แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๔๕ จะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริงได้ ก็ด้วยการเห็นโลกุตตรธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนพากันมาพึ่งสัมมาทิฏฐิ พึ่งความเห็นถูกต้องพึ่งความเข้าใจถูกต้อง แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง สัมมาทิฏฐินั้นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธรูป ไม่ใช่พุทธปฏิมากร การมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง แล้วปฏิบัติถูกต้อง จึงเรียกว่าพระพุทธเจ้า การเรียนการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่สําคัญ เราเกิดมาเราจึงต้องเรียน ต้องศึกษา เราต้องเข้าใจ เพราะความเห็นถูกต้อง เป็นอุปกรณ์อํานวยความสะดวกให้เราได้ปฏิบัติธรรม พึ่งพระธรรมก็คือการเอาธรรมหลัก เอาธรรมใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นการดําเนินชีวิต สละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ไม่มีทําตามใจ ไม่ทําตามความรู้สึก ความอยาก ความต้องการ คือเราต้องเอาธรรมเป็นหลัก เพราะความถูกต้องไม่ได้เป็นพี่น้องกับใคร ไม่ได้เป็นตัวเรา เเต่เป็นธรรมะ
การปฏิบัติ เค้าเรียกว่ามันเป็นกิจกรรม กิจกรรมนี้เค้าเรียกว่าเป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า สงฆ์สาวกนี้ไม่ใช่พวกโกนหัว ห่มผ้าเหลือง ห่มจีวร ศาสนาพุทธคือตัวผู้รู้ สงฆ์สาวกคือ ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ผู้ที่มาบวชคือผู้ที่ไม่ได้ทําตามใจ ตามอารมณ์ สละความเห็นแก่ตัว เรียกว่ามันต้องถึงภาคปฏิบัติด้วยตนเอง มันต้องพึ่งการปฏิบัติของตนเอง เรานะเข้าใจแต่ภาษาคนไม่ได้เข้าใจภาษาธรรม เพราะมนุษย์เราพัฒนาเเต่วิทยาศาสตร์ ทางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พวกนี้ก็จัดว่าเป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกัน เราจึงต้องมาพัฒนาใจ ใจนี้เราเรียกว่าสัมมาทิฏฐินี้คือพระพุทธเจ้า สัมมาทิฏฐิรู้แล้วก็ยังไม่พอ มันต้องพึ่งการปฏิบัติของตนเองในชีวิตประจําวัน เราต้องปฏิบัติให้ได้ จะได้ส่งไม้ผลัดให้ลูกให้หลานได้ จะได้ไม่เป็นผู้ทําลายครอบคร้วของตนเองเหมือนที่ได้กล่าวไว้เมื่อวาน ว่าเราเป็นพ่อเป็นเเม่ก็ให้เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นตํารวจ เป็นคุณหมอ เป็นพยาบาล เป็นชาวพุทธ คริสต์ เป็นอะไร มันก็ต้องถูกต้องตามคุณธรรมเราทุกคนต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ เราจะมีความสุขในทุกๆ ที่ เพราะอันนี้มันเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นถูกต้อง เป็นความเข้าใจถูกต้อง ความสุขทางกายมันก็ได้อยู่แล้วตามหลักเหตุผล ความสุขใจนี้มันก็ได้ มันเป็นปัจุบันธรรม ให้พากันเข้าใจในเรื่องปฏิบัติอย่างนี้ ถ้างั้นนะเรานี้ไปปล่อยวางศีลวางธรรม มันเสียหายมาก มันเป็นอบายมุขเราจะได้แก้ทุกข์ได้ ทุกชาติ ทุกศาสนา ต้องเอาตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ เราต้องแก้ทั้งภายนอก ภายในใจ ของเราไปพร้อมๆ กัน
พระพุทธเจ้าใน ภาษาคนภาษาธรรม ถอดอัตตาให้ไปสู่วิมุตติ
ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวความหมายของพระพุทธเจ้าโดยแยกเป็น ภาษาคนภาษาธรรม ได้อย่างลึกซึ้งมาก ทำให้เห็นว่าที่จริงแล้ว พระพุทธเจ้าในสองภาษา อาจเป็นพระองค์เดียวกัน แต่กลับมีความหมายที่ลึกซึ้งไปคนละอย่าง หากเราเข้าใจในภาษาธรรม ก็จะเข้าใจพระพุทธเจ้าในภาษาคนด้วย ทำให้เราไปสู้วิมุตติได้ไม่ยาก คือไม่ยึดติดในสมมติสัจจะที่ชาวโลกบัญญัติ แต่เข้าใจถึงสภาวะธรรมที่เป็นจริง ซึ่งสภาวะธรรมนี้ที่ทำให้มนุษย์สามารถตรัสรู้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานได้นั่นเอง
คนทั้งหลายทราบกันดีว่า “พุทธะ” ในภาษาคน หมายถึงพระพุทธเจ้า คือเจ้าชายสิทธัตถะผู้สละราชสมบัติ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น ทรงมีพระชนม์ชีพเมื่อสองพันปีก่อน เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระสรีรสังขารถูกเปลวเพลิงเผาพลาญสิ้นไปแล้ว นั่นคือพุทธะในภาษาสามัญที่ชาวโลกรู้จัก
แต่ส่วนพุทธะในภาษาธรรม หมายถึงองค์ธรรมแท้ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ไม่เห็นธรรมะนั้น แม้จะจับจีวรของตถาคตอยู่แท้ ๆ ก็ไม่เชื่อว่าเห็นตถาคตเลย” ลองตรองดูว่า ธรรม ในที่นี้คืออะไร
ธรรม ในที่นี้คือ สิ่งที่เป็นนามธรรมไม่เป็นตัวเป็นตน ไม่มีรูปร่าง แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่านั่นแหละคือตัวตถาคต เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าในภาษาธรรม คือตัวธรรมะที่ทำบุคคลสามัญให้กลายเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าได้เห็นแล้วจึงได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
คนในสมัยพุทธกาลหลายคน ไม่พอใจ ไม่ชอบพระพุทธเจ้า ด่าพระองค์ ทำร้ายพระองค์ เพราะเขาเห็นแต่พระพุทธเจ้าที่เป็นเปลือกนอก เข้าใจพระองค์ในภาษาคน แต่พระพุทธเจ้าเป็นเนื้อหาแห่งภาษาธรรม คือ ธรรมะในใจของพระองค์
หรืออีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมวินัยที่ได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว นั้นจักอยู่เป็นศาสดาแห่งพวกเธอทั้งหลาย ในกาลเป็นที่ล่วงลับไปแห่งเรา” ความหมายว่าพระพุทธเจ้าที่แท้นั้นไม่ได้ดับหายไป ไม่ได้สูญไป ดับหายไปแต่ร่างกายหรือเปลือกเท่านั้น พระศาสดาองค์แท้คือธรรมวินัยยังอยู่ อย่างนี้เรียกว่าเป็นพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะ
สรุปความว่าพระพุทธเจ้าในภาษาคนหมายถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นตัวบุคคล พระพุทธเจ้าในภาษาธรรม หมายถึงธรรมะที่ทำให้เกิดความเป็นพระพุทธเจ้า
ทรรศนะของท่านพุทธทาสภิกขุที่อธิบายให้เราทั้งหลายเข้าใจถึงพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ไม่เห็นธรรมะนั้น แม้จะจับจีวรของตถาคตอยู่แท้ๆ ก็ไม่เชื่อว่าเห็นตถาคตเลย” และ “ธรรมวินัยที่ได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว นั้นจักอยู่เป็นศาสดาแห่งพวกเธอทั้งหลาย ในกาลเป็นที่ล่วงลับไปแห่งเรา” เพื่อให้เห็นว่าธรรมะหรือคำสอนของพระองค์ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง
พระวักกลิเถระ อดีตชาติของพระวักกลิเถระ ได้ทำบุญเอาไว้แต่ปางก่อนแล้ว ตั้งแต่ในสมัยของ พระพุทธเจ้า องค์ที่พระนามว่า ปทุมุตตระ ในชาตินั้นได้เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ในพระนครหงสวดี มีอยู่คราวหนึ่งได้ฟังธรรมของปทุมุตตรพุทธเจ้า แล้วชอบใจ เกิดความยินดี ในการที่พระพุทธเจ้า ทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ให้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในด้านการหลุดพ้น กิเลสด้วยศรัทธา โดยขวนขวายในการดูแลใกล้ชิดพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี
จากการพบเห็นคราวนั้น ก็เกิดแรงปรารถนาที่จะได้เป็นผู้เลิศยอดเช่นนั้นบ้าง จึงนิมนต์พระพุทธเจ้า กับพระสาวก ถวายอาหาร อันประณีตให้เสวยตลอด ๗ วัน ด้วยใจเต็มเปี่ยมด้วยปีติ แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์ปรารถนาได้เป็นเช่นภิกษุผู้สัทธาวิมุติ (หลุดพ้นกิเลสด้วยศรัทธา) ดังที่พระองค์ตรัส ชมเชยภิกษุรูปหนึ่งว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งปวงที่มีศรัทธาในพระศาสนานี้"
พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเขาแล้ว ตรัสขึ้นท่ามกลางพุทธบริษัทว่า "จงดูมาณพ (ชายหนุ่มในตระกูลพราหมณ์) ผู้นี้เถิด ในอนาคตกาลเขาจะได้ชื่อว่า วักกลิ เป็นพระสาวก ของพระศาสดา พระนามว่า โคดม เขาจะได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านสัทธาวิมุติ" เขาได้ฟังคำตรัสนั้นแล้วมีปีติสุขยิ่งนัก กระทำบุญสร้างกุศลจนตลอดชีวิต เมื่อตายแล้ว ไปเกิดในภพชาติใด ก็มีแต่ความสุข ในที่ทุกสถาน
จนกระทั่งถึงชาติสุดท้าย จึงได้เกิดกับตระกูลพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี นครหลวง ของแคว้นโกศล บิดามารดา ได้ตั้งชื่อให้ว่า วักกลิ (ผู้ขับไล่บาปโทษไปหมดแล้ว) ตั้งแต่วักกลิยังเป็นทารกน้อยนอนแบเบาะอยู่ มารดาถูกภัยจากปีศาจ (จิตตนหลอน) คุกคาม มีใจเกิดความหวาดกลัวว่า ลูกน้อย จะป่วยไข้เป็นอันตราย จึงนำเอาทารกวักกลิ ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม แล้ววางทารกน้อย ลงที่ใกล้พระบาท ของพระพุทธองค์ กราบทูลว่า "หม่อมฉันขอถวายทารกนี้แด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงกรุณาเป็นที่พึ่งแก่เขาด้วยเถิด"
พระศาสดาผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ที่หวาดกลัวทั้งหลาย ทรงรับเอาทารกน้อยขึ้นมาจากพื้น ด้วยพระหัตถ์ ของพระองค์เอง ทารกน้อยเปรียบเสมือน ได้รับการดูแลรักษา โดยพระพุทธองค์ ทารกจึงเป็นผู้พ้นแล้ว จากความป่วยไข้ อยู่มาได้ ด้วยความสุขสำราญ และมีความรัก ความผูกพัน ต่อพระศาสดาเป็นอย่างมาก
อายุได้เพียง ๗ ขวบ จึงขอบวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา บวชแล้วก็เฝ้าติดตามพระศาสดา ด้วยศรัทธา ตลอดมา คอยรับใช้ใกล้ชิด เพราะไม่อิ่มในความปรารถนา ที่ได้ดูพระสรีระอันงาม ประเสริฐ ของพระพุทธองค์ จิตของวักกลิภิกษุ ติดหลงใน พระพุทธสรีระ อยู่อย่างนี้
เมื่อพระศาสดาทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า "ภิกษุนี้หากไม่ได้ประสบความสลดสังเวชบ้าง ก็จะไม่อาจรู้แจ้งเห็นจริงได้" ดังนั้นจึงตรัสขับไล่ออกไป "วักกลิ เธอจงอยู่ให้ห่างเรา เธอจงหลีกไปเสีย"
พอถูกพระศาสดาขับไล่แล้ว วักกลิภิกษุไม่อาจจะอยู่ต่อพระพักตร์พระศาสดาได้ น้อยใจเสียใจอย่างรุนแรง คิดว่า "จะมีประโยชน์อะไร ที่จะมีชีวิตอยู่ห่างไกลโดยไม่ได้พบเห็นพระศาสดา"
จึงบุกป่าฝ่าดงด้วยความเศร้าโศก ป่ายปีนขึ้นสู่ปากเหวของภูเขาคิชฌกูฏ พยายามข่มอารมณ์ที่เศร้าหมอง เจริญวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญา ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงอยู่) พระศาสดาทรงทราบความเป็นไป ของวักกลิภิกษุ ทรงเล็งเห็นว่า "หากวักกลินี้ไม่ได้รับการคลายใจจากความเศร้าหมองแล้ว ก็จะทำให้ไร้มรรคผลนิพพานเป็นแน่"
พระศาสดาจึงเสด็จไปประทับยืนที่เชิงเขา ทรงปลอบโยนวักกลิภิกษุด้วยการตรัสเรียกหา "วักกลิจงมาเถิด วักกลิจงมาเถิด" เพียงได้ยินการตรัสเรียกหาเท่านั้น วักกลิภิกษุก็เกิดปีติและสุขใจยิ่งนัก รีบถลาวิ่งลงมาจากเงื้อมเขาสูง ถึงเชิงเขา ได้โดยสะดวก รวดเร็วทีเดียว แล้วพระศาสดาก็ทรงถามขึ้นว่า "ดูก่อนวักกลิ เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่ที่ไร้เส้นทางสัญจร เป็นที่เศร้าหมอง แล้วถูกโรคลมเข้าครอบงำ เธอจะทำอย่างไร"
"ข้าพระองค์จะทำปีติและความสุขอันไพบูลย์ ให้แผ่ไปสู่ร่างกาย จะครอบงำเหตุอันเศร้าหมอง นั้นเสีย จะเจริญสติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗ เพราะข้าพระองค์เคยได้เห็น ภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว มีความบากบั่น มั่นเป็นนิตย์ มีความพร้อมเพรียงกัน มีความเห็น ร่วมกันปฏิบัติอยู่
เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ซึ่งฝึกดีแล้ว มีพระหฤทัยตั้งมั่น ข้าพระองค์ จึงเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน ตลอดทั้งวัน และคืน อยู่ในป่าใหญ่" "ดีล่ะ เธอจงตั้งใจปฏิบัติเถิด"
วักกลิภิกษุคลายใจได้แล้วว่า "พระศาสดามิได้รังเกียจเรา" จึงพากเพียรบำเพ็ญธรรมยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งเกิดการอาพาธ (เจ็บป่วย) หนัก ได้รับทุกขเวทนามาก ซึ่งขณะนั้น ได้มาพักอยู่ที่บ้าน ของนายช่างหม้อ คนหนึ่ง ครั้นอาการอาพาธรุนแรงสุดที่จะทนได้ วักกลิภิกษุ จึงเรียกเพื่อนภิกษุ ให้ช่วยไปทูลเชิญ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุเคราะห์เยี่ยม พระศาสดาทรงทราบแล้ว เสด็จมาเยี่ยมถึงที่อยู่ พอวักกลิภิกษุ เห็นพระศาสดา ก็พยายามลุกขึ้น จากเตียง แต่พระศาสดารีบตรัสห้ามไว้ "อย่าเลยวักกลิ เธออย่าลุกขึ้นเลย" แล้วทรงถามถึงอาการอาพาธว่า "เธอยังพอทนได้หรือไม่ พอยังอัตภาพ (ร่างกาย) ให้เป็นไปได้หรือไม่ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น ทุเลาลงหรือไม่"
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถจะยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาแรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย"
"ดูก่อนวักกลิ เธอมีความรำคาญ มีความเดือดร้อนหรือไม่"
"ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย"
"ก็แล้วตัวเธอเองติเตียนตนเองได้ด้วยศีลหรือไม่"
"ไม่มีข้อใดเลย ที่ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนตนเองได้ด้วยศีล พระเจ้าข้า"
"ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองด้วยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอยังจะมีความรำคาญ และ มีความเดือดร้อนอะไรอีกเล่า"
"พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ว่าร่างกาย ของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอ จะไปเข้าเฝ้าได้"
"อย่าเลยวักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม (โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ โย มํ ปสฺสติ โส ธมฺมํ ปสฺสติ ฯ ธมฺมํ หิ วกฺกลิ ปสฺสนฺโต มํ ปสฺสติ มํ ปสฺสนฺโต ธมฺมํ ปสฺสติ ฯ)
วักกลิเป็นความจริงแท้ บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม เธอจงสำคัญความนี้ว่า รูป (เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) เที่ยงหรือไม่เที่ยง" "ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า"
"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า" "เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า"
"สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา"
"ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"
"เพราะเหตุนั้น อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป (เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ หยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ (การปฏิบัติมรรคองค์ ๘) อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี"
พระศาสดาตรัสสอนวักกลิภิกษุแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จไปทางภูเขา คิชฌกูฏ ส่วนวักกลิภิกษุ ก็เรียกเพื่อนภิกษุ ให้ช่วยกันอุ้มตนขึ้น ให้หามไปยังวิหารกาฬสิลา ซึ่งอยู่ข้างภูเขาอิสิคิลิ ด้วยคิดว่า "ภิกษุเช่นเรา ไม่สมควรที่จะต้องมาตายอยู่ในละแวกบ้านเช่นนี้" เช้าวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเรียกภิกษุ ทั้งหลายมา แล้วรับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพากันไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ แล้วจงบอกอย่างนี้ว่า เมื่อคืนมี เทวดาตนหนึ่ง ทูลกับพระศาสดาว่า วักกลิภิกษุ กำลังคิด เพื่อความหลุดพ้น แต่มีเทวดาอีกตนหนึ่งทูลว่า วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จะหลุดพ้นได้แน่แท้ ส่วนพระศาสดาเอง ได้ตรัสฝากให้ท่านว่า อย่ากลัวเลยวักกลิ เธอจะมีความตายอันไม่ต่ำช้า จะมีความตาย อันไม่เลวทรามเลย"
ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสแล้ว ก็พากันไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ เพื่อบอกเล่าคำของพระศาสดา วักกลิภิกษุ ให้เพื่อนๆ ช่วยกันอุ้มตน ลงจากเตียง เพราะคิดด้วยศรัทธายิ่งว่า "ภิกษุเช่นเรา จะนั่งอยู่บนที่นั่งสูง แล้วฟังคำสั่งสอนของพระศาสดานั้น ไม่สมควรเลย"
วักกลิภิกษุ ได้ฟังแล้ว ก็บอกกับเหล่าภิกษุนั้นว่า "พวกท่านช่วยกันไปทูลพระศาสดา ตามคำพูดของผมด้วยว่า วักกลิภิกษุอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา กล้าเหลือเกิน ขอถวายบังคมลา เบื้องพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเศียรเกล้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูป (เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ตาม ความกำหนัดก็ตาม ความรักใคร่ก็ตามในสิ่งนั้นๆ มิได้มีแก่ข้าพระองค์แล้ว"
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของพระวักกลิเถระ เมื่อภิกษุเหล่านั้นออกจากที่นั้นแล้ว พระวักกลิเถระ ก็นำเอาศัสตรา (อาวุธมีคม) มาปาดคอตัวเอง
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกลับมากราบทูลตามคำของพระวักกลิเถระแล้ว พระศาสดารีบรับสั่งว่า "ไปกันเถิด พวกเราพากันไปหาวักกลิ"
พอไปถึงวิหารกาฬสิลา พระศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็น พระวักกลิเถระ นอนคอพับ อยู่บนเตียงนั้นเอง ที่ตรงนั้น มองเห็น มีกลุ่มควันลอยอยู่ ลอยไปทิศนั้นทิศนี้สับสนทั่ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอมองเห็นกลุ่มควันเหล่านั้น ลอยอยู่อย่างสับสนวุ่นวายหรือไม่"
"เห็น พระเจ้าข้า" "นั่นแหละคือ มารใจหยาบช้า เที่ยวค้นหาวิญญาณของวักกลิ ด้วยคิดว่าวิญญาณ ของวักกลินั้น อยู่ที่แห่งไหนหนอ แต่ที่แท้ วิญญาณของวักกลินั้น ไม่ได้ตั้งอยู่ในที่ใด เพราะวักกลิ เป็นพระอรหันต์ ปรินิพพาน (ดับวิญญาณ) แล้ว"
ดังนั้น ทรงประกาศท่ามกลางหมู่สงฆ์ ทรงแต่งตั้งให้พระวักกลิเถระ เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ที่หลุดพ้นกิเลส ได้ด้วยศรัทธา
“ธรรม” ภาษาคน หมายถึง พระคัมภีร์ หนังสือ ที่เรียกกันว่าพระธรรมอยู่ในตู้ หรือเสียงที่ใช้แสดงธรรม
ภาษาธรรม หมายถึง บทธรรมที่เป็นธรรมะที่กว้างขวาง ไม่ใช่เพียงหนังสือ คัมภีร์ ใบลาน หรือเสียงเทศน์เป็นความหมายที่ลึกซึ้ง ที่หมายถึงทุกสิ่งที่เข้าใจได้ยากก็มี เข้าใจได้ง่ายก็มี
“พระสงฆ์” ภาษาคน หมายถึง นักบวช
ภาษาธรรม หมายถึง คุณธรรม หรือพระธรรมที่มีอยู่ในจิตใจของคน อย่างที่เราเรียกว่าพระสงฆ์มี ๔: โสดา,สกิทาคา, อนาคา และ อรหันต์ ก็หมายถึง คุณธรรม ไม่ได้หมายถึงตัวคน เพราะเปลือกหรือตัวคนนั้นเหมือนกันหมด ผิดกันแต่คุณธรรมในใจที่ทำให้เป็น พระโสดา, พระสกิทาคา, พระอนาคา และพระอรหันต์ขึ้นมา
“พระศาสนา” ภาษาคน หมายถึง โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ผ้ากาสาวพัสตร์ และตัวคำสั่งสอน (มีโบสถ์วิหารสะพรั่งไปหมด ก็พูดว่า พระศาสนาเจริญแล้ว)
ภาษาธรรม หมายถึง ธรรมะที่แท้จริง ที่เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง ธรรมะใดเป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง ดับทุกข์ให้มนุษย์ได้จริง ธรรมะนั้นคือศาสนา คือพรหมจรรย์ นั่นคือประพฤติปฏิบัติจริง ๆ ตามทางธรรมเป็นพรหมจรรย์ที่งดงามในเบื้องต้น, งดงามในเบื้องกลาง และงดงามในเบื้องปลาย งามในเบื้องต้น คือการศึกษาเล่าเรียน งามในท่ามกลาง คือการปฏิบัติ
งามในเบื้องปลาย คือผลของการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง ๆ
สังฆาฏิสูตร : เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุจับที่ชายสังฆาฏิแล้ว พึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปรกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมชื่อว่าไม่เห็นเรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา
ภิกษุนั้น เมื่อไม่บำเพ็ญปฏิปทาที่เราตถาคตกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ ก็ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ไกลเราตถาคตทีเดียว เราตถาคตก็ชื่อว่าอยู่ไกลเธอเหมือนกัน. ด้วยคำนี้พระองค์ทรงแสดงว่า การเห็นพระตถาคตเจ้าด้วยมังสจักษุก็ดี การอยู่รวมกันทางรูปกายก็ดี ไม่ใช่เหตุ (ของการอยู่ใกล้) แต่การเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการรวมกันด้วยกายธรรมต่างหาก เป็นประมาณ (ในเรื่องนี้) ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรมเมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นเราตถาคต
ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า “พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในโบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่อินเดีย ไม่ได้อยู่ที่เมืองอื่น ลังกา พม่าไม่มี ท่านอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณเองทุกคน ทุกคนเอาความโง่ออกเสีย ไม่มีม่านแล้ว โอ้พระพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงนี้นี่ เข้าไปในโบสถ์ก็พบแต่พระพุทธรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า แม้แต่พระธาตุมันก็เป็นกากเศษที่เหลืออยู่แห่งอัตตภาพของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้า องค์พระพุทธเจ้าคือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท
อย่างที่ท่านตรัสว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นตถาคตนะฉะนั้นจงเห็นปฏิจจสมุปบาท ท่านจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ที่ประทับนั่งอยู่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ พอเห็นปฏิจจสมุปบาท ม่านแห่งความโง่ ม่านแห่งอวิชชามันสลายไป มันสลายไป ไม่มีอะไรบังพระพุทธเจ้า นี่จึงพูดให้จำง่ายและค่อนข้างจะหยาบคายหน่อยนะว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณทุกคนเลย พอเอาม่านนี้ออกเสียได้ มันก็เป็นพระอรหันต์หมด มีพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้า กระทั่งว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆ เสียเอง” คำกล่าวของท่านพุทธทาสช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญของหลักธรรมนี้ได้ชัดเจนมาก
คนเราจะบวชหรือไม่บวชก็ไม่สำคัญ แต่มันสำคัญที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ต้องมีความสุขในการหายใจ มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการขยัน ปิดอบายมุขของตัวเอง
ขอให้ทุกคนมีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีอะไรเป็นตัวตนอย่างแท้จริง ไม่น่าหลงด้วยกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้น ควรยับยั้งด้วยปัญญาเรียกว่าเป็นผู้รู้ด้วยปัญญามีความเห็นถูกต้อง ตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา จึงสมควรจะเรียกว่า เป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริง
แม้จะไม่เคยบวชไม่เคยรับศีล แต่ก็เป็นบุคคลที่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง เขามีจิตใจอย่างเดียวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือมีความสะอาด สว่าง สงบในใจ เพราะเหตุที่ไม่ยึดถือในสิ่งใด ว่าน่าเอา หรือน่าเป็นนั่นเอง เขาจึงเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์ อย่างง่ายดายและอย่างแท้จริง ด้วยอาศัยอุบายถูกต้อง ที่พิจารณามองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่ใช่ตัวตน ของตัวของตน จนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ น่าเอา น่าเป็นสักอย่างเดียว การรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดนั้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของตน เมื่อรู้โดยแท้จริงแล้ว ก็จะเกิดความรู้ชนิดที่จิตใจจะไม่อยากเป็นอะไรด้วยความยึดถือ แต่ถ้าต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ ที่เรียกว่า “ความมีความเป็น” บ้างก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจของปัญญา ไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจของตัณหา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความทุกข์เลย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee