แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๕๐ กายนี้เป็นภัยแห่งวัฏฎะ เป็นที่ละกิเลส เป็นที่ทำสมุจเฉทปหาน เป็นที่ทำนิพพานให้แจ้ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนมีร่างกายเป็นมนุษย์คือผู้ที่ประเสริฐ การดำเนินชีวิตของเราต้องเอาธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ความเป็นพระนั้นคือพระธรรมพระวินัย ไม่ทำตามใจไม่ทำตามความหลง ที่มันเป็นได้แต่เพียงคน ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญของเราทุกคน จึงต้องพากันรู้ตัวเองในปัจจุบัน เรียกว่ารู้อริยสัจ ๔ เราจะไม่ได้สร้างปัญหาให้กับตัวเอง เราจะได้หยุดปัญหาให้กับตัวเองทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติเอาเอง อย่าพากันไปติดในตัวในตนในความสุขความสะดวกความสบายที่มันหล่อเลี้ยงในชีวิตประจำวัน เพราะความสุขพวกนี้ไม่จีรังยังยืนอะไร เราบริโภคอะไรไปก็ไม่เกิน 12 ชั่วโมง เดี๋ยวก็หมดพลังแห่งความสุขแล้ว
เราต้องมีความสุขในการทำงานที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น ชีวิตของเราต้องไม่ไปเอาความสุขจากการเบียดเบียน ที่เรามีความสุขที่ได้มาจากการเบียดเบียนนั้นมันไม่ถูก อย่างประเทศอินเดีย เป็นต้นกำเนิดของศาสนาหลายศาสนา เค้าถึงไม่พากันบริโภคพวกเนื้อสัตว์ นิยมบริโภคผักผลไม้ พยายามบริโภคสิ่งที่ไม่เป็นบาป ถึงแม้เราไม่ได้ฆ่าเอง แต่เรายังยินดี ก็ชื่อว่ามีความหลง วัสดุที่ได้มาย่อมได้มาจากการโกงกินคอรัปชั่นเหมือนโลกเราในปัจจุบันที่เป็นอยู่ อยู่ด้วยกันโกงกินคอรัปชั่นทางตรงและทางอ้อม เราเกิดมาต้องเป็นผู้ให้เป็นผู้เสียสละ เรามีความสุขในการทำงานขยันอดทนรับผิดชอบเสียสละ ความยากจนมันก็ไม่มีกับพวกเราอยู่แล้ว เพราะเราเป็นผู้ให้เป็นผู้เสียสละ สุขภาพจิตของเราก็ดี ไม่เป็นโรคซึมเศร้าไม่เป็นโรคไม่มีความสุขที่เรียกว่าโรคทรัพย์จาง
วันหนึ่งคืนหนึ่ง เรานอน ๖ ชั่วโมง เวลาตื่นขึ้นเราก็มีความสุขกับการทำงานเรียกว่าการปล่อยวาง เป็นลักษณะของผู้มีศีลสมาธิปัญญา เป็นความสุขของมนุษย์ที่รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้วิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ในปัจจุบัน ความเป็นพระธรรมวินัยก็จะเกิดแก่เราทุกคน ผู้ที่เป็นประชาชนที่ไม่ได้มาบวชก็จะเป็นพระในครอบครัวในสังคม เป็นพุทธะผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน ทั้งตัวเองและครอบครัวก็สงบร่มเย็น เหมือนแอร์คอนดิชั่น ผู้ที่บวชก็จะได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ จะไม่เป็นพระเพียงแค่แบรนด์เนม
เราทำตามใจทำตามอารมณ์ ไม่ได้ มันไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่ศาสนา มันเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน ถ้าบวชมาแล้วเอาตัวตนเป็นหลัก ก็ไม่รู้ว่าจะบวชมาทำไม เราจะไปพูดอย่างหนึ่ง ปฏิบัติอย่างหนึ่ง มันก็ไปไม่ได้ มันไม่ถูกต้องมันไม่ได้เป็นพระศาสนา เราทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรม พากันหยุดไสยศาสตร์ หยุดความหลงของตัวเอง ถ้าเรามีความโลภความโกรธความหลง เป็นพระสงฆ์ก็ไปยุ่งแต่เรื่องเงิน เรื่องผู้หญิง เรื่องยศตำแหน่ง ชีวิตก็เลยมีแต่การทำลายพระศาสนา ประทุษร้ายตระกูล เวลาคนรวยมาก็พูดเสียงต่ำเสียงสูง คนจนมาก็เฉยๆ เพราะเราไม่มีสัมมาทิฏฐินี่แหละ เป็นนักบวชก็ยังอยากรวยอยากมีสตางค์ จึงพากันเป็นพระหมอดูหมอเดา พากันหลอกลวงประชาชน เพราะอวิชชาเพราะความหลง จึงเป็นการประทุษร้ายพระศาสนา เพราะมิจฉาทิฏฐิของผู้มาบรรพชาอุปสมบทที่อาศัยพระศาสนาหาเลี้ยงชีพ ศาสนาเป็นของบริสุทธิ์ ทุกท่านทุกคนต้องมาบวชเพื่อพาตนเองเสียสละ เราจะได้เคารพกราบไหว้ตนเองได้ เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้สร้างประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ไม่หลง ไม่เพลิดเพลิน การประพฤติการปฏิบัติอย่างนี้เป็นมงคลต่อพระศาสนาและประเทศชาติ ประชาชนผู้ถวายทานก็จะได้บุญ ได้กุศล ถ้าเราทำตามความโลภความโกรธความหลง เราจะเอาบุญที่ไหนไปให้ประชาชน
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ อย่าหลงประเด็นในการบวช เราต้องรู้จักเรื่องกาม เรื่องกามไม่ใช่เสพกันทางร่างกายเหมือนผู้หญิงผู้ชายเหมือนที่หนุ่มสาวเค้ามีเพศสัมพันธ์กัน ท่านให้เราหยุดมีเซ็กส์หยุดมีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ ร่างกายของมนุษย์มีกายและจิตใจ ผู้มาบวชก็หยุดมีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ เราคิดด้วยความหลงก็ถือว่ามีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ โดยเฉพาะพวกโทรศัพท์มือถือคอมพิวเตอร์ ให้ผู้ที่จะเอามรรคผลพระนิพพานพากันเข้าใจ เพราะโทรศัพท์มือถือคอมพิวเตอร์สำหรับนักบวชแล้ว ถ้าเราไม่เข้าใจ เอามาใช้งานก็จะมีโทษมากกว่ามีคุณ สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ พวกมีโทรศัพท์คอมพิวเตอร์ต้องระมัดระวัง อย่างมีเมียเอาใส่กระเป๋าไม่ได้ แต่โทรศัพท์มือถือมันเอาใส่กระเป๋าไปได้ มันเสียหาย ในหลายประเทศถือนิสัยตนเองไม่ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่เอากาม เราจะอยู่กับอะไร ข้าวเราก็ต้องบริโภคของทุกอย่างเราก็ต้องใช้ แต่เราต้องใช้ต้องบริโภคพวกนี้ด้วยปัญญา
ทุกคนต้องพากันแก้ที่ตัวเองปฏิบัติที่ตัวเอง เราจะได้ไม่เสียเวลาในการดำรงชีวิต เราต้องจัดการตัวเองในปัจจุบัน ให้มีศีลสมาธิปัญญาในภาคประพฤติปฏิบัติ ให้เป็นความดับทุกข์ ทุกท่านทุกคนอย่าไปลูบคลำในศีลในความถูกต้อง ต้องเอาธรรมวินัยเป็นหลัก ประชาชนไม่ได้บวชก็เอาศีล ๕ เป็นหลัก ในการคิดดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ ผู้ที่มาบวชก็มีความหนักแน่นให้เกิดปัญญา เราไม่ปล่อยให้ความหลงมันทำงาน เราจะได้ถึงพระธรรมถึงพระวินัย ทุกท่านต้องมั่นใจในศีลในคุณธรรม เราจะไปทำตามความหลงความฟุ้งซ่านไม่ได้ เรามาบวชมาปฎิบัติ แต่ยังทำตามอารมณ์ตนเองเรียกว่ามีครอบครัว มีครอบครัวก็คือมีตัวตน ก็เพราะมีความหลงมีความประมาทนะ ไม่เห็นความสำคัญของศีลสมาธิปัญญา จึงต้องรู้ตัวเอง อย่าไปหลงนะ ต้องพาตัวเองเอาธรรมวินัย ตั้งเจตนาไว้ดีๆ อย่าหลงเหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่พากันหลงเอาแต่ความสุขทางวัตถุพัฒนาวิทยาศาสตร์แล้วก็หลงเลยพากันบริโภคกามเสพกาม เมื่อมีความหลงก็พากันแย่งกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันมาครอง แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่จนเกิดสงครามโลก เรียกว่าวิทยาศาสตร์หลง บูชากาม บูชาความหลงเป็นที่ตั้ง อย่างนี้มันไม่ได้นะ ใจเรามันก็ร้อน ก็เลยเป็นสัตว์นรกเปรตยักษ์มารอสุรกายสัตว์เดรัจฉาน เราจะเป็นแค่มนุษย์วิทยาศาสตร์ที่ไม่มีปัญญา ตระกูลเราเลยตั้งอยู่ไม่ได้ พวกเหล้าเบียร์การพนัน แสดงถึงความหลงของภาพรวมทั้งโลกทั้งประเทศ ถ้าเราทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกจะเป็นมนุษย์ได้ที่ไหน มันเป็นได้แต่เพียงคน เพราะไม่รู้อริยสัจ ๔ นั่นคือหายนะ เราจึงต้องเข้าใจต้องแก้ไขตนเอง
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ ร่างกายที่ยังเป็นและที่ตายแล้ว กายที่ยังเป็นมีลมหายใจเข้าออก มีอิริยาบถใหญ่ มีกิริยาอาการย่อย มีอวัยวะต่างๆ มีธาตุ เมื่อธาตุลมดับร่างกายก็ตาย ไม่ช้าก็พุพอง เน่าเปื่อย หากถูกเผา ถูกฝัง หรือทิ้งไว้นานเข้า ก็สลายป่นปี้ ไม่มีอะไรเหลือ อนุปัสสนา ได้แก่การตามดู คือดูด้วยสติ มิใช่ดูด้วยตา เมื่อรวมเข้าเป็น กายานุปัสสนา แปลว่า การตามดูร่างกาย หมายความว่า ใช้สติกำหนดพิจารณาดูร่างกายเฉพาะลมหายใจ หรือเฉพาะอิริยาบถใหญ่ มีการยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น หรือเฉพาะกิริยาอาการย่อย มีการกิน การถ่าย เป็นต้น หรือเฉพาะอวัยวะ มีผม ขน เล็บ หนัง หรือเฉพาะธาตุที่มี ดิน น้ำ ไฟ ลม หรือเฉพาะร่างกายที่ตายแล้ว พุพอง ขึ้นอืด เป็นต้น ดูจนจิตสงบเป็นสมาธิ และเกิดปัญญาเห็นกายทั้งภายใน และภายนอก ทั้งที่กำลังเกิด ทั้งที่กำลังดับ ถอนความยึดมั่นในร่างกายเสียได้ มีสติปรากฏที่กายว่า กายนี้สักว่ากาย มิใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา บรรเทาความยึดมั่นในร่างกายให้สิ้นไป
ร่างกายมนุษย์เรามีอาการ ๓๒ เจริญเติบโตด้วยการทานอาหาร ด้วยการพักผ่อน ก็มีอายุขัย ส่วนใหญ่ในปัจจุบันภาครวม ได้กี่ปี จะมีผู้ที่อายุยืน ที่ได้มีบุพกรรมดี ที่ไม่ทำปาณาติบาต อายุ ๑๐๐ ปี ๑๐๐ กว่าปี เจริญตามวัย ตามอาหาร ร่างกายนี้ทุกส่วนก็มาจากสิ่งที่สกปรก สิ่งที่เป็นปฏิกูล ต้องทำความสะอาด ถ้าไม่ทำความสะอาดไม่ได้
มนุษย์เราได้รับการพัฒนา ได้มีบ้าน มีที่อยู่ที่อาศัย ได้มีเสื้อผ้า อาภรณ์ แยกเป็นผู้หญิงผู้ชาย แยกเป็นเพศหญิง เพศชาย ให้ชัดเจนในการแต่งกายแต่งตัว ในการใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ ความเป็นจริงแล้วมันก็เป็นเหมือนกันหมด มีความแก่ มีความเจ็บ มีความตาย มีความพลัดพราก ถึงยังไงมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ตามกฎไตรลักษณ์ พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง เราเอาร่างกายนี้มาประพฤติปฏิบัติธรรม เราอย่ามาหลงในสวรรค์ อย่าไปหลงในความสุข ความสะดวกสบาย สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงที่เราบรรเทาทุกข์ ที่จะพัฒนาตัวเองออกจากวัฏสงสาร เราทุกคนมีความหลงมาแล้วหลายร้อยหลายพันหลายแสนหลายล้านชาติ
พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพระพุทธบารมีมาบอกมาสอน ให้อะไรบ้าง ให้พากันหยุดเวียนว่ายตายเกิด โดยมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง มีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เป็นอริยมรรคแห่งการเดินทาง ที่พระพุทธเจ้าสรุปการเดินทางของเราไว้ เช่นว่า อริยมรรคมีองค์ 8 สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เราจะได้ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญ ทำแต่กุศล ที่ตั้งอยู่ในความประมาท ที่เข้ามาหาหมวดธรรม ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ เรามาพิจารณาการ สู่พระไตรลักษณ์ เราอย่าไปหลงในกายของตัวเอง เราอย่าไปหลงในกายของคนอื่น เพราะเราต้องมีพระพุทธเจ้าในใจของเรา มีพระธรรมในใจของเรา มีพระอริยสงฆ์ในใจของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นทางเดินผ่าน ทางสร้างบารมี เราจะได้ใช้อิริยาบถทั้ง 4 เอามาประพฤติมาปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าเป็นห่วงเรา ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องผ่านไปตลอดเวลา เราต้องพัฒนาตัวเอง เพราะไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้พัฒนาให้เราได้ เราทุกคนต้องมีจุดยืน เราต้องรู้ เพราะการปฏิบัติของเรานั้น ต้องมีกับเราอยู่ทุกหนทุกแห่ง
กุมฺภูปมํ กายมิทํ วิทิตฺวา นครูปมํ จิตฺตมิทํ ถเกตฺวา
โยเธถ มารํ ปญฺญาวุเธน ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสิโน สิยา ฯ
บุคคลพึงรู้ว่ากายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน กั้นจิตไว้เหมือนป้องกันนคร รบมารด้วยอาวุธคือปัญญา เมื่อชนะแล้วก็รักษาความชนะไว้ แต่ไม่ต้องติดอยู่
กายนี้ ท่านเปรียบเหมือนหม้อดิน เพราะมีของโสโครกซึมออกจากร่างกายอยู่เสมอ เช่น เหงื่อซึมออกจากผิวหนัง และของปฏิกูลพึงรังเกียจออกจากทวารทั้ง ๙ เช่น ขี้ตาออกทางตา ขี้หูออกทางหู อุจจาระออกทางทวารหนัก ปัสสาวะออกทางทวารเบา ต้องคอยเช็ดล้างกันอยู่เสมอ เว้นการเช็ดล้างเพียงวันเดียว ก็มีกลิ่นเหม็น เป็นที่รังเกียจแม้แห่งเจ้าของสรีระเอง ไม่ต้องกล่าวถึงผู้อื่น
ร่างกายเหมือนถุงหนัง ที่บรรจุเอาของสกปรกต่างๆ ไว้ภายใน มองเกลี้ยงเกลาแต่ภายนอก เมื่อเจาะผิวหนังเข้าไป ก็มีสภาพเหมือนกันทุกคนบางท่านจึงกล่าวว่า ความงามอยู่ลึกเพียงแค่ผิวหนังเท่านั้น มิหนำซ้ำ บางคนผิวหนังยังสีไม่งาม เพราะโรคผิวหนังมีประการต่างๆ เสียอีก
อนึ่ง กายนี้ ท่านเปรียบเหมือนหม้อดิน เพราะแตกง่ายทำลายง่าย และเปรอะเปื้อนง่าย ภายในร่างกายมีแต่ของปฏิกูล เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ เช่น กระเพาะ ลำไส้ รุงรังไปด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ ถ้าเอาภายในร่างกายนี้ออกภายนอกแล้วเดินไป พวกสุนัขและกาคงไล่ตามกันเป็นฝูง เจ้าของกายไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่คอยถือไม้ไล่กาและสุนัขเท่านั้น
ท่านสอนให้กั้นจิตจากอารมณ์อันชั่วร้าย กั้นจากข้าศึกคือกิเลสให้เหมือนการป้องกันพระนคร โดยการสร้างคูเมืองและกำแพงเมืองไว้โดยรอบ และพึงรบมารอันเป็นข้าศึกด้วยอาวุธคือปัญญา เมื่อรบชนะแล้วก็รักษาความชนะไว้ แต่ไม่พึงติดอยู่ เปรียบเหมือนผู้ศึกษาเล่าเรียน เมื่อเรียนสิ่งใดได้แล้วก็รักษาไว้ แต่ไม่ติดในความรู้นั้น ไม่ทะนงตน ไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความรู้นั้น
อนึ่ง ว่าถึงการบรรลุธรรม อริยมรรค อริยผล อันใดได้บรรลุแล้วก็รักษาอริยมรรค อริยผลนั้นไว้ แต่ไม่ติดไม่เพลิดเพลินแม้ในนิพพาน พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนมิให้เพลิดเพลิน เพราะความเพลิดเพลินเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์
พระศาสดาตรัสพระพุทธพจน์นี้ ขณะที่ประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถีทรงปรารภภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาพวกหนึ่ง ซึ่งมีเรื่องย่อดังนี้ :-
ภิกษุ ๕๐๐ รูป ในกรุงสาวัตถี เรียนกัมมฐานในสำนักพระศาสดา แล้วเดินทางไปบำเพ็ญเพียรในป่า พวกเทวดาซึ่งสิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ในป่านั้นคิดว่า เมื่อภิกษุอาศัยอยู่โคนต้นไม้ การที่พวกตนจะขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ เป็นการไม่สมควร จึงพักอาศัยอยู่โคนไม้เหมือนกัน คิดว่าพรุ่งนี้พระทั้งหลายคงจากไป แต่ในวันรุ่งขึ้น พระก็ยังอยู่ จึงคิดว่าพรุ่งนี้พระคงไป
หลายวันผ่านไป เทวดาเหล่านั้นขึ้นต้นไม้ไม่ได้ อยู่ด้วยความลำบาก จึงคิดว่า พระคงจะอยู่ประจำตลอด ๓ เดือน พวกตนก็คงจะต้องลำบาก เรื่องที่อยู่ตลอด ๓ เดือน เหมือนกัน จึงตกลงกันว่าจะแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ไม่ได้ บางพวกจึงทำเสียงอมนุษย์ให้ปรากฏ บางพวกแสดงตนเป็นผีหัวขาด ให้ภิกษุเห็นในที่พักกลางวันบ้าง ที่พักกลางคืนบ้าง โรคหลายอย่างมีโรคไอเป็นต้น เกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยการกลั่นแกล้งของเทวดาเหล่านั้น บางพวกเป็นโรคผอมเหลือง
ภิกษุทั้งหลายประจักษ์ดังนั้น อยู่ไม่ได้ จึงพากันกลับมาเฝ้าพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องแล้ว ทรงประทานอาวุธให้อย่างหนึ่ง คือ กรณียเมตตสูตร ให้ภิกษุเหล่านั้นสาธยาย ข้อความในกรณียเมตตสูตรนั้น เกี่ยวกับการแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วหน้า และว่าด้วยคุณธรรม ของผู้จะบรรลุบทอันสงบคือพระนิพพาน แล้วรับสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นไปอยู่ที่เดิม
ภิกษุสาธยายกรณียเมตตาสูตร ไปตั้งแต่ออกจากวัดเชตวัน เมื่อถึงป่านั้นเทวดาทั้งหลายได้ยินแล้ว เกิดเมตตาจิตต้อนรับภิกษุเหล่านั้นด้วยดี ทำการอารักขาให้อย่างเรียบร้อย ภิกษุเหล่านั้นไม่มีสิ่งรบกวน ตั้งใจปฏิบัติธรรม จิตหยั่งลงสู่สมาธิ พิจารณาอัตตภาพว่า เปรียบเสมือนภาชนะดินเพราะไม่มั่นคง
พระศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณ แล้วเปล่งพระรัศมีไป ตรัสพระคาถาว่า “กุมฺภูปมํ กายมิทํ วิทิตฺวา” เป็นอาทิ มีนัยดังอธิบายมาแล้วแต่ต้น เมื่อจบเทศนา ภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐ รูป บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
ให้พิจารณาเป็นวิปัสสนาโดยมีกายนี้เป็นหลักว่า....
กายนี้เป็นของไม่ยืนยง กายนี้อยู่ดำรงเพราะของเน่าเปื่อย
กายนี้เป็นของเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า กายนี้เป็นของน่าเกลียด
กายนี้เป็นของถูกเบียดเบียน กายนี้เป็นของเปลี่ยนแปร
กายนี้เป็นของแน่นอน (ตาย) กายนี้เป็นของอันหมู่หนอนชอนไช
กายนี้เป็นของอันไฟเผารม กายนี้เป็นของทับถมแผ่นดิน
กายนี้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ กายนี้เป็นผีที่คนกลัว
กายนี้เป็นที่มัวเมาแห่งจิต กายนี้เป็นผลผลิตแห่งอวิชชา
กายนี้อันอาพาธนานาเบียดเบียน กายนี้อาเกียรณ์ไปด้วยโรคา
กายนี้เป็นที่อิดหนาระอาใจ กายนี้เป็นภัยแห่งวัฏฎะ
กายนี้เป็นที่ละกิเลส กายนี้เป็นที่ทำสมุจเฉทปหาน
กายนี้เป็นที่ทำนิพพานให้แจ้ง
ผู้ที่บวชมาในพระพุทธศาสนา ที่จะเป็นพระอริยเจ้า ต้องรู้แจ้งในกาย เพราะพระพุทธเจ้าถึงบอกให้ผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์เป็นครูบาอาจารย์ให้สอนพระกรรมฐาน คือ พิจารณาร่างกาย เพราะว่ามันจะได้เป็นพื้นเป็นฐาน ถ้าเราไปเอาเวทนา เอาจิต เอาหมวดธรรม ถ้าไม่รู้แจ้งในกายนี้ ก็ไม่ได้เป็นภาคบังคับ ต้องพิจารณากายให้ชัดเจนแจ่มแจ้งในร่างกายของเราคืออาการ ๓๒ จะได้เข้าสู่ภาคปฏิบัติ ตั้งจิตตั้งใจอันนี้เป็นงานของผู้ที่จะเป็นพระอริยเจ้า พระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ไม่ว่าผู้ที่เป็นนักบวชหรือว่าเป็นประชาชนคนชาวพุทธ ก็ต้องรู้แจ้งในกายจะได้ละสักกายทิฏฐิ ละซึ่งตัวซึ่งตน เพราะคนเราติดในร่างกาย ปัญหาใหญ่ของพระที่ไม่ก้าวหน้าก็มีอยู่ ๒ อย่าง เรื่องผู้หญิงเกี่ยวกับเรื่องเงินเรื่องสตางค์ความเสื่อมมันอยู่กับเรื่องผู้หญิงเรื่องเงินเรื่องสตางค์ ถ้าเป็นนักบวชหญิงก็เกี่ยวกับบุรุษเพศกับเรื่องเงินเหมือนกัน เพราะการท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสารนี้ คือมันไม่รู้แจ้งในสัจจะธรรมตามความเป็นจริง เพื่อเราจะได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ให้ทุกท่านทุกคนสนใจนะ เพราะเรานี้ท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร สังสารวัฏ เพราะความไม่รู้จริง
พวกที่บวชนี้ก็ยังไม่รู้ข้อวัตรปฏิบัติของตัวเอง บวชมาแล้วก็นึกว่ามาปลงผม นุ่งห่มกาสาวพัสตร์คือการบวช พระพุทธเจ้าถึงได้มีหลักการภาวนา เพื่อความรู้แจ้งจะได้ลาจากวัฏฏะสงสาร เพราะว่าศาสนาพุทธของเรานี้มุ่งพระนิพพาน ไม่ได้มุ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ มนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติเป็นทางถนนผ่าน พรหมโลกเป็นทางถนนที่เราต้องเดินผ่าน เหยียบผ่านไปเลย ให้พากันตั้งใจฟัง อย่าพากันหลับ ให้มันเกิดภาวนาเกิดวิปัสสนา อย่าไปคิดว่าตัวเองรู้แล้วๆ มันยังไม่รู้หรอก ถ้ารู้จริงรู้แจ้ง ก็ได้เป็นพระอริยเจ้า ได้เป็นพระอรหันไปแล้ว เพราะทุกคนยังตั้งอยู่ในความประมาท หลักการในการภาวนาวิปัสสนา ให้เห็นเป็นชิ้นเป็นส่วน เพราะว่าที่มันเป็นรูปเป็นร่าง เราก็พิจารณาร่างกายของตัวเอง พิจารณาร่างกายองคนอื่นก็ให้เปื่อยเน่าปฏิกูลก่อน เราจะได้เห็นสภาวธรรมที่แท้จริงว่ามันเป็นส่วนที่มาประชุมกันเป็นร่างกาย ทุกอย่างล้วนแต่ปฏิกูล มันไม่สวยไม่งามอะไร แย่เลย เท่านี้ก็ต้องมีภาระเพิ่ม ดูแลความสะอาดรักษาความสะอาด เป็นภาระต้องใช้เงินใช้สตางค์เยอะแยะ ที่ต้องดูแลธาตุขันธ์ที่มันสกปรก เป็นการจัดฉากเฉยๆเพื่อปกปิดสิ่งที่โสโครกปฏิกูล
นี่คืองานของทุกๆ คนไม่ว่างานของผู้ที่มาบวช หรือว่าผู้ที่อยู่ที่บ้านครองเรือน ก็คืองานทำพระนิพพานให้แจ้งด้วยภาวนาวิปัสสนา เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะคนเรานี้จะเกิดนานเท่าไหร่ก็ไม่สามารถหมดกิเลสสิ้นอาสวะได้ คนอายุ ๘๐-๙๐ ปีก็ไม่หมดกิเลสไม่สิ้นอาสวะ ถึงแม้ร่างกายจะแก่เฒ่าแล้ว กิเลสนั้นก็ไม่สามารถที่จะหมดไปกิเลสก็คือความหลงไม่สามารถที่จะหมดไป จึงให้ทุกท่านทุกคนหน่ะ พากันภาวนาร่างกาย ภาวนาให้มันเป็นส่วนเป็นส่วนจะเห็นชัดเจน ถ้าไม่อย่างนั้นหน่ะ ราคะ โมหะ โทสะ มันไม่หมดคนที่ปฏิบัติธรรมที่ยังไม่รู้หลักประพฤติปฏิบัติชัดเจน ท้อใจว่า ทำไมเราอายุ ๘๐ ปีแล้ว ราคะทางจิตใจมันยังไม่หมด มันหมดไม่ได้ เพราะมันยังไม่รู้แจ้งในร่างกาย มันยังเห็นกายเป็นของสวยของงาม
เพราะเรานี้มักเสกสรรปั้นแต่งไปมองแต่สวยๆงามๆ มันไม่ได้ไปภาวนาอะไร เห็นรูปก็เหมือนฟ้าผ่า ฟังเสียงก็เหมือนฟ้าผ่า เราไม่รู้จักภาวนา ไม่รู้จักพิจารณาให้เท่าทัน ไม่รู้จักน้อมสู่พระไตรลักษณ์ให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้จักแก้ปัญหาไม่รู้จักเสริมบารมี มันก็ไม่มีสติปัญญา มันก็ไม่สมควรที่จะได้บรรลุธรรม
อายตนะภายในภายนอก มีผัสสะมากระทบกันเราต้องพิจารณาให้เกิดปัญญา ด้วยวิปัสสนา เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยๆ ทุกอย่างจะดีเอง พระพุทธเจ้าไม่ให้เราประมาท ไม่ให้เรามองข้าม เราเป็นภิกษุอยู่ในสถานที่วิเวก ผัสสะจากอายตนะภายนอกย่อมมีน้อย เราก็ถือโอกาสนี้เวลานี้พิจารณาร่างกาย พิจารณาอาการ ๓๒ สู่ไตรลักษณ์ ให้เห็นเป็นอสุภะ คือ ให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม ทำบ่อยๆ เราจะได้เกิดนิมิตทางธรรม คือเห็นว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นิมิตนั้นไม่ใช่ไปเห็นเลขเห็นหวย เห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรกสวรรค์ เห็นสี เห็นแสง แต่ให้เกิดนิมิตทางธรรม เห็นทุกอย่างเป็นกระบวนการของอนิจจัง เป็นกระบวนการของทุกขัง เป็นกระบวนการของอนัตตา
ที่ปฏิบัติธรรมกันจะพูดว่า นิมิต นิมิต เช่นโน้นเช่นนี้ เห็นอย่างนั้น เห็นอย่างนี้ ให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพากันเข้าใจนะ นิมิตไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในเวลานั่งเท่านั้น นิมิตนี้จะเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา ตาเห็นรูปก็เกิดนิมิตทางตา หูฟังเสียงก็เกิดนิมิตทางหู จมูกได้กลิ่นก็เกิดนิมิตทางจมูก ลิ้นรู้รสก็เกิดนิมิตทางลิ้น กายถูกต้องสัมผัสก็เกิดนิมิตทั้งกาย ใจรับรู้อารมณ์ต่างๆ ก็เกิดนิมิตทางใจ อารมณ์เกิดขึ้นก็เป็นนิมิตทางอารมณ์ นิมิตนี้มันเกิดกับเราตลอดเวลานะ ไม่ใช่เฉพาะใจเวลานั่งสมาธิ ให้ทุกคนรู้จักนิมิต จึงจะได้ไม่หลงนิมิต ไม่ติดในนิมิต เพราะอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ คือปรากฏการณ์ ให้ได้ปฏิบัติ เราจะได้ยกใจสู่พระกรรมฐาน ขึ้นสู่อนิจจังทุกขังอนัตตา
อย่างการพิจารณากายอย่างนี้ คนเราถ้าใจมันมีนิมิตในใจว่า ส่วนนี้มันไม่สะอาดอย่างนี้นะ เขาเรียกว่าจับนิมิตได้ แต่เราพยายามที่จะให้มันเป็นตัวเป็นตน เพราะว่าไม่มีตัวไม่มีตน แต่เราก็ยังดื้อดันให้มีตัวมีตน เพราะอวิชชาความหลง เพราะนิมิตทางธรรมมันไม่เกิด เพราะเราปล่อยวางธรรมะ เหมือนเราอยู่บ้านแขกมา เราก็ตามแขกไปเสียหายหมด ทิ้งบ้านทิ้งเรือนไปอย่างนี้
การทำความเพียรต้องให้เกิดนิมิต นิมิตเช่นว่าใจของเรานี่เห็นชัดเจนที่เราพิจารณาร่างกายเห็นโครงกระดูกชัดเจน เพราะเรานี่เห็นรูปมันยังสวยอยู่ ฟังเสียงยังเพราะ แสดงว่านิมิตธรรมมันยังไม่เกิด นิมิตไม่ใช่เห็นผีเห็นเทวดา มันไม่ใช่ นิมิตที่ต้องการก็คือเห็นด้วยใจ เห็นด้วยปัญญา เห็นเหมือนผู้ที่ท่องปาฏิโมกข์ได้ มันจะเห็นว่าสิกขาบทไหนอยู่ข้อไหน เป็นต้น ขนาดบางรูปนอนหลับก็ยังท่องได้ เพราะนิมิตทางใจ มันจะมีนิมิตเหมือนคนที่มีความรู้จริง มันจะรู้หมด รู้ในใจ เหมือนหมอเฉพาะทาง ที่เก่งจริง มันจะรู้กลไกหมด แสดงว่าเราเจริญพุทโธ อานาปานสติมันก็จะเป็นเป็นโดยอัตโนมัติ มันจะเข้าสมาธิได้ตลอด แค่ที่นิมิตเรามันไม่ค่อยเกิดเพราะการปฏิบัติมันไม่ได้ติดต่อกัน การท่องหนังสือ ถ้าเราท่องไม่ติดต่อกันอย่างนี้ มันก็จำไม่ได้เนาะ แม้แต่คนที่ไปเรียนเมืองนอก เรียนภาษาต่างประเทศ อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น อะไรต่างๆ ไม่ได้พูดนานๆสัญญาขันธ์มันก็ลืมไปได้
ศาสนาพุทธ คือศาสนาที่มีปัญญา เราต้องมาพัฒนาปัญญา เรามาพัฒนาความประพฤติของเรา ว่าสิ่งนี้ไม่ให้คิด สิ่งนี้ไม่ให้พูด สิ่งนี้ไม่ให้ทำ มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องความฉลาด ไม่ใช่เรื่องปรัชญา ต้องประพฤติภาคปฏิบัติ ให้มันติดต่อต่อเนื่องกัน อันนี้มันเป็นงานของเราทุกๆคนนะ ไม่ว่าผู้ที่บวชหรือผู้ที่ไม่ได้บวช เราจะไม่ได้ไปแก้ที่ปลายเหตุ เหมือนที่กำลังเถียงกันว่ากฎหมายทำแท้ง หรือว่ากฎหมายคุมกำเนิด เพราะว่าอันนั้น มันปลายเหตุ เราต้องแก้ที่ใจของเราให้มีสัมมาทิฏฐิ แล้วก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพื่อจะให้พระได้ภาวนาวิปัสสนา ให้โยมได้ภาวนาวิปัสสนา จะได้ปฏิบัติกัน เราจะได้ไม่ได้เลี้ยงโจร เลี้ยงไว้ในใจตัวเอง โจรก็คืออวิชชาคือความหลง ทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ นี้เป็นงานที่เราทุกคนที่จะต้องได้เป็นพระอริยเจ้า เพราะศาสนาพุทธเราพัฒนามนุษย์ให้เป็นพระอริยเจ้า
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee