แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๔๓ รู้จักจัดการกับอายตนะภายใน นำมาผูกไว้กับเสาหลักคือกายคตาสติ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความดับทุกข์ของมนุษย์นี้ มันอยู่ที่เราเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สมณะที่ ๑-๔ นั้นอยู่ในอริยมรรค เราทุกคนต้องพากันรู้จักแล้วก็เข้าใจ เริ่มจากมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน มันจะมีความสุขความดับทุกข์ไปในตัวเลย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงจะมี ความสุขความดับทุกข์มันมีอยู่ที่นั่น
ประชาชนคนส่วนใหญ่ไม่พากันเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วมันก็ง่าย เราจะเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือว่า อายตนะทั้ง ๖ หู ตา จมูก ลิ้น กายใจ มาเป็นเราไม่ได้ เพราะเราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน มันดับทุกข์ได้จริงๆ นะ การปฏิบัติของเราถึงมีอยู่ในอิริยาบถ ไม่ว่าเราจะ เดินเหิน เราจะนั่ง เราจะนอน เราก็มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราต้องพากันเข้าใจ พากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราก็ว่าจะเห็นชัด ถ้างั้นทุกคนก็จะปล่อยตัวเอง ไม่มีการประพฤติ ไม่มีการปฏิบัติ มันต้องเข้าใจ เราไม่เอาอะไร ไม่ต้องการอะไร เดินอริยะมรรค ให้ถูกต้อง ประชาชนคนที่ไม่ได้บวชก็เป็นพระอริยะเจ้าได้ตั้งแต่ พระโสดาบัน ไปจนถึง พระอนาคามี ส่วนผู้ที่ออกบวช ก็เป็นพระอริยะเจ้าได้ตั้งแต่ พระโสดาบัน ไปจนถึง พระอรหันต์
ทุกๆ วันนี้พระพุทธศาสนาเราเรียกว่าปล่อยเกียร์ว่าง ไม่มีการทำงานไม่มีการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีเลย ไม่เกิดเลย เราถึงพากันหยุดมีเซ็กทางความคิด มีเซ็กทางอารมณ์ มีเซ็กทางจิตใจ เราต้องเอาธรรมะเอาธรรมวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่ เพราะว่าเราจะมองข้ามนิดๆ หน่อยๆ เป็นพระก็ต้องอาบัติทุกฎ เพราะเรื่องอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เรื่องน้อยนะ มันเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องหยุดวัฏฏะสงสาร เพราะศีลเราต้องออกมาจากใจ ออกมาจากเจตนา ไม่งั้นการปฏิบัติมันก็ไม่ได้ผล มันไม่มีการประพฤติ ไม่มีการปฏิบัติ
แล้วการปฏิบัติ เราก็มีความสุขด้วย ไม่เครียดด้วย เราจะมาเอาตามธาตุตามขันธ์ไม่ได้ อย่างเช่นเรานอนอย่างนี้มันปวดเมื่อย มันอะไรสารพัดอย่าง เราก็ปล่อยมันซบเซาอะไรไป หรือเอาตามความคิดตามอารมณ์ แล้วก็ไปเพลิดเพลินกับเพื่อนกับฝูง กินเหล้ากิบเบียร์กับเพื่อนกับฝูง เล่นการพนัน หรือว่าถึงเวลานั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ก็ไม่เอา เอาแต่เล่นโทรศัพท์ ไลน์โทรศัพท์ มันต้องปรับตัวเองเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะก็ยังไม่พอ เข้าหาเวลา มันจะได้ออโตเมติกทั้งกาย วาจา ใจ มันต้องทวนกระแส มันจะได้ไม่มีตัวไม่มีตน มนุษย์เราต้องเป็นอย่างนี้ๆ มันถึงจะเป็นมนุษย์ได้ ไม่งั้นก็เป็นได้แต่เพียงคน เป็นได้แต่ความหลง เพราะเราเอาความหลงเป็นเรา ความเจ็บความปวดเป็นเรา เอาความดีใจเสียใจเป็นเรา ไม่ได้ อันนั้นมันเป็นอวิชชา เป็นความหลง เราไปกินไปเต้นไปเที่ยว งานธุระกิจหรือว่าการหาเงินเข้าประเทศ เขาถึงไปทางอบายมุข พวกทั้งจีน ทั้งฝรั่ง ก็มาเที่ยวประเทศเรา เที่ยวพัทยา เที่ยวภูเก็ต เที่ยวเชียงใหม่ หรือที่ที่มันมีที่เที่ยว อย่างคนประเทศเราก็ไปเที่ยวที่อื่น มันไปดูแต่ที่อื่น ด้วยไม่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ไม่มีความสุขในการที่มาหยุดตนเอง เรามาบวชกันเราก็ไปหมกมุ่นกับการไปเล่น โทรศัพท์มือถือ โอ... เราเลยไม่ได้เจริญสติสัมปชัญญะ เราเลยไม่มีความสุขในการเสียสละ ไม่มีความสุขในการมีศีล มีธรรม เราต้องรู้จัก มาอยู่วัดเราก็ยังไม่รู้จักอยู่
ในร่างกายของมนุษย์เป็นแดนเกิดความรู้ การกระทำ การเคลื่อนไหว และมีผลต่อสิ่งภายนอก เพราะเรามีอายตนะภายในอยู่ ๖ ช่องด้วยกันนั่นคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อวัยวะเหล่านี้คือ แดนเกิดความรู้ เวทนา ความคิด ปัญญา สังขาร วิญญาณ จินตนาการ ที่รวมเรียกว่า "ใจ" ที่ท่านเปรียบเหมือนสัตว์แต่ละประเภท เพราะอวัยวะเหล่านี้ ทำหน้าที่ต่างกันและมีลักษณะไปตามทิศทางของแต่ละแดนเกิด ท่านเปรียบไว้ดังนี้
๑) "ตา" (จักขุ:eye) เป็นอวัยวะสำหรับมอง การมองเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ กิจกรรม ความคิด จินตนาการฯ มาจากตามอง ทั้งสิ้น ดังนั้น ตาจึงมักสอดส่องจ้องหาแต่เป้าหมายของตน ไม่ว่าสิ่งดี ไม่ดี ที่ชอบ ไม่ชอบ ไม่อยากมองก็เห็น ไม่อยากเห็นก็เห็น เพราะดวงตาเปิดเสมอ ยกเว้นยามหลับ ดังนั้น พฤติกรรมของเรา จึงถูกตานำพาไปทั้งสิ้น ดังเช่น ตามองเห็นรูป ก็ชอบใจ พอใจสิ่งพบสิ่งที่เห็น เกิดการชอบสิ่งทีเห็นเป็นของสวยงามไปหมดทุกสิ่งที่เห็น แต่ลักษณะขณะเดียวกันถ้าเกิดมองไปแล้วพบสิ่งไม่สวยไม่งามก็ไม่ชอบมอง เพราะใจไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบก็เกิดทุกข์เวทนาและนั่นคือธรรมชาติของตา ย่อมไม่ชอบมองที่ไม่สวยเป็นอนิฏฐารมณ์ คือไม่ชอบสิ่งที่สวยงาม สิ่งที่ไม่งามไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ และนอกจากนั้น ตาย่อมชอบใจสิ่งที่สวยงาม สิ่งที่มีความเพลิดเพลินตามองแล้ว ชอบมองสิ่งที่มีแสงสีสวยงาม ความตกแต่งที่งาม รูปงาม สะอาด มองคนนั้น เรียบร้อยดี มีความสุขกับการมอง เพลินไปกับการมอง มองไปเป็นความบันเทิงไปทั้งหมดไม่มีทุกข์ อยากมองไปทางไหนก็มองไป หันไป เพราะเป็นสิ่งที่สวยงามไปหมด ไม่คำนึงถึงความเป็นผู้ไม่สะอาดไม่งานก็ไม่สนใจ เพราะตาไม่มีสติ หรือเราเรียกว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้ มันจึงมีหน้าที่เพียงมองเห็น เห็นไปทั่ว เห็นไปตามธรรมชาติที่อยากเห็นอยากมองเท่านั้น เพราะนี้คือหน้าที่ของตา ที่ตาเขามี เขาก็ย่อมทำหน้าที่ของเขาให้ได้ตามที่ธรรมชาติของเขามี ตาย่อมชอบสิ่งที่เขาชอบ พอใจสิ่งเขาพอใจ สิ่งที่เพลินใจ ด้วยอาการลักษณะเช่นนี้
ท่านเปรียบตาเหมือน "งู" เพราะตาทำหน้าที่คล้ายเหมือนการเลื้อยไปของงูคือ มันสัดส่ายไปส่ายมาอยู่ตลอด เพราะโดยธรรมชาติของงูเป็นสัตว์เลื้อยคลานสัดส่ายไปมาตามธรรมชาติไปเรื่อยๆ แล้วไม่ชอบนิ่งอยู่กับที่ แต่ชอบพื้นที่มีความวกวนไปซ้าย ขวา และก็ไม่ชอบที่มีความชื้นแฉะด้วยเช่นกัน มันชอบพื้นที่เรียบพื้นที่ที่มีความสะอาด พื้นที่โล่ง โปร่ง สว่างเรียบร้อยสวยงามและไม่ชอบพื้นที่มีความเรียบง่าย พื้นที่ที่ไม่มีป่า ไม่เป็นพื้นที่แบบพลุกพล่าน ชอบสงัดชอบอยู่ตามธรรมชาติที่เป็นรกชัด นี้คือธรรมชาติของงูย่อมไม่ชอบใจในที่ชื้นแฉะและราบเรียบภายนอก แต่ชอบบริเวณพื้นที่ที่เข้าไปแล้วเป็นพื้นที่รกชัดชอบเข้าในพื้นที่เช่นนั้น ชอบพื้นที่มีต้นไม้ ใบไม้ รกชัด ป่าละเมาะ มีใบหญ้าปกคลุม และไม่ชื้นแฉะ และชอบพื้นที่ในเขตจอมปลวกจึงเข้าไปที่ต้นไม้ ใบหญ้ารกชัฏ และจอมปลวกนั่นแหละ ย่อมชอบใจในเวลานอน ย่อมถึงความเป็นสัตว์มีจิตสงบ ฉันใด แม้จักษุนี้ก็ปรารถนาฉันนั้นเหมือนกัน มีความไม่พอใจในสิ่งไม่ราบเรียบ ย่อมไม่พอใจ ไม่น่าปรารถนา
แม้ในทางตรงกันข้ามเมื่อตาเห็นรูปแล้วเกิดรู้สึกไม่ยินดี รู้สึกไม่ดี ไม่ชอบใจ ไม่น่าปรารถนา แต่ยังเห็นรูปนั้นอีก จึงความรู้สึกไม่อยากเห็น เมื่อเห็นจึงรู้สึกโกรธ เรียกว่าเกิดโทสะคือเกิดความโกรธขึ้น ทั้งโลภะและโทสะทั้งสองที่เกิดขึ้นมาได้ เพราะเราขาดสติ ขาดการกำหนดรู้ ที่เราเรียกว่า ความหลงหรือโมหะนั่นเอง กิเลสจึงอาศัยเกิดได้ตลอดเวลา ในขณะที่ตาเห็นรูป และได้รู้ถึงอารมณ์ทางจิต ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากตามีความอยากรู้อยากเห็นตลอดเวลา และสิ่งที่จะส่งความออกไปคือ อายตนะหรืออินทรีย์คือตาของตน พระองค์จึงอุปมา ตาเปรียบเหมือนงูนั่นเอง
ผู้เจริญปฏิบัติภาวนา ต้องตั้งสติกำหนดรู้ในการรับรู้อารมณ์ในขณะมองเห็นรูป เพื่อมิให้บาปอกุศลเกิดขึ้น ด้วยการสำรวมสายตา อันมีตาเป็นที่ไว้สำหรับการเห็น เจริญสติรู้ตามเท่าทันไม่ให้ขาด เช่น ตาเมื่ออยากจะมองดูสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้กำหนดรู้ต้นจิต หรือ จิตที่อยากจะมองดู ก่อนว่า อยากดูหนอๆ แล้วจึงค่อยๆ กำหนดรู้อาการที่มองดูไปตามลำดับไม่ให้บาปที่พบที่เห็นสู่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนาเข้าไปกำหนดรู้ กำหนดเห็นว่า สิ่งทั้งหลายที่พบเห็นเป็นของไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นเพียงขันธ์ ๕ เท่านั้นเอง
๒) "หู" (โสต: ear) ของเราเป็นอวัยวะสำหรับฟังเรื่องต่างๆ รับรู้ข้อมูล สิ่งเตือนภัย อะไรที่เพราะ เสนาะหู เราก็ชอบฟัง สิ่งที่ไม่อยากฟังคือ เสียงด่า คำหยาบ คำนินทา คำโกหก เมื่อฟัง ได้ยินก็คิด ก็จินตนาไปต่างๆ นานา แต่โดยพื้นฐาน หูก็ชอบฟังสิ่งดี เพราะๆ เย็นๆ หวานๆ คำชม คำยอ คำสะดุดี ดังนั้น ท่านจึงเปรียบหู เหมือน "จระเข้" เพราะว่าสัตว์ชนิดนี้แช่ในน้ำ ชอบที่เย็น ที่ชุ่ม นิสัยมนุษย์ก็ชอบไปลักษณะเช่นนั้น
ในอายตนะภายในคือหูจึงเปรียบเสมือนจระเข้ ที่ชอบอยู่ในน้ำเย็น ชอบอยู่ในวังวนน้ำเย็น อยู่ในโพรงที่มีความอบอุ่น มีความสงบสบาย อย่างสุขสบายของตน ในน้ำอย่างมีความสุขซึ่งในขณะเดียวกันมันกันมีความอยากออกไปในภายนอกบ้าง ตามความปรารถนาของตนเอง ก็ออกเพื่อหาอาหารมาเลี้ยงชีวิตด้วยความหิวของ แล้วออกมาภายนอกเพื่อหาอาหารดำรงชีวิตตามสภาพความเป็นสัตว์ที่ต้องดิ้นรนหาอาหารเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตก็ออกจากถ้ำหรือโพรงอันเป็นที่อยู่ของตน ออกไปภายนอก ในขณะที่ออกมามันก็กวาดสายตามองไปทั่วบริเวณพื้นที่รอบๆ ที่อยู่ เพื่อหาอาหาร และหาอาหาร แล้วหยุดเพื่อสังเกตุมองอาหาร ด้วยความอยาก ความหิว แล้วนอนอ้าปากพิงแดดอย่างสบายอารมณ์ รอสังเกตุมองหาอาหาร แต่เมื่อมันไม่เห็นเหยื่อที่จะกิน ไม่เห็นสิ่งปรารถนา ก็นอนพิงแดดต่อไป อ้าปากกว้างเพื่อระบายอากาศระบายสมดุลร่างกายของตนปรับอุณหภูมิในร่างกายพร้อมกับการผิงแดดไปเรื่อยๆ แล้วก็หลับตาไปเพื่อสะสมพลังงาน ด้วยอาการที่ไม่มีเหยื่อให้กินจึงต้องนอนนิ่งรอเหยื่อไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไม่ให้เสียพลังงานในไว้ในตัวไม่เห็นสิ่งที่ตนจะพึงงับเอาก็หลับตาไปเมื่อได้เวลาก็กลับไปหาที่ของตน ที่โพรงในน้ำ แต่ในกาลหยั่งลงสู่น้ำปริมาณร้อยวา เข้าไปยังโพรงนอนแล้ว ในกาลนั้น จิตของมันก็ถึงความสงบหลับสบาย ฉันใด
แม้หูซึ่งอยู่ในอายตนะภายใน ฉันนั้นเหมือนกัน ก็เป็นหูที่ชอบฟังที่เย็นๆ เสียงอันไพเราะ พระพุทธองค์จึงเปรียบเทียบ หูเหมือนจระเข้ เพราะจระเข้ก็ชอบอยู่ในวังวน ชอบอยู่ในน้ำเย็น โดยพระองค์เปรียบหูเหมือนจระเข้ที่ชอบเข้าไปด้วยการคิดว่าเราจะลงไปในน้ำที่มีความเย็น ในน้ำที่วังวนที่มีความเย็นสบายๆ หูก็เช่นเดียวกันชอบฟังเสียงอันไพเราะ ชอบฟังเสียงอันเย็นๆ เสียงไม่หยาบคาย เสียงอันเปล่งออกมาแล้วรื่นหู ไพเราะ
ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา ถ้าไม่ได้อบรมจิต ไม่กระทำจิตให้มากซึ่งกายคตาสติก็ฉันนั้นเหมือนกัน หูย่อมฉุดผู้เจริญวิปัสสนานั้นไปในเสียงอันเป็นที่พอใจ เสียงอันไม่เป็นที่พอใจ ย่อมเป็นของปฏิกูล กิเลสจึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่จิตหรือสติไม่ได้กำหนดรู้เท่าทันอารมณ์กัมมัฏฐานคือหูที่ได้ยินเสียง แต่ปล่อย ละเลย ไม่กำหนดการได้ยิน แต่หากกำหนดรู้จดจ่อย่อมเป็นผลที่ดีในการสำรวมอายตนะ เช่นการกำหนดรู้ หูเมื่ออยากจะฟังเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้กำหนดรู้ต้นจิต หรือ จิตที่อยากจะฟัง ก่อนว่า อยากฟังหนอๆ แล้วจึงค่อยๆ กำหนดรู้อาการที่ฟังไปตามลำดับ ตามความเป็นจริง คือหูที่เป็นสิ่งทีรับการได้ยินเสียงมีสติกำหนดรู้จดจ่อให้อยู่กับกายของตนให้มากที่สุด ยิ่งกำหนดมาก ยิ่งบรรลุ มรรคญาณได้เหมือนการจับจระเข้ผูกไว้ที่เสาหลักคือกายฉันนั้น
๓) "จมูก" (ฆานะ:nose) เป็นอวัยวะสำหรับดมกลิ่น หายใจ ตำแหน่งของจมูกมักจะอยู่ใกล้ปาก เนื่องจากจะได้เตือนภัยเรื่องกลิ่นก่อนเข้าปาก การแสวงหาอาหารของสัตว์โดยการใช้จมูกหานั้น มีหลายชนิด เช่น นก สุนัข แมลงวัน มด ฯ ส่วนมนุษย์ใช้จมูกในการดมกลิ่นที่ชอบ ของหอม ของย้อม ฯ กลิ่นน้ำหอมต่างๆ ที่ผู้คนใช้กันเพื่อสิ่งนี้ เพื่อจะดึงดูดคนอื่น สร้างบรรยากาศ สร้างจินตนาการได้ ท่านจึงเปรียบจมูกเหมือน "นก" เพราะนกมักแสวงหาเหยื่อ อาหารได้ไกลด้วยการใช้จมูกดมกลิ่นนั่นเอง
เนื่องจากสภาวะของจมูกเป็นตัวรับรู้ไวต่อการได้รับสิ่งที่ยวนใจมีความไวต่อการรับกลิ่นตามธรรมชาติที่ดีของจมูกที่จะเคลื่อนที่แสวงหา ซึ่งถึงแม้ว่ามันอยู่นิ่ง แต่ตามธรรมชาติของจมูกก็ไวต่อการรู้กลิ่นอยู่อย่างอิสระของมัน ที่มีหน้าที่ที่จะต้องทำงานตามธรรมชาติ คือมีการเข้าไปรับรู้กลิ่น เพราะความเป็นหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยรวมอยู่แล้ว ดังนั้น จมูกจึงเป็นต้นเหตุของการเข้าไปรับรู้กลิ่น สืบเนื่องจากกลิ่นเป็นเหตุเกิดแห่งความยินดี ทำให้เกิดการยึดติดในกลิ่นนั้นๆ และเกิดการแสวงหา อยากให้เกิดขึ้นตามลำดับในโพรงแห่งจมูก เพราะจมูกเกิดจากความรู้สึกอยากดมกลิ่น ความโลภ และโทสะทั้งสองที่เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะเราขาดสติการกำหนดรู้เรียกว่าความหลงหรือโมหะนั่นเอง กิเลสจึงอาศัยเกิดขึ้น
ในการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการเข้าไปกำหนดรู้ตามสิ่งที่จมูกได้รับกลิ่นแล้วเกิดอาการปรุงแต่งขึ้นมา เพื่อให้รู้ทันที่จมูกรู้กลิ่นแล้วก็ทำความรู้สึกดี ไม่ดี ไม่พอใจ ไม่น่ายินดี ไม่น่าปรารถนา ด้วยอาการสำรวมระวังจมูกที่เข้าไปรับรู้กลิ่น อย่างมีสติกำหนดรู้ทันไปกับอาการที่เกิดขึ้นจริง แล้วจึงเกิดความไม่อยากได้กลิ่น ความไม่อยากได้นี้คืออาการสำรวมเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ จมูกเมื่ออยากจะดมกลิ่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้กำหนดรู้ที่ต้นจิต หรือ จิตที่อยากจะดมกลิ่น ก่อนว่า อยากดมหนอๆ กลิ่นหนอๆ แล้วจึงค่อยๆ กำหนดรู้อาการที่สูดดมไปตามลำดับ การกำหนดรู้แบบนี้เป็นการมีสติสัมปชัญญะแนบจิตไปกับสภาวะของอารมณ์อย่างจดจ่อ เพื่อให้รู้เท่าทัน
๔) "ลิ้น" (ชิวหา:tongue) ลิ้นเป็นอวัยวะที่รับรส อาหาร ชอบลิ้มรส อร่อย ถูกปาก ถูกใจ เกิดความหลงใหล ใคร่หาของกินอร่อยๆ จนอ้วนบวม เรียกว่า หลงในการรับรสปลายลิ้นของตัวเอง อารมณ์ที่ลิ้นได้รับ คือ รสชาติ ความเป็นรสชาติคือสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นจริง ลิ้นทำหน้าที่รับตามธรรมชาติคือรับรสในการรับความรู้สึก รับความรู้สึกไวต่อการได้รับการสัมผัสรสชาติทั้งรสดี ไม่ดี หวาน เข็ม เปรี้ยว นั่นคือ ธรรมชาติของลิ้น ชอบรสสิ่งที่ดีของที่มีความเป็นรสอารมณ์มีความรู้สึกที่ไวมาก และชอบรสความหมายนี้ หมายถึงเมื่อเที่ยวไปภายนอก ย่อมไม่เห็นที่ปลอดภัยย่อมถูกประทุษร้ายด้วยก้อนดิน เป็นต้น แต่เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วก็คุ้ยขี้เถ้าที่เตาไฟ ย่อมนอนเป็นสุข ฉันใด แม้ชิวหาก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอัชฌาสัยในบ้าน รสนั้นต้องอาศัยอาโปธาตุ (น้ำ) เพราะว่าหากของเคี้ยวทั้งหลายไม่เปียกด้วยน้ำลายใครๆ ก็ไม่อาจจะรู้รสได้
ดังนั้น ลิ้นจึงเปรียบเทียบเหมือนสุนัขบ้าน เพราะสุนัขบ้านชอบอาศัยอยู่ในบ้านและชอบผู้ที่ให้ความอบอุ่นต่อมัน ให้ความสนิทสนมกับมัน และสุนัขก็แสดงความเป็นมิตรด้วยการมีอุปการะตอบแทนด้วยการเฝ้าบ้านให้ มีความรักต่อผู้มีพระคุณ นั่นคือลักษณะตามธรรมชาติของสุนัขที่ต้องเป็นไปตามหน้าที่ของมัน โดยชอบธรรมอยู่แล้ว ด้วยการที่สุนัขบ้านชอบความสุข ชอบอยู่ในบ้าน ชอบหาอาหารในบ้าน และชอบอาศัยอยู่ตามบ้านที่มีอาหารสมบูรณ์ มีเจ้าของบ้านที่มีเมตตาให้อาหารมัน มันก็ชอบอยู่ตามแบบนั้น บ้านไหนมีอาหารสมบูรณ์มันก็จะไปบ้านนั้น เพราะมันไปแล้วได้รับอาหารตามที่ต้องการ และมีความสุขอยู่ในบ้านนั้น เพราะได้รับอาหารตามความพอใจ อาหารเป็นสิ่งที่น่ายินดี น่ารัก จึงชอบและมีความโลภขึ้นอาศัยเป็นกิเลสเกิดขึ้นได้
นอกจากรับรสแล้ว ลิ้นยังเป็นอวัยวะสำหรับการพูด การออกเสียงด้วย การพูด การใช้คำด่า นินทา ว่ากล่าวคนอื่นก็เป็นลักษณะหนึ่งของมนุษย์ด้วย ท่านจึงเปรียบ "ลิ้น" เหมือน "สุนัขบ้า" ที่ปากมีแต่อยากพูดอยากด่าคนอื่น เหมือนสุนัขบ้าที่มีอาการน้ำลายไหลเพราะพิษโรคบ้า
สิ่งที่เราต้องนำมาสู่การเจริญวิปัสสนา คือการเข้ารับรู้อาการที่ลิ้น ลิ้นมีความว่องไวต่อการรับรู้ตามสภาวะที่เกิดการสัมผัส เมื่อมีการรับรู้การสัมผัสทำให้เกิดการชอบ หรือไม่ชอบ ขึ้นอยู่กับการที่ลิ้นเข้าไปรับรู้ตามสภาวะที่รับนั้น การรับเป็นรสดี หรือไม่ดีเป็นรสหวาน หรือรสไม่หวาน รสที่ตนชอบ หรือไม่ชอบ ด้วยการเข้าไปอย่างระมัระวัง อย่างรอบคอบ เป็นการเข้าอย่างมีสติ อย่างมีความสำรวม เพื่อการเข้าไปอย่างมีการกำหนดรู้เท่าทันมันคือเข้าแนบจิตไปอาการที่ลิ้นมันชอบ เพื่อการกำหนดรู้ไปกับอาการนั้นอาการของรสที่ลิ้นรับรู้ที่ลิ้นชอบ หรือไม่ชอบ นั่นคือสิ่งที่นักภาวนาทั้งหลายควรนำมาพิจารณากัน
ด้วยเหตุนี้ ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา ควรเจริญจิตอินทรีย์แก้กล้าให้เป็นใหญ่ในการควบคุมสำรวมระวังทางลิ้น ด้วยการเจริญอินทรีย์ให้เข้มแข็งเฉียบคมขึ้น เพื่อให้เกิดการนำเข้าสู่การเจริญวิปัสสนาอย่างที่เราต้องการ เพื่อเป้าหมายสู่เจริญวิปัสสนาภาวนา อย่างมีความก้าวหน้าและสู่มรรคญาณจำเป็นต้องมีเข้าไปกำหนดรู้สิ่งที่สิ้นเกิดสภาวะอารมณ์กัมมัฏฐานว่าลิ้นต้องการรับรสเป็นอย่างไร ลิ้นมีความกังวลอะไรหรือไม่ และต้องระมัดระวังอินทรีย์ของตน ด้วยการสำรวมทางลิ้นอย่างระวัง ให้กำหนดรู้ว่า รสหนอๆ ในเวลาที่ลิ้นได้รับรส และให้กำหนดรู้ชัดว่า รสหนอๆ ให้กำหนดรู้ชัดตามอาการที่เกิดปรากฎชัด เพราะเป็นเหตุให้อินทรีย์สังวรเกิดความสำเร็จขึ้น และจะทำให้เกิดความพ้นทุกข์ที่เกิดจากความต้องการของลิ้น ด้วยการกำหนดรู้เท่าทันรสนั้น อย่างเป็นธรรมชาติและเป็นจริงตามที่พบเห็นจริง
ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา ควรเจริญสติกำหนดรู้ลิ้นที่เข้าไปรับรู้รส เป็นรสดีหรืออร่อย ถ้าเป็นรสดี ก็ให้กำหนดรู้ว่า ดีหนอๆ แต่หากลิ้นเข้าไปรับรู้แล้วพบว่าเป็นรสไม่ดี ก็ให้กำหนดรู้ตามอาการที่เกิดขึ้นจริงด้วยการกำหนดรู้ว่า ไม่ดีหนอๆ แต่เมื่อรู้ว่ารสที่รับไม่ว่าจะเป็นรสดี รสเปรี้ยว รสหวาน รสเผ็ด รสเค็ม ก็ตาม ต้องกำหนดรู้ตามสภาวะที่ปรากฏชัดที่พบจริง ลิ้นเมื่ออยากจะกิน หรือลิ้มรสอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้กำหนดรู้ตันจิต หรือ จิตที่อยากจะกินหรือลิ้มรส ก่อนว่า อยากกินหนอๆ แล้วจึงค่อยๆ กำหนดรู้อาการที่กินไปตามลำดับ ด้วยการกำหนดตามอาการว่า รู้รสหนอๆ และผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา พึงมีสติเฝ้าสำรวมระวังเป็นอย่างดี แล้วคอยกำหนดให้รู้เท่าทันสภาวะอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากสัมผัสรู้รสทางลิ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วนและต่อเนื่องเช่นนี้แล้ว ภายในเวลาไม่นานก็จะเกิดญาณ
๕) "กาย" (ผัสสะ:body) เป็นอวัยวะรูปทรง ที่ครอบคลุมไปด้วยระบบประสาท ที่สามารถรับรู้ได้โดยการสัมผัส แตะต้อง ทั่วร่างกายเรามีขนเพื่อปรับน้ำเหงื่อออก และมีผิวกำพร้าเป็นเกราะป้องกันรังสีและฝุ่นละออง ธุลี เชื้อโรคต่างๆ ในขณะเดียวกัน กายเราก็กลายเป็นที่รองรับมวลกายหรือการสัมผัสอ่อนๆ นิ่มๆ หรือ ร้อน อุ่น เย็น หนาว เราจึงชอบนอนที่นุ่มอ่อน เวลานอนก็ไม่อยากลุก เพราะติดใจ ติดในรสสัมผัส ท่านเปรียบกายเหมือน "สุนัขจิ้งจอก" เพราะมันชอบซุกซ่อนในที่อ่อนนุ่ม อุ่นๆ เพื่อพักผ่อน หลบภัย ในโพรง ดงหญ้า ในถ้ำ
สำหรับในสิ่งพระพุทธเจ้าได้นำมาเปรียบเทียบว่า กายเหมือนสุนัขจิ้งจอกนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการรู้ก็คือ สุนัขจิ้งจอก มันชอบกินซากศพจะเป็นศพมนุษย์หรือสัตว์ป่าด้วยกันมันก็กิน เพราะการกินซากเนื้อต่างๆ ทำให้สุนัขจิ้งจอกได้รับความอบอุ่นทางร่างกายของมันได้ดีขึ้นเท่าตัว การที่สุนัขจิ้งจอกชอบกินซากสัตว์ที่ตายแล้วในป่าช้า และแม้สุนัขจิ้งจอก เที่ยวไปข้างนอก ก็ไม่ประสบความชอบใจ แต่เมื่อมันเคี้ยวกัดเนื้อมนุษย์ที่ป่าช้าผีดิบแล้วนอนนั่นแหละ จึงมีความสบาย ฉันใด แม้กายก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอุปาทินนกสังขารเป็นที่อาศัย มีโผฏฐัพพะอาศัยปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ จริงอย่างนั้น สัตว์ทั้งหลาย เมื่อไม่ได้อุปาทินนกสังขารอื่น จะนอนเอาฝ่ามือหนุนศีรษะของตนเอง และปฐวีธาตุทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ย่อมเป็นปัจจัยของกายนั้น ในการยึดเอาอารมณ์ จริงอยู่ ผู้ไม่ได้นั่ง หรือไม่ได้นอน ไม่สามารถจะรู้ภาวะที่แข็งหรือหนาแห่งที่นอน ที่เขาลาดไว้ดีแล้วหรือแผ่นกระดาน แม้ที่วางอยู่ภายใต้ได้ เพราะฉะนั้นปฐวีธาตุ ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก จึงเป็นปัจจัยแห่งกายนั้น ในการรู้โผฏฐัพพะได้ นักเจริญวิปัสสนาภาวนาทั้งหลาย ควรนำมาเป็นการกำหนดรู้สภาวะของอารมณ์เจริญวิปัสสนาภาวนาได้เป็นอย่างดี
ในการนำมาเจริญวิปัสสนาภาวน สามารถนำสู่การเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ ด้วยเข้าไปกำหนดรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงนั้นๆ เพราะกายเป็นใหญ่ในการเข้ากำหนดรู้ตามจริงได้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นการสำรวมทางกายไปด้วยการระมัดระวัง ดังในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ยังให้ความสำคัญการกำหนดรู้กายอย่างจดจ่ออีกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความยินดีในกายที่สวยงาม ที่น่ารัก น่าใคร่ น่าเอ็นดูและไม่ให้เกิดความยินดี ยินร้ายในกาย เมื่อพิจารณาเจริญอย่างรอบคอบจดจ่อแล้ว ทำให้เกิดเป็นสิ่งที่สังเวชขึ้นมาได้ว่า กายนี้เป็นเพียงสักว่าเป็นของไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่แล้ว ก็ดับสลายไปในที่สุด ด้วยการเห็นเป็นของน่าเกลียดเป็นของเน่า เป็นของเหม็น เป็นสภาพไม่ยั่งยืน มีสภาพการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนาทั้งหลาย ควรสังเวชอย่างยิ่งในกายว่าเป็นของไม่ยั่งยืน จึงควรมีการพิจารณาด้วยการสำรวมระวังกาย เช่นเมื่อกายได้รับการสัมผัสสิ่งที่เป็นความอุ่นๆ เกิดการชอบขึ้นมา เกิดโลภอยากได้ อยากเป็นเจ้าของคนเดียวนั่นแหละคือการเกิดขึ้นของกิเลสที่เข้ามาอาศัยเกิดขึ้นทันที ซึ่งถือเป็นวิบากกรรมของผู้ไม่สำรวมกาย
๖) "ใจ" (มโน: mind) เป็นอวัยวะที่ไม่เห็นตัวตน แต่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มากที่สุด ท่านว่าใจคือ ประธานการเป็นใหญ่ทั้งหมด ในเรื่องการกระทำ เพราะใจจะเป็นผู้บัญชา จากข้อมูลของสมอง แล้วเลือกว่าจะทำอะไร ซึ่งใจเองก็ไม่ได้ใหญ่หรือเป็นใหญ่ด้วยตัวเอง หากแต่อาศัยแรงกระตุ้นจากสัตว์ทั้งห้าข้างบนช่วย ใจเป็นผู้ตัดสินเท่านั้น ในการติดสินใจ ก็มีผู้แทรกแซงอยู่เช่นกัน คือ กิเลส ตัณหา อวิชชา ดังนั้น ใจจึงถูกแรงกระตุ้นภายนอกและภายในตนเขย่า บีบคั้น ส่งเสริมให้ใจดิ้นรน กวัดแกว่งไปมา จึงทำให้ใจเรา ไม่สงบสุข ชอบไหลตามอนาคต อดีต หรือกิจเฉพาะหน้า จึงอยู่ไม่นิ่ง ท่านจึงเปรียบใจเหมือน "ลิง" เพราะลิงวอกแวก เหลาะแหละ ลิงไม่เคยอยู่นิ่งมันกระโดดไปตามที่มันชอบจับโน่นจับนี้ หันซ้ายหันขวา เกาโน่นเกานี้ นี้คือธรรมชาติของลิง อารมณ์มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาที่มันอิสระตามธรรมชาติของตน มันชอบอารมณ์สนุกสนาน ใจมันจึงไม่หยุดนิ่ง โดยอารมณ์ทั่วไป เหมือนภิกษุที่ไม่สำรวมตามใจชอบของตน พึงลำบาก เมื่อนั้นสัตว์เหล่านั้นพึงยืนพิง นั่งพิง นอนพิงหลักหรือเสานั้น แม้ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกันกายคตาสติที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ฉันนั้น
ใจมักชอบสิ่งต่างๆ มีภวังคจิตเป็นปัจจัย ย่อมกระทำความชอบใจในอารมณ์นานาชนิด แม้ที่เคยเห็นแล้ว แต่ภวังค์เดิมย่อมเป็นปัจจัยของใจนั้น มีความชอบเป็นปัจจัยในเบื้องต้นแล้ว ก็ย่อมกระทำความพอใจ ชอบใจในอารมณ์ที่น่ารัก น่าใคร่ น่ายินดี น่าพอใจต่างๆ นานาสารพัด แม้สิ่งเคยเห็นแล้วแต่ก็ยังมีความพอใจเป็นปัจจัยให้พอใจนั้น ด้วยเหตุนี้ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา ควรเจริญสติระลึกรู้อายตนะภายในและภายนอกนี้ ซึ่งส่งผลให้ผู้เจริญสติระลึกรู้หยั่งเห็นโลกทัศน์ภายในและภายนอก ว่าไม่ใช่ตัวตน มีเพียงกระบวนการเชื่อมโยงกันโดยความเป็นธาตุรับ ธาตุกระทบ และธาตุรู้ ปราศจากตัวตนไม่สามารถบังคับบัญชาได้กับอาการที่เกิดขึ้นจริง ในสภาวะอารมณ์กัมมัฏฐานคือจิตคิดจริง ให้เพียรพยายามกำหนดรู้ต้นจิต ให้มากที่สุดตามลำดับอากัปกิริยาของส่วนต่างๆ ที่เคลื่อนไหวแล้วดำเนินไป การกำหนดรู้อย่างละเอียดและต่อเนื่อง เมื่อผลการกำหนดรู้อย่างจดจ่อ โดยแนบจิตไปกับจิตที่คิด จิตคิด กำหนดว่า คิดหนอๆ จิตคิดอยาก กำหนดว่า อยากหนอๆ และกำหนดไปเรื่อย ๆ ไม่คลาดขาดกำหนด ไม่เพลินกับการกำหนดแล้ว ก็ย่อมเห็นความประจักษ์แจ้งจริงว่า จิตหรือใจนั้นเมื่อคิดไปก็รู้ว่าสักแต่ว่าคิด ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของจิต บ้างครั้งจิตก็เป็นทุกข์ บ้างจิตก็เป็นสุข หรือที่เรียกว่าทุกขเวทนาหรือสุขเวทนานั่นเอง การเจริญวิปัสสนาภาวนาจะเกิดความก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้าขึ้นอยู่กับการกำหนดอย่างมีสติรู้เท่าทัน เมื่อกำหนดเป็นอย่างดีแล้วผลที่ได้รับก็ย่อมบรรลุมรรคญาณเป็นพิเศษอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่นานนัก ก็จะสามารถบรรลุธรรมวิเศษธรรมอันประเสริฐได้
ฝึกเป็นคนฉลาด เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง กระทบเมื่อไหร่ให้มันเกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา อินทรีย์ของเรามันจะแก่กล้าได้ เมื่อสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากระทบ ให้มันมีศีล สมาธิ ปัญญา อินทรีย์ของเรามันจะแก่กล้าได้ ใจของเราอารมณ์ของเรามันไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เราจะไปเชื่อมันไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้อารมณ์ไม่รู้ใจของเรา เราจะเป็นคนมีปัญหา เป็นคนที่จิตใจไม่แข็งแรง อารมณ์มาทางไหน ก็ไปตามอารมณ์ แล้วแต่อารมณ์มันจะพาไป จิตใจไม่เป็นตัวของตัวเอง เราฝึกไว้ ฝึกหายใจเข้าสบาย ออกสบาย ใจของเราจะได้อยู่กับปัจจุบัน ใจของเราจะได้อยู่กับการทำงาน เราพยายามยืนไว้ตั้งไว้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ล้วนแต่ดับไป
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee