนั้น อันท่านพร่ำบอกพร่ำชี้ให้อย่างนี้ ก็ยังถือเอาทางผิด กลับหลงตรงข้ามไป. ส่วนบุรุษอีกคนหนึ่ง (อันท่านพร่ำบอกพร่ำชี้อย่างเดียวกัน) ไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี. พราหมณ์ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ, อะไรเล่าเป็นปัจจัย ที่เมืองราชคฤห์ก็ยังตั้งอยู่ หนทางสำหรับไปเมืองราชคฤห์ก็ยังตั้งอยู่. หนทางสำหรับไปเมืองราชคฤห์ก็ยังตั้งอยู่, ท่านผู้ชี้บอกก็ยังตั้งอยู่, แต่ทำไมบุรุษผู้หนึ่งกลับหลงผิดทาง ส่วนบุรุษอีกผู้หนึ่ง ไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี ?
(พราหมณ์) : พระโคดมผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจักทำอย่างไรได้เล่า, เพราะข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทางเท่านั้น.
พราหมณ์ ! ฉันใดก็ฉันนั้น. ที่พระนิพพานก็ยังตั้งอยู่ ทางเป็นเครื่องถึงพระนิพพานก็ยังตั้งอยู่ เราผู้ชักชวนก็ยังตั้งอยู่ แต่สาวกแม้เรากล่าวสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดยิ่ง. บางพวกไม่ได้บรรลุ.
พราหมณ์ ! ในเรื่องนี้ เราจักทำอย่างไรได้เล่า, เพราะเราเป็นแต่ผู้บอกทางเท่านั้น."
7. คำสอนพระพุทธเจ้า เป็นสัจธรรมประจำโลก ที่เป็น และมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าทรงเป็นแต่เพียงผู้ค้นพบเท่านั้น พระองค์ไม่ใช่เป็นคนสร้างคำสอนขึ้นมา
8. นรกในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่สถานที่กักขังสัตว์อย่างนิรันดร์ บุคคลทำบาปแล้ว ไปเกิดในนรก เมื่อพ้นกรรมแล้ว ก็สามารถกลับไปเกิดในภพที่ดีกว่าได้ และ สัตว์ที่ได้ไปเกิดในภพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภพเทวดา ภพมนุษย์ ภพเปรตวิสัย ภพเดรัจฉาน ก็สามารถเวียนกลับไปเกิดในนรกอีกได้ เช่นกัน
9. พระพุทธศาสนา ไม่ได้สอนแนวคิดเรื่องบาปติดตัว เหมือนที่ศาสนาเทวนิยมสอน แต่สอนเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งมีทั้งกรรมขาว กรรมดำ และกรรมไม่ขาวไม่ดำ
นอกจากเรื่องของกรรมดีกรรมชั่วแล้ว ยังมีการอธิบายกรรมอีกนัยหนึ่ง โดยอธิบายถึงกรรมดำกรรมขาว จำแนกเป็นกรรม 4 ประการ คือ
1. กรรมดำ มีวิบากดำ คือ กรรมชั่ว ให้ผลชั่ว หมายถึง กรรมชั่วที่บุคคลทำทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นอกุศลกรรมบถ 10 เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ส่งผลให้ผู้กระทําได้รับแต่ความทุกข์ ฝ่ายเดียวเหมือนสัตว์นรกที่ได้รับโทษทัณฑ์
2. กรรมขาว มีวิบากขาว คือ กรรมดี ให้ผลดี หมายถึง กรรมดีที่บุคคลกระทําทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นกุศลกรรมบถ 10 มีผลไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับมีแต่ความสุขฝ่ายเดียว เหมือนอยู่บนสวรรค์ชั้นสุภกิณหะ
3. กรรมทั้งดำและขาว มีวิบากทั้งดำและขาว คือ กรรมทั้งชั่วและทั้งดี ให้ผลทั้งชั่วและดี หมายถึง การที่บุคคลกระทำทั้งกรรมชั่วและกรรมดี ทางกาย วาจา ใจ มีผลเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับมีทั้งความทุกข์และความสุขสลับกัน เหมือนมนุษย์ เทวดาบางจาพวก และวินิปาติกะ
4. กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม คือ กรรมไม่ชั่วและกรรมไม่ดี มีผลทั้งไม่ชั่วและไม่ดี เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม หมายถึง การที่บุคคลมีเจตนาละกรรมทั้ง 3 ดังกล่าวข้างต้น โดยปฏิบัติตามหลักธรรม โพชฌงค์ 7 หรือ มรรคมีองค์ 8
กฎแห่งกรรม คือ กฎธรรมชาติ ข้อหนึ่ง ที่ว่าด้วยการกระทำ และผลแห่งการกระทำ ซึ่ง การกระทำและ ผลแห่งการกระทำนั้น ย่อมสมเหตุ สมผลกัน เช่น ทำดี ย่อมได้รับผลดี ทำชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว เป็นต้น
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้
กมฺมุนา วตฺตติโลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
10. กฎแห่งกรรมของทุกสรรพสัตว์ เป็นตัวอธิบายว่า เหตุใดคนถึงเกิดมาแตกต่างกัน กฎแห่งกรรมเป็นตัวอธิบายถึงภพภูมิที่สัตว์พากันไปเกิด
11. พระพุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์และเทวดาทุกชีวิต มีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมได้ ข้อสำคัญก็คือ ต้องใช้ความพยายามในการปฏิบัติ เพื่อชำระกิเลสให้พ้นไปจากจิตใจ พระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นมนุษยสามัญธรรมดา ที่หลุดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะการประพฤติปฏิบัติมาหลายภพหลายชาติ
12. พระพุทธศาสนา เน้นให้แผ่เมตตากรุณาไปยังสรรพสัตว์ ทุกภพภูมิ ทรงสอนให้ละจากการประพฤติชั่วทั้งปวง คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐ และให้ประพฤติปฏิบัติแต่ กุศลกรรมบถ ๑๐ (ด้วยกาย 3 คือ 1. ไม่ฆ่าสัตว์ 2. ไม่ลักทรัพย์ 3. ไม่ประพฤติผิดในกาม) (ด้วยวาจา 4 คือ 1. ไม่พูดปด 2. ไม่พูดส่อเสียด 3. ไม่พูดคำหยาบ 4. ไม่พูดเพ้อเจ้อ) (ด้วยใจ 3 คือ 1. ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น 2. ไม่มีจิตพยาบาทปองร้ายผู้อื่น 3. ไม่เห็นผิดจากคลองธรรมคือ สัมมาทิฏฐิ)
13. ธรรมะของพระพุทธเจ้า เสมือนแพ หลังจากบำเพ็ญเพียรจนดับทุกข์ได้แล้ว จะอยู่เหนือบุญและบาป ธรรมะทั้งปวงจะต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น
14. ไม่มีสงครามศักดิ์สิทธิ์ ในทรรศนะพระพุทธศาสนา การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การเบียดเบียนผู้อื่นด้วยเจตนา ผู้กระทำจะต้องรับกรรมทั้งสิ้น จนกว่าจะหลุดพ้นจากวัฏสงสาร การฆ่าในนามศาสนา ยิ่งกระทำมิได้ในพระพุทธศาสนา
15. พระพุทธเจ้าสอนว่า กำเนิดสังสารวัฏ ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ถ้าหากสัตว์ยังดำเนินชีวิตไปตามอำนาจกิเลส ที่มี อวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ย่อมต้องเวียนเกิดเวียนตายต่อไป
16. พระพุทธเจ้า ทรงเป็นพระสัพพัญญู (ผู้รู้ความจริงทุกเรื่องที่ทรงอยากรู้) และพระพุทธเจ้า มิใช่เทพเจ้าผู้ทรงมีอำนาจล้นฟ้า ดลบันดาลสร้างธรรมชาติต่างๆ ขึ้นมา
17. การฝึกสมาธิ สำคัญมากในพระพุทธศาสนา แม้ว่าศาสนาอื่นๆ ก็มีสอนให้คนมีสมาธิ แต่มีพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สอน วิปัสสนา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้รู้แจ้งว่า ทุกสรรพสิ่ง เมื่อมีการเกิด ย่อมมีการดับ
18. หลักคำสอนเรื่อง สุญญตา หรือ นิพพาน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในพระพุทธศาสนา ถือเป็นคำสอนระดับสูงของพระพุทธศาสนาด้วย เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายทั่วโลกธาตุ ไม่มีสิ่งใด เที่ยงแท้ถาวร มีแต่ปัจจัย ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบกัน สรรพสิ่งในโลก จึงตกอยู่ในภาวะอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เหมือนกันหมด พระพุทธศาสนาจึงไม่สุดโต่งไปตามแนวศาสนาประเภทเทวนิยม หรือ ตามแนววัตถุนิยม ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ที่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย จนกว่าจะบรรลุธรรม จึงจะดับเย็น เข้าสู่นิพพาน
19. วัฏจักร หรือสังสารวัฏ เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ตราบใดที่สรรพสัตว์ ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ก็จะเวียนว่ายตายเกิด ไปตามภพภูมิต่างๆ ตามแรงเหวี่ยงของกรรม ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะบรรลุธรรม ดังนั้น ทุกสรรพสัตว์ จึงต้องช่วยตนเอง เพื่อพัฒนาไตรสิกขา ให้หลุดพ้นจากโลภะ โทสะ และโมหะ หรืออวิชชา เพื่อการหลุดพ้นจากสังสารวัฏให้ได้ ฯ
20. ศาสนาพุทธสอนให้ละอัตตา ไม่ใช่สร้างอัตตาว่าเป็นตัวของเรา อันเป็นทุกข์ แต่การฝึก "เจริญสติ" จนเห็นตามจริงว่าไม่มีสิ่งใดถาวร เกิดแล้วต้องดับไปเป็นธรรมดา ไม่อาจยึดมั่นเป็นตัวเป็นตน แม้ร่างกายหรือจิตใจลดละอัตตาตัวตนลงจนละได้หมดคือที่สุดแห่งทุกข์คือ "นิพพาน" ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายอีก
เราโชคดี เรามีพระพุทธเจ้า เราทำตามพระพุทธเจ้า ไปทำตามใครไม่ได้หรอก เราหยุดทำตามใจตัวเองนี่แหละคือพระศาสนา ให้เข้าใจอย่างนี้ทุกคนต้องอย่าไปถือตัวถือตน ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เรียกว่าธรรมวินัย เรียกว่าพรหมจรรย์ เราต้องรู้จักเสียสละ ถ้าไม่รู้จักเสียสละ เค้าเรียกว่าไม่รู้จักดีท๊อกซึ่งตัวซึ่งตน เราทานอาหารเราก็ถ่ายเท เค้าเรียกว่าดีท๊อก เราถ่ายเทไม่หมดสิ่งที่มันเป็นขยะ มันก็มาเลี้ยงสมองเรา เราทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ชีวิตของเรามันเป็นชีวิตที่ขยะนะ เป็นชีวิตที่ใช่ไม่ได้ ตัวเองก็ใช้ไม่ได้ คนอื่นก็ใช้ไม่ได้ เราจะเคารพตัวเองได้ก็เพราะตัวเองเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เราต้องพากันมีความสุข ความสุขความดับทุกข์มันหาได้อยู่ที่เรานี้แหละ อยู่ที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ อยู่ที่ปัจจุบันนี้แหละ เราจะไปหาพระที่อื่น พระมันอยู่ที่ตัวเรา ไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณืตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึก เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ความเป็นพระมันจะเกิดที่เราเอง เราต้องพากันเข้าใจ เราพากันตั้งมั่นในธรรมวินัย
คนเรามันโง่ไม่ฉลาด นึกว่าปล่อยวาง จะไม่ทำอะไร ไม่ได้ มันต้องเสียสละ เสียสละทางจิตใจ เราไม่ปล่อยวางหรอก คือเราติดสุข เราอย่าไปติดสุข เพราะสุขเราก็เป็นสิ่งที่กำหนดรู้ ทุกข์เราก็ไม่รู้จัก ทุกข์ก็กำหนดรู้ กำหนดรู้แล้วก็อย่าไปวุ่นวายไม่ปรุงแต่ง ความทุกข์มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่เราปรุงแต่งเอา เรื่องผิดเรื่องถูกคือเราปรุงแต่งเอา สมมุติกันไปอะไรอย่างนี้ สมมุติเค้าเอาใช้งานกันเฉยๆ เราต้องรู้จักต้องหยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ให้ทุกท่านทุกคนพากันรู้จักสภาวะธรรม รู้จักศาสนา ทุกคนจะได้มีความสุขในการทำงาน จะมีความสุขในการปฏิบัติ เราถึงจะพากันหยุดอบายมุข อบายภูมิได้ นี้แหละถึงจะเป็นพระศาสนา เข้าใจพระศาสนา
ชีวิตของเราคือการมีพระพุทธเจ้าในใจ มีพระธรรมในใจ มีพระอริยสงฆ์ในใจ เพราะคนเรามันมักจะพุ่มเฟือยกินจุกกินจิก อันนี้เป็นอาการทางจิตใจ ที่เราไม่เห็นความสำคัญแล้วปล่อยปละละเลย เพราะมาจากการที่ไม่ได้ปฏิบัติ ต้องกระชับการปฏิบัติเข้ามา
ทุกคนต้องเห็นภัยเห็นโทษ เห็นคุณเห็นประโยชน์ อย่าไปตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ทุกคนต้องเอาศีลเอาสมาธิเอาปัญญามาประพฤติปฏิบัติ เพราะเราดูแล้ว ผลกรรมที่ปรากฏออกมา นั่นคือผลของการตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง เมื่อเราตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองตามความรู้สึกตัวเอง ตัวเองก็ยังสอนตัวเองไม่ได้ บอกตัวเองไม่ได้ จะไปบอกลูกบอกหลานเขาได้อย่างไร ทำให้ลูกหลานเราเสียหายอีก เราก็ยังไปโง่โทษลูกโทษหลาน ผลกรรมมันจะปรากฏออกมาตามที่เราเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความไม่เข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะต้องฝึกตนเอง ฝึกลูกฝึกหลาน อย่างภิกษุที่บวชในพระศาสนาที่ตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ผลก็ออกมาอย่างนี้แหละ คือมรรคผลนิพพานก็ไม่เกิด เราอย่าไปใจอ่อน เราจะไปใจอ่อนไม่ได้ เพราะศีลสมาธิปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ เป็นยานพาหนะที่จะนำเราออกจากวัฏสงสาร
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเชื่อมั่นในความดีของเรา ทุกท่านทุกคนกลับไปบ้าน กลับไปที่ทำงาน ต้องกลับไปปรับปรุงตัวเอง แก้ไขตัวเองนะ อย่าปล่อยให้ตัวเองบาปไปมากกว่านี้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะเสียที พ่ายแพ้กิเลสนะ กิเลสมันไม่เข้าใครออกใครนะ เรากลับมาแก้ไขกลับมาปรับปรุงตัวเอง เราจะได้เป็นลูกหลานของพระพุทธเจ้านะ เป็นธรรมทายาท คือ เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นข้อวัตรปฏิบัติ กลับมาแก้ไขที่จิตที่ใจ ที่กิริยามารยาท การกระทำของเรา มันไม่อยากทำก็ต้องทำ มันไม่อยากปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่ประเสริฐนะ สิ่งที่มันไม่ดีในใจของเรา ที่เราประมาทพลาดพลั้งในชีวิต พระพุทธเจ้าท่านให้เราตัดกรรมออกจากจิตจากใจ ให้เราลบกระดานออกจากจิตจากใจของเราให้หมดนะ เราจะไปทำผิดหรือเขาทำผิดก็ให้มันสูญไปเลย อย่างนี้นะ ให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ให้สมาทานให้ตั้งใจ แล้วมันจะกลับมาในรอยเก่าร่องเก่าแผลเก่า เราอย่าไปซ้ำอย่าไปย้ำมันนะ
เราทุกท่านทุกคนจึงต้องมาตายก่อนตาย เหมือนที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้ประพันธ์ไว้ว่า ตายเมื่อตายย่อมกลายไปเป็นผี ตายไม่ดีเป็นที่ผีตายโหง...
เราทุกคนต้องเข้าถึงธรรมในปัจจุบันนี้ อย่ารอให้มันหมดลมหายใจก่อนแล้วค่อยเข้าถึงธรรม อันนี้มันเสี่ยงอันตรายมากเกินไป จึงต้องตายก่อนตาย ต้องนิพพานทางจิตใจก่อน เมื่ออายุขัยเราพอสมควรแล้วเราถึงนิพพานทางจิตใจ หมายถึงไม่มีตัวไม่มีตนตั้งแต่ยังไม่ตาย เมื่อร่างกายตายถึงนิพพานอย่างสมบูรณ์ ตายอย่างสมบูรณ์ และสง่างาม
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee