แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่องสั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๔๔ มีความเห็นชอบ ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ด้วยการ "ปล่อย วาง ว่าง หลุด"
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือผู้ที่ประเสริฐ ไม่ว่าเราถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู ทุกๆ ศาสนานั้นต้องพากันมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องรู้จักว่าชีวิตของเรานี้ คือธรรมะ คือสภาวะธรรม หาได้เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นนิติบุคคลไม่ คือธรรมะ
ชีวิตของเราส่วนใหญ่อายุขัยก็ไม่เกิน120 ปี 80 ปี 90 ปี หรือ 100 ปีต้นๆ ก็ต้องจากโลกนี้ไป เราทั้งหลายถึงพากันมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง พัฒนาใจ พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยี สร้างเหตุ สร้างปัจจัยให้ถึงพร้อม หยุดความเป็นคน หยุดมีความหลง เรียกว่าเข้าสู่กิจกรรมที่ถูกต้อง เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา ศาสนาทุกศาสนา มันเป็นชื่อของเราทุกๆ คนเฉยๆ เราต้องรู้จักว่าศาสนานั้นคือธรรมะ ที่มีไว้สำหรับให้เราพัฒนาใจ พร้อมกับพัฒนาการทำมาหากิน เรียกว่าวิทยาศาสตร์
ทุกคนต้องพากันมีความสุขในการดำเนินชีวิต วันหนึ่ง คืนหนึ่งของมนุษย์เรา ก็ 6-8 ชม. อย่างนี้สำหรับผู้ใหญ่ สำหรับเด็กก็ 8 ชม. ไม่เกิน 10 ชม. ความสุขของเรามันอยู่ในชีวิตประจำวัน เราต้องทำให้ถูกต้อง ปล่อยวางให้ถูกต้อง ทุกวันนี้เราปล่อยวางไม่ถูกต้องนะ เราปล่อยวางความถูกต้อง ปล่อยวางศีล ปล่อยวางธรรม ปล่อยวางกฏหมายบ้านเมือง ปล่อยให้เราตกไปสู่อบายมุข อบายภูมิ
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้หมู่มวลมนุษย์มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง อย่าได้พากันปล่อยศีล ปล่อยธรรม ปล่อยความถูกต้อง อย่าไปมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยว่าไม่สำคัญ ทุกคนต้องปฏิบัติ ต้องไฟฟ์ติ้งกับตัวเอง มันจะได้เข้าถึงพระศาสนาได้ทุกๆ ศาสนาอย่างนี้ พูดไปอย่างนี้พูดเพื่อให้เป็นกลางๆ เพื่อให้ทุกคนได้รักกัน กรุณากัน เมตตากัน สงสารกัน เพื่อจะตัดนิติบุคคล ตัวตน เข้าสู่พรหมวิหารอย่างไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
ทุกวันนี้เราไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราไปปล่อยปะละเลย บ้านก็สกปรก ห้องน้ำ ห้องสุขาก็สกปรก ที่อยู่ที่นอนก็สกปรก อย่างนี้แหละมันไปปล่อยวาง สิ่งที่ดีๆ สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยอย่างนั้น และก็ปล่อยวางศีล ปล่อยวางธรรม อย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้เราพากันหลง เป็นมิจฉาทิฏฐิ
เราทุกคนไม่ว่าใครที่ไหนสามารถดับทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี ทุกคนน่ะต้องพากันปฏิบัติ ถ้างั้นเรามีประเทศมันไปไม่ได้ มีทุกสถาบันมันไปไม่ได้ เพราะทุกคนไม่ได้เข้าสู่แห่งความประเสิรฐ เค้าเรียกว่าทำร้ายรากเหง้า เช่นเราปลูกผลไม้ ผลไม้มันออกลูก เราโค่นต้นมันลงมาอย่างนี้ อย่างข้าราชการ ทหาร ตำรวจ แทนที่จะเอาเฉพาะเงินเดือน มันไม่มีความสุขในการทำงาน มันก็ไปโกงกินคอรัปชั่น โกงกินเวลา เค้าเรียกว่ามันถอนรากถอนโคน แห่งความเป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ อย่างเราเป็นประชาชนเราก็ต้องเอาความถูกต้องเป็นหลัก เราอย่าไปเอาเงินไม่มา ไม่กา เพราะอย่างนั้นมันไม่ถูก
เราต้องเข้าสู่สัมมาทิฏฐิ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อันไหนไม่ถูกต้องเราต้องเบรคตัวเอง เพราะต้องหยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ หยุดทำตามอวิชชา หยุดทำตามความหลง ทุกคนก็ทำได้ ปฏิบัติได้ เราช่วยกันทุกๆ คน แก้ไขทุกๆ คน ไม่แก้ไขไม่ได้ เพราะพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างแบบอย่าง พ่อแม่อบายมุข พ่อแม่อบายภูมิ พ่อแม่ตามจิต ตามใจ ทิ้งธรรม ทิ้งวินัย ทิ้งคุณธรรม อย่างนี้ไม่ได้ ศีลธรรมไม่กลับมาโลกามันพินาศนะ เราอย่าไปเดินขบวนกันไปเลย เราอย่าไปทะเลาะวิวาทกันเลย ชีวิตของเรามันก็ไม่เกิน 120 ปีมันก็ต้องจากไป
สาราณียธรรม พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นหลักธรรมที่เป็นแนวทางในการเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะในสังคม เป็นสิ่งที่ให้ระลึกถึงกัน นึกถึงกัน คิดถึงกัน แบบอยู่ก็มีคนรัก จากไปก็มีคนคิดถึง มี ๖ ประการ คือ
๑. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) หมายถึงกระทำสิ่งใดก็ทำด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น สนับสนุนช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกาย ด้วยการช่วยเหลือกิจธุระต่าง ๆ ของหมู่คณะด้วยความเต็มใจ แสดงอาการกิริยาสุภาพต่อกัน มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน เคารพนับถือกัน รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยกตนข่มท่าน มีสัมมาคารวะ ไม่ไปเบียดเบียนหรือใช้กำลังข่มเหงผู้อื่น ไม่ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๒. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) หมายถึง การพูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดกันด้วยความรักความปรารถนาดี รู้จักการพูดให้กำลังใจซึ่งกันและกันในยามที่เพื่อนร่วมสังคมประสบกับความทุกข์ ความผิดหวัง หรือปัญหาต่าง ๆ ควรพูดแนะนำแต่สิ่งที่ดี แจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี พูดอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ไม่โกหกมดเท็จ กล่าววาจาสุภาพ ใช้วาจาที่แสดงความเคารพนับถือต่อกัน เจรจากันด้วยเหตุผล ด้วย ติปัญญา ไม่ใช้โทสะเป็นตัวนำ พูดอย่างมีจิตสำนึกในผลประโยชน์สุขร่วมกันพูดจาสร้างสรรค์ หากไม่มีความสามารถที่จะพูดแนะนำอะไรใครได้ ก็ไม่ควรพูดซ้ำเติม หรือนำไปนินทาว่าร้าย หรือกล่าวร้ายเสียดสีประชดประชันกัน ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าหรือลับหลัง
๓. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) หมายถึง การคิดดี มองกันในแง่ดี มีความหวังดี ปรารถนาดี มีความรักความเมตตาต่อกัน คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน คิดพิจารณาวินิจฉัย คิดวางแผนต่าง ๆ โดยมุ่งทำให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกัน ไม่คิดทำร้ายซึ่งกันและกัน ไม่คิดอิจฉาริษยา ไม่คิดอคติ ไม่คิดพยาบาทไม่คิดผูกโกรธแค้นเคืองกัน รู้จักให้โอกาสและให้อภัยต่อกันอยู่เสมอ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๔. สาธารณโภคี (ไม่หวงสิ่งของ ได้ของสิ่งใดมาโดยชอบธรรมก็แบ่งปันกัน) หมายถึง ได้สิ่งใดมาก็รู้จักแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ แม้เป็นของเล็กน้อยก็ยินดีแจกจ่ายให้กับทุกคนได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน รู้จักแบ่งปันผลประโยชน์ต่อกันด้วยความชอบธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามอัตภาพ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันอยู่เสมอตามโอกาสอันควร รู้จักเฉลี่ยแจกจ่ายสงเคราะห์ เช่น บริจาคอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคเครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนวิทยาการความรู้ต่าง ๆ ให้แก่ เพื่อนมนุษย์ รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันโดยไม่ทำลายระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อมวลมนุษย์ มุ่งช่วยเหลือและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ตระหนี่ ไม่ขี้เหนียว ไม่โลภ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร แม้จะมีช่องทางให้ทำได้ก็ตาม
๕. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) หมายถึง มีความประพฤติสุจริตดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวม ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของสังคมที่ตนเองอยู่ร่วม รู้จักเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ไม่บ้าอำนาจ หรือถือตนว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าผู้อื่น ไม่ถืออภิสิทธิ์ใดๆทั้งปวง ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ ไม่ฝ่าฝืนมติหรือหลักการของหมู่คณะอันจะก่อให้เกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๖. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง) หมายถึง มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นสิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา ยึดถืออุดมคติ หลักแห่งความดีงาม หรือจุดหมายสูงสุดอันเดียวกันไม่ยึดถือความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ฝ่ายเดียว เมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม ต้องรู้จักฟังความคิดเห็นของผู้อื่นบ้าง ของสังคมโดยรวมบ้าง เมื่อความคิดเห็นของตัวเองแตกต่างจากคนหมู่มาก ก็ต้องหันมาพิจารณาดูตัวเอง ปรับมุมมอง ทัศนคติของตัวให้เข้ากับคนหมู่มาก เรียกว่ารู้จักแสวงหาจุดร่วมและสงวนไว้ซึ่งจุดต่าง ไม่สร้างข้อขัดแย้งโดยไม่มีเหตุผล ต้องมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพของแต่ละบุคคล ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
เพราะความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ใจของเรามีสัมมาทิฏฐิ ที่ใจของเราเจริญตามอริยมรรค เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี มนุษย์เราก็ต้องมีความสุข มีความทุกข์ไปไม่ได้ เพราะเราทำถูกต้อง มันถึงแก้ไขได้ เราทำไม่ถูกทำจนตายหลายชาติ มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ เราอย่าพากันไปทิ้งศีล ทิ้งธรรม ปล่อยวางไม่ถูกนี่ยุ่งเลยนะ เรามันเกิดมาเพียงแต่เป็นคนอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องเป็นมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง เหมือนกันท่านพุทธทาสแต่งไว้ว่า…
ร่างกายของเรามันเหน็ดเหนื่อย มันหิว มันอะไรก็ มันไปทำตามไม่ได้หรอก เพราะชีวิตของเรามันต้องขอบคุณความหิว ความเหนื่อย ความยาก ความลำบาก เห็นมั้ยพระพุทธเจ้าให้เราลงรายละเอียดในพระวินัย แม้จะถ่มน้ำลายอย่างนี้ ก็ยังคิดว่าอย่างนี้มันจะเปื้อน
การปล่ยยวางคือการปล่อยวางตัวตนนะ ไม่ใช่ปล่อยวางความดีนะ อย่างนี้มันปล่อยวางศีลธรรม มันไม่ได้ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิธรรมดา มันเป็นมหามิจฉาทิฏฐิ ถ้าอย่างนั้นเราเรียนหนังสือก็เพื่อทำลายโลก เรามาบวชมาปฏิบัติอย่างนี้มันก็ทำลายพระพุทธศาสนา ทุกอย่างมันไม่ต้องไปแก้ที่คนอื่น แก้ที่ตัวเรา ที่เรามันมีความทุกข์ ก็เพราะว่าอันนี้มันไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ มันไปปล่อยวางไม่ถูก เห็นมั้ยรู้มั้ย พระพุทธเจ้าบอกว่าสมณะที่1 2 3 4 มันอยู่ในความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ในปัจจุบันของเรานี่ ไม่ต้องไปหาที่อื่น เราต้องขอบคุณเทวทูตทั้ง 4 ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ตาย ขอบคุณอากาศร้อน อากาศหนาว ว่าให้หมู่มวลมนุษย์ได้รู้จักอริยสัจ 4 นี้นะคือความดับทุกข์ของเรา ให้พากันเข้าใจ
ให้เข้าใจคำว่าปล่อยวาง คำว่าปล่อยวางนี่คือการละสักกายทิฏฐิละการยึดมั่นถือมั่น ละความเห็นแก่ตัว เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาตัวตนเป็นหลัก ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ไม่เสียสละนึกว่าปล่อยวางจะไม่เสียสละ คนเราถ้าเสียสละมันเป็นกลไลแห่งความเป็นธรรม ความยุติธรรมมันถึงจะเกิดได้ สังคมที่ต้องมีการปกครองที่เป็นประเทศชาติบ้านมือง สิ่งที่ถูกต้องที่สุดก็คือธรรมะ เราอย่าไปเอาคนส่วนมาก เราต้องเอาความถูกต้อง ว่าประชาชนต้องการอันนู้นอันนี้ มันไม่ได้ ต้องเอาความเป็นธรรม ความยุติธรรม
ถ้าเอาพรรคพวก ยกตัวอย่างกันสังคายนาครั้งที่ ๒ พระอรหันต์เอาธรรมเอาวินัย ภิกษุปุถุชนเยอะแยะมาขับไล่พระอรหันต์ ถึงได้เกิดการสังคายนาขึ้น การปกครองตัวเองต้องเอาธรรมะ การปกครองคนอื่นก็ต้องเอาธรรมะ ธรรมะเป็นสิ่งที่จัดการเพียงตัวเอง มันไม่ได้จัดการคนอื่น ถึงได้ต้องมีกฏหมาย กฏหมายทางการปกครองครอบครัว ปกครองประเทศ เมื่อผู้ที่เป็นข้าราชการไม่ได้เอาธรรมะ เอาความเห็นแก่ตัว ไม่ขับเคลื่อนตัวเอง ไม่เสียสละ มาหาผลประโยชน์จากราชการ ไม่มีความสุขในการทำงาน มีความสุขแค่จะได้เงิน ได้สตางค์ ได้บ้าน ได้ยศ สรรเสริญ ผู้ที่สมัครเป็นนักการเมืองกลไลมันเลยไปไม่ได้ เพราะเกิดความไม่บริสุทธิ์ เรียกว่าการทุจริต โครงการ เลยไม่มีความสุขในการทำงาน งานคือความสุข งานคือการเสียสละ เมื่อเราไม่มีความสุขในการทำงาน เราก็เลยต้องวิ่งเต้นหาตำแหน่ง ในส่วนข้าราชการถึงมีเป็นประจำ ทุกหน่วยงาน ทางนักการเมืองก็ซื้อสิทธิ์ ซื้อเสียง มันเลยเป็น เปรตใหญ่ เปรตเล็ก มหาเปรต ประจำ เราต้องพากันเข้าใจ เดี๋ยวนี้ทุกคนต้องรู้กันเพราะการสื่อสารก็พร้อม
ความประสงค์ของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น ต้องการความปล่อย วาง ว่าง หลุด ๔ อย่าง ที่ว่าเป็นคำไทยคล้องจองกันนี้ แปลตามคำบาลีที่มีปรากฏแสดงลักษณะของการปล่อย วาง ว่าง หลุด ปล่อยตรงข้ามกับยึด วางตรงข้ามกับแบก ว่างตรงข้ามกับไม่ว่าง หลุดตรงข้ามกับติด
ปล่อย วาง ว่าง หลุด “ปล่อย” ศัพท์บาลีว่า มุญฺเจ หรือ มุญฺจน มีในที่แห่งหนึ่งรับสั่งว่า มุญฺจ ปุเร มุญฺจ ปจฺฉโต มชฺเฌ มุญฺจ ภวสฺส ปารคู ท่านจงปล่อยข้างหน้า ท่านจงปล่อยข้างหลัง ท่านจงปล่อยในท่ามกลาง จึงจะถึงฝั่งแห่งภพ นี้เป็นลักษณะของปล่อย
“วาง” มีตรัสว่า ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การวางภาระเสียได้เป็นสุข
คำว่า “ว่าง” เช่น ตรัสสอนพระโมฆราชว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต ดูก่อนโมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาโลกโดยความเป็นของสูญ คือ ว่าง ดังนี้
“หลุด” ศัพท์บาลีว่า มุตตะ หรือ วิมุตติ มุตติ วิมุตติเป็นนาม มุตตะหรือวิมุตตะ เป็นคุณ ดังพระบาลีข้างต้นนั้นที่รับสั่งว่า เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ลักษณะ ๔ ประการนี้ แสดงลักษณะของจิตใจของผู้ปฏิบัติ
ประการที่ ๑ ปล่อย ได้แก่ ปล่อยขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปล่อยข้างหน้า คือ อนาคต ปล่อยข้างหลัง คือ อดีต ปล่อยในท่ามกลาง คือ ปัจจุบัน หมายความว่า ไม่ให้ยึดขันธ์ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน ทั้งที่อยู่ใกล้และอยู่ไกล ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน คือไม่ให้ยึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา นี่เป็นลักษณะของปล่อย
คำว่าปล่อยนี้ ปัจจุบันนี้มีเถียงกันอยู่มากว่าคนอย่างเราๆนี้ ทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านปล่อยเลย เราปล่อยไม่ได้ แต่อันที่จริง คนเราถ้าไม่มีปล่อยแล้วทำอะไรไม่ได้ ไม่มีทางที่จะทำอะไรได้ในเวลาที่เราจะทำอะไรได้ อย่างญาติโยมมาฟังเทศน์อยู่บัดนี้ ญาติโยมปล่อยอะไรได้มาก ปล่อยไว้ที่บ้าน ปล่อยความเป็นห่วง ปล่อยความเป็นกังวลห่วงใยอาลัย ปล่อยภารกิจต่างๆ ถ้าไม่ปล่อยแล้วมาไม่ได้ เพราะขันธ์นี้เป็นมารเหมือนกัน มันบอกไม่ให้มา มันมากระซิบไม่ให้มา มันบอกว่าอย่ามาเลย มันแสดงอาการอย่างโน้นอย่างนี้ บางทีตื่นเช้าขันธ์มันเวียนศีรษะ มันหลอกไม่ให้มาวัด มืดหน้า มืดตา รู้สึกว่าลุกขึ้นก็ไม่ค่อยจะไหว บางทีไม่ลุกจากที่นอน ขันธ์หลอกทั้งนั้น
แต่ถ้าพอเรานึกปล่อย ไม่นึกอะไรหมด ปวดศีรษะ ไม่ได้นึกที่ศีรษะ ง่วงนอนไม่ได้นึกที่ง่วงนอน ปล่อยหมด ลุกขึ้นได้ อาบน้ำอาบท่า รับประทานอาหาร มาวัดได้สบายอกสบายใจ ขันธ์แพ้เรา แต่ถ้ามาไม่ได้เราแพ้ขันธ์ ถ้าเราแพ้ขันธ์ยอมขันธ์ ก็แบกขันธ์อยู่ที่บ้าน ทำอะไรอยู่ที่บ้าน...
ประการที่ ๒ วาง คือ วางขันธ์นั่นแหลแ ต่ในบาลีท่านเรียกว่า ภาระ ภารหาโร ผู้นำภาระ ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การถือภาระเป็นทุกข์ในโลก ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การวางภาระเสียได้เป็นสุข ก็หมายเอาขันธ์อีกนั่นแหละ แต่ในที่นี้ท่านเรียกขันธ์ว่าภาระ เมื่อเรียกว่า ภาระ ท่านแจกเป็น ๓ ภาระ คือ
๑. ขันธภาระ ๒. กิเลสภาระ ๓. อภิสังขารภาระ
ถ้าจะอธิบายก็ยืดยาว แต่ให้ญาติโยมทำความเข้าใจว่า ทั้ง ๓ ภาระนี้อยู่ที่ขันธ์ มารวมอยู่ที่ขันธภาระทั้งนั้น ทำไมมารวมอยู่ที่ขันธ์ มีปัญหาเคยพูดอยู่เสมอว่า เพราะขันธ์มันไม่เปล่า เราประมาทจนกิเลสเต็มขันธ์ไปหมด ขันธ์มันไม่เปล่า ถ้าขันธ์เปล่าแล้วมันเบา สลฺลหุกวุตฺติ มีความประพฤติเบากายเบาใจ แต่ขันธ์นี้ไม่ใช่ขันธ์เปล่า เป็นขันธ์เต็ม เพราะขันธ์เต็มนั่นแหละจึงเป็นภาระ เป็นภาระหนัก
เพราะฉะนั้น ท่านว่าให้วางเสีย ก็คล้ายๆกับข้อหนึ่ง วาง ก็คือไม่ยึดติด ตรงกันข้ามกับแบก หาม หาบ หรือทูน ถ้าเราแบกหามไว้ มันก็หนัก ถ้าเราปล่อยปลงเสียจากบ่าก็เบาฉันใด ในที่นี้ท่านก็สอนให้นึกอย่างนั้น ที่เราถือไว้นั้นเราแบก เมื่อเราแบกขันธ์ไว้ หาบคอนขันธ์ไว้เราก็หนัก หนักอยู่ที่ขันธ์ เมื่อไรเราปลงขันธ์ลง เมื่อนั้นก็เป็นสุขสบาย ไม่หนัก
ถ้าจะมีคำถามว่า แล้วเราจะเอาขันธ์ที่ปลงแล้วไปทิ้งที่ไหน ตอบว่า ไม่ต้องทิ้ง เพียงแต่ไม่ถือไปไหนไปด้วย มันอยากจะไปก็ไป อย่าสนใจ ขันธ์จะเป็นอย่างไรก็เรื่องของขันธ์ ผู้ปฏิบัติเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ แยกขันธ์กับผู้ปฏิบัติออกไปจากกัน เมื่อเราแยกขันธ์กับผู้ปฏิบัติออกไปจากกันแล้ว กิเลสมันตามไม่ทัน มันไม่อยู่กับผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ให้แยกกายกับใจนี้ออกต่างหากจากกัน อย่าให้อยู่ใกล้ๆกัน นี้เป็นประการที่ ๒
ประการที่ ๓ ว่าง ที่ตรัสสอนพระโมฆราชว่า “ให้ดูโลกนี้เป็นของว่าง ไม่มีอะไร” ท่านอุปมาว่า เหมือนกับมือของเรา ถ้าเรากำมือแล้ว คนนอกจะเข้าใจว่าในมือที่กำนั้นมีอะไรอยู่ฉันใด ขันธ์ก็ฉันนั้น เราไม่กำเราไม่เก็บ ให้เห็นเป็นของว่างๆ สักแต่ว่าอาศัยเท่านั้น
เหมือนเราอาศัยเรือจ้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรี เรือจ้างไม่ใช่ของเรา น้ำไม่ใช่ของเรา แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ของเรา ถ้าถามว่า เมื่อไม่ใช่ของเราแล้วข้ามเรือมาทำไม ตอบว่า ข้ามเรือเพื่อจะไปฝั่งธนบุรี เพราะฝั่งธนบุรีนั้นเป็นของเรา เมื่อถึงฝั่งธนบุรีอันเป็นของเราแล้ว ฝั่งธนบุรีของเราก็ไม่ใช่ของเรา เพราะถึงที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อเราข้ามเรือ เรือจ้างก็ไม่ใช่ของเรา แม่น้ำก็ไม่ใช่ของเรา เมื่อถึงฝั่งแล้วขึ้นจากเรือจ้าง ไม่อาลัยในเรือจ้างฉันใด ขันธ์ก็ฉันนั้น ให้ดูว่างๆ สูญๆ ให้ดูโลกว่างๆ สูญๆ
“โลก” ในที่นี้พระพุทธเจ้าทรงย่อเหลือเล็กเท่ากับคนคนหนึ่ง คือ ยาววาหนาคืบกว้างกำมาหนึ่งวิญญาณครอง นี่เรียกว่า โลกโลกหนึ่ง ดูโลกนี้ให้เป็นของว่าง ไม่มีอะไรในโลกว่างๆสูญๆ ที่จะถือให้เป็นสาระนั้นไม่มีเลย ถ้าถามว่า เมื่อไม่เป็นสาระไม่มีอะไรเลยแล้ว ทำไมอาศัยอยู่ มีคำตอบว่า อาศัยเพื่อจะเป็นยานพาหนะไปสู่ฝั่งที่ประสงค์ คือ นิพพาน เพราะฉะนั้น คนมีขันธ์ก็ไปนิพพานโดยอาศัยขันธ์ แต่อย่ายึด ถ้ายึดไปไม่ได้ นี้เป็นประการที่ ๓
ประการที่ ๔ หลุด เมื่อปล่อยขันธ์ วางภาระ ว่างจากตัวตน ไมยึดถือตนแล้ว ก็เป็นผู้วิมุตติ หลุดพ้นจากสรรพกิเลสทั้งหลาย สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มุตฺโตหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา
ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ดังนี้
...การปฏิบัติธรรมะนั้น ต้องปฏิบัติด้วยจิตใจที่ละเอียด ด้วยจิตใจที่สูง ด้วยจิตใจที่ปล่อย ที่วาง ที่ว่าง ที่หลุด โปรดอย่าเข้าใจว่า ปล่อย วาง ว่าง หลุด นี้เป็นนิพพาน ที่เป็นนิพพานยังไม่พูด เราพูดเฉพาะปล่อย วาง ว่าง หลุด ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกปุถุชน คือ ยังมีกิเลส แต่หาโอกาสปล่อยวาง วางบ้าง ว่างบ้าง หลุดบ้าง ปล่อยขันธ์ วางภาระ ว่างจากยึดถือตัวตน หลุดจากกิเลสทั้งหลาย
จำไว้ย่อๆ “ว่างจากตัวตน คือ ว่างจากโลก หลุดจากกิเลส” ปล่อย วาง ว่าง หลุด ในขณะไหนที่รู้สึกว่ากิเลสจะเกิด ให้ภาวนาไว้ว่า ปล่อย วาง ว่าง หลุด ... เราภาวนาว่า ปล่อย วาง ว่าง หลุดๆๆ อีก มันก็จะหายไปอีก เมื่อหายไป เราได้ทั้งปล่อย ทั้งวาง ทั้งว่าง ทั้งหลุด หมดทั้ง ๔ อย่าง จิตใจของเราก็สบาย...
ความสุข ความดับทุกข์ของเรานั้นอยู่ที่ใจสงบ อยู่ที่ใจไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ถ้าเรามาหลงในความสุขความสะดวกสบาย ก็เท่ากับ บุคคลคนหนึ่งที่ได้รับจ้างค่าแรงมาทำงานน่ะเท่ากับเรารับจ้าง เพราะเราพากันมาหลงในวัตถุ ที่มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ที่มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป
มีปัญหาอยู่ว่า "เราทำอย่างไรมันถึงไม่เครียด...?" เพราะชีวิตนี้ ตั้งแต่เช้าจนนอนหลับน่ะเราพากันอยู่ด้วยความเครียด ความเครียดนั้น มันเกิดจากที่เราไม่มีสติ เราไม่มีสัมปชัญญะในปัจจุบัน จิตใจของเรานั้นมันอยู่กับอดีต แล้วก็อยู่กับอนาคต เราฝึกทำใจของเราให้สบาย ทำใจของเราไม่ให้มีทุกข์ เสียสละให้เต็มที่ อย่าไปออม ให้ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในสมาธิ ปัญญาของเราถึงจะเกิดได้
ฝึกไป ปฏิบัติไป... ถ้าเราอยากมี... อยากเป็นน่ะ เราไม่สร้างเหตุสร้างปัจจัยนั้นมันเป็นไปไมได้ "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็ถึงมี" ปัญหาในโลกนี้มันมี เพราะเราไปแก้ไม่ถูกน่ะ คนที่แก้ปัญหาถูกต้อง คือต้องมาแก้ที่จิตที่ใจของตัวเอง แก้ที่ การกระทำของตัวเอง แก้ที่คำพูดของตัวเองน่ะ
พากันฝึกสมาธินะ สมาธิก็คือความตั้งมั่นในความดี เราคิดดีๆให้มันติดต่อกันหลายวัน หลายเดือน หลายปี เหมือนไก่มันฟักไข่ก็ 3 อาทิตย์ เราดูแลต้นไม้แต่ละพันธุ์ก็ตามเดือน ตามปี มันต้องดีสม่ำเสมอ สมาธิเราต้องตั้งมั่น แต่สมาธิที่เรานั่งตอนเช้า ตอนเย็นก็ต้องมี หายใจเข้าก็ให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน หายใจสบาย หายใจออกสบาย ปล่อยวางทุกอย่าง อยู่กับลมหายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย ถ้าเราจะเจริญสมถะก็เพียงแต่หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ หายใจเข้ายาว ออกยาว ก็ให้รู้ ถ้าเราจะเจริญวิปัสสนาหายใจเข้าก็ให้รู้ว่าไม่เที่ยง หายใจออกก็ให้รู้ว่าไม่เที่ยง ทุกอย่างมันก็ไม่เที่ยง มันล้วนแต่เปลี่ยนแปลงไป ทุกสภาวะธรรม เปรียบเหมือนกระแสไฟที่มันมาถี่ ปัญญาต้องเอามาใช้ในปัจจุบัน ปัญญาให้พัฒนาทั้งเทคโนโลยี ทั้งจิตใจไปพร้อมๆ กัน ถ้าเราพัฒนาแต่เทคโนโลยีมันจะไปทางเห็นแก่ตัว ต้องพัฒนาทั้ง IQ, EQ, RQ มันมีอยู่ในชีวิตประจำวัน เราไปแยกกันไม่ได้
ทุกๆ ท่านทุกคนต้องทำให้ได้ ต้องปฏิบัติให้ได้ การประพฤติปฏิบัตินั้นไมใช่ของยาก ไม่ใช่ของง่าย แต่เป็นการประพฤติการปฏิปัติให้ถูกต้อง แล้วก้าวไปด้วยความดี ด้วยการเสียสละ โดยที่เราทั้งหลายไม่หวังอะไรตอบแทน เราก็จะได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์น่ะ
พระพุทธเจ้าให้เราทุกคนน่ะเข้าใจเรื่องธรรมะ ถ้าใครปฏิบัติ ตามอริยมรรค ท่านผู้นั้นก็จะเข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือคฤหัสถ์ หัวใจของเราทุกคนจะเข้าถึงความเป็นพระได้ด้วยกันทุกท่านทุกคน "ถ้าที่ไหนมีการประพฤติปฏิบัติ โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอริยเจ้า หรือพระอรหันต์..."
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee